bloggang.com mainmenu search
ถ้าจะพูดแบบหนัง Spotlight ปัญหาสังคมหลายอย่างเป็นเรื่องของ'ระบบ'ทีสนับสนุนกัน เช่น ปัญหาคอรัปชั่น เราอาจฟินที่ไล่บี้นักการเมืองโกงแต่ถ้าเรา ...

- ไม่ใส่ใจในระบบที่ตรวจสอบไม่ได้
- ละเลยกับการลงโทษที่เล่นงานคนผิดแบบไม่เท่าเทียม
- ไม่กล้าแตะหรือปกป้องบางหน่วยงานที่มีส่วนคอรัปชั่น
ฯลฯ
สุดท้ายการจับนักการเมืองโกงก็เหมือนกับตัดหัวของไฮดร้าไปหัวหนึ่ง ซึ่งตามตำนานเทพปกรณัมของกรีกคือตัดไปหนึ่งหัวอีกไม่นานก็จะมีหัวใหม่โผล่ออกมา เช่นเดียวกับเกิดการงอกของคอรัปชั่นที่จุดอื่นในสังคม

เช่นเดียวกับเรื่องการทำข่าวคนดังเจ็บป่วยหรือเสียชีวิต ที่เรามักเรียกร้องจรรยาบรรณสื่อมาไม่รู้กี่ปีต่อกี่ปี เรียกร้องไม่ให้ลงรูปหรือภาพข่าวที่ไม่ให้เกียรติผู้เสียชีวิต ฯลฯ แต่ปัญหานี้ไม่เคยจบ
เพราะ จรรยาบรรณสื่อ เป็นเพียงอีกหนึ่งหัวของไฮดร้าแต่ปัญหาที่ระบบหลักก็คือ
'การไม่ปกป้องความเป็นส่วนตัว และพยายามจะรุกล้ำความเป็นส่วนตัวของผู้อื่น'
แล้วระบบนั้นก็ครอบคลุมมาถึงตัวเราเอง
เช่นเรียกร้องให้สื่อมีจรรยาบรรณ ... แต่เมื่อมีคนดังหรือคนสำคัญในสังคมเจ็บป่วยหรือเสียชีวิต
(1) กดไลค์ กดแชร์ รูปลูกที่ยังเล็กๆของคนไข้ขณะมาเยี่ยมคนไข้ที่ยังนอนป่วยแทบทุกวัน = สนับสนุนให้สื่อทำข่าวเพราะความน่ารัก = สนับสนุนให้สื่อบุกรุกความเป็นส่วนตัวของครอบครัวคนไข้
(2) กดไลค์ กดแชร์ สเตตัสของทีมผู้รักษาพยาบาลที่บรรยายรายละเอียดส่วนตัวคนไข้ช่วงดูแลคนไข้ในแต่ละช่วงวิกฤติจนถึงวาระสุดท้าย เป็นโพสต์ในแนวข้อคิดสอนใจโดยคนไข้ไม่ได้อนุญาต = สนับสนุนการละเมิดความเป็นส่วนตัว โดยทีมผู้รักษาพยาบาลทำหน้าที่เป็นสื่อพลเมือง (citizen media)
(3) ส่งไลน์ข้อมูลคนไข้ที่ exclusive , แชร์จดหมายส่วนตัวที่คนเสียชีวิตไม่ได้อนุญาต ฯลฯ = เป็นส่วนหนึ่งของการละเมิดความเป็นส่วนตัวโดยตัวคุณเองที่ทำหน้าที่เป็นสื่อพลเมือง
ฯลฯ
ทั้งสามข้อตัวอย่างข้างต้นตั้งอยู่บน 'การไม่ปกป้องความเป็นส่วนตัวและพยายามจะรุกล้ำความเป็นส่วนตัวของผู้อื่น' เช่นเดียวกับสื่อที่เราด่า จะต่างกันก็แค่ข้ออ้างที่เจตนา (ทำข่าวเพราะความน่ารัก / ทำข่าวเพราะต้องการยอด , โพสต์เพื่อให้ข้อคิดสอนใจ ฯลฯ) , วิธีการและขอบเขตในการรุกล้ำชีวิตส่วนตัว (รบกวนครอบครัวที่ควรจะมีเวลาส่วนตัวในช่วงวิกฤติ , ยื่นกล้องไปถ่ายสีหน้าญาติที่เสียใจ , นำเรื่องที่ควรจะรู้กันเฉพาะคนใกล้ชิดมาเผยแพร่ ฯลฯ)
การมีส่วนร่วมในข้อ 1-3 จึงเท่ากับการมีส่วนร่วมทำให้ระบบนี้สร้างปัญหาต่อๆไป
และอีกเหตุผลสำคัญที่ จรรยาบรรณสื่อ ไม่ใช่คำตอบเดียวในการแก้ปัญหานี้
เพราะเราอยู่ในโลกยุคใหม่ที่สื่อไม่ใช่แค่หมายถึงหนังสือพิมพ์หรือโทรทัศน์ แต่ แอดมินเพจก็เป็นสื่อ บล็อกเกอร์ก็เป็นสื่อ ฯลฯ
แม้แต่คุณหรือตัวผมเอง ถ้าถ่ายรูปมาโพสต์หรือเอาลิงค์มาแชร์เราก็เป็นสื่อ (ที่เรียกว่าสื่อพลเมือง)
ดังนั้นสื่อถือกำเนิดขึ้นทุกวัน และจรรยาบรรณที่ว่าก็ไม่ได้ครอบคลุมกับคนทั่วไปที่อ้างตัวว่าเป็นคนธรรมดาแต่โพสต์หรือแชร์ข่าว
การกดดันเรื่องจรรยาบรรณสื่อหรือจริยธรรมเป็นสิ่งที่ดีนะครับ ไม่ใช่ไม่ควรทำ
แต่ก็อย่างที่ว่าไว้ตอนต้น ถ้าตั้งเป้าแค่นั้น (จรรยาบรรณสื่อ) เราก็จะแค่ฟินที่ได้ทำอะไรดีๆแต่ปัญหานี้จะยังอยู่ต่อไปเสมือนหัวหนึ่งของไฮดร้า
แต่ถ้าหวังจะแก้ปัญหานี้ให้สัมฤทธิผลก็ต้องหันมาแก้ที่ตัวเรา , แก้ที่ผู้คนในสังคมจริง , แก้ที่คนในโลกออนไลน์ ฯลฯ หรือถ้าเทียบตามหนังเรื่อง Spotlight คือมองเห็นระบบ แก้ที่ระบบ แล้วสุดท้ายสื่อก็จะเปลี่ยนแปลง
เพราะนอกจากการทำงานตามหน้าที่กับจรรยาบรรณ สื่อก็ทำงานแปรผันตามเรตติ้ง ตามเสียงเรียกร้อง ตามยอดไลค์ ยอดแชร์ หรือว่าง่ายๆตามความหิวโหยข้อมูล + ความอยากรู้อยากเห็นของคนในสังคม (ซึ่งก็รวมตัวเราด้วย)
ดังนั้น
- อย่าปลูกฝัง mentality ที่ว่า ‘เจตนาดี’หรือ ‘อยากแบ่งปันเรื่องราวดีๆ’ สามารถใช้เป็นข้ออ้างในการละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้อื่น หรือเป็นข้ออ้างในการแชร์เรื่องหลอกลวง
- หนักแน่นในหลักการ ไม่เป็นคนหลายมาตรฐาน ...เช่น ไม่ใช่ว่าส่งเสียงเชียร์ให้ปกป้องความเป็นส่วนตัวของดาราที่เราชื่นชอบ แต่ในอีกวาระหนึ่งก็เฮโลกับการเปิดโปงความเป็นส่วนตัวของนักการเมืองที่เราเกลียด
- ไม่สนับสนุนสื่อที่ผิดจรรยาบรรณทางอ้อม .. เช่น ถึงจะด่าสื่อ ด่าเพจ ด่าภาพข่าว ฯลฯ แต่คุณก็อดไม่ได้ที่จะแชร์ / ถึงคุณจะเห็นว่าเป็น Click bait แต่ก็อดไม่ได้ที่จะเข้าไปดู ก็เท่ากับคุณสนับสนุนยอดการเข้าถึงหรือสนับสนุนเรตติ้งการทำข่าวแบบนั้นอยู่ดี
- รู้เท่าทันความเพลิดเพลินของตัวเอง ว่ามันมาจากการละเมิดความเป็นส่วนตัวคนอื่นหรือเปล่า ... เพราะสำหรับคนยุคโซเชียลมีเดีย เราเพลิดเพลินกับการเปิดเผยชีวิตส่วนตัวลงเฟซหรือ IG , เราเพลิดเพลินกับการตามอ่านชีวิตส่วนตัวคนอื่นที่โพสต์ผ่านเฟซหรือ IG ฯลฯ , เราอยู่ในยุคที่ความเป็นส่วนตัวมีค่าน้อยลงเรื่อยๆ
บางครั้งเราก็ไม่รู้ตัวว่า ที่ผ่านมาเราเองนั้นเพลิดเพลินตามเรื่องส่วนตัวที่สื่อขุดคุ้ยหรือไปละเมิดมา ก็เพราะสมองของเราเคยชินกับความเพลิดเพลินที่ได้จากเรื่องชาวบ้านมาตลอด

“เฮล ไฮดร้า !!” #ไม่ใช่แระ

Create Date :21 มกราคม 2559 Last Update :21 มกราคม 2559 20:53:04 น. Counter : 60584 Pageviews. Comments :16