ตำนาน ชัยปริตร ชัยปริตร คือ ชัยปริตรที่กล่าวถึงชัยชนะของพระพุทธเจ้า ทรงกำจัดมารและเสนามารด้วยขันติบารมี พระเมตตาบารมี และอธิษฐานบารมี ทรงบำเพ็ญพุทธกิจเพื่อประโยชน์แก่เวไนยสัตว์ทั้งหลาย แล้ว
อ้างสัจวาจานั้นมาพิทักษณ์คุ้มครองให้มีความสวัสดี
คาถา ๑-๓ แสดงชัยชนะของพระพุทธเจ้า เป็นคาถาที่โบราณาจารย์ประพันธ์ขึ้นภายหลัง
ส่วนคาถา ๔-๕-๖ เป็นพุทธพจน์ที่นำมาจากอังคุตตรนิกาย ปุพพัณหสูตร
(องฺ.ติก. ๒๐/๑๕๖/๒๘๗) บทสวดมนต์บางฉบับมีคาถาเพิ่มว่า โส อัตถะลัทโธ สุขิโต ...สา อัตถะ ลัทธา สุขิตา....
ตำนาน โพชฌังคปริตร โพชฌังคปริตร คือ ปริตรที่กล่าวถึงโพชฌงค์ ซึ่งเป็นองค์แห่งการตรัสรู้ แล้ว
อ้างสัจวาจานั้นมาพิทักษ์คุ้มครองให้มีความสวัสดี
เรื่องนี้ มีปรากฏในพรรษาที่ ๑๖ ว่า พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่ วัดเวฬุวัน กรุงราชคฤห์ พระมหากัสสปเถระ ได้อาพาธหนักที่ถ้ำปิปผลิคูหา
พระพุทธเจ้าได้เสด็จเยี่ยมและแสดง โพชฌงค์ ๗ เมื่อพระเถระสดับโพชฌงค์เหล่านี้แล้ว ได้เกิดความปีติว่า โพชฌงค์ ๗ เคยปรากฏแก่เราในขณะรู้แจ้งสัจธรรม หลังออกบวชแล้ว ๗ วัน คำสอนของพระพุทธองค์เป็นทางพ้นทุกข์โดยแท้ ครั้นดำริเช่นนี้ พระเถระได้เกิดปีติอิ่มเอิบใจ ทำให้เลือดในกาย และรูปธรรมอิ่มผ่องใส โรคของพระเถระจึงอันตรธานไปเหมือนหยาดน้ำกลิ้งลงจากใบบัว
นอกจากนั้น พระพุทธเจ้ายังตรัสโพชฌงค์ ๗ แก่พระมหาโมคคัลานเถระ ผู้อาพาธที่ภูเขาคิชฌกูฎอีกด้วย
ครั้นพระเถระสดับโพชฌงค์นี้แล้ว ก็หายจากอาพาธนั้นทันที
อนึ่ง เมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่วัดเวฬุวันนั้น ทรงประประชวรหนัก จึงรับสั่งให้พระจุนทเถระสาธยายโพชฌงค์ ๗ ครั้นสดับแล้ว พระองค์ทรงหายจากประชวรนั้น
โพชฌังคปริตรที่พระพุทธองค์ตรัสไว้เป็นร้อยแก้ว ที่ปรากฏในมหาวรรคสังยุตปฐมคิลานสูตร ทุติยคิลานสูตร และตติยคิลานสูตร
(สํ.มหา. ๑๙/๑๙๕/๗/๗๑-๔)ส่วนโพชฌังคปริตรปัจจุบันเป็นร้อยกรอง พระเถระชาวลังกาจรนาขึ้น โดยนำข้อความจากพระสูตรมาประพันธ์เป็นร้อยกรอง
โพชฌงค์ ๗ มีดังต่อไปนี้ คือ
๑.
สติสัมโพชฌงค์ องค์แห่งการรู้แจ้ง คือ สติ
๒.
ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ องค์แห่งการรู้แจ้ง คือ การเลือกเฟ้นธรรม
๓.
วิริยสัมโพชฌงค์ องค์แห่งการรู้แจ้ง คือ ความเพียร
๔.
ปิติสัมโพชฌงค์ องค์แห่งการรู้แจ้ง คือ ความอิ่มใจ
๕.
ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ องค์แห่งการรู้แจ้ง คือ ความสงบใจ
๖.
สมาธิสัมโพชฌงค์ องค์แห่งการรู้แจ้ง คือ ความมีใจตั้งมั่น
๗.
อุเบกขาสัมโพชฌงค์ องค์แห่งการรู้แจ้ง คือ ความมีใจวางเฉย
ประเด็นอยู่ตรงที่ผู้นั้นตกอยู่ในภยันตรายถึงชีวิต ไม่มีทางเลี่ยงแล้ว ก็จึงอ้างเอาคุณธรรมความดีที่มีในตนเป็นพยาน ที่เรียกว่า สัจกิริยา
สัจจาธิษฐาน
๑. ที่มั่นคือสัจจะ, ธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจให้เป็นฐานที่มั่น คือ สัจจะ, ผู้มีสัจจะเป็นฐานที่มั่น
๒. การตั้งความจริงเป็นหลักอ้าง, ความตั้งใจมั่นแน่วให้เกิดผลอย่างใดอย่างหนึ่งโดยอ้างเอาสัจจะของตนเป็นกำลังอำนาจ ตรงกับคำว่า สัจกิริยา แต่ในภาษาไทย มักใช้ว่า สัตยาธิษฐาน
สัตยาธิษฐาน การตั้งความจริงเป็นหลักอ้าง, ความตั้งใจกำหนดแน่วให้เกิดผลอย่างใดอย่างหนึ่งโดยอ้างเอาความจริงใจของตนเป็นกำลังอำนาจ, คำเดิมในคัมภีร์ นิยมใช้ สัจกิริยา, สัตยาธิษฐานนี้ เป็นรูปสันสกฤต รูปบาลีเป็นสัจจาธิฏฐาน
สัจจกิริยา ทางออกที่ดีสำหรับผู้ยังหวังอำนาจดลบันดาล
สำหรับชาวพุทธในระยะพัฒนาขั้นต้น ผู้ยังห่วง หรือยังมีเยื่อใยที่ตัดไม่ค่อยขาดในเรื่องแรงดลบันดาล หรืออำนาจอัศจรรย์ต่างๆ ประเพณีพุทธแต่เดิมมายังมีวิธีปฏิบัติที่เป็นทางออกให้อีกอย่างหนึ่ง คือ “สัจจกิริยา” แปลว่า การกระทำสัจจะ หมายถึง การอ้างพลังสัจจะ หรือการอ้างเอาความจริงเป็นพลังบันดาล คือยกเอาคุณธรรมที่ตนได้ประพฤติปฏิบัติบำเพ็ญมา หรือมีอยู่ตามความจริง หรือแม้แต่สภาพของตนเองที่เป็นอยู่จริงในเวลานั้น ขึ้นมาอ้างเป็นพลังอำนาจสำหรับขจัดปัดเป่าภยันตรายที่ได้ประสบในเมื่อหมดทางแก้ไขอย่างอื่น
วิธีการนี้ไม่กระทบกระเทือนเสียหายต่อความเพียรพยายาม และไม่เป็นการขอร้องวิงวอนต่ออำนาจดลบันดาลจากภายนอกอย่างใดๆ ตรงข้าม กลับเป็นการเสริมย้ำความมั่นใจในคุณธรรมและความเพียรพยายามของตน และทำให้มีกำลังใจเข้มแข็งยิ่งขึ้นอีก ทั้งไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับวัตถุ หรือพิธีที่จะเป็นช่องทางให้ขยายกลายรูปฟั่นเฝือออกไป