Group Blog
 
<<
มกราคม 2552
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
14 มกราคม 2552
 
All Blogs
 
กนง. ลดดอกเบี้ยร้อยละ 0.75 เหลือร้อยละ 2.00 -- รมว.แรงงานแจงช่วยค่าครองชีพจ่าย 2,000 บาท ครั้งเดียว

. . .


กนง. ลดดอกเบี้ยร้อยละ 0.75 เหลือร้อยละ 2.00 หวังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ


บอร์ด กนง.มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.75 มากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายเหลือร้อยละ 2.00 พร้อมส่งสัญญาณอีก 2 ปี แนวโน้มเงินเฟ้อติดลบ

การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 14 ม.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมมีมติให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน (อัตราดอกเบี้ยนโยบาย) ลงอีกร้อยละ 0.75 มาอยู่ที่ร้อยละ 2.00 ซึ่งเป็นอัตราการปรับลดลงมากกว่าที่ตลาดมีการคาดการณ์ไว้ในระดับร้อยละ 0.50

ทั้งนี้ กนง.คาดว่า อัตราเงินเฟ้อในช่วง 8 ไตรมาสถัดไป (ประมาณ 2 ปี) มีโอกาสติดลบจากผลกระทบภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลก และราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง

การปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้ เป็นการปรับลดต่อเนื่องจากการประชุมครั้งที่แล้ว เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2551 ซึ่งปรับลดดอกเบี้ยลงร้อยละ 1.00 โดยอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 2.00 ถือว่าต่ำสุดในรอบ 4 ปี ซึ่งเป็นระดับเดียวกับเมื่อเดือนมกราคม 2548

ตั้งแต่มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา อัตราดอกเบี้ยนโยบายเคยลดลงไปต่ำสุดที่ระดับร้อยละ 1.25 ในช่วงเดือนมิ.ย.46-ก.ค.47 หลังจากนั้นมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยขึ้นไปสูงสุดที่ระดับร้อยละ 5.00 ในช่วงเดือนมิ.ย.49-ธ.ค.50

โดยในปี 51 ที่ผ่านมา อัตราดอกเบี้ยนโยบายทรงตัวอยู่ที่ระดับร้อยละ 3.25 และปรับขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางปี เนื่องจากราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น ส่งผลให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นตาม แต่ในช่วงปลายปีเมื่อราคาน้ำมันลดลง เงินเฟ้อมีแนวโน้มจะติดลบ กนง.ก็มีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงตามลำดับ

นางสาวดวงมณี วงศ์ประทีป ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า จากการประเมินภาวะเศรษฐกิจ พบว่ายังมีความเสี่ยงของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หลังจากการส่งออกเริ่มหดตัว การบริโภค การลงทุนชะลอตัว ซึ่งแม้ว่าจะมีการอัดฉีดเงินงบประมาณ 1.15 แสนล้านบาทของรัฐบาล แต่แรงกระตุ้นจากภาคการคลังคงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง และคาดว่าจะมีการเบิกจ่ายได้ประมาณมีนาคม-เมษายน 2552

ดังนั้น นโยบายการเงินจึงจำเป็นต้องเข้ามาเสริมนโยบายการคลัง กนง.จึงมีมติให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้ง และพร้อมที่จะดำเนินนโยบายการแบบผ่อนคลายเพิ่มเติมเพื่อช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

กนง.เชื่อว่า เมื่อมีการลดดอกเบี้ยแล้ว ประชาชนจะมีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น และธนาคารพาณิชย์จะมีการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในระยะต่อไป โดยระยะเวลาการส่งผ่านน่าจะเร็วขึ้น

สำหรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริง อยู่ที่ร้อยละ 1.6 ดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน อยู่ที่ร้อยละ 3.0 ดอกเบี้ยเงินกู้ MLR ร้อยละ 6.3
น.ส.ดวงมณี กล่าวว่า ในวันที่ 23 มกราคมนี้ ธปท.จะมีการทบทวนอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยใหม่ โดยยอมรับว่า เศรษฐกิจไทยได้ชะลอตัวลงมากกว่าที่เคยประเมินไว้ โดยกรอบการประเมินใหม่น่าจะอยู่ที่ร้อยละ 0.5-2.5 อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะติดลบ เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลงมาก

. . .



ประธานหอการค้าไทยหนุน กนง.ลดดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.75

นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีที่คณะ กรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.75 ว่า ภาคเอกชนเห็นด้วย เพราะเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับภาวะดอกเบี้ยตลาดโลก เนื่องจากภาพรวมดอกเบี้ยในตลาดโลกไม่สูง อัตราเงินเฟ้อก็ต่ำ ซึ่งจะเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการลดต้นทุนลงได้

อย่างไรก็ตาม ธปท.คงต้องติดตามว่าการใช้นโยบายการเงินหลังจากนี้จะสามารถกระตุ้นภาพรวมเศรษฐกิจได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งจากการที่รัฐบาลอัดฉีดงบกลางปีงบประมาณ 2552 อีกกว่า 1.15 แสนล้านบาท ประกอบกับ กนง.ลดดอกเบี้ยลงครั้งนี้ น่าจะช่วยเสริมสภาพคล่องภาพรวมธุรกิจและลดภาระค่าครองชีพ ทำให้ผู้ประกอบการ และผู้บริโภคเริ่มมีความหวัง แต่มาตรการต่างๆ ที่ออกมาจะต้องมีความชัดเจนและเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

. . .



ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้ กนง.ส่งสัญญาณดอกเบี้ยมีทิศทางลดลงต่อ

บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ระบุแม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะมีแรงหนุนหลังจากที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.75 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่ายังคงมีอีกหลายประเด็นที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่องต่อไป

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอาจจะเริ่มพลิกกลับมามีอัตราที่ติดลบตั้งแต่เดือน ม.ค. 2552 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอาจโน้มลงสู่กรอบด้านต่ำของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ โดยแรงกดดันเงินเฟ้อที่ได้ผ่อนคลายลงอย่างมาก จะเป็นปัจจัยที่เอื้อให้ กนง.มีพื้นที่มากพอสมควรในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะถัดไปเพื่อดูแลเศรษฐกิจ ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยในระบบ โดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของสถาบันการเงินอาจไม่ถูกปรับลดลงมากเท่ากับขนาดการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เป็นผลจากประเด็นด้านความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของการปล่อยสินเชื่อ และต้นทุนในการตั้งสำรองหากสินเชื่อที่ปล่อยไปกลายเป็นหนี้เสีย

นอกจากนี้ ประเด็นสำคัญที่จะต้องจับตาในระยะถัดไป คือ การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่อาจตกอยู่ภายใต้แรงกดดันจากพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอ ตลอดจนแนวโน้มการส่งออกที่อาจจะหดตัวโดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 ท่ามกลางแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก คงจะทำให้ ธปท.ต้องเผชิญกับโจทย์ที่ท้าทายในการบริหารจัดการเสถียรภาพของค่าเงินบาท เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจไทย พร้อมกับการสร้างสภาวะที่ผ่อนคลายทางการเงินเพื่อบรรเทาความเสี่ยงในช่วงขาลงของเศรษฐกิจ

. . .



รมว.แรงงานชี้แจงเงินช่วยเหลือค่าครองชีพจ่ายเงินให้ 2,000 บาท ครั้งเดียวเท่านั้น โดยสปส. และกรมบัญชีกลางจะดูแลส่วนของผู้ประกันตนกับกองทุนประกันสังคม สำหรับข้าราชการและบุคคลากรภาครัฐทางกระทรวงมหาดไทยจะเป็นผู้รับผิดชอบ

นายไพฑูรย์ แก้วทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึง มาตรการเพิ่มรายได้ เพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชนและบุคลากรภาครัฐ รวมทั้งผู้ประกันตนที่มีรายได้ไม่เกิน 14,000 บาท วงเงิน 19,000 ล้านบาทว่า เป็นการนำเงินมาช่วยเหลือประชาชนที่มีรายได้ต่ำ และกระตุ้นระบบเศรษฐกิจ ตอนนี้หลายคนยังเข้าใจผิดกับหลักการของเงินดังกล่าวว่า จะให้อย่างไรและจำนวนเท่าไหร่

นายไพฑูรย์ กล่าวว่า กระทรวงแรงงานได้รับอนุมัติเงิน 16,000 ล้านบาทให้ผู้ประกันตนกว่า 8 ล้านคน โดยจะมอบให้สำหรับผู้ที่มีฐานเงินเดือนไม่ถึง 14,000 บาท คนละ 2,000 บาท เพียงครั้งเดียวเท่านั้น

คาดว่าภายหลังการประชุมสภาผู้แทนราษฎรจะสามารถโอนเงินเข้าบัญชีของผู้ประกันตนได้ภายในเดือนเมษายน โดยสำนักงานประกันสังคมจะเป็นผู้รับผิดชอบฐานข้อมูล พร้อมกับวางระบบ เพื่อขอเลขบัญชีธนาคารของผู้ประกันตน จากนั้นจะนำเสนอกรมบัญชีกลาง เพื่อจ่ายเงินเข้าสู่บัญชีลูกจ้าง ที่เป็นผู้ประกันตนโดยตรงต่อไป

นายไพฑูรย์ กล่าวอีกว่า ส่วนบุคลากรภาครัฐ และข้าราชการที่มีฐานเงินเดือนไม่ถึง 14,000 บาท กระทรวงมหาดไทยจะเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการวางมาตรการให้การช่วยเหลือว่าจะนำเงินจำนวน 2,000 บาท จ่ายให้กับบุคลากรภาครัฐอย่างไร

โครงการการช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชนและบุคลากรภาครัฐ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากวิกฤตเศรษฐกิจที่มีต่อประชาชนและบุคลากรภาครัฐที่มีรายได้ต่ำ ประกอบด้วยผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม จำนวน 8,009,200 ราย และข้าราชการ ลูกจ้าง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล จำนวน 1,476,623 ราย โดยรัฐบาลจะช่วยเหลือค่าครองชีพให้รายละ 2,000 บาท รวมเป็นวงเงิน 18,970.4 ล้านบาท

. . .



นักวิชาการติงการแจกเงินผู้มีรายได้ต่ำกว่า 14,000 บาทต่อเดือน รายละ 2,000 บาท เป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงเป้า ควรให้ความช่วยเหลือแรงงานที่ตกงานมากกว่า เพื่อเงินจะได้ถูกจับจ่ายใช้สอยในทันทีไม่ถูกนำไปเก็บออมหรือใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย

ดร.แล ดิลกวิทยรัตน์ ศาสตราพิชาน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในการเสวนาเรื่อง “วิกฤตเศรษฐกิจโลกต่อสภาวะการจ้างงานในประเทศไทย” ถึงมาตรการการอัดฉีดเงิน 1.15 แสนล้านบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยระบุว่า เป็นมาตรการที่ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ กระจัดกระจายเกินไป ไม่ได้มีการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนว่า ต้องการช่วยเหลือกลุ่มผู้ใช้แรงงาน โดยเฉพาะแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง ซึ่งเป็นกลุ่มสำคัญที่สุด

ดร.แล กล่าวว่า มาตรการช่วยเหลือแรงงานโดยเฉพาะการให้เงินผู้ที่มีเงินเดือนไม่ถึง 14,000 บาท จำนวน 2,000 บาท เป็นมาตรการที่ไร้ประโยชน์ และไม่เข้าใจว่ารัฐบาลทำเพื่ออะไร พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลมุ่งเน้นการหาเสียงมากกว่า

สำหรับมาตรการที่รัฐบาลควรจะทำ คือ ใส่เงินเพื่อช่วยเหลือแรงงานที่ถูกเลิกจ้างโดยตรง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และควรจะมีมาตรการชะลอการเลิกจ้าง หากรัฐบาลจ่ายเงินให้ผู้ถูกเลิกจ้าง ก็ทำให้เกิดแรงกระตุ้นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว เพราะผู้ที่ถูกเลิกจ้างจะนำเงินไปจับจ่ายใช้สอยทันที ไม่นำไปเก็บออมหรือซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย

นอกจากนี้ รัฐบาลควรจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง โดยมีตัวแทนนายจ้างและลูกจ้างร่วมมือกัน ส่วนวงเงินกองทุนจะเป็นเท่าใด รัฐบาลจะต้องมีการประเมินจำนวนคนถูกเลิกจ้าง และจัดสรรงบประมาณสำหรับกองทุนให้เพียงพอ

ดร.แล กล่าวว่า ไม่อยากเห็นนายจ้างมองแรงงานเป็นเพียงทรัพยากร ควรมองว่า เป็นมนุษย์ และไม่ต้องการให้นายจ้างฉวยโอกาสอ้างว่าภาวะเศรษฐกิจไม่ดีแล้วปลดคนงาน ทั้งๆที่ธุรกิจยังเดินหน้าได้ โดยผู้ประกอบการควรปรับตัวโดยการลดต้นทุนอื่นๆ ก่อนที่จะปลดคนงาน ซึ่งควรเป็นสิ่งที่ทำขั้นสุดท้าย

. . .


เอกชนมั่นใจมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะเริ่มเห็นผลมีนาคมนี้

นายกอบชัย จิราธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.15 แสนล้านบาท จะทำให้ภาคธุรกิจเกิดการกู้ยืม และทำการค้ามากขึ้น

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลควรเร่งเดินหน้ามาตรการต่างๆ อย่างเต็มที่ รวมถึงเดินหน้าเปิดประมูลรถไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยสร้างขวัญและกำลังใจให้กับนักลงทุนและมีเม็ดเงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจดีขึ้น

เชื่อว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจะเริ่มเห็นผลเดือนมีนาคมนี้ และเศรษฐกิจไทยจะมีอัตราการเติบโตไม่ติดลบ โดยจะขยายตัวได้ร้อยละ 2-3

สำหรับบริษัทฯ มีความมั่นใจในเศรษฐกิจไทยระยะยาวจะสามารถฟันฝ่าอุปสรรคได้ สำหรับยอดขายตลอดปีนี้คาดว่าจะเติบโตร้อยละ 20 จากปีที่ผ่านมา มียอดขายประมาณ 10,000 ล้านบาท

. . .



Create Date : 14 มกราคม 2552
Last Update : 14 มกราคม 2552 19:51:56 น. 1 comments
Counter : 632 Pageviews.

 
. . .







ณ จุดสงบ หลบหน้าม่าน มาด้านหลัง...
เก็บพลัง ไว้ที่พุง ก่อนตุ้งแช่...
เดี๋ยวอีกแป๊บ จะไปทา แป้งเด็กแคร์...
ทาจุ๊กกระแร้ แขนคางคอ...แล้วรอเธอ...

น้องเตียวเสี้ยน เธอร้องรำ อยู่หน้าม่าน
เธอจะส่ง สัญญาณให้ ฉันเสมอ...
ถึงตอนนั้น ฉันแต่งหล่อ ออกไปเจอ...
โอ้ละเน้อ...โอ้ละหนอ...แสนพอใจ...

เตร๊งเตรงเตร่งเตร๊งงง.....

. . .





โดย: loykratong วันที่: 14 มกราคม 2552 เวลา:21:33:01 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

loykratong
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]






ไม่มีอะไรขึ้นตลอด
ไม่มีอะไรลงตลอด
...ไม่มี the end of the world ...

Web Site Hit Counters

ราคาทองคำ
 

ราคาทองคำต่างประเทศ



Friends' blogs
[Add loykratong's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.