<<< “ฟังด้วยสติ” >>>









“ฟังด้วยสติ”

การที่จะรักษาจิตให้มีความสุขได้นั้น

 ในเบื้องต้นต้องมีสติ

 คือสติจะเป็นตัวคอยควบคุมจิต

 ไม่ให้คิดไปในเรื่องราวต่างๆ

ที่ไม่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีพ

 ถ้าจะคิดก็คิดแต่เรื่องที่จำเป็น

 เช่นวันนี้จะต้องไปทำอะไรบ้าง

 เมื่อรู้แล้วก็หยุดคิด แล้วก็หันเอาจิตกลับมา

ให้ตั้งอยู่กับปัจจุบัน คือให้อยู่กับร่างกาย

ให้อยู่กับการเคลื่อนไหวของร่างกาย

ร่างกายจะเคลื่อนไหวในอิริยาบถใด

จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน

ก็ให้รู้อยู่กับการเคลื่อนไหวนั้น

 เฝ้าดูกายอยู่ตลอดเวลา

 และเฝ้าดูใจความคิดปรุงของใจ

 ว่ากำลังคิดอะไรอยู่

ถ้ากำลังคิดเรื่องราวไม่เข้าเรื่อง

 ก็หยุดด้วยการกำหนดให้ใจอยู่กับอารมณ์

ธรรมะที่เคยใช้อยู่เป็นประจำ

ถ้าเคยใช้บริกรรมพุทโธๆๆอยู่

ก็ขอให้บริกรรมพุทโธๆๆไปเรื่อยๆ

ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถใด

จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน จะทำอะไรก็ตาม

 ถ้าไม่มีความจำเป็นต้องใช้ความคิด

 ก็ขอให้จิตบริกรรมอยู่กับคำว่าพุทโธๆๆไปเรื่อยๆ

ถ้าทำอย่างนี้แล้วจิตจะไม่ฟุ้งซ่าน

จะไม่สร้างอารมณ์ต่างๆ ขึ้นมา

 ความทุกข์หรืออารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในใจ

ก็เกิดจากความคิดปรุงแต่งของจิตนี้เอง

ถ้าปล่อยให้จิตคิดไปเรื่อยๆ

 เห็นอะไรมาสัมผัสก็คิด

ก็จะทำให้จิตแกว่งไปแกว่งมา

 เห็นสิ่งใดที่ไม่ถูกอกถูกใจ ก็เกิดความไม่พอใจ

เห็นสิ่งใดที่ถูกอกถูกใจ ก็เกิดความยินดี

 เกิดความอยาก เกิดความดิ้นทุรนทุราย

 เพื่อที่จะหามาให้ได้ ในสิ่งที่ตนเองต้องการ

เมื่อได้มาแล้วก็ต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อรักษาไว้

 จิตเลยไม่มีโอกาสที่จะสงบนิ่ง

 เพราะจะต้องเกี่ยวข้องกับสิ่งต่างๆ

ที่มาสัมผัสผ่านทวารทั้ง ๕ แต่ถ้าจิตมีสติแล้ว

 เวลามีอะไรเข้ามาสัมผัส เช่นรูปเข้ามาสัมผัสกับตา

เสียงเข้ามาสัมผัสกับหู จิตมีสติรู้อยู่

ก็เพียงแต่รับรู้ว่าเป็นรูป เป็นเสียง

รู้ว่าเป็นของไม่เที่ยง คือเมื่อเข้ามาสัมผัสแล้ว

 เดี๋ยวก็หายไป เสียงมากระทบหูแล้วก็ผ่านไป

ไม่จำเป็นที่จะต้องให้มีอารมณ์ตามมา

 เสียงจะดีหรือจะชั่ว ไม่ได้อยู่ที่เสียงนั้นๆ

 แต่อยู่ที่ใจต่างหาก

 ผู้ที่ไปให้ความหมายกับเสียงนั้น

เสียงเดียวกันสำหรับคนๆหนึ่ง

รู้สึกว่าไพเราะเพราะพริ้ง

 แต่กับอีกคนหนึ่งกลับเป็นเหมือนมีดบาดหัวใจ

 เช่นพ่อแม่พูดชมลูกคนหนึ่งว่าเป็นคนดี

ลูกที่ไม่ได้รับคำชม ก็มีความรู้สึกน้อยอกน้อยใจ

 ลูกที่ได้รับคำชมก็เกิดความดีอกดีใจ

ทั้งๆที่เป็นเสียงของคนๆเดียวกัน

 เรื่องเดียวกัน แต่คนสองคนเมื่อฟังแล้ว

 กลับมีอารมณ์ มีปฏิกิริยาแตกต่างกันไป

 นั่นก็เป็นเพราะว่าฟังโดยไม่มีสติ

 ฟังโดยไม่มีปัญญานั่นเอง

ฟังด้วยอารมณ์ ฟังด้วยความหลง

ฟังด้วยอัตตาตัวตน

ฟังว่าเขาชมคนนั้น เขาไม่ชมเรา

 เมื่อไม่ชมเรา เราก็เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ

 เสียอกเสียใจขึ้นมา แต่ถ้าฟังด้วยสติ

มันก็เป็นเสียงเท่านั้นเอง เสียงออกมาจากปากคน

จะมาทำให้เราวิเศษ หรือทำให้เราเลวได้อย่างไร

เพราะความดีความชั่วไม่ได้อยู่ที่ปากคน

แต่อยู่ที่การกระทำของเรา ถ้ากระทำความดี

 ถึงแม้จะไม่มีใครมาชม

เราก็ยังดีอยู่อย่างนั้นแหละ

 ถ้ากระทำความชั่ว

 ถึงแม้จะมีใครมายกย่องสรรเสริญ

เราก็ไม่ดีตามคำยกย่องสรรเสริญ

ของเขาเลยแม้แต่นิดเดียว

 แต่ใจของเรากลับดีอกดีใจ

ลืมไปว่าเราเพิ่งไปกระทำความชั่วมาหยกๆ

นี่คือลักษณะของจิตที่ไม่มีสติควบคุมดูแลนั่นเอง

ปล่อยให้ไหลไปตามอารมณ์อยาก อารมณ์ชอบ

อารมณ์รัก อารมณ์ชังทั้งหลาย

เมื่อได้ยินได้ฟังอะไรที่ถูกอกถูกใจ

ก็เกิดความยินดี ดีอกดีใจ

เมื่อได้ยินได้ฟังในสิ่งที่ไม่ถูกอกถูกใจ

 ก็เกิดความเสียใจ

 เกิดความอึดอัดใจ ไม่สบายใจขึ้นมา

แต่ถ้าได้ศึกษาธรรม แล้วปฏิบัติตาม

ที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนแล้ว รับรองได้ว่า

ต่อไปเวลาได้ยินได้ฟังอะไร จิตจะเป็นอุเบกขา

 คือจะวางเฉยทั้ง ๒ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นคำชมก็ดี

 หรือเป็นคำติก็ดี เพราะฟังด้วยสติ ฟังด้วยปัญญา

รู้ว่าเสียงก็เป็นเพียงแต่เสียงเท่านั้นเอง

ถ้าไม่เอาความหมายมาคิด มาแบก

มายึด มาติด แล้วละก็ เสียงนั้นเมื่อพูดไปแล้ว

 มันก็ผ่านไป เมื่อไม่เอามายึดเป็นของเราเสียอย่าง

ก็ไม่มีปัญหาอะไร.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

............................

ธรรมะบนเขา (กำลังใจ ๑๑)

วันที่ ๙ เมษายน ๒๕๔๖







ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 12 พฤศจิกายน 2560
Last Update : 12 พฤศจิกายน 2560 5:22:23 น.
Counter : 423 Pageviews.

0 comments
: หยดน้ำในมหาสมุทร 33 : กะว่าก๋า
(11 เม.ย. 2567 05:15:42 น.)
สักกายทิฐิ **mp5**
(8 เม.ย. 2567 11:07:04 น.)
คิดดี พูดดี ทำดี นาฬิกาสีชมพู
(6 เม.ย. 2567 17:52:38 น.)
: หยดน้ำในมหาสมุทร 26 : กะว่าก๋า
(3 เม.ย. 2567 05:14:00 น.)
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Poungchompoo.BlogGang.com

tangkay
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]

บทความทั้งหมด