Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2551
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
2 ตุลาคม 2551
 
All Blogs
 
ธุรกิจสถานีบริการก๊าซ LPG ปี’51--เงินเฟ้อเดือนก.ย.แนวโน้มชะลอลง

. . .

ธุรกิจสถานีบริการก๊าซ LPG ปี’51 : เติบโตก้าวกระโดด...กระตุ้นการแข่งขันในตลาด
โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย


ธุรกิจสถานีบริการก๊าซ LPG ในปี 2551 ถือว่ามีความคึกคักเป็นอย่างมาก โดยผู้ประกอบการต่างเร่งขยายจำนวนสถานีบริการเพื่อรองรับกับปริมาณรถยนต์ภายในประเทศที่หันมาติดตั้งถังก๊าซ LPG กันมากขึ้น โดย ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2551 ที่ผ่านมา มีจำนวนสถานีบริการก๊าซ LPG ทั่วประเทศถึง 537 สถานี ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงสิ้นปี 2550 ถึง 36% แต่ทว่าจำนวนสถานีบริการก๊าซ LPG ที่เพิ่มขึ้นตามพื้นที่ต่างๆ อย่างรวดเร็วนี้ ได้ก่อให้เกิดการแข่งขันเพื่อช่วงชิงผู้ใช้บริการที่รุนแรงมากขึ้นกว่าในอดีต


มูลเหตุผลักดัน...สถานีบริการก๊าซ LPG ขยายตัว

นับตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา สถานีบริการก๊าซ LPG ในประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีอัตราการเติบโตไม่ต่ำกว่าปีละ 20% ซึ่งการเติบโตสามารถสังเกตได้ชัดเจนนับตั้งแต่ปี 2549 ที่มีจำนวนสถานีบริการเพิ่มขึ้นจากปี 2548 ถึง 98 สถานี คิดเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นสูงถึง 46 % ซึ่งสาเหตุหลักที่สำคัญในการขยายตัวก็คือ ราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปทั้งเบนซินออกเทน 95 ออกเทน 91 และดีเซลในประเทศไทยมีการปรับตัวสูงขึ้นจากปี 2548 เฉลี่ยถึงลิตรละ 4 บาท ซึ่งได้ทำให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปต่างๆ มีราคาสูงกว่าก๊าซ LPG มากกว่าหนึ่งเท่าตัว บรรดาผู้ประกอบการจึงเริ่มให้ความสนใจเปิดให้บริการกันมากขึ้น เนื่องจากคาดว่าผู้ใช้รถยนต์จะเริ่มหันมาติดตั้งระบบก๊าซ LPG กันมากขึ้น ทั้งนี้ การขยายตัวของสถานีบริการก๊าซ LPG มาปรากฏเด่นชัดอีกครั้งในปี 2551 นี้ ซึ่งในช่วงแปดเดือนแรกของปี 2551 มีจำนวนสถานีบริการก๊าซ LPG เปิดให้บริการเพิ่มขึ้นถึง 142 สถานี ซึ่งเพิ่มขึ้นมากกว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาถึงกว่าปีละ 50 สถานี


ทั้งนี้จำนวนสถานีบริการก๊าซ LPG ที่ขยายตัวอย่างมากในช่วงปี 2551 นี้ มีมูลเหตุสำคัญได้แก่

 จำนวนรถยนต์ติดตั้งระบบก๊าซ LPG เพิ่มขึ้นมาก นับตั้งแต่ต้นปี 2551 เป็นต้นมา ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกได้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนทะยานขึ้นไปถึง 147 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลในช่วงเดือนกรกฎาคม ซึ่งได้ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปภายในประเทศขยับตัวสูงขึ้นเกินกว่าลิตรละ 40 บาท ขณะที่ราคาจำหน่ายก๊าซ LPG ในประเทศไทยยังคงถูกตรึงอยู่ที่ประมาณลิตรละ 11 – 12 บาท จึงทำให้บรรดาผู้ใช้รถยนต์ต่างพากันหันมาติดตั้งก๊าซ LPG เพื่อใช้แทนน้ำมันกันมากขึ้น โดยในช่วงเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม 2551 ที่ผ่านมา มีจำนวนรถยนต์ที่เข้ารับการติดตั้งระบบก๊าซ LPG ตามอู่ต่างๆ ทั้งที่ดำเนินกิจการรับติดตั้งโดยเฉพาะ และอู่ซ่อมรถทั่วไปที่หันมาให้บริการรวมกันกว่า 100,000 คัน/เดือน ซึ่งรถยนต์จำนวนมากที่หันมาติดตั้งระบบก๊าซ LPG ในช่วงกลางปีที่ผ่านมาได้ส่งผลให้จำนวนรถยนต์ที่ใช้ก๊าซ LPG ในประเทศไทยที่จดทะเบียนอย่างถูกต้องกับกรมขนส่งทางบก ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2551 ที่ผ่านมามีสูงถึง 491,799 คัน ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นจากในช่วงสิ้นปี 2550 ถึง 169.13% อันเป็นอัตราการขยายตัวมากเป็นประวัติการณ์

 ต้นทุนการประกอบกิจการไม่สูงมากนัก สถานีบริการก๊าซ LPG หนึ่งแห่งจะใช้เงินลงทุนโดยประมาณ 5 – 10 ล้านบาท ซึ่งถือว่าต่ำกว่าการลงทุนในสถานีบริการก๊าซ NGV ที่จะต้องใช้เงินลงทุนประมาณสถานีละ 40 ล้านบาท ดังนั้น เมื่อคำนึงถึงค่าใช้จ่ายทางด้านต้นทุนการดำเนินกิจการแล้ว ผู้ประกอบการที่พิจารณาจะเปิดให้บริการสถานีก๊าซสำหรับรถยนต์ส่วนมากจึงตัดสินใจที่จะจำหน่ายก๊าซ LPG มากกว่าก๊าซ NGV

 ค่าการตลาดจูงใจ ค่าการตลาดของการจำหน่ายก๊าซ LPG ที่ผู้ประกอบการสถานีจำหน่ายก๊าซ LPG แต่ละรายจะได้รับจากก๊าซ LPG แต่ละลิตรค่อนข้างสูง และแน่นอน ไม่ผันผวนเมื่อเปรียบเทียบกับค่าการตลาดของน้ำมันสำเร็จรูป (รายละเอียดแสดงในแผนภาพ) จึงทำให้รายรับของผู้ประกอบการสถานีก๊าซ LPG ค่อนข้างที่จะแน่นอน โดยในปี 2551 นี้ ค่าการตลาดสำหรับก๊าซ LPG มีค่าคงที่เฉลี่ยอยู่ที่ลิตรละ 1.76 บาท ซึ่งสูงกว่าค่าการตลาดเฉลี่ยของผลิตภัณฑ์น้ำมันทั้งหมดในตลาดซึ่งมีความผันผวนสูง โดยนับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจนถึงสิ้นเดือนกันยายน 2551 ค่าการตลาดโดยเฉลี่ยของผลิตภัณฑ์น้ำมันอยู่ที่ลิตรละ 1.28 บาท

ผู้ประกอบการงัดกลยุทธ์...ดึงดูดผู้มาใช้บริการ

ด้วยจำนวนสถานีบริการก๊าซ LPG ที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในปี 2551 นี้ จึงเริ่มที่จะมีสถานีบริการก๊าซ LPG กระจุกตัวอยู่ในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงกัน ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องงัดกลยุทธ์ต่างๆ เพื่อดึงดูดผู้ใช้รถยนต์ให้หันมาใช้บริการในสถานีตนเอง ซึ่งกลยุทธ์สำคัญที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย ได้แก่

 แจกของแถม กลยุทธ์การแจกของแถมถือเป็นกลยุทธ์ยอดนิยมที่เกิดขึ้นมาช้านาน โดยมีเป้าหมาย คือ การกระตุ้นผู้ใช้บริการให้เติมก๊าซในแต่ละครั้งให้ครบตามจำนวนที่สถานีบริการกำหนด เพื่อรับของแถม ซึ่งสินค้าที่นิยมแจกเป็นของแถม ได้แก่ น้ำดื่ม ยาสีฟัน ผงซักฟอก และกระดาษชำระ เป็นต้น

 สะสมแต้ม แลกรางวัล กลยุทธ์ดังกล่าวได้เริ่มเกิดขึ้นในระยะหลังมานี้ ถือเป็นกลยุทธ์ดึงดูดให้ผู้ใช้บริการกลับมาใช้บริการที่สถานีบริการอย่างต่อเนื่อง โดยผู้เข้าใช้บริการเติมก๊าซจะได้รับบัตรสะสมแต้มตามมูลค่าการเติมแต่ละครั้ง ซึ่งหากสามารถสะสมแต้มได้ครบตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ก็จะสามารถนำบัตรสะสมแต้มดังกล่าวมาแลกรับรางวัล โดยของรางวัลที่แลกได้มักจะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เช่น พัดลม เตารีด โทรทัศน์สี เป็นต้น

 ใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต รับส่วนลดเพิ่ม กลยุทธ์นี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างธนาคารที่ให้บริการบัตรเครดิต และสถานีบริการแต่ละแห่งที่ร่วมกันจัดกิจกรรม โดยผู้ที่ชำระค่าก๊าซ LPG ผ่านบัตรเครดิตที่ร่วมรายการกับสถานีบริการก๊าซ LPG ที่ระบุไว้ จะได้รับเงินคืนประมาณ 1 – 3% จากค่าก๊าซที่เติมไป ซึ่งผู้ใช้บริการจะได้รับประโยชน์จากการเสียค่าใช้จ่ายในการเติมก๊าซที่ลดลง ขณะที่ธนาคารที่ให้บริการบัตรเครดิตและสถานีบริการก๊าซที่ร่วมโครงการก็จะได้ยอดการจำหน่ายที่เพิ่มขึ้น

 ลดราคาจำหน่าย กลยุทธ์การลดราคาจำหน่ายก๊าซ LPG นี้ ในอดีตจะยังคงไม่นิยมใช้กันเท่าไรนัก เนื่องจากจะทำให้ผู้ประกอบการต้องเสียรายได้มากเกินความจำเป็น แต่ในระยะหลังที่สถานีบริการก๊าซ LPG เริ่มที่จะตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกันมากขึ้น กลยุทธ์ดังกล่าวจึงเริ่มเป็นที่นิยม โดยสถานีบริการก๊าซ LPG บางแห่งจะยอมลดราคาจำหน่ายลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสถานีใกล้เคียงประมาณ 10 – 20 สตางค์ต่อลิตร เพื่อสร้างแรงจูงใจในการเติมแก่ผู้ใช้บริการ

ภาครัฐเตรียมควบคุมสถานีบริการก๊าซ...เน้นความปลอดภัย

ในปัจจุบันภาครัฐโดยกระทรวงพลังงานกำลังพิจารณาปรับปรุงกฎกระทรวงควบคุมสถานีบริการก๊าซปิโตรเลียมเหลว โดยจะดำเนินการจัดทำเป็นหลักเกณฑ์มาตรฐานในการพิจารณาออกใบอนุญาตประกอบการสถานีบริการก๊าซปิโตรเลียมเหลวเพื่อลดอัตราการเพิ่มของสถานีบริการในเขตชุมชน รวมถึงเพื่อแก้ปัญหาที่จะมีผลกระทบต่อประชาชน เพื่อประโยชน์แก่การป้องกัน หรือระงับเหตุเดือดร้อนรำคาญ หรือความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ซึ่งรายละเอียดในร่างกฎกระทรวงที่จะปรับปรุงดังกล่าวมีรายละเอียดที่น่าสนใจ เช่น สถานีบริการจะต้องอยู่ห่างจากสถานทูต สถานศึกษา สถานพยาบาล ศาสนสถาน โบราณสถาน สนามกีฬาไม่น้อยกว่า 200 เมตร ซึ่งจากเดิมกำหนดไว้เพียงอยู่ห่างจากสถานที่ต่างๆ ดังกล่าวไม่น้อยกว่า 60 เมตร ประเด็นด้านการก่อสร้างและการจัดวางตำแหน่งของอุปกรณ์ต่างๆ ภายในสถานีบริการที่จะมีรายละเอียดกำหนดที่มากขึ้น รวมไปถึงการกำหนดปริมาณการบรรจุก๊าซสูงสุดให้กับถังก๊าซรถยนต์ขนาดความจุต่างๆ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยภายในสถานีบริการให้มีมากขึ้น เป็นต้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าหากกฎกระทรวงดังกล่าวแล้วเสร็จและมีผลบังคับใช้จะส่งผลกระทบต่ออัตราการขยายตัวของสถานีบริการก๊าซ LPG ในเขตชุมชนให้ขยายตัวได้อย่างจำกัดมากขึ้น และคาดว่าการแข่งขันช่วงชิงผู้ใช้บริการระหว่างสถานีบริการก๊าซ LPG ที่ตั้งอยู่ในเขตชุมชนน่าจะผ่อนคลายลง ขณะที่สถานีบริการก๊าซ LPG ที่ตั้งอยู่ในเขตชานเมืองจะมีการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น ทั้งจากการแข่งขันระหว่างสถานีบริการในบริเวณใกล้เคียงกันเพื่อจูงใจให้ผู้ใช้รถยนต์ในเขตชานเมืองเข้ามาใช้บริการในสถานีของตนเอง และยังต้องทำการแข่งขันสร้างแรงจูงใจให้ผู้ใช้รถยนต์ในเขตชุมชนหันมาใช้บริการ อย่างไรก็ตาม กฎกระทรวงใหม่น่าจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้แก่ผู้ใช้บริการตามสถานีบริการก๊าซ LPG ต่างๆ ได้มากขึ้น

บทสรุป

ธุรกิจสถานีบริการก๊าซ LPG ในปี 2551 ถือได้ว่ามีการเติบโตที่สูง ดังสังเกตได้จากจำนวนสถานีบริการก๊าซ LPG ที่มีปริมาณเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากปัจจัยที่สำคัญ คือ จำนวนรถยนต์ที่หันมาติดตั้งระบบก๊าซ LPG ได้เพิ่มจำนวนมากขึ้นเป็นประวัติการณ์ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากราคาน้ำมันภายในประเทศในปี 2551 ที่ปรับตัวสูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับปี 2550 เหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ค่าการตลาดจากการจำหน่ายก๊าซที่ผู้ประกอบการได้รับที่ค่อนข้างสูง และไม่ผันผวนเมื่อเทียบกับค่าการตลาดน้ำมันประเภทต่างๆ รวมถึงต้นทุนการประกอบธุรกิจที่ไม่สูงมากจนเกินไป โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับสถานีบริการก๊าซ NGV ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจสถานีบริการก๊าซ LPG มีการเติบโตมากขึ้น ทั้งนี้ การเติบโตของธุรกิจสถานีบริการก๊าซ LPG ได้ก่อให้เกิดการแข่งขันที่นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากสถานีบริการก๊าซ LPG ที่เปิดใหม่ตั้งอยู่ในตำแหน่งที่ใกล้กับสถานีบริการเดิม จึงก่อให้เกิดการแข่งขันแย่งชิงลูกค้าโดยใช้กลยุทธ์ต่างๆ มากขึ้นทั้งการแจกของแถม การสะสมแต้มแลกของรางวัล การรับส่วนลดเพิ่มจากการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต จนไปถึงการลดราคาจำหน่ายก๊าซลงเพื่อจูงใจให้ลูกค้าหันมาใช้บริการในสถานีมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ประเด็นทางด้านการปรับโครงสร้างราคาจำหน่ายก๊าซ LPG ภายในประเทศที่ยืดเยื้อมาจากรัฐบาลชุดที่แล้ว ยังคงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากแม้ว่าภาครัฐจะดำเนินการปรับปรุง และเร่งประกาศใช้กฎกระทรวงเพื่อควบคุมการเปิดให้บริการสถานีก๊าซ LPG แต่หากราคาก๊าซ LPG ที่จำหน่ายภายในประเทศยังคงถูกพยุงให้อยู่ในระดับที่ต่ำอยู่ต่อไป โดยที่ราคาจำหน่ายภายในประเทศไม่ได้สะท้อนถึงต้นทุนราคาก๊าซ LPG ที่แท้จริง (ภาครัฐต้องแบกรับภาระส่วนต่างราคาก๊าซ LPG ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศตามราคาตลาดโลกที่สูง ขณะที่ต้องจำหน่ายในประเทศในระดับราคาที่ต่ำ) ย่อมจะส่งผลให้ยังคงมีรถยนต์ที่หันมาติดตั้งและใช้ก๊าซ LPG เพิ่มจำนวนมากขึ้น และสถานีบริการก็จะยังคงขยายจำนวนเปิดให้บริการเพิ่มมากขึ้น ขณะที่การแข่งขันในธุรกิจสถานีบริการก๊าซ LPG ก็จะทวีความรุนแรงมากขึ้น ในส่วนของภาครัฐก็จะต้องแบกรับภาระส่วนต่างราคาก๊าซ LPG จากการนำเข้าในมูลค่าสะสมที่สูงขึ้นเรื่อยๆ อันจะเป็นภาระหนักที่จะส่งผลกระทบต่อฐานะการคลังของประเทศ เนื่องจากภาครัฐยังคงให้การชดเชยราคาก๊าซ LPG อยู่ต่อไปนั่นเอง

. . .


อัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มชะลอลง ... เพิ่มทางเลือกให้กับการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจเพื่อรับมือผลกระทบจากวิกฤติในภาคการเงินสหรัฐฯ
โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ท่ามกลางความหวั่นวิตกของหลายฝ่ายต่อปัญหาวิกฤติในภาคการเงินของสหรัฐฯ และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจไทย ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจไทยล่าสุดในเดือนสิงหาคม 2551 บ่งชี้การชะลอตัวแทบทุกด้าน ทั้งการบริโภค การลงทุน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การส่งออกซึ่งชะลอตัวลงไปค่อนข้างมาก แต่สัญญาณบวกอย่างหนึ่งที่ปรากฏคือ แรงกดดันราคาสินค้าที่ชะลอลง เห็นได้จากตัวเลขเงินเฟ้อของเดือนกันยายน 2551 ที่กระทรวงพาณิชย์ได้ประกาศเมื่อวานนี้ (วันที่ 1 ตุลาคม 2551) ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงได้วิเคราะห์สถานการณ์แนวโน้มภาวะเงินเฟ้อในระยะเดือนถัดๆ ไป โดยมีประเด็นสำคัญ ต่อไปนี้

 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนกันยายนที่ผ่านมา อยู่ที่ร้อยละ 6.0 (Year-on-Year) ชะลอลงจากร้อยละ 6.4 ในเดือนก่อนหน้า ต่ำที่สุดในรอบ 5 เดือน และต่ำกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ที่ร้อยละ 6.2 ขณะเดียวกัน อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือนนี้อยู่ที่ร้อยละ 2.6 ชะลอลงจากร้อยละ 2.7 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งต่ำกว่าเพดานกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย (ที่ร้อยละ 0.0-3.5) ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2

 การปรับตัวลดลงของอัตราเงินเฟ้อเดือนนี้ เป็นผลมาจากราคาข้าวและธัญพืชลดต่ำลง ขณะที่ราคาในหมวดยานพาหนะและน้ำมันเชื้อเพลิงปรับลดลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก อย่างไรก็ดี ราคาอาหารสดประเภทผักและผลไม้ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วม ประกอบกับเป็นช่วงปลายฤดูกาล จึงส่งผลให้ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของเดือนกันยายน 2551 เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม (Month-on-Month) สูงขึ้นร้อยละ 0.2 สำหรับค่าเฉลี่ยของอัตราเงินเฟ้อในไตรมาสที่ 3 ปี 2551 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 7.3 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 3.0 ลดลงจากในไตรมาสที่ 2 ที่อยู่ที่ร้อยละ 7.5 และ 2.8 ตามลำดับ

 ทั้งนี้ แนวโน้มเงินเฟ้อในระยะเดือนถัดๆ ไป แม้ว่าในเดือนตุลาคมจะมีปัจจัยหนุนให้ดัชนีราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า (Month-on-Month) จากผลของราคาอาหารสดที่สูงขึ้น เนื่องจากพืชผลเสียหายจากภาวะน้ำท่วม ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย รวมทั้งเป็นช่วงเทศกาลกินเจ ทำให้มีความต้องการบริโภคพืชผลประเภทผักสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม คาดว่าอัตราเงินเฟ้อ (Y-o-Y) น่าจะยังคงปรับตัวลดลง โดยส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานเปรียบเทียบที่สูงในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีก่อน ขณะที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มชะลอตัว

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนตุลาคมจะต่ำลงมาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 5.4-5.7 และอาจชะลอลงอีกในช่วง 2 เดือนสุดท้าย ถ้าราคาน้ำมันยังคงทรงตัวใกล้เคียงกับปัจจุบัน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานน่าจะรักษาระดับใกล้เคียงกับเดือนล่าสุดที่ประมาณร้อยละ 2.6 (ต่ำกว่าเพดานกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย) ซึ่งจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยของทั้งปี 2551 อาจอยู่ที่ประมาณร้อยละ 6.2 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 2.5 โดยสูงกว่าค่าเฉลี่ยของปี 2550 ที่ผ่านมา ซึ่งเท่ากับร้อยละ 2.3 และ 1.1 ตามลำดับ

ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อที่ผ่อนคลายลงนับได้ว่าเป็นปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจ ทั้งในด้านภาระค่าครองชีพที่ลดลงน่าจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการใช้จ่ายของผู้บริโภค ขณะที่ในด้านการดำเนินนโยบายการเงิน ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจโลกที่เผชิญปัญหาวิกฤตการณ์การเงินครั้งรุนแรงของสหรัฐฯ และกำลังลุกลามมาสู่ภูมิภาคยุโรป ทำให้หลายฝ่ายวิตกกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโลกในระยะข้างหน้าที่อาจจะชะลอตัวลงลึกและยาวนานกว่าที่คาดการณ์ไว้ แรงกดดันเงินเฟ้อที่ลดลงนี้ จะทำให้ทางการมีทางเลือกในเชิงนโยบายมากขึ้นเพื่อรับมือกับความผันผวนภายนอกประเทศ ที่อาจจะส่งผลกระทบสะท้อนมาสู่ภาคธุรกิจส่งออก รวมทั้งตลาดเงินตลาดทุนของไทย

อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญที่ยังคงต้องติดตามก็คือ สถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลก ที่แม้ว่าจะได้ปรับตัวลง แต่เป็นที่สังเกตว่าราคาน้ำมันเคลื่อนไหวในลักษณะที่มีความผันผวนสูง เนื่องจากทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลก ณ ขณะนี้ ไม่เพียงแต่ขึ้นอยู่กับปัจจัยในด้านอุปสงค์เพียงอย่างเดียว แต่ยังผันแปรตามมุมมองของตลาดการเงินที่มีต่อทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ และค่าเงินดอลลาร์ฯ นอกจากนี้ ยังต้องติดตามทิศทางราคาสินค้าเกษตร ที่ภาวะน้ำท่วมในช่วงที่ผ่านมาได้สร้างความเสียหายต่อพื้นที่การเกษตร ประมงและปศุสัตว์ ซึ่งหากสถานการณ์ภัยธรรมชาติยังคงดำเนินต่อไป ก็อาจเป็นตัวแปรให้ราคาสินค้าเกษตรกลับไปมีระดับสูงขึ้นได้ 

. . .


Create Date : 02 ตุลาคม 2551
Last Update : 2 ตุลาคม 2551 14:45:37 น. 1 comments
Counter : 642 Pageviews.

 
. . .


บสย. ลดค่าธรรมเนียมช่วยเหลือลูกค้าและ SMEs ที่ประสบอุทกภัย

บสย. ออกมาตรการลดค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อ คิดอัตราพิเศษร้อยละ 1 ต่อปี ระยะเวลา 6 เดือน ช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ตามประกาศของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย

นายทวีศักดิ์ ฟุ้งเกียรติเจริญ กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กล่าวว่า คณะกรรมการ บสย. มีมติเห็นชอบช่วยเหลือลูกค้า บสย. และผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยในจังหวัดต่างๆตามประกาศของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ผู้ประกอบการที่ประสบอุทกภัยในการฟื้นฟูกิจการ

ทั้งนี้ ลูกค้าเดิมของ บสย. ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยและถึงกำหนดชำระค่าธรรมเนียมต่ออายุการค้ำประกันตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2551 – 31 มีนาคม 2552 และผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยและต้องการขอสินเชื่อใหม่และเพิ่มเติมจากสถาบันการเงินเพื่อใช้ฟื้นฟูกิจการ บสย. จะลดค่าธรรมเนียมค้ำประกันจากอัตราร้อยละ 1.75 ต่อปี เหลือร้อยละ 1 ต่อปี เป็นระยะเวลา 6 เดือน ส่วน 6 เดือนหลังและปีต่อไปเรียกเก็บอัตราปกติร้อยละ 1.75 ต่อปี โดย บสย. กำหนดวงเงินค้ำประกันไม่เกิน 2 ล้านบาทต่อราย

ขณะเดียวกัน บสย. ยังมีมาตรการให้ความร่วมมือกับสถาบันการเงินที่ลูกค้าได้รับการค้ำประกันสินเชื่อจาก บสย.ในการผ่อนปรนการพักชำระหนี้ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ย รวมทั้งการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อให้กิจการที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้

ตามประกาศของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ณ วันที่ 25 กันยายน 2551 มีพื้นที่ประสบอุทกภัย จำนวน 24 จังหวัด ประกอบด้วย แม่ฮ่องสอน พิจิตร พิษณุโลก สุโขทัย ตาก เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี เลย ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา หนองบัวลำภู อุบลราชธานี มุกดาหาร บุรีรัมย์ นครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ตราด จันทบุรี และกรณีที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยประกาศพื้นที่ประสบภัยเพิ่มเติม บสย. จะเพิ่มพื้นที่การช่วยเหลือลูกค้าตามประกาศของกรมฯ

. . .


โดย: loykratong วันที่: 2 ตุลาคม 2551 เวลา:14:47:00 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

loykratong
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]






ไม่มีอะไรขึ้นตลอด
ไม่มีอะไรลงตลอด
...ไม่มี the end of the world ...

Web Site Hit Counters

ราคาทองคำ
 

ราคาทองคำต่างประเทศ



Friends' blogs
[Add loykratong's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.