กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.เป็นเจ้าบทบาทเดิม จากนั้น การศึกษาอาศัยปรโตโฆสะ ซึ่งมีคติว่า "คนเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่ปรุงปั้น" และโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีคติย้อนกลับว่า "ถ้าเป็นคนรู้จักคิด แม้แต่ฟังคนบ้าคนเมาพูด ก็อาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์"
space
space
space
<<
พฤษภาคม 2564
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
space
space
11 พฤษภาคม 2564
space
space
space

อริยบุคคล ๗



235 แบบที่ ๒ ทักขิไณยบุคคล ๗ หรือ อริยบุคคล ๗

    เกณฑ์แบ่งแบบนี้  จัดตามอินทรีย์ที่แก่กล้าเป็นตัวนำในการปฏิบัติ และสัมพันธ์กับวิโมกข์ ๘ จึงควรทราบอินทรี และวิโมกข์ ๘ ก่อน

    อินทรีย์    แปลว่า  ธรรมที่เป็นใหญ่ในกิจ  หมายถึง  ธรรมที่เป็นเจ้าการ  ในการครอบงำ หรือกำราบสิ่งที่เป็นปฏิปักษ์ในการปฏิบัติธรรม คือ ความขาดศรัทธา ความเกียจคร้าน ความเพิกเฉยปล่อยปละละเลย ความฟุ้งซ่าน และการขาดความรู้ ความหลงผิดหรือการไม่ใช้ปัญญา

    อินทรีย์   เป็นอำนาจที่หนุนนำให้ปฏิบัติธรรมก้าวหน้าไปได้  มี ๕ อย่าง  คือ สัทธา (ความเชื่อ) วิริยะ  (ความเพียร)  สติ  (ความระลึกได้หรือครองใจไว้กับกิจที่กำลังทำ)  สมาธิ  (ความมีจิตตั้งมั่น) และปัญญา (ความรู้ชัดหรือความเข้าใจ)

    ในการปฏิบัติธรรม  อินทรีย์แต่ละอย่างของต่างบุคคล จะยิ่งหรือหย่อนไม่เท่ากัน อินทรีย์ที่ทำให้เกิดความแตกต่างในการบรรลุธรรม  จนเป็นเกณฑ์แบ่งประเภททักขิไณยบุคคล มี ๓ อย่าง คือ สัทธินทรีย์  (อินทรีย์คือศรัทธา)  สมาธินทรีย์  (อินทรีย์คือสมาธิ)  และ ปัญญินทรีย์ (อินทรีย์ คือ ปัญญา)

     วิโมกข์   แปลว่า   ความหลุดพ้น   หมายถึง   ภาวะจิตหลุดพ้นจากธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ทั้งหลาย เพราะจิตนั้นยินดียิ่ง่ในอารมณ์ ที่กำลังกำหนด จึงน้อมดิ่งเข้าอยู่ในอารมณ์นั้น ในเวลานั้น จิตปราศจากบาปอุกศลธรรมทั้งหลาย  จึงเรียกว่าเป็นความหลุดพ้น  แต่ก็เป็นเพียงความหลุดพ้นด้วยกำลังสมาธิในฌานสมาบัติ และเป็นไปชั่วคราวตราบเท่าที่อยู่ในฌานสมาบัติเหล่านั้น  ไม่ใช่วิมุตติที่เป็นความหลุดพ้นจากกิเลสและกองทุกข์สิ้นเชิง ซึ่งเป็นไวพจน์ของนิพพาน


วิโมกข์มี ๘ อย่าง คือ

    ๑. ผู้มีรูป  มองเห็นรูปทั้งหลาย (หมายถึง รูปฌาน ๔ ของผู้ที่ได้ฌานโดยเจริญกสิณที่กำหนดวัตถุในกายตัว เช่น สีผม เป็นต้น เป็นอรมณ์)

    ๒. ผู้มีอรูปสัญญาภายใน มองเห็นรูปทั้งหลายภายนอก (หมายถึงรูปฌาน ๔ ของผู้ที่ได้ฌานโดยเจริญกสิณ กำหนดอารมณ์ภายนอก)

    ๓. ผู้น้อมใจดิ่งไปว่า "งาม" (หมายถึง ฌานของผู้เจริญวรรณกสิณ กำหนดสีที่งามหมดจดเป็นอารมณ์ หรือตามคัมภีร์ปฏิสัมภทามัคค์ว่า ฌานของผู้เจริญอัปปมัญญา คือ พรหมวิหาร ๔ ได้แก่ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เป็นอารมณ์ ซึ่งทำให้มองเห็นคนสัตว์ทั้งหลาย งดงามน่าชมไปหมด ไม่น่ารังเกียจเลย)

    ๔. เพราะล่วงเสีย  ซึ่งรูปสัญญาโดยประการทั้งปวง  เพราะปฏิฆสัญญาดับไป  เพราะไม่ใส่ใจนานัตตสัญญา  (ความกำหนดหมายภาวะที่เป็นต่างๆ)  จึงเข้าถึงอากาสานัญจายตนะ โดยมนสิการว่า อากาศ (ช่องว่าง)  หาที่สุดมิได้

    ๕. เพราะล่วงเสียซึ่งอากาสานัญจายตนะโดยประการทั้งปวง  จึงเข้าถึงวิญญาณัญจายตนะ โดยมนสิการว่า  วิญญาณหาที่สุดมิได้

    ๖. เพราะล่วงเสียซึ่งวิญญาณัญจายตนะโดยประการทั้งปวง จึงเข้าถึงอากิญจัญญายตนะ โดยมนสิการว่า ไม่มีอะไรเลย

    ๗. เพราะล่วงเสียซึ่งอากิญจัญญายตนะโดยประการทั้งปวง จึงเข้าเนวสัญญานาสัญญายตนะอยู่

    ๘. เพราะล่วงเสียซึ่งเนวสัญญานาสัญญายตนะโดยประการทั้งปวง จึงเข้าถึงสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่

       ว่า โดยสาระสำคัญ วิโมกข์ ๘ ก็คือ การแสดงสมาบัติทั้งหลาย (ครบถึงอนุปุพพวิหารสมาบัติ ๙) อีกแนวหนึ่งนั่นเอง ดังจะเทียบได้ ดังนี้


    



      ในการปฏิบัติ อินทรีย์ จะมาสัมพันธ์กับวิโมกข์ ดังนี้ คือ

      เมื่อเริ่มปฏิบัติ ผู้ปฏิบัติจะมีสัทธินทรีย์ หรือ ปัญญินทรีย์  อย่างใดอย่างหนึ่งแรงกล้า  เป็นตัวนำ

      ถ้าผู้นั้น   ไปบำเพ็ญสมถะจนได้วิโมกข์    ก็จะเปลี่ยนไปเป็นสมาธิทรีย์เป็นตัวนำ ที่ว่าได้วิโมกข์   ในที่นี้   หมายถึง  วิโมกข์ ๔ ขึ้นไป  (คือได้ถึงอรูปฌาน)  ส่วนผู้ที่ยังคงมีสัทธินทรีย์ หรือปัญญินทรีย์เป็นตัวนำ  ก็อาจได้ถึงรูปฌานที่ ๔  แต่ไม่สามารถได้อรูปฌาน  พูดคลุมๆว่าไม่อาจได้วิโมกข์  (อย่างไรก็ดี ถึงหากจะสมาธิทรีย์เป็นตัวนำ แต่เมื่อถึงตอนท้ายสุด สมาธิทรีย์นั้นก็ต้องกลายเป็นฐานให้ปัญญินทรีย์อยู่ดี ต่างแต่ว่า กว่าจะถึงตอนนั้น สมาธินทรีย์ก็ได้ช่วยให้เกิดวิโมกข์เสียก่อนแล้ว)

284


235 ทักขิไณย หรืออริยบุคคล ๗ สัมพันธ์กับอินทรีย์ และวิโมกข์  ดังจะเห็นได้ต่อไปนี้

     อย่างไรก็ดี   ตามปกติ   ทักขิไณย ๗ นั้น   ท่านแสดงตามลำดับจากขั้นสูงลงมาต่ำ แต่ในที่นี้ เพื่อให้เข้ากับแบบที่ ๑ จึงจะแสดงจากขั้นต่ำขึ้นไปหาขั้นสูง ดังนี้

ก. พระเสขะ หรือ สอุปาทิเสสบุคคล

    ๑. สัทธานุสารี  (ผู้แล่นไปตามศรัทธา หรือผู้แล่นตามไปด้วยศรัทธา) ได้แก่ ผู้ปฏิบัติเพื่อบรรลุโสดาปัตติผล ที่มีสัทธินทรีย์แรงกล้า อบรมอริยมรรคโดยมีศรัทธาเป็นตัวนำ (ท่านผู้นี้ ถ้าบรรลุผลแล้วกลายเป็นสัทธาวิมุต)

    ๒. ธัมมานุสารี (ผู้แล่นไปตามธรรม หรือผู้แล่นตามไปด้วยธรรม)  ได้แก่  ผู้ปฏิบัติเพื่อบรรลุโสดาปัตติผล ที่มีปัญญินทรีย์แรงกล้า อบรมอริยมรรคโดยมีปัญญาเป็นตัวนำ (ท่านผู้นี้ ถ้าบรรลุผลแล้วกลายเป็นทิฏฐิปปัตตะ)

    ๓. สัทธาวิมุต  (ผู้หลุดพ้นด้วยศรัทธา)  ได้แก่  ผู้ที่เข้าใจอริยสัจธรรมถูกต้องแล้ว เห็นธรรมที่พระตถาคตประกาศแจ่มชัด ประพฤติปฏิบัติถูกต้องดี และอาสวะบางส่วนก็สิ้นไป เพราะเห็นอริยสัจด้วยปัญญา แต่มีศรัทธาเป็นตัวนำหน้า (หมายถึงผู้บรรลุโสดาปัตติผลแล้วขึ้นไป จนถึงผู้ปฏิบัติเพื่อบรรลุอรหัตผล ที่มีสัทธินทรีย์แรงกล้า ท่านผู้นี้ ถ้าบรรลุอรหัตผล กลายเป็นปัญญาวิมุต)

    ๔. ทิฏฐิปปัตตะ  (ผู้บรรลุสัมมาทิฏฐิ)  ได้แก่  ผู้ที่เข้าใจอริยสัจธรรมถูกต้องแล้ว เห็นธรรมที่พระตถาคตประกาศแจ่มชัด ประพฤติปฏิบัติถูกต้องดี และอาสวะบางส่วนก็สิ้นไป เพราะเห็นอริยสัจด้วยปัญญา (หมายถึงผู้บรรลุโสดาปัตติผลแล้วขึ้นไป จนถึงผู้ปฏิบัติเพื่อบรรลุ อรหัตผล ที่มีปัญญินทรีย์แรงกล้า ท่านผู้นี้ ถ้าบรรลุอรหัตผล กลายเป็นปัญญาวิมุต)

    ๕. กายสักขี   (ผู้เป็นพยานด้วยนามกาย หรือผู้ประจักษ์กับตัว)  ได้แก่  ผู้ที่ได้สัมผัสวิโมกข์ ๘ ด้วยกายและอาสวะบางส่วนก็สิ้นไป เพราะเห็นอริยสัจด้วยปัญญา (หมายถึง ผู้บรรลุโสดาปัตติผลแล้วขึ้นไป จนถึงผู้ปฏิบัติเพื่อบรรลุ อรหัตผล ที่มีสมาธินทรีย์แรงกล้า ท่านผู้นี้ ถ้าบรรลุอรหัตผล กลายเป็นอุภโตภาควิมุต)


ข. พระอเสขะ หรือ อนุปาทิเสสบุคคล

    ๖. ปัญญาวิมุต   (ผู้หลุดพ้นด้วยปัญญา)   ได้แก่   ท่านผู้มิได้สัมผัสวิโมกข์ ๘ ด้วยกาย แต่อาสวะทั้งหลายสิ้นไปแล้ว เพราะเห็นอริยสัจด้วยปัญญา (หมายถึงพระอรหันต์ผู้บำเพ็ญวิปัสสนาเป็นตัวนำโดยตลอด จนสำเร็จ)

    ๗. อุภโตภาควิมุต   (ผู้หลุดพ้นทั้งสองส่วน)   ได้แก่   ท่านผู้ได้สัมผัสวิโมกข์ ๘ ด้วยกาย และอาสวะทั้งหลายสิ้นไป แล้ว เพราะเห็นอริยสัจด้วยปัญญา (หมายถึงพระอรหันต์ผู้บำเพ็ญสมถะมา เป็นอย่างมากก่อนแล้ว จึงใช้สมถะนั้นเป็นฐานบำเพ็ญวิปัสสนาต่อ จนสำเร็จ)


286

235 ถึงตอนนี้   มีเรื่องควรกล่าวแทรกไว้   เพื่อช่วยป้องกันความสับสนในการศึกษาต่อๆไป คือ เรื่องสำนวนภาษาเกี่ยวกับการกล่าวโดยปริยาย  (โดยอ้อม หรือ ตามความหมายบางแง่ บางด้าน หรือแง่หนึ่ง ด้านหนึ่ง หรือ ความหมายอย่างหลวมๆ)   และโดยนิปปริยาย  (โดยตรง หรือโดยสิ้นเชิง คือ ความหมายจำเพาะ หรือเต็มตามความหมายบริบูรณ์)

     ตัวอย่างที่เด่นชัดในเรื่องนี้ คือ พระอรหันต์ ซึ่งมีอยู่เพียง ๒ ประเภท ดังที่กล่าวแล้ว คือ พระปัญญาวิมุต กับ พระอุภโตภาควิมุต   พระอุภโตภาควิมุต แปลว่า ผู้หลุดพ้นทั้งสองส่วน เป็นผู้ได้วิโมกข์ คือ ได้ฌานสมาบัติถึงขั้นอรูปฌานด้วย และบรรลุอรหัตผลด้วย   ส่วนพระปัญญาวิมุต ได้แต่อรหัตผลอย่างเดียว แม้จะได้ฌาน ก็ได้เพียงรูปฌานที่ ๔ ลงมา พระอรหันต์มีประเภทใหญ่เพียงสองเท่านี้

    แต่บางคราวนักศึกษาไปพบคำว่าพระอรหันต์เจโตวิมุต จึงอาจงงหรือเกิดความสงสัยขึ้น

    ในกรณีเช่นนี้ พึงทราบว่า พระเจโตวิมุต ก็คือ พระอุภโตภาควิมุตนั่นเอง แต่เป็นการเรียกโดยปริยาย ด้วยต้องการเน้นวิธีปฏิบัติที่ผ่านมาในระหว่าง ก่อนที่จะบรรลุอรหัตผล  (คือได้ปฏิบัติหนักทางสมถะมาก่อน)  มิได้หมายความว่า  ท่านบรรลุอรหัตผลด้วยเจโตวิมุตติอย่างเดียว

    ยิ่งกว่านั้น  ในบางแห่ง  แม้แต่ผู้ที่ได้บำเพ็ญทั้งสมถะ และวิปัสสนามาโดยตลอดด้วยกัน ท่านแยกเรียกเป็นพระเจโตวิมุตบ้าง  พระปัญญาวิมุตบ้าง  เพียงเพราะความต่างแห่งอินทรีย์ (คือ มีสมาธินทรีย์แรง หรือ มีปัญญินทรีย์แรง)  เท่านั้นก็มี  ดังที่พระอรรถกถาจารย์ยกตัวอย่างไว้ ท่านเรียกพระสารีบุตร ว่าเป็นพระปัญญาวิมุต พระมหาโมคคัลลานะ ว่าเป็นพระเจโตวิมุต  (ม.ม.13/159/162ฯลฯ)

   บางแห่ง ใช้คำว่า เจโตวิมุต และปัญญาวิมุตคู่กัน หมายถึงพระอรหันต์ผู้หนึ่งผู้เดียว (คือผู้ได้เจโตวิมุตติ และปัญญาวิมุตติตามปกติ)  ก็มี  (องฺ.ปญฺจก.22/71/96) หรืออย่างในปฏิสัมภิทามัคค์   (ขุ.ปฏิ.31/493-5/380)   ใครเป็นพระสัทธาวิมุต พระทิฏฐิปปัตตะ และพระกายสักขี ท่านก็เรียกอย่างนั้นไปตลอดจนเป็นพระอรหันต์

    ถ้าไม่เข้าใจเรื่องการเรียกโดยปริยาย เพื่อเน้นแง่ความหมายที่ต้องการบางอย่าง ก็จะสับสน กลายเป็นมีพระอรหันต์อีกมากมายหลายประเภท

    แม้ในการอ่านความหมายของข้อธรรมต่างๆ ก็เหมือนกัน เช่น ที่ท่านกล่าวว่า สัมมาสติ ได้แก่ สติปัฏฐาน ๔  (ที.ม.10/299/349 เป็นต้น)  ตามปกติ   นักศึกษาย่อมมองสติปัฏฐานว่าเป็นหลัก หรือ วิธีปฏิบัติธรรม   ที่มีทั้งให้เป็นอาตาปี   (มีความเพียร)   สัมปชาโน   (มีสัมปชัญญะ)  เป็นต้น  คือ  เป็นกระบวนการปฏิบัติที่มีองค์ธรรมทุกอย่างพร้อมอยู่ในตัว  บางคนสงสัยว่า สัมมาสติจะเป็นสติปัฏฐานได้อย่างไร หรือว่า สติปัฏฐานจะเป็นเพียงสัมมาสติได้อย่างไร  ในกรณีนี้ จะต้องมองความหมายเสมือนพูดว่า  สัมมาสติ ได้แก่  สติอย่างที่ในสติปัฏฐาน หรือ สติอย่างที่ใช้ตามวิธีปฏิบัติของสติปัฏฐาน

    อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ สมาธิภาวนา  แปลว่า  การเจริญสมาธิ หรือ การบำเพ็ญสมาธิ ท่านแสดงไว้ว่า มี ๔ อย่าง  (ที.ปา.11/233/233)  เช่นข้อที่ ๔ ว่า  “สมาธิภาวนา ที่เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย”   นักศึกษาบางคนจึงงงและสงสัยว่า สมาธิ ก็คือองค์ธรรมแกนของสมถะ หรือ ตัวสมถะนั่นเอง   สมาธิหรือสมถะอย่างเดียว  ไม่มีวิปัสสนา จะนำไปสู่ความสิ้นอาสวะได้อย่างไร   เป็นไปไม่ได้

    ในกรณีนี้  จะต้องเข้าใจว่า  ท่านกล่าวถึงสมาธิโดยฐานเป็นจุดรวม หรือเป็นเวทีของการปฏิบัติธรรม เป็นประดุจสนามที่องค์ธรรม ต่างๆ มาชุมนุมกันทำงาน หรือ สู้รบกับข้าศึกคือกิเลส (ที.ม.10/206/248 ฯลฯ) ไม่ใช่หมายความว่าฝึก  หรือ  เจริญสมาธิขึ้นมาอย่างเดียว

    ถ้าจะพูดให้เข้าใจกันอย่างง่าย  สมาธิภาวนาในกรณีนี้ก็คือ  การฝึกฝนปฏิบัติธรรมที่ใช้สมาธิ หรือ การฝึกเอาสมาธิมาใช้ประโยชน์ในการปฏิบัติธรรมวิธีต่างๆ  (พระธรรมทินนาเถรี แสดงความหมายของสมาธิภาวนา ว่าเป็นการบำเพ็ญทั้งตัวสมาธิ และธรรมทั้งหลาย ที่เป็นนิมิต (สิ่งที่กำหนด)  และที่เป็นบริขาร   (เครื่องประกอบ หรือ เครื่องอุดหนุน) ของสมาธิ  (ม.มู.12/508/550)

 


Create Date : 11 พฤษภาคม 2564
Last Update : 31 ธันวาคม 2566 21:37:32 น. 0 comments
Counter : 533 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
space

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 6393385's blog to your web]
space
space
space
space
space