Group Blog
 
<<
สิงหาคม 2551
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
14 สิงหาคม 2551
 
All Blogs
 
. . . ธุรกิจเดลิเวอรี่สินค้าอาหาร เติบโต 15% . . .

. . .

ธุรกิจเดลิเวอรี่สินค้าอาหาร : ขยายตัว 15%...สวนกระแสเศรษฐกิจ
โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย


ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจซบเซาและราคาน้ำมันอยู่ในเกณฑ์สูง ส่งผลกระทบต่อหลากหลายธุรกิจในวงกว้าง แต่ธุรกิจหนึ่งที่เติบโตสวนกระแสคือ ธุรกิจการบริการส่งอาหารถึงบ้านหรือธุรกิจดิลิเวอรี่ เนื่องจากสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เน้นการอยู่กับบ้านมากขึ้น โดยต้องการประหยัดน้ำมัน และค่าใช้จ่ายอื่นๆที่เกิดขึ้นเมื่อต้องออกไปนอกบ้าน รวมทั้งยังเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่ไม่ต้องการทำอาหารรับประทานเอง และไม่ต้องการออกไปรับประทานอาหารนอกบ้าน

ภาพรวมของธุรกิจเดลิเวอรี่สินค้าอาหารมีแนวโน้มเติบโตอย่างเด่นชัด และคาดว่ายังมีโอกาสในการขยายตลาดออกไปได้อีกมาก เนื่องจากบรรดาผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอาหารเริ่มหันมาใช้ธุรกิจเดลิเวอรี่เป็นช่องทางในการเพิ่มยอดการจำหน่ายสินค้า

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่าในปี 2551 ธุรกิจเดลิเวอรี่สินค้าอาหารในประเทศไทยมีมูลค่าประมาณ 5,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับในปี 2550 แล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 โดยธุรกิจเดลิเวอรี่สินค้าอาหารนั้นแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ ธุรกิจเดลิเวอรี่อาหารประเภทวัตถุดิบ และธุรกิจเดลิเวอรี่อาหารสำเร็จรูป ซึ่งความเคลื่อนไหวของธุรกิจเดลิเวอรี่อาหารในไทยแยกประเภทได้ดังนี้

1.ธุรกิจเดลิเวอรี่อาหารประเภทวัตถุดิบ สำหรับครัวเรือนที่ยังมีเวลาและชื่นชอบในการปรุงอาหารรับประทานเองที่บ้าน บางครัวเรือนก็จะซื้อวัตถุดิบสำหรับการปรุงอาหารตามตลาดสด หรือซุปเปอร์มาร์เก็ต แต่สำหรับครัวเรือนไม่มีเวลาในการออกไปจับจ่ายซื้อวัตถุดิบเพื่อนำมาปรุงอาหาร แต่ยังคงชื่นชอบในการปรุงอาหารรับประทานเอง ทำให้เกิดธุรกิจเดลิเวอรี่สินค้าอาหารประเภทวัตถุดิบให้กับบรรดาครัวเรือนถึงที่หน้าบ้าน ในลักษณะของรถปิกอัพขายวัตถุดิบในการปรุงอาหารที่ตระเวนขายไปตามแหล่งชุมชน

แต่ในภาวะที่น้ำมันมีราคาแพงขึ้นมาก ได้ส่งผลกระทบต่อต้นทุนส่วนเพิ่มสำคัญของธุรกิจรถเร่ขายวัตถุดิบอาหาร ทำให้บางรายแบกรับภาระต้นทุนไม่ไหวต้องเลิกกิจการไป เนื่องจากถ้าขึ้นราคาสินค้าก็จะทำให้ลูกค้าไม่ซื้อ แต่บางรายที่อยู่รอดก็ด้วยการปรับตัวหันไปส่งตามร้านอาหารทั่วไปที่เป็นเจ้าประจำกัน แม้ว่าต้องขายในราคาถูกกว่าการขายปลีกให้แต่ละครัวเรือน แต่ก็อาศัยว่าขายได้จำนวนมาก และมีความแน่นอนสม่ำเสมอในการซื้อมากกว่า

นอกจากนี้ ยังมีการปรับตัวด้วยการหาซื้อผักจากแหล่งที่มีชาวสวนนำมาขายเอง ทำให้มีโอกาสได้กำไรเพิ่มขึ้นเล็กน้อย และต้องปรับเวลาในการซื้อผัก กล่าวคือ ในช่วงที่ผักมีราคาแพง เนื่องจากมีผักออกสู่ตลาดน้อย ต้องเตรียมไปซื้อตั้งแต่กลางคืน ส่วนช่วงที่ผักราคาถูกก็ออกไปซื้อในตอนเช้ามืดได้

อย่างไรก็ตาม ในช่วงระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้กระแสการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพมาแรง ทำให้ผู้บริโภคหันมาสนใจบริโภคผักและผลไม้กันมากขึ้น จึงเกิดธุรกิจส่งผักไปตามบ้าน โดยครัวเรือนที่เป็นสมาชิกจะได้รับผักหลากหลายประเภทในแต่ละสัปดาห์

นอกจากนี้ บางครัวเรือนต้องการบริโภคผักประเภทปลอดสารพิษ หรือผักอนามัย ทำให้เกิดธุรกิจปลูกผักไร้ดินหรือผักไฮโดรโปนิกส์ ผักอนามัยและผักปลอดสารพิษเพื่อส่งตรงถึงครัวเรือน รวมไปถึงภัตตาคารร้านอาหาร ซุปเปอร์มาร์เก็ต และโรงแรม

ซึ่งธุรกิจปลูกผักและบริการส่งตามสถานที่ต่างๆนี้นับว่าสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนให้กับเศรษฐกิจไม่น้อยในแต่ละปี นับว่าเป็นธุรกิจที่เติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ก็มีความแข็งแกร่งของอุดมการณ์ร่วมกันระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค โดยธุรกิจส่งผักตามบ้านนี้ยังมีโอกาสในการขยายตัวได้อีกมาก เนื่องจากกระแสการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพยังคงเป็นกระแสหลักที่ยังคงอยู่อีกนาน


2.ธุรกิจเดลิเวอรี่อาหารสำเร็จรูป แนวโน้มของคนที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่เริ่มหันไปพึ่งการสั่งอาหารสำเร็จรูปมากขึ้น เนื่องจากความเร่งรีบในชีวิตประจำวัน สภาพการจราจรที่ติดขัด ไม่มีเวลาในการประกอบอาหารรับประทานเอง และไม่ต้องการความยุ่งยากในการซื้อวัตถุดิบ การจัดเตรียม และการทำความสะอาดอุปกรณ์ในการทำครัว ตลอดจนอุปกรณ์ในการรับประทานอาหาร รวมไปถึงการที่เป็นครอบครัวขนาดเล็ก การทำอาหารรับประทานเองนั้นเสียค่าใช้จ่ายมากกว่าการพึ่งพาอาหารสำเร็จรูป

ในกรณีที่ผู้บริโภคไม่ต้องการออกมาซื้อหาอาหารสำเร็จรูปรับประทานเอง หรือต้องการความสะดวกและประหยัดเวลา ทำให้เกิดธุรกิจเดลิเวอรี่อาหารสำเร็จรูปในหลากหลายรูปแบบ เพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภค ดังนี้

-ธุรกิจอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ดส์ ปัจจุบันเมื่อนึกถึงบริการส่งอาหารนอกสถานที่แล้ว อาหารประเภทฟาสต์ฟู้ดส์นับว่าเป็นอาหารสำเร็จรูปอันดับหนึ่งที่อยู่ในใจของผู้บริโภค ซึ่งยอดจำหน่ายอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ดส์ผ่านช่องทางเดลิเวอรี่นั้นเติบโตอยู่ในเกณฑ์สูงอย่างต่อเนื่อง และมีอัตราเติบโตสูงกว่าภาพรวมตลาดอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ดส์ กล่าวคือ ยอดจำหน่ายฟาสต์ฟู้ดส์ผ่านช่องทางเดลิเวอรี่มีอัตราการขยายตัวในปี 2550 ประมาณร้อยละ 30-40 ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประเภทของฟาสต์ฟู้ดส์ ในขณะที่ยอดจำหน่ายอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ดส์มีอัตราการขยายตัวประมาณร้อยละ 5-10 เท่านั้น

ซึ่งเป็นการแสดงว่าผู้บริโภคหันไปใช้บริการเดลิเวอรี่แทนการเข้ามานั่งรับประทานในร้านเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ จากการเก็บรวบรวมสถิติเปรียบเทียบยอดการสั่งอาหารเฉลี่ยต่อบิลระหว่างการรับประทานในร้านกับการสั่งผ่านบริการเดลิเวอรี่ ปรากฏว่ายอดการสั่งอาหารเพื่อรับประทานในร้านเฉลี่ย 100-200 บาท/คน/ครั้ง ในขณะที่การสั่งผ่านบริการเดลิเวอรี่นั้นยอดจะสูงกว่าประมาณ 2-3 เท่า

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่าในปี 2551 ธุรกิจเดลิเวอรี่อาหารประเภทฟาสต์ฟู้ดส์มีมูลค่าตลาดรวมประมาณ 3,000 ล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 20.0 ของมูลค่าอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ดส์ทั้งหมด

นอกจากนี้ ในปี 2551 นี้ธุรกิจเดลิเวอรี่อาหารประเภทฟาสต์ฟู้ดส์นั้นได้รับอานิสงส์จากช่วงฟุตบอลยูโร2008 ที่ช่วงเวลาการแข่งขันอยู่ในช่วงดึก บรรดาผู้ประกอบการธุรกิจฟาสต์ฟู้ดส์ต่างงัดกลยุทธ์ทางการตลาดมาแข่งขันเพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งตลาด เช่น บริการจัดส่งไม่จำกัดจำนวนซื้อขั้นต่ำ บริการตลอด 24 ชั่วโมง เป็นต้น

ผู้ประกอบการธุรกิจอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ดส์หันมาให้ความสนใจกับช่องทางเดลิเวอรี่มากขึ้น โดยเพิ่มทีมสายส่งมอร์เตอร์ไซค์ และขยายสาขาบริการเดลิเวอรี่ เพื่อขยายรัศมีการบริการให้ครอบคลุมลูกค้ากลุ่มเป้าหมายให้ได้มากที่สุด เนื่องจากปัจจุบันการให้บริการเดลิเวอรี่ยังทำไม่ได้ทุกสาขา เนื่องจากบางแห่งยังติดเรื่องสถานที่และเวลาในการเปิดปิด โดยเฉพาะร้านที่อยู่ในห้างสรรพสินค้า

-ธุรกิจเรสเทอรองต์ เดลิเวอรี่และธุรกิจบริการจัดเลี้ยงนอกสถานที่ ธุรกิจประเภทนี้เริ่มเป็นที่นิยมและรู้จักประมาณปลายปี 2549 โดยมีการให้บริการรับจัดเลี้ยงนอกสถานที่พร้อมให้บริการอุปกรณ์แบบครบวงจร เหมาะสำหรับหน่วยงานต่างๆและบุคคลทั่วไปที่ต้องการจัดงานเลี้ยงสังสรร จัดการประชุม หรือจัดงานฉลองส่วนตัว

นอกจากนี้ ยังมีรูปแบบการให้บริการสั่งอาหารพร้อมบริการจัดส่งถึงบ้าน โดยมีเมนูจากร้านอาหารชั้นนำหลากหลายแห่งให้เลือก ปัจจุบันธุรกิจทั้งสองประเภทนี้ได้รับความนิยมอย่างมาก โดยลูกค้าที่เริ่มจากการทดลองใช้บริการและลูกค้าจรเริ่มเป็นลูกค้าประจำ คือ มียอดสั่งซื้ออย่างต่อเนื่อง เฉลี่ย 3-4 ครั้งต่อเดือน

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่าในปี 2551 ธุรกิจเรสเทอ- รองต์ เดลิเวอรี่และธุรกิจบริการจัดเลี้ยงนอกสถานที่มีมูลค่าตลาดประมาณ 300 ล้านบาท และมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 10-15

-ธุรกิจเดลิเวอรี่อาหารเฉพาะประเภท(อาหารญี่ปุ่น สุกี้ อาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง อาหารยอดนิยมประจำท้องถิ่น) ธุรกิจเดลิเวอรี่อาหารเฉพาะประเภทนี้เพิ่งจะเริ่มได้รับความนิยม โดยผู้ประกอบการนั้นเห็นว่าการจำหน่ายผ่านช่องทางเดลิเวอรี่เป็นการช่วยเพิ่มยอดจำหน่ายท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงของธุรกิจร้านอาหาร

ธุรกิจอาหารเฉพาะประเภทที่มีแนวโน้มการขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดี คือ ธุรกิจเดลิเวอรี่อาหารญี่ปุ่น เนื่องจากอาหารญี่ปุ่นได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยังมีโอกาสในการขยายตัวได้อีกมาก

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่าธุรกิจเดลิเวอรี่อาหารญี่ปุ่นจะมีมูลค่าประมาณ 700 ล้านบาท โดยมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 10-15 ของมูลค่าธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่น และมีอัตราการขยายตัวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 ส่วนธุรกิจเดลิเวอรี่อาหารเฉพาะประเภทอื่นๆนั้นยังมีมูลค่าไม่สูงมากนัก เนื่องจากกระแสตอบรับของผู้บริโภคยังเพิ่มขึ้นไม่มากเท่าอาหารญี่ปุ่นที่กำลังได้รับความนิยมอย่างสูงในปัจจุบัน

ธุรกิจเดลิเวอรี่อาหารเฉพาะประเภทที่เริ่มดำเนินการมานานและเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง คือ ธุรกิจเดลิเวอรี่อาหารพื้นเมืองเลื่องชื่อโดยฝากส่งมากับรถทัวร์ที่วิ่งระหว่างจังหวัด ซึ่งผู้ผลิตอาหารพื้นเมืองจะมีบริการรับคำสั่งซื้อและแพ็กสินค้า นำมาฝากส่งกับรถทัวร์ โดยเสียค่าฝากส่งตามน้ำหนักของสินค้า

ผู้บริโภคนั้นสั่งซื้อทางโทรศัพท์ทางไกลหรือโทรศัพท์มือถือ โอนเงินค่าสินค้าพร้อมกับค่าฝากส่งไปให้ผู้ผลิตอาหารพื้นเมือง และส่งโทรสารหลักฐานการโอนเงินไปให้ หลังจากนั้นทางผู้ผลิตอาหารพื้นเมืองก็จะแจ้งเที่ยวรถทัวร์ที่ฝากของที่สั่งซื้อมา ผู้บริโภคก็ไปรอรับสินค้าที่ท่ารถทัวร์ โดยแสดงหลักฐานบัตรประจำตัวประชาชนเท่านั้น ฝ่ายรถทัวร์ก็จะได้ค่าฝากของเป็นรายได้เสริม

ปัจจุบันอาหารพื้นเมืองยอดนิยมที่มีการสั่งซื้อผ่านช่องทางนี้ส่วนใหญ่จะเป็นของสด ได้แก่ แหนมเนือง ขนมจีน ฯลฯ นอกจากนี้ การสั่งสินค้าอาหารพื้นเมืองประเภทของแห้งหรือของที่เก็บไว้ได้นานกว่า 1 วันโดยไม่ต้องแช่ตู้เย็น โดยการส่งผ่านทางไปรษณีย์ก็นับว่าเป็นช่องทางที่มีโอกาสในการขยายตัวในอนาคต ซึ่งรูปแบบการส่งสินค้าอาหารผ่านช่องทางไปรษณีย์นั้นประสบความสำเร็จมาแล้วในญี่ปุ่น

อย่างไรก็ตาม โอกาสในการประสบความสำเร็จในประเทศไทยขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของราคาค่าขนส่ง และการบรรจุหีบห่อเพื่อรักษาสภาพของสินค้าอาหารที่ทำการขนส่ง

-ธุรกิจอาหารปิ่นโต ธุรกิจนี้เคยเฟื่องฟูอย่างมากในระยะกว่าสิบปีที่ผ่านมา แต่ในระยะหลังโดนเบียดแย่งตลาดไปจากอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ดส์ อย่างไรก็ตาม ธุรกิจอาหารปิ่นโตยังเป็นธุรกิจที่มีช่องทางการเติบโต ภายใต้เงื่อนไขของการปรับตัวของผู้ประกอบการให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค

ข้อได้เปรียบของธุรกิจอาหารปิ่นโตคือ ความเสี่ยงต่ำมาก เนื่องจากเก็บเงินลูกค้ามาก่อน ดังนั้นเงื่อนไขของความสำเร็จคือ การบริหารจัดการเงินของลูกค้าให้ได้ตามความต้องการของลูกค้าเท่านั้น

ซึ่งผู้ประกอบการแต่ละรายจะมีเมนูอาหารให้ลูกค้าเลือก ราคาจะแตกต่างกันไปตามจำนวนประเภทอาหารแต่ละมื้อ เงื่อนไขของผู้ประกอบการคือ การเก็บเงินค่าแรกเข้า และกำหนดจำนวนการสั่งขั้นต่ำต่อเดือน เช่น ต้องสั่งไม่น้อยกว่า 10 วันในแต่ละเดือน เป็นต้น

โดยอาหารปิ่นโตมื้อยอดนิยมคือ มื้อเย็น แต่ก็สามารถต่อยอดการจำหน่ายเป็นมื้อกลางวันสำหรับผู้สูงอายุที่อยู่บ้านตามลำพังหรืออยู่กับผู้ดูแล และลูกค้าที่สั่งทานที่ทำงาน เนื่องจากจะไม่ต้องเสียเวลาเดินลงมาจากตึกและรอคิวซื้ออาหารจากร้านต่างๆ นอกจากนี้ ยังมีอาหารสำหรับงานประชุมสัมมนาอีกด้วย อย่างไรก็ตาม คุณภาพของอาหาร มาตรฐานของรสชาติ และการตรงต่อเวลา นับว่าเป็นเรื่องสำคัญอย่างมากสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจอาหารปิ่นโต

-ธุรกิจบริการอาหารตามสั่ง/ธุรกิจจำหน่ายผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ ในปัจจุบันด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในการสื่อสาร ทำให้ร้านอาหารและภัตตาคารต่างๆมีบริการส่งอาหารนอกสถานที่ โดยนับว่าเป็นช่องทางในการเสริมรายได้ให้กับธุรกิจ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะมีการกำหนดยอดการสั่งขั้นต่ำ และขอบเขตการให้บริการ รวมทั้งมีการบวกเพิ่มค่าใช้จ่ายในการส่งด้วย ซึ่งมูลค่าของธุรกิจเดลิเวอรี่อาหารตามสั่งนั้นประมาณร้อยละ 5 ของยอดจำหน่าย ส่วนธุรกิจจำหน่ายผลิตภัณฑ์เบเกอรี่นั้นมูลค่าของธุรกิจเดลิเวอรี่ผลิตภัณฑ์เบเกอรี่นั้นมีสัดส่วนค่อนข้างสูง โดยร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์เบเกอรี่บางแห่งนั้นมีการจำหน่ายหน้าร้านน้อยมาก รายได้เกือบทั้งหมดของร้านมาจากธุรกิจเดลิเวอรี่


บทสรุป

ในปี 2551 ธุรกิจเดลิเวอรี่สินค้าอาหารยังคงต้องมีการปรับตัวอย่างต่อเนื่องเพื่อให้อยู่รอดได้ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรง และปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภค ซึ่งนับว่าเป็นความท้าทายใหม่ และจะเป็นการชี้ชะตาว่าผู้ประกอบการรายใดมองแนวโน้มตลาดได้อย่างเฉียบขาด ก็จะได้รับประโยชน์จากการที่สามารถดึงส่วนแบ่งตลาดของคู่แข่งมาได้โดยไม่ยากเย็นนัก

ธุรกิจเดลิเวอรี่สินค้าอาหารนับว่ายังเป็นธุรกิจที่น่าสนใจ เนื่องจากมูลค่าของตลาดอยู่ในเกณฑ์สูง และยังมีโอกาสในการขยายตลาดต่อไปได้อีกมาก แต่จะต้องมีการศึกษาวิจัย ทั้งนี้ เพื่อค้นคว้าวิจัยเจาะตลาดเฉพาะกลุ่มมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะตลาดอาหารเพื่อสุขภาพ ซึ่งยังเป็นตลาดที่ผู้ประกอบการสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้สูงทีเดียว


. . .


Create Date : 14 สิงหาคม 2551
Last Update : 14 สิงหาคม 2551 15:18:48 น. 2 comments
Counter : 2687 Pageviews.

 
. . .

ขึ้นค่าทางด่วนจาก 40 บาทเป็น 45 บาท เริ่ม 1 ก.ย.นี้ ให้การทางพิเศษฯรับภาระVAT เป็นเวลาหนึ่งปี


นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมตนรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า การปรับขึ้นค่าทางด่วนของ บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BECL ให้เป็นไปตามสัญญา คือ ในวันที่ 1 กันยายนนี้ โดยให้ปรับขึ้นจาก 40 บาท เป็น 45 บาท และในส่วนของภาษีมูลค่าเพิ่ม 3 บาท ที่ต้องเก็บเพิ่มจากประชาชนนั้น ได้ให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย หรือ กทพ. รับภาระแทนประชาชนไปก่อนเป็นเวลาประมาณ 1 ปี จนกว่าระบบเก็บเงินอัตโนมัติติดตั้งแล้วเสร็จ เพราะอาจมีปัญหาในเรื่องของเงินทอน ปัญหาการจราจร รวมถึงขณะนี้ประชาชนประสบปัญหาเรื่องของน้ำมันแพง และสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำ

โดยเมื่อวันที่ 14 ส.ค.ที่ผ่านมา กทพ. ได้มีการลงนามสัญญาจ้างกลุ่มบริษัทสมาร์ทเทค ผู้ชนะการประกวดราคาติดตั้งระบบค่าผ่านอัตโนมัติ ของทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ระบบทางด่วนขั้นที่ 1) ทางพิเศษฉลองรัช (ทางด่วนรามอินทรา-อาจณรงค์) และทางพิเศษรามอินทรา-วงแหวนรอบนอก กรุงเทพมหานคร งบประมาณกว่า 400 ล้านบาท กำหนดระยะเวลาดำเนินการ 1 ปี แล้วเสร็จในเดือน ส.ค. 2552

แบ่งงานเป็น 2 ระยะ ระยะที่ 1 ติดตั้งบนทางพิเศษเฉลิมมหานคร และทางพิเศษฉลองรัช และงานระยะที่ 2 ติดตั้งบนทางพิเศษรามอินทรา-วงแหวนรอบนอก โดยเมื่อติดตั้งระบบจัดเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติแล้วเสร็จ กทพ.จะยกเลิกการใช้คูปองซึ่งให้ส่วนลดในอัตรา 5% เพื่อจูงใจให้ผู้ใช้ทางหันมาใช้วิธีการชำระค่าผ่านทางโดยระบบอัตโนมัติ

ในส่วนของบริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BECL ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานโครงการทางด่วนขั้นที่ 2 จะต้องติดตั้งระบบอัตโนมัติด้วย โดยจะต้องจัดหาผู้รับเหมามาดำเนินการ เพื่อติดตั้งให้ทันกำหนดการเปิดใช้ระบบเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติต่อไป

. . .



นายกรัฐมนตรีประกาศจะลดภาษีให้นำเข้ารถใช้แก๊สโซฮอล์อี 85 เพราะการผลิตในประเทศต้องใช้เวลา 1-2 ปี ส่วนราคาก๊าซแอลพีจีภาคขนส่ง คาดว่าคณะกรรมการ นโยบายพลังงานแห่งชาติจะตัดสินภายใน 2 สัปดาห์


นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี กล่าวว่ารัฐบาลจะเร่งส่งเสริมให้มีการนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูปที่ผลิตจากประเทศแถบยุโรป และสหรัฐที่สามารถใช้พลังงานทางเลือก ทั้งแก๊สโซฮอล และเอทานอล โดยให้นำเข้าได้ทั้งคัน และจะมีการลดหย่อนภาษี เนื่องจากเอเชียโดยเฉพาะญี่ปุ่น ยังไม่พร้อมผลิตในช่วงระยะเวลา 1-2 ปีนี้ เพื่อรองรับแผนส่งเสริมการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ อี 85 หลังจากนั้นจะสนับสนุนการนำเข้าชิ้นส่วนมาประกอบในประเทศ

นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. กล่าวว่า นโยบายส่งเสริมอี 85 จะประสบความสำเร็จแค่ไหน ขึ้นอยู่กับมาตรการภาษีรถยนต์ และราคาน้ำมันอี 85 ว่าจะถูกกว่าน้ำมันประเภทอื่นมากน้อยเพียงใด ส่วนที่ค่ายรถยนต์หลายแห่งกังวลว่ายังไม่สามารถปรับระบบการผลิตได้ทัน เรื่องนี้คงขึ้นอยู่กับกลไกตลาด และจะต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยคำนึงถึง 3 ฝ่าย คือ ผู้ใช้ ประเทศชาติ และผู้จำหน่ายรถยนต์ จะต้องได้ประโยชน์

ส่วนราคาแอลพีจีขึ้นอยู่กับรัฐบาล แต่คาดว่าถึงขึ้นราคาก็ไม่ทำให้การใช้ลดลง แต่เป็นการชะลอการใช้เพิ่มขึ้น โดยการนำเข้าแอลพีจีในเดือนกรกฎาคม มีประมาณ 100,000 ตัน และถึงสิ้นปีคาดว่าจะนำเข้ารวม 4-5 แสนตัน และปี 2552 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 ล้านตัน

พล.ท.หญิง พูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติจะประชุมภายใน 2 สัปดาห์นี้ เพื่อพิจารณานโยบายการส่งเสริมอี 85 และการปรับขึ้นราคาแอลพีจีภาคขนส่ง

. . .



คาดการณ์เงินเฟ้อลดลง แนะกนง.ตรึงดอกเบี้ย

ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย เชื่อ แนวโน้มเงินเฟ้อเริ่มลดลงตามราคาน้ำมัน คาดทั้งปีขยายตัว 6.8-7.2 แนะ แบงก์ชาติตรึงดอกเบี้ย ช่วยลดภาระผู้ประกอบการ

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ภาวะเงินเฟ้อหลังจากนี้มีแนวโน้มที่จะลดลงตามราคาน้ำมัน ซึ่งตัวเลขเงินเฟ้อในเดือน ก.ค. น่าจะเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดแล้ว โดยคาดว่าเงินเฟ้อทั้งปีจะอยู่ที่ระดับ 6.8-7.2%

ส่วนการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 27 ส.ค.นี้ นายธนวรรธน์ กล่าวว่า เมื่อทิศทางอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลง กนง.ควรตรึงอัตราดอกเบี้ย ต่อไป เพื่อไม่ให้กระทบกับภาระผู้ประกอบการและหากทางธนาคารแห่งประเทศไทยมีความจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยก็ควรทยอยปรับขึ้นคราวละ 0.25%

ส่วนแนวโน้มราคาน้ำมันนั้นทางสภาหอการค้าไทยเชื่อว่าจะไม่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากแม้จะเข้าสู่ฤดูหนาวที่ทางยุโรปจะมีการบริโภคมากขึ้น ส่วนสงครามรัสเซียกับจอร์เจียนั้น ก็คาดว่าจะไม่ยืดเยื้อส่งผลให้แนวโน้มราคาน้ำมันในครึ่งปีหลังน่าจะอยู่ที่ระดับ 110-120 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

นายธนวรรธน์ กล่าวเพิ่มเติมว่าในส่วนการแต่งตั้งคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยนั้นตนมองว่าเป็นไปตามกรอบของกฎหมายซึ่งมีความโปร่งใสและตรวจสอบได้

. . .


โดย: news IP: 58.137.155.65 วันที่: 14 สิงหาคม 2551 เวลา:17:33:53 น.  

 

อ่านไปๆ หิวจังเลยค่ะ อยากจะเดลิเวอรี่ทั้งอาหารญี่ปุ่น สุกี้ S&P มารับประทานจังเลยค่ะ ขนาดเหนื่อยๆ นะคะเนี่ย ขาดสมาธิในการอ่านข่าวอื่นเลยค่ะ

ตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ก่อนก็ดีค่ะ แค่นี้ผู้ประกอบการก็หายหมดแล้วล่ะค่ะ


โดย: ทิวาจรดราตรี วันที่: 14 สิงหาคม 2551 เวลา:21:20:39 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

loykratong
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]






ไม่มีอะไรขึ้นตลอด
ไม่มีอะไรลงตลอด
...ไม่มี the end of the world ...

Web Site Hit Counters

ราคาทองคำ
 

ราคาทองคำต่างประเทศ



Friends' blogs
[Add loykratong's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.