Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2552
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
11 กรกฏาคม 2552
 
All Blogs
 
การจัดสรรเงินออม...ภายใต้ปัจจัยเสี่ยงในช่วงครึ่งหลังของปี’52 โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

...



การจัดสรรเงินออม...ภายใต้ปัจจัยเสี่ยงในช่วงครึ่งหลังของปี’52

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย


ดอกเบี้ยลด หุ้นตก ทองผันผวน .... ล้วนแต่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 ที่ผ่านมา โดยดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกปรับลดตัวลงแรงในช่วง 1-2 เดือนแรกของปีนี้ ก่อนที่จะกลับดีดตัวขึ้นในระยะเวลาหลังจากนั้น ขณะที่ ราคาทองคำในตลาดโลกนั้น แม้ว่าจะดีดตัวขึ้นเหนือระดับ 1,000 ดอลลาร์ฯ ต่อออนซ์ในช่วงสองเดือนแรกของปีนี้ แต่ก็ร่วงลงในช่วงอีกประมาณสองเดือนต่อมา ก่อนที่จะค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นอีกครั้งนับจากช่วงกลางเดือนเมษายนถึงต้นเดือนมิถุนายน แต่ก็กลับปรับฐานในช่วงหลังจากนั้น ทำให้ในภาพรวมแล้ว ราคาทองคำมีการปรับทิศทางถึง 4 ครั้งด้วยกันภายในระยะเวลาเพียง 6 เดือนเท่านั้น ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ ก็ขยับลดลงอย่างต่อเนื่อง สถานการณ์ต่างๆ ดังกล่าว ทำให้ผู้มีเงินออมอยู่ในฐานะที่ยากลำบาก เพราะนอกจากจะได้รับผลตอบแทนที่ลดน้อยถอยลงแล้ว การลงทุนในหลายตลาดยังทำให้ขาดทุนเงินต้นด้วย โดยเฉพาะเมื่อตัดสินใจลงทุน หรือขายทำกำไรผิดจังหวะ ท่ามกลางความเสี่ยงจากความผันผวนของราคา หรืออัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในช่องทางลงทุนต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น




สำหรับในช่วงที่เหลือของปี 2552 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าการออมเงินในช่องทางหลักยังคงเผชิญกับความเสี่ยงหลากหลายด้าน แต่ท่ามกลางความเสี่ยงดังกล่าว ก็ยังน่าจะมีโอกาสสำหรับการออมเงินในบางช่องทาง ซึ่งยังเสนออัตราผลตอบแทนที่ดึงดูดใจ สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำของธนาคารพาณิชย์ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้รวบรวมประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับทิศทางการออมเงินในช่วงที่เหลือของปี 2552 ไว้ ดังนี้

• ตัวแปรสำคัญที่อาจมีอิทธิพลต่อการจัดสรรเงินออมในช่วงครึ่งหลังของปี 2552
สำหรับแนวโน้มการลงทุนในช่วงที่เหลือของปี 2552 และต่อเนื่องไปถึงปี 2553 นั้น ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ของหลายตัวแปรด้วยกัน ซึ่งอาจมีอิทธิพลต่อทิศทางการลงทุนในตลาดหลัก โดยตัวแปรต่างๆ เหล่านั้นที่สำคัญ ได้แก่
 การฟื้นตัวที่ชัดเจนของเศรษฐกิจโลก โดยแม้ว่าที่ผ่านมา สัญญาณบวกจากเครื่องชี้เศรษฐกิจ จะทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นและคาดหวังมากขึ้นว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวในลักษณะ V-Shape ส่งผลให้นักลงทุนกล้าแบกรับความเสี่ยงจากการลงทุนเพิ่มขึ้น แต่ประเด็นที่ควรระมัดระวังคือ การฟื้นตัวดังกล่าว ยังคงมีความเปราะบาง เพราะหลายภาคส่วนของเศรษฐกิจยังไม่ถึงจุดต่ำสุด อาทิ ปัญหาการว่างงานในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงไทย นั่นหมายความว่า ตลาดยังไม่สามารถตัดโอกาสที่จะยังมีข่าวร้ายทางเศรษฐกิจปรากฏขึ้นอีกในอนาคตข้างหน้า ซึ่งย่อมจะส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมการลงทุนของนักลงทุนในตลาดโลก ตลอดจนการเคลื่อนไหวของราคาและอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในหลายช่องทาง ขึ้นอยู่กับทิศทางของข่าวร้ายดังกล่าว ว่าจะออกมาเหนือการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์และนักลงทุนหรือไม่ และมากน้อยเพียงใด

 ทิศทางอัตราเงินเฟ้อ จากการที่เศรษฐกิจบางประเทศในโลก อาทิ จีน และอินเดีย ยังคงขยายตัวได้ดี ประกอบกับเศรษฐกิจอีกหลายประเทศค่อยๆ มีสัญญาณเชิงบวกมากขึ้น จึงส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ (Inflation Expectation) เริ่มปรับตัวสูงขึ้น สอดคล้องกับทิศทางราคาพลังงานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ทั้งนี้ หากเศรษฐกิจโลกไม่ได้ปรากฏสัญญาณเชิงลบในลักษณะเกินความคาดหมายมากนัก การเพิ่มขึ้นของแรงกดดันเงินเฟ้อก็อาจดำเนินต่อเนื่องไปจนถึงปี 2553 ซึ่งมุมมองในลักษณะดังกล่าวนี้เอง น่าจะมีน้ำหนักที่ส่งผลให้การดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำของ ธปท.มีโอกาสยุติลงในปีหน้า อย่างไรก็ตาม ในระหว่างนี้ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น อาจทำให้อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ โดยเฉพาะประเภทระยะปานกลางถึงยาวเร่งตัวขึ้นได้ในช่วงท้ายปี อันหมายถึงราคาตราสารหนี้ที่ปรับตัวลดลง จนลดความน่าดึงดูดในการลงทุนและถือครองตราสารหนี้ได้

 การขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลไทย เนื่องจากรัฐบาลวางแผนการขาดดุลงบประมาณต่อเนื่องไปถึงปีงบประมาณ 2553 เป็นอย่างน้อย ประกอบกับ ที่ผ่านมา รายได้จัดเก็บของภาครัฐก็ลดต่ำลงกว่าที่คาดมาก ดังนั้น รัฐบาลจึงจำเป็นที่จะต้องอาศัยแหล่งเงินลงทุน โดยเฉพาะจากในประเทศ เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณดังกล่าว อีกทั้งสนับสนุนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ อันนำมาสู่ปริมาณอุปทานพันธบัตรของภาครัฐที่กำลังจะทยอยเข้าสู่ตลาดอีกเป็นจำนวนมากในช่วงที่เหลือของปีนี้ ต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า ปัจจัยดังกล่าว คาดว่าจะมีผลจำกัดการปรับขึ้นของราคาตราสารหนี้ได้


จากประเด็นสำคัญต่างๆ ดังกล่าว ทำให้การลงทุนในหลายตลาดและช่องทางไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในหุ้น ทองคำ น้ำมัน และสินค้าโภคภัณฑ์ อาจยังคงเผชิญกับความไม่แน่นอน นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมา ราคาของการลงทุนประเภทต่างๆ ดังกล่าว ก็ได้ปรับตัวขึ้นไปค่อนข้างมากแล้ว และอาจทำให้โอกาสการทำกำไรระยะสั้นอยู่ในขอบเขตที่จำกัด โดยเฉพาะหากปัจจัยเสี่ยงด้านเศรษฐกิจยังคงมีอยู่

• การจัดสรรเงินออมที่เหมาะสม ... ทางออกที่น่าสนใจในภาวะเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอน
ภายใต้ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและปัจจัยแวดล้อมของการออมที่อาจยังกินเวลาต่อเนื่องไปในช่วงครึ่งหลังของปีนี้นั้น ทำให้ผู้มีเงินออมอาจต้องจัดสรรเงินออมให้มีความหลากหลาย โดยที่เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาวะตลาด ตลอดจนผลิตภัณฑ์ที่นำออกเสนอสู่สาธารณะในแต่ละช่วง เพราะการเพิ่มความหลากหลายของการออมเงินดังกล่าว นอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงในการออม/ลงทุนแล้ว ก็ยังจะช่วยเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนให้อยู่ในระดับที่พึงพอใจอีกด้วย

แต่ทั้งนี้ ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการคัดสรรทางเลือก/ผลิตภัณฑ์การออมที่น่าสนใจนั้น ผู้มีเงินออมควรเริ่มต้นจากการประเมิน “จำนวนเงินออมแท้จริง” ที่ชัดเจนก่อน ซึ่งได้จากการประเมินรายจ่าย หรือความต้องการใช้เงินในปัจจุบัน (อาทิ ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน-ประจำเดือน และการชำระหนี้สินต่างๆ) และในอนาคต (อาทิ ค่าเล่าเรียนบุตร การซื้อรถ/ซื้อบ้าน และค่าใช้จ่ายในยามฉุกเฉิน) อันจะทำให้ทราบถึงเงินออมส่วนที่เหลือจากแผนรายจ่ายดังกล่าว ตลอดจนกรอบระยะเวลาการออมว่าจะเป็นการออมระยะสั้น/ระยะยาว เพื่อให้เหมาะสมกับแผนการใช้จ่ายที่จะมาถึงในอนาคต จากนั้น จึงพิจารณาปัจจัยด้านความเสี่ยงจากการออมที่สามารถยอมรับได้ เพื่อนำไปเป็นเงื่อนไขในการตีกรอบการเลือกประเภทการออมที่เหมาะสมและให้อัตราผลตอบแทนสูงสุดต่อไป


สำหรับผลิตภัณฑ์การออมที่มีการนำเสนอ หรือเตรียมนำเสนอสู่ตลาดในระยะนี้ที่น่าสนใจ ได้แก่

 พันธบัตรออมทรัพย์ของรัฐบาล ได้แก่ พันธบัตรออมทรัพย์ “ไทยเข้มแข็ง” ในปีงบประมาณ 2552 มีวงเงินรวมทั้งสิ้น 5 หมื่นล้านบาทในช่วงระหว่าง 13-21 กรกฎาคม 2552 และระยะเวลาการออม 5 ปี ให้อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันได คือ ร้อยละ 3 ในช่วง 1-2 ปีแรก, ร้อยละ 4 ในปีที่ 3 และร้อยละ 5 ในปีที่ 4-5 ซึ่งเป็นอัตราผลตอบแทนที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินประจำค่อนข้างมาก (อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำประเภท 1-2 ปี อยู่ที่เพียงร้อยละ 1.0-1.5) โดยพันธบัตรออมทรัพย์ดังกล่าว เหมาะสมกับผู้มีเงินออมที่ไม่ชอบความเสี่ยง มีสภาพคล่องเพียงพอสำหรับรองรับการลงทุนระยะยาว (5 ปี) ขณะที่ พึงพอใจกับระดับอัตราผลตอบแทนที่นำเสนอ ณ ขณะนี้
 หุ้นกู้ภาคเอกชน เนื่องจากเป็นที่คาดหมายว่าอัตราดอกเบี้ยในระบบ โดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ระดับต่ำสุดแล้วในปัจจุบัน ดังนั้น จึงทำให้ภาคธุรกิจเอกชนเตรียมทยอยออกหุ้นกู้อีกจำนวนไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นล้านบาทภายในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 เพื่อล็อคต้นทุนในระดับต่ำเอาไว้ ซึ่งหุ้นกู้ส่วนใหญ่ดังกล่าวน่าจะเป็นประเภทอายุปานกลางถึงยาว ขณะที่ อัตราผลตอบแทนของหุ้นกู้ที่นำเสนอ ก็ยังถือว่าอยู่ในระดับที่ค่อนข้างจูงใจ ยกตัวอย่างเช่น หุ้นกู้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือ A ประเภทอายุ 3 ปี เสนออัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3.2 และประเภทอายุ 7 ปี เสนออัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยต่อปีที่ร้อยละ 4.5 (เฉลี่ยจากอัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันได) เป็นต้น อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากเรื่องอัตราผลตอบแทนแล้ว ข้อควรระวังที่สำคัญในการลงทุนในหุ้นกู้ ก็คือ การเลือกหุ้นกู้และผู้ออกหุ้นกู้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือดี อันหมายถึงความเสี่ยงจากการลงทุนที่อยู่ในระดับต่ำ
 ผลิตภัณฑ์เงินฝากโครงการพิเศษของธนาคารพาณิชย์ นับจากช่วงกลางเดือนมิถุนายน 2552 เป็นต้นมา ธนาคารพาณิชย์ไทยหลายแห่งได้เริ่มทยอยนำเสนอผลิตภัณฑ์เงินฝากโครงการพิเศษที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าเงินฝากประจำปกติ ออกสู่ตลาด โดยผลิตภัณฑ์ดังกล่าว มีระยะเวลาการออมที่สั้นกว่าพันธบัตรออมทรัพย์“ไทยเข้มแข็ง” และหุ้นกู้ภาคเอกชน แต่ก็มีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์เงินฝากประจำอายุ 8-9 เดือน อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยร้อยละ 1.08-1.23 ต่อปี (สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำประเภท 1 ปีปกติที่ร้อยละ 1.0 เล็กน้อย)
 กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (Foreign Investment Fund หรือ FIF) อาทิ พันธบัตรที่ออกโดยรัฐบาล หรือสถาบันการเงินในประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งทยอยนำเสนอขายสู่ตลาดหนาตาขึ้นในระยะนี้ อย่างไรก็ตาม การลงทุนในกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศนี้ คงต้องติดตามความเสี่ยงของประเทศผู้ออกตราสารและประเภทของตราสาร ตลอดจนแนวทางการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนของผู้จัดการกองทุน อันอาจมีผลต่อภาพรวมความเสี่ยงและอัตราผลตอบแทนของกองทุนในอนาคต ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนของกองทุนพันธบัตรเกาหลีใต้ประเภทอายุ 6 เดือนถึง 2 ปีที่ปิดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว ในขณะนี้เสนอขายที่ร้อยละ 2.4-4.0 (ไม่ต้องรับภาระเรื่องภาษีจากผลตอบแทน) ซึ่งค่อนข้างจะได้เปรียบการลงทุนในพันธบัตรออมทรัพย์รัฐบาลและหุ้นกู้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือดีในประเภทอายุใกล้เคียงกัน



ทั้งนี้ นอกเหนือจากการจัดสรรเงินลงทุนบางส่วนกระจายไปในทางเลือกในการออมข้างต้น ตามแต่ความชอบของผู้มีเงินออมต่อระยะเวลาการลงทุน ความเสี่ยง และอัตราผลตอบแทนของแต่ละทางเลือกที่แตกต่างกันแล้ว ผู้มีเงินออมที่ยังมีสภาพคล่อง หรือเงินออมเหลืออยู่ ยังอาจพิจารณาทางเลือกในการออมที่มีระยะเวลาที่ค่อนข้างยาวอื่นๆ เพิ่มเติม ได้แก่
 กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (กอง 1) ซึ่งคาดว่าจะได้รับประโยชน์จากโอกาสการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ผ่านเงินปันผลที่น่าจะขยับสูงขึ้นตามทิศทางค่าเช่าและอัตราการเช่า อย่างไรก็ตาม การออมเงินผ่านการลงทุนในกองทุนอสังหาริมทรัพย์ ก็มีข้อจำกัดเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น ข้อจำกัดด้านสภาพคล่อง และจำนวนอุปทานใหม่ (ได้แก่ การออกกองทุนใหม่ หรือการออกหน่วยลงทุนเพิ่มเติม หลังจากการเพิ่มทุนของกองทุนอสังหาริมทรัพย์เดิม) ซึ่งคาดว่าการเพิ่มจำนวนอุปทานใหม่เข้าสู่ตลาดดังกล่าว อาจยังไม่เกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ ทำให้ผู้มีเงินออมที่สนใจช่องทางนี้ อาจต้องรอจังหวะการออกขายหน่วยลงทุนเพิ่มเติมโดย บลจ. นอกจากนี้ ก่อนการตัดสินใจลงทุน ผู้มีเงินออมควรตระหนักว่ากองทุนอสังหาริมทรัพย์มีหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นกองทุนที่ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ประเภทอาคารสำนักงานและที่พักอาศัย ศูนย์การค้าและโรงภาพยนตร์ โรงแรมและสนามบิน ตลอดจนโรงงาน ทำให้การออมเงินผ่านกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ควรต้องพิจารณารูปแบบของกองทุน ประเภทอสังหาริมทรัพย์ ทำเลที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์นั้น ตลอดจนความเชี่ยวชาญของแต่ละบลจ.ให้ถี่ถ้วนก่อนการตัดสินใจด้วย
 ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต ซึ่งถือเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับการลงทุนในระยะที่ค่อนข้างยาว โดยในปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์ประกันส่วนใหญ่เสนออัตราผลตอบแทนขั้นต่ำประมาณร้อยละ 2-4 ต่อปี ขณะเดียวกัน ก็ยังมีสิทธิประโยชน์จากการนำไปหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 1 แสนบาทสำหรับกรมธรรม์หลักอีกด้วย
 หุ้น เป็นทางเลือกในการออมที่เหมาะสมสำหรับผู้ที่สามารถรับความเสี่ยงที่ค่อนข้างสูงได้ โดยการลงทุนในหุ้นนั้น หากมีจุดประสงค์เพื่อคาดหวังผลตอบแทนในรูปเงินปันผลจากบริษัทจดทะเบียน ก็คงจะต้องเน้นไปที่หุ้นที่มีพื้นฐานดี ผลประกอบการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง และมีนโยบายการจ่ายเงินปันผลที่สม่ำเสมอ โดยการลงทุนในลักษณะนี้ คงจะต้องเป็นการลงทุนในระยะที่ค่อนข้างยาว ขณะที่ หากผู้มีเงินออมมีจุดประสงค์ของการลงทุนในหุ้น เพื่อคาดหวังด้านกำไรส่วนทุนจากการขายหลักทรัพย์ (Capital Gains) ก็คงจะต้องอาศัยการซื้อและขายทำกำไรในช่วงสั้นๆ โดยมีหลักการเบื้องต้น คือ เข้าซื้อเมื่อราคาหุ้นปรับตัวลดลง และขายทำกำไรเมื่อราคาหุ้นดีดตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ความยากของการทำกำไรระยะสั้น คือ การเลือกหุ้นที่เหมาะสมและมีการเคลื่อนไหวที่เอื้อต่อโอกาสการทำกำไร ตลอดจนการสรรหากลยุทธ์การลงทุน และระยะเวลาการลงทุน-ขายทำกำไรที่ดี ซึ่งนักลงทุนรายย่อยอาจไม่มีความเชี่ยวชาญมากนัก ดังนั้น แนวทางที่อาจจะปลอดภัยกว่า ก็คือ การลงทุนผ่านกองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้น ซึ่งมีทั้งกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนเพื่อคาดหวังผลประโยชน์ด้าน Capital Gains หรือการลงทุนในหุ้นปันผล ภายใต้การบริหารของผู้จัดการกองทุนที่มีความเชี่ยวชาญมากกว่า

อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่ผู้ออมรอจังหวะเวลาเพื่อเข้าทำการออมในช่องทางต่างๆ ข้างต้น ก็อาจพิจารณาพักเงินไว้ในสินทรัพย์ที่ใกล้เคียงเงินสด หรือสามารถแปลงเป็นเงินสดได้ง่าย อาทิ
 กองทุนรวมตลาดเงิน หรือกองทุนรวมที่ลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐระยะสั้น ซึ่งเป็นการลงทุนที่ความเสี่ยงต่ำ เพราะลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น อาทิ ตั๋วเงินคลัง ที่ออกโดยรัฐบาล ด้านอัตราผลตอบแทนนั้น แม้ว่าจะมีระดับที่ต่ำกว่าทางเลือกในการออมที่ความเสี่ยงใกล้เคียงกันอย่างพันธบัตรออมทรัพย์ ตามระยะเวลาการลงทุนที่สั้นกว่านั้น แต่ก็ให้อัตราผลตอบแทนที่สูงกว่าเงินฝากประจำ โดย ณ วันที่ 29 มิถุนายน 2552 กองทุนรวมตลาดเงินให้อัตราผลตอบแทนย้อนหลัง 6 เดือน (ก่อนภาษี และ Annualized) ที่ร้อยละ 1.16 เทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 6 เดือน (ก่อนภาษี) ที่ร้อยละ 1.0 ขณะที่สภาพคล่องของการลงทุนในกองทุนรวมประเภทนี้ ถือว่าค่อนข้างสูง เพราะจะได้รับเงินสดหลังจากส่งคำสั่งขายหน่วยลงทุนภายในระยะเวลาประมาณ 1 วันทำการ


ในภาพรวมแล้ว จากตัวอย่างทางเลือกในการออมที่ครอบคลุมทั้งผลิตภัณฑ์ที่เสนอขายอยู่ในปัจจุบัน และกำลังจะเสนอสู่สาธารณะในอนาคตอันใกล้ต่างๆ ดังกล่าว จะพบว่ามีความเสี่ยงและอัตราผลตอบแทนที่หลากหลาย เพื่อให้ผู้มีเงินออมได้เลือกลงทุนตามลักษณะความชอบเฉพาะ และขนาดเงินออมของแต่ละบุคคล โดยหากผู้ออมพอใจกับระดับอัตราดอกเบี้ยพันธบัตร หรือหุ้นกู้ที่ออกมาในช่วงนี้ การลงทุนระยะปานกลาง หรือยาวในตราสารเหล่านี้ ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ นอกเหนือไปจากการลงทุนในกองทุนอสังหาริมทรัพย์และผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต ส่วนช่องทางการลงทุนที่มีระยะเวลาสั้นกว่า ได้แก่ กองทุน FIF เช่น พันธบัตรเกาหลีใต้นั้น ผู้ออมควรตรวจสอบถึงการทำความคุ้มครองในเรื่องความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ในขณะที่ หากผู้ออมอยู่ระหว่างรอจังหวะเข้าลงทุนและต้องการพักเงิน กองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นที่ลงทุนในตั๋วเงินคลัง หรือตราสารหนี้ในตลาดเงิน ก็เป็นช่องทางการพักสภาพคล่องที่น่าสนใจเช่นกัน ส่วนการลงทุนในหุ้นนั้น อาจต้องคำนึงถึงความผันผวนและสภาพคล่องที่จำกัดตามภาวะตลาดที่อาจแปรเปลี่ยนได้ง่ายด้วย

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากยังปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจัยแวดล้อมของการออมในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 นี้ จะยังปะปนไปด้วยข่าวเชิงลบ และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ดังนั้น ผู้มีเงินออมคงจะต้องชั่งน้ำหนักระหว่างความเสี่ยงและอัตราผลตอบแทนของแต่ละทางเลือกในการออมอย่างรอบคอบ ตลอดจนประเมินถึงสภาพคล่องและความต้องการใช้เงินในแต่ละช่วงเวลาอย่างระมัดระวัง โดยจะสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการ “วางแผนทางการเงิน” ล่วงหน้า อันจะนำมาสู่การจัดสรรพอร์ตการลงทุนที่เหมาะสม และช่วยให้ “เงินทำงานแทนคุณ” ได้ในอนาคต ขณะเดียวกัน ผู้มีเงินออมยังควรระลึกไว้เสมอว่า “การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน” 

...


Create Date : 11 กรกฎาคม 2552
Last Update : 11 กรกฎาคม 2552 2:42:01 น. 0 comments
Counter : 568 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

loykratong
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]






ไม่มีอะไรขึ้นตลอด
ไม่มีอะไรลงตลอด
...ไม่มี the end of the world ...

Web Site Hit Counters

ราคาทองคำ
 

ราคาทองคำต่างประเทศ



Friends' blogs
[Add loykratong's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.