|
|
|
|
|
|
|
ก้าวไปในบุญ > แก้ความเข้าใจ ความหมายของบุญ ที่แคบและเพี้ยนไป บุญกุศลนี้ มีทางทำให้เกิดขึ้นได้มากมาย แต่ข้อสำคัญอยู่ที่จิตใจของเราเอง แต่เมื่อเราต้องการให้จิตใจผ่องใส อะไรจะมาช่วยทำให้ผ่องใสได้ ตอนนี้เราอาศัยพระประธาน แต่พระพุทธเจ้าสอนไว้ว่า มีวิธีปฏิบัติหลายอย่างที่จะทำให้เกิดบุญกุศล เพราะคำว่า บุญ เป็นคำสำคัญในพระพุทธศาสนา และเวลานี้มีความเข้าใจเกี่ยวกับคำว่า “บุญ” ก็แคบมาก หรือบางทีก็ถึงกับเพี้ยนไป แง่ที่ ๑ ยกตัวอย่าง ที่ว่าบุญมีความหมายแคบลงหรือเพี้ยนไปนี่ เช่น เมื่อเราพูดว่าไปทำบุญทำทาน โยมก็นึกว่า ทำบุญ คือถวายข้าวของแก่พระสงฆ์ บุญก็เลยมักจะจำกัดอยู่แค่ทาน คือการให้ แล้วก็ต้องถวายแก่พระเท่านั้นจึงเรียกว่า บุญ ถ้าไปให้แก่ชาวบ้าน เช่นให้แก่คนยากจน คนตกทุกข์ยากไร้ เราเรียกว่าให้ทาน ภาษาไทยตอนหลังนี้ จึงเหมือนกับแยกกันระหว่างทำบุญ กับ ทำทาน ทำบุญคือถวายแก่พระ ให้ทาน คือให้แก่คฤหัสถ์ชาวบ้าน โดยเฉพาะคนตกทุกข์ได้ยาก เมื่อเพี้ยนไปอย่างนี้นานๆ คงต้องมาทบทวนกันดู เพราะความหมายที่เพี้ยนไปนี้กลายเป็นความหมายในภาษาไทยที่บางทียอมรับกันไปจนคิดว่าถูกต้องด้วยซ้ำ แต่พอตรวจสอบด้วยหลักพระศาสนาแล้ว ก็ไม่จริง เพราะว่าทานนั้นเป็นคำกลางๆ การถวายของแก่พระที่เราเรียกว่าทำบุญนั้น เมื่อว่าเป็นภาษาบาลี จะเห็นชัดว่าท่านเรียกว่าทานทั้งนั้น แม้แต่ทำบุญอย่างใหญ่ที่มีการถวายของแก่พระมากๆ เช่น ถวายแก่สงฆ์ ก็เรียกว่า สังฆทาน ทำบุญทอดกฐิน ก็เรียกว่า กฐินทาน ทำบุญทอดผ้าป่าก็เป็นบังสุกุลจีวรทาน ไม่ว่าจะถวายอะไร ก็เป็นทานทั้งนั้น ถวายสิ่งก่อสร้างในวัดจนถวายทั้งวัด ก็เรียกเสนาสนทาน หรือวิหารทาน ทานทั้งนั้น ในแง่นี้ จะต้องจำไว้ว่า ทานนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการทำบุญ เมื่อเราพูดว่าทำบุญ คือถวายของพระ บุญก็เลยแคบลงมาเหลือแค่ทานอย่างเดียว ลืมนึกไปว่ายังมีวิธีทำบุญอื่นๆอีกหลายอย่าง นี้ก็เป็นแง่หนึ่งละ แง่ที่ ๒ ก็คือ ความแคบในแง่ที่เมื่อคิดว่า ถ้าให้แก่คนตกทุกข์ได้ยาก หรือแก่ชาวบ้านก็เป็นทานแล้ว ถ้าเข้าใจเลยไปว่า ไม่เป็นบุญ ก็จะยุ่งกันไปใหญ่ ที่จริง ไม่ว่าให้แก่ใครก็เป็นทาน และเป็นบุญทั้งนั้น จะต่างกันก็เพียงว่าบุญมากบุญน้อยเท่านั้นเอง การวัดว่าบุญมากบุญน้อย เช่นในเรื่องทานนี้ ท่านมีเกณฑ์ หรือมีหลักสำหรับวัดอยู่แล้วว่า ๑. ตัวผู้ให้ คือ ทายกทายิกา มีเจตนาอย่างไร ๒. ผู้รับคือปฏิคาหก มีคุณความดีแค่ไหน ๓. วัตถุหรือของที่ให้ คือไทยธรรม* บริสุทธิ์สมควร เป็นประโยชน์เพียงใด ถ้าปฏิคาหกคือผู้รับ เป็นผู้มีศีล มีคุณธรรมความดี ก็เป็นบุญมากขึ้น ถ้าปฏิคาหกเป็นคนไม่มีศีล เช่น เป็นโจรผู้ร้าย เราก็ได้บุญน้อย เพราะดีไม่ดี ให้ไปแล้ว เขากลับอาศัยผลจากของที่เราให้ เช่น ได้อาหารไปกินแล้ว ร่างกายแข็งแรง ก็ยิ่งไปทำการร้ายได้มากขึ้น กลับเป็นโทษ วัตถุสิ่งของที่ถวาย ถ้าบริสุทธิ์ ได้มาโดยสุจริต เป็นของที่เป็นประโยชน์ มีคุณค่าแก่ผู้ที่รับไป สมควรหรือเหมาะสมแก่ผู้รับนั้น เช่น ถวายจีวรแก่พระสงฆ์ แต่ให้เสื้อผ้าแก่คฤหัสถ์ เป็นต้น ก็เป็นบุญมาก ส่วนตัวผู้ให้ก็ต้องมีเจตนาที่เป็นบุญเป็นกุศล ตั้งใจดี ยิ่งถ้าเจตนานั้นประกอบด้วยปัญญา ก็มีคุณสมบัติดีประกอบมากขึ้น ก็ยิ่งได้บุญมาก เป็นอันว่า การให้เป็นทานทั้งสิ้น ไม่ว่าจะถวายแก่พระหรือจะให้แก่คฤหัสถ์ชาวบ้าน จึงต้องมาทบทวนความหมายกันใหม่ว่า ๑. ได้บุญ ไม่ใช่เฉพาะถวายแก่พระ ๒. บุญ ไม่ใช่แค่ทาน
ให้ทานอย่างไร จึงจะได้ทำบุญอย่างสมบูรณ์ ทีนี้มาดูว่า บุญนั้นแค่ไหน การทำบุญ ท่านก็เรียกว่า บุญกิริยา หรือเรียกยาวว่า บุญกิริยาวัตถุ คือเรื่องของการทำบุญ ผู้ที่คุ้นเคยวัดจะนึกออกว่า บุญกิริยาวัตถุมี ๓ อย่าง คือ ๑. ทาน การให้ เผื่อแผ่ แบ่งปัน ๒. ศีล การประพฤติสุจริต มีความสัมพันธ์ดีงาม ไม่เบียดเบียนกัน ๓. ภาวนา ฝึกอบรมพัฒนาจิตใจ เจริญปัญญา ทานก็เป็นบุญอย่างหนึ่ง ศีลก็เป็นบุญอย่างหนึ่ง ภาวนาก็เป็นบุญอย่างหนึ่ง และสูงขึ้นไปตามลำดับด้วย ศีลเป็นบุญที่สูงกว่าทาน ภาวนาเป็นบุญที่สูงกว่าศีล แต่เราสามารถทำไปพร้อมกันทั้ง ๓ อย่าง เหตุใด จึงเรียกการถวายของแก่พระที่วัดว่าเป็นการทำบุญ แต่ให้แก่ชาวบ้านเรียกว่าเป็นทานเฉยๆ เรื่องนี้อาจเกิดจากการที่ว่า เวลาเราไปถวายแก่พระที่วัด เราไม่ใช่ถวายทานอย่างเดียวเท่านั้น คือ ในเวลาที่เราไปถวายสิ่งของเครื่องไทยธรรม หรือทำอะไรที่วัดนั้น นอกจากทานเป็นอย่างที่ ๑ แล้ว ๒. ศีลเราก็ได้รักษาไปด้วย คือ เราต้องสำรวมกายวาจาอยู่ในระเบียบแบบแผนวัฒนธรรมประเพณี เรื่องมารยาทอากัปกิริยา และการสำรวมวาจาต่างๆนี้ เป็นศีลทั้งสิ้น และเวลานั้นงดเว้นความไม่สุจริตทางกายวาจา ความไม่เรียบร้อย การเบียดเบียนทุกอย่างทางกายวาจา เราละเว้นหมด เราอยู่ในกายวาจาที่ดีงาม ที่ประณีต ที่สำรวม ที่ควบคุม นี่คือเป็นศีล ๓. ในด้านจิตใจ จะด้วยบรรยากาศของการทำบุญก็ตามหรือด้วยจิตใจที่เรามีความเลื่อมใสตั้งใจไปด้วยศรัทธาก็ตาม จิตใจก็เราก็ดีงามด้วย เช่น มีความสงบ มีความสดชื่น เบิกบานผ่องใส มีความอิ่มใจ ตอนนี้เราก็ได้ภานาไปด้วย ยิ่งถ้าพระได้อธิบายให้เข้าใจในเรื่องการทานนั้นว่า ทำเพื่ออะไร มีประโยชน์อย่างไร สัมพันธ์กับบุญหรือการปฏิบัติธรรมอื่นๆ อย่างไร ฯลฯ เรามองเห็นคุณค่าประโยชน์นั้น และมีความรู้ ความเข้าใจธรรม เข้าใจเหตุผลต่างๆมากขึ้น เราก็ได้ปัญญาด้วย ด้วยเหตุที่ว่ามานี้ ก็จึงกลายเป็นว่า เมื่อเราไปที่วัดนั้น แม้จะไปถวายทานอย่างเดียว แต่เราได้หมดทุกอย่าง ทานเราก็ทำ ศีลเราก็พลอยรักษา ทั้งภาวนาเราก็ได้ ทั้งภาวนาด้านจิตใจ และภาวนาด้านปัญญา เพราะฉะนั้น เมื่อเราไปที่วัด ถ้าเราปฏิบัติถูกต้อง เราจึงไม่ได้ถวายทานอย่างเดียว แต่เราได้มาครบ ตอนแรกเราตั้งใจไปถวายทานอย่างเดียว แต่เมื่อไปแล้ว เราได้มาครบทั้งสาม ทีนี้ เราจะบอกว่า เราไปถวายทานมา เราก็พูดไม่ครบ ก็เลยพูดว่าเราไปทำบุญ เพราะว่าเราได้ทั้งสามอย่าง ที่ว่ามานี้ ก็เป็นเหตุให้การถวายทานอย่างเดียว กลายเป็นมีความหมายเป็นทำบุญ (ครบทั้งสามอย่าง) เมื่อเข้าใจอย่างนี้แล้ว ต่อไป เวลาไปถวายทานที่วัด ก็ต้องทำให้ได้บุญครบทั้ง ๓ อย่าง คือ ถวายทานอย่างเดียว แต่ต้องให้ได้ทั้งศีล ทั้งภาวนาด้วย อย่างนี้จึงจะเรียกว่า “ทำบุญ” ที่แท้จริง
ไปทำบุญอย่างเดียว ได้กลับมาสามอย่าง คราวนี้เราก็มาตรวจสอบตัวเองว่า ทานของเราได้ผลสมบูรณ์ไหม เริ่มตั้งแต่ด้านจิตใจ เจตนาของเราดีไหม เจตนานั้นท่านยังแยกออกไปอีกเป็น ๓ อย่าง คือ ๑. บุพเจตนา เจตนาก่อนให้ คือตั้งแต่ตอนเรา เริ่มต้นก็ตั้งใจดี มีความเลื่อมใส จิตใจเบิกบาน และตั้งใจจริง แข็งแรง มีศรัทธามาก (ปุพฺเพว ทานา สุมโน โหติ) ต่อไป ๒. มุญจนเจตนา ขณะถวายก็จริงใจจริงจัง ตั้งใจทำด้วยความเบิกบานผ่องใส มีปัญญา รู้เข้าใจ (ททํ จิตฺตํ ปสาเทติ) ๓. อปราปรเจตนา ถวายไปแล้วหลังจากนั้น ระลึกขึ้นเมื่อไร จิตใจก็เอิบอิ่มผ่องใสว่า ที่เราทำไปนี้ดีแล้ว ทานนั้นเกิดผลเป็นประโยชน์ เช่น ได้ถวายบำรุงพระศาสนา พระสงฆ์จะได้มีกำลัง แล้วท่านก็จะได้ปฏิบัติศาสนกิจ ช่วยให้พระศาสนาเจริญงอกงามมั่นคง เป็นปัจจัยให้สังคมของเราอยู่ร่มเย็นเป็น นึกขึ้นมาเมื่อไร ก็เอิบอิ่มปลื้มใจ ท่านใช้คำว่า “อนุสรณ์ด้วยโสมนัส” (ทตฺวา อตฺตมโน โหติ) ถ้าเราอนุสรณ์ด้วยโสมนัสทุกครั้ง หลังจากที่ทำบุญไปแล้ว เราก็ได้บุญทุกครั้งที่อนุสรณ์นั่นแหละ คือ ระลึกขึ้นมาคราวไหน ก็ได้บุญเพิ่มคราวนั้น นี่คือเจตนา ๓ กาล ซึ่งเป็นเรื่องสำหรับทายก ส่วนปฏิคาหก คือผู้รับ ถ้าเป็นผู้มีศีล มีคุณธรรมต่างๆมาก ก็ถือว่าเป็นบุญเป็นกุศลมาก เพราะจะได้เกิดประโยชน์มาก อย่างพระสงฆ์นี้ เมื่อเป็นผู้ทรงศีล ทรงไตรสิกขา ท่านก็สามารถทำให้ทานของเราเกิดผลงอกเงยออกไปกว้างขวาง เป็นประโยชน์แก่ประชาชน ช่วยให้ธรรมแผ่ขยายออกไปในสังคม ให้ประชาชนอยู่ร่มเย็นเป็นสุข และดำรงพระศาสนาได้จริง ส่วนไทยธรรม คือ วัตถุที่ถวาย ก็ให้เป็นของบริสุทธิ์ ได้มาโดยสุจริต สมควรหรือเหมาะสมแก่ผู้รับ และให้ได้เป็นประโยชน์ นี่เป็นองค์ประกอบต่างๆ ที่จะใช้พิจารณาตรวจสอบ และต้องพยายามอย่างที่พูดไปแล้วว่า แม้ว่าเราจะไปทำทานอย่างเดียว ก็ต้องให้ได้ทั้งศีล ทั้งภาวนามาด้วย เมื่อทำได้อย่างนี้ จึงจะเรียกว่าทำบุญกันจริงๆ ชนิดพูดได้เต็มปาก มิฉะนั้น เราก็จะได้แค่ไปถวายทานเฉยๆ แล้วก็ไปเรียกอ้อมแอ้มว่าทำบุญ เพราะฉะนั้น ถ้าพุทธศาสนิกชนไปวัดแล้วบอกว่า ฉันไปทำบุญมา ก็จะต้องตรวจดูด้วยว่า เอ ที่จริง เราได้แค่ทานหรือเปล่า หรือว่าเราได้ครบเป็นบุญเต็มจริงๆ ถ้าเป็นบุญ ก็คือได้ครบทั้ง ๓ ประการ ทั้งทาน ทั้งศีล ทั้งภาวนา
ถ้าจะทำบุญ ก็ควรทำให้ครบทุกความหมาย ถึงตอนนี้ ก็เลยถือโอกาสเล่าความหมายคำว่า “บุญ” นิดหน่อย คำว่า “บุญ” นั้น มาจากศัพท์ภาษาบาลีว่า “ปุญฺญ” ปุญฺญะ นี้แปลว่า อะไรบ้าง ๑. บุญ แปลว่า ชำระจิตใจให้บริสุทธิ์สะอาด ใจของเรากำลังเศร้าหมอง ขุ่นมัวมา พอทำบุญ อย่างเช่นถวายทาน เพียงเริ่มตั้งใจ จิตใจของเราก็สะอาด บริสุทธิ์ผ่องใสขึ้น การชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ ก็คือ กำจัดสิ่งเศร้าหมองที่เรียกว่ากิเลสทั้งหลายออกไป เริ่มตั้งแต่ทาน ก็กำจัดความโลภ ความเห็นแก่ตัว ความมีใจคับแคบตระหนี่หวงแหน ความยึดติดลุ่มหลงในวัตถุสิ่งของ ทำให้จิตใจเป็นอิสระ พร้อมที่จะก้าวต่อขึ้นไปในคุณความดีอย่างอื่นหรือเปิดช่องให้นำเอาคุณสมบัติอื่นๆ มาใส่เพิ่มแก่ชีวิตได้ ทำให้ชีวิตจิตใจเฟื่อฟูขึ้น คนที่ทำบุญ คือทำความดีจิตใจก็จะเฟื่องฟูขึ้นในคุณงามความดี เพิ่มพูนคุณสมบัติที่ดีๆให้แก่ชีวิตจิตใจของตน บุญนั้น มีมากมาย จะพูดต่อไป ยิ่งเราทำบุญมาก เราก็เพิ่มคุณสมบัติที่ดีให้แก่ชีวิตของเรามาก ภาษาสมัยนี้มีคำหนึ่งว่า “คุณภาพชีวิต” คนสมัยโบราณเขาไม่ต้องมีคำนี้ เพราะเขามีคำว่า “บุญ” อยู่แล้ว คำว่า “บุญ” มีครอบคลุมหมด ทำบุญทีหนึ่ง ก็เพิ่มคุณสมบัติให้กับชีวิตของเราทีหนึ่ง ทั้งคุณสมบัติในกาย ในวาจา และในใจ กายของเราก็ประณีตขึ้น วาจาของเราก็ประณีตขึ้น จิตใจของเราก็ประณีตขึ้น ปัญญาของเราก็ประณีตขึ้น ดีเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ๒. คำว่า “บุญ” แปลว่า ทำให้เกิดภาวะน่าบูชา บุญนั้นทำให้น่าบูชา คนที่มีบุญก็เป็นคนที่น่าบูชา เพราะเป็นคนที่มีคุณธรรม มีความดี ถ้าไม่มีคุณความดีก็ไม่น่าบูชา ที่ว่าบูชา ก็คือ ยกย่อง หรือเชิดชู คนที่ทำบุญทำกุศล จิตใจก็ดีงาม มีคุณธรรมมาก ก็เป็นคนที่น่าเชิดชู น่ายกย่อง แล้วก็ทำให้เกิดผลที่น่าเชิดชูบูชาด้วย ไปๆมาๆ เดี๋ยวจะพูดความหมายของบุญมากไป ขอพูดเพียงเป็นตัวอย่าง ให้เห็นว่า ที่จริงศัพท์เหล่านี้มีความหมายมากหลายประการ
ความหมายอีกอย่างหนึ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ คือ บุญนั้น เป็นชื่อของความสุข พอทำบุญแล้ว จิตใจก็สุข เอิบอิ่ม เป็นความสุขที่ประณีตลึกซึ้ง การทำบุญเป็นความสุขที่มีผลระยะยาว ไม่เหมือนอาหาร ที่รับประทานแล้ว หรือสิ่งภายนอกที่บำรุงบำเรอกาย พอผ่านไปแล้ว ก็หมด ก็หาย ความสุขก็สิ้นไป บางที พอนึกใหม่ กลายเป็นทุกข์ เพราะมันไม่มีเสียแล้ว มันขาดไป ต้องหาใหม่ แต่บุญเป็นสุขที่เข้าไปถึงเนื้อตัวของจิตใจ เป็นความสุขที่เต็มอิ่ม ทำให้เกิดปีติในบุญ และเมื่อเราทำไปแล้ว มันก็ไม่หมด นึกถึงเมื่อไร ก็ใจเอิบอิ่มผ่องใสเรื่อยไป เป็นความสุขที่ยั่งยืนยาวนาน อีกประการหนึ่ง บุญเป็นสิ่งที่พึงศึกษา พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้ศึกษาบุญ พุทธพจน์มีอยู่ชัดว่า (ขุ.อิติ.25/200/241) “ปุญฺญเมว โส สิกฺเขยฺย” แปลว่า คนนั้น พึงศึกษาบุญ ที่ว่า ศึกษา ก็คือ ฝึกขึ้นมา ทำให้ได้ให้เป็น ให้ก้าวหน้าเจริญงอกงามขึ้นไปในความดีและในคุณสมบัติทั้งหลายนั่นเอง หมายความว่า บุญนี้เราต้องทำให้เพิ่มขึ้นและประณีตขึ้นเรื่อยๆ อย่างที่พูดเมื่อกี้ว่า บุญเป็นคุณสมบัติ เป็นความดี ทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง ทางใจบ้าง รวมไปถึงทางปัญญา เราต้องเพิ่มโดยฝึกขึ้นมา เมื่อฝึกกายวาจา ฝึกจิตใจ ฝึกปัญญา ชีวิตของเราก็พัฒนาประณีตงอกงามขึ้นเรื่อย เรียกว่าเป็นการพัฒนาชีวิต หรือพัฒนาตนเอง เพราะฉะนั้น บุญนี้อย่าไปยุติ หรือ หยุดอยู่ เราต้องศึกษาบุญ มีบุญอะไร มีคุณสมบัติความดีอะไรที่ควรจะทำเพิ่ม เพื่อให้ชีวิตของเราดีขึ้น และทำให้เกิดประโยชน์กว้างขวางออกไป ก็ก้าวต่อไป มิฉะนั้น เราจะติดอยู่ จมอยู่ หรือว่าชะงักตันอยู่กับที่เท่าเดิม คนที่ทำบุญ ไม่ควรจะติดอยู่เท่าเดิม แต่ควรจะก้าวหน้าไปในบุญ นี้เป็นความหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องบุญ นำมาพูดพอให้เห็นแนวทาง ความจริง แต่ละอย่างยังสามารถขยายออกไปได้มาก แต่ให้เห็นเค้าว่าตั้งต้นอย่างนี้
หนทางที่จะทำบุญมีอยู่มากมาย ได้บอกแล้วว่าบุญนั้นมีมาก การทำบุญไม่ใช่เฉพาะทานเท่านั้น พระพุทธเจ้าตรัสไว้โดยสรุปอย่างสั้นที่สุดว่า มี ๓ คือ บุญกิริยาวัตถุ ๓ ได้แก่ ๑. ทาน ๒. ศีล ๓. ภาวนา อย่างที่พูดไว้ตอนต้นแล้ว ทีนี้ ต่อมา พระอรรถกถาจารย์ คงอยากจะให้ชาวพุทธเห็นตัวอย่างมากๆ ท่านจึงขยายความให้กว้างออกไปอีก เพื่อเห็นช่องทางในการทำบุญเพิ่มขึ้น ท่านจึงเพิ่มเข้าไปอีก ๗ ข้อ รวมเป็นบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ซึ่งขอนำเอามาทบทวนกับญาติโยมในฐานะที่เป็นผู้ทำบุญอยู่เสมอ ต่อจากบุญ ๓ คือ ทาน ศีล ภาวนา ๔. อปจายนมัย ทำบุญด้วยการให้ความเคารพ มีความอ่อนโยน สุภาพอ่อนน้อม ให้เกียรติแก่กัน เคารพยกย่องผู้มีความเป็นผู้ใหญ่ ผู้สูงด้วยคุณธรรมความดี เป็นต้น หรือที่นิยมกันในสังคมของเขา เคารพกันในหมู่วัยวุฒิ ชาติวุฒิ และคุณวุฒิ แต่ในทางพระศาสนาถือว่า คุณวุฒิสำคัญที่สุด อปจายนมัยนี้ ก็เป็นบุญอย่างหนึ่ง เพราะเป็นการโน้มใจไปในทางที่จะฝึกตน และเป็นการช่วยกันรักษาสังคมนี้ ให้เราอยู่กันด้วยความรู้สึกที่จะเอื้อเฟื้อ ทำให้มีความสงบร่มเย็น ถ้าในสังคมไม่มีการให้เกียรติ ไม่มีความเคารพกัน ก็จะวุ่นวายมาก จิตใจก็จะแข็งกระด้าง โน้มไปในทางที่จะกดจะข่มกัน คอยจะก้าวร้าว กระทบกระทั่งกันเรื่อย แต่พอเรามีความเคารพ ให้เกียรติแก่กันมีความสุภาพอ่อนโยน จิตใจของเราก็นุ่มนวล โน้มเข้าไปในทางของการฝึกตน การเป็นอยู่ร่วมกันก็ดี บรรยากาศก็ดี งดงาม เป็นสุข บุญก็เกิดขึ้น ๕. ไวยาวัจจมัย ทำบุญด้วยการช่วยเหลือ รับใช้ บริการ คนไม่มีเงิน ก็ไม่ใช่ว่าทำบุญไม่ได้ ไวยาวัจจมัยกุศลนี้ ทำได้ทุกคน อย่างสมัยนี้ ก็นิยมมาลงแรงช่วยกันในเวลามีงานส่วนรวม โดยเฉพาะสังคมไทยสมัยก่อน มีศูนย์กลางอยู่ที่วัด เวลามีงานวัด ชาวบ้านก็มาลงแรง ช่วยเหลือ รับใช้ ทำอะไรต่ออะไรคนละอย่างสองอย่าง ให้กิจกรรมส่วนรวมสำเร็จด้วยดี พูดสั้นๆว่า มาช่วยกัน คือ เจตนาที่จะมาบำเพ็ญประโยชน์ช่วยเหลือ รับใช้ บริการ ทำกิจส่วนรวมให้สำเร็จ เป็นบุญอีกแบบหนึ่ง ๖. ปัตติทานมัย ทำบุญด้วยการให้ส่วนบุญ หมายความว่า ให้ผู้อื่นมีส่วนร่วมในบุญหรือในการทำบุญด้วย เวลาเราทำความดีอะไรสักอย่าง ก็ไม่หวงแหนไว้ เราเปิดโอกาสให้คนอื่นได้มีส่วนร่วมบุญด้วยการทำความดีด้วยกัน ทั้งผู้มาร่วม และให้โอกาส ก็ได้บุญเพิ่มทั้งสองฝ่าย คนที่ให้เขาร่วม ตัวเองบุญก็ไม่ได้ลดลง เดี๋ยวจะนึกว่าคนอื่นมาแย่งบุญ เปล่า กลับยิ่งได้บุญมากขึ้น เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า คนทีทำบุญด้วยตนกับคนที่ทำบุญด้วยตนแล้วยังชวนคนอื่นมาทำด้วยนั้น คนหลังได้บุญมากกว่า เมื่อให้ส่วนร่วมแก่ผู้อื่นมาทำความดีด้วยกัน บุญกุศลก็ยิ่งเพิ่มมาก ๗. ปัตตานุโมทนามัย ทำบุญด้วยการอนุโมทนาส่วนบุญ คือ พลอยชื่นชมยินดี หรือแสดงความยินดี ยอมรับ เห็นชอบในการทำความดี คือ ในการทำความดีของผู้อื่น เมื่อเขาทำบุญ ทำความดี เราก็พลอยชื่นใจอนุโมทนาด้วย อย่างสมัยก่อนนี้ เวลาไปทำบุญที่วัด ก็อาจจะเดินผ่านบ้านโน้นบ้านนี้ พอเดินผ่านบ้านนี้ เห็นคนที่รู้จักกัน ก็บอกว่า ฉันไปทำบุญมานะ แบ่งบุญให้ด้วย บ้านที่ได้ฟังก็บอกว่า ขออนุโมทนาด้วยนะ นี่คือคติปัตตานุโมทนา การอนุโมนาบุญนี้ เป็นการฝึกนิสัยจิตใจ ให้เราพลอยยินดีในการทำความดีของคนอื่น ไม่ขึ้งเคียดริษยาหรือหมั่นไส้ แต่ให้มีจิตใจชื่นบานด้วยการเห็นคนอื่นทำความดี เมื่อเราพลอยชื่นบานกับการทำความดีของคนอื่น อนุโมทนาด้วย เราก็ได้บุญด้วย นี้คือบุญที่เกิดจากการอนุโมทนา
ทำบุญ ต้องให้สมบูรณ์ขึ้นไปถึงปัญญา ๘. ธรรมสวนมัย ทำบุญด้วยการฟังธรรม ธรรมะเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้เรามีปัญญา ทำให้เรามีหลักในการประพฤติปฏิบัติและดำเนินชีวิตที่ดี ถ้าเราไม่อ่านไม่ฟัง ไม่รู้จักหาความรู้ ไม่ถามไถ่ ไม่มีการฟังธรรม ไม่อ่านหนังสือธรรมะ ความก้าวหน้าในธรรมของเราอาจจะชะงัก แล้วการเจริญในบุญก็จะเป็นไปได้ยาก จึงต้องมีข้อนี้มาช่วย ท่านสอนให้มีธรรมสวนมัย คือทำบุญด้วยการฟังธรรม ซึ่งจะทำให้รู้จักหลัก มองเห็นช่องทางแม้แต่ในการทำบุญเพิ่มขึ้นอีก รวมทั้งให้รู้จักหาความรู้ที่เป็นประโยชน์ เจริญปัญญา ๙. ธรรมเทศนามัย ทำบุญด้วยการแสดงธรรม การแสดงธรรมให้ผู้อื่นฟัง ก็เป็นบุญ แต่ในเวลาแสดงธรรมให้ผู้อื่นฟัง ต้องตั้งใจให้ถูกต้อง ท่านว่า ถ้ามีเจตนาหาลาภ หาเสียง ถือว่าเจตนาไม่ดี มุ่งที่ผลส่วนตัว จะไม่มีผลมาก แต่ถ้าตั้งเจตนาว่า เราจะแสดงธรรมไปเพื่อให้ผู้ฟังได้รู้เข้าใจถูกต้อง ให้มีสัมมาทิฏฐิ ให้เขาได้รับประโยชน์ ให้ผู้ฟังได้พัฒนาชีวิตขึ้นไป ผู้ที่แสดงธรรมก็ได้บุญด้วย ผู้ทำบุญข้อธรรมเทศนานี้ได้ โดยนำธรรมไปบอก ไปเผื่อแผ่ ไปสอนลูกหลาน ให้รู้จักสิ่งที่ถูกต้องดีงาม ให้เขาเจริญในทาน ศีล ภาวนาด้วย เริ่มตั้งแต่ไปแนะนำคนในครอบครัวของตัวเอง ทำบุญกับลูกหลานก็ได้ ด้วยธรรมเทศนามัยนี้ ยิ่งถ้าเป็นเรื่องที่ยาก หรือเขาไม่เคยสนใจ เราก็ได้ฝึกตัวเอง หาทางที่จะสอนที่จะแนะนำอธิบายให้ได้ผล ทำให้เขามีปัญญา ทำให้เขาทำดี เป็นคนดีได้ เราเองก็ปลื้มใจ ได้พัฒนา ก็ยังได้บุญมาก ๑๐. ทิฏฐุชุกรรม ทำบุญด้วยการทำความเห็นให้ตรง คือ ทำความคิดความเข้าใจให้ถูกต้อง ความเห็นถูกต้องนี้ ต้องทำกันอยู่เสมอ ไม่ว่าจะทำอะไร ควรพิจารณาตรวจสอบกิจกรรมทุกอย่างว่า เราทำด้วยความรู้เข้าใจถูกต้องหรือเปล่า เริ่มตั้งแต่เมื่อทำทาน ก็พิจารณาว่า เราทำด้วยความเข้าใจถูกต้องไหม เรื่องนี้เป็นไปได้มากว่า โยมหลายท่านอาจจะทำด้วยความเข้าใจผิดอยู่ก็ได้ ไม่ว่าอะไร เช่น อย่างรักษาศีล บางทีก็รักษาไปตามตัวบทพยัญชนะ หรือตามที่ยึดถือกันมา ไม่เข้าใจจริง เมื่อเราไปฟังธรรม เราก็มาปรับความเห็นของตัวให้ถูกต้อง แล้วการทำบุญข้ออื่นๆ ก็จะพลอยถูกต้องไปด้วย เพราะฉะนั้น เรื่องทิฏฐุชุกรรม หรือการทำความเห็นให้ตรงให้ถูกต้องนี้ จึงเป็นเรื่องสำคัญ ต้องพัฒนาอยู่เสมอ ไม่ว่าจะทำอะไร ต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้องประกอบอยู่
ทั้งหมดนี้ รวมเป็น ๑๐ ข้อ แต่ใน ๑๐ ข้อนี้ ที่เป็นหลัก ก็คือ ทาน ศีล ภาวนา ส่วนที่เติมมา ๘ ข้อ นั้น เป็นการขยายจาก ๓ ข้อต้น เพื่อให้เห็นความหมายและช่องทางที่จะทำบุญเพิ่มขึ้น
บุญที่แท้แผ่ความสุขออกไป ให้ความงอกงามทั้งแก่ชีวิตของเรา และทั่วสังคม
ข้อที่ขยายเพิ่มขึ้นนั้น อปจายนมัย ก็ดี ไวยาวัจจมัย ก็ดี อยู่ในหมวดศีล คือ การมีความสุภาพ อ่อนโยน นบไหว้ ให้เกียรติแก่กัน และการช่วยเหลือรับใช้บริการ ก็เป็นเรื่องด้านความสัมพันธ์กับผู้อื่นในสังคม จึงเป็นเรื่องของศีล จัดอยู่ในหมวดศีล ตอนนี้ก็เรียกว่า สงเคราะห์ คือจัดประเภท ต่อไป ปัตติทานมัย การให้ส่วนบุญแก่ผู้อื่น หรือให้ผู้อื่นมีส่วนร่วมบุญ นี่จัดอยู่ในทาน จะเห็นว่า ทานมีความหมายกว้าง ไม่ใช่เฉพาะให้ของเท่านั้น แต่การให้ความมีส่วนร่วมในการทำความดี หรือให้โอกาสผู้อื่นร่วมทำความดี รวมทั้ง ปัตตานุโมทนา อนุโมทนาบุญที่ผู้อื่นทำ คือ ให้ความร่วมใจในการที่ผู้อื่นทำความดี ก็เป็นบุญในการให้ชนิดหนึ่งเหมือนกัน จึงอยู่ในหมวดทานด้วย ข้อต่อไป ข้อ ๘. ธรรมสวนมัย ฟังธรรม ก็ดี ๙. ธรรมเทศนามัย แสดงธรรมแก่ผู้อื่นก็ดี รวมอยู่ในข้อ ๓ คือ ภาวนามัย เพราะเป็นการพัฒนาจิตใจ และพัฒนาปัญญา โดยเฉพาะปัญญาซึ่งจะไปส่งผลแก่ข้อสุดท้ายด้วย ข้อสุดท้าย คือ ทิฏฐุชุกรรม ท่านบอกว่าเข้ากับทุกข้อ เวลาทำบุญทุกอย่าง ให้มีทิฏฐุชุกรรมประกอบ คือ มีความเห็นที่ถูกต้องด้วย มิฉะนั้น บุญของเราก็จะบกพร่อง บกพร่องเพราะอะไร เพราะบางทีเวลาทำบุญนั้น ใจของเราซีกหนึ่งได้บุญ แต่อีกซีกหนึ่งมีโลภะเป็นต้นปนอยู่ นึกถึงบุญ แต่ใจมีความโลภดึงไว้ พะวงอยากได้ผลตอบแทนโน่นนี่ อย่างนี้ บุญก็ได้ แต่บาปก็พวงมาด้วย เพราะฉะนั้น จึงต้องระวังเหมือนกัน แต่ถ้าเรามี ทิฏฐุชุกรรม ประกอบอยู่ คอยทำความเห็นให้ตรง ก็จะแก้ปัญหานี้ได้ คือทำบุญด้วยความรู้เข้าใจที่ตรงชัดว่าทานนี้ ทำเพื่ออะไร เมื่อรู้เข้าใจได้ความเห็นถูกต้อง บุญของเราก็สมบูรณ์ แล้วบุญนั้นจะมีความหมายที่ครบ กาย วาจา จิต ปัญญา
กายก็ทำ ชัดอยู่แล้ว วาจาก็เปล่ง เช่น ชักชวนกัน ปรึกษากัน จิตก็สงบผ่องใส มีเจตนาประกอบด้วยศรัทธา เป็นต้น ปัญญาก็มีความรู้เข้าใจ ว่าสิ่งที่ตนทำนี้ ทำเพื่ออะไร ควรทำอย่างไร ยิ่งถ้า มองเห็นความหมาย ความมุ่งหมายที่แท้ และคุณประโยชน์ชัดเจนแล้ว ก็จะยิ่งมีจิตใจกว้างขวาง และบุญกุศลก็ยิ่งเพิ่ม อย่างเวลาทำทานนี่ เรารู้เข้าใจมองเห็นว่าที่เราถวายภัตตาหาร และถวายทุนการศึกษาแก่พระสงฆ์ พระสงฆ์ท่านมีหน้าที่อะไร โยมลองถามตัวเอง แล้วก็มองเห็นว่า พระสงฆ์ท่านมีหน้าที่เล่าเรียนพระธรรมวินัย มีหน้าที่ที่จะปฏิบัติตามหลักธรรมวินัยที่ได้เล่าเรียนนั้น มีหน้าที่ที่จะเผยแพร่-สั่งสอนธรรม อ้อ...ท่านมีหน้าที่ใหญ่ ๓ อย่างนี้ การที่เราถวายปัจจัยแก่พระสงฆ์นี้ ก็เพื่อให้ท่านมีกำลังไปทำศาสนกิจ คือ หน้าที่ ๓ อย่างนั้น เมื่อท่านทำหน้าที่ ๓ อย่างนั้น ตัวท่านเองก็เจริญงอกงามในไตรสิกขาด้วย ธรรมะที่ท่านได้รู้ได้เรียนก็จะเกิดประโยชน์แก่ประชาชนกว้างขวางออกไป แล้วเป็นอย่างไร แล้วพระศาสนาของเราก็อยู่ได้ โดยเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่พหูชนอย่างแท้จริง การที่เราทำบุญนี้ จะเป็นการดำรงพระพุทธศาสนาให้เจริญมั่นคง ถึงตอนนี้ก็รู้ว่า บุญของเรามิได้อยู่แค่พระองค์ที่ถวายเท่านั้น แต่บุญไปถึงพระศาสนาทั้งหมด เมื่อพระศาสนาอยู่ได้ ธรรมก็อยู่ได้ แล้วธรรมก็เผยแพร่ออกไป ก็เกิดเป็นประโยชน์แก่ประชาชน เมื่อประชาชนได้รู้เข้าใจ ประพฤติปฏิบัติธรรม สังคมก็ร่มเย็นเป็นสุข สังคมที่อยู่ได้นี้ ก็เพราะยังมีคนประพฤติปฏิบัติธรรม รู้ธรรมกันอยู่บ้าง อย่างน้อยก็ยังพอประคับประคองกันไป เมื่อเรานึกว่า ทานที่เราถวายนี้ ให้แก่พระองค์เดียวนี้ มีผลไปถึงพระพุทธศาสนา และประชาชนทั่วสังคมทั้งหมดด้วย เมื่อมองด้วยความเข้าใจอย่างนี้ ใจก็ยิ่งปลอดโปร่งกว้างขวาง มีปีติอิ่มใจ นึกขึ้นมาเมื่อไร ก็ยิ่งมีความสุข นี่แหละที่เรียกว่า ทิฏฐุชุกรรมเกิดจากมีปัญญาประกอบเข้ามา บุญก็ยิ่งกว้างขวาง ยิ่งกว่านั้น ต่อไปมันจะเป็นปัจจัยให้เราเห็นทางทำบุญที่ถูกต้อง ว่าทำบุญอย่างไรจึงจะเกิดประโยชน์เกิดคุณค่ากว้างขวาง เราก็จะได้วิไจยทาน คือทานที่เกิดจากการวิจัยขึ้นมาด้วย คือ พิจารณาไตร่ตรองแล้วจึงให้ทาน ทั้งหมดนี้ ขอนำมากล่าวให้ฟัง ในเรื่องวิธีทำบุญ ซึ่งที่จริงไม่มีที่สิ้นสุด เพราะมีเรื่องที่ควรทราบอีกมาก แต่เราฟังกันไปทีละน้อยๆ ก็จะเห็นแนวทางปฏิบัติในการทำบุญมากขึ้นทุกทีๆ
โยมทำบุญแล้ว พระก็อนุโมทนา แต่ถ้าโยมทำบุญเพราะพระชวน อาจจะเสี่ยง อเนสนา เวลาเราทำบุญเสร็จแล้ว พระก็จะอนุโมทนา ที่ว่าอนุโมทนาก็คือ แสดงความพลอยยินดีด้วยกันกับญาติโยมที่ได้ทำบุญ เพราะญาติโยมทำดีงามถูกต้องแล้ว พระก็ยอมรับ หรือแสดงความเห็นชอบ ในการอนุโมทนานั้น พระจะบอกว่า บุญที่ทำนี้เกิดผลเกิดอานิสงส์อย่างไร ทานมีผลอย่างไร ศีลมีผลอย่างไร ภาวนามีผลอย่างไร เราเรียกสั้นๆว่า อนุโมทนา แต่อนุโมทนานี้ พระจะพูดเมื่อญาติโยมทำแล้ว ว่าที่ทำนะจะเกิดผลอย่างนั้นอย่างนี้ มีผลดีทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ดังที่พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสแสดงอานิสงส์ของบุญไว้ หมายความว่า บุญประเภททานก็ดี บุญประเภทศีลก็ดี บุญประเภทภาวนาก็ดี พระองค์ได้แสดงอานิสงส์ไว้ อานิสงส์นั้น พระพุทธเจ้าตรัสเน้นประโยชน์ที่มองเห็นก่อน แล้วจึงลงท้ายด้วยผลในภพหน้า ว่าตายแล้วไปสวรรค์ เช่นในเรื่องศีล พระพุทธเจ้าก็ตรัสอานิสงส์ของศีล ๕ ว่า ๑. คนที่มีศีล อาศัยความไม่ประมาท จะทำให้เกิดโภคะได้มาก คนไม่มีศีล อย่างคนที่เต็มไปด้วยอบายมุข ย่อมปล่อยชีวิตตำต่ำ มัวหมกมุ่นวุ่นวายมัวเมาในเรื่องของสิ่งเหลวไหน จึงไม่เอาใจใส่ ไม่ขยันทำมาหากิน เรียกว่าตกอยู่ในความประมาท ก็เสื่อมทรัพย์อับชีวิต แต่คนที่มีศีล เว้นจากทุจริต เว้นจากอบายมุข และเรื่องชั่วช้าเสียหายแล้ว เมื่อมีความไม่ประมาท ก็ขยันหมั่นเพียรทำการงาน ใจอยู่กับการประกอบอาชีพ ก็ทำให้เกิดโภคะได้มาก ๒. กิตติศัพท์อันดีงามก็ระบือไป คนที่ประพฤติมีศีล มีความสุจริต คนก็นิยมชมชอบ ยิ่งในสังคมปัจจุบันนี้ ต้องถือเป็นสำคัญมากว่า ทำอย่างไรจะหาคนที่มีศีล คือคนสุจริตมาบริหารบ้านเมือง ถ้าคนไหนมีศีลสุจริต มีความบริสุทธิ์ มีความซื่อสัตย์ ก็ได้กิตติศัพท์ดีไปด้านหนึ่ง แต่ไม่ได้หมายความว่าทั้งหมด อย่างน้อยด้านศีลก็ได้กิตติศัพท์เป็นเครื่องประดับรองรับตัวเองขึ้นมา เป็นฐานที่สำคัญ ๓. ความมีศีลทำให้มีความแกล้วกล้า ถ้าเรามีศีล เป็นคนประพฤติซื่อสัตย์สุจริตแล้ว จะเข้าสมาคมไหน ก็มีความแกล้วกล้า ไม่ครั่นคร้าม ๔. เวลาตายก็มีสติ ไม่หลงตาย ต่อจากนั้น ๕. ข้อสุดท้าย ตายแล้วไปเกิดในสวรรค์ อานิสงส์ ๕ ข้อของความมีศีลนี้เป็นตัวอย่าง พระพุทธเทรงแสดงอานิสงส์แบบนี้ พระก็อาจจะเอามาเทศน์ หรือพูดขยายให้ญาติโยมฟังว่า ทำบุญแล้วเกิดผลอะไร มีอานิสงส์อย่างไร เมื่อได้ฟัง ได้รู้เข้าใจผลดีของการประพฤติปฏิบัติชอบ ก็ทำให้ผู้ฟังมีจิตใจชื่นบานผ่องใส บุญก็จะมากขึ้น เพราะเกิดความเข้าใจ มีปัญญาประกอบด้วย แต่ถ้าพระไปพูดก่อน คือไปพูดให้ญาติโยมทำบุญ โดยชวนว่าทำโน่นทำนี่แล้วจะได้ผลมากมายอย่างนี้ๆ ชักเข้าหาตัว ก็กลับตรงกันข้าม ที่ว่าตรงข้าม คือ ถ้าญาติโยมทำบุญก่อน แล้วพระพูดถึงผลทีหลัง นี่เป็น อนุโมทนา แต่ถ้าพระพูดก่อนเพื่อให้ญาติโยมถวาย ก็กลายเป็นเสี่ยงต่ออเนสนา อเนสนา แปลว่า การแสวงหาลาภ หรือหาเลี้ยงชีพ โดยทางไม่ถูกต้อง ทางพระถือว่าเป็นมิจฉาชีพ คำว่า มิจฉาชีพ นี่ใช้ได้ทั้งพระทั้งคฤหัสถ์ สำหรับพระ มิจฉาชีพก็ได้แก่การกระทำจำพวกที่เรียกว่าอเนสนา เช่น พูดล่อ พูดจูง หรือเลียบเคียงให้ญาติโยมถวายของหรือบริจาคอะไรต่างๆ อย่างนี้เสี่ยงมาก บอกกันง่ายๆ ก็ใช้คำสั้นๆ ถ้าพูดทีหลัง เป็นอนุโมทนา แต่ถ้าพูดก่อน เสียงต่ออเนสนา ตามปกตินั้น พระได้แต่อนุโมทนาเมื่อโยมทำบุญแล้ว
ทำบุญทำที่ไหนก็ได้ ไม่ว่าทำอะไร ถ้าทำเป็น ก็ได้บุญ เวลาทำบุญ เราสามารถทำทั้ง ๓ อย่างพร้อมกันอย่างที่ว่าแล้ว ซึ่งก็ควรจะเป็นอย่างนั้น ไม่ใช่ว่าต้องทำเฉพาะทาน หรือเฉพาะศีล หรือเฉพาะภาวนา ควรทำทีเดียวพร้อม ๓ อย่างเลย อย่างที่ย้ำไว้ตั้งแต่ต้นแล้วว่า ญาติโยมมาถวายทานที่วัด อย่าให้ได้แต่ทานอย่างเดียว ต้องให้ได้ศีล ได้ภาวนาด้วย พร้อมกันหมด เราจึงจะพูดได้เต็มปากว่า ทำบุญ มิฉะนั้น เราจะได้แค่ส่วนหนึ่งของบุญคือทานเท่านั้น ไม่ว่าทำอะไรก็ทำบุญ ๓ อย่างได้พร้อมกัน ไม่เฉพาะไปถวายทานที่วัด เพื่อให้ได้บุญเขตที่ยอดเยี่ยม แม้แต่ในการประกอบการงาน ท่านยังอธิบายไว้เลยว่า อาชีพการงานทั้งหลายที่ญาติโยมทำกันนี้ ก็ทำบุญไปด้วยกันพร้อมทั้ง ๓ อย่างได้ ดังเช่นว่า ในการทำอาชีพการงานนั้น พอได้เงิน ญาติโยมก็คิดตั้งใจขึ้นมาว่า โอ...นี่เราได้ทรัพย์เพิ่มขึ้นแล้ว เราจะเอาทรัพย์นี้ส่วนหนึ่ง ไปให้ทาน ทำบุญกุศล ช่วยเหลือเผื่อแผ่แก่เพื่อนมนุษย์ ทำให้เป็นประโยชน์ขึ้นมา พอคิดอย่างนี้ จิตใจดีงามผ่องใส ท่านเรียกว่า ทานเจตนาเกิดขึ้น ขณะทำอาชีพอยู่นั้น ก็ได้ทำทาน ไปด้วย เวลาทำการงานนั้น ทำด้วยความตั้งใจให้เป็นไปโดยสุจริต ทำงานให้เป็นไปตามหน้าที่ของอาชีพ ให้ถูกต้องตามจรรยาบรรณ ทำด้วยความตั้งใจตรงตามหน้าที่ของตน โดยสัตย์สุจริต เวลานั้นก็เรียกว่าได้ รักษาศีล เวลาทำงาน ฝึกใจของตัวเองไปด้วย มีความเพียรพยายาม มีสมาธิ ทำจิตใจของเราให้สงบ ให้มีสติ แม้จะมีอารมณ์กระทบกระทั่งเข้ามารบกวน ก็ฝึกใจให้สงบมั่นคงได้ รักษาเมตตาไมตรี และความมีใจผ่องใสเอาไว้ อย่างนี้ ก็เรียกว่าได้ ทำภาวนา ไปในตัว ภาวนาอย่างนี้เป็นส่วนจิต สูงขึ้นไปอีก ยังสามารถทำภาวนาในส่วนปัญญาด้วย คือ ทำงานด้วยวิจารณญาณ พิจารณาไตร่ตรองเหตุผลที่จะให้ได้ผลดีว่าทำงานอย่างไรจึงจะเกิดประโยชน์ที่แท้จริง สูงขึ้นไปอีก ในภาวนาส่วนปัญญานั้น เมื่อทำงานไป มองเห็นความเปลี่ยนแปลงเป็นไป ของเหตุการณ์ ก็ดี ของผู้คนที่พบเห็นเกี่ยวข้อง ก็ดี รู้จักพิจารณา รู้จักมนสิการ ก็เกิดความรู้ความเข้าใจโลกและชีวิตนี้มากขึ้น มองโลกด้วยความเข้าใจ รู้เท่าทัน และวางท่าทีได้ถูกต้อง ยกตัวอย่าง เช่น คุณหมอต้องสัมพันธ์กับคนไข้ มองคนไข้ คนโน้นเป็นอย่างนั้น คนนี้เป็นอย่างนี้ คนนั้นหน้าบึ้ง คนนี้หน้ายิ้ม คนนี้พูดไปแล้วเข้าใจดี คนนี้พูดไปแล้วไม่เอาไหน คนนั้นกำลังใจเข้มแข็งดี คนนี้ไม่มีกำลังใจ เราก็ได้รู้เห็นชีวิต และอาการของผู้คนที่เป็นไปต่างๆ เมื่อรู้จักมอง คือมองเป็นประสบการณ์ที่เราได้มีโอกาสพบเห็น ไม่มองในแง่เป็นอารมณ์ที่มากระทบตัวตน ก็เกิดความเข้าใจโลก และชีวิตตามความเป็นจริง ว่าโลกนี้เป็นอย่างนี้ ชีวิตเป็นอย่างนี้ พอมองอย่างนี้ มีความรู้เข้าใจอย่างนี้ ในจิตใจ แทนที่จะเกิดความรู้สึกไม่ดี ก็เกิดปัญญา ทำให้วางใจถูกต้องต่อสิ่งทั้งหลาย ได้ปัญญาภาวนา อีก
อย่างเป็นผู้สื่อข่าวนี่ก็ชัด เมื่อมาที่วัด หรือไปหาข่าวที่ไหน ๑. ทำด้วยความตั้งใจว่า เราจะเผยแพร่ข่าวสาร คือให้ข่าวสาร หรือให้ความรู้ที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน เมื่อตั้งใจดีอย่างนี้ ก็เป็นทาน คือไม่ใช่คิดแต่เพียงว่าเรามาทำอาชีพ จะได้เงินเท่าไร ทำอย่างไรจะได้เงินมากๆ ถ้าคิดแบบนั้นอย่างเดียว บุญก็ไม่เกิด แต่ในเวลาทำงาน ถ้าเรามีจิตใจเกื้อกุล หวังดีต่อผู้อื่น โดยตั้งใจว่า เราจะหาข่าวสารให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชน ที่จะรู้ข้อมูลมีปัญญามากขึ้น เมื่อตั้งใจอย่างนี้ ข้อ ๑ คือทานมาแล้ว ๒. ทำหน้าที่ของเรา โดยซื่อสัตย์สุจริต เราจะลงข่าวให้ถูกต้อง ให้ตรงตามความเป็นจริง ไม่ให้มีการบิดเบือน ไม่ให้ผิดพลาด จะทำโดยสุจริต นี่ ศีล มาแล้ว ๓. ต่อไป เวลาเราไปทำข่าวนี่ อาจจะมีการกระทบกระทั่งคนฝ่ายนั้นฝ่ายนี้อาจไม่พอใจ แต่ไม่ว่าจะมีอะไรกระทบกระทั่งมา เราจะฝึกใจของเราให้มั่นคง ไม่วู่วาม ถ้าเราฝึกจิตใจของเราให้เข้มแข็งมั่นคงได้ รับกระทบได้ทุกอย่าง สามารถตั้งตัวอยู่ในสติที่มั่นคง คำรงกิริยาอาการที่ดีไว้ได้ นี่เราได้แล้วนะ ภาวนา ด้านจิต ส่วนปัญญาภาวนานั้น แน่นอน อาชีพของเราเกี่ยวกับข้อมูลความรู้และการใช้ปัญญา เป็นแดนของการพัฒนาปัญญา ในข้อนี้ หรือด้านนี้ ก็คิดมุ่งไปว่า เราจะพยายามทำงานข่าวสาร ให้เป็นไปด้วยวิจารณญาณ เลือกประเด็นที่เป็นสาระ จับประเด็นให้ถูก ฯลฯ สื่อออกไปให้เกิดประโยชน์ทางปัญญาอย่างแท้จริง นี่ก็ได้ ภาวนาด้านปัญญา แต่ปัญญาภาวนาอย่างสำคัญ ที่ผู้สื่อข่าวมีโอกาสได้มากดูเหมือนจะมีโอกาสมากกว่าคนอื่นๆ ก็คือ นักข่าวนั้น ได้พบเห็นผู้คนมากหลากหลาย ต่างพวก ต่างหมู ทุกชั้น-เพศ-วัย ทุกอาชีพ มีนิสัยใจคอ และพฤติกรรมต่างๆกัน มีความดีความชั่วไม่เหมือนกัน ความคิดเห็นก็ต่างๆกัน และเหตุการณ์ก็แปลกๆมากมาย ทุกอย่างที่ได้ผ่านพบนั้น ถ้ารู้จักไตร่ตรองพิจารณามองด้วยท่าทีที่ถูกต้อง ก็ทำให้เข้าใจผู้คน ทำให้มองเห็นความจริงของโลก และชีวิต แล้วก็ทำให้สามารถวางใจต่อสิ่งต่างๆ ได้ดี จิตใจจะโปร่งโล่งเป็นอิสระ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งแก่ชีวิตของตนเอง และเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ด้วย ตามที่ว่ามานี้ ผู้สื่อข่าวจึงได้ทำทั้งทาน ทั้งศีล และภาวนา เป็นอันว่า ที่พระท่านพูดไว้ ทางที่จะให้ทานมีเยอะ เรื่องบุญก็มากมายครอบคลุมไปหมด รวมทั้งคำว่า “คุณภาพชีวิต” ก็อยู่ในบุญหมด คนโบราณจึงไม่ต้องหาคำอะไรมาพูด เขาใช้คำเดียวว่า “บุญ” ก็จบเลย เพราะมันคลุมหมดทุกอย่าง ฉะนั้น ข้อสำคัญอยู่ที่พวกเราเอง อย่าไปทำให้มันแคบ เวลานี้ คำว่า “บุญ” มีความหมายแคบลง เหลือนิดเดียว ถึงตอนนี้ เมื่อทำด้วยปัญญา มีความเข้าใจ ชัดในความหมาย ก็ทำได้ถูก ผลของบุญก็จะเพิ่มพูนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
ศึกษาบุญไป ให้ปัญญาพาปุญญังถึงจุดหมาย กลายเป็นบุญอย่างสูงสุด ขอย้ำข้อสุดท้ายที่ว่า ทิฏฐุชุกรรม ควรให้มีประกอบกับการทำบุญทุกครั้ง เพราะมันเข้าได้ทุกข้อ เริ่มแต่ทำบุญข้อทาน เราก็มี ทิฏฐุชุกรรม เช่น ถามตัวเองว่าเรามีความเห็นถูกต้องไหม ในการทำบุญ เราเข้าใจถูกต้องไหม อย่างน้อยรู้ว่าการทำทานมีความมุ่งหมายเพื่ออะไร พระพุทธเจ้าสอนให้เรารู้ว่า ถ้าเราจะถวายสังฆทาน คุณค่าประโยชน์จุดมุ่งหมายของมันอยู่ที่ไหน เมื่อพิจารณาอย่างนี้ ๑. ใจของเราจะกว้างสว่างสดใส และบุญก็ได้เพิ่มขึ้น ๒. เราจะพัฒนาก้าวสูงขึ้นไป จะไม่จมติดอยู่แค่เท่าเดิม เป็นอันว่า ทิฏฐุชุกรรม นี้เป็นเรื่องใหญ่เรื่องหนึ่งว่า ต้องพยายามให้ประกอบกับการทำบุญทุกอย่าง ให้เป็นการกระทำที่มีความเข้าใจรู้เห็นถูกต้อง แล้วก็ปรับทิฐิของเราอยู่เสมอ การที่จะปรับทิฐิได้ถูกต้อง ก็คือ ต้องเรียนรู้อยู่เสมอ ต้องฟังต้องอ่านธรรมอยู่เสมอ
ขอพูดเสริมอีกนิดหนึ่งสั้นๆว่า บุญนี้ท่านยังแบ่งอีกว่า มี ๒ ประเภท คือ โอปธิกบุญ กับ นิรูปธิบุญ หรืออโนปธิกบุญ
โอปธิกบุญ แปลว่า แปลว่า บุญที่ยังมีอุปธิ ยังก่อให้เกิดขันธ์ หมายความว่า เป็นบุญของคนที่อยู่ในโลก ซึ่งจิตใจยังหวังผลอย่างนั้นอย่างนี้อยู่ ยังเป็นบุญที่ระคนด้วยกิเลส ท่านยอมให้สำหรับญาติโยม
แต่ท่านเตือนไว้อย่าลืมว่าเราจะต้องเดินหน้าต่อ เพื่อไปให้ถึงอโนปธิบุญ คือบุญที่ไม่ประกอบด้วยอุปธิ อันเป็นบุญที่บริสุทธิ์ เกิดจากเจตนาที่ไม่มีกิเลส มีความผ่องใส ทำด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์จริงๆ ตรงตามความมุ่งหมาย คือทำเพื่อความมุ่งหมายของบุญนั้นแท้ๆ ไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ
แต่การที่จะฝึกให้ไม่มีโมหะนี้ ต้องทำไปเรื่อยๆ อย่าหยุดก็แล้วกัน พอให้เดินหน้าไป แล้วก็จะถึงบุญที่ทำให้เราหมดอุปธินี้นอน
บุญตัวสำคัญก็คือปัญญา บุญ แปลว่า ชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ แต่บุญจะชำระจิตใจได้จริงก็ต้องมาถึงขั้นปัญญา จึงจะชำระด้วยวิปัสสนาให้สะอาดได้จริง ฉะนั้น บุญจึงรวมคำว่าปัญญาอยู่ด้วย และบุญขั้นสูงสุดก็จึงมาถึงปัญญา มาเป็นปัญญา ในที่สุด ปุญญะ กับ ปัญญา ก็จึงมาบรรจบกัน
ถ้าทำอะไรแล้ว ได้ทั้งปุญญะ ได้ทั้งปัญญา พระพุทธศาสนาก็เดินหน้าในตนเอง และตนเองก็เดินหน้าในพระพุทธศาสนา เพราะฉะนั้น เมื่อทำบุญไป ก็อย่าให้ได้เฉพาะปุญญะ แต่ให้ได้ปัญญาด้วย ให้ปุญญะกับปัญญามาบรรจบกัน แล้วปัญญาจะมาเป็นตัวทำให้บุญของเรานี้มีผลสมบูรณ์อย่างแท้จริง จนกระทั่งกลายเป็นบุญที่สูงสุด คือ เป็นอโนปธิกบุญ
พูดมายืดยาวในเรื่องบุญ เพื่อให้เห็นตัวอย่างว่า เรื่องของถ้อยคำ และกิจกรรมที่เราทำในพระพุทธศาสนานี้ ยังมีอะไรที่ควรจะศึกษาอีกมาก ท่านจึงบอกให้ศึกษาบุญ ดังที่ตรัสไว้ในพระสูตรว่าด้วยบุญกิริยาวัตถุว่า บุญกิริยาวัตถุ มีอยู่ ๓ อย่าง คือ
๑. ทานมัย บุญกิริยาวัตถุ
๒. ศีลมัย บุญกิริยาวัตถุ
๓. ภาวนามัย บุญกิริยาวัตถุ
แล้วพระองค์ก็ตรัสเป็นคาถาสรุปท้ายยาวหน่อย แต่ท่อนต้นบอกว่า ปุญฺญเมว โส สิกฺเขยฺย บุคคลนั้น พึงศึกษาบุญ คือ เรียนรู้ฝึกทำให้ก้าวหน้าต่อไป อย่าหยุดอยู่แค่บุญที่เราทำอยู่เป็นทุนเท่านั้น บุญจึงจะเกิดผลสมบูรณ์อย่างที่ได้กล่าวมา จากหนังสือนี้ *ไทยธรรม มาจากภาษาบาลีว่า เทยฺยธมฺม แปลว่า สิ่งที่จะพึงให้ หรือของที่ควรให้
*พระอรรถกถาจารย์ คือ พระอาจารย์ผู้เรียบเรียงคัมภีร์อธิบายความหมายของพุทธพจน์ในพระไตรปิฎก
อธิบายไม่ได้หรอกครับเพราะมันเป็นคำแต่งใหม่ พระพุทธเจ้าตรัสไว้แค่ 3 ครับ เพจพุทธแท้ว่าอธิบายไม่ได้ ก็เล่นไปอ่านแต่พระสูตรว่าตามพระสูตรเพียวๆก็ยังงั้นน่าซี่
Create Date : 09 กรกฎาคม 2564 |
Last Update : 26 ธันวาคม 2566 18:39:43 น. |
|
1 comments
|
Counter : 942 Pageviews. |
|
|
|
โดย: หอมกร วันที่: 11 กรกฎาคม 2564 เวลา:17:40:36 น. |
|
|
|
|
|
|
|
|
BlogGang Popular Award#20
|
|
|