|
 |
1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 |
8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 | 14 |
15 | 16 | 17 | 18 | 19 | 20 | 21 |
22 | 23 | 24 | 25 | 26 | 27 | 28 |
29 | 30 | 31 | |
|
|
 |
23 ธันวาคม 2567
|
|
|
|
งานซ้อมใหญ่พยุหยาตราทางชลมารค 2567 (2)
เรืออสูรวายุภักษ์ และเรืออสุรปักษี หลังจากนี้เข้าสู่ช่วงสำคัญคือ การมาถึงของเรือเรือสายในเป็นเรือรูปสัตว์จำนวน 4 คู่ ทุกลำมีปืนจ่ารง 1 กระบอก ประจำที่โขนเรือ เริ่มจากเรือรูปอสูร 1 คู่ เรือรูปวานร 2 คู่ และเรือรูปครุฑ 1 คู่
เรือรูปอสูร มีร่างกายท่อนบนเป็นยักษ์ท่อนล่างเป็นนก ได้แก่ เรืออสูรวายุภักษ์ แปลว่า อสูรผู้กินลมเป็นอาหาร ร่างสีคราม สวมเสื้อแขนยาวสีม่วงและเรืออสุรปักษี แปลว่าอสูรผู้เป็นนก ร่างสีเขียว ใส่เสื้อแขนยาวด้านหน้าสีกรมท่าอมม่วง
ทั้งสองลำสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 และถูกซ่อมแซมในสมัยรัชกาลที่ 9 ภายนอกลำเรือเขียนด้วยลายรดน้ำพุดตานก้านต่อดอก เรือมีความยาว 31 เมตร กว้าง 2 เมตร ฝีพาย 40 คน นายเรือ 1 คน นายท้าย 2 คน คนถือธงท้าย 1 คน พลสัญญาณ 1 คน คนกระทุ้งเส้า 2 คน คนตีกลองชนะ 10 คน ระหว่างเรืออสูรวายุภักษ์ และเรืออสุรปักษี ในสายเรือพระที่นั่ง เป็นเรือตำรวจนอกลำที่ 1 ชนิดเรือกราบ มีพระตำรวจหลวงชั้นปลัดกรมนั่ง หลังจากนี้พายุเริ่มโหมกระหน่ำ ทำเอาทุกคนเปียกปอนกันไปหมด
เรือกระบีปราบเมืองมาร เรือกระบี่ราญรอนราพณ์ เรือรูปวานร ได้แก่ เรือกระบีปราบเมืองมาร กระบี่ราญรอนราพณ์ เรือพาลีรั้งทวีป และเรือสุครีพครองเมือง สื่อถึงสมมุติเทพของพระมหากษัตริย์ ที่เป็นดั่งนารายณ์อวตารลงมาเป็นพระราม เพื่อปราบความทุกข์เข็ญในรามายณะ ตัวเรือยาว 26-27 เมตร ฝีพาย 34-36 คน และนายท้าย 2 คน เรือกระบี่ปราบเมืองมาร โขนเรือเป็นวานรสีขาว เชื่อว่าเป็นรูปของหนุมาน สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 เรือลำปัจจุบันถูกสร้างตัวเรือขึ้นมาใหม่ใน พ.ศ. 2510เรือกระบี่ราญรอนราพณ์ โขนเรือเป็นวานรสีดำ เป็นเรือที่มีประวัติน้อยที่สุด
ในสายกลางระหว่างเรือทั้งสองลำ เป็นเรือตำรวจนอกลำที่ 2 เรือสายในคู่ต่อไปคือเรือพาลีรั้งทวีป โขนเรือเป็นวานรสีเขียวสวมมงกุฎ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 ปรากฏชื่อเดิมว่า พาลีล้างปวีป และเรือสุครีพครองเมือง โขนเรือเป็นวานรสีแดงสวมมงกุฎ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 และถูกซ่อมแซมพร้อมเรือพาลีรั้งทวีป
เรือพาลีรั้งทวีป และเรือสุครีพครองเมือง ในสายกลางระหว่างเรือทั้งสองลำเป็นเรืออนันตนาคราชทอดบุษบกเพื่อใช้อัญเชิญผ้าพระกฐิน โขนเรือเป็นรูปนาค 7 เศียร ตามความเชื่อแล้ว พระวิษณุจะบรรทมอยู่บนหลังของอนันตนาคราช บางข้อมูลว่าสร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 เสร็จสมัยรัชกาลที่ 4 ดังที่ภาพเก่าของจอห์น ทอมป์สัน ได้ถ่ายไว้ เรือทอดบุษบก กำลังลอยลำในลำน้ำขนาดเล็ก
ผมเห็นภาพครั้งแรกที่พิพิธภัณฑ์ชุมชนบ้านบุ ทำให้เชื่อว่า น่าจะเป็นคลองบางกอกน้อย อาจจะเป็นพระราชพิธีทอดผ้าพระกฐินที่วัดสุวรรณารามก็เป็นได้ โดยคิดไปเองว่า เมื่อทอดบุษบกก็น่าจะอัญเชิญผ้าพระกฐิน
แต่ไปเจอใน facebook หนึ่งที่ลงภาพนี้ และเขียนบรรยายไว้ว่า เป็นเรือพระที่นั่งทรง ผมก็เอ๊ะ สรุปอะไรกันแน่ ไม่ยอมแพ้ต้องรู้ให้ได้ เริ่มจากหาภาพที่ชัดที่สุด
คือหนังสือภาพฟิล์มกระจกของจอห์น ทอมป์สัน คำบรรยายใต้ภาพเขียนว่า เรืออนันตนาค ผู้ควบคุมฝนตามตำนานของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 ถ่ายเมื่อวันที่ 14 ต.ค. พ.ศ.2408 ในพระราชพิธีทอดผ้าพระกฐินกำลังจอดอยู่ในคลองหลังจากเสร็จพระราชพิธี โดยพลประจำเรือกำลังแสดงท่าพายนกบิน เรืออนันตนาคราชถ้าไม่ใช่เรือสำคัญ ช่างไม่ถ่ายภาพมาแน่ แต่การพายท่านกบิน ก็อาจไม่ได้บ่งบอกว่าเป็นเรือพระที่นั่ง การทอดบุษบกก็อาจไม่ใช่ที่ประทับ แต่เป็นการวางผ้าพระกฐินก็ได้การปักฉัตร 7 ชั้น ทั้งด้านหน้าและด้านหลังบุษบก และฉัตร 5 ชั้น อีกเป็นลำดับ ก็ไม่ใช่จุดที่ชี้ชัดเฉพาะได้ เพราะทั้งเรือพระที่นั่งและเรือผ้าพระกฐินก็ใช้ฉัตรจำนวนเท่ากัน แล้วเรือลำใดคือเรือพระที่นั่ง หากย้อนไปถึงบันทึกตอนเลียบพระนคร ในตอนที่รัชกาลที่ 4 ขึ้นครองราชย์ มีบันทึกว่าแล้วทรงดำริว่าพระมหากษัตริย์แต่ก่อนเลียบพระนคร ก็แต่ทางสถรมารคเพียงวันเดียว ครั้งนี้เห็นว่าราษฎรนิยมชมชื่นทั่วกัน เรือพระที่นั่งและเรือต่างๆ มีอยู่เป็นจำนวนมาก
ไม่มีการสิ่งไรเก็บไว้ก็ไม่มีผู้ใดเห็น ครั้งนี้จะแห่พยุหยาตราเรือให้ราษฎรเชยชมพระบรมโพธิสมภาร ทั่วกันอีกคราวหนึ่ง จะได้เป็นเกียรติยศปรากฏไปภายหน้า จึงสั่งเจ้าพนักงานให้เตรียมพยุหยาตราเรือไว้
 โขนเรือพระที่นั่งศรีประภัสสรชัย (พิพิธภัณฑ์เรือพระราชพิธี)
บันทึกกล่าวว่า มีเรือมากถึง 269 ลำ มีเรือนอกขบวนอีก 50 ลำเศษ มีฝีพายทั้งหมดประมาณ 10,000 คน ซึ่งมีเรือพระที่นั่งและพระที่นั่งรองคือ เรือกิ่งศรีสมรรถไชย และเรือกิ่งแก้วไตรจักร ซึ่งเป็นคติที่สืบมาแต่สมัยอยุธยา แต่เรืออนันตนาคราช อาจจะสร้างเสร็จในช่วงปลายรัชกาลก็ได้
เราสืบค้นต่อไปในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งแม้ว่ากระบวนเรือพยุหยาตราจะลดจำนวนลง เพราะการปฏิรูปการปกครอง โดยยกเลิกระบอบจตุสดมภ์ ที่ใช้มาตั้งแต่สมัยพระบรมไตรโลกนารถมาเป็นระบบกระทรวง
ในรัชกาลนี้ไม่มีการบันทึกรายละเอียดของรายชื่อเรือในกระบวน แต่มีการถ่ายภาพไว้ เช่นภาพพระราชพิธีทอดผ้าพระกฐิน ที่วัดอรุณราชวราราม เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2450 จากตำแหน่งของเรือจะเห็นได้ว่า ในพระราชพิธีครั้งนั้น
เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ทอดบัลลังก์กัญญาเป็นเรือพลับพลา เรือพระที่นั่งอนันตนาคทอดบุษบกเป็นเรือพระที่นั่งทรง เรือพระที่นั่งสง่างามกระบวนทอดบัลลังก์กัญญาเป็นเรือพระที่นั่งรอง เรือพระที่นั่งศรีประภัสสรชัยทอดบุษบกเป็นเรือเชิญผ้าพระกฐิน
น่าจะเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่พิสูจน์ได้ว่า ในช่วงเวลานั้น มีธรรมเนียมการใช้เรืออนันตนาคราช เป็นเรือพระที่นั่งทรงจริง
Create Date : 23 ธันวาคม 2567 |
|
3 comments |
Last Update : 25 ธันวาคม 2567 15:06:44 น. |
Counter : 443 Pageviews. |
 |
|
|
| |
โดย: หอมกร 24 ธันวาคม 2567 6:56:54 น. |
|
|
|
| |
|
 |
ผู้ชายในสายลมหนาว |
|
 |
|
|
ขอบคุณมากนะคะ