Group Blog
 
 
มีนาคม 2561
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
24 มีนาคม 2561
 
All Blogs
 
ตามรอยละครบุพเพสันนิวาส ... ที่หอสมุดแห่งชาติ



24 มีนาคม 2561












ดังไม่หยุด ฉุดกันไม่อยู่จริงๆ กับกระแสความดังของละครอิงประวัติศาสตร์เรื่องบุพเพสันนิวาส ที่ออเจ้าทั้งหลายกำลังนิยมกันอยู่ทั่วบ้านทั่วเมือง ไม่ว่าสาวน้อยสาวใหญ่ก็เฝ้าหน้าจออยู่ไม่ห่าง ต่างก็ขำไปกับลีลากวนๆ ชวนหัวของนางเอก และแก้มแดงตาลอยไปพร้อมกันเมื่อพระเอกโผล่เข้ามาในจอ ซึ่งละครเรื่องบุเพสันนิวาสนี้กลายเป็นปรากฎการณ์ที่ดึงความสนใจของผู้คนทั่วไป ให้หันกลับมาสนใจประวัติศาสตร์ของชาติไทยกันมากขึ้น

คุณรอมแพงผู้เขียนนวนิยายเรื่องนี้ได้ให้สัมภาษณ์กับหลายๆ สื่อว่า ตัวเขาใช้เวลารวบรวมข้อมูลนานถึง 3 ปีกว่าจะเขียนเรื่องบุเพสันนิวาสได้ โดยการหาข้อมูลนั้นหาจากหนังสือโบราณและเอกสารโบราณที่หอสมุดแห่งชาติเป็นหลัก ดังนั้นทางหอสมุดแห่งชาติจึงขอเกาะกระแสจัดงาน “ตามรอยละครบุพเพสันนิวาส” ขึ้นมาเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 22 มีนาคม 2561 ที่ห้องวชิรญาณ อาคาร 2 ชั้น 1 หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี โดยมีทั้งการพูดคุยกับคุณรอมแพงและนิทรรศการตามรอยบุพเพสันนิวาสด้วย








สำหรับการพูดคุยกับคุณรอมแพงมีรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้





นางประนอม คลังทอง รองอธิบดีกรมศิลปากร

 









-ถ้าถามว่าเป็นอย่างไรบ้างกับกระแสของละครบุพเพสันนิวาส คุณรอมแพงเคยคาดคิดมาก่อนไหมว่ามันจะเกิดเป็นปรากฎการณ์ขณะนี้? คุณรอมแพงตอบว่าตอนที่เขียนก็ไม่ได้คิดอะไรเลย แค่เขียนอย่างที่อยากเขียน แต่พอเขียนจบแล้วมีคนชอบ มีคนตอบรับ นวนิยายเรื่องนี้ก็เลยได้พิมพ์เยอะ ได้มีพิมพ์เพิ่มทุกปี ปีละประมาณ 2-3 ครั้ง

-อย่างล่าสุดเป็นการพิมพ์ครั้งที่ 83 คือแต่ละครั้งจะพิมพ์ประมาณ 1,000 – 1,500 เล่มมาตลอด แต่พิมพ์ครั้งแรก 5,000 เล่ม จนมาถึงตอนนี้ก็คิดว่ามีที่พิมพ์ออกไปแล้วสักประมาณ 90,000 เล่มได้

-ชื่อนามปากกาว่า “รอมแพง” เป็นชื่อของนางเอกในนวนิยายเรื่อง “เวียงกุมกาม” ของคุณทมยันตรี เคยได้โอกาสได้เจอคุณทมยันตรีและได้ขออนุญาตใช้ชื่อรอมแพงเป็นชื่อนามปากกาแล้ว

-ก่อนหน้าที่จะมาเป็นนักเขียนนั้น คุณรอมแพงทำมาหลายอาชีพมาก เท่าที่นับดูประมาณ 11 อาชีพได้ ซึ่งทำให้ได้ประสบการณ์ชีวิตมาใช้ในงานเขียนได้

-สมัยเมื่อสัก 10 ปีที่แล้ว คุณรอมแพงได้เล่นเกมมังกรหยกออนไลน์ ที่เป็นเกมสำหรับ PC มีแซท จึงทำให้มีโอกาสได้คุยกับคนที่อยู่ในเกม โดยใช้วาจาที่จิกกัด โดยมีสำนวนที่เสียดสี ทำให้เริ่มมีแฟนคลับติดตามตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว

-สำหรับแรงบันดาลใจจากการแต่งนวนิยายเรื่องบุพเพสันนิวาสนี้ มาจากตอนที่เริ่มเป็นนักเขียนก็อยากจะเขียนนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ เพราะว่าเราเรียนขจบมาทางด้านนี้ (คุณรอมแพง จบจากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร) แต่เราอยากจะเขียนให้เป็นเรื่องรักโรแมนติคคอมเมอร์ดี้ เป็นรักแบบกุ๊กกิ๊กๆ และอยากใส่มุกขำๆ ลงไปในนิยายด้วย

-ตอนที่อยากเขียนก็เริ่มหาว่าจะเขียนนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ในยุคไหนดี จึงเริ่มหาข้อมูล โดยมาหาข้อมูลที่หอสมุดแห่งชาติ และห้องสมุดมหาวิทยาลัยศิลปากรที่วังท่าพระ

-ตอนแรกคิดอยากจะเขียนเป็นยุคสมัยรัชกาลที่ 5 แต่เราตั้งใจจะให้นางเอกของเรารั่วมาก ออกแนวขำๆ หน่อย เราก็คิดว่าถ้าเราเขียนอะไรที่มันใกล้กับปัจจุบันเกินไปมันคงไม่ดีแน่ เพราะว่าลูกหลานของเขายังอยู่ เราจะเล่นพลิกแพลงอะไรได้ไม่เต็มที่นัก

-พอคิดว่าจะเขียนในยุคที่เสียกรุงฯ ก็ไม่น่าจะเขียนได้ เพราะว่ามันจะกลายเป็นโศกนาฎกรรมมากกว่า เรารู้ดีว่าตอนนั้นมันโศรกเศร้ามาก แล้วเราเป็นคนที่ไม่ชอบเรื่องเศร้าๆ ด้วยจึงไม่ได้เลือกเขียนในยุคนี้

-จึงสรุปได้ว่าเขียนถึงยุคในสมเด็จพระนาราษณ์มหาราชน่าจะดีกว่า เพราะในยุคนั้นมีความรุ่งเรืองมาก มีความเจริญมากมายเนื่องจากมีชาวตะวันตกเข้ามาแล้ว เป็นยุคที่บ้านเมืองมีสีสันมาก จึงตัดสินใจเขียนโดยใช้ยุคที่ใกล้จะถึงการสวรรคตของสมเด็จพระนาราษณ์มหาราช

-ช่วงที่หาข้อมูลเกี่ยวกับยุคสมัยนั้น พอเราเจอข้อมูลอะไรที่น่าสนใจเราก็จะพยายามเอาใส่เข้าไปในนิยายของเราด้วย เช่นไปอ่านเจอเรื่องราวที่พราหมณ์มีวิชาอาคม , เรื่องชีปะขาว , เอาตำนานศรีปราชญ์มาใส่ไว้ด้วย ฯลฯ

-ตัวพระเอกในเรื่องเราจับเอาคนที่มีตัวตนจริงๆ ประวัติศาสตร์มาเขียน โดยคนนี้มีรายละเอียดไม่มากไม่รู้ว่าพ่อแม่เป็นใคร จึงเป็นการง่ายที่เราจะจับเอามาผูกเป็นเรื่อง

-หาข้อมูลสำหรับเขียนเรื่องบุพเพสันนิวาสอยู่ประมาณ 3 ปี โดยในช่วงแรกต้องเข้ามาอ่านเอกสารโบราณที่หอสมุดแห่งชาติเกือบทุกวัน ต้องไปดูสถานที่จริงที่อยุธยาด้วย ไปหาข้อมูลในพิพิธภัณฑ์ที่อยุธยา นั่งเรือรอบเกาะอยุธยาเพื่อคิดสร้างเรื่องว่าบ้านใครควรจะอยู่ตรงไหน ตลาดจะอยู่ตรงไนอย่างไร เพื่อความสมจริงของเรื่องโดยใช้แผนที่อยุธยาโบราณเป็นหลัก

-ถามว่าทำไมถึงอยากเขียนเรื่องราวย้อนยุค? คงเป็นเพราะคิดว่าถ้าตัวเราเองย้อนยุคไปได้ เราจะย้อนไปยุคไหน? และเราจะไปทำอะไรบ้าง? เราจึงเขียนเรื่องโดยสร้างให้ตัวนางเอกเป็นผู้ที่ย้อนยุคไปแทนเรา ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นตัวเราเองที่อยากจะย้อนยุคไป

-ต้องคิดถึงรายละเอียดของเรื่องด้วย เช่นถ้าเขียนถึงเรื่องของกิน เราต้องไปหาข้อมูลว่าในสมัยนั้น พริกมีหรือยัง? น้ำปลามีไหม? คนเขากินอะไรกันบ้าง? คิดไปถึงว่าถ้าเป็นผู้หญิงที่มีรอบเดือน สมัยนั้นมีผ้าอนามัยหรือยัง? แล้วเขาใช้อะไรกัน?

-ส่วนเรื่องการพูดของตัวละครจะใช้ข้อมูลจากจดหมายเหตุลาลูแบร์เป็นหลัก ซึ่งจะมีรายละเอียดทั้งการพูดจาของคน , การอยู่กินของคน , การใช้ชีวิตของคนในยุคนั้น ฯลฯ แล้วก็เอาวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผนมาเปรียบเทียบกับรายละเอียดในเรื่องของเราด้วย

-อย่างชื่อของคุณหญิงนิ่ม ตอนที่เขียนยังหาข้อมูลไม่เจอว่าภรรยาของโกษาธิบดี (เหล็ก) ชื่อว่าอะไร? ตอนเขียนเลยใช้ชื่อนิ่มไปก่อน แต่พอเขียนไปสักพักมีคนหาข้อมูลมาให้บอกว่าชื่อนิ่ม ซึ่งตรงกับที่เราใช้พอดีเลย

-ชื่อนางเอก การะเกด มีคนถามว่าเอามาจากเนื้อร้องเพลงกล่อมเด็กใช่ไหม? ที่เนื้อเพลงบอกว่าเจ้ากระเกดทะเลาะกับฝรั่งในตลาด

-ตอนที่ไปชมพิพิธภัณฑ์ที่อยุธยาไปเจอเครื่องกรองน้ำในสมัยโบราณ เลยเอามาใช้ใส่ไว้ในละครด้วย

-ตอนที่จะเริ่มเขียนต้องวางพล็อตคร่าวๆ ไว้ก่อน แล้วจึงหาว่าจะเขียนในยุคสมัยไหนดี พอตัดสินใจได้แล้วว่าจะเขียนในยุคไหนก็ต้องทำพล็อตที่ละเอียดขึ้นมาก่อน จึงจะเขียนได้

-การที่เราหาข้อมูลมานั้น เราต้องอ่านและเอามาย่อยในหัวของเราก่อน โดยพยายามเขียนให้เป็นกลางมากที่สุด สร้างคาแร็กเตอร์ของตัวละครไว้ก่อนเลย ว่าตัวละครตัวไหนชอบอะไร ไม่ชอบอะไร พยายามทำตัวละครในเรื่องให้กลมที่สุด สร้างตัวละครให้เหมือนคนจริงๆ มากที่สุด

-พอเราสร้างคาแร็กเตอร์ของตัวละครชัดเจนทุกตัวแล้ว จะทำให้การเขียนของเราลื่นไหลมากขึ้น












-ในเรื่องบุพเพสันนิวาส คุณรอมแพงเขียนโดยให้ตัวนางเอกมองประวัติศาสตร์ผ่านเรื่องราวที่เกิดขึ้น โดยพยายามจะแทรกจินตนาการเพิ่มเติมเข้าไปในประวัติศาสตร์ ซึ่งมันจะยากในระดับหนึ่ง

-มีตัวละครแค่ 3-4 ตัว ที่ไม่มีตัวตนจริงๆ ในประวัติศาสตร์ คือตัวนางเอก (การะเกด) , ขุนเรือง , แม่หญิงจันทร์วาด , แม่หญิงจำปา

-เวลาที่เขียนเรื่องเราต้องให้ตัวละครทุกตัวมีเหตุผลในการกระทำของตัวเอง เพื่อความสมจริงเราจึงต้องเอาข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์มาผสมกับจินตนาการของเรา ทำให้กลายเป็นเรื่องบุพเพสันนิวาสขึ้นมาได้

-ตอนที่เขียนพยายามทำให้เป็นกลางมากที่สุด พยายามเอาทุกกระแส (ข้อมูลทางประวัติศาสตร์) ที่เราหาได้มาใส่ไว้ในนิยายให้มากที่สุด โดยมีพล็อตมาคลุมไว้ ซึ่งอาจจะทำให้คนอ่านอ่านแล้วต้องคิดต่อเองว่าเรื่องจริงมันเป็นอย่างไร? ซึ่งก็ประสบความสำเร็จในการทำให้คนอ่านกลับมาสนใจประวัติศาสตร์ชาติไทยกันมากขึ้น

-อาจารย์ศัลยาผู้เขียนบทก็ต้องหาข้อมูลประกอบการเขียนเช่นเดียวกันกับเรา อาจารย์ศัลยาหาข้อมูลนานกว่า 2 ปี จึงจะเขียนบทละครเรื่องนี้ได้

-ตอนที่เราเขียน เราไม่คิดที่จะเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์เลย ความตั้งใจของเราคือการเล่าประวัติศาสตร์ที่มีอยู่แล้วให้สนุก ให้มีความน่าสนใจ โดยย่อยข้อมูลทางประวัติศาสตร์ให้ผู้อ่านอ่านได้ง่ายขึ้น

-สำหรับเรื่องที่จะเขียนในภาคที่ 2 นั้น จะเขียนถึงยุคปลายสมัยสมเด็จพระเพทราชา เลยไปถึงยุคพระเจ้าเสือและพระเจ้าท้ายสระ จะพูดถึงเรื่องการค้าของอยุธยาในสมัยนั้น หลังจากที่กองทหารฝรั่งออกไปจากอยุธยาแล้ว ซึ่งอยุธยาในตอนนั้นจะเริ่มทำการค้าขายกับจีนมากขึ้น หาข้อมูลมาเจอว่าในยุคสมัยพระเจ้าท้ายสระไทยมีการขายข้าวให้จีนเยอะมาก

-ในภาค 2 จะเป็นการเล่าประวัติศาสตร์เหมือนเดิม โดยจะเล่าเรื่องตามทามไลน์ ตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง แต่จะอัพเดทชีวิตของตัวละครการะเกดหลังจากที่ตัวเขาย้อนยุคไป ซึ่งการเขียนในภาค 2 นี้ต้องมาหาข้อมูลเพิ่มเติมที่หอสมุดแห่งชาติแน่ๆ

-เมื่อ 10 ปีที่แล้วมาหาข้อมูลที่หอสมุดแห่งชาติเพื่อเอาไปเขียนเรื่องบุเพสันนิวาส ปรากฎว่าเอกสารเก่า เอกสารโบราณเราไม่สามารถแตะต้องได้เลย แต่เมื่อ 5 ปีที่แล้วมาหาข้อมูลที่หอสมุดแห่งชาติเพื่อเอาไปเขียนเรื่อง “มณีรัตนะ” ปรากฎว่าเริ่มแตะต้องเอกสารโบราณได้มากขึ้น ถ่ายเอกสารได้แล้ว โดยต้องซีร็อกจดหมายเหตุบางกอกรีคอเดอร์ ที่เขียนเป็นภาษาไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 เอากลับไปอ่านที่บ้าน

-แต่ ณ ปัจจุบันนี้ทางหอสมุดแห่งชาติอนุญาตให้ถ่ายรูปเอกสารโบราณต่างๆ ได้แล้ว และถ่ายซีร็อกหนังสือ โบราณต่างๆ ได้เช่นกัน เพียงแค่กรอกข้อมูลในเอกสารคำขอฯ นิดหน่อยเอง

-ในการอ่านนิยายต่างๆ คุณรอมแพงแนะนำว่าเมื่ออ่านไปแล้ว ควรจะคิดตามไปด้วยว่าเรื่องราวมันเป็นจริงตามที่นิยายเขียนไว้หรือไม่? จะทำให้เราได้ความรู้เพิ่มขึ้นจากการอ่านนิยายด้วย

-ส่วนประเภทของนวนิยายต่างๆ นั้น ถือว่าเป็นความหลากหลายของคนเขียน แต่การที่จะเขียนเรื่องอะไรขึ้นมาสักเรื่อง คนเขียนต้องดูความต้องการของคนอ่านด้วยว่าอยากอ่านเรื่องในแนวนั้นหรือไม่? ซึ่งนักเขียนจะเขียนเรื่องราวอย่างไรก็ได้ แต่ต้องมีเหตุผลรองรับการกระทำต่างๆ ของตัวละครในเรื่องด้วย

-ไม่เคยคิดว่างานเขียนในแนวของตัวเอง (แนวพีเรียดย้อนยุค) จะสูงส่งกว่าของคนอื่น แต่คิดเสมอว่าเราจะเขียนอย่างไรให้คนอ่านจ่ายเงินซื้อหนังสือเราแล้วเขาคุ้มค่ามากที่สุดมากกว่า



















สำหรับนิทรรศการตามรอยบุพเพสันนิวาสนั้น

-ทางหอสมุดแห่งชาติได้เอาหนังสือทุกเล่มที่คุณรอมแพงอ้างอิงไว้ท้ายเล่มมาจัดแสดงให้ผู้ที่สนใจได้ชมกัน ซึ่งผู้ใดที่สนใจอยากจะอ่านก็ขอใช้บริการได้ที่ ห้องหนังสือหายาก อาคาร 2 ขั้น 3

-เอกสารและหนังสือบางเล่มที่จัดแสดงจะเก็บอยู่ที่ห้องหนังสือประเทศไทย ซึ่งผู้สนใจสามารถไปขอใช้บริการได้ที่ อาคาร 1 ชั้น 3



















-มีการจัดแสดงภาพถ่ายโบราณในสมัยรัชกาลที่ 4 และ รัชกาลที่ 5 รวมทั้งมีแผนที่อยุธยาโบราณจัดแสดงให้ชมด้วย

















-ในงานนิทรรศการครั้งนี้มีการนำสมุดดำ (หนังสือสมุดไทย) มาจัดแสดง 2 เล่ม คือหนังสือเรื่องจินดามณี และสมุทรโฆษคำฉันท์ ทั้งสองเล่มเป็นของจริง เป็นฉบับดั้งเดิมที่พระโหราธิบดีเป็นผู้แต่ง นำออกมาแสดงสำหรับงานนี้โดยเฉพาะ




















-นำหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์อยุธยามาจัดแสดง โดยหนังสือที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์อยุธยานี้ได้เก็บข้อมูลลงระบบดิจิทัลเรียบร้อยแล้ว ในงานมีจอทัชสกรีนสำหรับค้นหาข้อมูลมาให้บริการด้วย สำหรับท่านใดที่สนใจข้อมูลในส่วนนี้ ท่านสามารถเข้าค้นหาข้อมูลจากระบบจัดเก็บข้อมูลออนไลน์ในเว็บไซต์ของหอสมุดแห่งชาติได้

















-สำหรับช่องทางการติดต่อกับทางหอสมุดแห่งชาติ นอกจากเว็บไซต์ทางการของหอสมุดแห่งชาติแล้ว ยังมีช่องทางการติดต่อทาง เฟสบุ๊ค , ทวิเตอร์ , อินตราแกรม และ ไลน์ ทุกท่านสามารถกดติดตามเพื่อรับข้อมูลข่าวสารของทางหอสมุดแห่งชาติได้

-ทางหอสมุดแห่งชาติมีกิจกรรมส่งเสริมการอ่านทุกเดือน เป็นกิจกรรมในโครงการพัฒนาและส่งเสริมหอสมุดแห่งชาติเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต

-สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้ เป็นหนึ่งในกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน NLT EDUTAINMENT ครั้งที่ 4 ซึ่งในปี 2561 นี้จะจัดทั้งหมด 10 ครั้ง เป็นกิจกรรมที่ชวนนักเขียนหรือคนที่อยู่ในวงการหนังสือมาพูดคุยในหัวข้อส่งเสริมการอ่าน ท่านใดที่สนใจสามารถเข้าร่วมงานได้ฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

-สำหรับกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน NLT EDUTAINMENT ครั้งต่อไปจะเป็นการพูดคุยกับนักเขียนซีไรท์คนล่าสุด ผู้ที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมทางช่องทางการติดต่อต่างๆ ได้











-สำหรับนิทรรศการตามรอยบุพเพสันนิวาสทั้งหมดนี้จะจัดแสดงต่อที่ห้องหนังสือหายาก อาคาร 2 ชั้น 3 ที่หอสมุดแห่งชาติ ท่านใดที่สนใจอยากจะหาข้อูลทางประวัติศาสตร์เพิ่มเติมก็สามารถติดตามไปชมต่อได้





Create Date : 24 มีนาคม 2561
Last Update : 24 มีนาคม 2561 0:23:04 น. 10 comments
Counter : 1190 Pageviews.

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณสายหมอกและก้อนเมฆ, คุณไวน์กับสายน้ำ, คุณSai Eeuu, คุณtoor36, คุณกาบริเอล, คุณSweet_pills, คุณhaiku, คุณอุ้มสี, คุณหอมกร


 
มิน่า คุณรอมแพง ค้นหาข้อมูลมากมาย เคยทำงานหลายอย่าง
มีจินตนาการ แล้วนำมาเปรียบเทียบกับตัวเอง คงคิดถึงคนสมัย
ก่อน "ใช้ผ้าขี่ม้า" แต่ไม่ถึงกับใข้ กาบพร้าวแบบภาคใต้ 555

"""

งานเขียนเลยประสพความสำเร็จมากมาย ละครออกตรงกับ
การจัดงานอย่างอื่นด้วย คนเลยนิยมแต่งกายแบบนั้น

ไปถ่ายภาพกัน... ผมว่า หญิงเป็นส่วนมาก ชอบสวยงาม
อยากแต่งกายที่เด่น ดูดี ถ่ายภาพ

ผมก็สังเกต ที่ชมรมดนตรีร่มไม้ในสวนของผม.. หญิงเขาแต่ง
กายย้อนยุค มากว่า 4 ปี..คือใช้ขุดราตรีใส่ไปร้องเพลง
เพื่อน ๆ สมัยใหม่เห็นในเฟช..ยังแอบกระซิบผมว่า ไงแต่ง
ตัวแบบนั้น คือเขาขำนะครับคุณกล่อง

แต่แต่งใกล้หน่อย ยุค วนิดา คุณกล่องคงเห็นวิดิโอที่ไป
สัมภาษณ์ผม ออกทางบล๊อกแก๊งกับยูทูป.. คนคลิ๊กเข้าไป
ดูเยอะ เขามิได้ดูอะไรผมนะครับ หญิงเขาดูชุดวนิดากัน 555
....

ครูประวัติศาสตร์ผม ที่เชียงใหม่ อ.ชุ่ม ณ บางช้าง ก็เขียน
นิยายประวัติศาสตร์ ผมยังแอบไปอ่านต้นฉบับ..ก่อนพิมพื
พวก เจ้าหมื่นด้งนคร..

...

ผมเคยเข้าไปอ่านหนังสือที่ หอสมุดแห่งชาติที่นั่นเลยแต่หลาย
ปีมาแล้ว ดูสงบ.. ยังคิดเลยว่า เอ..เขาจะมีการถ่ายไมโคร
ฟิล์ม หนังสือที่หยิบต้องไม่ได้ ให้เราอ่านบ้างเปล่าหนอ
555 ก็ผมไปตอนนั้น ยังไม่มีการถ่ายเข้า คอมฯ นิี่นา

คุณกล่องโชคดี หรือเรียกว่า เป็นคนสนใจงานเขียนมากกว่า
บล๊อกเกอร์ใด ๆ จึงเข้าไปฟัง การสัมนา หรือไปฟังการรีวิว
หนังสือเยอะ ดีจังครับ

v


โดย: ไวน์กับสายน้ำ วันที่: 24 มีนาคม 2561 เวลา:5:46:38 น.  

 
ละครเรื่องนี้ ทำให้กระแสรักษ์ไทย แรงขึ้นมาก ดีจริงๆ ค่ะ


โดย: Sai Eeuu วันที่: 24 มีนาคม 2561 เวลา:11:43:47 น.  

 
เป็นกระแสเลยทีเดียวครับ คนที่เขียนหนังสือกว่าเขาจะเขียนออกมาได้แต่ละเล่มนี่ต้องลงทุนลงแรงมากเลยทีเดียวกว่าจะได้ผลงานีๆ ออกมาสักเล่ม ดังนั้นเราควรอุดหนุนผลงสยของผู้เขียนนะครับ


โดย: คุณต่อ (toor36 ) วันที่: 24 มีนาคม 2561 เวลา:12:17:32 น.  

 
เคยคิดอยากจะไปหอสมุดแห่งชาติ นานมากกกก
แม่เคยไปค่ะ แล้วก็เล่าถึงตำรา หนังสือ เอกสารเก่า ฯลฯ
ให้ฟังแต่นั่นก็นานหลายปีมากแล้ว

พอเห็นมีการปรับเปลี่ยนกฏให้ถ่ายรูปเอกสารโบราณ
ถ่ายเอกสารตำราเก่า ๆ ได้ ก็เริ่มอยากไปซะแล้วสิ ^^

ชอบลำดับความคิดของผู้แต่งจัง ที่ให้ความสำคัญกับ
รายละเอียดในชีวิตของผู้คนยังไง มีหนังย้อนยุคหลายเรื่อง
ที่ไม่ได้ลงลึกไว้ (มากสุดก็แค่ฉาก กินข้าวด้วยมือ เฆี่ยนโบย
และชุดโบราณ ๆ -- ไม่แน่ว่าในบท อาจมียกมือกล่าว "สวัสดี
ด้วยมั้ง 555) คือเราก็อยากรู้ล่ะหนาาา เขาเข้าห้องน้ำยังไง
อาบน้ำ แปรงฟัน ก็ด้วย (ยิ่งตอนมีประจำเดือนก็อยากรู้มากค่ะ)

ส่วนการตีความต่อบุคคลในประวัติศาสตร์ แบบนี้ก็ชอบค่ะ
ก็ดูเหมือนจะจงใจให้ตัวละครเป็นสีเทา ไม่ตัดสินว่าใครชั่วใครดี

อีกอย่าง ยุคสมัยพระนารายณ์ นี่เป็นอะไรที่อยากรู้มาก ๆ ค่ะ
ก็เคยสงสัยว่าทำไมแล้ว ยุคที่ชื่อว่าได้ส่งทูตไปถึงฝรั่งเศส
มีต่างชาติเข้ามามากมาย ถึงได้เกิดการหยุดชะงักหลังจากนั้น

...
ปล.
ได้ข่าวว่ามีคนปล่อยไฟล์ PDF.
ให้โหลดอ่านฟรีกันช่วงหนึ่งหลังมีละครแล้ว
พอได้ยินแบบนี้แล้วแอบท้อแทนเหมือนกันนะ




โดย: กาบริเอล วันที่: 24 มีนาคม 2561 เวลา:15:53:04 น.  

 
อิป้าจะกลับมาเขียนบล๊อกอีกครั้งเลยได้แวะมาดูอาคุงกล่องค่ะ อิๆ บล๊อกอิป้าพังเลยกลับมาซ่อมแล้วจะได้เขียนใหม่ แร้วเจอกันน๊า


โดย: อิป้า (littlebitlittlemore ) วันที่: 25 มีนาคม 2561 เวลา:4:06:17 น.  

 
ไทม์ไลน์มั๊ยทิดกล่อง ขอบคุณสำหรับข้อมูล
พรุ่งนี้มาโหวตจ้า วันนี้แจกไปหมดแล้ว



โดย: หอมกร วันที่: 27 มีนาคม 2561 เวลา:13:16:39 น.  

 
ว๊าวววว....น้องกล่องมาถูกทางแล้ววววว
โหวตให้ก่อนไปนอน


โดย: อุ้มสี วันที่: 28 มีนาคม 2561 เวลา:0:34:09 น.  

 

อาคุงกล่อง Book Blog ดู Blog


โหวตนี้นะออเจ้า



โดย: หอมกร วันที่: 28 มีนาคม 2561 เวลา:8:42:54 น.  

 
เคยไปตอนเด็กๆคะ



โดย: *~ต้นกล้า...ของหัวใจ~* วันที่: 28 มีนาคม 2561 เวลา:16:47:01 น.  

 
ถ้าอยู่ใกล้คงได้ไปแน่ ๆ ค่ะ


โดย: sawkitty วันที่: 28 มีนาคม 2561 เวลา:23:26:29 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

อาคุงกล่อง
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 62 คน [?]




อาคุงกล่องเป็นชายไทยนิสัยดีมีความฝัน ผู้ผันตัวมาเป็นทาสวรรณกรรมอย่างแท้จริง ใช้ชื่อกำหนดตัวตนว่า “อาคุงกล่อง” เป็นนามปากกาสร้างสรรค์ผลงานในเชิงหัสนิยาย และงานเขียนในรูปแบบต่าง ๆ อาทิเช่น เรื่องสั้น นวนิยาย สารคดี ความเรียง บทกลอน ไดอารี่เพ้อเจ้อละเมอเพ้อฝันต่างๆ ฯลฯ

ปัจจุบัน “อาคุงกล่อง” เป็นนักอ่าน นักคิดและนักเขียน รวมทั้งเป็นนักจินตนาการออกมาเป็นตัวอักษรด้วย ผู้มีความฝันอันยิ่งใหญ่คือการเป็นนักเขียนมีคุณภาพที่สรรค์สร้างผลงานอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ คาดว่าในเวลาอันใกล้นี้นาม “อาคุงกล่อง” จะเกิดปรากฎชัดในโลกวรรณกรรม จนเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในหมู่หนอนนักอ่านทั่วไทย



"ในชีวิตจริงของคนเรา มีอะไรอีกมากมายที่จะต้องรับรู้และรับผิดชอบ ในแต่ละวันเรามีโอกาสที่จะหัวเราะได้สักกี่ครั้ง? แต่ถ้าเราได้มีโอกาสหัวเราะเสียบ้างเพื่อเป็นการผ่อนคลายหรือคลายเครียด ก็คงจะเป็นสิ่งที่ดีนะครับ"

ถ้าคุณเข้ามาในบล็อคของผมแล้ว คุณสามารถอมยิ้มหรือหัวเราะได้ ผมก็คงจะดีใจแล้วครับ (กรุณาช่วยทิ้งคอมเม้นท์วิจารณ์ไว้ให้ผมด้วยนะครับ จักขอบพระคุณมากเลยครับ)

akungklong@gmail.com
Friends' blogs
[Add อาคุงกล่อง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.