
อยู่ที่สติเป็นหลัก
คนที่จะก้าวหน้าในธรรมนี้ อยู่ที่สติเป็นหลัก
ใครมีสติแล้วนี้ จะหลุดพ้นได้อย่างง่ายและรวดเร็ว
แต่ถ้าไม่มีสตินี้ จะไม่มีวันที่จะหลุดพ้นได้เลย
ดังนั้นผู้ปฏิบัติจึงจำเป็น
จะต้องหมั่นเจริญสติอยู่เรื่อยๆ
ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนจะทำอะไร
อย่ามาเจริญสติเฉพาะเวลาที่นั่งสมาธิ
เพราะถ้าทำอย่างนั้นจะไม่มีกำลัง
ที่จะหยุดความคิดปรุงเเต่งได้
ต้องหยุดความคิดปรุงเเต่งก่อนที่จะมานั่ง
หรือทำให้ความคิดปรุงเเต่งนี้เบาบางลงไป
เมื่อเบาบางลงไป เวลามานั่งก็จะไม่ฟุ้ง
แล้วถ้ามีใจจดจ่ออยู่กับคำบริกรรมอย่างต่อเนื่อง
ก็จะเข้าสู่ความสงบได้
เวลาบริกรรมก็อย่าไปคาดคะเน
ว่าเมื่อไหร่จะสงบ อย่าไปสนใจกับอนาคต
ให้อยู่กับปัจจุบันคือคำบริกรรม
ถ้าไปกังวลหรือไปคาดว่า เมื่อไหร่จะสงบ
จิตก็ไปอนาคตแล้ว ถ้าจิตไปอนาคตแล้วจะไม่มีสติ
จิตต้องอยู่ปัจจุบัน เขาเรียกว่า ปัจจุบันธรรม
สติคือปัจจุบันธรรม ต้องดึงจิตให้อยู่ในปัจจุบัน
ต้องดึงจิตไม่ให้คิดถึงเรื่องราวต่างๆ
ที่ผ่านมาแล้วในอดีต
ไม่คิดถึงเรื่องราวที่ยังไม่เกิดขึ้นในอนาคต
ให้อยู่กับปัจจุบันอยู่กับคำบริกรรม พุทโธๆ ไปเรื่อยๆ
แล้วเดี๋ยวจิตก็จะรวมเข้าสู่ความสงบ
ความสงบนี้ก็มีอยู่ ๒ รูปแบบ
ที่ท่านเรียกว่า อัปปนา กับอุปจาระ
อัปปนาคือจิตรวมเข้าสู่ความสงบแล้วก็นิ่งมีอุเบกขา
มีความว่างเป็นอารมณ์ แต่สำหรับผู้ที่มีอุปจารสมาธิ
ท่านแสดงไว้ว่า เมื่อจิตรวมลงแล้ว
จิตก็จะถอนออกมาเพื่อมารับรู้เรื่องราวต่างๆ
รับรู้นิมิตต่างๆ รับรู้อภิญญาต่างๆ
อภิญญาคือความสามารถพิเศษต่างๆ
อ่านวาระจิตของผู้อื่น ระลึกชาติได้
เหาะเหินเดินอากาศได้ อันนี้อยู่ในอุปจารสมาธิ
แต่อุปจารสมาธินี้ไม่เป็นประโยชน์
ต่อการเจริญวิปัสสนา
เพราะผู้ที่อยู่ในอุปจารสมาธินี้จะไม่มีอุเบกขา
ใจยังมีความโลภ ความอยากอยู่
เวลาเห็นนิมิตอะไรก็เกิดความอยาก
หรือเกิดความกลัวขึ้นมา ถ้าเห็นนิมิตที่น่าดู
ก็อยากให้อยู่ไปนานๆ ถ้าเห็นนิมิตที่น่ากลัว
ก็อยากจะให้มันหายไป
ดังนั้นผู้ที่ปฏิบัติต้องระมัดระวัง
ถ้ามีจริตทางด้านอุปจารสมาธิ ซึ่งมีไม่มาก
ครูบาอาจารย์ท่านบอกว่า
มีประมาณร้อยละ ๕ เท่านั้นเอง
ที่จะเป็นจิตแบบผาดโผน ก็คือจิตไม่นิ่งไม่สงบ
ถ้าเป็นแบบนี้ท่านบอกให้ใช้สติ
ดึงกลับเข้าไปในความสงบ
อย่าตามรู้เรื่องราวต่างๆที่มาปรากฏให้รับรู้
เพราะจะเสียเวลาแล้วจะไม่ได้กำลัง
จะไม่ได้อุเบกขาที่จะต้องเอาไปใช้
ในการต่อสู้กับกิเลสตัณหา
ผู้ที่ต้องการเจริญทางวิปัสสนานี้
ต้องดึงจิตเข้าไปสู่ความสงบ ที่เรียกว่าอัปปนาสมาธิ
คือสักแต่ว่ารู้ แล้วก็ไม่มีอะไรให้รับรู้ มีแต่อุเบกขา
มีแต่ความว่าง สมาธิแบบนี้แหละเป็นประโยชน์
เพราะว่า จะทำให้จิตใจมีกำลัง
เพราะว่าเวลาอยู่ในสมาธิแบบนี้
จิตสามารถที่จะกดตัณหาต่างๆ
ไม่ให้ออกมาทำงานได้.
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
............................
ธรรมะบนเขา
วันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๕๘

ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ