bloggang.com mainmenu search



เรื่องของเด็กๆ




...ผมเคยได้ยินผู้ใหญ่สงสัยลูกๆหลานๆของตัวเองว่า เด็กๆเครียดเป็นด้วยหรือ ผู้ใหญ่บ้างคนแสดงท่าทีประหลาดใจเมื่อรู้ว่า เด็กๆสามารถเป็นโรคซึมเศร้า เพราะ ความเข้าใจดั้งเดิมคือ โลกของเด็กย่อมมีแต่อะไรที่อินโนเซ้นท์คิกขุ เด็กๆคิดอะไรไม่เป็น เด็กๆไร้เดียงสา

เรื่องใหญ่ๆของเด็ก จึงอาจเป็น เพียงเรื่องเล็กๆของผู้ใหญ่ แต่ถ้าผู้ใหญ่ได้ย้อนกลับไปเป็นเด็ก จะพบว่า เรื่องของเด็กๆที่ผู้ใหญ่คิดว่าเล็กแท้จริงเป็นเรื่องสำคัญ ไม่แพ้ เรื่องใหญ่ๆของผู้ใหญ่ เช่น ถูกด่าชื่อพ่อล้อชื่อแม่ หรือ แค่เพื่อนล้อเป็นเอดส์ สามารถทำให้เด็กคนหนึ่งกลับไปกลุ้มพอๆกับผู้ใหญ่ที่ถูกหัวหน้างานตำหนิต่อหน้าลูกน้องนับสิบ

หรือ เด็กเห็นแม่อุ้มน้องโอ๋น้อง ความนึกคิดว่าแม่ไม่รักสร้างความเครียดให้กับเด็กๆ แต่พ่อแม่ไม่ใส่ใจเพราะคิดว่า เด็กๆคิดมากไปเองไม่ต้องสนใจ ทั้งที่จริง เรื่องเล็กๆแบบนี้อาจมีความหมายเท่าผู้ใหญ่ที่กำลังนั่งเครียดว่าคู่ชีวิตไปปันใจให้บ้านอื่น



กีฬาชักเย่อ ของ เด็กอนุบาล จึงดูจิ๊บจ๊อยในสายตาของโค้ชที่มองว่า เป็นกีฬาที่ไม่ยิ่งใหญ่เท่า ฟุตบอลระดับสโมสรของนักเตะที่เขาดูแลอยู่ จนเมื่อโค้ชได้มาคลุกคลีกับเด็กๆ เขาจึงมีโอกาสกลับไปเรียนรู้ โลกของเด็กๆที่ตัวเองเคยเป็นมาก่อน แต่หลงลืมไป



เมื่อใดที่ผู้ใหญ่ทอดทิ้งไม่ใยดีโลกของเด็กตรงหน้า ก็ไม่ต่างกับการขยี้ความฝันของเด็กๆให้จบสิ้นอย่างรวดเร็ว

เมื่อใดที่ผู้ใหญ่ลืมความเป็นเด็กที่มีในตัวเอง ก็มักจะมีชีวิตที่อยู่บนตรรกะแล้วลืมว่า ความสนุกสนาน นั้นเป็นเช่นไร




เรื่องของผู้ใหญ่



...ในมุมของเด็ก ยังมองเห็นกีฬาเป็นแค่การแข่งขันที่พวกเขาอยากลงเล่น อยากสนุก อยากชนะ อยากเฮฮา อยากมีส่วนร่วมกับเพื่อนๆ แต่เมื่อ กีฬา ถูกย้ายมาอยู่ในโลกของผู้ใหญ่ จาก เรื่องสนุกของเด็กๆ ก็กลายเป็น เรื่องจริงจังไปในบัดดล

จากเล่นเพื่อรู้รักรู้สามัคคี จากเล่นเพื่อสนุกสนานเฮฮา แต่ เมื่อพ่อแม่อยากให้ลูกเป็นผู้ชนะ พ่อแม่ก็ปลูกฝัง ความสำคัญของชัยชนะ ให้กับลูก โดยให้มองไปข้างหน้าที่เป้าหมาย และ ไม่สนใจช่วงเวลาของการเดินทาง

แล้วเมื่อชัยชนะกลายเป็นรากแก้วในการดำรงชีวิต เมื่อลูกโตขึ้น สอบตก อกหัก ฯลฯ ไม่ได้ชัยชนะอย่างที่ตั้งเป้า รากแก้วหลักจึงหักปลายแล้วต้นไม้ก็ล้มตายทั้งยืน

หากตั้งความหวัง ให้ความสำคัญกับลูกเพียงว่า ต้องเป็น ตัวจริงในการแข่งขัน เมื่อลูกไม่ได้เป็นตัวจริง ก็จะรู้สึกว่าตัวเองหมดคุณค่า แต่เมื่อใดที่ทำให้เขาเชื่อเหมือนที่โค้ชในหนังสอนว่า จะตัวจริงหรือตัวสำรองก็ช่าง ข้อสำคัญจริงๆคือ ขอให้รู้ตัวว่าตัวสำคัญ เพียงเท่านี้ ในทุกๆการแข่งขันไม่ว่าแพ้หรือชนะ เราก็จะยืนหยัดเติบโตอย่างมั่นคง

แต่ปัญหาของผู้ใหญ่ส่วนใหญ่คือ พยายามที่จะ หมุนโลกของเด็กให้หมุนเร็วเกินวัย จนเด็กหลายคนไม่มีโอกาสได้ใช้ชีวิตวัยเด็กตามวัยที่ควรจะเป็น และ ดันหมุนโลกที่มุ่งเน้นแต่เป้าหมายมากมายจนเกินไป



... ดังนั้นถึงดรีมทีมจะเป็นหนังเด็กๆ แต่ ภาพความเป็นพ่อแม่ และ โลกของผู้ใหญ่VS.เด็ก จึงถูกนำเสนอได้น่าสนใจไม่แพ้ความซนทะเล้นของเจ้าตัวเล็ก

เราจะได้เห็นบางเสี้ยวใน dynamic หรือ พลศาสตร์ของความเป็นพ่อแม่ในหลายๆรูปแบบ

พ่อแม่ที่มีลูกป่วยจนจำกัดการใช้ชีวิตเหมือนเพื่อนคนอื่น( ลูกเป็นลมชัก เป็นหอบหืด ฯลฯ) ก็ทำให้ พ่อแม่มีแนวโน้มจะเลี้ยงลูกในลักษณะปกป้องมากเกิน(overprotection) เช่น ห้ามเล่นโน่นเล่นนี่ ฟูมฟักเหมือนไข่ในหิน จนทำให้เด็กเติบโตมาไม่สามารถช่วยตัวเองได้ดี หรือ เลี้ยงดูออกมาในแนวชดเชยเกินเหตุ เช่น พยายามมองว่าลูกไม่เป็นอะไร ไม่ยอมรับอาการเจ็บป่วย ส่งลูกไปเล่นมากเกิน ส่งลูกไปตะลุยมากเกิน จนทำให้เด็กต้องป่วยซ้ำๆและทำให้พ่อแม่หงุดหงิดเนื่องจากคาดหวังว่าลูกจะต้องดีขึ้น

ตามมาด้วย การพยายามจัดการให้สิ่งแวดล้อมต้องเปลี่ยนแปลงตามลูก และ คนที่ไม่มีความสุขในสุดท้ายก็จะเป็นลูกที่กลายเป็นตัวประหลาดในสังคม

หรือ พ่อแม่ที่ไม่มีเวลาให้ลูก+ลูกที่เคยสูญเสียพ่อ ก็จะกลายเป็น เด็กที่ขาดความไว้วางใจ มีชีวิตด้วยความหวาดกลัวจะสูญเสียซ้ำสองต่อเนื่องถึงตอนเป็นผู้ใหญ่ , พ่อแม่ที่เติบโตมากับความสำเร็จ จนลูกแบกความคาดหวังและใช้ชีวิตมองเห็นแต่เส้นชัย ฯลฯ



เรื่องของ ดรีมทีม



...หนังระดมเจ้าหนูตัวเล็กตัวน้อยมาเป็นจุดขาย แต่หนังที่มีเด็กๆมากมายเรื่องนี้ เป็นหนังเด็กๆที่เหมาะสำหรับผู้ใหญ่เหลือเกิน บางมุมของหนังเป็นเหมือนกระจกที่ส่องให้คนเป็นผู้ใหญ่ได้เห็นตัวเอง เป็นกระจกอีกบานให้พ่อแม่ได้เหลียวมองการเลี้ยงดูลูกๆที่เป็นอยู่

ดูหนังจบผมรีบเชียร์ใครต่อใครให้มารับชมหนังไทยที่ให้ความบันเทิงและเจริญใจด้วยเหตุผลต่อไปนี้

1.เด็กๆ ... หนึ่งใน ปัจจัย ของการกำกับหนังยากเย็น เช่น กำกับเด็ก กำกับสัตว์ เป็นโจทย์ที่มหาหินของผกก. แต่ เรียว กิตติกร กล้าหาญชาญชัยที่กำกับเด็กมาก แถมยังมากันเป็นกลุ่มใหญ่ ซึ่งเขาก็กำกับเจ้าหนูทั้งหลายให้แสดงออกมาเป็นธรรมชาติอย่างน่าพึงพอใจ

2.ผู้ใหญ่ ... ซูโม่กิ๊กเล่นเหมือนไม่เล่น เขาเป็นนักแสดงคนหนึ่งที่ผมชื่นชอบมานานทั้งในบทบาทพิธีกรและนักแสดง พลังดาราของเขาในเรื่องนี้มีมากเพียงพอที่จะประชันความน่ารักของเด็กๆและเป็นผู้นำหนังเดินไปข้างหน้าได้เป็นอย่างดี ส่วนน้องโฟร์อาศัยความน่ารักเอาตัวรอดไปได้ ซึ่งจะว่าไปก็สอบผ่านแต่การแสดงของเธอก็ยังแข็งๆอยู่บ้าง และการจับจังหวะสนทนาโต้ตอบกับอีกฝ่ายยังไม่ค่อยดี

ในขณะที่ นักแสดงสมทบทุกรายที่ตามมากันตั้งแต่ เมล์นรกฯ ล้วนมอบการแสดงที่ไหลลื่น (เช่นเดียวกับ แม่ของโค้ช ที่โผล่มาแค่สองฉากแต่เล่นได้กินขาดนักแสดงมืออาชีพหลายๆคน)

3.ฮาไร้สารพิษ ... นับนิ้วได้ไม่เกินหนึ่งมือ ถ้าจะหาหนังไทยตลกๆสักเรื่องที่ไม่มีคำหยาบ และ ดรีมทีม คือหนึ่งในนั้นที่ใสสะอาดชนิดร้อยเปอร์เซ็นต์เต็ม เป็นการยืนยันว่า ไม่จำเป็นต้อง ไอ้เอี้ย ไอ้อาด หนังก็ทำให้คนดูยิ้มหัวเราะได้ไม่แพ้กัน หลายมุกในหนังเวิร์คอย่างสะอาดสะอ้าน

4.เนื้อหา ... การแฝงข้อคิดดีๆที่มากกว่าการขายความน่ารักน่าชังของเด็กๆ

...เมื่อประมวลทั้งสี่ข้อรวมกันแล้ว จุดเด่นที่สุดของหนังที่เปล่งประกายชนะใจคนดูคือ ความน่ารัก ที่เป็น ออร่าใหญ่ที่ครอบคลุมหนังไปตลอดทั้งเรื่อง ทำให้ผมอมยิ้มแก้มตุ่ยดูหนังแบบสบายใจ



...แต่หากลบ มนต์มายาของความน่ารัก ออกไป ในแง่คุณภาพของตัวหนังผมยังประทับใจ โกลคลับ งานระดับมาสเตอร์พีซ เกี่ยวกับเด็กแนวที่กลมกล่อมลงตัว กับ เมล์นรกฯ หนังสะท้อนสังคมบนรถเมล์เรื่องก่อนหน้าของ ผู้กำกับเรียวมากกว่า

เพราะ ปัญหาของหนังที่ความน่ารักบังตา คือ ปัญหาเดียวกับที่ผมรู้สึกจากหนังไทยบ่อยครั้ง เช่นล่าสุดก็ ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช นั่นคือ ความต่อเนื่องและการลำดับเรื่องราว

หลายช่วงที่หนังให้อารมณ์กระโดดไปกระโดดมาเหมือน หยิบฉากที่เขียนขึ้นมาเพื่อขายมุก หรือ ขายประเด็น ซึ่ง อาจจะฮา อาจจะมีข้อคิด แต่ มันเหมือนโผล่ขึ้นมาดื้อๆ ขาดความต่อเนื่องทางเรื่องราวและอารมณ์จากฉากก่อนหน้า และ ไม่พาคนดูต่อเนื่องไปฉากถัดไป เทียบได้เหมือนหยิบๆเอาจิ๊กซอมาต่อกันแต่ขาดกาวที่จะเชื่อมให้เนียน
(ตัวอย่างที่คิดออก เช่น ฉากโฟร์ถามเคล็ดลับในการชนะจากซูโม่กิ๊ก ที่รู้สึกว่ามาแบบโดดๆ หรือ ฉากอ่ำไปขอโทษโค้ชที่โชว์เทคนิกการถ่ายทำที่เด่น แต่มันกลับไม่ดึงอารมณ์มากนัก และ ภาพตอนท้ายที่ใช้ความเงียบกลับรู้สึกแปลกแยกจากหนังส่วนอื่นๆ)

เช่นเดียวกับบางฉากที่หนังหยอดประเด็นไว้ แล้วตอนพามาตบกลับอีกรอบ มันขาดช่วงไปจนเหมือน จับกลับมาใส่งั้นๆให้เห็นว่ายังไม่ได้ทิ้งประเด็น เช่น ตอนอีสุกอีใส ซึ่งน่าจะตีความเล่นกับประเด็นนี้ได้มากกว่านี้ แต่ พอจับแบบแตะๆตื้นๆจึงเกือบๆจะทำให้เนื้อหาส่วนนี้เป็นส่วนเกินที่ไม่จำเป็น


...อีกจุดที่น่าเสียดาย คือ การที่หนังเริ่มต้นแตะประเด็นครอบครัวมาดี เหมือนคนเขียนบทสนใจที่จะสะท้อน ‘จิตวิทยาการเลี้ยงดู ความเป็นพ่อแม่ และ โลกของเด็ก’ แต่คนเขียนบทกลับทำได้แค่สัมผัสผิวๆ เน้นส่วนผู้ใหญ่ที่สนใจแต่แพ้ชนะ ทั้งที่ภาพครอบครัวอื่นๆยังลงลึกมากกว่านี้ได้อีก เช่น พ่อแม่ที่ไม่มีเวลาให้ลูกมากพอ ,พ่อแม่ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของผู้ใหญ่จนลืมใส่ใจความกังวลในเรื่องเด็กๆ ฯลฯ


หนังจะยอดเยี่ยมกว่านี้อีกมาก หากสามารถตามผลกระทบและสะท้อนภาพได้ครอบคลุมสมกับพล็อตที่วางไว้ (ตัวอย่างกรณีศึกษาของหนังที่เล่นกับประเด็นโลกของเด็ก VS. ผู้ใหญ่ ได้ลึกซึ้งของปีที่ผ่านมาคือ Bridge to Terabithia)


และ อารมณ์ของหนังในตอนท้าย ที่เป็น ช่วงสำคัญตอนการแข่งขัน มันขาดๆเป็นห้วงๆ คือ ด้วยตัวหนัง นักแสดง กับ บทที่ปูมา ล้วนมีศักยภาพที่จะพาคนดูให้อินให้ลุ้นให้ประทับใจไปได้ไกลกว่านี้ แต่ อารมณ์มันขัดๆสะดุดๆเป็นช่วงๆ อย่างบางซีนของสองนักพากษ์ บ้างก็ขำขำแต่บางซีนก็พูดกันยาวแต่กร่อย


สรุป ... สองสามย่อหน้าหลัง อาจเป็นการมองด้วยสายตาของการจับจ้องจุดที่ไม่ประทับใจใน ความเป็นภาพยนตร์ ซึ่งถ้าเทียบกับหนังไทยส่วนใหญ่เรื่องนี้ก็อยู่ในเกณฑ์ดีเพียงแค่ยังไม่ได้ถึงกับดีมาก เป็นหนังที่พิสูจน์ให้เห็นชัดอีกครั้งว่า ผู้กำกับเรียว-กิตติกร ทำหนังที่เล่าเรื่องของคนกลุ่มเล็กๆเรื่องราวเล็กๆ ได้อยู่มือมากกว่าจะทำหนังสเกลใหญ่(อย่าง พรางชมพู)หรือหนังที่มีเรื่องราวซับซ้อน(อย่าง อหิงสา) และ เขาถนัดในการกำกับให้มี ความเป็นธรรมชาติ จากนักแสดง มากกว่า กำกับให้นักแสดงมอบมิติทางอารมณ์ที่ลึกซึ้งซับซ้อน

แต่ ถ้าถามถึงหนังโดยรวม ผมบอกใครต่อใครถึงหนังเรื่องนี้ผ่านสายตาของความชอบมากกว่า นั่นคือ หนังเรื่องนี้อาศัยมนต์มายาของความน่ารักที่ขลังมากพอทำให้เรามองข้ามจุดอ่อนทั้งหลายทั้งปวง

หนังน่ารักมากกกก นานๆทีจะมีหนังไทยดีๆมีข้อคิดดูได้ทุกเพศวัย และ ความน่ารักของหนังเรื่องนี้ก็มากมายเพียงพอที่จะมองข้ามจุดบกพร่องทั้งหลาย ควรค่ากับการตีตั๋วไปสนับสนุนในโรงยิ่งนัก


Link บทความที่อ้างอิงถึงใน blog


เมล์นรก หมวยยกล้อ , รถเมล์สายนี้ไม่ตลกแต่สนุก

ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค1 , ไทยจะสิ้นชาติไม่ใช่เพราะใคร หากมิใช่เพราะไทยด้วยกัน

ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค 2 , จะสนไปทำไมกับเรื่องอิสรภาพที่ไกลตัว

Bridge to Terabithia , Just close your eyes but keep your mind wide open



สามารถติดตามบทสรุป การให้คะแนน และบทวิจารณ์ของภาพยนตร์เรื่องนี้เพิ่มเติม หรือบทวิจารณ์ภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ พร้อมความเห็นของเพื่อนร่วมบล็อคที่รักการดูหนัง ได้ที่ //vreview.yarisme.com พร้อมลุ้นรับบัตร Major M Cash มูลค่า 500 บาท จำนวน 8 ใบ ทุกเดือน









ขอฝาก พ็อกเก็ตบุ้คสองเล่มที่ไม่ใช่ หนังสือวิจารณ์หนังเพราะ "หนังสือรัก" เป็นการหยิบยกความรักและความสัมพันธ์ในภาพยนตร์ มาช่วยให้คุณเข้าใจตัวเองและคนรอบข้าง ได้มากขึ้นและลึกซึ้งกว่าเดิม ส่วน องศาที่ 361 หนังสือเล่มล่าสุดที่จะช่วยให้คุณค้นหามุมเล็กๆในตัวเองที่จะมีความสุขในชีวิตได้มากขึ้น โดยไม่ต้องมองหาจากผู้อื่น


เพื่อนๆที่หาซื้อตามร้านไม่ได้ "หนังสือรัก"เข้าไปสั่งได้จากเว็บของสนพ.เลยจ้าที่ //www.bynatureonline.com/store/bookstore.php ส่วน องศาที่ 361 สั่งได้จากเว็บของซีเอ็ดครับผม




ชวนไปอ่านบทความเรื่องอื่นๆ คลิกhtmlentities(' >')> หน้าสารบัญ

ชวนคลิก ชวนคุยกับเจ้าของ Blog ที่ --> หน้าแรก

รวบรวมรายชื่อหนังเรื่องเก่าๆที่เคยเขียนไว้แล้วที่ ---> ห้องเก็บหนัง




ขอคิดค่าบริการต่อการอ่าน 1 หน้าในอัตราเพียง

ความเห็น
ของคุณมีประโยชน์กับผู้อ่านคนถัดมา คำทักทายของคุณเป็นกำลังใจให้ผู้เขียน คำติชมหรือคำแนะนำของคุณจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพัฒนาหากคุณเข้ามาอ่านครั้งถัดไป
Create Date :10 เมษายน 2551 Last Update :10 เมษายน 2551 21:07:38 น. Counter : Pageviews. Comments :11