กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.เป็นเจ้าบทบาทเดิม จากนั้น การศึกษาอาศัยปรโตโฆสะ ซึ่งมีคติว่า "คนเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่ปรุงปั้น" และโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีคติย้อนกลับว่า "ถ้าเป็นคนรู้จักคิด แม้แต่ฟังคนบ้าคนเมาพูด ก็อาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์"
space
space
space
<<
กรกฏาคม 2564
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
space
space
27 กรกฏาคม 2564
space
space
space

การให้ผลของกรรมในระดับต่างๆ



235 ถาม  450 สั้นๆแต่เรื่องยาว

> ช่วยอธิบาบเรื่องเวรกรรมหน่อยตรับแบบง่ายๆ

  กรรมส่งผลอย่างไรแบบเข้าใจง่ายๆครับ

https://pantip.com/topic/40866992


235 การให้ผลของกรรม

ก) ผลกรรมในระดับต่างๆ

    ปัญหาที่ถกเถียงกันมากที่สุดเกี่ยวกับเรื่องกรรม ก็คือ การให้ผลของกรรม โดยสงสัยเกี่ยวกับ หลัก   “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว”  ว่าเป็นจริงอย่างนั้นหรือไม่  บางคนพยายามนำหลักฐานมาแสดงให้เห็นว่า ในโลกแห่งความเป็นจริง คนที่ทำชั่วได้ดี และคนที่ทำดีได้ชั่ว มีมากมาย

    ความจริง   ปัญหาเช่นนี้   เกิดจากความเข้าใจสับสนระหว่างกรรมนิยาม กับ สมมตินิยาม โดยนำเอาความเป็นไปในนิยามทั้งสองนี้มาปนเปกัน ไม่รู้จักแยกขอบเขต และขั้นตอนให้ถูกต้อง ดังจะเห็นว่า แม้แต่ความหมายของถ้อยคำในหลัก “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” นั้นเอง คนก็เริ่มต้นเข้าใจสับสน แทนที่จะเข้าใจความหมายของ "ทำดีได้ดี"  ว่าเท่ากับ  ทำความดี  ได้ความดี  หรือทำความดี  ก็มีความดี หรือทำความดี  ก็เป็นเหตุให้ความดีเกิดมีขึ้น หรือทำความดี  ผลดีตามกรรมนิยามก็เกิดขึ้น  กลับเข้าใจเป็นว่า ทำความดี ได้ของดี หรือทำดีแล้ว ได้ผลประโยชน์ หรือได้อามิสที่ตนชอบใจ   เมื่อปัญหามีอยู่เช่นนี้  จึงควรศึกษากันให้ชัดเจน

    จุดสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหา คือ ความสับสนเกี่ยวกับขอบเขตที่แยกต่างหากจากกัน และที่สัมพันธ์กันระหว่างกรรมนิยาม กับ สมมตินิยาม  เพื่อความแจ่มแจ้งในเรื่องนี้ เบื้องแรก ขอให้พิจารณาการให้ผลของกรรม โดยแบ่งเป็น ๔ ระดับ คือ

     ๑. ระดับภายในจิตใจ ว่ากรรมทำให้เกิดผลภายในจิตใจ มีการสั่งสมคุณสมบัติ คือ กุศลธรรมและอกุศลธรรม  คุณภาพ และสมรรถภาพของจิต  มีอิทธิพลปรุงแต่ง  ความรู้สึกนึกคิด ความโน้มเอียง ความนิยมชมชอบ และความสุขความทุกข์ เป็นต้น อย่างไรบ้าง

     ๒. ระดับบุคลิกภาพ  ว่ากรรมให้ผลในด้านการสร้างเสริมนิสัย ปรุงแต่งลักษณะความประพฤติ การแสดงออก  ท่าทีการวางตนปรับตัว อาการตอบสนอง ความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับคนอื่นๆ และต่อสถานการณ์ หรือสภาพแวดล้อมทั่วๆไปอย่างไรบ้าง  การให้ผลระดับนี้  ต่อเนื่องออกมาจากระดับที่ ๑ นั่นเอง และมีขอบเขตคาบเกี่ยวกัน  แต่แยกพิจารณาเพื่อให้มองเห็นแง่มุมของการให้ผลชัดเจนยิ่งขึ้น

     ๓. ระดับวิถีชีวิตของบุคคล  ว่ากรรมชักนำความเป็นไปในชีวิตของบุคคล ทำให้เขาได้ รับประสบการณ์ที่น่าปรารถนา และไม่น่าปรารถนา ประสบผลตอบสนองจากภายนอก พบความเสื่อมความเจริญ ความล้มเหลว ความสำเร็จ ลาภ ยศ สุข สรรเสริญ และความสูญเสียต่างๆที่ตรงข้าม ซึ่งรวมเรียกว่า โลกธรรมทั้งหลาย อย่างไรบ้าง ผลระดับนี้อาจแยกมองได้สองด้าน คือ

-ผลสนองจากปัจจัยด้านอื่นๆ ของสภาพแวดล้อมที่นอกจากคน

-ผลสนองจากปัจจัยด้านบุคคลอื่นและสังคม

      ๔. ระดับสังคม   ว่ากรรมที่บุคคลและคนทั้งหลายกระทำ มีผลต่อความเป็นไป ของสังคมอย่างไรบ้าง  เช่น ทำให้เกิดความเสื่อมความเจริญความร่มเย็นเป็นสุข ความทุกข์ยากเดือดร้อนร่วมกันของมนุษย์ทั้งหลาย รวมทั้งผลจากการที่มนุษย์กระทำ ต่อสภาพแวดล้อมอื่นๆ แล้วย้อนกลับมาหาตัวมนุษย์เอง

     จะเห็นได้ชัดว่า   ผลในระดับที่ ๑ และที่ ๒ คือ ผลภายในจิตใจ และบุคลิกภาพ เป็นขอบเขต ที่กรรมนิยามเป็นใหญ่  ระดับที่ ๓ เป็นขอบเขตที่กรรมนิยาม กับ สมมตินิยามเข้ามาสัมพันธ์กัน และเป็นจุดที่มักเกิดความสับสน ก่อให้เกิดปัญหา ซึ่งควรพิจารณาในที่นี้ ส่วนระดับที่ ๔  แม้จะเป็นเรื่องสำคัญ แต่ก็อยู่นอกขอบเขตของการพิจารณาให้หัวข้อนี้
 
  - คนทั่วไป   เมื่อมองดูผลของกรรมที่เกิดแก่ตน หรือ เพ่งจ้องติดตามดูผู้อื่นว่าใครทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว จริงหรือไม่ อย่างไร มักมองดูแต่ผลในระดับที่ ๓ คือ ความเป็นไปในชีวิตส่วนที่ได้รับผลตอบสนองจากภายนอกเท่านั้น ทำให้มองข้ามผลในระดับที่ ๑ และ ๒ ไปเสีย ทั้ง ที่ผลสองระดับต้นนั้นแหละ มีความสำคัญอย่างยิ่ง สำคัญทั้งในแง่เฉพาะของมันเอง เช่น สุขทุกข์ในใจ ความเข้มแข็งอ่อนแอภายใน ความพร้อม  ความแก่ หรือ อ่อนแห่งอินทรีย์ เป็นต้น และสำคัญทั้งในแง่เป็นที่มาแหล่งใหญ่ของผลในระดับที่ ๓ ด้วย
 
   - ขยายความว่า ผลในระดับที่ ๓ นั้น ส่วนที่เป็นขอบเขตของกรรมนิยาม ก็ต่อเนื่องมาจากผลในระดับ ที่ ๑ และ ๒ นั่นเอง  เช่น  สภาพจิตใจของบุคคลผู้นั้น  คือ ความสนใจ ความนิยมชมชอบ   ความโน้มเอียง   แนวทางแสวงสุข หรือระบายทุกข์ภายในของเขา ซึ่งเป็นผลของกรรมในระดับที่ ๑ ก็จะชักนำให้เขามองสิ่งนั้นเรื่องนั้นในแง่นั้นๆ   นำเขาเข้าไปหาสถานการณ์นั้นๆ ทำการตอบสนองอย่างนั้นๆ   จะทำหรือไม่ทำสิ่งนั้นๆ   ทำให้เขาดำเนินตามวิถีชีวิตอย่างนั้นๆ ให้ได้พบประสบการณ์ หรือ ประสบผลอย่างนั้นๆ   และให้มีความรู้สึก  หรือท่าทีต่อสิ่งที่ประสบอย่างนั้นๆ เป็นต้น    เฉพาะอย่างยิ่ง    จะทำให้เกิดผลในระดับที่ ๒ ซึ่งก็ช่วยเสริมผลในระดับที่ ๑ ในการก่อผลระดับที่ ๓ อย่างที่กล่าวมาแล้วนั่นเอง
 
    ทั้งนี้   รวมทั้งการที่ว่า   เมื่อเขาจะทำการใดๆ เขาจะทำสิ่งนั้นๆ ตามแนวไหน ลักษณะใด ด้วยอาการใด จะทำไปตลอดไหม พบข้อขัดข้องอย่างไหนจะยอม    อย่างไหนจะย่ำต่อไป จะทำสำเร็จหรือไม่ จะหยาบประณีต  ยิ่งหรือหย่อนอย่างไร   ตลอดถึงว่า   ตัวเขาจะปรากฏเป็นภาพในความรู้สึกนึกคิดของผู้อื่นอย่างไร   อันจะมีผลย้อนกลับมาหาตัวเขาเองอีก  ในรูปของความช่วยเหลือ ร่วมมือ หรือขัดแย้งปฏิเสธ   เป็นต้น   อันเป็นส่วนที่บุคลิกภาพของเขาชักนำคนอื่นให้ช่วยพาตัวเขาไปสู่ผลสนองที่น่าพอใจ หรือไม่น่าพอใจ

     ทั้งนี้   มิได้ปฏิเสธองค์ประกอบด้านอื่นๆ โดยเฉพาะปัจจัยแวดล้อมทางสังคม ที่จะมามีปฏิกิริยาตอบโต้กัน และมีอิทธิพลต่อเขาโดยอาศัยกรรมนิยามนี้ เพียงแต่ว่าในที่นี้มุ่งเน้นการมองกรรมนิยามจากด้านภายในออกมาอย่างเดียวก่อน  ส่วนการมองจากด้านนอกเข้าไป จะเห็นได้ในหลักปรโตโฆสะ และ กัลยาณมิตร  เป็นต้น

    ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกรรมนิยามตามที่กล่าวมานี้   มิใช่มีประโยชน์เฉพาะในด้านการแก้ไขปรับปรุงตน    ในการประกอบกรรมของบุคคลเองเท่านั้น   แต่มีประโยชน์ในการที่คนอื่น หรือ สังคมจะช่วยเหลือบุคคลให้โน้มน้อมไปในทางแห่งกุศลกรรม ด้วยการจัดสรรอำนวยสภาพแวดล้อม และเครื่องชักจูงที่ดีงามตามหลักปฏิรูปเทสวาส และ กัลยาณมิตตตา หรือสัปปุริสูปัสสยะ อีกด้วย
 
    ในหัวข้อก่อน   ได้กล่าวถึงการก่อผลแปรกรรมในระดับที่ ๑ คือ ภายในจิตใจพอเป็นเค้าแล้ว ส่วนการก่อผลในระดับที่ ๒ ก็เนื่องจากระดับที่ ๑ นั่นเอง และได้กล่าวถึงความหมายคร่าวๆ ไว้แล้ว ทั้งสองระดับนั้นเกี่ยวโยงถึงผลในระดับที่สามด้วย แต่ไม่ใช่ข้อพิจารณาโดยตรง ณ ที่นี้ จึงขอผ่านไป

    ผลกรรมในระดับที่ ๓ คือ ความเป็นไปแห่งวิถีชีวิต พร้อมด้วยผลตอบสนองต่างๆ นั้น ว่าที่จริงก็เป็นเรื่องของกรรมนิยามนั่นแหละ และส่วนมากก็สืบเนื่องมาจากผลในระดับที่ ๑ และที่ ๒ เช่น ถ้าคนผู้หนึ่งมีใจรักงาน ทำงานสุจริต ด้วยความขยันหมั่นเพียร จัดการงานได้ดี เขาก็น่าจะได้รับผลงาน และผลตอบแทนดี   อย่างน้อยดีกว่าคนที่เกียจคร้าน หรือทำงานไม่สุจริต  ข้าราชการที่ซื่อสัตย์สุจริต    มีความสามารถ   ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ราชการบังเกิดผลดี   ก็น่าจะเจริญก้าวหน้าในราชการ อย่างน้อยดีกว่าราชการที่ไม่สามารถ และไม่เข้มแข็งในหน้าที่   แต่บางที ผลหาเกิดเช่นนั้นไม่   ทั้งนี้เพราะผลในระดับที่ ๓  มิใช่เกิดจากกรรมนิยามอย่างเดียวล้วน  หากแต่มีปัจจัยด้านนิยาม อื่นๆ เฉพาะอย่างยิ่งสมมตินิยาม เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

   ในกรณีอย่างนี้   เมื่อมองดูแต่กรรมนิยามอย่างเดียว   ไม่มองปัจจัยด้านอื่นให้ครบถ้วน และไม่รู้จักแยกขอบเขตความสัมพันธ์ระหว่างนิยามต่างๆ ก็จะเกิดความสับสน  แล้วคำกล่าวที่ว่า "ทำดีได้ชั่ว ทำชั่วได้ดี"   ก็ติดตามมา   ถ้ากรรมนิยามทำงานลำพังอย่างเดียว ก็ย่อมไม่มีปัญหา ผลก็เกิดตรงตามกรรมนั้น   ตัวอย่าง เช่น ขยันอ่านหนังสือเรียน  หยิบหนังสือเล่มหนึ่งขึ้นมาตั้งใจอ่าน  ก็อ่านจบ   ได้ความรู้   แต่บางคราว   ร่างกายอ่อนเพลียเกินไป หรือปวดหัว หรืออากาศร้อนเกินไป ก็อาจอ่านไม่จบ หรือ อ่านไม่รู้เรื่อง หรือเกิดอุบัติเหตุอะไรขึ้นในระหว่างการอ่าน  ก็ต้องหยุดชะงักลง ดังนี้ เป็นต้น
 
     อย่างไรก็ดี   พึงตระหนักแน่ใจได้ว่า ถึงอย่างไรก็ตาม สำหรับมนุษย์  กรรมนิยามก็ยังคงเป็นแกนกลางชี้นำวิถีชีวิต หรือเป็นปัจจัยตัวเอกที่กำหนดการได้รับผลสนองดีร้ายต่างๆ ในชีวิตอยู่อย่างแน่นอน

     สำหรับผู้ที่รู้สึกผิดหวังในตนเอง หรือ มองเห็นใครอื่นก็ตามว่าทำดีแล้วไม่ได้ดีนั้น แม้ยังไม่ได้ตรวจสอบเหตุปัจจัยในด้านต่างๆให้ชัดเจนเลย  ก็อาจลองมองดูอย่างง่ายๆ ก่อนว่า นี่ ถ้าเราไม่ได้ทำกรรมดีนั้นไว้  คงจะแย่ยิ่งกว่านี้  นั่น  ถ้าเขาไม่ได้ทำดีไว้บ้าง   เขาคงตกหนักยิ่งกว่านั้นอีก ถ้ามองอย่างนี้   บางทีจะเริ่มเกิดความเข้าใจ มองเห็นอะไรๆ ค่อยๆ ชัดมากขึ้น และตระหนักว่า ถึงอย่างไร กรรมที่ทำไว้ก็ไม่ไร้ผลเสียเลย และอาจสืบลึกลงไปจนถึงผลภายในจิตใจ และผลต่อบุคลิกภาพอย่างที่กล่าวแล้วด้วย

    ความเข้าใจสับสนเกี่ยวกับการให้ผลของกรรม    ขอให้มาดูและแก้ไขกัน   ตั้งแต่ต้นแต่ข้อความแสดงหลักทีเดียว  คำกล่าวที่ชาวไทยนิยมพูดว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วนั้น  มาจากพุทธศาสนสุภาษิตว่า ดังนี้  (สํ.ส.5/903/333 ฯลฯ)

     ยาทิสํ วปเต พีชํ           ตาทิสํ ลภเต ผลํ

     กลฺยาณการี กลฺยาณํ      ปาปการี จ ปาปกํ

   แปลว่า หว่านพืชเช่นใด  ได้ผลเช่นนั้น (ผู้) ทำดี ได้ดี (ผู้) ทำชั่ว ได้ชั่ว

   คาถานี้   เป็นพุทธพจน์ในรูปของอิสิภาษิต (คำกล่าวของฤๅษี) และโพธิสัตว์ภาษิต ซึ่งพระพุทธเจ้านำมาตรัสเล่า ท่านรวบรวมไว้ในพระไตรปิฎก นับว่าเป็นข้อความที่แสดงหลักกรรมของพระพุทธศาสนาได้อย่างกะทัดรัดชัดเจน

    พึงสังเกตว่า ความท่อนแรกที่เป็นอุปมานั้น ท่านนำเอาพืชนิยามมาเป็นเครื่องเปรียบเทียบ เพียงแต่พิจารณาข้ออุปมานี้ให้ดี   ก็จะแยกความสับสนระหว่างกรรมนิยาม กับ สมมตินิยาม ได้ทันที กล่าวคือ ข้อความว่า หว่านพืชเช่นใด ได้ผลเช่นนั้น  แสดงกฎธรรมชาติฝ่ายพืชพันธุ์ ว่าปลูกมะขามได้มะขาม ปลูกองุ่นได้องุ่น ปลูกผักกาดได้ผักกาด เป็นต้น ไม่ได้แสดงผลในทางสมมตินิยามแต่ประการใด   ว่าปลูกมะขามแล้วจะได้เงิน หรือปลูกผักแล้วจะรวย เป็นต้น ซึ่งเป็นคนละขั้นตอนกัน

     พืชนิยาม กับ สมมตินิยาม จะมาสัมพันธ์กัน ก็ในตอนที่ว่า ปลูกองุ่นได้องุ่นแล้ว พอดีถึงคราวที่ตลาดต้องการองุ่นมาก จึงขายได้ราคาดี และปีนั้นจึงรวย   แต่อีกคราวปลูกแตงโม ได้แตงโม และงอกงามได้ผลมากด้วย  แต่ปีนั้น   คนปลูกกันมาก ผลดกทั่วไป จนมีเกินความต้องการของตลาด ทำให้ราคาตก  ปีนั้นขายขาดทุน  ต้องทิ้งเปล่าเสียมากมาย นอกจากปัจจัยด้านความต้องการของตลาดแล้ว  อาจมีปัจจัยอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้องอีก เช่น เรื่องคนกลาง การกดราคา เป็นต้น   แต่สาระสำคัญก็คือ  จะเห็นความแน่นอนของพืชนิยามคงตัว และเห็นขอบเขตของพืชนิยาม กับ สมมตินิยาม ทั้งที่แยกต่างหากจากกัน และสัมพันธ์กันได้อย่างชัดเจน

    อุปมาข้างต้นนี้ฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้น   คนมักมองกรรมนิยาม กับ สมมตินิยามสับสนกัน โดยพูดว่า ทำดีได้ดี  ในความหมายว่า ทำดีแล้วรวย  ทำความดีแล้วได้เลื่อนตำแหน่ง เป็นต้น ซึ่งก็น่าจะเป็นเช่นนั้น   แต่บางทีก็ไม่เป็น  เหมือนกับพูดว่า ปลูกมะม่วงได้เงินดี ปลูกมะพร้าวทำให้รวย เขาปลูกน้อยหน่าจึงยากจน ซึ่งอาจจะจริงก็ได้ ไม่จริงก็ได้ แต่ความจริงก็คือ เป็นการพูดข้ามขั้นตอน ไม่แสดงความจริงตลอดสาย อาจใช้ได้สำหรับภาษาพูดพอรู้กัน แต่ถ้าจะเอาความจริงแท้ ต้องแสดงเหตุปัจจัยซอยออกไป โดยว่ากันเป็นลำดับให้ละเอียด

 


Create Date : 27 กรกฎาคม 2564
Last Update : 26 ธันวาคม 2566 17:48:59 น. 2 comments
Counter : 1176 Pageviews.

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณ**mp5**


 
แวะมาเยี่ยมและส่งกำลังใจครับ


โดย: **mp5** วันที่: 27 กรกฎาคม 2564 เวลา:14:26:08 น.  

 
ขอบคุณครับ ที่แวะเวียนมาให้กำลังใจ


โดย: สมาชิกหมายเลข 6393385 วันที่: 29 กรกฎาคม 2564 เวลา:8:03:22 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
space

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 6393385's blog to your web]
space
space
space
space
space