bloggang.com mainmenu search
... ผมคิดว่าปีนี้คือ ปีแห่งการจากลา

อาทิตย์ก่อน บุญชู, ครอบครัว และ เพื่อนพ้อง ฝากให้คนดูจดจำพวกเขาไว้ในใจตลอดไป หลังจากผ่านความทรงจำร่วมกันมายาวนานหลายปี และ ฉากที่ทำเสียน้ำตาคือฉากที่พาเราย้อนความหลังกลับไปช่วง บุญชูเพิ่งรู้จักกับโมลี

ย้อนไปเดือนก่อน พลพรรค คนรักเกาะ(Lost) แยกย้ายกันไปสู่จุดหมายปลายทางของแต่ละคน หลังจากร่วมทุกข์ร่วมสุขหนีควันดำกันมาหกเจ็ดปี และ ฉากที่ทำเสียน้ำตา คือ episode สุดท้าย ที่ปมทั้งหลายก็ไม่ได้คลี่คลายซักเท่าไหร่ แต่คนเขียนบทเล่นด้านอารมณ์เอาคนดูตายคาจอ ตอนหวนรำลึกความทรงจำในวันเก่าๆที่เราเคยมีร่วมกัน

Toy story 3 ก็เช่นกัน นี่เป็นแอนิเมชั่นจาก Pixar ที่ผมอยากบอกคนที่ไม่เคยดูสองภาคแรกว่า ถ้ายังไม่เคยดูมาก่อน โปรดอย่าเพิ่งดูภาค 3 ตอนนี้

ไม่ใช่ว่า การไม่ดูสองภาคแรก จะทำให้ดูภาค 3 ไม่รู้เรื่อง เพียงแต่ คุณจะรู้สึกว่า Toy story 3 ก็เป็นแอนิเมชั่นที่ดีมาก แต่ ความรู้สึกที่สำคัญที่สุดและจะไม่มีวันสัมผัสได้ หากไม่เคยดูสองภาคแรก นั่นคือ ความรู้สึกที่ยิ่งใหญ่ที่ทำให้คุณต้องเสียน้ำตา จากสิ่งที่เรียกว่า ความผูกพัน

ความผูกพันระหว่าง ตัวละคร และ คนดู เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ การร่ำลาครั้งนี้เหมือน แฟนๆบุญชูโบกมือลาบุญชู , แฟนๆแจ๊ค , เฮอร์ลี่ย์ , เบน ฯลฯ ปาดน้ำตาส่งกลุ่มคนติดเกาะ เป็น ความรู้สึกที่เศร้าแต่ก็เต็มไปด้วยความสุข ที่ได้เติบโตมาพร้อมพวกเขา

To infinity and beyond



... สมัยเด็กๆ ผมเชื่อว่า เด็กส่วนใหญ่ในทุกมุมโลกไม่ว่าจะเป็นเด็กไทย, อินเดีย, เซอร์เบีย หรือ บราซิล ก็มักจะมีของเล่นชิ้นโปรดหรือของเล่นคู่กายเป็นตัวหุ่น ตุ๊กตุ่น ตุ๊กตา

และ เมื่อเราอยู่ตามลำพัง เราก็จะหยิบตุ๊กตุ่นตุ๊กตาเหล่านั้นมาคุยด้วย สร้างสถานการณ์เหมือนกับว่ามันมีชีวิต และถ้าวันไหน หาตุ๊กตุ่นตัวโปรดไม่เจอ ก็จะหงุดหงิดกระวนกระวาย

พอโตขึ้นมา ถึงเวลาที่พ่อแม่ให้ขนของเล่นเก่าๆ,การ์ตูนเก่าๆ นิตยสารเก่าๆ ไปทิ้งหรือยกให้คนอื่น เราก็จะบ่นไม่อยากให้บริจาคของเหล่านั้นไป และ พ่อแม่ไม่เข้าใจก็จะบอกว่า เราหวงของ ซึ่งเราก็คิดไม่ออกว่าจะอธิบายอย่างไร เพียงแต่ ณ.จุดนั้นมันไม่ใช่อารมณ์หวง

เมื่อโตขึ้นมา เราจึงรู้ว่าอารมณ์ตรงนั้นมันคือ ‘ความผูกพัน’

ถึงจะไม่ได้เล่น ไม่ได้อ่าน แต่ มันก็รู้สึกว่ามีความผูกพันกับสิ่งเหล่านั้นมาหลายปี โตมาด้วยกัน เล่นมาด้วยกัน

ตอนไม่มีใคร ก็มีแต่ตุ๊กตุ่น หุ่นยนต์พวกนั้นเป็นเพื่อน ถึงมันไม่คุยกับเรา แต่เวลาเราคุยกับมัน เราก็รู้สึกเหมือนมีเพื่อนอยู่ข้างกาย

ถึงโตขึ้นมา ระดับการรับรู้ของเราจะเป็นผู้ใหญ่ที่รู้ว่า ของเล่นตรงหน้า เป็นวัตถุไม่มีชีวิต แต่ ความผูกพันที่มีร่วมกันมา กับ ความรักที่เราเคยมีให้ แม้ตุ๊กตุ่นตุ๊กตาตัวนั้นไม่มีลมหายใจ แต่เราก็รู้สึกได้ถึงการมีชีวิตของมัน

และนั่นคือสิ่งที่แอนิเมชั่นอย่าง Toy story ถ่ายทอดประสบการณ์ในวัยเด็กของเรา ฉายกลับมาให้เราคิดถึงอีกครั้ง

คิดถึงวันและคืนเก่าๆ ที่เราเคยมี ของเล่น เป็น เพื่อนที่แสนดี


Day and Night



... เอกลักษณ์หนึ่งในแอนิเมชั่นของ Pixar คือ หนังสั้นฉายปะหัว

ความร้ายกาจระยะหลังคือ ประเด็นของหนังสั้นมีความสัมพันธ์กับหนังยาว เช่น Partly cloudy มีความลึกที่โยงเข้ากับ Up ได้อย่างแนบเนียน

Toy story 3 มาพร้อมกับ Day and Night แอนิเมชั่นที่มาพร้อมงานด้านภาพสไตล์น้อยแต่มาก ให้อารมณ์แอนิเมชั่นยุโรปสุดๆ ถ้าไม่บอกว่า Pixar ยังนึกว่าแอนิเมชั่นฝรั่งเศสหรือที่อื่นทำมาฉาย

และไม่ว่าจะมีความตั้งใจหรือไม่ ผมก็คิดว่า Day and night ช่างเหมาะสมกับ Toy story เพราะ ประเด็นของ Day and night นอกจากจะช่วยเติมเต็ม ยังเป็นเหมือนการโหมโรงบอกภาพรวมของ Toy story ทั้งสามภาคและสรุปแก่นหลักของภาคนี้ไว้ในเวลาเพียงห้านาที

... แรกเริ่มที่ Day มาพบกับ Night ต่างฝ่ายก็เป็นคนแปลกหน้า ที่แบกความเป็นตัวเอง เฝ้าแอบมอง ชื่นชมแกมอิจฉา สิ่งดีๆของอีกฝ่าย กลัวที่จะทำความรู้จักหรือแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เป็น เหตุการณ์ที่เหมือนเสียงออกอากาศของสถานีวิทยุในหนังช่วงท้ายที่ประกาศว่า

Fear of the unknown. They are afraid of new ideas.

They are loaded with prejudices, not based upon anything in reality, but based on… if something is new, I reject it immediately because it’s frightening to me.

What they do instead is just stay with the familiar.


ความกลัวในสิ่งที่ยังไม่รู้ กลัวกับอะไรใหม่ๆ ทำให้ในความคิดบรรจุไว้ด้วยอคติที่อาจไม่ได้ตัดสินสถานการณ์หรือโลกตรงหน้าตามความเป็นจริง

เมื่อเป็นเช่นนี้ ในขณะที่พบอะไรใหม่ๆ เราก็จะรีบปฏิเสธไปในทันที ยอมเลือกที่จะอยู่กับสิ่งเก่าๆที่คุ้นเคยมากกว่า


ความกลัวที่จะพบการเปลี่ยนแปลง ปิดโอกาสที่เราจะได้พบสิ่งดีๆที่อาจเดินผ่านหน้าเราไป แต่เมื่อ Day และ Night กล้าเปิดใจรับอีกฝ่ายเข้ามาในชีวิต ผูกมิตรกัน

ถึงจะมีความแตกต่างมากแค่ไหน แต่พวกเขาก็ค่อยๆเริ่มเห็นสิ่งที่มีร่วมกัน แลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน และ ได้พบ ช่วงเวลาดีๆร่วมๆกันที่ไม่ใช่เป็น เวลาของฉัน หรือ เวลาของเธอ แต่เป็น เวลาของเรา(ช่วงเย็น กับ เช้ามืด)



... Day กับ Night ก็คงไม่ต่างอะไรจาก การพบกันครั้งแรกของ วู๊ดดี้ และ บั๊ซ ไลท์เยียร์

การมาของ บั๊ซที่เป็นของเล่นชิ้นใหม่ทันสมัย มาพร้อม ความกลัวในใจของวู๊ดดี้ ที่ว่าแอนดี้จะเปลี่ยนไปเล่นกับบั๊ซมากกว่า เมื่อบั๊ซเกือบจะต้องไปจากบ้าน แวบแรก วู๊ดดี้ แทบจะไม่ยอมช่วยกลับมาเสียด้วยซ้ำ

พอถึงภาคสอง ความกลัว ก็เปลี่ยนแปลงมาเป็นว่า กลัวตัวเองจะกลายเป็นของเล่นที่ถูกลืม

แต่สองภาคที่ผ่านไป ไม่ว่าจะเจอ การเปลี่ยนแปลงอย่างไร ท้ายที่สุด วู๊ดดี้ ก็พบว่า การเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นไม่ได้เลวร้ายน่ากลัวอย่างที่คิด แถมการที่เขาเปิดใจ เขายังได้เพื่อนใหม่ที่แสนดี ที่เป็นเพื่อนรักรู้ใจกันมาถึงสิบปีอย่างบั๊ซ ไลท์เยียร์ ตามมาด้วย เจซซี่ โคบาลสาวที่เขาช่วยทำให้เธอกลับมาศรัทธาใน ความรักและการผูกพันอีกครั้ง

แต่ภาคสามนี้ เป็น การเปลี่ยนแปลงที่ต่างออกไป และ มันก็สมเหตุสมผลที่วู๊ดดี้และผองเพื่อนจะหวาดกลัวมากกว่าทุกๆครั้ง เพราะ ตอนนี้ แอนดี้โตเป็นหนุ่มเตรียมเข้ามหาวิทยาลัย

สัจธรรมที่เกิดมารอบโลก ทุกยุคสมัย คือ อายุของแอนดี้ในตอนนี้ หมดวัยที่จะเล่นกับตุ๊กตาของเล่นอย่างพวกเขาแล้ว ชะตากรรมของ ของเล่นในมือเจ้าของที่ย่างเข้ามหาวิทยาลัย หากมิใช่ถูกเก็บใส่ลัง , ถูกบริจาคหรือส่งต่อไปยังเจ้าของใหม่

และที่เลวร้ายที่สุดก็คือ ถูกทิ้ง

นั่นคือจุดเริ่มต้นของ


Toy Story 3




... จะมีหนังภาคต่อซักกี่เรื่องกัน ที่สร้างภาคต่อ แล้วภาคสองดีกว่าภาคแรก แน่นอนว่า Toy Story ต้องบรรจุอยู่ในลิสต์นั้น

แต่มีหนังภาคต่อเรื่องไหนกัน ที่ทำจนถึงภาค 3 แล้ว ยังทำได้ดียิ่งกว่าเก่า ขนาด Godfather หรือ Star wars หนังที่มีภาคสองเหนือภาคแรก ก็ต้องมาตกม้าตายที่ภาค 3 (หากจะมีพอที่ใกล้เคียงคงจะเป็น Lord of the ring ) และวินาทีนี้ Pixar ทำได้สำเร็จ เมื่อ ภาค 3 เป็นภาคที่ผมคิดว่าเป็นตอนที่ดีที่สุดของ Toy story

ฉากเปิดเรื่องใน Toy story 3 คือ ฉากปล่อยของ โดยแท้



สิบปีที่ผ่านไป เหมือนผ่านไปไม่นาน เพราะความเก่งกาจของคนทำหนังที่ดึงความรู้สึกเก่าๆกลับมาในเวลาเพียงสิบกว่านาที ที่พาตัวละครกลับมาโลดแล่นด้วยฉากแอคชั่นสนุกสนานถึงใจ ถ้าเทียบเป็นหนังแอคชั่นคนเล่น ก็จัดได้ว่าเป็น ฉากเปิดเรื่องที่อลังการ เป็นการทักทายที่ทำให้ เหล่าของเล่นไม่ใช่คนแปลกหน้า แต่เรารู้สึกได้เลยว่า เพื่อนเก่าของเรากลับมาแล้ว

หลังจากนั้น เนื้อหาของหนังก็ดำเนินตามสูตรโครงเรื่องที่เหมือนๆกันมาตลอดตามภาค คือ “ของเล่นที่คิดว่าเจ้าของไม่ใส่ใจ แล้วเพื่อนก็จะไปช่วยกลับมาพิสูจน์ให้เห็นว่า เจ้าของยังรักอยู่”

ต่างไปในรายละเอียดแค่ว่า ภาคแรก วู๊ดดี้หาทางช่วย บั๊ซ กลับไปอยู่กับแอนดี้ด้วยกัน เขาได้ก้าวข้าม ความอยากเป็นของเล่นชิ้นโปรดของแอนดี้ มาเรียนรู้ความหมายที่ยิ่งใหญ่ของคำว่า มิตรภาพ

ภาคสอง ในมุมกลับกัน เมื่อ วู๊ดดี้ เป็นฝ่ายไม่ยอมกลับเพราะกลัวว่าวันหนึ่งจะถูกลืม บั๊ซ ไลท์เยียร์ จึงต้องหาทางไปรับกลับมาทำให้เขาได้ทบทวนความหมายคำว่า เพื่อนและการเป็นของแอนดี้ อีกครั้ง



... ทั้งสองภาค มีตัวละครที่ผมประทับใจเสมอมาคือ ไดโนเสาร์จอมต๊อง และ สามเอเลี่ยนที่คลั่งไคล้ใน clawwwwwwwwwww

มาถึงภาคสาม ตัวละครขโมยซีนก็มาอยู่ที่ เคน และ เหล่าผองเพื่อนในสถานรับเลี้ยงเด็ก ที่โดดเด่นในการเรียกเสียงฮา (บั๊ซ เวอร์ชั่นสแปนิช นี่ก็ใช่เล่น)

ที่เหนือชั้นกว่าคือ ภาค 3 ถึงจะอุดมไปด้วยตัวละครจำนวนมหาศาล แต่บทหนังฝีมือของมือเขียนบทจาก Little miss sunshine สามารถเกลี่ยความสำคัญ กระจายมุกตลกและความน่ารักได้อย่างทั่วถึง



... นอกจาก ภาค 3 จะเป็นภาคที่ดีที่สุดของ Toy story ยังเป็นภาคที่ผู้ใหญ่น่าจะดูแล้วสนุกมากที่สุด

สิบปีที่ผ่านมา ไม่ใช่แค่ คนดูโตขึ้น หรือ ตัวละครที่โตขึ้น ตัวหนังก็โตขึ้นเช่นกัน ในภาคนี้ หลายอย่างไม่เป็นไปตามสูตรนิทานหรือหนังเด็กแบบเต็มร้อย แถม ด้านมืดของชีวิต ก็ยังดูมืดหม่นสมจริงหนักกว่าสองภาคแรก ที่ด้านมืดเป็นเพียง ตัวร้ายเหมือนในนิทานทั่วไป แต่ภาคนี้ ตัวร้ายล้วนให้อารมณ์ ร้ายสมชีวิตจริง

ตัวละครโหมดร้าย ที่ดูชั่วร้ายได้น่ากลัวเกินเลเว่ลหนังเด็กเล็ก เช่น



หมีสีชมพู – ฉายาน้องหมีที่ถูกขนานนามว่า ภายนอกขนฟูน่ากอด แต่ ภายในชั่วร้าย เป็นตัวอย่างของ ปีศาจในคราบนักบุญ โดยแท้ ซึ่งผู้สร้างก็แววชั่วร้ายได้น่าขนพอง คือ ไม่ใช่ ร้ายแบบโลภ ร้ายแบบโฉ่งฉ่างเหมือนตัวร้ายสองภาคแรก แต่เป็น ตัวร้ายแบบในชีวิตจริง ที่ภายนอกดูน่าเข้าใกล้ แต่จิตใจเต็มไปด้วยแผนการที่โหดเหี้ยม ซับซ้อน จ้องเอาเปรียบและยึดอำนาจไว้กับตัว



จ๋อเมายา - ตัวนี้ไม่ได้ดูชั่วร้าย แต่ ตีฉาบแต่ละทีเฮี้ยนเหลือกิน



ทารกชวนหลอน - ในฉากนั่งมองจันทร์แล้วหมุนหัวกลับมา ซาวด์ประกอบด้วย ภาพด้วย นี่มันหนังสยองขวัญชัดๆ

... นอกจาก ตัวละคร

ภาคสามก็ยังมี โลกผู้ใหญ่ที่โหดร้ายขึ้นและซับซ้อนขึ้น

เช่น



การปกครองในสถานรับเลี้ยงเด็ก – จำลองระบบ seniority เล่นพวกพ้อง เอื้อประโยชน์ ใช้ผลประโยชน์เข้าล่อเพื่อปิดปากให้มาทำผิดร่วมกัน (ชวน บั๊ซ มาเป็นพวกสบาย แต่ต้องทิ้งเพื่อนให้ลำบาก) เต็มไปด้วยภาพสองมาตรฐานของจริง

ทั้งหลอกทั้งบีบน้องใหม่ให้เหนื่อยเจ็บตัว หมดสิทธิเข้าถึงการดูแลจากเด็กๆที่รู้จักเล่น ต้องทนอยู่กับเด็กเล็กที่เล่นไม่เป็น ถ้าของเล่นชิ้นใดขัดขืนก็ทำร้าย ส่วนตัวพ่อหรือเหล่ารุ่นพี่ก็เสพสุขเพียงเพราะตัวเองอยู่มาก่อน

ประโยคคมๆจากบาร์บี้ที่ทำของเล่นรอบข้างอึ้งตอนตอกกลับหมีสีชมพูว่า “อำนาจในการปกครองต้องมาจากความสมัครใจ ไม่ใช่การบังคับขู่เข็ญ” ทำให้คิดว่า นี่มันหนังเด็กจริงๆหรือนี่

นอกจาก สถานรับเลี้ยงเด็ก เรายังเห็น แบบจำลองโลกจริงที่โหดร้าย เพราะ ตัวร้ายอย่างหมีชมพู ก็ยังคงชั่วร้ายจนวินาทีสุดท้าย ไม่ได้มีลักษณะที่ว่า คนดีทำดีให้แล้วอีกฝ่ายจะกลับใจ



หากแต่ทำให้เห็นว่า คนชั่วก็ชั่วมิเสื่อมคลาย และ ความดีที่คนดีทำให้ก็อาจทำให้คนดีตกที่นั่งลำบากได้เช่นกัน

แต่ท้ายที่สุด หนังก็ไม่ได้ถึงกับมืดหม่นสุดขั้ว อย่างน้อยก็ทำให้เห็นว่า พฤติกรรมทำดีของวู๊ดดี้ที่ช่วยเหลือคนรอบข้างอย่างไม่สนใจว่าเป็นฝ่ายใด ถึงจะเปลี่ยนแปลงคนอื่นไม่ได้ (ตุ๊กตาลุงในภาค 2 , หมีสีชมพูในภาค 3)

แต่อย่างน้อย น้ำใจ , ความเห็นใจคนอื่น และ การทำดี ก็มีแต่จะทำให้เรารักษาสิ่งที่เป็นคุณค่าในตัวเองไว้กับตัวได้ตลอดไป ทำให้คนที่เรารักและเชื่อมั่นไม่ผิดหวังที่มีเราเป็นเพื่อนหรือครอบครัวเดียวกัน

เป็นการกล่อมเกล่าจิตใจคนดูเด็กๆให้อ่อนโยน โดยไม่จำเป็นต้องสั่งสอนด้วยการเทศนาหรือใส่บทสนทนาสอนสั่งตรงๆ


ฉากเอาตาย



... Pixar นอกจากจะได้ชื่อว่าเป็นค่ายหนังที่ขยันสร้างแอนิเมชั่นคุณภาพสูงให้คนดูเสมอมา ยังควรได้รับการยกย่องในความสามารถรีดน้ำตา คนดูผู้ใหญ่ ให้กับแอนิเมชั่นสำหรับเด็กได้เสมอ

Toy Story ถึงจะเป็นหนังเด๊กเด็ก แต่ในภาค 2 ฉากเจซซี่ โคบาลสาวเล่าความหลังตอนถูกทิ้ง โดยมีเพลงประกอบ When She Loved me คลอ เนื้อหาที่บอกถึง ความหลังเมื่อครั้งยังรักก็มีคุณค่า แต่เมื่อถูกลืมมันทั้งเจ็บปวดทั้งเศร้าทั้งโดดเดี่ยว เป็น ฉากเอาตายที่ดูกี่ครั้งก็น้ำตาซึม

ภาคสองยังแค่น้ำตาซึม แต่ ภาคสามขยี้น้ำตากันแบบไม่เกรงใจเพื่อนร่วมโรง หลายคนมีฉากสุดท้ายที่สะเทือนต่อมน้ำตา แต่ ฉากที่ผมชอบที่สุดในภาคนี้ และ ทำน้ำตาร่วงแบบไม่ซึมๆเหมือนภาคก่อนคือ ฉากร่วงหล่นลงกองไฟ

ช่วงเวลาที่พวกเขารู้ตัวแล้วว่าความตายอยู่ตรงหน้า ช่วงเวลาสุดท้ายของพวกเขา หันมามองหน้าแล้วจับมือกัน

ไม่มีคำพูดใดๆที่เอ่ยออกมา แต่ โมเมนต์นั้น สายตา ใบหน้า สื่อความรู้สึกออกมาได้ดีมากๆ สิ่งที่พวกเขาทำในช่วงวินาทีสุดท้ายไม่ใช่ดิ้นรนเอาชีวิตรอด แต่คือ การร่ำลากันและกัน บอกความรู้สึกให้แก่กันโดยไม่จำเป็นต้องใช้คำพูด

แม้จะไม่มีคำพูดออกมา แต่สายตาของพวกเขาที่รู้ตัวว่ากำลังจะพบจุดจบ ทำให้ผมแปลความหมาย ได้คล้ายๆกับประโยคสำคัญในแอนิเมชั่นเรื่อง Up

“ขอบคุณที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขเดินทางร่วมกันมา และ ดีใจที่มีเธอเป็นเพื่อนมาตลอดหลายปี”



So long



... หลายเรื่องที่ภาคต่อถูกสร้างขึ้นมา พอดูแล้วเราก็รู้สึกว่า คนเขียนบท แถ เพื่อให้หนังมีภาคต่อ ทั้งๆที่ไม่ได้เหมาะจะสร้างแต่อย่างใด แต่ toy story 3 ถึงจะถูกสร้างด้วยปัจจัยทางการตลาด(รายได้)เหมือนเรื่องอื่น แต่ เมื่อดูหนังจบ กลับให้ความรู้สึกว่า มันเหมาะสมแล้วที่จะถูกสร้างขึ้นมา งานชิ้นนี้คือ การบอกลาที่สมบูรณ์แบบ

สิบนาทีแรก หนังพาเราไปพบเพื่อนเก่า ช่วงเวลาระหว่างกลางเรื่อง พาเราไปสัมผัสความรู้สึกสนุกสนานจากการเดินทางเหมือนวันเก่าๆ และ สิบนาทีสุดท้ายคือ การที่หนังบอกเราว่า ได้เวลาบอกลากันจริงๆแล้ว

ในชีวิตของเรา ย่อมไม่มีวันหนี การจากลาได้พ้น ไม่ว่าจะจากด้วยดีหรือจากกันด้วยความช้ำใจ จะจากเป็นหรือจากตาย แต่ ในทุกๆความสัมพันธ์ ก็ล้วนมีเวลาของการดำรงอยู่ทางกายภาพ ถึงแม้จะรักกันตลอดมาแต่เมื่อถึงวันโรยราก็ต้องลาจาก

ไม่ใช่แค่ แอนดี้ กับ ของเล่นต้องจากกันเพราะถึงเวลาที่วัยของเขาไม่ใช่วัยเล่นสนุกกับตุ๊กตา เรายังเห็น แม่ที่บอกลา ลูกชายตัวเล็กๆ ที่กำลังจะก้าวออกจากอ้อมกอดของแม่ ไปเป็น วัยรุ่นที่เติบใหญ่ในรั้วมหาวิทยาลัย

แต่ การจากลา ก็ไม่ได้แปลว่า คือ การสิ้นสุดของความรักหรือความห่วงใย

สิ่งที่ทำให้ Toy story 3 จับใจคนดู คือ หนังทำให้เห็นว่า การบอกลาคนที่เรารัก ไม่จำเป็นว่าจะหมายความถึง การจบความรักเสมอไป แม้ไม่ได้อยู่ด้วยกัน แต่เรายังสามารถส่งต่อความห่วงใย คนที่เรารักต่อไป ซึ่ง หนังทำได้ดีเหลือเกินใน สิบนาทีสุดท้าย

การรักใครสักคน มันจะทำให้เรา เข้าใจคนๆนั้นอย่างถ่องแท้ เข้าใจตัวตนมากกว่าที่คนอื่นๆรู้จักเพียงผิวเผิน เหมือนในฉากส่งต่อเพื่อนๆของเล่นให้บอนนี่ หากไม่ใช่ แอนดี้ รักและผูกพัน กับของเล่นเหล่านั้น เขาคงไม่สามารถที่จะบรรยายรายละเอียดพร้อมกับแสดงออกถึงความใส่ใจได้มากขนาดนั้น

หนังสื่อสารได้ยอดเยี่ยมที่ทำให้เราเห็นว่า แอนดี้ พูดออกมาด้วยใจ ไม่ใช่ท่องคุณสมบัติ



... แม้แต่แม่ยังต้องจากลูก ส่งต่อลูกให้อยู่ในการดูแลของเพื่อน อาจารย์ คนรัก ฯลฯ ซึ่งนั่นก็ไม่ได้แปลว่า พ่อแม่จะหมดรักลูก แต่ พ่อแม่ล้วนรู้ว่า หมดเวลาที่จะดูแลพวกเขาเหมือนเด็กเล็ก

พ่อแม่ได้แต่มองดูจากที่ไกลๆ มอง ลูกๆของพวกเขาอยู่ในกลุ่มเพื่อน อยู่ในอ้อมกอดของคนรัก และ มีครอบครัวใหม่ของตัวเอง

การจากลาของแอนดี้กับของเล่นก็เช่นกัน การส่งต่อให้บอนนี่ ไม่ได้แปลว่า หมดรักหรือไม่แคร์ เพราะ การเลือกคนที่เขามั่นใจว่ารักของเล่นเหมือนที่เขารัก และ การส่งต่อของเล่นทีละชิ้นอย่างให้เกียรติ มันบอกชัดเจนว่า เขารักของเล่นเหล่านั้นมากแค่ไหน

สายตาที่เหล่าของเล่นมองแอนดี้ขับรถจากไป และ สายตาที่แอนดี้มองกลับมาครั้งสุดท้าย ก็คงไม่ต่างจาก สายตาของพ่อแม่ที่ส่งต่อความรักของลูกตัวเอง

ทุกๆการเดินทางร่วมกัน ไม่ว่าจะยาวไกลแค่ไหน ก็ย่อมถึงวันจากลา ถึงตอนนั้น เราเลือกได้ว่า จะให้ความรักและห่วงใยจบลงหรือดำรงอยูต่อไป



สิบกว่าปีที่ผ่านมาพวกเขาพร่ำพูดเสมอว่า We belong to Andy. ถึงแม้ว่าต้องเปลี่ยนไปอยู่กับบอนนี่ แต่ความเป็นของเล่นของแอนดี้ก็ไม่ได้ลบเลือน โดยเฉพาะวู๊ดดี้ การได้ยิน แอนดี้ บรรยายถึง ความเชื่อมั่นในตัวเพื่อนรักผู้ไม่เคยยอมแพ้หรือสูญสิ้นศรัทธาในตัวเพื่อน ผู้ที่จะยืนอยู่ที่เดิม (be there) ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น

มันย้ำเตือนให้วู๊ดดี้ภูมิใจได้ว่า หลายปีที่ผ่านมาที่วู๊ดดี้พยายามบอกให้คนอื่นเชื่อมั่นในความรักของแอนดี้ ไม่เคยสูญเปล่า ตลอดหลายปีที่ผ่านมา มันเป็นเช่นนั้นจริงๆ

เพียงแต่ตอนนี้ มันเป็นเวลาที่ต่างฝ่ายต่างก็ต้องจากลา และ เริ่มต้นเดินทางต่อไป วันเวลาที่สิ้นสุด อาจเป็น จุดเริ่มต้นของวันใหม่ๆ เหมือนที่ Day and Night ได้เกริ่นไว้

Toy Story ภาคแรก อาจจะเน้นในธีมของ We belong to Andy .ที่ไม่ว่าอย่างไรพวกเขาก็ต้องกลับไปหาแอนดี้ แต่เมื่อถึงการปิดฉากในภาคสาม การที่วู๊ดดี้เลือกบอกลาแอนดี้ แล้วกลับมาอยู่กับเพื่อนๆ คือ การหวนคืนไปย้ำความหมายของ มิตรภาพ ได้อย่างหนักแน่นและงดงาม

เป็นการเสริมว่า นอกจากแอนดี้ พวกเขายังมีกันและกัน ตั้งแต่เริ่มต้นและตลอดไป

We belong together






เก็บตก



1.อันเนื่องมาจากดูแล้วทั้ง 2 เวอร์ชั่น ขอสรุปสั้นๆว่า Toy story3 - 3D 'ไม่เวิร์ค' เลย ดีสนี่ย์ - Pixar มีปัญหากับระบบสามมิติจริงๆ เพราะ ความเป็นสามมิติเทียบไม่ได้เลยกับ How to train your dragon ที่ดีมากๆ หรือที่ดีรองๆลงมาอย่าง ฝนลูกชิ้นเนื้อ / Despicable me

เวอร์ชั่นสามมิติ ของ Toy story 3 สีจะมืดกว่า ทึมกว่า แบบธรรมดา แถมบางฉากก็ไมได้เนียนตา ความลึกไม่เห็นเด่นชัด

แต่ไม่ว่าจะเป็นเวอร์ชั่นไหน ก็ทำเอาน้ำตาร่วงได้ไม่ต่างกัน




2. สาวเลี้ยงแกะ หวานใจวู๊ดดี้ ไม่กลับมาในภาค 3 อาจจะเป็นเพราะเธอไม่เหมาะกับเนื้อหาในสไตล์ผจญภัย หรือไม่ก็มี บาร์บี้ ที่คาแรคเตอร์อาจซ้ำๆกัน ซึ่งบาร์บี้ก็มีเนื้อหาเด่นเพียงพออยู่แล้ว




3. ซิด เด็กดัดฟันตัวแสบในภาคแรก กลับมาอีกครั้งในภาค 3 แถมยังเป็นตัวละครที่มีบทบาทสำคัญต่อเนื้อเรื่องอีกต่างหาก จำได้หรือเปล่าว่าเป็นใคร




4. มี Totoro จาก จิบลี มาแจมด้วยนะเออ

บทความใน blog ที่อ้างอิงถึง


Partly cloudy + Up , ว่าด้วย ชีวิต , ความทุกข์ , ความรัก และ การเดินทางของ ปู่ซ่า กับ ด.ช.ฮะโหน่ง
//www.bloggang.com/viewdiary.php?id=aorta&month=06-2009&date=16&group=14&gblog=166

Wall-E , เมื่อ หุ่นยนต์ สอน คน ให้มี หัวใจ
//www.bloggang.com/mainblog.php?id=aorta&month=15-06-2009&group=14&gblog=165

Ratatouille htmlentities('< ')htmlentities('< ')บนทางเดินของความฝัน - ในสังคมแห่งอคติhtmlentities(' >')> Hairspray
//www.bloggang.com/viewdiary.php?id=aorta&month=08-2007&date=17&group=14&gblog=18


***
***

ขอฝาก หนังสือเล่ม 5 ของ "ผมอยู่ข้างหลังคุณ" จ้า
(วางอยู่ตามร้านหนังสือทั่วไทยแล้ว)










อ่านจบแล้ว ชวนมาคุยกันที่นี่ครับ //www.bloggang.com/viewdiary.php?id=aorta&group=18

และ

ความเห็นของ เพื่อนผู้อ่านที่อ่านจบแล้ว และสละเวลาเขียนถึง

//blogs.lumamagic.com/?p=1957



หนังสือ 4 เล่มก่อนหน้าที่ว่าด้วย 'ภาพยนตร์ - จิตวิทยา - พัฒนาตัวเอง(self - development)' ของ "ผมอยู่ข้างหลังคุณ"








สำหรับเพื่อนๆที่เล่น FaceBook หรือ Twitter ณ.บัดนาว "ผมอยู่ข้างหลังคุณ" ขยายสาขาเรียบร้อยแล้วจ้า



Create Date :18 สิงหาคม 2553 Last Update :24 สิงหาคม 2553 11:45:47 น. Counter : Pageviews. Comments :29