Group Blog
 
<<
สิงหาคม 2551
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
14 สิงหาคม 2551
 
All Blogs
 
. . . Storm surge มหันตภัยร้ายแห่งท้องทะเล . . .

. . .

รู้ทัน “Storm surge” มหันตภัยร้ายแห่งท้องทะเล
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 13 สิงหาคม 2551 09:27 น.





หากลองนึกภาพเหตุการณ์ภัยธรรมชาติครั้งร้ายแรงที่เคยเกิดขึ้นกับประเทศไทยในอดีต แน่นอนว่า ภาพของเหตุการณ์ไล่ตั้งแต่พายุแฮเรียต ในปีพ.ศ.2505 ที่ซัดแหลมตะลุมพุก จ.นครศรีธรรมราช จนราบเป็นหน้ากลอง ถัดมาในปี พ.ศ.2532 มหาวิบัติพายุเกย์ ก็สร้างความเจ็บช้ำให้แก่ชาวบ้านหลายพื้นที่ใน จ.ชุมพร จนมาถึงช่วงปี พ.ศ.2540 พายุลินดา ก็ซัดซ้ำรอยเดิมใน จ.ชุมพร จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ จ.เพชรบุรี

เหตุการณ์ทั้งหมดคงอยู่ในความทรงจำของคนไทยหลายคน กระทั่งล่าสุดในช่วงต้นปีที่ผ่านก็เกิดเหตุพิบัติภัยจากพายุนาร์กีสที่ถล่มประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่า จนสร้างความเสียหายเกินคณานับ ซึ่งภาพเหตุการณ์ที่ไล่เรียงมานี้ หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่าล้วนแล้วเกิดขึ้นจากความรุนแรงของพายุที่พัดเข้าหาชายฝั่งในลักษณะที่เรียกว่า ‘Storm surge’


** Storm surge มหัตภัยร้ายเกินมองข้าม

นาวาเอก กตัญญู ศรีตังนันท์ ผู้บังคับหมวดเรืออุทกศาสตร์ กองทัพเรือ ให้คำอธิบายว่า Storm surge คือ ปรากฏการณ์คลื่นที่เกิดขึ้นพร้อมกับพายุหมุนโซนร้อนที่ยกระดับน้ำทะเลให้สูงขึ้นกว่าปกติ อันเนื่องมาจากความกดอากาศต่ำที่ปกคลุม ณ บริเวณนั้น ซึ่งเวลาที่หย่อมความกดอากาศต่ำเคลื่อนตัวผ่านไปพร้อมกับศูนย์กลางของพายุ ทำให้แรงกดนั้นยกระดับน้ำจนกลายเป็นโดมน้ำขึ้นมา โดยเคลื่อนตัวจากทะเลซัดเข้าหาชายฝั่ง

คำถามก็คือ Storm surge มีความเหมือนหรือแตกต่างจาการการเกิดสึนามิ หรือไม่?





นาวาเอก กตัญญู ชี้แจงว่า สิ่งที่คล้ายกัน คือ รูปแบบการเคลื่อนตัวที่เป็นเหมือนคลื่นขนาดใหญ่แล้วพัดเข้าชายฝั่ง แต่ที่แตกต่างกัน คือ ลักษณะของการเกิด คือ สึนามิ เกิดขึ้นจากปรากฏการณ์ของแผ่นดินไหวใต้ทะเล ทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนส่งผลให้เกิดคลื่นขนาดยักษ์ซัดเข้าชายฝั่ง แต่กับ Storm surge จะเกิดขึ้นโดยมีตัวแปรจากพายุ

ส่วนความเสียหายนั้น คิดว่า Storm surge จะเลวร้ายมากกว่า กล่าวคือ การเกิดสึนามิจะเกิดขึ้นวันไหนก็ได้ โดยท้องฟ้าอาจจะแจ่มใส อากาศเป็นปกติ เหมือนอย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วทางฝั่งอันดามันของไทย

แต่หากเป็น Storm surge จะเกิดขึ้นพร้อมกับพายุ ซึ่งแน่นอนว่าต้องเป็นวันที่ท้องฟ้าปั่นป่วนไม่แจ่มใส สภาพอากาศเลวร้าย มีการก่อตัวของเมฆฝน ฝนตกอย่างหนัก ลมพัดแรง บริเวณชายฝั่งเกิดคลื่นโถมกระแทกอย่างหนัก คลื่นในทะเลสูง แต่เมื่อศูนย์กลางของพายุเคลื่อนเข้ามาก็จะหอบเอาโดมน้ำขนาดใหญ่ซัดเข้ามาอีกครั้ง ดังนั้น ความเสียหายจึงเพิ่มเป็นทวีคูณ



“เมื่อ Storm surge เกิดมาพร้อมกับพายุโซนร้อน เพราะฉะนั้นเมื่อพายุเข้ามาเราก็จะเห็นสัญญาณเตือนหลายอย่าง เช่น การเตือนจากกรมอุตุนิยมวิทยา และจากการสังเกตลักษณะอากาศที่จะค่อยๆ เลวร้ายลง ทำให้เรารู้ตัวล่วงหน้าหลายวัน และสามารถหาทางอพยพได้ทัน แต่กับสึนามิอาจจะไม่รู้ได้เลย เพราะบางครั้งก็เกิดขึ้นในวันที่ท้องฟ้าแจ่มใสไม่มีสัญญาณบอกเหตุร้ายแต่อย่างใด”

“แต่ปรากฏการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นนั้นในช่วงหลายปีมานี้ก็เป็นอะไรที่คาดเดา พยากรณ์ได้ยากเช่นกัน ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการเกิดภาวะโลกร้อนที่ทำให้สภาพอากาศในทุกมุมโลกเกิดความแปรปรวน และยิ่งทวีความรุนแรงของเหตุการณ์ขึ้น สิ่งนี้จึงเรื่องที่ต้องได้รับการติดตามอย่างใกล้ชิด” นาวาเอก กตัญญู ให้ภาพ




** กทม.ไม่น่าห่วงเท่าชายฝั่งอ่าวไทย

นาวาเอก กตัญญู อธิบายต่อว่า เมื่อเป็นเช่นนี้หลายคนจึงตั้งคำถามว่าพื้นที่ของกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ชายฝั่งแล้วจะได้รับผลกระทบที่เกิดจาก Storm surge หรือไม่นั้น ต้องบอกว่าถึงแม้พื้นที่เสี่ยงการเกิดพายุจะอยู่ในอ่าวไทย แต่บริเวณก้นอ่าว หรือบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา กลับไม่เคยพบการเกิดพายุหมุนโซนร้อนมาก่อน ที่พบก็จะมีแต่ปลายๆ ของหางพายุดีเปรสชันซึ่งก็ไม่ได้เกิดความรุนแรง

แต่พื้นที่ที่น่าห่วง คือ ตลอดแนวพื้นที่ราบชายฝั่งอ่าวไทยตั้งแต่ จ.ชุมพร ลงไป ซึ่งในอดีตพื้นที่เหล่านี้ก็เคยเกิดพายุไต้ฝุ่นขนาดใหญ่ซัดถล่มมาแล้ว

หากมองในพื้นที่บริเวณชายฝั่งของกรุงเทพฯ โอกาสที่จะเกิดน้อย เนื่องจากพื้นที่ของกทม.เป็นพื้นที่ที่อยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดิน แต่หากว่าเกิดพายุพัดผ่านเข้ามาบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยาจริงอิทธิพลจะเข้ามาถึงตัวเมืองแน่นอน โดยเฉพาะร่องแม่น้ำเจ้าพระยา ที่จะมีมวลน้ำทะลักเข้ามาไหลเอ่อท่วมพื้นที่ชั้นในกรุงเทพฯ

นาวาเอก กตัญญู บอกอีกว่า ทางฝั่งของทะเลอันดามันก็ยังพอเบาใจได้เนื่องจากการเกิดของ Storm surge จะเกิดขึ้นได้จากการเคลื่อนตัวของศูนย์กลางพายุเข้าหาชายฝั่ง แต่หากสังเกตเส้นทางการเคลื่อนตัวของพายุที่เกิดขึ้นในไทยนั้นจะเริ่มพัดขึ้นฝั่งอ่าวไทย แล้วพัดออกจากฝั่งทางอันดามันไปพม่า บังคลาเทศ อินเดีย ทำให้ฝั่งอันดามันเป็นการเคลื่อนตัวออกนอกชายฝั่ง ซึ่งจะไม่ได้รับผลกระทบจาก Storm surge เหมือนอ่าวไทย

แต่ที่ไม่ควรมองข้ามคือหากพายุหมุนเกิดขึ้นภายในแผ่นดิน และบริเวณแหล่งน้ำภายในเช่น กว๊านพะเยา บึงบอระเพ็ด หากหย่อมความกดอากาศต่ำเคลื่อนผ่านแหล่งน้ำเหล่านั้น น้ำก็จะยกตัวขึ้นมาเหมือนเช่นที่เกิดขึ้นในทะเลและก็อาจทำให้เกิดคลื่นพัดเข้าสู่ฝั่งได้เช่นกัน

“ที่ผ่านมา หลายคนให้ความสนใจในการเฝ้าระวังสึนามิ เพราะยังเป็นของใหม่ในบ้านเรา แต่ความจริงแล้วภัยคุกคามที่แท้จริงคงหนีไม่พ้น Storm surge เพราะโอกาสที่จะเกิดพายุหมุนโซนร้อนที่พัดเข้าอ่าวไทยเกิดได้ถี่กว่า สึนามิหลายเท่า” นาวาเอก กตัญญู แจกแจง


** ปลูกป่าชายเลน แนวป้องกันชั้นยอด

ในส่วนของการเฝ้าระวังและวิธีการเตรียมรับมือนั้น รศ.อัปสรสุดา ศิริพงษ์ อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลว่า ระยะเสี่ยงการเกิดพายุจะอยู่ที่ 3 เดือนอันตราย

เพราะจากสถิติการเกิดพายุหมุนโซนร้อนที่ขึ้นทางฝั่งอ่าวไทยนั้น เมื่อเริ่มเข้าสู่เดือนตุลาคม พายุจะก่อตัวทางตอนใต้ของปลายแหลมญวนทางเขมร และเมื่อถึงช่วงเดือนพฤศจิกายนพายุจะเคลื่อนลงจากแหลมญวนจนเคลื่อนสู่อ่าวไทย ไปตลอดจนถึงเดือนธันวาคมพายุจึงจะสลายไปในที่สุด

สำหรับในบ้านเรานั้นหลายคน กลัวว่า Storm surge จะเกิดผลกระทบต่อเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ แต่อยากให้อุ่นใจได้ว่า Storm surge คงเข้ามาไม่ถึง

ที่ต้องระวังคือปัญหาเดิมๆ อย่างน้ำท่วม เพราะกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่รับน้ำ อีกทั้งภายในตัวเมืองชั้นในยังมีสิ่งปลูกสร้างสูงๆ ป้ายโฆษณาตามตึกต่างๆ ก็ควรระวังหากเกิดลมพายุรุนแรงเพราะจะพัดป้ายให้พัง และเกิดความเสียหายได้ จึงเป็นเรื่องที่ควรหาทางป้องกันอย่างเร่งด่วน

การเตรียมความพร้อม เพื่อรับมือกับ Storm surge นั้น อยากฝากให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยศึกษาลักษณะของการเกิด และความรุนแรงเพื่อที่จะได้หาทางหนีทีไล่ได้ทัน ซึ่งการหนีนั้นต้องมีหน่วยงานที่ร่วมทำแผนที่เสี่ยงภัย หากบริเวณไหนมีประชากรหนาแน่นบริเวณนั้นจะมีความเปราะบางมาก จึงต้องทำแผนที่ให้ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเมือท่องเที่ยว

“วิธีการป้องกันมีอยู่หลายแนวทางทั้งการสร้างกำแพงป้องกันแต่ก็ไม่ควรนำมาใช้กับบ้านเรา และอาจจะเป็นการสูญเงินอย่างมหาศาล ทางออกที่ดีที่สุดคือการช่วยกันรักษาป่าชายเลนตามแนวชายฝั่ง หรือปลูกป่าชายเลนเพิ่มในพื้นที่ชายฝั่งซึ่งจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด ที่จะช่วยลดความรุนแรงได้ อีกทั้งควรกำหนดเป็นหลักสูตรในเรื่องของภัยพิบัติลงในแบบเรียนเพราะเป็นสิ่งที่ต้องปลูกฝังให้เด็กเกิดความตื่นตัว จึงต้องสร้างความตระหนักให้เกิดขึ้น และต้องมีการซ้อมแผนเตือนภัยอยู่ตลอดเวลา เมื่อถึงคราวเกิดขึ้นจริงจะได้ช่วยลดความเสียหายจากชีวิตและทรัพย์สินได้” รศ.อัปสรสุดา ทิ้งท้าย

. . .




กทม.ทำคู่มือ Storm surge แจก

กทม.จัดทำคู่มือแจกประชาชนเตรียมรับภัย Storm surge 17 ส.ค.นี้ ลงพื้นที่เสี่ยงภัยและซ้อมแผนปฏิบัติการ

นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวถึงการเตรียมแผนปฏิบัติการหากเกิดคลื่นพายุซัดฝั่ง หรือ Storm surge โดยทางสำนักการระบายน้ำ (สนน.) สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(สปภ.) ได้นำแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม กทม.ในระดับวิกฤต และกรณีเกิดคลื่นซัดฝั่งมารายงานต่อคณะผู้บริหาร เพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณ์และเฝ้าระวัง รวมถึงการประสานความร่วมมือ และเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานต่างๆ

โดยจะมีการซักซ้อมแผนปฏิบัติการในวันอาทิตย์ที่ 17 สิงหาคมนี้ พร้อมกับลงตรวจสอบพื้นที่เสี่ยง ใกล้ชายฝั่งทะเลกทม. เช่น บางขุนเทียน ทุ่งครุ บางบอน รวมถึงบริเวณต่อเนื่องกับจังหวัดสมุทรปราการ สมุทรสาคร

สำหรับกรณีคลื่นซัดฝั่ง ได้มีการเตรียมออกแบบแผนปฏิบัติการอย่างชัดเจนโดยมีมาตรการก่อนเกิดเหตุ ระหว่างเกิดเหตุ และการฟื้นฟูหลังเกิดเหตุ ซึ่งจะมีการจัดตั้งองค์กรปฏิบัติการระดับ กทม.เพื่ออำนวยการกำกับและประสานงานการปฏิบัติรวมกับศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม กทม.และองค์กรระดับศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้า แบ่งเป็นศูนย์ฝั่งพระนคร ฝั่งธนบุรี เพื่อกำกับดูแลพื้นที่เสี่ยง และเตรียมอุปกรณ์เครื่องมือให้พร้อม โดยจะมีการซ้อมแผนในวันอาทิตย์นี้เช่นกัน

นอกจากนี้ ยังมีการจัดทำคู่มือปฏิบัติตน เบื้องต้นสำหรับประชาชนเพื่อการเตรียมความพร้อม หากเกิดเหตุขึ้น สำหรับการเตรียมแผนความพร้อมดังกล่าวเป็นเพียงการเตรียมความพร้อมหากเกิดเหตุเท่านั้น ไม่ได้ยืนยันว่าจะมี Storm surge เพราะจากการรายงานย้อนหลังยังไม่มีข้อบ่งชี้จะเกิดพายุซัดฝั่งในพื้นที่ กทม.แต่อย่างใด ฝากถึงประชาชนสามารถตรวจสอบข้อมูลระดับน้ำขึ้น น้ำลง ปริมาณน้ำฝนได้ที่เว็บไซต์ กทม.ที่ //www.bangkok.go.th ตั้งแต่ 17 ส.ค.เป็นต้นไป

. . . . .





Create Date : 14 สิงหาคม 2551
Last Update : 14 สิงหาคม 2551 19:10:33 น. 11 comments
Counter : 1643 Pageviews.

 

ขอบคุณความรู้ดีๆ มีประโยชน์มากๆ เลยค่ะ ขออนุญาตินำไปเมล์นะคะ คุยกันทุกๆ วันทั้งๆ ที่ไม่เข้าใจในรายละเอียดเลยค่ะ มีแผนป้องกันภัยพิบัติด้วยนะคะ ทราบอย่างนี้ก็ไม่กลัวค่ะ ไม่เหมือนสึนามิ ถ้าได้รับการแจ้งเตือนก็ออกไปจากพื้นที่น่าก็จะปลอดภัยนะคะ

ขอบคุณอีกครั้งค่ะ ส่งเมล์ให้เจ้านายก่อนค่ะ จะได้ไม่ต้องปฎิบัติตามแผนฯ อิอิอิ



โดย: ทิวาจรดราตรี วันที่: 14 สิงหาคม 2551 เวลา:22:09:06 น.  

 
หูยยยยยย...
อลังการงานสร้างจัง...ลูกเพ่



โดย: ป้าซ่าส์ วันที่: 15 สิงหาคม 2551 เวลา:11:24:23 น.  

 
ขอบคุณสำหรับข้อมูลค่ะ ^_^


โดย: นู๋ Beee เองค่ะ (Beee_bu ) วันที่: 15 สิงหาคม 2551 เวลา:17:38:06 น.  

 
จะทำไงกันดีล่ะทีนี้
ป้าวีอยู่ตรงริมทะเลบางปูเลย



โดย: ป้าวี IP: 124.120.204.215 วันที่: 15 สิงหาคม 2551 เวลา:21:22:27 น.  

 
ต้องติดตามประกาศเตือนภัยอย่างใกล้ชิดนะ จะได้อพยพหลบเผ่นได้ทันจ่ะ แต่ขอให้ไม่เกิดเหตุจะดีกว่า เนอะ...

พายุลมห่มคลุมพุง(ท้อง)ทะเล
ในอ่าวเปลแกว่งไกวไม่หลับเหงา
เมื่อความกดอากาศต่ำน้ำหนักเบา
ยกสร้างเงาคลื่นน้ำสูงทะมึนมา

โอ้ว่าธรรมชาติที่ปรวนแปร
ถูกรังแกจนปั่นป่วนล้วนปัญหา
จากน้ำมือเราหรือใครในโลกา
ตถตา มันก็เป็น เช่นนี้เอง. . .




โดย: loykratong วันที่: 18 สิงหาคม 2551 เวลา:14:18:06 น.  

 
. . .

กทม.มั่นใจรับมือสตอร์ม เซิร์จ
วันจันทร์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2551


อภิรักษ์ เรียกประชุม ผอ.15เขต รับมือพายุซัดฝั่ง พร้อมอพยพประชาชนทันที

นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ กทม.ได้มีการประชุมร่วมกับผู้อำนวยการเขต สำนักงานเขตย่านฝั่งธนบุรี จำนวน 15 เขต ซึ่งมีพื้นที่เสี่ยงภัยต่อการได้รับผลกระทบจากสถานการณ์พายุซัดฝั่ง หรือสตอร์ม เซิร์จ (Storm Surge) เพื่อเป็นการป้องกันการรับมือ เนื่องจากมีพื้นที่ติดชายฝั่งทะเล รวมไปถึงพื้นที่ในจังหวัดใกล้เคียง เช่น จ.สมุทรปราการ โดยได้มีการแบ่งพื้นที่เสี่ยงภัยเป็นเขตสีแดง คือ ตั้งแต่ชายทะเลขึ้นมาถึงแนวคลองสนามชัย ระยะทาง 10 - 15 กิโลเมตร เป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบที่สุด

ผู้ว่าฯกทม.กล่าวต่อว่า สำหรับพื้นที่สีส้ม อยู่ในส่วนของเขตบางขุนเทียน ทุ่งครุ ราษฎร์บูรณะ และจอมทอง ระยะทางจากแนวทะเล ถึงถนนพระราม 2 รวมระยะทางไม่เกิน 20 กิโลเมตร ทั้งนี้ กทม. ได้สั่งการให้ผู้อำนวยการเขตจัดเตรียมการประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้ และการเตรียมแผนอพยพให้ประชาชน หากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวแล้ว

นายอภิรักษ์ เปิดเผยต่อว่า จากการประชุมทั้งหมดจะส่งผลข้อมูลและประสานไปยังสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หรือ กปร. ซึ่งเป็นแกนหลักในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่กทม.และจังหวัดใกล้เคียง

นายอภิรักษ์ ระบุต่อว่า สตอร์ม เซิร์จ จะไม่เหมือนกับเหตุการณ์สึนามิ เพราะกรมอุตุนิยมวิทยาจะสามารถทราบล่วงหน้าได้ 4-6วัน ทำให้สำนักงานเขตมีเวลาเพียงพอต่อการเตรียมการและประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่ออพยพประชาชนออกจากพื้นที่เสี่ยงภัยได้ทันท่วงที และช่วยลดการสูญเสียให้กับประชาชนได้เป็นอย่างมาก

. . .


โดย: loykratong วันที่: 18 สิงหาคม 2551 เวลา:14:35:30 น.  

 

ขิมว่าอะไรจะเกิดก็ต้องเกิดนะฮะ


โดย: ขิมทอง IP: 202.12.118.61 วันที่: 18 สิงหาคม 2551 เวลา:17:18:41 น.  

 
ใจจริงผมอยากรอดูนะว่ามันจะมายังไง(อยากเห็น)ไม่ได้กวนนะอยากรู้จริงๆ


โดย: ของแท้แน่นอน IP: 124.120.133.91 วันที่: 19 สิงหาคม 2551 เวลา:15:30:27 น.  

 
. . .

อุตุฯ คาดหากเกิดสตอร์มเสิร์จในฝั่งอ่าวไทย จะไม่รุนแรงเท่า"นาร์กีส"

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 19 สิงหาคม 2551 15:19 น.


นายประวิทย์ แจ่มปัญญา รักษาการผู้อำนวยการพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยว่า ในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายนนี้ มีโอกาสที่พายุในมหาสมุทรแปซิฟิก และทะเลจีนใต้จะเคลื่อนตัวเข้ามาในฝั่งอ่าวไทย แต่ระดับความรุนแรงจะไม่มากเท่ากับพายุไซโคลนนาร์กีส ที่เกิดขึ้นในประเทศพม่า จะใกล้เคียงกับพายุเกย์ และพายุลินดาที่เคยเกิดขึ้น

เนื่องจากในช่วงเดือนดังกล่าวตรงกับฤดูหนาวของประเทศไทย อากาศเย็น และแห้งที่พัดเข้าหาพายุจะช่วยให้พายุที่จะเคลื่อนเข้ามาอ่อนกำลังลง อย่างไรก็ตาม เมื่อกระแสลมที่พัดเข้าหาพายุไม่แรงตามไปด้วยก็จะส่งผลให้การเกิดสตอร์มเซอร์จลดความรุนแรงลงด้วย

สำหรับสตอร์มเสิร์จ (Storm Surge) นั้น เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยมาแล้ว 3 ครั้ง ครั้งแรกที่แหลมตะลุมพุก เกิดขึ้นจากพายุโซนร้อนแฮเรียด เมื่อเดือนตุลาคมปี 2505 ครั้งที่ 2 จากอิทธิพลพายุไต้ฝุ่นเกย์ เมื่อปี 2532 ส่วนครั้งที่ 3 เกิดขึ้นจากพายุไต้ฝุ่นลินดา เมื่อปี 2540

อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก ซึ่งหากกรมอุตุนิยมวิทยาตรวจพบการก่อตัวที่มีผลกระทบต่อประเทศไทยจะแจ้งเตือนให้ทราบล่วงหน้าเพื่อให้เตรียมการป้องกันได้ก่อนอย่างน้อย 5 - 10 วัน

. . .


โดย: loykratong วันที่: 19 สิงหาคม 2551 เวลา:15:54:16 น.  

 
. . .

"ดร.อาจอง"เตือนซํ้าเรื่อง"สตอม เซอจ" อาจจะเกิดขึ้นจริง


“อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา” อดีตนักวิทยาศาสตร์องค์การนาซ่า แนะ ภายใน 6 ปีรัฐบาลต้องเริ่มคิดย้ายเมืองหลวงได้แล้ว คาดอีก 30 ปีข้างหน้า ภาคกลางของไทยจมใต้ทะเล ตรงกับข้อมูลนาซ่า ที่ระบุว่าระดับน้ำทะเลของไทยจะสูงขึ้น 7 เมตรจากภาวะโลกร้อน ชี้คนไทยต้องฟังคำเตือนของ “สมิทธ” เรื่องสตอร์ม เซิร์จ เพราะอาจเกิดขึ้นจริง ย้อนคำเตือนเขื่อนเมืองกาญจน์แตก ตามรอยแผ่นดินไหว น้ำจะบ่าถึงกรุงเทพฯ ย้ำใช้สติแก้ปัญหา

เมื่อวันที่ 23 ส.ค.51 ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ผู้เชี่ยวชาญด้านภาวะโลกร้อน (Global Warming) กล่าวในงานสัมมนาของบริษัท เฮงเค็ล (ประเทศไทย) จำกัด ว่า ภาวะโลกร้อนทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น การเคลื่อนไหวของสภาพอากาศจะเปลี่ยนแปลงอย่างมาก จะทำให้เกิดพายุมากขึ้น ดังนั้นประชาชนจึงควรฟังคำเตือนของ ดร.สมิทธ ธรรมสโรช ประธานกรรมการอำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ที่ได้ประกาศเตือนไว้ก่อนหน้านี้ ตนเชื่อว่ามีความเป็นไปได้ที่จะเกิดสตอมเซอจ (Storm Surge) หรือคลื่นพายุหมุน เพราะปัจจุบันธารน้ำแข็งขั้วโลกละลายตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น โลกของเราเต็มไปด้วยน้ำถึง 3 ใน 4 ส่วน ครึ่งหนึ่งอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก ส่งผลให้น้ำหนักของโลกไม่เท่ากัน เปลือกโลกจะเริ่มเคลื่อนไหว จะเกิดเหตุแผ่นดินไหวมากขึ้น โดยเฉพาะตามรอยต่อของเปลือกโลก ทะเลอันดามัน ประเทศอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

นักวิทยาศาสตร์ชื่อดัง กล่าวต่อว่า ภายใน 6 ปี ประเทศไทยควรเริ่มย้ายเมืองหลวง เพราะ 30 ปีข้างหน้า ภาคกลางของประเทศไทยจะจมอยู่ใต้ทะเล ตรงกับแผนที่ขององค์การนาซา (The National Aeronautics and Space Administration-NASA) หรือองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ ของสหรัฐอเมริกา ที่ระบุว่าระดับน้ำทะเลในประเทศไทยจะสูงขึ้น 7 เมตร ดังนั้น เมืองหลวงควรอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 40-50 เมตร การที่เปลือกโลกร้าวจะทำให้ จ.แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ตาก และกาญจนบุรี เกิดแผ่นดินไหว ก่อนหน้านี้ตนเคยเตือนว่าเขื่อนที่ จ.กาญจนบุรี จะแตกเพราะอยู่ตามแนวที่จะเกิดแผ่นดินไหว แต่วิศวกรแย้งว่าการออกแบบก่อสร้างเขื่อนทนต่อแผ่นดินไหวได้ 8 ริคเตอร์ แต่สิ่งที่อาจเกิดขึ้นคือการเคลื่อนที่ของดิน ซึ่งอาจเคลื่อนไปคนละทิศละทาง จึงอาจทำให้เขื่อนแตกได้ และจะส่งผลให้เมืองกาญจน์จมน้ำ แล้วน้ำจะไหลมาสู่ จ.นครปฐม และกรุงเทพฯ ในที่สุด

“ผมอยากฝากถึงรัฐบาลว่า ควรเริ่มคิดจะย้ายเมืองหลวงได้แล้ว เพราะการย้ายเมืองจะใช้ ระยะเวลายาว ผมไม่ได้บอกว่าน้ำจะท่วมกรุงเทพฯ ภายใน 6 ปี แต่ควรจะเริ่มวางแผนย้ายเมืองหลวง และต้องอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 40-50 เมตร สิ่งที่ ดร.สมิทธ ออกมาเตือนทุกอย่างมีความเป็นไปได้ทั้งสิ้น เพราะโลกได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน สิ่งที่จะเตือนประชาชนคือ ต้องระมัดระวังเรื่องพายุต่าง ๆ จะรุนแรงมากขึ้น น้ำจะท่วมฉับพลัน แต่ทุกคนต้องมีสติ ไม่มีปัญหาอะไรที่แก้ไขไม่ได้ สติที่ดีจะแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง เราต้องฟังเหตุผลของทุกคน” ดร.อาจอง กล่าวตอนท้าย

สำหรับ ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา เป็นนักวิชาการ นักวิจัยที่มีผลงานมากมาย ผลงานสำคัญชิ้นหนึ่งคือ เคยเป็นหนึ่งในทีมนักวิทยาศาสตร์ร่วมโครงการอวกาศไวกิ้ง ขององค์การนาซา สหรัฐอเมริกา เป็นผู้ออกแบบและสร้างอุปกรณ์ควบคุมการร่อนลงของยานอวกาศไวกิ้ง 2 ลำ ลงสู่พื้นผิวดาวอังคารได้สำเร็จ ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนสัตยาไส จ.ลพบุรี.

...


โดย: loykratong วันที่: 24 สิงหาคม 2551 เวลา:19:18:20 น.  

 
. . .

ชีวิตด่านหน้า'สตอมเซอจ' 'ชาวบ้านขุนสมุทรจีน'กลัวน่ะกลัว...แต่หนีไม่ได้ !!

“ขุนสมุทรจีน” หมู่บ้านเก่าแก่เล็ก ๆ แต่มีประวัติความเป็นมายาวนานกว่า 500 ปี ตั้งอยู่บนปลายแหลมขนาดเล็กติดอ่าวไทยในพื้นที่ ต.แหลมฟ้าผ่า อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ เป็นพื้นที่ซึ่งเกิดปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งรุนแรงจนผืนดินจมหายไปกับน้ำทะเลแล้วกว่า 1,000 ไร่ ซึ่งท่ามกลางความวิตกกังวลของคนกรุงเทพฯ เกี่ยวกับปรากฏการณ์ “สตอมเซอจ” น้ำทะเลยกตัวสูงเข้าสู่ชายฝั่งด้านสมุทรปราการ อันเนื่องจากพายุที่รุนแรง จะเกิดหรือไม่เกิดเร็ว ๆ นี้ก็ไม่รู้ล่ะ แต่ถ้าเกิด “ขุนสมุทรจีน” จะอยู่ด่านหน้า ๆ .....

“ฉันไม่กลัวหรอก !” เป็นเสียงของ สมร เข่งสมุทร ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 9 บ้านขุนสมุทรจีน โดยผู้ใหญ่สมร บอกว่า เหตุที่ไม่กลัวเพราะคนที่นี่ผจญกับภัยธรรมชาติมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นพายุลินดา พายุเกย์ สารพัดพายุ หนักบ้างเบาบ้างตามสภาพ ส่วนเรื่องสตอมเซอจนั้น ชาวบ้านที่นี่ก็มีทั้งเชื่อและไม่เชื่อ มีทั้งกลัวและไม่กลัว แต่ส่วนตัวแล้วเชื่อว่าคงมีโอกาสเกิด เพียงแต่ไม่รู้ว่าจะเกิด ขึ้นเมื่อไหร่เท่านั้นเอง

“ข่าวคราวมันค่อนข้างสับสน แต่ก็ไม่ได้ประมาท เฝ้าระวังตลอดเวลา แต่จะให้ย้ายไปที่อื่น หลายคนเขาก็คงจะไม่ไป จะให้ไปอยู่ไหน ไปทำอะไร หลายคนขอสู้ตายอยู่ที่นี่ดีกว่า นี่คือความคิดวันนี้นะ เพราะเรื่องสู้กับน้ำ สู้กับลม คนขุนสมุทรฯเจอกันมาตลอดอยู่แล้ว อีกอย่างเราเกิดกับน้ำ โตมากับน้ำ ถ้าจะตาย เราก็ตายอยู่กับน้ำ กับบ้านของเราดีกว่า” ผู้ใหญ่สมรกล่าว

ด้าน วิลพ เข่งสมุทร อดีตไต้ก๋งเรือแห่งบ้านขุนสมุทรฯ เล่าชีวิตให้ฟังว่า เลิกทำอาชีพไต้ก๋งมาได้ 20 กว่าปีแล้ว เพราะปลาเริ่มลดน้อยลง ตั้งแต่เกิดปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ปัจจุบันประกอบอาชีพทำนากุ้งอย่างเดียว แต่ความรู้เกี่ยวกับเรื่องการดูลม ดูฝน ก็ยังคงพอมีอยู่บ้าง วิธีดูว่าจะมีพายุหรือเปล่า ลมจะแรงจนออกเรือได้-ไม่ได้ คนเรือ คนทะเล ดูลมดูฟ้าก็รู้แล้ว อย่างเช่นถ้ามีลมแรง ๆ พัดวูบมายาว ๆ ตลอด ที่ชาวเรือเรียกกันว่า “ลมหางม้า” ก็รู้เลยว่าให้รีบเก็บข้าวของ ใครออกเรืออยู่ก็ต้องรีบเข้าฝั่ง เพราจะมีพายุแน่ ๆ

สำหรับปรากฏการณ์สตอมเซอจนั้น วิลพมองว่าโอกาสที่จะรุนแรงแบบที่เป็นข่าวคงเกิดได้ยาก แต่ก็ไม่ปฏิเสธเสียทีเดียวว่าโอกาสเกิดจะไม่มี “เพราะขึ้นชื่อว่าธรรมชาติมักจะอยู่เหนือการคาดเดาเสมอ ซึ่งถ้าเกิดขึ้นจริง ๆ ก็เชื่อว่าต้องมีสัญญาณบอกเหตุก่อนล่วงหน้า และถ้าจะรุนแรงขนาดนั้น ลางบอกเหตุก็ต้องชัดมากกว่าพายุธรรมดา แต่ตอนนี้ถ้าไม่ถึงที่สุดจริง ๆ ก็คงไม่อยากทิ้งบ้านไปไหน ถึงเวลานั้นก็ค่อยมาว่ากันว่าจะทำอย่างไร” อดีตไต้ก๋งเรือชาวบ้านขุนสมุทรจีนกล่าว

ขณะที่ผู้เฒ่าชาวประมง-พรานทะเลรุ่นใหญ่ อย่าง สมจิตร ไม้น่วม วัย 75 ปี บอกกับทีมวิถีชีวิตว่า อยู่ที่พื้นที่นี้มากว่า 50 ปีแล้ว ช่วงชีวิตที่ผ่านมาก็ต้องย้ายบ้านหนีน้ำมา 8 หน “เรียกว่าย้ายจนเบื่อ สู้กับน้ำจนเป็นเรื่องธรรมดา” ภัยธรรมชาตินั้นเคยโดนมาทุกรูปแบบ เรือจมจากการโดนพายุถล่มก็เคยโดนมาแล้ว ส่วนกับเรื่องของสตอมเซอจที่อาจเกิดหรือไม่เกิดนั้น ผู้เฒ่าบอกว่า ไม่ได้กลัวอะไรมาก เพราะเดี๋ยวนี้การสื่อสารดี มีข่าวให้ติดตามตลอด จึงไม่ต้องไปกลัว และจากประสบการณ์ที่เป็นชาวประมงมาเกือบทั้งชีวิต ส่วนตัวแล้วก็ไม่คิดว่าจะเกิดเหตุการณ์อย่างที่เป็นข่าวขึ้น และถึงแม้จะเกิดก็คิดว่าไม่น่าร้ายแรง เพราะแถบนี้เป็นทะเลน้ำตื้น

“ถ้ามันจะเกิดจริง ๆ ก็ไม่กลัวอยู่แล้ว ชีวิตฉันเจอพายุมาไม่รู้กี่ลูกต่อกี่ลูก เจอลมเจอฝน เรือล่มเกือบตายมาก็มี อะไรจะเกิดก็เกิด แต่คงไม่ย้ายไปไหนด้วย ตายเป็นตาย ถอยไม่ได้ จะขออยู่ที่นี่จนวินาทีสุดท้าย” ผู้เฒ่าชาวประมงย้ำเสียงหนักแน่น

หลังจากลาผู้เฒ่าชาวประมง ทีมวิถีชีวิตเดินลัดเลาะตามคันดินข้างนากุ้งไปเรื่อย ๆ จนเจอคู่สามี-ภรรยา ถวิลย์-บุญนาก เข่งสมุทร ที่กำลังขมีขมันแผ่ตัวเคยตากแดดให้แห้ง เคยคือวัตถุดิบสำคัญที่ใช้ทำกะปิของดีขึ้นชื่อของชุมชน โดยบุญนากเล่าว่า เธอและสามีอยู่ที่นี่มาตั้งแต่เกิด และไม่เคยคิดย้ายไปอยู่ที่ไหน แม้ว่าหลายคนจะมองว่าเป็นพื้นที่เสี่ยง ไกลปืนเที่ยงไปสักนิด เดินทางลำบากไปสักหน่อย แต่ก็มีความสุขตามอัตภาพ

ปัญหาหนักอกหนักใจที่สุดของเธอเวลานี้ไม่ใช่เรื่องสตอมเซอจ แต่เป็นปัญหาเก่าที่คาราคาซังเรื่อง “น้ำทะเลไล่ที่” ที่ดินเกือบ 30 ไร่จมหายไปกับน้ำ ปัจจุบันเหลือที่ดินผืนสุดท้าย 4-5 ไร่ ใช้เลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลา

ทางฝ่ายถวิลย์ผู้เป็นสามีก็เล่าว่า ที่ผ่านมาย้ายบ้านหนีน้ำเป็นครั้งที่ 3 แล้ว ถมดินพื้นบ้านทุกปีจนโอ่งน้ำฝนหลายใบใต้ถุนบ้านเหลือโผล่มาไม่ถึงครึ่งใบ ซึ่งกับข่าวเรื่องสตอมเซอจที่มีข่าวว่าอาจจะเกิดกับชายฝั่งด้านสมุทรปราการ เทียบกับเรื่องที่เขาเผชิญอยู่ ใจของเขากลัวเรื่องที่ดินสูญไปกับทะเลมากกว่าพายุร้ายเสียอีก

“โดนพายุมาแล้วหลายลูกนะ บ้านหลังแรกก็เจอหางเลขจากพายุแหลมตะลุมพุก หลังที่สองก็พายุเกย์ จะเรียกว่าชิน ก็คงไม่ถึงขั้นนั้น พูดว่ารู้ทางกันดีกว่าว่าจะต้องปรับตัวยังไง เราเหมือนเป็นหน้าด่าน แต่แถวนี้เป็นน้ำตื้น ถ้าจะโดนจริงคงไม่รุนแรงนัก ก็คงมีเสียหายบ้าง แต่จะให้ย้ายหนี คงไม่ไป ถ้ามันจะเกิดจริง ๆ ก็จะขออยู่จนวินาทีสุดท้าย” หนึ่งใน “ชาวบ้านขุนสมุทรจีน” กล่าวอย่างมุ่งมั่น ในวันที่มีข่าวคราว “ภัยธรรมชาติ” จากผืนน้ำหน้าบ้าน...อาจรุนแรงระดับวิกฤติ ?!?!?.

'แผ่นดินหาย...ร้ายกว่าพายุ'

จากภาวะโลกร้อน ชุมชนที่อาศัยตามแนวชายฝั่งอ่าวไทยประสบปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งจน แผ่นดินค่อย ๆ จมอยู่ใต้น้ำทะเล ที่พักอาศัยถูกน้ำท่วม ซึ่งชาวบ้านที่บ้าน “ขุนสมุทรจีน” น่าจะเป็นคนกลุ่ม แรก ๆ ในประเทศไทยที่เผชิญกับผลกระทบนี้ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน บ้านขุนสมุทรจีน หมู่ที่ 8, 9, 10 และ 11 ต้องพบกับวิกฤติปัญหาเรื่องนี้อย่างรุนแรง จนต้องสูญเสียพื้นที่ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยไปแล้วมากกว่า 1,000 ไร่

ผู้ใหญ่สมรบอกว่า ในอดีตที่นี่มีประชากรประมาณ 177 ครัวเรือน แต่ตอนนี้ เฉพาะหมู่ 8 ล่มสลายไปแล้ว ขณะนี้มีเหลือในทะเบียนอยู่เพียง 34 ครัวเรือน และที่อยู่อาศัยกันจริง ๆ มีแค่บ้าน 10 กว่าหลัง เพราะไม่มีที่ทำกิน ไม่มีที่อยู่อาศัย บางคนย้ายแล้วย้ายอีกจนทนไม่ไหว ย้ายไปอยู่ที่อื่น หรือบางรายก็ต้องเช่าที่คนอื่นอยู่

“ตั้งแต่ปี 2520 พื้นที่หายไปเรื่อย ๆ กิโลเมตรหนึ่งหมดไป ตามมาอีกหลายกิโลเมตร ถามว่าเกิดอะไรขึ้น โลกร้อน น้ำทะเลกัดเซาะ แผ่นดินทรุด ใช่หมด ถามว่าระหว่างพายุกับทะเลรุก กลัวอย่างไหน ก็ต้องตอบว่ากลัวอย่างหลังมากกว่า เพราะพายุเราหลบได้ หนีได้ แต่ถูกน้ำทะเลรุกที่ดินนี่ หนีเท่าไหร่ถึงจะพอ”.

ศิริโรจน์ ศิริแพทย์/บดินทร์ ศักดาเยี่ยงยงค์ : รายงาน

. . .


โดย: loykratong วันที่: 24 สิงหาคม 2551 เวลา:19:38:09 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

loykratong
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]






ไม่มีอะไรขึ้นตลอด
ไม่มีอะไรลงตลอด
...ไม่มี the end of the world ...

Web Site Hit Counters

ราคาทองคำ
 

ราคาทองคำต่างประเทศ



Friends' blogs
[Add loykratong's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.