Group Blog
 
<<
เมษายน 2561
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
 
23 เมษายน 2561
 
All Blogs
 

อ่านอีกครั้ง ... หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช



23 เมษายน 2561





 






อ่านอีกครั้งกับนักเขียนดังในวันนี้ ขอเชิญทุกท่านมาทำความรู้จักกับบุคคลผู้ที่มีบทบาทเป็นทั้งนักคิด นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ นักการเมือง และเป็นนักปราชญ์คนสำคัญของเมืองไทย หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรีผู้ที่มีผลงานประพันธ์อันโดดเด่นมากมาย โดยเฉพาะนวนิยายเรื่องที่คนไทยรู้จักกันดีเรื่อง “สี่แผ่นดิน” วันนี้เราลองมาฟังอีกหนึ่งมุมมองที่จะทำให้เรารู้จักกับนักเขียนคนสำคัญท่านนี้มากขึ้น

โดยการเสวนาในครั้งนี้มีชื่อว่า “7 วัน อ่านอีกครั้งกับ 7 นักเขียนดัง” โดยในหัวข้อนี้จะพูดถึง หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช กับผลงานอันหลากหลายของท่าน ในมุมมองของนักวิจารณ์วรรณกรรมชื่อดัง อาจารย์จรูญพร ปรปักษ์ประลัย (ซึ่งผมขอเรียกว่าอาจารย์อ้น) และนักเขียนบทละครเวทีผู้สร้างให้สี่แผ่นดินมีชีวิตขึ้นมาโลดแล่นจริงๆ คุณพิมพ์มาดา พัฒนอลงกกรณ์ (ซึ่งผมขอเรียกว่าคุณเกด) การเสวนานี้ขึ้นเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2561 บนเวทีเอเทรียม ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 46 โดยรายละเอียดที่น่าสนใจมีดังนี้

(รายละเอียดจากเวทีเสวนาในครั้งนี้ ผมจดเป็นบันทึกช่วยจำย่อ (จดเลคเชอร์) แล้วจึงนำมาเรียบเรียงใหม่ โดยมีการคัดสรรตัดย่อเพื่อเขียนสรุปเป็นประเด็น ดังนั้นถ้ามีรายละเอียดประการใดที่ผิดพลาด หรือคาดเคลื่อนผิดไปจากที่ท่านวิทยากรพูด ผมก็ต้องกราบขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยครับ)





 






อาจารย์อ้น - เล่าให้ฟังว่า ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโก ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก เมื่อปี พ.ศ. 2554 โดยเป็นคนไทยลำดับที่ 20 ที่ได้รับเกียรตินี้ โดยม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชเป็นทั้งนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ คนสำคัญของประเทศไทย

คุณเกด - ได้อ่านผลงานของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นครั้งแรกคือเรื่อง “มอม” เพราะว่ามอมเป็นหนังสืออ่านนอกเวลา หลังจากนั้นพอโตขึ้นก็ได้มาอ่าน “หลายชีวิต” แล้วก็มาอ่านเรื่อง “สี่แผ่นดิน” เลย

อาจารย์อ้น - สำหรับนวนิยายเรื่องสี่แผ่นดินนี้เป็นเรื่องที่มหัศจรรย์มาก เพราะว่า ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เขียนทุกวันเป็นตอนๆ ลงในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ซึ่งในขณะที่เขียนเรื่องสี่แผ่นดินนั้นท่านก็ต้องเขียนบทความอื่นๆ อีกหลายบทความพร้อมๆ กันด้วย

คุณเกด - สำหรับรายละเอียดของเรื่องสี่แผ่นดินมีเยอะมาก ตอนที่จะเขียนบทละครเวทีเรื่องนี้ก็ต้องไปตามศึกษารายละเอียดต่างๆ เพิ่มเติมอีกมากมาย เพราะม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ตั้งใจเขียนเรื่องนี้เพื่อบันทึกเรื่องราวของคนในวัง รวมทั้งบันทึกประวัติศาสตร์ต่างๆ ของไทยเอาไว้ด้วย

-ในยุคสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นยุคที่นำมาเขียนบทละครได้ยากที่สุด เพราะมันมีรายละเอียดเยอะมาก แต่พอผ่านยุคสมัยรัชกาลที่ 5 ไปแล้วก็เริ่มเขียนบทได้ง่ายขึ้น เพราะว่ามันเริ่มใกล้ตัวเราเข้ามาแล้ว

-ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ตั้งใจเขียนเรื่องสี่แผ่นดิน เพื่อบันทึกชีวิตของคนที่อยู่ในรั้วในวังเอาไว้สำหรับถ่ายทอดให้คนทั่วไปได้รับทราบ

อาจารย์อ้น – ในรวมเรื่องสั้นชุด “หลายชีวิต” มีเรื่องสั้นหลายเรื่องที่ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชนำเอามาจากชีวิตจริงของท่าน เช่นเรื่องลิเก ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชเคยได้เล่นลิเกด้วย

-งานส่วนใหญ่ของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นบทความที่เขียนลงหนังสือพิมพ์สยามรัฐ

-สำหรับเรื่องสี่แผ่นดินนั้น เป็นเหมือนการมองพระเจ้าแผ่นดินผ่านความรู้สึกของประชาชนที่มีให้แก่พระเจ้าแผ่นดิน ด้วยความรักและความเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์

คุณเกด - ด้วยความที่ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ท่านเป็นนักปราชญ์ ท่านจึงมีความรู้เยอะ ท่านอ่านมาเยอะ ท่านเห็นมาเยอะ ท่านจึงอยากเอาทุกๆ อย่างใส่เข้าไว้ในนวนิยายเรื่องสี่แผ่นดิน

-จึงทำให้นวนิยายเรื่องสี่แผ่นดินมีความร่วมสมัยมาก เพราะตัวละครในเรื่องหลายตัวมีความคิดที่แตกต่างกันมาก เช่น ตัวละครตาอ้นกับตาอั้น ที่มีความคิดเห็นทางการเมืองแตกต่างกันมาก เหมือนกับชีวิตของคนจริงๆ ในสังคมเราเลย





 






อาจารย์อ้น - เมื่อเคยได้อ่านนวนิยายเรื่องสี่แผ่นดินแล้วพอมาเจอกับเหตุการณ์จริง (การสวรรคตของรัชกาลที่ 9) มันก็รู้สึกสะเทือนใจไปด้วย ทำให้เข้าใจความรู้สึกของตัวละครพลอยได้เลย

คุณเกด - ในกรณีนี้ก็รู้สึกเหมือนกัน ในวันที่เห็นขบวนพระบรมศพเคลื่อนออกจากโรงพยาบาลศิริราช พอเห็นแล้วคำพูดของพลอยปรากฎขึ้นได้ยินชัดเจนในหัวเลย เราไม่เคยคิดมาก่อนเลยจะเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้นมาจริงๆ

-สำหรับเรื่องสี่แผ่นดินนี้ คุณเกดคิดว่าม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ท่านรู้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์เยอะมากและท่านมีข้อมูลเกี่ยวกับชีวิตของคนในวังด้วย ท่านจึงเขียนเรื่องจากสิ่งที่ท่านรู้มา ทำให้พอเราอ่านเรื่องสี่แผ่นดินแล้ว เราจะได้รับทราบเกี่ยวกับข้อมูลทางประวัติศาสตร์พร้อมกันไปด้วย รวมทั้งได้รู้วิธีคิดของตัวละครที่มีความคิดอันลึกซึ้งด้วย

-ตอนที่เอาเรื่องสี่แผ่นดินมาทำเป็นละครเวทีในครั้งแรกนั้น จัดแสดงเมื่อปี 2554 โดยในปีนั้นประเทศไทยเพิ่งจะผ่านวิกฤตเหตุการณ์ปี 2553 มาไม่นานนัก คนไทยแบ่งฝักแบ่งฝ่ายแล้วทะเลาะกันเอง มันเหมือนกับว่าประวัติศาสตร์มันกำลังจะซ้ำรอย เหมือนกับที่ตาอ้นกับตาอั้นทะเลาะกัน มันสะท้อนภาพให้เห็นได้อย่างชัดเจน

-คนทั่วไปที่อ่านงานเขียนของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อ่านในช่วงชีวิตแต่ละครั้งก็จะเก็บอะไรได้คนละอย่างกัน คือเรื่องมันมีหลากหลายมุมองมาก มันขึ้นอยู่กับว่าเราจะมองในมุมไหน และขึ้นอยู่กับประสบการณ์ชีวิตของผู้อ่านแต่ละท่านด้วย

อาจารย์อ้น - ความโดดเด่นอีกอย่างหนึ่งของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชคือความเป็นครู โดยเป็นครูจากข้อเขียนที่เราสามารถเรียนรู้จากงานของท่านได้ โดยเฉพาะจากบทความในหน้า 5 ของหนังสือพิมพ์สยามรัฐ รวมทั้งบทความสุดท้ายที่ชื่อคอลัมน์ว่า “ซอยสวนพลู” เป็นบทความที่แสดงความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ นานาของท่าน จึงทำให้ผลงานของท่านมีความร่วมสมัยมาก

-ท่านเป็นครูจากการทำงาน ทำงานให้คนหนังสือพิมพ์ทั้งหลายได้เรียนรู้เอาจากท่าน ทำให้นักหนังสือพิมพ์คนอื่นได้เห็น โดยนักหนังสือพิมพ์ที่เป็นลูกศิษย์เอกคนหนึ่งของท่านคือ รงค์ วงษ์สวรรค์

-ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ท่านสอนด้วยการปฏิบัติเป็นหลัก อย่างเช่น โขนธรรมศาสตร์ ท่านอยากให้การแสดงโขนกลับมา ท่านจึงเอาโขนมาให้นักศึกษาธรรมศาสตร์เล่น ตัวท่านเองก็เคยเล่นโขนด้วย ทำให้กลายเป็นกระแสที่นิยมในช่วงนั้น ซึ่งพอคนทั่วไปได้ปฏิบัติแล้วก็จะเรียนรู้ได้อย่างเข้าใจด้วยตัวเอง

-ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนักวัฒนธรรมที่เป็นจุดเด่นอีกอย่างหนึ่งคือ การตอบจดหมายของท่านมีเสน่ห์มาก ถ้าใครเขียนถามท่านเป็นกลอน ท่านก็จะตอบกลับเป็นกลอนเช่นกัน คอลัมน์ตอบจดหมายของท่านในหนังสือสยามรัฐจึงเป็นที่นิยมในหมู่คนอ่านมาก จนมีการรวบรวมบทกลอนของท่านมาจัดพิมพ์ในหนังสือชื่อ “กลอนคึกฤทธิ์”

-วัฒนธรรมของไทยไม่ใช่อยู่ที่การแต่งชุดไทยเท่านั้น แต่ยังแสดงถึงวัฒนธรรมทางด้านอาหาร ด้านการกินด้วย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชท่านเน้นเรื่องอาหารไทยเป็นอย่างมาก จนมีหนังสือเล่มหนึ่งของท่านชื่อว่า “น้ำพริก” ที่เป็นอาหารจานโปรดบนสำรับอาหารของท่านทุกมื้อ จนมีเมนูน้ำพริกตำรับม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ขึ้นมาด้วย

-จุดเด่นอีกประการของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช คือท่านเป็นนักสื่อสารที่ดี ท่านสามารถนำเอาเรื่องอะไรก็ตามที่ยากๆ มาอธิบายให้มันง่ายขึ้นได้ เช่นเรื่องประวัติศาสตร์ , ศาสนา , การเมือง ฯลฯ ที่ปรากฎอยู่ในบทความของท่าน

-ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นต้นตำรับของการเขียนบทความที่เป็นข้อความแบบสั้นๆ แล้วตัดเร็วๆ อย่างเช่นเรื่อง “ฉากญี่ปุ่น” ท่านเดินทางไปที่ประเทศญี่ปุ่น จึงได้เขียนเรื่องนี้เป็นสารคดีท่องเที่ยว ท่านเขียนด้วยข้อความสั้นๆ แล้วตัดฉากเร็วๆ ทำให้คนอ่านมีความรู้สึกเหมือนได้เดินทางท่องเที่ยวไปกับท่านด้วย เนื้อเรื่องมันสนุก อ่านก็สนุก เรื่องนี้อ่านแล้วเห็นภาพญี่ปุ่นชัดเจนมากขึ้นด้วย

คุณเกด - ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชเป็นคนที่ทันสมัยใหม่มาก และท่านเป็นคนที่เปิดกว้างด้วย คือท่านมีความรู้เยอะ รู้เรื่องราวต่างๆ มากมาย ถือได้ว่าท่านเป็นปราชญ์คนหนึ่งที่ยอมรับสิ่งใหม่ๆ ซึ่งการเปิดกว้างเช่นนี้เป็นสิ่งที่ท่านทำให้คนรุ่นหลังได้เห็นมาโดยตลอด

-ท่านเปิดกว้างก็จริง แต่ท่านไม่ใช่คนที่จะตัดสินว่าอะไรถูกหรืออะไรผิดในทันที แต่เป็นการเปิดโอกาสให้แก่ทุกฝ่ายมากกว่า

-อย่างเช่นในรวมเรื่องสั้นชุด “หลายชีวิต” ตอนจบของเรื่องสั้นหลายเรื่องจบแบบไม่เหมือนกันเลย ในแต่ละเรื่องมีการพลิกตอนจบให้ไม่เหมือนกัน ซึ่งนักเขียนในยุคปัจจุบันนี้ยังเขียนในลักษณะแบบนี้ไม่ได้เลย

-ทุกเรื่องของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช พูดถึงความเป็นมนุษย์ไว้อย่างชัดเจน ซึ่งมีทั้งเรื่องรัก โลภ โกรธ หลง ฯลฯ มีเรื่องของกิเลสที่เป็นความธรรมดาของมนุษย์แทรกอยู่ในทุกเรื่อง





 






อาจารย์อ้น - เรายังเห็นความเป็นจริงทางสังคมหลายอย่างที่ปรากฎอยู่ในงานของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งในปัจจุบันนี้หลายอย่างมันยังไม่เปลี่ยนแปลงไปเลย โดยเฉพาะเรื่องปัญหาของประชาชนทั่วไป ปัญหาหลายอย่างยังไม่ได้รับการแก้ไขเลย

-อยากให้คุณเกดพูดถึงการเขียนบทละครเวทีเรื่องสี่แผ่นดิน ว่ามีรายละเอียดความยากง่ายอย่างไรบ้าง?

คุณเกด - สำหรับบทละครเวทีเรื่องสี่แผ่นดินเวอร์ชั่นแรกเขียนบทอยู่นาน 1 ปี 8 เดือน โดยเริ่มงานเก็บรายละเอียดสำหรับการเขียนบทละครตั้งแต่ปี 2552 กว่าจะเขียนบทเสร็จจนได้แสดงในปี 2554

-จริงๆ แล้วคุณบอย (ถกลเกียรติ วีรวรรณ) อยากจะทำละครเวทีเรื่องสี่แผ่นดินมานานแล้ว แต่ที่ยังไม่ได้ทำเพราะยังหาประเด็นไม่ได้ว่าจะเล่นประเด็นไหนดี จนกระทั่งมาเจอคำว่า “ฉันชื่อพลอย ฉันรักพระเจ้าแผ่นดิน” จึงเลือกเล่าต่อจากประโยคนี้ คือเล่นในประเด็นเรื่องความสัมพันธ์ของประชาชนที่มีต่อพระมหากษัตริย์

-ตอนที่ทำละครเวทีเรื่องสี่แผ่นดินเวอร์ชั่นแรก ตอนนั้นเราทำหลังจากเหตุการณ์เสื้อเหลืองเสื้อแดง เราจึงพยายามนำเสนออย่างเป็นกลางอย่างที่สุด เป็นการนำเสนอถึงความจริงทางประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในเรื่อง

-เราใช้ตรีมภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 9 คือบอกว่าไม่ว่าจะเป็นภาพไหนก็สวยงามที่สุดสำหรับเรา เวอร์ชั่นแรกนี้เราแสดงกว่า 100 รอบ

-พอถึงเวอร์ชั่นที่สอง เราแสดงหลังปี 2557 ที่เพิ่งผ่านเหตุการณ์การเผาห้างเซ็นทรัลเวิร์ด เป็นเหตุการณ์ที่ประชาชนขัดแย้งกันทางความคิดอีกครั้ง ซึ่งเราตั้งใจเอาละครเวทีเรื่องสี่แผ่นดินนี้มาตอบคำถามเหตุการณ์ในขณะนั้นด้วย

-พอหลังจากเหตุการณ์การสวรรคตของรัชกาลที่ 9 มีคนพูดกันว่า “ฉันอยู่มาแค่แผ่นดินเดียวยังไม่ไหวเลย แล้วพลอยอยู่มาได้อยางไรถึง 4 แผ่นดิน” เราจึงเอาละครเวทีสี่แผ่นดินกลับมาแสดงใหม่อีกครั้ง เราเลือกเอามาเล่นในช่วงนี้เพื่อเป็นกำลังใจให้แก่ประชาชน เพื่อจะได้ดำเนินชีวิตต่อไปได้ สำหรับในเวอร์ชั่นนี้เราเล่นตรีมเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

-ตอนที่เราทำสี่แผ่นดินเวอร์ชั่นล่าสุดนี้ ตอนที่เริ่มเขียนบทละครเป็นช่วงที่รัชกาลที่ 9 เข้าพักรักษาที่โรงพยาบาลศิริราช ตอนแรกเราก็กลัวอยู่เหมือนกัน คือเราจะทำละครต่อโดยไม่ให้จบลงตรงที่รัชกาลที่ 8 สวรรคต แต่เราจะทำให้ตอนจบเป็นการแขวนพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 9 ขึ้นไว้ที่ฝาบ้าน เพื่อเป็นการให้ความหวังแก่ประชาชนทั่วไปด้วย

-คือเราไม่ต้องการทำให้คนดูต้องหดหู่ตามไปด้วย เราจึงเขียนบทขึ้นมาใหม่ให้ตัวละครพลอยยืนมองรูปรัชกาลที่ 9 มีคนบอกว่าอย่างนี้ก็กลายเป็น 5 แผ่นดินสิ แต่เราก็คิดว่าคงไม่เป็นอะไร เพราะเราอยากให้กำลังใจแก่ทุกคน เราอยากให้คนเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย

-ที่เราเลือกทำตอนจบแบบนี้ได้ก็เพราะว่างานของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช มีหลายมุมมองมาก เราจะเลือกเล่าในแง่มุมไหนดี ซึ่งพอคิดไปคิดมาทุกประเด็นมันก็สำคัญเทียบเท่ากันหมด เราจึงเลือกว่าจะเล่าออกมาในประเด็นแบบไหนดี

อาจารย์อ้น – งานของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช สามารถนำมาแปลงเป็นงานในแขนงอื่นๆ ได้อย่างหลากหลายมาก เพราะว่าภาษาของท่านชัดเจนมาก คนรุ่นใหม่อ่านงานของท่านได้อย่างไม่จบไม่สิ้น เพราะไม่ได้มีแค่เรื่องจากการประพันธ์ (เรื่องแต่ง) อย่างเดียว แต่ยังมีงานเล่าที่เป็นสารคดี เป็นบทความ เป็นการพูดถึงประวัติศาสตร์ด้วย ผลงานของท่านทุกชิ้นทรงคุณค่าอย่างยิ่ง






 


คุณทองแถม นาถจำนง



 


คุณอัศศิริ ธรรมโชติ





คุณทองแถม นาถจำนง นักเขียน (ผู้ตามรอยคึกฤทธิ์) ผู้ร่วมฟังการเสวนาอยู่ด้วย ช่วยให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นกวีที่เขียนบทกลอนได้อย่างยอดเยี่ยมมากคนหนึ่งของเมืองไทยเลย คุณทองแถมเคยรวบรวมผลงานกลอนของท่านมาไว้ในหนังสือชื่อ “กลอนคึกฤทธิ์ฯ” นอกจากนั้นยังได้รวบรวมบทความของท่านที่เขียนถึงนักเขียนคนอื่น โดยรวบรวมเอาไว้ในหนังสือชื่อเรื่องว่า “ว่าด้วยคึกฤทธิ์วิจารณ์นักเขียน” เป็นบทความที่น่าอ่านมาก

คุณอัศศิริ ธรรมโชติ นักเขียนและศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณกรรม ผู้ร่วมฟังการเสวนาอยู่ด้วย ช่วยให้ความเห้นเพิ่มเติมว่า ผลงานของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นงานที่เขียนได้อย่างยอดเยี่ยม ใช้ภาษาที่ดีมาก สามารถนำเอามาต่อยอดเพื่อสร้างเป็นงานศิลปะแขนงอื่นๆ ได้ คือเอามาเล่าต่อได้สนุกมาก





 







คุณเกด – เคยได้อ่านเรื่อง “มอม” ตอนเป็นเด็ก รู้สึกว่าเป็นงานที่อ่านง่าย อ่านได้สนุก อ่านแล้วอยากจะอ่านต่ออีก ซึ่งพอโตแล้วได้กลับมาอ่านเรื่อง “มอม” อีกครั้งหนึ่ง ถึงได้รู้ว่าทำไมตอนที่เราเป็นเด็กเราถึงอ่านสนุก ก็เพราะในสมัยนั้นยังไม่เคยมีตัวละครที่เป็นหมาเลย แล้วเป็นหมาที่พูดได้มีความนึกคิดเหมือนกับคนด้วย

อาจารย์อ้น – คุณณรงค์ จันทร์เรือง เคยเล่าให้ฟังว่า เวลาที่ทุกคนไปบ้าน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ทุกคนจะสนุกมาก เพราะว่าท่านมีเรื่องสนุกๆ เล่าให้ฟังเยอะมาก มีของกินมากมายด้วย เครื่องดื่มมีหลากหลายให้บริการครบถ้วน (มีสุราด้วย) ทุกคนที่ไปบ้านท่านที่ซอยสวนพลูจะชอบท่านมาก เพราะม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นคนที่เมตตาสูงมาก

คุณเกด – ตอนที่กำลังเขียนบทละครเวทีเรื่องสี่แผ่นดินเวอร์ชั่นสุดท้าย อยู่วันหนึ่งที่นึกอะไรไม่ออกเลย จึงขับรถไปนั่งที่บ้านม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่ซอยสวนพลู พอได้เข้าไปนั่งอยู่ในบ้านเงียบๆ เย็นๆ สักพัก อยู่ๆ ก็เหมือนมีเสียงลอยเข้ามาในหู ทำให้คิดประโยคแรกของงานออกทันทีเลย

-แล้วก็ได้เข้าใจถึงงานของเขียนแต่ละชิ้น ที่ท่านได้นั่งเขียนแบบเงียบๆ อยู่ที่บ้านซอยสวนพลูนี้เอง
อาจารย์อ้น – วันนี้เราพอจะได้ภาพของนักเขียนคนสำคัญของเมืองไทย ซึ่งท่านใดที่สนใจอยากจะศึกษางานของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ต่อก็หาผลงานของท่านมาลองอ่านกันดูได้ งานของท่านมีอยู่มากมายหลายชิ้นมากด้วย





 



 




 

Create Date : 23 เมษายน 2561
5 comments
Last Update : 23 เมษายน 2561 13:37:14 น.
Counter : 1701 Pageviews.

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณไวน์กับสายน้ำ, คุณสายหมอกและก้อนเมฆ, คุณบาบิบูเบะ...แปลงกายเป็นบูริน, คุณภาวิดา คนบ้านป่า, คุณโอพีย์, คุณtoor36, คุณhaiku, คุณruennara, คุณSweet_pills

 

หม่อมคึกฤทธิ์ เขียนหนังสือหลายเล่ม ที่อ่านจริงจังก็น่าจะ
ไผ่แดง เป็นคนธรรมดา เป็นเพื่อนกับภิกษุ... แล้วทั้งคนกับ
พระมีจิตที่ยังไม่อาจจะตัดขาดกับโลก ได้..

ส่วนสี่แผ่นดิน ท่านเขียนได้เยี่ยม.. จำได้ แม่พลอย นางช้อย
ที่นิสัยต่างกัน แม่ช้อยเป็นสีสัน พิเรน.. ส่วนแม่พลอยกุลสตรี

...

ผมว่า นิยายที่เขียนสำคัญ ส่วนคนเขียนบทละคร สำคัญไม่แพ้
กัน ดึงบุคคลิก หรือฉาก ตัวเดินเรื่อง..ออกมาก็ดังได้อย่างที่
เห็นๆ กันครับคุณกล่อง

ท่าน ๆ ข้างบนก็เช่นกัน มีแนวคิดแนวเขียนได้ดีมาก ๆ เลยครับ..

แต่บางครั้ง... ไม่แน่ใจว่า คนเขียนบทพวกซี่รีย์ทั้งหลาย เขียน
คนเดียว หรือหลายคน ถ้า ตปท.จะมีทีมเขียนแต่ละตอน ผลัด
กันทำให้เกิดสีสันแต่ไม่หนี เนื้อเรื่อง

v

 

โดย: ไวน์กับสายน้ำ 23 เมษายน 2561 14:39:56 น.  

 

รู้สึกอยากดู/อ่านสี่แผ่นดินขึ้นมาเลยค่ะ

 

โดย: บาบิบูเบะ...แปลงกายเป็นบูริน 23 เมษายน 2561 21:52:33 น.  

 

มาจองที่ก่อนค่ะ พรุ่งนี้มาอ่าน
แต่สี่แผ่นดินอ่ะ อ่านไปสองรอบแล้ว

 

โดย: ภาวิดา (คนบ้านป่า ) 23 เมษายน 2561 22:12:35 น.  

 

หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมชมีคำพูดเด็ดในทางการเมืองหลายอันอยู่เหมือนกันครับ

ในส่วนงานเขียนของท่านผมไม่ค่อยได้ตามเท่าไหร่ครับ

ตรงมุมที่เป็นเวทีผมผ่านแต่ไม่ได้แวะเข้าไปเลยครับ

 

โดย: คุณต่อ (toor36 ) 24 เมษายน 2561 23:42:31 น.  

 

ผมเคยอ่านผลงานของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์แค่เล่มเดียวเองครับ นั่นคือเรื่องกาเหว่าที่บางเพลง แต่ตอนนี้มีอีกเรื่องที่ซื้อมาแล้วกำลังจะอ่าน คือพม่าเสียเมืองครับ

 

โดย: ruennara 26 เมษายน 2561 1:11:14 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


อาคุงกล่อง
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 62 คน [?]




อาคุงกล่องเป็นชายไทยนิสัยดีมีความฝัน ผู้ผันตัวมาเป็นทาสวรรณกรรมอย่างแท้จริง ใช้ชื่อกำหนดตัวตนว่า “อาคุงกล่อง” เป็นนามปากกาสร้างสรรค์ผลงานในเชิงหัสนิยาย และงานเขียนในรูปแบบต่าง ๆ อาทิเช่น เรื่องสั้น นวนิยาย สารคดี ความเรียง บทกลอน ไดอารี่เพ้อเจ้อละเมอเพ้อฝันต่างๆ ฯลฯ

ปัจจุบัน “อาคุงกล่อง” เป็นนักอ่าน นักคิดและนักเขียน รวมทั้งเป็นนักจินตนาการออกมาเป็นตัวอักษรด้วย ผู้มีความฝันอันยิ่งใหญ่คือการเป็นนักเขียนมีคุณภาพที่สรรค์สร้างผลงานอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ คาดว่าในเวลาอันใกล้นี้นาม “อาคุงกล่อง” จะเกิดปรากฎชัดในโลกวรรณกรรม จนเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในหมู่หนอนนักอ่านทั่วไทย



"ในชีวิตจริงของคนเรา มีอะไรอีกมากมายที่จะต้องรับรู้และรับผิดชอบ ในแต่ละวันเรามีโอกาสที่จะหัวเราะได้สักกี่ครั้ง? แต่ถ้าเราได้มีโอกาสหัวเราะเสียบ้างเพื่อเป็นการผ่อนคลายหรือคลายเครียด ก็คงจะเป็นสิ่งที่ดีนะครับ"

ถ้าคุณเข้ามาในบล็อคของผมแล้ว คุณสามารถอมยิ้มหรือหัวเราะได้ ผมก็คงจะดีใจแล้วครับ (กรุณาช่วยทิ้งคอมเม้นท์วิจารณ์ไว้ให้ผมด้วยนะครับ จักขอบพระคุณมากเลยครับ)

akungklong@gmail.com
Friends' blogs
[Add อาคุงกล่อง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.