bloggang.com mainmenu search


... ผมเติบโตมาในวัฒนธรรมสายเอ็นทรานซ์ มองย้อนกลับไปผมรู้สึกว่า การสอบเอนทรานซ์ เป็นอะไรที่แมนมาก นั่นคือ ได้เป็นได้ ตกเป็นตก วัดกันหนเดียว ใครไม่ผ่านรอไปอีกหนึ่งปี นั่นทำให้ช่วงเอนทรานซ์คือภาวะ เอ็น-สะ-ท้าน ของจริง ความเครียดที่ถาโถมมาแบบกินไม่ได้นอนไม่หลับ สิวยกทัพถล่มบนใบหน้า ตื่นมามีหนังสือนอนอยู่ข้างๆ ข้อสอบย้อนหลังสิบปียังมีให้ทำอีกตั้งหลายชุด ใกล้สอบแล้วบทนั้นบทนี้ก็ยังไม่ได้อ่าน ฯลฯ

เหลียวมองไปดูรอบตัวในแต่ละปี ก็พบว่า ภาวะแบบนี้ไม่ใช่มีผมแค่คนเดียว แต่ ยังมีเด็กอีกเป็นหมื่นเป็นแสน ที่ต้องมาเจอกับช่วงเวลาวิกฤติของชีวิตจากการสอบเอนทรานซ์ แถมปีล่าสุดยังมีความสับสนอลหม่านกับระบบใหม่ๆอย่าง โอเน็ต เอเน็ต

ผู้ใหญ่มักบอกว่าชีวิตเด็กๆชีวิตวัยรุ่นสบายๆ พวกเขาคงลืมไปถึงประสบการณ์ในช่วงนั้น เพราะ ความลำบากของแต่ละช่วงวัยก็แตกต่างกัน ความลำบากของวัยรุ่นนั้นมันช่างทำให้นึกถึงเพลงของ Paradox ที่ว่า “เป็นวัยรุ่นมันเหนื่อย” เสียจริงๆ

Erikson ไม่ใช่ชื่อโทรศัพท์มือถือ แต่เป็นชื่อนักจิตวิทยา ผู้สร้างทฤษฎีพัฒนาการทางจิตใจและสังคมของมนุษย์ เขากล่าวไว้ว่าคนเราในแต่ละช่วงวัยต้องประสบพบเจอวิกฤติในชีวิตที่ต่างกัน หากเป็นช่วงวัยรุ่นเราเรียกว่าระยะ Identity vs. Role confusion คือ การเสาะแสวงหาความเป็นตัวของตัวเอง ซึ่งถ้าทำไม่สำเร็จก็จะเกิดภาวะสับสนค้นหาตัวเองไม่เจอ

ผู้ใหญ่ทุกคนย่อมผ่านช่วงเวลานี้ เราทุกคนจะค่อยๆสร้างสิ่งที่เรียกว่า Identity หรือ อัตลักษณ์ นั่นคือความเป็นตัวตนชัดเจนขึ้นเมื่อเข้าวัยรุ่น ซึ่งครอบคลุมไปตั้งแต่ การจะเลือกเรียนอะไร จะเลือกคบใคร จะเลือกนับถือศาสนาอะไร ชอบหรือไม่ชอบอะไร อยากเป็นหรือไม่อยากเป็นอะไร ฯลฯ ตัวอย่างเช่น แฮรี่ พ็อตเตอร์ ที่เลือกคบเพื่อนอย่างรอนและเฮอไมโอนี่ เลือกมองหาสาขาวิชาเวทมนต์ที่สนใจ มุ่งมั่นกับการไปเป็นนักกีฬาควิดิช เริ่มกิ๊กกั๊กกับสาวที่แอบปิ๊ง ฯลฯ

การสอบเข้ามหาวิทยาลัย ก็เป็น เหมือนสะพานหนึ่งในหลายสะพานแห่งชีวิตที่เชื่อมต่อความเป็นเด็ก ไปสู่ความเป็นผู้ใหญ่ และ ความเป็นตัวตน

...Final Score 365 วัน – ตามติดชีวิตเด็กเอ็นท์ เป็น หนังสารคดีเรื่องล่าสุดจากค่าย GTH ที่นำเสนอเรื่องราวชีวิตของเด็กวัยรุ่นสี่คนตลอดหนึ่งปี ในช่วงเวลาปีสุดท้ายของชั้นมัธยมปลาย

แม้ว่าช่วงเวลาในหนังจะถ่ายทอดผ่านตัวละครเด็กนักเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบที่เป็นเด็กนักเรียนสายสามัญ แต่ ความจริงแล้ว แก่นของหนังเรื่องนี้ สามารถเป็นตัวแทนภาวะวิกฤติที่วัยรุ่นต้องเผชิญได้ตั้งแต่เด็กสายอาชีพไปจนเด็กทั่วๆไปที่ไม่ได้เรียนหนังสือ เพราะ เอนทรานซ์ในหนัง เป็นแค่สัญลักษณ์หนึ่งของวิกฤติในช่วงวัยนี้เท่านั้น แต่ สิ่งที่พวกเขาพบเจอจากช่วงเวลาหนึ่งปีนี้ไม่ใช่แค่ “การสอบเอ็นทรานซ์”

พวกเขาต้องต่อสู้กับอุปสรรคในชีวิตที่ไม่เคยพบเจอในวัยเด็ก พวกเขาต้องพบกับการตัดสินใจที่ยากลำบาก พวกเขาต้องรับมือกับปัญหาที่ถาโถมเข้ามาหลายเรื่องพร้อมกัน พวกเขากำลังพยายามแสวงหาอัตลักษณ์ของตัวเองและพยายามสลัดความเป็นเด็กให้หลุดไป และ พวกเขากำลังจะเลือกเดินทางบนถนนความเป็นผู้ใหญ่ที่ต้องเดินด้วยตัวเอง

สารคดีเรื่องนี้ถ่ายทอดประสบการณ์วัยรุ่นที่เราทุกคนต้องเคยพบเคยเจอผ่านตัวละครทั้งสี่คน

เปอร์ ... มักจะมีปัญหาง๊องแง๊งกับแม่เป็นระยะ และ ความง๊องแง๊งกับแม่ก็มาจากการปะทะกันระหว่าง ความอยากโตเป็นผู้ใหญ่ และ ความห่วงใยของแม่ที่มองว่าลูกยังเป็นเด็กตลอดเวลา ชีวิตหนึ่งปีของเขาไม่ใช่แค่การเตรียมสอบเข้าวิศวโยธา หรือต้องต่อปากต่อคำกับแม่ เปอร์ ยังมีปัญหาหัวใจที่พัดให้หลักของเขาต้องซวนเซ สิ่งที่เปอร์ต้องเจอกับเหมือนวัยรุ่นทุกคนที่เริ่มพบว่า การก้าวไปเป็นผู้ใหญ่ ชีวิตต้องเจอปัญหาหลายอย่างที่ต่างจากสมัยเด็กๆที่มีแค่เรื่องเรียนหรือเรื่องเพื่อน

โบ๊ต ... รักการเลี้ยงปลา อยากทำงานเพาะพันธุ์ปลา เขาอยากเรียนประมง แต่จำต้องสอบเข้า บัญชี เพราะพ่อมองว่า สาขาที่เขาอยากจะเลือกเรียนนี้มีข้อจำกัดในการหางานทำ ใครหลายคนย่อมต้องเคยมีชีวิตคล้ายกับโบ๊ต สำหรับการมีความฝันที่ชัดเจน แต่ ความฝันของตัวเองต้องสวนทางกับความหวังของครอบครัว และ สำหรับ โบ๊ต “การต้องเลือก” คือ บทชี้วัดของการเติบโต

บิ๊กโชว์ ... ต้องอยู่กับความตึงเครียดกับเป้าหมายที่ดูเหมือนจะอยู่ไกลเกินคว้า หากพิจารณาจากคะแนนที่เคยทำๆมา แถมยังต้องแบกรับความคาดหวังของพ่อแม่และพี่สาวในครอบครัวที่ลูกๆคนโตต่างก็ประสบความสำเร็จในการเรียนและสอบเข้ามหาวิทยาลัย ของดีที่บิ๊กโชว์มีติดตัวอยู่กับเขามาตลอดคือ ความพยายาม และ การเตรียมตัวสอบครั้งนี้ เขาเองก็มีโอกาสได้เรียนรู้และเติบโตขึ้นไปอีกจากน้ำตากับความ ผิดหวัง ที่พัดผ่านเข้ามา

ลุง ... บอกความฝันกับใครต่อใครว่าอยากเข้าคณะแพทยศาสตร์ แต่ปัญหาติดอยู่ตรงที่ว่า เขาต้องแก้วิชาที่ตกไปให้ครบทั้งเจ็ดตัวเสียก่อน ความฝันของลุงนั้นใครๆอาจมองอย่างหยามหยัน แล้วคิดพึมพำในใจเหมือนชื่อหนังสือของคุณวินทร์ เลียววาริณว่า “ความฝันโง่ๆ” แต่ใครที่คิดเช่นนั้น คงเข้าใจอะไรบางอย่างผิดไป

เพราะในขณะที่เด็กวัยรุ่นไล่ตามความฝันของตัวเอง บางครอบครัวอาจเข้าใจว่า สิ่งสำคัญที่สุดของชีวิตพวกเขา คือ การสอบติดเอนทรานซ์หรือไปถึงฝั่งฝัน หากคิดเช่นนั้น ย่อมเท่ากับว่า เรามองมุ่งไปแต่ที่ผลลัพธ์หรือเป้าหมาย ทั้งที่จริงแล้ว เปล่าเลย ชีวิตของคนเราไม่ได้มีแค่นั้น

ทั้งสี่คนได้อะไรมาตั้งแต่แรกแล้วแค่พวกเขามี “ความฝัน” เพราะความสำคัญแท้จริงของชีวิต ไม่ใช่การไปถึงหรือไม่ถึง

Final score ตามชื่อหนังอาจหมายถึงคะแนนสุดท้ายที่ออกมาจากการสอบเข้ามหาวิทยาลัย แต่ในชีวิตจริงของคนทุกคน Final score ของชีวิตไม่ได้จบแค่นั้น คะแนนของชีวิต มีออกมาอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่ การเรียน , การทำงาน , การคบเพื่อน , การใช้ชีวิต , การมีครอบครัว ฯลฯ บางคนอาจทำ Final score ของเอนทรานซ์ได้ดีเยี่ยมแต่กลับไปสอบตกตรง Final score ของชีวิตครอบครัว

ดังนั้นการสอบติดหรือไม่ติดเป็นแค่คะแนนของชีวิตช่วงเวลาหนึ่ง แต่ไม่ใช่ทุกสิ่งของทั้งชีวิต ผลสอบสุดท้าย ไม่ว่าจะมาก ไม่ว่าจะน้อย ไม่ว่าจะได้ หรือ ไม่ว่าจะตก มันเป็นแค่บททดสอบหนึ่งที่ผ่านเข้ามา สิ่งสำคัญมากกว่าอยู่ที่ว่า เราจะผ่านวิกฤตินี้ไปได้อย่างไร และ เราเรียนรู้อะไรจากชีวิตช่วงนี้

เพราะเมื่อวันหนึ่งที่เราเป็นผู้ใหญ่แล้วมองย้อนกลับมาเราจะมองเห็นว่า เอ็นทรานซ์ ไม่ได้เป็นสะพานเดียวของชีวิตที่พาเราก้าวข้ามวัย




(หมายเหตุ : บทความนี้ตีพิมพ์ลงคอลัมน์ Life on screen ใน Cream magazine ฉบับเดือน มีนาคม)




ขอฝาก"หนังสือรัก" พ็อกเก็ตบุ้คที่ไม่ใช่ หนังสือวิจารณ์หนัง แต่เป็นการหยิบยกความรักและความสัมพันธ์ในภาพยนตร์ มาช่วยให้คุณเข้าใจตัวเองและคนรอบข้าง ได้มากขึ้นและลึกซึ้งกว่าเดิม



(สนพ.ฝากแจ้งว่า มีลด15% ถึงสิ้นเดือนกค.ที่ ดอกหญ้าสาขา อนุสาวรีย์, เมเจอร์สุขุมวิท, พันธ์ทิพย์ กทม., เมเจอร์เชียงใหม่, แฟชันไอแลนด์, เมเจอร์รังสิต, เมเจอร์ปิ่นเกล้า, เมเจอร์รัชโยธิน
)






ชวนไปอ่านบทความเรื่องอื่นๆ คลิกhtmlentities(' >')> หน้าสารบัญ

ชวนคลิก ชวนคุยกับเจ้าของ Blog ที่ --> หน้าแรก

รวบรวมรายชื่อหนังเรื่องเก่าๆที่เคยเขียนไว้แล้วที่ ---> ห้องเก็บหนัง




ขอคิดค่าบริการต่อการอ่าน 1 หน้าในอัตราเพียง

ความเห็น
ของคุณมีประโยชน์กับผู้อ่านคนถัดมา คำทักทายของคุณเป็นกำลังใจให้ผู้เขียน คำติชมหรือคำแนะนำของคุณจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพัฒนาหากคุณเข้ามาอ่านครั้งถัดไป
Create Date :07 มิถุนายน 2550 Last Update :7 มิถุนายน 2550 10:09:56 น. Counter : Pageviews. Comments :17