bloggang.com mainmenu search





...ถ้าพูดถึง ออทิสติก มีหนังสองเรื่องที่นำเสนอโลกของออทิสติกได้ดีเหลือเกิน จนผมนิยมนำไปเปิดให้ผู้สนใจศึกษาเกี่ยวกับออทิสติกได้เข้าใจอาการของโรค และ เข้าใจชีวิตของพวกเขากับคนรอบตัว

ทั้งสองเรื่องทำออกมาได้ดูสนุกและซาบซึ้ง แสดงให้เห็นถึง การทำการบ้านมาอย่างหนักของผู้สร้างและนักแสดง

... หนึ่งเรื่องมาจาก Hollywood ซึ่งก็คือ Rain man งานโชว์ฝีมือของดัสติน ฮอฟแมนน์ ที่แสดงบทบาทของคนเป็นออทิสติกได้สมจริงอย่างเหลือเชื่อ ไม่เหมือนหนังส่วนใหญ่ที่ชอบเหมารวมว่า ออทิสติก คือ ปัญญาอ่อน แล้วก็ให้ตัวละครทำติ๊งต๊องปัญญาอ่อนไปวันๆ

... อีกหนึ่งเรื่องมาจากกิมจิ ชื่อ Running boy เป็นหนังเกาหลีที่ดีมากๆ พระเอกหนุ่มจาก The Classic เล่นเป็นออทิสติกได้ดีไม่แพ้ ดัสติน ฮอฟแมนน์ (ผมยังรู้สึกว่าสมจริงยิ่งกว่าเสียด้วยซ้ำ) ที่ดีมากๆ คือ หลายๆฉากในหนังถ่ายทอดอารมณ์และจิตวิญญาณของครอบครัวคนเป็นออทิสติกได้กินใจ ชนิดใครได้ดูมีปาดน้ำตากันเป็นแถบๆ

น่าสนใจเมื่อ คนไทย คิดจะสร้างหนังเกี่ยวกับ ออทิสติก บ้าง ถึงจะเป็นหนังแอคชั่นผมก็อยากดูและอยากรู้ว่าจะเล่นกับ ความเป็นออทิสติก ของตัวละครได้ดีมากน้อยแค่ไหนสำหรับ หนังเรื่อง ช็อกโกแลต





... ช็อกโกแลต คือ หนังแอคชั่นเน้นศิลปะการต่อสู้(Martial arts)ชิ้นที่สามของ ปรัชญา ปิ่นแก้ว ถัดจาก องค์บาก และ ต้มยำกุ้ง ผลงานสองเรื่องนั้นไม่มีใครกังขา ความมันกับความสะใจในฉากแอคชั่น แถม ยังเป็นงานแจ้งเกิด จา พนม

ปัญหาที่บ่นๆกันของสองเรื่องก่อน คือ บทภาพยนตร์

ที่น่าผิดหวังยิ่งกว่าตัวบท คือจำได้ว่าเคยได้อ่านบทสัมภาษณ์ของใครสักคนบอกว่า บทหนังหรือสาระอื่นใดไม่สำคัญ แค่หนังแนว Martial arts มี ฉากแอคชั่นเด็ดๆขายก็เพียงพอ ซึ่งสะท้อนทัศนคติการทำหนังแบบตีหัวเข้าบ้านของคนทำหนังไทยได้เป็นอย่างดี

... ก่อนจะเข้าไปดู ช็อกโกแลต ได้อ่านจากบทสัมภาษณ์หลายแห่ง ดูผู้กำกับก็มองเห็นปัญหาเรื่องบทหนัง ช็อคโกแลต จึงระดมคนเขียนบทมาเคี่ยวให้มากขึ้นและมีชื่อ มะเดี่ยว ซึ่งพิสูจน์ฝีมือการเขียนบทหนังดีๆให้เห็นมาแล้วใน รักแห่งสยาม มาเป็นหนึ่งในทีมคนเขียนบท

ซึ่งหลังจากได้เข้าไปชิมช็อกโกแลตในโรงมาแล้วก็พบว่า บทหนังของ ช็อกโกแลต พยายามใส่ที่มาที่ไป ใส่ความเป็นหนังชีวิต ใส่บทสนทนาที่เป็นธรรมชาติมากขึ้น และ ไม่ทำให้ จีจ้า เป็น จา พนม ที่อุดมไปด้วยบทพูดทื่อๆแบบ "ช้างกูอยู่ไหน"
(ถึงจะมีทื่อๆแบบ "เอาเงินแม่มา" ก็รับได้ เพราะความบกพร่องทางจิตของตัวละครจึงดูไม่ขัดตา นี่ถ้าตอนนั้นบทหนังเขียนให้ จา พนม เป็นออทิสติก ก็คงไม่มีใครแซวเรื่องพูดซ้ำๆว่า "ช้างกูอยู่ไหน" เพราะเข้าใจว่าตัวละครมีอาการหนึ่งของออทิสติก)

แต่ การมีบทหนังที่ดีกว่า ต้มยำกุ้ง ไม่ได้แปลว่า จะถึงระดับน่าพึงพอใจ

เพราะ ต้มยำกุ้ง สอบตกจากค่าเฉลี่ยไปมากในส่วนของบทหนัง

และเพราะ

ความเป็นดราม่า ไม่ใช่ มาม่า ที่แกะซองใส่น้ำร้อนตามสูตรสำเร็จรูป นึกอยากจะใส่ก็กลมกล่อมได้ในทันที ผู้กำกับในฐานะพ่อครัวมีหน้าที่ต้องปรุงให้มันกลมกล่อมด้วย ลองดูตัวอย่างดีๆใกล้ๆในบ้านเราอย่าง ไชยา คือตัวอย่างหนังไทยที่ดี ที่ผสมดราม่ากับแอคชั่นได้เข้าเป็นเนื้อเดียวกัน

...ใน ช็อคโกแลต ความเป็นดราม่าเหมือนถูกใส่แบบทื่อเกินไปหน่อย และ ใส่เสมือนเพื่อให้มีไว้เป็นยันต์กันคนบอกว่า หนังดีแต่ชกต่อย

ดูแล้วรู้สึกเหมือน มีคนเขียนบทสองส่วน คือ ส่วนดราม่า ที่จ้างมาเขียนแล้วจับใส่หนังเลย โดยไม่ได้คุยกับทีมงานหลักๆ และตัวพ่อครัวของหนังไม่สามารถปรุงให้เป็นเนื้อเดียว จึงทำให้หนังแยกเป็นช่วงดราม่า กับ ช่วงแอคชั่น ออกไปแบบตัวใครตัวมันชัดเจน

เราจึงเห็น ประโยคเท่ๆตอนเปิดเรื่อง กับ ปิดเรื่อง ที่ผมดูแล้วรู้สึกว่า ใส่โมโนล็อกเข้ามาเพื่อให้เท่แต่ฟังแล้วไม่รู้สึกอิน หากจะตัดไปก็แทบจะไม่มีผลอะไรเลย เพราะ เกือบ ตลอดทั้งเรื่อง หนังแทบจะไม่ได้ใส่ใจ ประโยคเท่ๆที่ตัวละครพูดแม้แต่น้อย

ที่เห็นได้ชัดๆคือ หลังพ้นสิบนาทีแรกที่ตั้งท่าเหมือนจะออกมาดี หนังก็ทอดทิ้ง ’ความเป็นดราม่า’ แบบโยนใส่ตะกร้าแล้ว เดินหน้าไล่ฆ่าไล่ทวงกันจนจบ แล้วจึงปิดเรื่อง ด้วยการจับ ’ความเป็นดราม่า’ กลับมาใส่เป็นเสียงบรรยายอีกรอบ ทั้งที่ช่วงสิบนาทีแรกอุตส่าห์เล่นกับอารมณ์ของตัวละครได้ดีแล้ว ไม่รีบผลีผลามกระโจนเข้าหักกระดูกกัน แต่สุดท้ายก็ไม่ใส่ใจกับมันแบบต่อเนื่อง

(ปัญหาส่วนตัวสำหรับผมคือ สิบนาทีแรกที่ว่าดีแล้วตัวเองก็ไม่อิน อาจเป็นที่ตัวเองเจอออทิสติกมากเกินไป แต่ลึกๆแล้วก็คิดว่า หนังเองก็ยังทำได้ไม่ได้ดีมากนักในการขับเน้นอารมณ์ เพราะตอนดูชีวิตตัวละครหลายช็อตหลายฉากใน Running boy ยังเศร้าซึ้งน้ำตาซึม)





... อีกปัญหาของบทหนังคือ หนังอาจจะให้ความสำคัญกับตัวละครมากขึ้น ใส่ที่มาที่ไปใส่ปูมหลังให้กับตัวละครนำของ จีจ้า มากกว่า ตัวละคร จา พนม ใน องค์บาก กับ ต้มยำกุ้ง แต่ คนเขียนบทเหมือนจะลืมใส่พื้นหลังหรือมิติใดๆให้กับตัวละครรอบข้าง

โชคดีที่สองเรื่องก่อนมี หม่ำ ซึ่งใช้ความสามารถส่วนตัวช่วยให้คนดูสนุกไปกับบทที่ไร้มิติได้ แต่ในช็อกโกแลต มีเพียง ส้ม อมรา ที่นอกจากจะมีรอยสักเซ็กซี่และเสียงดี เธอยังส่องประกายเจิดจ้าในด้านการแสดง + ฮิโรชิ อาเบะ ที่มีรัศมีดาราเอาตัวรอด

ส่วนนักแสดงคนที่เหลือ ในเมื่อบทไม่เอื้อและเลือกนักแสดงไร้เสน่ห์ไร้ทักษะ เหล่าร้ายทั้งหลายจึงล้วนดู ก๊องแก๊ง เหมือนหลุดมาจากหนังไทยสมัยยี่สิบปีก่อน หรือ ละครตอนหัวค่ำ

... เด็กหนุ่มที่รับบทเป็น มุม ซึ่งควรเป็นลูกคู่ของตัวเอกเป็นตัวละครสำคัญที่จะสร้างสีสันและเรียกอารมณ์สะเทือนใจได้ แต่บทนี้กลับเป็นบทที่น่าผิดหวังเมื่อนักแสดงถ่ายทอดได้ไม่ดีพอ ซึ่งจะโทษนักแสดงอย่างเดียวคงไม่ได้ ขนาด พงษ์พัฒน์ นักแสดงฝีมือดีก็แทบจะเอาตัวไม่รอดกับบทหนังที่เขียนให้ Boss ตัวร้าย ออกมาแบนสนิทไร้มิติ ไร้ความน่าเกรงขาม

มิหน้ำซ้ำ พอนึกย้อนหลังไปถึง ฉากยิงเท้าตัวเองของเขาทีไร แทนที่จะทำให้เขาดูเป็น คนแรง ,คนจริง กลับกลายเป็นเหมือน คนโง่ ทะลึ่งยิงเท้าตัวเองไปเสียอีก
(ซึ่งเดาว่าบทหนังใส่ ฉากยิงเท้า เข้ามา เพื่อจะได้มีเนื้อหาให้ไปตัดนิ้วคืนทีหลัง เช่นเดียวกับ ฉากโชว์ก้น ที่ใส่เข้ามาแบบไม่จำเป็นและไม่ได้สอดคล้องใดๆเลย ทั้งที่ฉากเลิฟซีนกลับกระมิดกระเมี้ยนแต่เหมือนจะกลัวไม่อินเตอร์เลยโชว์ก้นมาซะอย่างนั้น)






... สิ่งที่ทุกคนรอคอยมากที่สุด และ หนังตอบสนองได้อย่างที่หวังคือ ช่วงเวลา จีจ้าโชว์

จีจ้า นักแสดงหน้าใหม่ในวัยเพียงยี่สิบต้นๆ ให้ในสิ่งที่คนดูรอคอย ฉากแอคชั่นมันๆที่ผ่านการออกแบบมาอย่างดี แถมเล่นจริงเจ็บจริงตามคำโฆษณา ผสมทักษะด้านการแสดงที่ดูจะมีมากกว่าเหล่านักบู๊หน้าตายอย่าง ฌอง คล็อด แวนเดม และ จา พนม

เธอแสดงอารมณ์และท่าทางของคนเป็นออทิสติกได้ดี เช่นเดียวกับตอน แสดงท่า บรู๊ซ ลี ก็น่ารักน่าลุ้นยิ่งนัก เชื่อได้ว่า ใครได้ดูก็อดไม่ได้ที่จะชื่นชม ดาวดวงใหม่ของวงการคนนี้

และตัวผมเองตอนดูหนังก็เบื่อทุกครั้งที่ไม่มีจีจ้า ได้แต่รอว่าเมื่อไหร่จะเห็นเธอโชว์เสียที

ฉากแอคชั่นของหนังไม่มีอะไรให้ติ ยกเว้นไคลแมกซ์ช่วงท้ายที่ให้อารมณ์ใกล้เคียง Kill bill ไปหน่อย ขาดเอกลักษณ์ในตัวเองเหมือนที่เคยมีอย่างใน องค์บาก กับ ต้มยำกุ้ง


สรุป ... ช็อกโกแล็ต มีบทที่ดีกว่า และ กลมกล่อมกว่า องค์บาก กับ ต้มยำกุ้ง แต่ ส่วนตัวแล้วกลับรู้สึก สนุกสะใจ น้อยกว่า


บทหนังสองเรื่องก่อน อาจจะแย่แต่ตอนดูยังรู้สึก สนุกตื่นเต้น ฉากแอคชั่นยังตื่นตาตื่นใจ โดยเฉพาะถ้าต้องคิดคะแนนความชอบเฉพาะฉากบู๊หักกระดูกแล้ว หากไม่มองหน้านักแสดง อดรีนาลีนผมหลั่งใน ฉากแอคชั่นองก์บากhtmlentities(' >') ต้มยำกุ้งhtmlentities(' >') ช็อกโกแลต

ยิ่งถ้าในหนังเรื่องนี้ไม่มี จีจ้า มันก็เหมือนกับเห็นอะไรที่ผ่านๆตามาจนเริ่มชิน

ตัวหนังยังไงก็ขายในบ้านเราและขายเมืองนอกได้อยู่แล้ว เพราะมีจุดขายชัดเจน เพียงเสียดายทรัพยากรดีๆอย่าง คนกำกับคิวบู๊เช่นคุณพันนา หรือ นักแสดงดีๆอย่างน้องจีจ้า และ ผู้กรุยทางหนังศิลปะการต่อสู้แบบไทยๆอย่างคุณปรัชญา ว่าหากทีมผู้สร้าง สนใจกับแค่รายได้ที่รับเข้ามาเป็นตัวชี้วัดว่า หนังดีแล้ว

น่าคิดว่า หากหนังเรื่องหน้า ไม่ได้นักแสดงแบบจีจ้า แล้วทีมผู้สร้างยังคงโครงเรื่องก๊อปปี้เดิมแบบรีเมคพล็อตตัวเองชนิดร้อยเนื้อทำนองเดียวอย่าง ‘ทวงของ สลับ โชว์ชกต่อย’ คนดูจะเริ่มเบื่อแล้วหรือยัง เพราะเราต่างก็เริ่มชินตามามากแล้ว




Link บทความที่อ้างอิงถึงจากใน blog

Running boy (Marathon) , ทุกชีวิตล้วนมี"หัวใจ"

ไม่ใช่ไข่เค็ม ไม่ใช่ต้มยำกุ้ง ไม่ใช่หนังชกมวย ( ไม่สปอยล์ ) หนังดีที่น่าชื่นชม

ต้มยำกุ้ง , อร่อยรสแซ่บชามโตเกินมาตรฐานแต่อาจไม่ผ่านเชลล์ชวนชิม



แจ้งข่าวจ้า : องศาที่ 361 คลอดอย่างเป็นทางการแล้ววววว




อ่านเบื้องหลัง ที่มาที่ไป ไขเบื้องหลังของหนังสือ คลิกได้ที่นี่เลยครับ

เบื้องหลัง 'องศาที่ 361' - พ็อกเก็ตบุ้คเล่มที่ 2 ของ “ผมอยู่ข้างหลังคุณ”

อ่านจบเมื่อใด ขอเชิญชวนมาพูดคุยแสดงความเห็นเกี่ยวกับหนังสือ คลิกที่ลิงค์ข้างล่างนี้เลยครับ

อ่านแล้วมาคุยกัน ... "องศาที่ 361


ขอฝาก"หนังสือรัก" พ็อกเก็ตบุ้คที่ไม่ใช่ หนังสือวิจารณ์หนัง แต่เป็นการหยิบยกความรักและความสัมพันธ์ในภาพยนตร์ มาช่วยให้คุณเข้าใจตัวเองและคนรอบข้าง ได้มากขึ้นและลึกซึ้งกว่าเดิม



เพื่อนๆที่หาซื้อตามร้านไม่ได้ "หนังสือรัก"เข้าไปสั่งได้จากเว็บของสนพ.เลยจ้าที่ //www.bynatureonline.com/store/bookstore.php ส่วน องศาที่ 361 สั่งได้จากเว็บของซีเอ็ดครับผม





ชวนไปอ่านบทความเรื่องอื่นๆ คลิกhtmlentities(' >')> หน้าสารบัญ

ชวนคลิก ชวนคุยกับเจ้าของ Blog ที่ --> หน้าแรก

รวบรวมรายชื่อหนังเรื่องเก่าๆที่เคยเขียนไว้แล้วที่ ---> ห้องเก็บหนัง




ขอคิดค่าบริการต่อการอ่าน 1 หน้าในอัตราเพียง

ความเห็น
ของคุณมีประโยชน์กับผู้อ่านคนถัดมา คำทักทายของคุณเป็นกำลังใจให้ผู้เขียน คำติชมหรือคำแนะนำของคุณจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพัฒนาหากคุณเข้ามาอ่านครั้งถัดไป
Create Date :09 กุมภาพันธ์ 2551 Last Update :10 กุมภาพันธ์ 2551 1:21:02 น. Counter : Pageviews. Comments :25