Group Blog
 
<<
กันยายน 2551
 
8 กันยายน 2551
 
All Blogs
 
. . . แนวโน้มธุรกิจค้าปลีกครึ่งปีหลังชะลอตัว . . .

. . .

แนวโน้มค้าปลีกครึ่งปีหลัง’ 51 : ลุ้นหนัก...ฝ่ากำลังซื้อหด


ภาวะธุรกิจค้าส่งค้าปลีกในครึ่งแรกปี 2551 ไม่คึกคักเท่าที่ควร โดยเติบโตเพียงร้อยละ 2.9 (ณ ราคาคงที่) และเป็นไปในทิศทางชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับครึ่งแรกปี 2550 ที่เติบโตร้อยละ 3.4 ตามรายงานของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยผู้บริโภคได้ชะลอการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการเกือบทุกหมวด ยกเว้นสินค้าคงทนประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง โดยส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลมาจากฐานการใช้จ่ายที่อยู่ในระดับต่ำของปีก่อน ประกอบกับกลยุทธ์เกาะกระแสฟุตบอลยูโร 2008 ของกลุ่มโทรทัศน์ และการนำเสนอสินค้ารุ่นใหม่ๆที่เน้นรูปลักษณ์และความทันสมัยทางเทคโนโลยีของบรรดาผู้ประกอบการเครื่องใช้ไฟฟ้า

ทั้งนี้ประเภทของสินค้าที่พบว่ามีการใช้จ่ายชะลอตัวลงมากได้แก่ สินค้าประเภทอาหาร และสินค้าไม่คงทน( เช่น เครื่องดื่ม ยารักษาโรค และของใช้ในครัวเรือน เป็นต้น) โดยในช่วงครึ่งแรกปี 2551 การใช้จ่ายภาคครัวเรือนสำหรับสินค้าประเภทอาหารขยายตัวเพียงร้อยละ 2.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอจากครึ่งแรกปี 2550 ที่เติบโตร้อยละ 3.8 ส่วนสินค้าไม่คงทนนั้นก็ขยายตัวเพียงร้อยละ 2.4 ซึ่งก็ลดลงเช่นกันเมื่อเทียบกับระดับร้อยละ 3.6 ในครึ่งแรกปี 2550

แม้ว่าในครึ่งแรกปี 2551กำลังซื้อของผู้บริโภคจะได้รับแรงหนุนจากการที่ภาครัฐและเอกชนหลายแห่งได้มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ และปรับเพิ่มค่าครองชีพ รวมถึงรายได้ภาคเกษตรที่ยังคงทรงตัวในระดับสูง อันเนื่องมาจากการขยายตัวของทั้งผลผลิตและราคาสินค้าเกษตรหลายรายการ ประกอบกับผู้ประกอบการเองก็เร่งเปิดเกมรุกแข่งขันกันอย่างเข้มข้น เพื่อกระตุ้นยอดขายและรักษาส่วนแบ่งตลาดไว้ให้ได้ แต่เนื่องด้วยปัจจัยลบทางเศรษฐกิจที่มีอิทธิพลรุนแรงกว่าปัจจัยบวกข้างต้น ทั้งในส่วนของราคาสินค้า และบริการที่ยังคงทรงตัวในระดับสูง โดยเฉพาะราคาน้ำมันและอาหาร ที่มีผลต่อภาวะค่าครองชีพของผู้บริโภคอย่างมาก ผนวกกับปัญหาทางการเมืองที่ยังคงผันผวนที่มีผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคค่อนข้างชัดเจน จึงทำให้ภาวะค้าส่งค้าปลีกในครึ่งแรกปี 2551 เป็นไปในทิศทางที่ชะลอตัวลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน


แนวโน้มครึ่งหลังปี’51 : หวั่นอิทธิพลปัจจัยเสี่ยง...ฉุดยอดการใช้จ่าย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า มูลค่าค้าส่งค้าปลีกในครึ่งหลังปี 2551 น่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 2-5 โดยธุรกิจค้าส่งค้าปลีกเมืองไทยยังคงต้องเผชิญทั้งปัจจัยสนับสนุน และปัจจัยเสี่ยงหลากหลายปัจจัยด้วยกัน ดังนี้


ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการปรับตัวของธุรกิจค้าส่งค้าปลีกครึ่งหลังปี 2551

ปัจจัยสนับสนุน
1. แนวโน้มแรงกดดันอัตราเงินเฟ้อที่บรรเทาลงบ้าง ตามภาวะราคาน้ำมันที่มีทิศทางปรับตัวลดลงระดับหนึ่ง

2.ราคาสินค้าเกษตรที่ยังทรงตัวในระดับสูง โดยเฉพาะพืชพลังงาน และยางพารา ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อรายได้เกษตรกรกลุ่มดังกล่าว ที่น่าจะกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายที่เพิ่มขึ้นตามมาได้ แต่ทั้งนี้ยังคงต้องติดตามทิศทางราคาสินค้าเกษตรที่อาจจะมีแนวโน้มอ่อนตัวลงในระยะข้างหน้า เนื่องจากเป็นฤดูกาลที่ผลผลิตของประเทศจะออกสู่ตลาดมากขึ้นด้วย

ปัจจัยเสี่ยง
1.ราคาน้ำมันที่ยังทรงตัวในระดับสูง แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาราคาน้ำมันจะมีการปรับตัวลดลงบ้าง แต่ก็ยังทรงตัวในระดับสูง ซึ่งนอกจากจะมีผลโดยตรงให้กำลังซื้อของผู้บริโภคในปัจจุบันลดลงแล้ว มีความเป็นไปได้ว่าหากราคาสินค้าอุปโภค และบริโภคยังคงปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันในระยะยาว ก็จะยิ่งซ้ำเติมอำนาจซื้อของผู้บริโภคให้หดตัวลงได้อีก

2.อัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินอยู่ในช่วงขาขึ้น การที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินปรับเพิ่มขึ้นตามการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อาจจะส่งผลให้ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการออมมากขึ้น หรือมีแนวโน้มจะเพิ่มความระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้นด้วย เนื่องจากภาระหนี้สินในการผ่อนชำระมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงต้นทุนที่ผู้ประกอบการอาจจะต้องแบกรับภาระมากขึ้นด้วย ซึ่งในช่วงเดือนมิถุนายน 2551 ที่ผ่านมา ธนาคาพาณิชย์รายใหญ่ก็ได้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขึ้นบ้างแล้ว

3. สถานการณ์ทางด้านการเมืองที่ยังไม่นิ่ง ทำให้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งหลายฝ่ายต่างคาดหวังไว้ภายหลังการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งล่าสุด พลอยชะงักงันตามไปด้วย เพราะรัฐบาลต้องพยายามแก้ปัญหาเฉพาะหน้าทางการเมืองที่เกิดขึ้นก่อน ประกอบกับการที่ผู้บริโภคในปัจจุบันให้ความสำคัญต่อข้อมูลข่าวสารมากขึ้น ความเคลื่อนไหวทางการเมืองในแง่ลบ ก็น่าจะมีผลทางจิตวิทยากับผู้บริโภคพอสมควร จนอาจมีผลต่อเนื่องถึงอารมณ์และพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคตามมาได้ ซึ่งหากยิ่งยืดเยื้อก็จะยิ่งสร้างผลกระทบในแง่ลบมากขึ้นเป็นทวีคูณ

4.การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง นับเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญสำหรับภาคส่งออกของไทย ที่ต้องเร่งหาแนวทางในการรับมือกับภาวะความต้องการของประเทศคู่ค้าที่อาจชะลอตัวลง โดยเฉพาะตลาดสหรัฐฯและประเทศแถบยุโรป รวมถึงทิศทางความเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยน แม้ว่าขณะนี้ผู้ส่งออกไทยค่อนข้างได้ประโยชน์จากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง จากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ยังคงมีโอกาสผันผวน หากวิกฤติสถาบันการเงินในสหรัฐฯยังคงยืดเยื้อ ซึ่งย่อมมีผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออกของไทย อันจะมีผลต่อเนื่องถึงอำนาจซื้อของผู้บริโภคภายในประเทศด้วย


สถานการณ์การแข่งขัน : ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น

จากแนวโน้มภาพรวมธุรกิจค้าส่งค้าปลีกในครึ่งหลังปี 2551 ที่ผู้ประกอบการต้องเผชิญกับปัจจัยลบที่คาดว่าจะส่งผลกระทบเด่นชัดมากกว่าปัจจัยบวก โดยเฉพาะปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองที่คาดว่าจะเป็นตัวแปรสำคัญที่ยิ่งซ้ำเติมบรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคที่เป็นไปในทิศทางชะลอตัวลงอยู่แล้วจากปัจจัยทางเศรษฐกิจให้มีแนวโน้มชะลอตัวเด่นชัดมากขึ้น ทำให้มีความเป็นไปได้ว่าแนวโน้มพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคในช่วงครึ่งหลังปี 2551 น่าจะเป็นไปอย่างระมัดระวังไม่แตกต่างจากช่วงก่อนหน้านี้ หรืออาจจะชะลอตัวแรงกว่าที่คาด หากสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองยังคงยืดเยื้อไปจนถึงสิ้นปี และอาจจะก่อให้เกิดผลกระทบในแง่ลบต่อธุรกิจค้าส่งค้าปลีกมากขึ้นเป็นทวีคูณ จากการชะลอการจับจ่ายใช้สอยของทั้งจากผู้ซื้อชาวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่งผลให้การแข่งขันของตลาดค้าส่งค้าปลีกในครึ่งหลังปี 2551 น่าจะทวีความเข้มข้นมากขึ้น เพื่อรองรับสถานการณ์ความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้น โดยหวังที่จะครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายในวงกว้างให้ได้มากที่สุด ดังรายละเอียดต่อไปนี้

-ห้างสรรพสินค้า/ศูนย์การค้า ภาวการณ์ชะลอตัวลงของเศรษฐกิจ และความไม่มั่นคงทางการเมือง เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ห้างสรรพสินค้าย่านใจกลางเมืองค่อนข้างจะได้รับผลกระทบพอสมควร โดยเฉพาะกลุ่มห้างสรรพสินค้าที่เจาะกลุ่มลูกค้าระดับกลาง แต่หากกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเป็นกลุ่มลูกค้าระดับบน ยังน่าจะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ขณะที่ศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้าย่านชานเมืองอาจจะมีโอกาสเติบโตได้ระดับหนึ่ง เนื่องจากมีการแข่งขันน้อยกว่า ประกอบกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เริ่มหันมานิยมจับจ่ายในทำเลใกล้บ้านมากขึ้น แต่ทั้งนี้ก็ต้องมีการนำเสนอสินค้าที่ทันสมัย และการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายที่โดดเด่น เพื่อจูงใจผู้บริโภคที่อาจจะหันไปให้ความสำคัญกับการจับจ่ายสินค้าที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวันมากขึ้น และลดการซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยลงไปพอสมควร ส่วนสถานการณ์ของห้างสรรพสินค้าในต่างจังหวัดนั้น คาดว่า จากการที่แรงงานภาคการเกษตรเคลื่อนย้ายสู่ภาคอุตสาหกรรมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีรายได้ที่สม่ำเสมอและมั่นคงขึ้น ประกอบกับกำลังซื้อในต่างจังหวัดที่มีแนวโน้มดีขึ้นจากผลผลิตสินค้าเกษตรที่ได้ราคาดี ทำให้ผู้บริโภคในต่างจังหวัดจำนวนไม่น้อยมีการปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตไปสู่ชีวิตที่ทันสมัย และมีคุณภาพมากขึ้น ดังนั้น สินค้าที่จะสามารถตอบสนองความต้องการได้ดีจึงต้องดูดี หรือก่อให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่เนื่องด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันที่ผู้บริโภคต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงต่อกำลังซื้อ โดยเฉพาะภาระค่าใช้จ่ายทางด้านน้ำมันเชื้อเพลิง และราคาสินค้าอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้น ก็อาจจะมีผลให้ห้างสรรพสินค้าในต่างจังหวัดต้องเปิดเกมรุกบุกหนักกว่าเดิมหลายเท่าตัว ซึ่งห้างสรรพสินค้าจากส่วนกลางน่าจะมีความได้เปรียบเหนือห้างสรรพสินค้าท้องถิ่น เพราะมีความชำนาญและความพร้อมในด้านทุนสำหรับจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายมากกว่า

-คอมมูนิตี้มอลล์ เป็นรูปแบบธุรกิจค้าปลีกรูปแบบใหม่ที่ก้าวขึ้นมามีบทบาทอย่างชัดเจนต่อเนื่องจากปี 2550 ที่ผ่านมา ปัจจุบันร้านค้าปลีกรูปแบบคอมมูนิตี้มอลล์ได้ทยอยเปิดสาขาให้บริการรองรับความต้องการผู้บริโภคสมัยใหม่เพิ่มมากขึ้น โดยกลุ่มนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และผู้ประกอบการค้าปลีกขนาดใหญ่ทั้งรูปแบบห้างสรรพสินค้า และดิสเคานท์สโตร์บางราย ด้วยการกระจายไปตามแหล่งที่อยู่อาศัย และย่านธุรกิจสำคัญหลายแห่งในย่านใจกลางเมืองกรุงเทพฯและชานเมือง พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตที่ให้บริการสินค้าที่สามารถตอบสนองการใช้ในชีวิตประจำวัน และร้านค้าอื่นๆเพื่อให้บริการอย่างครบถ้วน ทั้งร้านอาหาร ร้านขายยา บางแห่งก็มีฟิตเนส และสปาขนาดย่อม เป็นต้นด้วย โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้บริโภคระดับกลางขึ้นไป จึงนับเป็นคู่แข่งทางอ้อมที่ผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้า และศูนย์การค้าย่านใจกลางเมืองไม่ควรมองข้าม รวมถึงในทำเลหัวเมืองใหญ่ๆที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ หรือชุมชนบ้านหลังที่สองของคนกรุงเทพฯด้วย

-ดิสเคานท์สโตร์ คาดว่าเกมราคายังคงดุเดือด โดยมีความเป็นไปได้ว่าในครึ่งหลังปี 2551 กลุ่มดิสเคานท์สโตร์อาจจะมีการจัดโปรโมชั่นสินค้าราคาถูกให้เลือกซื้อค่อนข้างถี่มากขึ้น ภายใต้ชนิดของสินค้าที่หลากหลายยิ่งขึ้น จึงทำให้ไม่เฉพาะแต่ผู้บริโภคเท่านั้นที่จะนิยมหันไปใช้บริการร้านค้าปลีกสมัยใหม่ดังกล่าวเพิ่มมากขึ้นท่ามกลางภาวะค่าครองชีพสูงเช่นปัจจุบัน แต่ยังรวมถึงบรรดาร้านค้าปลีกขนาดเล็ก หรือร้านโชห่วยที่เคยสั่งซื้อสินค้าผ่านบรรดายี่ปั๊วรายเดิมๆ ด้วย และยิ่งในภาวะที่กำลังซื้อของประชาชนปรับตัวลดลง จนส่งผลกระทบต่อยอดขายปลีกภายในกิจการบางแห่ง ทำให้ผู้ประกอบการดิสเคานท์สโตร์บางรายมีแนวโน้มจะปรับรูปแบบการจำหน่ายสินค้าไปสู่การจำหน่ายส่ง หรือดำเนินการเจรจาโดยตรงกับร้านค้าปลีกในท้องถิ่นในสัดส่วนที่มากยิ่งขึ้น ซึ่งการดำเนินกลยุทธ์ดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่อบรรดายี่ปั๊ว หรือร้านค้าส่งท้องถิ่นโดยตรงอย่างแน่นอน ขณะเดียวกันการสร้างความแตกต่าง และยกอิมเมจของตัวสินค้าจะมีบทบาทมากขึ้น ด้วยสินค้าเฮ้าส์แบรนด์ที่มีการปรับยกระดับขึ้นเป็นสินค้าคุณภาพแข่งขันในตลาดพรีเมียม เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าระดับบีบวกขึ้นไปด้วย โดยคาดว่าจะครอบคลุมประเภทสินค้าในวงกว้างมากขึ้น จากเดิมที่เน้นสินค้ากลุ่มอาหาร เครื่องปรุงรส ชา กาแฟ ไปสู่กลุ่มผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับความงาม และแฟชั่นเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย แต่ยังคงเน้นความคุ้มค่าคุ้มราคา เพื่อรองรับความต้องการผู้บริโภคในภาวะที่กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลงจากภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้น และต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายให้ได้มากที่สุด

-ซูเปอร์มาร์เก็ตสแตนอโลน น่าจะเป็นไปในลักษณะทรงตัว เพราะต้องเผชิญกับสถานการณ์การแข่งขันที่ดุเดือดไม่น้อยในปี 2551 จากจำนวนคู่แข่งทางอ้อมอย่างดิสเคานท์สโตร์ย่อส่วนที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะตามตรอกซอกซอยต่างๆ ทำให้ซูเปอร์มาร์เก็ตสแตนอโลนจำเป็นต้องเร่งปรับตัวโดยเฉพาะการขยายสาขาให้ครอบคลุมพื้นที่มากที่สุด ทั้งในย่านชุมชนและย่านชานเมือง ซึ่งจะมีทั้งที่เป็นห้องแถว ร้านสแตนอโลน และร้านที่อยู่ในอาคารสำนักงาน รวมถึงอาจจะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของคอมมูนิตี้มอลล์ซึ่งเป็นรูปแบบค้าปลีกสมัยใหม่ ที่มีแนวโน้มจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับจากนี้ ด้วยแนวทางการพัฒนาที่มีการกำหนดกลุ่มเป้าหมายอย่างชัดเจนมากขึ้น ตามพฤติกรรมของผู้บริโภคในแต่ละทำเลที่ตั้ง เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการร้านที่เป็นร้านสะดวกซื้อ ภายใต้สินค้าและบริการที่หลากหลายกว่าร้านสะดวกซื้อหรือร้านคอนวีเนี่ยนสโตร์โดยทั่วไป ควบคู่กับการพยายามนำเสนอสินค้าที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคให้ได้มากขึ้น และสร้างความแตกต่างให้ได้มากที่สุด

-คอนวีเนี่ยนสโตร์ มีแนวโน้มที่จะเป็นธุรกิจที่มีการขยายตัวของสาขาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในปี 2551 และจะมุ่งไปสู่การเป็นร้านคอนวีเนี่ยน ฟู้ด ที่จำหน่ายอาหารพร้อมรับประทานต่างๆอย่างชัดเจนมากขึ้น ควบคู่กับการอำนวยความสะดวกในด้านการบริการต่างๆ โดยเฉพาะทางด้านการชำระเงินต่างๆ เช่นสาธารณูปโภค หรือบัตรเครดิต เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้ว่า ผู้ประกอบการบางรายกำลังพยายามเพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้หลากหลายมากขึ้น ด้วยการบริการรับสั่งซื้อสินค้าทางโทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต หรือโทรศัพท์เคลื่อนที่ เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบันที่ต้องการลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางในภาวะราคาน้ำมันแพง ซึ่งการที่สามารถขยายช่องทางการจัดจำหน่ายได้หลากหลายมากขึ้น ก็ย่อมหมายถึงการสร้างโอกาสในการขายให้มีมากยิ่งขึ้นด้วย

-ร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิม หรือโชห่วย ปัจจุบันผู้ประกอบการร้านโชห่วยในเมืองไทยหลายรายก็ได้เริ่มปรับตัวอย่างจริงจัง และชัดเจนมากขึ้นบ้างพอสมควร ภายใต้การบริหารงานของคนรุ่นใหม่ที่สืบทอดกิจการมาจากบรรพบุรุษที่เข้าใจถึงสถานการณ์ตลาด และความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นของภาวะการแข่งขัน ทั้งนี้ก็เพื่อรักษาฐานลูกค้าเดิม และขยายฐานลูกค้าใหม่ให้เพิ่มมากขึ้นให้ได้ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงบรรยากาศภายในร้านให้สะอาด มีความสะดวกสบายต่อการเลือกซื้อสินค้ามากขึ้น ควบคู่กับการบริหารต้นทุนให้ต่ำลงให้ได้มากที่สุด ด้วยการเน้นไปที่การหาซื้อสินค้าที่มีต้นทุนต่ำสุด หรือการเลือกซื้อสินค้าบางประเภทจากธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่โดยตรง ที่มีราคาถูกกว่าการสั่งจากผู้ผลิตหรือยี่ปั๊ว เพื่อให้สามารถแข่งขันด้านราคากับธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ได้ รวมถึงการหันมาให้ความสำคัญต่อการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับบรรดาลูกค้าหรือผู้บริโภคมากขึ้น ภายใต้กลยุทธ์การสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า(Customer Relationship Management : CRM) ที่เน้นการเข้าถึงความต้องการของผู้บริโภคที่เริ่มหันมาใช้บริการร้านค้าใกล้บ้านอย่างลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น โดยมีเป้าหมายสำคัญให้ลูกค้ากลับมาใช้บริการซ้ำอีกให้ได้ นอกจากนี้ ปัจจุบันร้านค้าปลีกหรือซาปั๊วส่วนหนึ่งได้หันมาเป็นตัวกลางกระจายสินค้าระหว่างบรรดายี่ปั๊ว หรือซาปั๊ว กับ ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ โดยกลุ่มผู้ค้าปลีกดังกล่าวจะทำหน้าที่เป็นผู้รวบรวมปริมาณความต้องการสินค้าจากบรรดายี่ปั๊ว หรือซาปั๊วโดยเฉพาะในแถบต่างจังหวัด และติดต่อสั่งซื้อสินค้ากับธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่โดยตรงตามปริมาณการสั่งซื้อดังกล่าว ซึ่งอาจจะได้รับส่วนลดหรือของแถมมากกว่าปกติ หรืออาจจะตระเวนซื้อสินค้าที่จัดรายการพิเศษ(Promotion) หรือ สินค้าราคาต่ำกว่าทุนจากธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ จากนั้นก็ดำเนินการบริการจัดส่งสินค้าถึงผู้สั่งซื้อแต่ละรายโดยตรง ซึ่งปัจจุบันกลุ่มซาปั๊วหรือร้านค้าปลีกขนาดเล็กจำนวนไม่น้อย ต่างเริ่มหันมาดำเนินการเป็นตัวกลางกระจายสินค้าดังกล่าวเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ เพราะได้ค่าตอบแทนทันทีหลังจากส่งสินค้า ส่วนธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ก็ได้ผลประโยชน์ระดับหนึ่ง เพราะสามารถระบายสินค้าได้ครั้งละจำนวนมากๆ นอกจากนี้ ยังได้รับการตอบรับค่อนข้างดีจากร้านโชห่วยอีกด้วย เนื่องจากไม่จำเป็นต้องสั่งสินค้าเป็นจำนวนมากต่อครั้ง และราคาสินค้ายังถูกกว่าการสั่งซื้อจากยี่ปั๊วด้วย อันส่งผลให้ร้านโชห่วยมีโอกาสในการแข่งขันทางด้านราคากับร้านค้าปลีกสมัยใหม่ได้ในระดับหนึ่ง ท่ามกลางกระแสการเปิดเกมรุกอย่างหนักของบรรดาผู้ประกอบการค้าปลีกสมัยใหม่ ที่พยายามขยายตัวไปสู่ร้านค้าปลีกรูปแบบต่างๆ เพื่อครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายในวงกว้างให้ได้มากที่สุด


บทสรุป

จากปัจจัยลบที่คาดว่าจะส่งผลกระทบเด่นชัดมากกว่าปัจจัยบวกต่อภาพรวมธุรกิจค้าปลีกค้าส่งในช่วงครึ่งหลังปี 2551 ไม่ว่าจะเป็นการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก อัตราเงินเฟ้อยังสูงอยู่ ราคาน้ำมันที่ทรงตัวในระดับสูง แม้ว่าจะอ่อนตัวลงมาบ้างแล้วในครึ่งหลังปี 2551 รวมถึงปัญหาความวุ่นวายทางการเมือง ที่คาดว่าจะเป็นตัวแปรสำคัญที่เข้ามาซ้ำเติมบรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค ที่เป็นไปในทิศทางชะลอตัวลงอยู่แล้วจากปัจจัยทางเศรษฐกิจให้มีแนวโน้มชะลอตัวเด่นชัดมากยิ่งขึ้น ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นจะมากหรือน้อยเพียงใดนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันจะคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้นรวดเร็วเพียงใด ซึ่ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่ามูลค่าการค้าส่งค้าปลีกในครึ่งหลังปี 2551 น่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 2-5 โดยผู้บริโภคจะมีแนวโน้มบริโภคสินค้าและบริการที่มีความคุ้มค่าต่อการจับจ่ายเพิ่มขึ้น และการใช้จ่ายน่าจะขึ้นกับรายได้และรสนิยมเป็นสำคัญ ขณะเดียวกันพฤติกรรมของผู้บริโภคจะเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นในการแยกวัตถุประสงค์การเข้าใช้บริการธุรกิจค้าปลีกแต่ละประเภท เช่น หากต้องการซื้ออาหาร หรือของใช้จำเป็นในชีวิตประจำวันก็จะเลือกไปที่ร้านค้าปลีกที่ใกล้บ้าน หรือใกล้ที่ทำงาน ไม่ว่าจะเป็นดิสเคานท์สโตร์ ซูเปอร์มาร์เก็ตสแตนอโลน คอนวีเนี่ยนสโตร์ หรือคอมมูนิตี้มอลล์ แต่หากต้องการติดตามกระแสแฟชั่น(Up date Trend) หรือสันทนาการบันเทิง ก็จะเข้าไปใช้บริการในศูนย์การค้า หรือห้างสรรพสินค้า และเมื่อต้องการจะหาซื้อสินค้ากลุ่มเครื่องใช้ อุปกรณ์ซ่อมแซม สร้างบ้าน ก็จะมุ่งไปยังร้านค้าปลีกประเภท Home improvement ที่ตั้งอยู่ในทำเลใกล้บ้านหรือมีสินค้าให้เลือกหลากหลาย เป็นต้น ดังนั้น การทำความเข้าใจถึงความต้องการของผู้บริโภค ภายใต้การวางแผนกลยุทธ์เฉพาะเจาะจง และครอบคลุมกลุ่มลูกค้าเป้าหมายในแต่ละทำเลพื้นที่ด้วยตำแหน่งการตลาดที่ชัดเจน และการสร้างความแตกต่างทั้งในส่วนของสินค้าที่วางจำหน่าย หรืออิงกระแสที่กำลังที่เป็นที่นิยมในแต่ละช่วงเวลา และการตกแต่งที่แตกต่างมีเอกลักษณ์ นอกเหนือจากกลยุทธ์ด้านราคา เพื่อก่อให้เกิดแบรนด์ลอยัลตี้ และสร้างความถี่ในการเข้ามาใช้บริการให้มากขึ้น จึงน่าจะเป็นแนวทางที่เหมาะสมสอดคล้องกับภาวะการแข่งขันในธุรกิจค้าปลีกยุคผู้บริโภคเป็นศูนย์กลาง และในภาวะค่าครองชีพสูงเช่นปัจจุบัน

--------------------------------------



Create Date : 08 กันยายน 2551
Last Update : 8 กันยายน 2551 15:09:35 น. 3 comments
Counter : 708 Pageviews.

 
เอริ้ก เอริ้กกกก...
อิอิอิ
ฮ่าๆๆๆๆๆๆๆ
ภารกิจเสร็จแว้วววววววว
ขอย้ำ..
เสร็จแล้ว
อิอิอิ
สุดยอดดดดดดดด


โดย: ป้าซ่าส์ วันที่: 8 กันยายน 2551 เวลา:18:31:38 น.  

 
. . .

ธอส.จัดโปรโมชั่นพิเศษรับงานมหกรรมบ้านมือสองแห่งชาติ 18-21 ก.ย.นี้


นายขรรค์ ประจวบเหมาะ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า ธอส. จะจัดงานมหกรรมบ้าน 55 ปี ธอส. และมหกรรมบ้านมือสองแห่งชาติ ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 18-21 กันยายนนี้ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดย ธอส.ร่วมกับพันธมิตร นำบ้านทั้งโครงการใหม่และบ้านมือสอง กว่า 20,000 รายการ มาจัดโปรโมชั่นพิเศษ

และ ธอส.จะมี 2 โปรโมชั่นพิเศษ คือ “เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และเงินฝากดอกเบี้ยสูง” กับ “กู้บ้านลุ้นบ้าน กู้คอนโดลุ้นคอนโด”

สำหรับเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ประกอบด้วย สินเชื่อเพื่อซื้อ ปลูกสร้าง และชำระหนี้ อัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 0 นาน 3 เดือน หลังจากนั้น คิดอัตราดอกเบี้ยMRRลบร้อยละ 2.55 นาน 5 เดือน และสินเชื่อชำระหนี้และอุปกรณ์ อัตราดอกเบี้ยMRR ลบร้อยละ 1 นาน 1 ปี

ส่วนโปรโมชั่นเงินฝากดอกเบี้ยสูง เป็นเงินฝากประจำ 1 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4.25 ต่อปี รับดอกเบี้ยรายเดือน ฝากขั้นต่ำ 55,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 55 ล้านบาท เงินฝากประจำ 3 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี รับดอกเบี้ยทุก 6 เดือน ฝากขั้นต่ำ 55,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 55 ล้านบาท และเงินฝากโครงการ ธอส. รักการออม อัตราดอกเบี้ยออมทรัพย์พิเศษบวกเพิ่มอีกร้อยละ 0.55 ในปีแรก เปิดบัญชีครั้งแรกขั้นต่ำ 5,500 บาท

สำหรับโปรโมชั่น “กู้บ้านลุ้นบ้านฯ” จะเป็นกรณีลูกค้ายื่นขอกู้กับ ธอส. และทำนิติกรรมภายในวันที่ 4 ธันวาคมนี้ จะได้ลุ้นรางวัลใหญ่ เป็นบ้านแฝดหรือห้องชุด หรือจานดาวเทียมด้วย
. . .



รมช.คลังชี้การเมืองกระทบเศรษฐกิจ คาดไตรมาส 3 ขยายตัวไม่ถึง 5%


นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวภายหลังการมอบโล่ที่ระลึกแก่ข้าราชการกระทรวงการคลังที่เกษียณอายุราชการ ว่า สถานการณ์เศรษฐกิจขณะนี้ การลงทุน การท่องเที่ยวชะลอลงไปมาก รวมทั้งเงินทุนต่างชาติเริ่มไหลออก เป็นเพราะการปรับพอร์ตการลงทุนออกไปหาตลาดที่มีข้อจำกัดน้อยกว่าไทย แต่สถานการณ์ลักษณะนี้ได้เคยเกิดขึ้นหลายครั้งแล้วในประเทศไทย จึงเชื่อมั่นว่าเงินลงทุนจะกลับมาอีกเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ยังเป็นห่วงปัญหาขาดสภาพคล่องเพราะการให้เครดิตในการซื้อสินค้าระหว่างผู้ประกอบการเริ่มลดลง การกู้เงินของเอกชนเริ่มมีต้นทุนสูงขึ้น เพราะความเชื่อมั่นในบรรยากาศโดยรวมหายไป ทำให้การทำธุรกิจเริ่มตึงตัว

นายสุชาติมองว่า สถานการณ์ความเชื่อมั่นที่ลดลงจะกินเวลาไปอีกนานนับปี จึงทำให้เศรษฐกิจเติบโตไปได้ช้า เศรษฐกิจไตรมาส 3 อาจขยายตัวได้ไม่เกินร้อยละ 5 หลังจากไตรมาสแรกขยายตัวร้อยละ 6 ไตรมาส 2 ขยายตัว ร้อยละ 5.3 ทำให้ตลอดทั้งปี 2551 เศรษฐกิจอาจขยายตัวได้ไม่เกินร้อยละ 6 เพราะรายได้หลักของประเทศขณะนี้มาจากการส่งออก ส่วนอีก 2 ด้านหลักสำคัญทั้งการท่องเที่ยวและการลงทุนชะลอลงไป

และจากการหารือกับนายวีรพงษ์ รามางกูร ที่ปรึกษาอาวุโสด้านเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรี ระบุว่าทีมที่ปรึกษายังทำหน้าที่ให้คำปรึกษาด้านเศรษฐกิจให้กับนายกรัฐมนตรีเหมือนเดิม แต่การประชุมยังทำไม่ได้ เพราะไม่สามารถเข้าไปทำงานในทำเนียบรัฐบาลได้

. . .



โพลล์มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยหวั่นผลกระทบการชุมนุมยืดเยื้อ 1-3 เดือน ฉุดเศรษฐกิจโตต่ำกว่าร้อยละ 4.5


นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจความคิดเห็นภาคเอกชน 820 ตัวอย่าง เรื่อง “ทรรศนะต่อการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ในปัจจุบัน” พบว่าปัญหาที่เอกชนต้องการให้รัฐบาลแก้ไขให้เร็วที่สุด คือ สถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองถึงร้อยละ 17.3 รองลงมาคือ เศรษฐกิจชะลอตัว ร้อยละ 15.9 อันดับ 3 คือ ราคาน้ำมันร้อยละ 15.8

โดยเอกชนเห็นว่า ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่เกิดขึ้น กระทบทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง ซึ่งหากการชุมนุมยืดเยื้อนาน 1-3 เดือน จะทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจปีนี้เหลือร้อยละ 3.5-4.0 จากที่เคยประมาณการไว้ที่ร้อยละ 5.0-6.0

นอกจากนี้ผลสำรวจความคิดเห็นของเอกชนร้อยละ 38.7 ต้องการให้รัฐบาลเจรจาคลี่คลายสถานการณ์โดยเร็วที่สุด ร้อยละ 30.4 ต้องการให้รัฐบาลยุบสภา ร้อยละ 24 ให้รัฐบาลลาออก และร้อยละ 6.9 ไม่มีความเห็น

“หากการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ยืดเยื้อกว่า 1 เดือน เศรษฐกิจของประเทศจะยิ่งเสียหายมากขึ้น เพราะเป็นสิ่งที่นักธุรกิจกังวลมาที่สุดว่า ยิ่งการชุมนุมยืดเยื้อเศรษฐกิจก็ยิ่งชะลอตัว” นายธนวรรธน์ กล่าว

ส่วนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจรที่ จ.อุดรธานี วันที่ 9 ก.ย.นี้ และเกรงว่าจะมีการปะทะกันระหว่างประชาชน 2 ฝ่าย นายธนวรรธน์ เห็นว่า หากมีการปะทะกันใกล้ที่ประชุม ครม. ก็จะยิ่งเสียหายต่อภาพลักษณ์ของประเทศ เพราะเป็นการแสดงว่า ครม.ประชุมที่ไหน ก็จะเกิดปัญหาการปะทะกันที่นั่น ซึ่งจะยิ่งทำให้สถานการณ์การเมืองยิ่งรุนแรงมากขึ้น และสะท้อนถึงความบกพร่องในการดูแลความปลอดภัย

ส่วนกรณีที่รัฐบาลจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปลายปีนี้ เห็นว่า ล่าช้าเกินไป และอาจไม่ได้ผล หากสถานการณ์การเมืองยังวุ่นวาย และไม่เป็นปกติ เพราะความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และนักลงทุนต่างประเทศ ยังไม่มั่นใจในสถานการณ์การเมืองของไทย ดังนั้นต้องทำการเมืองให้นิ่ง มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจึงจะได้ผล
. . .



รายได้รัฐบาลเดือน ส.ค.ต่ำกว่าเป้าหมาย 9.8%


นายสมชัย สัจจพงษ์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลประจำเดือนสิงหาคม 2551 ซึ่งจัดเก็บได้ 181,405 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 19,794 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี ในช่วง 11 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2551 (ต.ค.50-ส.ค.51) การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลมีจำนวน 1,423,354 ล้านบาท ยังคงสูงกว่าประมาณการ 22,757 ล้านบาท

สำหรับสาเหตุที่รัฐบาลจัดเก็บรายได้ต่ำกว่า เป้าหมายที่ตั้งไว้ 19,794 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.8 เนื่องจากภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 13,085 ล้านบาท เนื่องจากเดือนนี้เป็นเดือนสุดท้ายของการยื่นชำระภาษีจากกำไรสุทธิของนิติบุคคลรอบครึ่งปีบัญชี 2551 (ภงด.51) แต่วันสุดท้ายของการยื่นชำระภาษีดังกล่าวตรงกับวันอาทิตย์ จึงได้มีการยืดระยะเวลาการยื่นชำระมาเป็นวันจันทร์ที่ 1 กันยายน 2551 ทำให้รายได้จากภาษีดังกล่าวส่วนหนึ่งจะเหลื่อมไปอยู่ในเดือนกันยายน รวมทั้งการชำระภาษีเงินได้ปิโตรเลียมก็มีรายได้ส่วนหนึ่งเหลื่อมไปในเดือนกันยายน 2551 เช่นกัน ทำให้ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมต่ำกว่าเป้าหมาย 3,469 ล้านบาท

นอกจากนี้ การจัดเก็บภาษีน้ำมัน ซึ่งได้รับผลกระทบจากการลดอัตราภาษีน้ำมัน แก๊สโซฮอล์ และดีเซล (ตาม 6 มาตรการ 6 เดือน ฝ่าวิกฤติเพื่อคนไทย) ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2551 ทำให้การจัดเก็บภาษีน้ำมันต่ำกว่าเป้าหมาย 5,159 ล้านบาท

สำหรับในช่วง 11 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2551 (ต.ค.50-ส.ค.51) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 1,423,354 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 22,757ล้านบาท หรือร้อยละ 1.6 ซึ่งเป็นผลจากการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากรจากภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม และกรมศุลกากรจากอากรขาเข้า ที่สูงกว่าประมาณการเป็นสาเหตุหลัก โดยกรมสรรพากร จัดเก็บได้รวม 1,136,936 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 29,668 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.7, กรมสรรพสามิต จัดเก็บได้รวม 260,161 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 8,701 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.2 ,กรมศุลกากร จัดเก็บได้รวม 90,751 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 10,171 ล้านบาท หรือร้อยละ 12.6 ขณะที่รัฐวิสาหกิจ นำส่งรายได้รวม 91,607 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 1,088 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1.2

อย่างไรก็ตาม จากผลการจัดเก็บรายได้ในช่วง 11 เดือนแรกที่สูงกว่าเป้าหมาย 22,757 ล้านบาท และจากแนวโน้มการจัดเก็บรายได้ในเดือนกันยายน 2551 ซึ่งเป็นเดือนสุดท้ายของปีงบประมาณ 2551 คาดว่าจะจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการที่ตั้งไว้ แม้จะได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐบาล แต่จะได้รับรายได้จากภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีเงินได้ปิโตรเลียมที่เหลื่อมมาจากเดือนสิงหาคม 2551 รวมทั้งบริษัท ปตท.ฯ ที่จะนำส่งรายได้ก่อนกำหนด ทำให้เชื่อมั่นว่าการจัดเก็บรายได้รัฐบาลในปีงบประมาณ 2551 นี้ จะสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ในเอกสารงบประมาณ (1.495 ล้านล้านบาท) ประมาณร้อยละ 2.0-2.5

. . .



ผลสำรวจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยพบว่าครูและเกษตรกรมียอดหนี้ลดลง


นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ศูนย์พยากรณ์ฯ ร่วมมือกับกรมตรวจบัญชีสหกรณ์สำรวจสถานภาพทางเศรษฐกิจของครูและเกษตรกรไทย พบว่าทั้งสองกลุ่มใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงมากขึ้น

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ทั้งครูและเกษตรกรไทยมีความระมัดระวังในการก่อหนี้ โดยมูลหนี้เฉลี่ยลดจาก 70,000 บาท เหลือ 67,000 บาทต่อคน หรือลดลงประมาณร้อยละ 5 ขณะที่เงินออมสูงขึ้นจาก 60,000 บาท เป็น 66,000 บาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 10 สะท้อนว่าเศรษฐกิจฐานรากยังมั่นคงดีทั้งครูและเกษตรกร สามารถรองรับค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นได้ ประกอบกับ อัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มลดลง ทำให้ไม่มีผลกระทบรุนแรงต่อการดำรงชีวิต ซึ่งเชื่อว่าเมื่อเศรษฐกิจการเมืองดีขึ้น เศรษฐกิจรากหญ้าก็จะดีไปด้วย

สำหรับผลการสำรวจเศรษฐกิจของครู พบว่าครูกู้เงินนอกระบบประมาณร้อยละ 74.6 จากโรงรับจำนำ ร้อยละ 90.9 และพบว่าครูชำระหนี้ต่อเดือนตามวงเงินของรายได้ ดังนั้น ปัญหาหนี้จึงไม่รุนแรง แต่ก็พบว่าจากภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันครูประมาณร้อยละ 53 มีการก่อหนี้เพิ่มขึ้น เพราะรายได้ไม่พอกับรายจ่าย สินค้าแพงขึ้น

ดังนั้น สิ่งที่ครูต้องการให้รัฐบาลช่วย คือ ปรับเงินเดือนให้เหมาะสม, หาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ, ปลดหนี้ให้ครู, เพิ่มสวัสดิการ และยกเว้นภาษีเงินได้

ส่วนภาคเกษตรกร พบว่า แม้ราคาสินค้าเกษตรจะสูงขึ้น แต่เกษตรกรไม่ได้กำไรหรือมีรายได้เพิ่มจากราคาสินค้าเกษตรไม่มากนัก สาเหตุเนื่องจากต้นทุนทั้งราคาน้ำมัน ค่าปุ๋ยแพงขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาที่เกษตรกรเป็นห่วงว่า จะกระทบต่อกำไรและรายได้ในอนาคตของเกษตรกร

. . .





โดย: news IP: 58.137.155.65 วันที่: 8 กันยายน 2551 เวลา:18:50:32 น.  

 
ขอบคุณมากคราฟ

ที่ไห้ความรู้


โดย: E ฟิว IP: 222.123.14.220 วันที่: 15 ตุลาคม 2551 เวลา:11:34:39 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

loykratong
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]






ไม่มีอะไรขึ้นตลอด
ไม่มีอะไรลงตลอด
...ไม่มี the end of the world ...

Web Site Hit Counters

ราคาทองคำ
 

ราคาทองคำต่างประเทศ



Friends' blogs
[Add loykratong's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.