Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2552
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
 
13 มิถุนายน 2552
 
All Blogs
 
ราคาน้ำมัน และอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรระยะยาว : ความท้าทายของเศรษฐกิจไทย

...

ราคาน้ำมัน และอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรระยะยาว :
ความท้าทายของเศรษฐกิจไทย

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

การปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์อย่างรวดเร็วในตลาดโลก ได้ส่งผลกระทบที่สำคัญหลายด้านต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ และไทย โดยในด้านหนึ่งนั้น การทะยานขึ้นของราคาน้ำมันเหนือระดับ 70 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล ได้กระตุ้นให้เกิดความกังวลต่อภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งได้ส่งผลต่อเนื่องไปหนุนให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ระยะ 10 ปี พุ่งขึ้นใกล้ระดับสำคัญทางจิตวิทยาที่ 4.00% ขณะที่ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยก็ปรับตัวเข้าใกล้ระดับ 4.20% ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ การปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วของแรงกดดันเงินเฟ้อ และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรดังกล่าวมีนัยสำคัญต่อทิศทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของทั้งสหรัฐฯ และไทยในรูปแบบที่มีความคล้ายคลึงกัน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีความเห็นต่อประเด็นเหล่านี้ ดังนี้ :-


 สภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ

 เงินเฟ้อและการคาดการณ์เงินเฟ้อ...มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น
แรงกดดันเงินเฟ้อในสหรัฐฯ อาจได้รับแรงหนุนจาก 2 ปัจจัยหลักในระยะถัดไป ประกอบด้วย การปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ตลอดจนสัญญาณของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

 น้ำมันพุ่ง...แรงกดดันขาขึ้นของเงินเฟ้อ เป็นความจริงที่ว่า ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วนั้น เป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดความกังวลต่อภาวะเงินเฟ้อ โดยในช่วงตลาดนิวยอร์กวันที่ 11 มิถุนายน 2552 ราคาน้ำมันดิบในตลาดล่วงหน้า NYMEX ทะยานขึ้นทะลุระดับ 73 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล และเข้าทำสถิติสูงสุดในรอบกว่า 7 เดือนที่ระดับประมาณ 73.23 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล โดยได้รับแรงหนุนที่สำคัญจาก การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯ ความหวังต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก การปรับลดลงมากเกินคาดของสต็อกน้ำมันดิบ

 สัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ...หนุนการคาดการณ์เงินเฟ้อ พัฒนาการของเครื่องชี้ที่สำคัญของเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มสะท้อนสัญญาณที่มีเสถียรภาพมากขึ้น ซึ่งบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจผ่านพ้นช่วงระยะเวลาที่แย่ที่สุดมาแล้ว และทำให้การคาดการณ์เงินเฟ้อทยอยปรับตัวสูงขึ้น

 การขาดดุลการคลังในระดับสูง ... ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นตามมาจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ

ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ได้เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการในช่วงเดือนธันวาคม 2550 ก่อให้เกิดผลกระทบที่ตามมาหลายประการต่อฐานะการคลังของรัฐบาลสหรัฐฯ โดยการชะลอ/ทรุดตัวลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจนั้น ทำให้รายได้จากการเก็บภาษีลดลง ซึ่งก็ทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ มีความจำเป็นต้องก่อหนี้เพิ่มเติม และทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งมีภาระหนี้ในระดับที่สูงมากอยู่แล้วในช่วงก่อนวิกฤต ต้องแบกรับภาระหนี้เพิ่มมากขึ้นไปอีก

 สัญญาณเชิงลบของฐานะการคลังสหรัฐฯ ถูกตอกย้ำด้วยการที่กระทรวงการคลังสหรัฐฯ มียอดขาดดุลงบประมาณในเดือนเมษายน 2552 ซึ่งนับเป็นการบันทึกยอดขาดดุลเดือนเมษายนเป็นครั้งแรกในรอบ 26 ปี (นับตั้งแต่ปี 2526) โดยตามปกติ เดือนเมษายนของทุกปี จะเป็นเดือนที่ดุลการคลังมักจะบันทึกยอดที่เกินดุล เนื่องจากจะเป็นเดือนที่อยู่ในรอบการจ่ายภาษีบุคคลธรรมดาของประชาชนสหรัฐฯ

 ภาพรวมในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณปัจจุบัน สหรัฐฯ มียอดขาดดุลงบประมาณสะสมอยู่ที่ 9.92 แสนล้านดอลลาร์ฯ เทียบกับตัวเลขคาดการณ์ยอดขาดดุลปีนี้ที่ระดับ 1.85 ล้านล้านดอลลาร์ฯ (คิดเป็นประมาณเกือบ 13.0% ของ GDP สหรัฐฯ) ขณะที่ ตลาดการเงินคาดการณ์ว่า รัฐบาลสหรัฐฯ อาจต้องกู้ยืมเงินมากถึง 3.0 ล้านล้านดอลลาร์ฯ เพื่อชดเชยฐานะการคลังที่ย่ำแย่ดังกล่าว (แม้กระทรวงการคลังสหรัฐฯ คาดว่า อาจต้องทำการกู้ยืมเงินสุทธิก้อนใหม่ 2 ล้านล้านดอลลาร์ฯ สำหรับปีงบประมาณ 2552) เทียบกับระดับ 892.0 พันล้านดอลลาร์ฯ ในปีงบประมาณ 2551




 แรงกดดันเงินเฟ้อ/เงินเฟ้อคาดการณ์ และปัญหาการคลังสหรัฐฯ ... หนุนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ แต่กดดันบรรยากาศโดยรวมในตลาดพันธบัตร

ความกังวลต่อภาวะเงินเฟ้ออันเนื่องมาจากการปรับเพิ่มของราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์อย่างรวดเร็วในตลาดโลก (ดัชนีราคาสินค้าโภคภัณฑ์ The Reuters/Jefferies CRB Index ซึ่งประกอบด้วยสินค้าโภคภัณฑ์ 19 ชนิด ปรับตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 7 เดือน หรือทะยานขึ้นกว่า 30.2% (ณ วันที่ 10 มิถุนายน 2552) จากระดับต้นเดือนมีนาคม 2552 ซึ่งเป็นช่วงต่ำสุดของวัฎจักรขาลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์รอบล่าสุดระหว่างเดือนกรกฎาคม 2551-กุมภาพันธ์ 2552) ตลอดจนปัญหาการขาดดุลการคลังของรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ถูกสะท้อนผ่านมายังผลการประมูลพันธบัตรใหม่ของรัฐบาลสหรัฐฯ อย่างชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะในการประมูลพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ช่วง 2 ครั้งล่าสุด (พันธบัตรสหรัฐฯ รุ่นที่เคยออกจำหน่ายไปแล้ว อายุ 10 ปี มูลค่า 1.9 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ และพันธบัตรสหรัฐฯ อายุ 30 ปี มูลค่า 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ)

ทั้งนี้ การประมูลพันธบัตรสหรัฐฯ ทั้ง 2 ครั้งเกิดขึ้นในช่วงวันที่ 10-11 มิถุนายน 2552 ที่ผ่านมา และนับเป็นด่านทดสอบแรกสำหรับความสามารถในการกู้ยืมระยะยาวของรัฐบาลสหรัฐฯ นับตั้งแต่นักลงทุนเริ่มตั้งข้อสงสัยในเดือนพฤษภาคม 2552 ว่า การทะยานขึ้นของภาระการคลัง อาจทำให้สหรัฐฯ สูญเสียอันดับความน่าเชื่อถือที่ 'AAA' โดยผลการประมูลสะท้อนภาพที่ชัดเจนว่า แม้ว่านักลงทุนจะยังคงให้ความสนใจต่อการประมูลพันธบัตรใหม่ของรัฐบาลสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง แต่ก็ต้องการอัตราผลตอบแทนของพันธบัตร (ซึ่งก็คือ ต้นทุนดอกเบี้ยที่รัฐบาลสหรัฐฯ จะต้องแบกรับ) ที่เพิ่มมากขึ้นเพื่อชดเชยความกังวลในประเด็นดังกล่าวด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ ระดับที่สูงที่สุดของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรใน 2 ล็อตนี้ (Yield Awarded) พุ่งขึ้นมากเมื่อเทียบกับการประมูลในรอบก่อนหน้า โดยระดับอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรระยะ 10 ปี เพิ่มขึ้นไปถึงระดับ 3.990% ซึ่งนับเป็นระดับที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2551 ขณะที่ อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรระยะ 30 ปี เพิ่มขึ้นเป็น 4.720% ซึ่งนับเป็นระดับที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2550

 การพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ... นัยต่อตลาดการเงิน และนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ
แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ จะยังคงทรงตัวอยู่ในระดับต่ำในขณะนี้ (อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ -0.6% ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 1.9% ในเดือนเมษายน 2552) แต่การปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วของราคาพลังงาน โดยเฉพาะน้ำมัน ตลอดจนราคาสินค้าโภคภัณฑ์ท่ามกลางการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯ นั้น อาจทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นในระยะถัดไป ทั้งนี้ ปัจจัยด้านเงินเฟ้อดังกล่าวผนวกกับความกังวลต่อปริมาณอุปทานที่อาจเพิ่มมากขึ้นเพื่อชดเชยการขาดดุลการคลังอันเนื่องมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ได้ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ได้ทะยานขึ้นอย่างต่อเนื่องนับจากต้นปี 2552

 นัยโดยสังเขปต่อตลาดดอกเบี้ย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ ตลอดจนสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่อาจมีความชัดเจนมากขึ้นในช่วงปลายปี 2552 จะเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดแนวโน้มขาขึ้นของอัตราเงินเฟ้อและเงินเฟ้อคาดการณ์ ซึ่งก็จะมีผลต่อเนื่องมาทำให้อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น พร้อมๆ ไปกับอัตราดอกเบี้ยประเภทอื่นๆ อาทิ อัตราดอกเบี้ยจำนอง และต้นทุนการกู้ยืมเงินของภาคธุรกิจ

 นัยต่อนโยบายการเงินและการคลัง ... อาจต้องชะลอแรงกระตุ้นลงในระยะถัดไป

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า สภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในระยะถัดไปอาจปรับตัวสะท้อนสัญญาณการฟื้นตัวมากขึ้น โดยเงินเฟ้อและการคาดการณ์เงินเฟ้อจะกลายมาเป็นประเด็นสำคัญที่มีน้ำหนักมากขึ้นต่อการดำเนินนโยบายการเงิน และหนุนให้ตลาดการเงินปรับตัวรับการคาดการณ์เกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) แม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อาจจะอยู่ในช่วงเวลาแรกเริ่มของการฟื้นตัวจะบ่งชี้ว่า ช่วงจังหวะเวลาที่เหมาะสมของการคุมเข้มนโยบายการเงินของเฟดจะไม่เกิดขึ้นภายในปีนี้ก็ตาม

สำหรับในด้านนโยบายการคลัง ภาระหนี้สาธารณะและการขาดดุลการคลังในระดับสูงของรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งกำลังสร้างความเสี่ยงให้กับอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ อาจทำให้ทางการสหรัฐฯ ต้องส่งสัญญาณเพิ่มความเข้มงวดให้กับมาตรการทางด้านการคลังมากยิ่งขึ้น หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทยอยส่งสัญญาณฟื้นตัวที่ชัดเจนมากขึ้น โดยคาดว่า แรงกระตุ้นจากมาตรการภาครัฐ อาจเริ่มชะลอตัวลงตั้งแต่ในช่วงปีงบประมาณใหม่ 2553

 กรณีประเทศไทย...แรงกดดันเงินเฟ้อ และปัญหาการคลังอาจสร้างแรงกดดันต่อนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะถัดไปเช่นกัน
ความเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นปัจจัยภายนอกที่สำคัญที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางการปรับตัวของตลาดพันธบัตรของไทย นอกเหนือไปจากปัจจัยภายในที่สะท้อนได้จากสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ แนวโน้มของอัตราเงินเฟ้อ และสภาวะอุปทานของพันธบัตรรัฐบาลไทย ทั้งนี้ อันดับความน่าเชื่อถือของไทยซึ่งอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรของรัฐบาลไทยมักจะปรับตัวในระดับที่สูงกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ
หากทำการประเมินภาพในระยะถัดไป ก็อาจมีความเป็นไปได้ว่า ตลาดพันธบัตรของไทยอาจยังคงถูกกระทบจากปัจจัยกดดันทั้งภายในและภายนอกอย่างต่อเนื่องจากปัจจุบัน

 บรรยากาศการลงทุนในตลาดพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งน่าที่จะยังคงถูกกดดันจากการเพิ่มขึ้นของอุปทานพันธบัตรเพื่อระดมเงินใช้สนับสนุนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและชดเชยการขาดดุลงบประมาณของทางการสหรัฐฯ ตลอดจนการก่อตัวขึ้นของการคาดการณ์เงินเฟ้อ อาจส่งผลต่อเนื่องมากดดันบรรยากาศตลาดพันธบัตรของไทย หรือทำให้อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยยังคงมีแนวโน้มอยู่ในช่วงขาขึ้นด้วยเช่นกัน

 ทางด้านปัจจัยในประเทศที่กดดันตลาดพันธบัตรของไทยนั้น ก็มีความคล้ายคลึงกับของสหรัฐฯ โดยอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยอาจปรับตัวสูงขึ้นได้อีกท่ามกลางแนวโน้มเงินเฟ้อที่อาจกลับมาในช่วงปลายปี 2552 ตลอดจนความกังวลต่อภาระการขาดดุลการคลังของรัฐบาลไทยซึ่งอาจจะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า

ดังนั้น ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นตามมาอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยงในระยะถัดไป ก็คือ การปรับตัวสูงขึ้นของต้นทุนการระดมเงินของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งนั่นก็เป็นนัยว่า สภาพคล่องของตลาดพันธบัตรของไทยอาจทยอยตึงตัวมากขึ้นตามลำดับจากปริมาณอุปทานตราสารหนี้ของทั้งภาครัฐ และเอกชนที่เพิ่มสูงขึ้น และเมื่อประกอบเข้ากับแนวโน้มของการพลิกกลับมาขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงปี 2553 (แม้จะยังคงเป็นอัตราการขยายตัวที่ต่ำกว่าระดับศักยภาพ) และการปรับตัวสูงขึ้นของราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ ก็อาจทำให้ตลาดการเงินในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 เริ่มปรับตัวไปในทิศทางที่รับกับการคาดการณ์การทยอยปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงกลางปี 2553 ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการเร่งตัวขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ

โดยสรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจของไทยและสหรัฐฯ ในขณะนี้และในช่วง 1 ปีข้างหน้า มีความคล้ายคลึงกันในหลายๆ ประเด็น โดยเฉพาะประเด็นเรื่องของพัฒนาการเศรษฐกิจ (ที่ได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดของภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ และกำลังอยู่ในช่วงของการปรับตัวอย่างมีเสถียรภาพก่อนที่จะเข้าสู่จังหวะเวลาของการฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปี) แรงกดดันเงินเฟ้อ (ที่อาจกลับเข้ามาเป็นประเด็นที่มีน้ำหนักมากขึ้นต่อการดำเนินนโยบายการเงินของทั้ง 2 ประเทศ หากเศรษฐกิจมีความเข้มแข็งมากพอที่จะรองรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย) และปัญหาการคลัง (ที่เริ่มจะพบกับข้อจำกัดของการก่อหนี้สาธารณะมากขึ้นท่ามกลางความเสี่ยงของการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือและการปรับตัวขึ้นของต้นทุนของการก่อหนี้สาธารณะของทั้งรัฐบาลไทยและสหรัฐฯ) ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า จากข้อจำกัดด้านแนวโน้มขาขึ้นของเงินเฟ้อ และฐานะการคลังที่อ่อนแอของรัฐบาลดังกล่าว อาจทำให้การดำเนินนโยบายการเงินและการคลังของทั้ง 2 ประเทศ คงจะต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น ซึ่งก็เป็นนัยว่า แรงกระตุ้นเศรษฐกิจจากนโยบายทั้งสองด้านของทั้ง 2 ประเทศ อาจจะทยอยลดระดับของการกระตุ้นลงในช่วงปลายปีนี้และต่อเนื่องไปในปีหน้า
โดยสำหรับกรณีของทางการไทยนั้น คาดว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในช่วงปี 2553 อาจมีระดับที่ลดน้อยลงเมื่อเทียบกับแรงกระตุ้นอย่างมากในปี 2552 ขณะที่ การดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งอาจจะยังไม่ให้น้ำหนักกับผลกระทบจากการปรับขึ้นอย่างรวดเร็วของราคาน้ำมันมากนักในขณะนี้ ก็อาจจะต้องเตรียมตัวรับมือกับแรงกดดันเงินเฟ้อ ซึ่งจะกลับมาในช่วงจังหวะเวลาเดียวกันกับที่เศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในช่วงแรกเริ่มของการฟื้นตัว ดังนั้น บทบาทของตัวแปรหลักที่จะผลักดันให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวในปี 2553 คงจะตกอยู่ที่การส่งออก และการใช้จ่ายภายในประเทศเป็นหลัก โดยแม้ว่าการปรับตัวขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกอาจช่วยหนุนให้การส่งออกสินค้าเกษตรของไทยฟื้นกลับมาขยายตัวได้อีกครั้งในปีหน้า แต่ในขณะเดียวกันก็อาจจะต้องประเมินความสามารถในการแข่งขันของเงินบาทประกอบไปด้วยพร้อมๆ กัน ส่วนแรงหนุนจากการใช้จ่ายภายในประเทศนั้น ประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดคือ แรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่อาจจะบดบังกำลังซื้อของประชาชนในประเทศในยามที่เศรษฐกิจต้องการแรงผลักดันจากภาคเอกชนในประเทศ


...


Create Date : 13 มิถุนายน 2552
Last Update : 13 มิถุนายน 2552 6:06:08 น. 2 comments
Counter : 702 Pageviews.

 
....


หักค่าเบียร์ ค่าบุหรี่ เดือนละ สองพัน ... วันละไม่ถึง 100 ... เก็บเป็นเงินแสน ไว้ดูแลตัวเอง.... ดี มะ?...



ออมเงินเป็นรายเดือน สามเดือน หกเดือน หรือรายปี...
สะสมไว้ เพื่อวันข้างหน้า...

ประกันรถยังซื้อได้ ประกันตัวเอง ทำไมไม่วางแผนไว้...หือมม...

สนใจ ก็ เลือกซื้อซักอันนึง ของบริษัทไหนก็ได้ที่เห็นว่าดี และเหมาะสม...

แต่ถ้าอยากฟังข้อมูล ก็ติดต่อมาเด้ออออ..

...


โดย: loykratong IP: 202.57.173.213 วันที่: 14 มิถุนายน 2552 เวลา:2:53:01 น.  

 
ขอบคุณสำหรับข้อมูลนะคร้าบบบ


โดย: brothervoohoo วันที่: 22 มิถุนายน 2552 เวลา:19:03:16 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

loykratong
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]






ไม่มีอะไรขึ้นตลอด
ไม่มีอะไรลงตลอด
...ไม่มี the end of the world ...

Web Site Hit Counters

ราคาทองคำ
 

ราคาทองคำต่างประเทศ



Friends' blogs
[Add loykratong's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.