Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2551
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
2 ตุลาคม 2551
 
All Blogs
 
รอลุ้นแผนกูวิกฤติการเงินสหรัฐฯ

. . .

คณะติดตามปัญหาเศรษฐกิจ จับตาธุรกรรมสถาบันการเงินที่มีปัญหา


นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะติดตามประสานงานแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในสภาวะฉุกเฉิน กล่าวว่า หลังจากวุฒิสภาสหรัฐฯ ผ่านแผนกู้วิกฤต 700,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป

ซึ่งในส่วนของฐานะการเงินในสหรัฐฯ ยุโรป และภูมิภาคเอเชีย ขณะนี้ไม่มีการเปลี่ยนแปลง หรือมีปัญหาเพิ่มขึ้น แต่ทั้งนี้ต้องติดตามสถาบันการเงินทั่วโลกว่าสถาบันการเงินใดบ้างมีปัญหา หรือเริ่มมีปัญหา โดยดูจากตัวบ่งชี้ฐานะความมั่นคงขององค์กรว่ามีปัญหาหรือไม่ ซึ่งหากสถาบันใดมีปัญหาจะดูในเรื่องของประเทศไทยว่ามีธุรกรรมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะต้องคอยดูแลแก้ปัญหาตั้งแต่เนิ่นๆ

นายศุภรัตน์ กล่าวว่า ที่ประชุมได้มีการประเมินสถานการณ์แล้วพบว่าขณะนี้ปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเงินในสหรัฐฯ ยังไม่ส่งผลกระทบต่อสถาบันการเงินและธุรกิจประกันในประเทศไทย อย่างไรก็ตามได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค. เป็นหน่วยงานกลางในการรวบรวมข้อมูล และติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้หารือถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งพบว่าความเสี่ยงต่อเงินเฟ้อลดลง แต่ความเสี่ยงต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มสูงขึ้น ดังนั้นการดำเนินนโยบายการเงินการคลัง จึงจะมุ่งดูแลเศรษฐกิจ ซึ่งวิกฤตจากสหรัฐฯ ขณะนี้เป็นเพียงผลกระทบในระยะใกล้ แต่หากสถานการณ์ยังรุนแรงขึ้นจะยิ่งสร้างความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจของประเทศสูงขึ้น

นางอัจนา ไวความดี รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้สภาพคล่องในระบบธนาคารพาณิชย์มีจำนวนมากกว่า 400,000 ล้านบาท และสถาบันการเงินในไทยอยู่ในระดับที่เข้มแข็ง แต่จะติดตามข้อมูลการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วของสถาบันการเงินต่างประเทศอย่างใกล้ชิด เพื่อพิจารณาผลกระทบต่อสถาบันการเงินในประเทศไทย ส่วนการติดตามภาวะเงินทุนไหลออกที่เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ยังไม่พบสิ่งผิดปกติที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากการไหลของเงินทุนเป็นไปในทิศทางเดียวกับภูมิภาค

. . .


สศค.เชื่อวิกฤตเศรษฐกิจโลกจะบรรเทาหลังสหรัฐผ่านแผน 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ


นายสมชัย สัจจพงษ์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า การที่วุฒิสภาสหรัฐฯ ผ่านแผนกู้วิกฤต 7 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ นั้นเป็นสัญญาณที่ดี สามารถสร้างความเชื่อมั่นได้ และทำให้ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและไทยเบาบางลง แต่ทั้งนี้ สหรัฐฯ จะต้องมีมาตรการออกมาเพิ่มเติม เพราะปัญหานี้จะยืดเยื้อออกไปพอสมควร

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการลงมติอีกรอบของสภาคองเกรสในวันศุกร์นี้( 3 ต.ค.) จะเป็นแรงกดดันให้ผ่านไปได้ ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร

นายสมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระ อดีตอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงการที่วุฒิสภาสหรัฐฯ ลงมติผ่านแผน 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ว่า ตนเชื่อว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส. จะโหวตผ่านแผนดังกล่าวในรอบ 2 เพราะเป็นเรื่องความเป็นความตายทางเศรษฐกิจ และน่าจะมีการโน้มน้าวให้ ส.ส.ที่ไม่เห็นด้วยในการลงมติครั้งที่แล้ว ให้กลับมาสนับสนุนได้ไม่ยาก อย่างไรก็ตาม หากไม่ผ่าน จะต้องไปร่างกฎหมายใหม่ และเสนอสภาคองเกรสใหม่อีกครั้ง

นายสมชาย กล่าวว่า มาตรการ 7 แสนล้านดอลลาร์ ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา แต่จะช่วยเรียกความเชื่อมั่น เพราะสถานการณ์ดังกล่าวจะต้องใช้เวลาประมาณ 6 เดือน - 1 ปี

สำหรับผลกระทบของไทย ต้องปรับตัว เพราะหากการส่งออก ท่องเที่ยว การลงทุนต่างประเทศชะลอตัว จะกระทบอัตราแลกเปลี่ยน และการลงทุนในตลาดหุ้น ดังนั้น ต้องมีแผนเข้มข้น ขณะที่มาตรการที่ออกมาก่อนหน้านี้เป็นมาตรการสั้นๆ ยังถือว่าไม่เพียงพอ

. . .



คลังเตรียมวางกฎเกณฑ์คุมเข้มต่างชาติเข้ามาระดมทุน

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการบริหารหนี้สาธารณะ โดยกรรมการประกอบด้วย ผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์การอนุมัติให้องค์กรการเงินระหว่างประเทศ หรือรัฐบาลประเทศต่างๆ เข้ามาระดมทุนเป็นเงินบาทในประเทศ เพื่อไม่ให้กระทบกับปัญหาสภาพคล่องในประเทศ

โดยจะเชิญสมาคมธนาคารไทยมาหารือ เพื่อรับฟังความคิดเห็นว่า ธนาคารพาณิชย์มีความกังวลปัญหาสถาบันการเงินในต่างประเทศอย่างไรบ้าง หลังจากที่ได้รับฟังความเห็นจากกลุ่มต่างๆแล้ว โดยหลักเกณฑ์ทั้งหมดต้องเสนอให้นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เห็นชอบ

สำหรับการอนุมัติให้ต่างประเทศระดมทุนในประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา มีมูลค่า 40,000 ล้านบาท จำนวน 15 องค์กร โดยมีการระดมทุนไปแล้ว 2 แห่ง ประมาณ 7,000 ล้านบาท ซึ่งมองว่าการระดมทุน 7,000 ล้านบาท คงไม่กระทบต่อสภาพคล่องในประเทศมากนัก

. . .



วิกฤตการเงินสหรัฐฯฉุดยอดจองตั๋วเครื่องบินเส้นทางยุโรปลดเหลือ 75%

นายเอกกมล หุตะสิงห์ ประธานหอการค้าไทยอิตาเลียน กล่าวว่า วิกฤตการเงินในสหรัฐฯ ที่เริ่มลุกลามไปตามประเทศต่างๆ ทำให้สัปดาห์ที่ผ่านมา ลูกค้าจากยุโรปและจากสหรัฐฯ ขอหยุดเจรจาซื้อขายสินค้าจากไทย เพื่อรอดูสถานการณ์เศรษฐกิจ เพราะเกรงว่าราคาสินค้าอาจจะเปลี่ยนแปลง ขณะที่การซื้อขายกับกลุ่มประเทศในแอฟริกายังปกติ

ร.ท.อภินันท์ สุมนะเศรณี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า วิกฤตการเงินที่เกิดขึ้นทำให้ยอดจองที่นั่งของสายการบินไทยเส้นทางยุโรปในเดือนนี้ ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 75 เทียบกับระยะเดียวกันของปีที่แล้วอยู่ที่ร้อยละ 80

ส่วนเส้นทางกรุงเทพฯ-อเมริกา ยังมีปริมาณผู้โดยสารเท่าเดิม ขณะเดียวกันก็ได้เพิ่มเที่ยวบินเส้นทางกรุงเทพฯ -ลอสแอลเจลิสจากสัปดาห์ละ 5 เที่ยวเป็น 7 เที่ยว

นายวันชัย ศารทูลทัต ประธานกรรมการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า นักท่องเที่ยวทั้งยุโรป และอเมริกายังคงเดินทางมาท่องเที่ยวเป็นปกติ อย่างไรก็ตาม ททท.เน้นการเจาะตลาดใหม่ เช่น อินเดีย ตะวันออกกลางด้วย

นายณรงค์ชัย อัครเศรณี อดีตที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยมากนัก เนื่องจากวิกฤตการเงินเกี่ยวข้องกับภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯ ขณะที่สินค้าส่งออกของไทยส่วนใหญ่ ไม่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมนี้

. . .



ปตท. เตรียมลดราคาน้ำมันอีกครั้งปลายสัปดาห์นี้ หากราคาน้ำมันในตลาดโลกยังทรงตัวในระดับนี้ หรือลดลงอีก

นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หลังจากราคาน้ำมันดิบตลาดโลกปรับตัวลดลงประมาณ 2-3 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เป็นผลให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปในภูมิภาคเอเชียมีแนวโน้มอ่อนตัวลงตาม และจากสถานการณ์ปัจจุบันหากราคาน้ำมันยังทรงตัวในระดับนี้ หรือลดลงอีก ปตท.มีโอกาสปรับลดราคาขายปลีกในประเทศอีกครั้ง ในปลายสัปดาห์นี้ประมาณ 50-60 สตางค์ต่อลิตร โดยเฉพาะดีเซล

แต่ต้องดูแผนฟื้นฟูวิกฤตสถาบันการเงินสหรัฐฯ ก่อนว่า จะสามารถผ่านความเห็นชอบของสภาคองเกรสสหรัฐฯ หรือไม่ ที่จะมีการลงคะแนนเสียงเห็นชอบในวันศุกร์นี้( 3 ต.ค.) หลังผ่านความเห็นชอบของวุฒิสภาสหรัฐฯ แล้ว เนื่องจากผลการลงคะแนนเสียงดังกล่าว มีผลต่อราคาน้ำมัน

อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนใช้น้ำมันอย่างประหยัด และระมัดระวัง แม้ว่าขณะนี้ราคาน้ำมันในประเทศปรับลดมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 30 บาทต่อลิตร ในหลายผลิตภัณฑ์แล้วก็ตาม ซึ่งช่วยให้ผู้บริโภคได้ใช้น้ำมันในราคาถูกจากเดิมที่ปรับขึ้นสูงสุดเกิน 40 บาทต่อลิตร เพราะไทยยังจำเป็นต้องนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ

. . .


รมว.พาณิชย์ ไม่วิตกวิกฤติการเงินสหรัฐ มั่นใจส่งออกปีหน้าโตไม่ต่ำกว่าร้อยละ 15


นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ผลกระทบจากวิกฤตสถาบันการเงินในสหรัฐฯ กระทบต่อการส่งออกของประเทศไทยไปยังสหรัฐฯ เพียงร้อยละ 0.01 เท่านั้น โดยกระทรวงพาณิชย์ได้มีการผลักดันนโยบายการส่งออกเชิงรุก ด้วยการใช้ทูตพาณิชย์ในทุกประเทศทั่วโลกหาตลาดใหม่ เสริมกับนโยบายสนับสนุนของส่วนกลาง

โดยมั่นใจว่าการส่งออกของประเทศในปีนี้ จะสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 15-20 หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 180,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และในปี 2552 คาดว่าการส่งออกจะยังสามารถขยายตัวได้ถึงร้อยละ 15 คิดเป็นมูลค่ากว่า 207,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นผลมาจากการหาตลาดใหม่ ๆ ทดแทนตลาดหลัก แม้ว่าตลาดหลัก เช่น สหรัฐฯจะมีอัตราการส่งออกลดลง แต่ในหลายประเทศรวมถึงตลาดสหรัฐฯยังมีความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารของไทยเพิ่มขึ้น

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาหอการค้าไทย คาดว่าการส่งออกในปี 2552 จะขยายตัวร้อยละ 8-10 จากปีนี้ที่ส่งออกขยายตัวถึงร้อยละ 20

ส่วนภาพรวมการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เชื่อว่าปีนี้จะโตร้อยละ 4.0-4.5 บนพื้นฐานว่ารัฐจะต้องเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ ขณะที่ภาคการเมืองจะต้องเร่งนำนโยบายไปขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

. . .


นักลงทุนรอลุ้นสภาสหรัฐฯผ่านแผนกู้วิกฤติการเงิน

ตลาดหุ้นไทยวันที่ 2 ต.ค. ดัชนียังคงแกว่งตัวผันผวนในกรอบแคบ ๆ เนื่องจากนักลงทุนยังรอลุ้นแผนกู้วิกฤติการเงินสหรัฐว่าจะผ่านการอนุมัติหรือไม่ โดยดัชนีปิดที่ 597.69 จุด เพิ่มขึ้น 3.24 จุด หรือร้อยละ 0.55 มูลค่าการซื้อขาย 10,369 ล้านบาท

นักลงทุนสถาบันซื้อสุทธิ 35 ล้านบาท นักลงทุนรายย่อยซื้อสุทธิ 709 ล้านบาท ขณะที่นักลงทุนต่างชาติเทขายสุทธิ 745 ล้านบาท

นางวิริยา ลาภพรหมรัตน ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เกียรตินาคิน มองว่า ตลาดหุ้นไทยแกว่งตัวในกรอบแคบๆ ระหว่างดัชนี 595-600 จุด เพื่อรอดูข้อมูลเพิ่มเติมของแผนกู้วิกฤติสหรัฐ มูลค่า 700,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หลังจากที่ผ่านวุฒิสภาแล้ว ว่าขั้นตอนต่อไปจะผ่านการอนุมัติจากสภาล่างหรือไม่ หลังจากวันจันทร์ที่ผ่านมาไม่ผ่านการอนุมัติ จึงทำให้กระแสความเชื่อมั่นไม่เต็ม 100% นักลงทุนจึงรอดูสถานการณ์

ส่วนแนวโน้มตลาดหุ้นไทยวันที่ 3 ต.ค. มองว่ายังคงแกว่งตัวในกรอบแคบ ๆ ซึ่งหากแผนกู้วิกฤติสหรัฐผ่านการอนุมัติ ตลาดหุ้นไทยจะตอบรับในเชิงบวก โดยหากเป็นบวก และดัชนีปรับขึ้นมากกว่า 604 จุด จะมีแรงเก็งกำไรระยะสั้นกลับเข้ามา แต่หากไม่ผ่านและดัชนีไม่สามารถยืนเหนือ 604-605 จุดได้ จะเผชิญแรงเทขาย และดัชนีอาจลดลงเหลือ 580 จุด ด้านกลยุทธ์การลงทุน แนะนำนักลงทุนรอดูสถานการณ์

. . .



Create Date : 02 ตุลาคม 2551
Last Update : 2 ตุลาคม 2551 19:00:03 น. 2 comments
Counter : 653 Pageviews.

 


อรุณสวัสดิ์ ... วันสีฟ้าสดใสค่ะ

มีแต่ความสุขนะคะ


โดย: ทิวาจรดราตรี วันที่: 3 ตุลาคม 2551 เวลา:7:58:55 น.  

 
. . .

วิกฤติการเงินสหรัฐฯ บ่อเกิด ผลกระทบ จนถึงจุดสิ้นสุด ตอบทุกคำถาม และความเกี่ยวโยง [6 ต.ค. 51 - 17:25] นสพ.ไทยรัฐ

จาก //www.thairath.co.th/news.php?section=economic02&content=106614


ในช่วง 20 กว่าวันที่ผ่านมา โลกทั้งใบดูจะถูกปกคลุมไปด้วยความหวาดผวา จากข่าวการล้มละลายของวาณิชธนกิจขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ ที่อาจส่งผลลุกลามบานปลายเป็น วิกฤติเศรษฐกิจการเงินโลกครั้งใหญ่อีก

ขณะเดียวกัน ก็มีคำถามและข้อเคลือบแคลงสงสัยมากมายว่า เหตุใดสหรัฐอเมริกาซึ่งควรจะ เป็นประเทศต้นแบบของนวัตกรรมการเงินที่โปร่งใส และตรวจสอบได้ ไม่ใช่แต่เพียงดึงดูดการลงทุนเท่านั้น จึงล้มเหลว สร้างความผิดหวัง และผลการขาดทุนอย่างใหญ่หลวงให้แก่ชาวโลกได้ถึงเพียงนี้

เพื่อให้ได้คำตอบที่สามารถอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างครอบคลุมในทุกแง่มุม ทีมเศรษฐกิจ จึงขอนำเสนอบทความเชิงวิเคราะห์ของนักเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียงที่สุดของ สหรัฐอเมริกา ศาสตราจารย์สตีเวนท์ เดวิด ลีวิตต์ (Professor Steven D.Levitt) ซึ่งได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 100 บุคคล ที่ทรงอิทธิพลต่อโลกในนิตยสารไทม์ ที่ได้ตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์นิวยอร์ก ไทม์ เมื่อไม่นานมานี้ มาให้อ่านกัน โดยเฉพาะในคำถามที่มักจะถูกถามบ่อยที่สุดเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

1. เกิดอะไรขึ้น

เรื่องราวเริ่มขึ้นจากการที่กระทรวงการคลังสหรัฐฯได้ประกาศนำ แฟนนี เม และเฟรดดี แมค (Fannie mae and Freddie Mac : สมาคมจำนองแห่งชาติ และบรรษัทจำนองสินเชื่อบ้านของรัฐบาลกลาง) เข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการ เมื่อวันที่ 8 ก.ย.2551 สินทรัพย์ของทั้งสองรวมกันมีมูลค่ามากกว่า 5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 170 ล้านล้านบาท (34 บาทต่อดอลลาร์) เนื่องจากเป็นสถาบันการเงินที่ทำหน้าที่ค้ำประกันสินเชื่อการเคหะส่วนใหญ่ในสหรัฐอเมริกา

โดยกระทรวงการคลังได้ขออนุมัติการเข้าไปให้ความช่วยเหลือจากสภาคองเกรสเมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา แต่ขณะนั้นสภาฯไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องเข้าแทรกแซง กิจการของทั้งสองบริษัทแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ต่อมาทางการตัดสินใจที่จะปรับเปลี่ยนทีมผู้บริหาร รวมทั้งเข้าควบคุมการดำเนินงานของบริษัท สะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลได้ตระหนักถึงปัญหาที่ กำลังเกิดขึ้นกับตลาดเงิน ตลาดทุน และสถาบันการเงินในสหรัฐอเมริกาแล้ว

ต่อมาในวันจันทร์ที่ 15 ก.ย. เลห์แมน บราเธอร์ส (Lehman Brothers) ได้ประกาศ ล้มละลาย สร้างสถิติการล้มละลายครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐ อเมริกา ด้วยสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 600,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 20 ล้านล้านบาท พนักงานทั้งหมด 25,000 คน (ลบสถิติเดิมเป็นของเวิลด์คอมซึ่งมีสินทรัพย์ ประมาณ 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ น้อยกว่าเลห์แมน 6 เท่า)

ถัดมาอีกวัน ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ประกาศให้เงินกู้ระยะสั้นแก่ เอไอจี A.I.G. บริษัทประกันอันดับ 1 ของโลก ด้วยสินทรัพย์มากกว่า 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ (34 ล้านล้านบาท) มีจำนวนพนักงานมากกว่า 100,000 คนทั่วโลก

ภายใต้เงื่อนไขข้างต้น เอไอจีจะต้องพยายามขายสินทรัพย์เพื่อนำมาใช้หนี้ภายใน 2 ปี ข้างหน้า หากทำไม่สำเร็จ เฟดอาจยินยอมเปลี่ยนหนี้เป็นทุน เพื่อเข้าถือหุ้น 80% ในเอไอจี และรื้อทีมผู้บริหาร แต่ ณ สถานการณ์ปัจจุบัน ยังไม่มีแผนที่จะกระทำการดังกล่าว

2. ทำไม และเพราะอะไร

ข้อบ่งชี้ที่เหมือนกันของปัญหาที่เกิดขึ้นกับแฟนนี เม และเฟรดดี แมค ตลอดจนเลห์แมน บราเธอร์ส และเอไอจี คือ หน่วยงานเหล่านี้หมดความสามารถในการหา แหล่งเงินทุน แม้จะมาจากเหตุผลที่แตกต่างกันออกไป

กรณีของแฟนนี เม และเฟรดดี แมค เป็นผลมาจากบทบาทพิเศษของทั้งสองที่ถูกตั้งขึ้นเพื่อ สนับสนุนการปล่อยสินเชื่อบ้าน รับประกันเงินกู้สินเชื่อการเคหะ ออกพันธบัตรที่ผ่านการค้ำประกันจากรัฐบาล ซึ่งทำให้แฟนนี เม และเฟรดดี แมค ออกพันธบัตรได้เต็มที่กว่าบริษัทเอกชนทั่วไป

โดยหลักการแฟนนี เม และเฟรดดี แมค ควรที่จะใช้ประโยชน์ที่ได้รับจากรัฐบาลไปปรับลด ต้นทุนให้แก่ผู้กู้ยืมเงินเพื่อการซื้อบ้าน แต่ในความเป็นจริง ทั้งสองหน่วยงานกลับใช้ประโยชน์จากการค้ำประกันของรัฐบาล เพิ่มผลกำไรให้ตนเอง และบีบคู่แข่งในตลาด

นักลงทุน และรัฐบาลต่างประเทศที่ไม่ทราบข้อเท็จจริง ต่างกระหายที่จะครอบครอง พันธบัตรที่ออกโดยแฟนนี เม และเฟรดดี แมค เพราะมั่นคงดุจดั่งพันธบัตรที่ออกโดยกระทรวงการคลังสหรัฐฯ

ที่สำคัญ แฟนนี เม และเฟรดดี แมค แทบไม่ได้รับการตรวจสอบเลย มิหนำซ้ำยังดำเนินธุรกรรมที่ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของบริษัท ด้วยการนำเงินไปซื้อสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์อื่น ซึ่งมีความเสี่ยงเกินมาตรฐานด้วย

ในช่วงปีที่ผ่านมา เงินทุนที่ 2 บริษัทมีเพียงน้อยนิด จึงไม่พอเพียงกับการชดเชยการขาดทุน จากการลงทุนในตลาดสินเชื่อ ด้อยคุณภาพภาคอสังหาริมทรัพย์ (ซับไพร์ม) และเมื่อเห็นว่าการขาดทุนจำนวนมหาศาลดังกล่าว อาจก่อให้เกิดความเสียหายที่แพร่กระจายในวงกว้าง เฟดจึงตัดสินใจเข้าช่วยเหลือแฟนนี เม และเฟรดดี แมค ด้วยการเข้าค้ำประกันหนี้ให้

อย่างไรก็ตาม แม้หนี้จะได้รับการค้ำประกัน แต่กรณีนี้เชื่อว่าที่สุดคงไม่มีนักลงทุนรายใด สนใจเข้ามาซื้อกิจการ หรือแบกรับภาระหนี้ และคงไม่พ้นที่เฟดจะต้องเข้าเทกโอเวอร์ในที่สุด

กรณีของเลห์แมน บราเธอร์ส เกิดขึ้นจากการที่บริษัทไม่สามารถหาแหล่งเงินกู้ได้ ปกติเลห์แมนต้องการเงินหมุนเวียนขั้นต่ำเดือน 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (3.4 ล้านล้านบาท) เพื่อใช้ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ พันธบัตร หุ้น และธุรกรรมการเงินอื่นๆ

เวลาที่เจ้าหนี้พบว่า เข้าไปตรวจสอบและติดตามเงินที่ให้กู้ยืมไปได้อย่างลำบาก และลูกหนี้ดำเนินธุรกิจที่เต็มไปด้วยความเสี่ยง เจ้าหนี้มักจะปรับวิธีการให้ยืมเป็นปล่อยเงินกู้ ระยะสั้นให้แทน

หากเปรียบเทียบกับวิธีการอื่น รวมทั้งมาตรการทางกฎหมาย การปฏิเสธให้เงินกู้ ถือเป็นวิธีการควบคุมลูกหนี้ไม่ให้แตกแถวที่ทรงประสิทธิภาพที่สุด

โดยเฉพาะกับเลห์แมน ในฐานะวาณิชธนกิจ เมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์เช่นนี้ เลห์แมนควรที่จะปรับการลงทุนใหม่ ลดธุรกรรมที่มีความเสี่ยงลง ดังนั้น สำหรับเลห์แมน (รวมทั้งวาณิชธนกิจอื่น) การถูกลดความน่าเชื่อถือจากเจ้าหนี้ ด้วยการปล่อยกู้ระยะสั้นให้นั้น ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ หรือเป็นอุบัติเหตุ แต่เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ต่างหาก

สถานการณ์ยิ่งย่ำแย่ เมื่อเจ้าหนี้ถูกพูดกรอกหูอยู่ตลอดหลายเดือนว่า การลงทุนของเลห์แมนในตลาดอสังหาริมทรัพย์ขาดทุนมากกว่าที่ทุกคนคิด ประกอบกับวิกฤติซับไพร์ม และกรณีของแฟนนี เม และเฟรดดี แมค ยิ่งตอกย้ำให้สถานการณ์ รุนแรงขึ้น!

เจอเหตุการณ์เช่นนี้ ต้นทุนการกู้ยืมของเลห์แมนจึงสูงลิบลิ่ว ในขณะที่ราคาหุ้นลดลงฮวบฮาบ แถมยังถูกลดเครดิตความน่าเชื่อถือ สถาบันการเงินส่วนใหญ่ถูกกฎเหล็กควบคุมไม่ได้ปล่อยกู้ ให้เลห์แมนเพราะมีความเสี่ยงสูง ส่วนรายที่พอจะปล่อยกู้ให้ได้ ก็ตัดสินใจไม่ปล่อย เพราะคาดว่าเลห์แมนน่าจะล้มละลายในที่สุด เนื่องจากสถานการณ์การปล่อยสินเชื่อที่ฝืดเคืองขึ้นเรื่อยๆ

ส่วนกรณีของเอไอจี เอไอจีต้องการเงินทุนเพราะต้องนำไปค้ำประกันสัญญาจำนวน 57,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 1.9 ล้านล้านบาท) ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสัญญาค้ำประกัน ที่ขาดทุนยับเยินเนื่องจากเป็นสินเชื่อซับไพร์มทั้งสิ้น

สัญญาดังกล่าวเรียกว่า สัญญาการค้ำประกันหนี้เสีย (Credit Default Swaps : C.D.S.) อันนับว่าสร้างความเสียหายให้แก่เอไอจีมหาศาล ขณะที่ธุรกิจหลักอย่างธุรกิจประกันภัย ประกันชีวิต และอื่นๆ ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด

หนักกว่านั้น ตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ซบเซาลงอย่างหนัก ยังทำให้บริษัทจัดอันดับความน่า เชื่อถือปรับลดความน่าเชื่อถือในหนี้ของเอไอจีลง ซึ่งทำให้เอไอจีต้องแสดงหลักทรัพย์ค้ำประกันสัญญาที่อยู่ในมือมูลค่าเบื้องต้นโดยประมาณ 15,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 510,000 ล้านบาท) ทันที

ปัญหาต่อมาก็คือ หากเอไอจีไม่สามารถหาหลักทรัพย์มาค้ำประกันสัญญา C.D.S. ได้สำเร็จ เอไอจีก็จะถูกบังคับให้เข้าสู่กระบวนการล้มละลาย ซึ่งภายใต้สัญญา หากบริษัทล้มละลาย ลูกค้าภายใต้สัญญาอื่นๆสามารถเรียกคืนเงินเคลมประกัน ล่วงหน้าได้ สิ่งนี้ย่อมจะเกิดปัญหาและความเสียหายเพิ่มเติมตามมาอีกมาก

โดยเอไอจีไม่สามารถนำเงินกำไรจากธุรกิจประกันที่มีสภาพคล่องหมุนเวียนกว่า 380,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 12 ล้านล้านบาท) มาอุดการขาดทุนในธุรกิจ C.D.S.ได้ ขณะที่ไม่มีสถาบันการเงินใดยอมยื่นมือเข้ามาช่วย

เมื่อหาหลักทรัพย์มาค้ำประกันไม่ได้ พันธบัตรของเอไอจีที่ออกขายทั่วโลกมูลค่ารวมกว่า 160,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (5.4 ล้านล้านบาท) ย่อมมีเสถียรภาพสั่นคลอน และแน่นอนว่า จะสร้างความไม่เชื่อมั่นให้แพร่กระจายออกไปทั่วโลกได้โดยไม่ยาก

ยิ่งเมื่อกองทุนเพื่อการลงทุนในพันธบัตรที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง Pimco หรือ Pacific Investment Management Company เข้ามาลงทุนใน พันธบัตรของเอไอจีเป็นจำนวนมาก โอกาสในการเกิดทฤษฎีโดมิโนก็ยิ่งสูงขึ้นไปอีก!!

พิจารณาจากสภาพแวดล้อมจากมูลค่าสัญญาจำนวนมหาศาล และสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ที่ เข้ามาเกี่ยวพัน ที่สุดเฟดจึงตัดสินใจปล่อยกู้ให้แก่เอไอจีจำนวน 85,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (2.8 ล้านล้านบาท) เพื่อนำไปค้ำประกัน C.D.S. และรักษาระบบการเงินไม่ให้ล่มสลาย หรือแพร่กระจายไปในวงกว้าง

3. ทำไมจึงปล่อยเลห์แมนล้มละลาย แต่อุ้มแบร์ สเติร์น แฟนนี เม และเฟรดดี แมค รวมทั้งเอไอจี

เหตุผลที่ต้องอุ้มแฟนนี เม และเฟรดดี แมค รวมทั้งเอไอจีนั้น ได้อธิบายไปแล้ว แต่สำหรับ แบร์ สเติร์น (Bear Stearns) ซึ่งเกิดเหตุเมื่อเดือน มี.ค. 2551 ด้วยปัญหาคล้ายคลึงกันกับเลห์แมน เพียงแต่แบร์ สเติร์นได้รับการช่วยเหลือ แต่เลห์แมนไม่

สาเหตุที่ทำให้แบร์ สเติร์นรอดตาย มีอยู่ด้วยกัน 2 ประการ ประการแรก มาจากการที่เฟดได้รับข้อมูลไม่เพียงพอ และไม่ใช่ผู้กำกับดูแลแบร์ สเติร์น อีกทั้งข้อมูลที่ปรากฏสู่สาธารณะ และการที่พนักงานไม่ค่อยยอมเปิดปาก ทำให้ยากที่จะโยงว่าแบร์ สเติร์นเกี่ยวพันกับระบบการเงินในภาพใหญ่มากน้อยเพียงใด

ประการที่ 2 มาจากปัญหาที่เกิดขึ้นของแบร์ สเติร์นเป็นลักษณะปัจจุบันทันด่วน คู่ค้าไม่มีโอกาสตั้งตัว สิ่งที่เกิดขึ้นต่อจากนั้นก็คือ การบังคับขายสินทรัพย์ที่แบร์ค้ำประกันอยู่ ซึ่งย่อมจะนำไปสู่ความอลหม่าน สับสน ตื่นตระหนกไปทั่วตลาด

เฟดจึงไม่มีทางออก นอกจากเข้าช่วยเหลือ แต่ก็ออกตัวว่า การเข้าช่วยเหลือแบร์นั้น เป็นเรื่องไม่ปกติ และอาจเกิดขึ้นครั้งนี้ครั้งเดียว

ช่วงที่เข้าช่วยเหลือแบร์ เฟดได้กำหนดเงื่อนไขการกู้ยืมใหม่ เพื่อปรับปรุงกฎการทำธุรกรรมการเงิน ระหว่างวาณิชธนกิจด้วยกันเอง และบังคับใช้ในทันที เนื่องจากเฟดต้องการแก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นซ้ำกับเลห์แมน รวมทั้งสถาบันการเงินอื่น

เดือนเดียวกัน เฟดยังศึกษาแนวทางแก้ไขหากปัญหาเกิดขึ้นซ้ำ และสรุปว่า การปรับเครื่องมือการกู้ยืมเงินเล็กน้อย จะแก้ปัญหาล้มละลายได้ และเฟดก็ได้ดำเนินการดังกล่าว

ดังนั้น การเข้าช่วยเหลือเลห์แมนนอกจากจะเป็นการกลืนน้ำลายตัวเอง ตามที่เคยพูดเอาไว้ว่า การช่วยเหลือแบร์เป็นกรณีพิเศษ และอาจเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวแล้ว ยังจะเป็นการยืนยันด้วยว่าตลอด 6 เดือนหลังแบร์ล้ม มาตรการ กฎเกณฑ์ใหม่ๆที่เฟดคิดค้นขึ้น รวมทั้งการปรับเครื่องมือการกู้ยืมเงินที่หวังจะช่วยกระตุ้นตลาดนั้น ไม่ได้ผล

ที่สำคัญ ยังจะทำให้เฟด และกระทรวงการคลังยอมรับโดยปริยายว่า พูดไม่จริง หรือไร้ความสามารถในการสร้างเสถียรภาพในระบบการเงิน หรือทั้งสองอย่าง

จึงไม่น่าแปลกใจ ที่ทางการจะตัดสินใจไม่อุ้มเลห์แมน เพราะข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณชน โดยละเอียดบ่งชี้ว่า เลห์แมนไม่สมควรได้รับความช่วยเหลือ

4. เราไปเกี่ยวอะไร

มองเผินๆ ผู้คนทั่วไปอาจไม่รู้สึกว่า ได้รับผลกระทบทางตรงต่อกรณีดังกล่าวข้างต้น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ก็แค่แสดงให้เห็นถึงปัญหาของสถาบันการเงิน ที่ไม่มีปัญญาจะหาเงินทุนเท่านั้น แต่ด้วยสภาพคล่องที่หดหายไปในตลาดหลายล้านล้านเหรียญ สหรัฐฯนั้น ทำให้สถาบันการเงิน ธนาคารพาณิชย์ ระมัดระวังในการปล่อยกู้มากขึ้น รวมทั้งการปล่อยกู้ให้บุคคลธรรมดา และบริษัทห้างร้านทั่วไป

แม้แต่กับคนที่เกี่ยวเนื่องน้อยที่สุด เขาก็จะได้รับผลกระทบจากต้นทุนด้านสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น สำหรับบุคคล หรือธุรกิจที่มีปัญหาด้านการผ่อนชำระสินเชื่อ หรือต้องการสินเชื่อระยะสั้นอัดฉีด ธุรกิจ จากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ก็จะพบว่า เข้าถึงสินเชื่อได้ยากลำบากขึ้นกว่าปีก่อนๆ

ปัญหาเหล่านี้ ทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัวลง และน่าจะเป็นครั้งใหญ่อีกครั้ง หลัง The Great Depression (ปี ค.ศ.1930 ฟองสบู่เศรษฐกิจสหรัฐฯแตก) แต่ก็ยังบอกไม่ได้ว่า จะถดถอยลงมากน้อยขนาดไหน

ผลศึกษาล่าสุดของโกลด์แมนแซคส์บอกว่า จีดีพีน่าจะลดลงสัก 2% ในช่วงปีนี้และปีหน้า แต่ก็เป็นการประมาณการที่ไม่แน่นอนมากๆ

5. เฟด และกระทรวงการคลังจะทำอย่างไรต่อไป

กฎง่ายๆซึ่งรวบรวมจากสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ หากสถาบันการเงินหนึ่งกำลังยืนอยู่บนปากเหว จวนเจียนจะล้มละลาย และจะส่งผลกระทบต่อระบบการเงิน กระทบชิ่งเป็นลูกโซ่ สถาบันการเงินนั้นจะได้รับการช่วยเหลืออย่างไม่ต้องสงสัย สถาบันการเงินจะได้รับอนุญาตให้ล้ม ก็ต่อเมื่อส่งผลกระทบในแวดวงจำกัดเท่านั้น

ถ้ายิ่งครึกโครมเท่าใด โอกาสที่เฟดต้องออกโรงก็มีมากเท่านั้น อย่างไรก็ตาม การเข้าช่วยเหลือเอไอจี ทำให้มีคำถามกลับมามากมายหลายข้อด้วยกัน อาทิ

การกำหนดประเภทของธุรกิจที่จะเข้าช่วยเหลืออย่างเอไอจี เป็นบริษัทประกันไม่ใช่แบงก์ หรือแม้แต่โบรกเกอร์ และเฟด ก็ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องที่ต้องไปดูแล จึงเป็นที่น่าขบคิดว่า หากกรณีเดียวกันเกิดขึ้นกับธุรกิจแอร์ไลน์ หรือรถยนต์ ซึ่งเข้าไปเกี่ยวข้องในตลาด C.D.S เงื่อนไขในการเข้าช่วยเหลือ อาจไม่ใช่ในแบบเดียวกับเอไอจี

คำถามต่อมาคือ ระดับความรุนแรงของความตื่นตระหนกในตลาด เราคงจินตนาการไม่ได้ เลยว่า จะเกิดอะไรขึ้น หากปล่อยให้เอไอจีล้ม แต่ก็มีเหตุผลพอที่จะเชื่อว่า การอุ้มเอไอจี อาจไม่ได้ช่วยลดแรงกดดันพื้นฐานของระบบการเงิน และหากการช่วยเหลือไม่ได้ผล อาจกลายเป็นว่า ทางการผลาญเงินภาษีประชาชนไปอย่างไร้ ประโยชน์

ประการสุดท้าย ขณะนี้เอไอจีถือว่าเจ๊งไปแล้ว กฎระเบียบต่างๆจะปรับเปลี่ยนใหม่กันอย่าง ไร?!

แน่นอนว่า เฟดคงไม่สามารถเข้าไปอุ้มบริษัทที่จะล้มได้ทุกบริษัท เพราะมีมากมายก่ายกอง แต่จะหาทางป้องกันอย่างไร โดยที่เฟดจะไม่สำลักกับการตามล้อมคอก นวัตกรรมทางการเงินในตลาดเงินตลาดทุนที่เกิดขึ้นใหม่ๆอย่างต่อเนื่อง

6. ตลาดจะเป็นอย่างไรต่อไป และเมื่อไรจะสิ้นสุด

การล้มละลายของเลห์แมน จะเป็นบทเรียนให้แก่สถาบันการเงินอื่นๆที่จะต้องให้บริการความ เสี่ยงด้วยความระมัดระวัง รวมไปถึงความสามารถในการหาแหล่งเงินทุนที่เพียงพอ และการเลือกหาคู่ค้าด้วยความรอบคอบ และระมัดระวัง

หากวาณิชธนกิจที่เหลือ อย่าง โกลด์แมนแซคส์ และ มอร์แกน สแตนเลย์ ไม่สามารถหาเงินทุนได้พอเพียง ก็อาจต้องเผชิญหน้ากับความเสี่ยงในการล้มละลาย ท่ามกลางสถานการณ์ ดังกล่าว การพึ่งพาเงินกู้ระยะสั้นเพียงอย่างเดียวเป็นเรื่องอันตรายยิ่ง แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่ทำได้ก็ตาม

ส่วนที่ว่าเมื่อไรจะสิ้นสุด การขาดเงินทุนเป็นปัญหาสำคัญ ตราบใดที่สถาบันการเงินยังขาด เงินทุน ปัญหาจะยังคงดำรงอยู่ต่อเนื่อง สัญญาณที่แสดงให้เห็นถึงภาวะขาดแคลนเงินทุน ได้แก่ 1. การที่มีคนเสนอซื้อเลห์แมนเพียง 2 รายเท่านั้น ทั้งๆที่ราคาขายต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง มากมาย แต่ก็ยังไม่มีคนต้องการซื้อ

2. ต้นทุนการกู้ยืมระหว่างแบงก์ที่อยู่ในระดับสูง และ 3. การไม่ยอมรับความเสี่ยงในสัญญา เงินกู้บางอย่าง ซึ่งทำให้ต้นทุนกู้ยืมในสัญญาดังกล่าวอยู่ในระดับสูง

บทเรียนจากเลห์แมน ทำให้สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่เชื่อว่า องค์กรของตนต้องการเงินทุน เพิ่มขึ้น แม้จะมีมากมายอยู่แล้ว แต่การเพิ่มทุนโดยตรงก็มีต้นทุนสูงเกินไป ทางเลือกที่เหลือก็คือ การขายกิจการหรือขอล้มละลาย.

@@@@@

รับมือ "เงินฝืด-ส่งออกฟุบ"

อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์
ประธานสมาคมธนาคารไทย

สำหรับประเทศไทย มองว่า ปัญหาสภาพคล่องน่าจะเป็นเรื่องใหญ่ของประเทศ เพราะเมื่อแต่ละประเทศต่างมีปัญหา ทั้งสหรัฐฯ ยุโรป และประเทศอื่นๆ เอกชนที่นำเงินเข้ามาลงทุนก็ต้องนำเงินลงทุนในประเทศไทยกลับไปประเทศของตัวเอง ซึ่งถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้สภาพคล่องในประเทศจะมีปัญหาในที่สุด นอกจากนั้น ดุลการค้าที่เคยเป็นบวกมาถึงตอนนี้อาจเริ่มติดลบแล้ว

หากเศรษฐกิจทั่วโลกเผชิญสภาพคล่องที่เริ่มหดหาย และประเทศไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ ประเทศที่ยังมีสภาพคล่องเหลืออยู่ก็อยากเก็บไว้ในประเทศ เพราะเวลาต้องการลงทุนอาจจะไม่มี โดยสภาพคล่องเวลานี้ เท่าที่ดูยังพอมีอยู่แม้ว่าจะลดลงจาก ต้นปี แต่ยังไม่ถึงขั้นขัดสน ดังนั้น สิ่งที่ต้องการเสนอทางการเพื่อหาแนวทางอย่างไรให้ต่างชาติเข้า มาระดมทุนไม่ง่ายนัก

“สถาบันการเงินของไทยทั้งธนาคารพาณิชย์ และประกันภัยแม้จะยังไม่ได้รับผลกระทบต่อ เศรษฐกิจสหรัฐฯ หากเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทยมีปัญหาสถาบัน การเงินจะมีปัญหาตามมา ดังนั้น สิ่งที่ประเทศไทยต้องเตรียมการรองรับ คือ การดูแลสภาพคล่องทางการเงินให้ดี”

ทั้งนี้ สมาคมธนาคารไทยยังเสนอแนวทางการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เพื่อรองรับวิกฤติ เศรษฐกิจด้วยการเร่งลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐอย่างรวดเร็ว เพราะโครงการต่างๆเหล่านี้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้ รับมือสภาพคล่องในระบบของตลาดเงินที่อาจจะตึงตัวในอนาคต กระทรวงการคลังจึงควรยุติ หรือยกเลิกการออกบาทบอนด์ (ตราสารหนี้สกุลเงินบาท) เพราะต้องการทำให้บริษัทต่างชาติ ระดมทุนโดยการออกบาทบอนด์ แล้วนำเงินบาทไปแลกเป็นเงินเหรียญสหรัฐฯ ทำได้ยากขึ้น แม้ว่าสภาพคล่องของไทยจะยังไม่มีปัญหา แต่ก็ควรรักษาสภาพคล่องไว้เพื่อการ ลงทุนในโครงการเมกะโปรเจกต์ในอนาคต

“ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันสภาพคล่องในระบบหายไปมาก แต่ผมระบุตัวเลขที่ชัดเจนไม่ได้ เพราะไม่มีตัวเลขในมือ จึงอยากให้รัฐบาลช่วยรักษาระดับสภาพคล่องที่ยังมีเหลืออยู่ไม่ให้หดหายไปอีก เพราะในเวลานี้หลายประเทศทั้งสหรัฐฯ ยุโรป และประเทศต่างๆ ในเอเชียเริ่มมีปัญหาสภาพ คล่องกันมากขึ้น ขณะที่ของไทยยังไม่มีปัญหาตรงนี้”.

ธวัชชัย ยงกิตติกุล
เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย

หากสหรัฐฯปล่อยให้สถาบันการเงินล้มเหมือนกับวิกฤติเศรษฐกิจของไทยในปี 2540 ผลกระทบที่เกิดขึ้นมหาศาลไม่สามารถประเมินได้ เพราะขนาดเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ใหญ่กว่าประเทศไทยมาก ขณะที่ผลกระทบเวลานี้ได้ลามไปถึงอังกฤษและยุโรปแล้ว ขณะที่ประเทศในเอเชียมีผลกระทบ โดยตรงค่อนข้างน้อย แม้ว่าญี่ปุ่นและจีนได้เข้าไปลงทุนในสหรัฐฯ มาก แต่เมื่อเทียบกับขนาดของสินทรัพย์แล้ว ญี่ปุ่นและจีนเสียหายน้อยมาก

สิ่งที่เป็นห่วงขณะนี้ คือ หากต่างชาติขนเงินออกไปมากๆ ประเทศไทยจะมีปัญหาเรื่อง สภาพคล่องและทำให้ปีหน้าไทยต้องประสบกับภาวะเงินฝืด บริษัทคนไทยออกไประดมทุนด้วยการออกตราสารหนี้ และกู้เงิน ในต่างประเทศจะทำได้ยากขึ้น เพราะมีต้นทุนสูง ดังนั้น สิ่งที่ทางการต้องทำเร่งด่วน คือ ต้องสอดส่องดูแล

สภาพคล่องให้ดีไม่ให้สภาพคล่องหาย เพราะหากปล่อยให้สภาพคล่องหายจะแก้ไขได้ยาก ทางการจึงต้องปิดกั้นและยับยั้งไม่ให้ต่างชาติ มาระดมทุนด้วยการออกหุ้นกู้หรือออกตราสารหนี้ เพื่อนำเงินออกไปต่างประเทศ

ขณะที่เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง เชื่อว่าการส่งออกจะชะลอตัว เนื่องจากการนำเข้าของ 3 ตลาดใหญ่ เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรปชะลอตัวจากปัญหา เศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยแน่นอน ทางการต้องเร่งหาตลาดใหม่ๆที่มีศักยภาพ เช่น ตะวันออกกลาง แอฟริกาใต้ และแอฟริกาเหนือ เพื่อชดเชยกับ 3 ตลาดใหญ่ที่ประสบปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว

ดังนั้น รัฐบาลต้องเร่งงบประมาณฉบับนี้ให้ผ่านโดยเร็ว เพื่อนำเงินมาลงทุนโครงการภาครัฐ เพื่อช่วยเยียวยาและบรรเทาปัญหาให้กับภาคเอกชน และใช้การลงทุนภาครัฐเป็นตัวขับเคลื่อน เศรษฐกิจ

ขณะที่ธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจอื่นๆ จะได้รับผลกระทบตามมา แต่ผลพวงที่เกิดขึ้นตามมา คือ ปัญหาเรื่องเงินฝืดทั่วโลก ในจุดนี้ต้องระวังให้ดี เพราะเมื่อเกิดเงินฝืด อัตราดอกเบี้ยต้องเพิ่มขึ้น เพราะเงินไม่พอทั่วโลก การทำธุรกิจก็ต้องแย่งกันกู้เงิน ส่งผลให้ต้นทุนการทำธุรกิจปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ของไทยจะผ่านวิกฤติรอบนี้ไปได้ เพราะที่ผ่านมา ธนาคารได้มีการเพิ่มทุนและมีการขายสินทรัพย์ที่ไม่ดีออกไปแล้ว.

บัณฑิต นิจถาวร
รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

ประเทศไทยจำเป็นต้องจับตาการแก้ไขปัญหาของสหรัฐฯอย่างใกล้ชิด เพราะเชื่อว่าวิกฤตการณ์ครั้งนี้ยังไม่จบ และจำเป็นต้องจับตาดูว่า การแก้ปัญหาของทางการสหรัฐฯ จะเป็นระบบและรวดเร็วเพียงใด เนื่องจากส่งผลกระทบกับ เศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม

โดยผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทย ถูกแบ่งออก 3 ด้านใหญ่ คือ 1.ด้านสภาพคล่องของระบบการเงิน 2. ด้านการเคลื่อนย้ายเงินทุน และสุดท้าย คือ ภาคการส่งออกของประเทศ ที่แน่นอนว่าในไตรมาสที่ 3 ปีนี้จนถึงครึ่งปีแรกของปีหน้า การชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบการส่งออกขยายตัวลดลง การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยชะลอตัวลง และอาจจะส่งผลถึงความสามารถในการทำกำไรของบริษัทเอกชน และการใช้จ่ายของประชาชน ได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับผลจากมาตรการกู้วิกฤติ 700,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่ว่าจะทำให้ราคาสินทรัพย์ในสหรัฐฯ และทั่วโลกลดลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปได้มากหรือน้อยแค่ ไหน

ส่วนผลกระทบด้านสภาพคล่องของระบบการเงินนั้น เท่าที่ดูตัวเลขสภาพคล่องธนาคาร พาณิชย์ในปัจจุบันยังไม่มีปัญหา แต่ยอมรับว่าสภาพคล่องในต่างประเทศเริ่มตึงตัวทำให้ดอกเบี้ยในต่างประเทศสูงขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการกู้ยืมเงินของนักธุรกิจไทยที่กู้ยืมเงินจากต่างประเทศ ซึ่งมีจำนวนมาก และเป็นไปได้ว่าจะหันกลับเข้ามาระดมทุนในประเทศแทน ทำให้สภาพคล่องในระบบสถาบันการเงินไทยตึงตัวมากกว่าในปัจจุบัน

โดยเชื่อว่าในอนาคตจะเห็นการแข่งขันกันเร่งระดมเงินฝากของธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้น ผ่านการขึ้นของดอกเบี้ยเงินฝาก แต่ไม่ได้หมายความว่า ธปท. ต้องการให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่ม ขึ้นด้วย ซึ่งในฐานะที่จะต้องดูแลภาพรวมเศรษฐกิจ พร้อมที่จะอัดฉีดสภาพคล่องเข้าไปในระบบให้ เพียงพอ และหากเศรษฐกิจสหรัฐฯชะลอตัวมาก ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ลดลง การดำเนินนโยบายการเงินที่ ให้ความสำคัญกับเงินเฟ้ออาจลดลงด้วย

ส่วนปัญหาการเคลื่อนย้ายของเงินทุนนั้น เมื่อต่างประเทศต้องการเงินสดเพื่อนำไปชดเชย สภาพคล่องที่ขาดไป การขายสินทรัพย์การลงทุนในประเทศเอเชียที่ยังมีกำไรจะต้องเกิดขึ้นต่อเนื่อง จุดนี้ต้องติดตามผลกระทบว่าจะยาวนานแค่ไหน

รัฐบาลต้องรับมือด้วยการเร่งลงทุนในโครงการการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐ (เมกะโปรเจกต์) เพื่อที่จะกระตุ้นการลงทุนโดยรวมของประเทศเพื่อให้มีเม็ดเงินเข้าไปในระบบ และเพิ่มการลงทุนภาคเอกชน ขณะเดียวกันจะต้องเร่งฟื้นความเชื่อมั่นของประชาชน เพื่อที่จะให้มีการใช้จ่ายภาคประชาชนต่อเนื่องต่อไป ซึ่งถ้าทำได้พื้นฐานส่วนอื่นของเศรษฐกิจ ไทยที่ดีอยู่ จะทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยโตต่อเนื่องไปได้.

ทีมเศรษฐกิจ


. . .


โดย: news IP: 58.137.155.65 วันที่: 6 ตุลาคม 2551 เวลา:13:37:32 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

loykratong
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]






ไม่มีอะไรขึ้นตลอด
ไม่มีอะไรลงตลอด
...ไม่มี the end of the world ...

Web Site Hit Counters

ราคาทองคำ
 

ราคาทองคำต่างประเทศ



Friends' blogs
[Add loykratong's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.