Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2551
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
22 กรกฏาคม 2551
 
All Blogs
 
. . . 11 ส.ค. 51 เริ่มใช้ พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก . . .

. . .

นับถอยหลัง...บังคับใช้กฎหมายสถาบันคุ้มครองเงินฝาก
โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย


เหลือเวลาอีกไม่ถึง 1 เดือน ประเทศไทยก็จะเริ่มบังคับใช้ พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ. 2551 หลังจากกฎหมายดังกล่าวได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2551 ที่ผ่านมา โดยกฎหมายกำหนดให้มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการเมื่อพ้น 180 วันนับจากวันที่ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา นั่นคือ วันที่ 11 สิงหาคม 2551 เป็นต้นไป

อันที่จริงแล้ว ก่อนหน้านี้ ภาครัฐได้มีความพยายามในการจัดตั้งสถาบันประกัน หรือคุ้มครองเงินฝากมาหลากหลายครั้ง โดยเฉพาะตั้งแต่ช่วงหลังจากเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินในประเทศครั้งสำคัญแต่ละครั้ง อาทิ วิกฤตการณ์ราชาเงินทุนในปี 2522 และวิกฤตการณ์ทางการเงินในปี 2540 เพื่อลดการคุ้มครองเงินฝากจากแบบเต็มจำนวน (Blanket Guarantee) ให้เหลือเพียงบางส่วน (Partial Guarantee)

สำหรับหลักการของการออกกฎหมายคุ้มครองเงินฝากในปี 2551 นี้ ก็มีความคล้ายคลึงกัน กล่าวคือ นอกจากจะมีจุดประสงค์เพื่อลดภาระทางการคลังจากการคุ้มครองเงินฝากแบบเต็มจำนวนแล้ว ก็ยังมุ่งเสริมสร้างกลไกดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองเงินฝากที่เหมาะสมและเป็นระบบ

นอกจากนี้ ในทางทฤษฎีแล้ว การมีสถาบันคุ้มครองเงินฝากจะช่วยลดการตื่นตระหนกและเร่งถอนเงินฝากของประชาชนรายย่อย (Bank Run) ในกรณีที่ผู้ฝากเงินเกิดความไม่เชื่อมั่นต่อระบบสถาบันการเงิน อันจะนำมาสู่ปัญหาลูกโซ่ต่อสถาบันการเงินอื่นๆ ตามมา จนกลายเป็นความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินในภาพรวม

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้รวบรวมประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับสถาบันคุ้มครองเงินฝากไว้ดังนี้

• ในปัจจุบัน ประเทศที่ใช้ระบบคุ้มครองเงินฝากมีจำนวนเกือบ 100 ประเทศ จากข้อมูลของ International Association of Deposit Insurers (IADI) พบว่าในปัจจุบัน มีประเทศที่ใช้ระบบคุ้มครองเงินฝากจำนวน 99 ประเทศ ขณะที่ มีอีก 20 ประเทศที่อยู่ระหว่างการศึกษาและเตรียมการ เพื่อการบังคับใช้ระบบคุ้มครองเงินฝากในอนาคต

ซึ่งจากการรวบรวมของ IADI หนึ่งในจำนวนนี้ คือ ประเทศไทย สำหรับประเทศที่ถือว่าเป็นต้นแบบของระบบคุ้มครองเงินฝาก คือ สหรัฐฯ ซึ่งเริ่มใช้เป็นประเทศแรกของโลกในปี 2476 สำหรับในทวีปเอเชียเองนั้น จะมี 22 ประเทศที่มีระบบคุ้มครองเงินฝากแล้ว เช่น บังคลาเทศ ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ลาว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ใต้หวัน เวียดนาม และศรีลังกา เป็นต้น


• สาระสำคัญของระบบคุ้มครองเงินฝากใหม่ของไทย มีดังนี้

 เงินฝากที่ได้รับความคุ้มครอง คือ เงินฝากและดอกเบี้ยที่เป็นเงินบาทของบัญชีเงินฝากในประเทศ แต่จะไม่รวมบัญชีเงินบาทของบุคคลที่มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน (Non-Resident Baht Account: NRBA) และเงินฝากในรูปสกุลเงินตราต่างประเทศ

 สถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองเงินฝากในปัจจุบัน มีจำนวน 42 แห่ง ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่ง ธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อย 3 แห่ง ธนาคารที่เป็นบริษัทลูกของธนาคารต่างประเทศ (Subsidiary) 1 แห่ง สาขาของธนาคารต่างประเทศ 16 แห่ง บริษัทเงินทุน 5 แห่ง และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ 3 แห่ง

 วงเงินคุ้มครอง จะทยอยลดความคุ้มครองลงจากเต็มจำนวนในปีแรกที่สถาบันคุ้มครองเงินฝากมีผลบังคับใช้ จนมาเหลือ 1 ล้านบาทต่อรายต่อสถาบันการเงินในปีที่ 5 หลังจากที่สถาบันคุ้มครองเงินฝากมีผลบังคับใช้ หรือตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2555 เป็นต้นไป โดยมีรายละเอียดดังนี้
การทยอยลดวงเงินฝากคุ้มครอง


ระยะเวลา จำนวนที่คุ้มครอง/ราย/สง.

ปีที่ 1 11 ส.ค.51 – 10 ส.ค.52 ทั้งจำนวน
ปีที่ 2 11 ส.ค.52 – 10 ส.ค.53 100 ล้านบาท
ปีที่ 3 11 ส.ค.53 – 10 ส.ค.54 50 ล้านบาท
ปีที่ 4 11 ส.ค.54 – 10 ส.ค.55 10 ล้านบาท
ปีที่ 5 11 ส.ค.55 เป็นต้นไป 1 ล้านบาท

ที่มา: ธปท.

เมื่อพิจารณาจากเงินฝากจำแนกตามขนาดเงินฝาก ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2551 แล้ว จะพบว่า วงเงินฝากที่ 1 ล้านบาทนั้น จะครอบคลุม 73.7 ล้านบัญชี คิดเป็น 98.81% ของจำนวนบัญชีทั้งสิ้น แต่เมื่อคิดเป็นปริมาณเงินฝากแล้ว จะครอบคลุมเพียง 1.87 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 26.95% ของปริมาณเงินฝากทั้งสิ้นเท่านั้น

 ยอดเงินสมทบ หรือเบี้ยประกันรายปีที่ต้องนำส่งให้สถาบันคุ้มครองเงินฝาก โดยกฎหมายกำหนดให้มีอัตราไม่เกิน 1% ต่อปีของฐานเงินฝากเฉลี่ย โดยในปีแรก คงจะเก็บเป็นอัตราคงที่ (Flat Rate) ในอัตรา 0.4% ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราเดียวกันกับที่เคยนำส่งให้กองทุนฟื้นฟูฯ แต่หลังจากนั้น มีแนวโน้มว่าจะเก็บในลักษณะที่ผันแปรตามความเสี่ยงของแต่ละสถาบันการเงิน (Risk-Based)



• ผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นภายหลังจากการมีสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า การบังคับใช้สถาบันคุ้มครองเงินฝาก อาจส่งผลต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ ดังนี้

 ผู้ฝากเงิน
แม้ว่า จากข้อมูลของ ธปท. การบังคับใช้ระบบคุ้มครองเงินฝากแบบจำกัดความคุ้มครองไว้ที่ 1 ล้านบาทต่อรายต่อสถาบันการเงินนั้น จะกระทบผู้ฝากเงินเพียง 8.9 แสนบัญชีที่มีเงินฝากเกินกว่า 1 ล้านบาทต่อบัญชี คิดเป็นสัดส่วน 1.2% ของจำนวนบัญชีเงินฝากทั้งหมด แต่ผู้ฝากกลุ่มนี้ มีเงินฝากจำนวนมากถึง 5.1 ล้านล้านบาท ทำให้ครองส่วนแบ่งตลาดเงินฝากที่วัดจากปริมาณเงินฝากสูงถึง 73.1% ของปริมาณเงินฝากทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากในกลุ่มผู้ฝากเงินที่มีเงินฝากเกินกว่า 1 ล้านบาทต่อรายต่อสถาบันการเงินนี้ ประกอบด้วยผู้ฝากทั้งประเภทบุคคลธรรมดา นิติบุคคล (ธุรกิจ) รัฐบาล รัฐวิสาหกิจ องค์กรไม่แสวงหากำไร สถาบันการเงิน และกองทุน เป็นต้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงคาดว่า ผู้ฝากเงินที่จะได้รับผลกระทบค่อนข้างชัดเจน น่าจะจำกัดอยู่เฉพาะกลุ่มผู้ฝากเงินประเภทบุคคลธรรมดาที่เลือกฝากเงินไว้กับธนาคารพาณิชย์ในฐานะที่เป็นการลงทุนประเภทหนึ่ง มากกว่า ที่จะส่งผลกระทบต่อกลุ่มผู้ฝากประเภทอื่นๆ ซึ่งน่าจะฝากเงินเพื่อจุดประสงค์ในการบริหารสภาพคล่อง หรือความคล่องตัวในการติดต่อธุรกิจเป็นสำคัญ

ทั้งนี้ จากการประมาณเบื้องต้นของศูนย์วิจัยกสิกรไทย กลุ่มผู้ฝากเงินประเภทบุคคลธรรมดาที่มีเงินฝากเกิน 1 ล้านบาทต่อบัญชี น่าจะมีสัดส่วนประมาณ 34% ของเงินฝากทั้งหมดที่ระบบธนาคารพาณิชย์เท่านั้น

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ระบบคุ้มครองเงินฝากใหม่ น่าจะช่วยให้ผู้มีเงินออมมีวินัยในการฝากเงินมากขึ้น โดยไม่ได้คำนึงถึงเฉพาะแค่ความคล่องตัว หรืออัตราผลตอบแทนเหมือนแต่ก่อน แต่หากจะต้องคำนึงถึงความเสี่ยงของแต่ละสถาบันการเงินด้วย

นอกจากนี้ ผู้ฝากเงินอาจยังถูกกระตุ้นให้ศึกษาทางเลือกในการออมประเภทอื่นๆ มากขึ้น อันจะช่วยให้มีความรู้และความเชี่ยวชาญด้านการลงทุนมากขึ้น ขณะเดียวกัน ผู้ฝากเงินก็น่าจะได้รับประโยชน์จากการแข่งขันของสถาบันการเงินในการนำเสนอผลิตภัณฑ์เงินออมที่มีความหลากหลายเพิ่มขึ้นด้วยในอนาคต

 สถาบันการเงิน
การบังคับใช้ระบบคุ้มครองเงินฝากแบบใหม่นี้ นอกจากจะช่วยลดปัญหาความบกพร่องทางจริยธรรม (Moral Hazard) ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากการใช้ระบบคุ้มครองเงินฝากแบบเต็มจำนวน (Blanket Guarantee) ที่อาจกระตุ้นให้สถาบันการเงินทำธุรกิจ หรือธุรกรรมที่มีความเสี่ยงมากเกินไป ภายใต้ความคิดว่าเงินฝากที่ตนระดมมา จะได้รับความคุ้มครองจากภาครัฐเต็มที่แล้ว ระบบคุ้มครองเงินฝากใหม่ ยังจะช่วยทำให้เกิดความเป็นธรรมในการแข่งขันระหว่างสถาบันการเงินมากยิ่งขึ้นด้วย

โดยสถาบันการเงินที่มีความเสี่ยงมาก หรือมีความมั่นคงต่ำกว่าโดยเปรียบเทียบ อาจต้องระดมเงินฝากในต้นทุนที่แพงกว่าสถาบันการเงินที่มีความเสี่ยงต่ำกว่า และอาจต้องจ่ายเบี้ยประกันรายปีให้สถาบันคุ้มครองเงินฝากในอัตราที่มากกว่าด้วย โดยเฉพาะเมื่อสถาบันคุ้มครองเงินฝากคงจะปรับวิธีการคำนวณเบี้ยประกันจากแบบคงที่ (Flat Rate) ในระยะแรก มาเป็นแบบผันแปรตามความเสี่ยง (Risk-Based) ในอนาคต

นอกจากนี้ ความเป็นไปได้ที่ผู้ฝากเงินอาจให้ความสนใจกับทางเลือกในการออม และลงทุนประเภทอื่นๆ มากขึ้น ก็น่าจะส่งผลดีต่อธุรกิจในเครือของธนาคารพาณิชย์ภายใต้ลักษณะการประกอบธุรกิจแบบ Universal Banking อาทิ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม และบริษัทหลักทรัพย์ ด้วย

สำหรับผลกระทบของการบังคับใช้กฎหมายสถาบันคุ้มครองเงินฝากต่อการดำเนินธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ในช่วงที่ผ่านมานั้น อาจยังไม่สามารถประเมินได้ชัดเจนนัก โดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินให้กู้ยืมของธนาคารพาณิชย์ไทยที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2551 เป็นต้นมา

ตลอดจนการทยอยนำเสนอตั๋วแลกเงินและโครงการเงินฝากแบบพิเศษที่ให้อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น คาดว่าจะมีสาเหตุจากปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย นั่นคือ ภาวะความตึงตัวของสภาพคล่องแต่ละธนาคาร การครบกำหนดของโครงการเงินฝากแบบพิเศษที่เคยออกไปก่อนหน้านี้ และการสนับสนุนนโยบายรัฐบาลเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ท่ามกลางค่าครองชีพที่สูงขึ้น มากกว่าจะมาจากการบังคับใช้สถาบันคุ้มครองเงินฝากเพียงตัวแปรเดียว

กระนั้นก็ดี เนื่องจากในปีแรกของการบังคับใช้กฎหมายสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ผู้ฝากเงินจะยังคงได้รับความคุ้มครองเต็มจำนวนอยู่ ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงคาดว่า ธนาคารพาณิชย์คงจะยังไม่ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้สถาบันคุ้มครองเงินฝากในช่วงนี้

กระนั้นก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเชื่อว่า การบังคับใช้สถาบันคุ้มครองเงินฝากที่กำลังจะเริ่มต้นขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ ไม่น่าที่จะส่งผลกระทบในเชิงลบ อาทิ การโยกย้ายเงินฝากอย่างรวดเร็ว จนนำมาสู่ปัญหาสถาบันการเงิน (Bank Run) เนื่องจากการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว เป็นไปในลักษณะการทยอยลดวงเงินคุ้มครองภายในระยะเวลา 5 ปี ในขณะที่สถาบันการเงินไทยก็ได้ผ่านกระบวนการปรับตัวและปรับปรุงมาตรฐานในการดำเนินงานมาแล้ว จนเทียบได้กับระดับสากล

ขณะเดียวกัน ทางการไทยก็ให้ความสำคัญกับการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาความอ่อนแอในภาคสถาบันการเงิน ตลอดจนกำหนดให้สถาบันการเงินจัดทำแผนรองรับผลกระทบจากการใช้สถาบันคุ้มครองเงินฝากไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งทั้งหมดนี้ น่าจะช่วยทำให้ผู้ฝากเงินยังคงเชื่อมั่นในสถาบันการเงินไทย แม้ว่าระบบการคุ้มครองเงินฝากจะไม่ได้เป็นแบบเต็มจำนวนแล้วก็ตาม 

. . .


Create Date : 22 กรกฎาคม 2551
Last Update : 22 กรกฎาคม 2551 18:42:49 น. 3 comments
Counter : 707 Pageviews.

 
. . .


ครม. ตีกลับ โครงการเช่ารถเอ็นจีวี 6 พันคัน สั่งสภาพัฒน์ฯ ตั้งคณะกรรมการศึกษารายละเอียด ภายใน 1 เดือน

พล.ต.ท.วิเชียรโชติ สุกโชติรัตน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ครม.มีมติเป็นเอกฉันท์เห็นชอบในหลักการให้มีการปฏิรูปการเดินรถขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก. พร้อมอนุมัติวงเงินให้ 111,690 ล้านบาท ให้จัดเช่ารถโดยสารปรับอากาศก๊าซธรรมชาติเอ็นจีวี ระยะเวลา 10 ปี

และเห็นชอบให้ ปรับปรุงการเดินรถให้ครอบคลุมทั้งในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล รวมทั้งให้นำรถโดยสารเก่าไปจำหน่าย และนำรายได้มาเป็นทุนหมุนเวียน
แต่ในส่วนของการเช่ารถเอ็นจีวี 6 พันคัน ยังต้องมีการพิจารณาเพิ่มเติม เกี่ยวกับต้นทุนการดำเนินการ, ประมาณการรายได้ และจำนวนผู้โดยสาร

โดยได้มอบให้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาสังคมเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์) ตั้งคณะกรรมการพิเศษ ( วอร์รูม ) โดยให้มี พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกฯ เป็นประธาน เพื่อศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม รวมถึงดูแลในเรื่องของความโปร่งใสในการประมูล คาดว่า จะตั้งคณะกรรมการได้แล้วเสร็จในวันที่ 30 ก.ค.นี้ และจะใช้เวลาในการศึกษาประมาณ 1 เดือน ก่อนนำเข้าที่ประชุม ครม. อีกครั้ง

. . .



ครม.อนุมัติลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ตาม 6 มาตรการ 6 เดือนฝ่าวิกฤติฯ


น.ส.ศุภรัตน์ นาคบุญนำ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ตามที่กระทรวงการคลังได้เสนอการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน และผลิตภัณฑ์น้ำมัน ตาม 6 มาตรการ 6 เดือน ฝ่าวิกฤตเพื่อคนไทยทุกคนนั้น คณะรัฐมนตรีได้มีมติตามที่กระทรวงการคลังเสนอมา โดยได้อนุมัติทั้งการลดภาษีสรรพสามิต ลดภาษีน้ำมันแก๊สโซฮอล์ และลดภาษีน้ำมันดีเซลที่มีส่วนผสมของไบโอดีเซล ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบจากกรมสรรพสามิตแล้ว

การอนุมัติในครั้งนี้ เพื่อให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไข เพื่อให้มีผลบังคับใช้ได้ทันในวันที่ 25 กรกฎาคม ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีการแถลง 6 มาตรการไปก่อนหน้านี้

. . .



ปตท. คาดอาจนำเข้าแอลพีจีถึงล้านตันในปีหน้า หากการใช้ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง


นายชัยวัฒน์ ชูฤทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจน้ำมัน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงการนำเข้าก๊าซหุงต้ม หรือแอลพีจี ว่า ที่ผ่านมา ปตท. ได้นำเข้าก๊าซแอลพีจีจากต่างประเทศแล้ว รวมจำนวนทั้งสิ้น 5 เที่ยว คือ เที่ยวแรก 29 เมษายน ปริมาณ 22,000 ตัน, เที่ยวที่ 2 วันที่ 2 กรกฎาคม 23,000 ตัน, เที่ยวที่ 3 และเที่ยวที่ 4 วันที่ 14 กรกฎาคม 40,000 ตัน และ 23,000 ตัน, และเที่ยวที่ 5 วันที่ 16 กรกฎาคม ปริมาณ 1,800 ตัน

นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า ปตท. จะนำเข้าก๊าซแอลพีจีอีกครั้งในวันที่ 27 กรกฎาคมนี้ ปริมาณ 22,000 ตัน ซึ่งคาดว่า ปตท. ยังต้องนำเข้าก๊าซแอลพีจีอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือนสิงหาคมนี้จนถึงสิ้นปีนี้ ประมาณเดือนละ 88,000 ตัน ซึ่งการนำเข้าก๊าซแอลพีจีแต่ละครั้ง ปตท. ต้องนำเข้าในราคาตลาดโลก คือกว่า 950 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ขณะที่รัฐกำหนดให้ราคาขายในประเทศอยู่ที่ประมาณ 332 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ซึ่งรัฐจะสนับสนุนส่วนต่างประมาณกว่า 600 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน โดยให้ ปตท. เป็นผู้รับภาระไปก่อนในช่วงแรก และชำระคืนให้ ปตท. ในภายหลัง

นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า ปัจจุบันปริมาณก๊าซแอลพีจียังมีเพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ โดยตัวเลขความต้องการใช้แอลพีจีของทั้งประเทศที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในเดือนมิถุนายน 2551 มีปริมาณ 285,000 ตัน แบ่งเป็นการจ่ายก๊าซฯ โดยโรงกลั่น 71,000 ตัน และจ่ายจากโรงแยกก๊าซ ปตท. ประมาณ 214,000 ตัน ซึ่ง ปตท. เป็นผู้รับผิดชอบจัดส่งให้ภาคอุตสาหกรรม ภาคครัวเรือน และรถยนต์ปริมาณรวม 105,000 ตัน และได้ส่งให้กับผู้ค้ามาตรา 7 ในปริมาณ 109,000 ตัน ครบถ้วน ตามที่กรมธุรกิจพลังงานเป็นผู้กำหนด แต่หากปริมาณการใช้เติบโตขึ้นสูงอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ต่อไป คาดว่าในปีหน้าไทยอาจต้องนำเข้าก๊าซแอลพีจีในปริมาณถึงกว่า 1 ล้านตัน

สำหรับกรณีที่มีนักวิชาการอ้างว่า ไม่พบข้อมูลการนำเข้าแอลพีจีในเว็บไซต์ของกรมศุลกากรมีเพียงการส่งออก นั้น นายชัยวัฒน์ ยืนยันว่า ปตท. มีการนำเข้าก๊าซแอลพีจีจริง ในรูปของก๊าซโพรเพน (C3) และก๊าซบิวเทน (C4) ซึ่งคำว่า “แอลพีจี” เป็นชื่อสามัญที่ใช้เรียกก๊าซโพรเพน หรือก๊าซบิวเทน หรือส่วนผสมระหว่างก๊าซโพรเพน และก๊าซบิวเทน โดยส่วนผสมจะเป็นสัดส่วนเท่าใดขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของการใช้งานในประเทศนั้น ๆ

ส่วนการส่งออกก๊าซแอลพีจีไปต่างประเทศช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ 14,945 ตัน ให้ประเทศมาเลเซีย กัมพูชา ลาว และพม่า ซึ่งการส่งออกดังกล่าว เพื่อความสัมพันธ์อันดีกับประเทศเพื่อนบ้าน และเป็นการส่งออกในราคาตลาดโลกบวกค่าดำเนินการ

นายเมตตา บันเทิงสุข อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าวยืนยันว่า ปตท.มีการนำเข้าแอลพีจีจริง เพียงแต่ไม่ได้นำเข้าในรูปของก๊าซแอลพีจี แต่เป็นการนำเข้าโพรเพนและบิวเทน เป็นส่วนผสมหลัก มาผสมในประเทศ เป็นปกติของการส่งออกและนำเข้าแอลพีจี เนื่องจากแต่ละประเทศใช้แอลพีจีที่มีส่วนผสมแตกต่างกัน

นายเมตตา กล่าวว่า สำหรับการส่งออกนั้น ไทยส่งออกในรูปของแอลพีจีสำเร็จรูป เนื่องจากเป็นส่วนที่เหลือจากการใช้ในประเทศ กรมธุรกิจพลังงานมีการประกาศห้ามส่งออกตั้งแต่วันที่ 10 มี.ค.ที่ผ่านมา เพื่อให้นำแอลพีจีมาใช้ในประเทศก่อน ยกเว้นในส่วนของการส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เป็นการให้ความช่วยเหลือแบบรัฐต่อรัฐ ทั้งลาว กัมพูชา พม่า โดย ปตท.เป็นผู้ส่งออกในลักษณะก๊าซที่บรรจุถังแล้วในราคาตลาดโลก

"ผมยืนยันว่า ปตท.มีการนำเข้าจริง หากไม่มีการนำเข้า ก๊าซในประเทศขาดแคลนไปนานแล้ว เพราะปริมาณความต้องการใช้สูงขึ้นมาก เกินกว่าการผลิตในประเทศ แค่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีปัญหาการจัดส่งของเรือลำเดียว ยังเกิดปัญหาการขาดแคลน ถ้า ปตท.ไม่มีการนำเข้าจริง คงขาดแคลนมากกว่านั้น"

สำหรับอัตราอากรตามพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร ที่กรมศุลกากรจัดเก็บจากการนำเข้าก๊าซปิโตรเลียมที่เป็นของเหลว หรือก๊าซแอลพีจี อยู่ที่กิโลกรัมละ 0.001 บาท เป็นอัตราเดียวกันกับที่นำเข้ามาแบบแยกเป็น โพรเพน และบิวเทน เก็บอากรที่กิโลกรัมละ 0.001 บาท

. . .




โตโยต้าเรียกร้องรัฐบาลกำหนดนโยบายส่งเสริมการใช้พลังงานของประเทศให้ชัดเจน


นายมิทซึฮิโระ โซนาดะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด แถลงว่า ทางบริษัทจะร่วมกับผู้ผลิตรถยนต์ค่ายต่างๆ ร่วมกันประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชนให้เข้าใจถึงรถยนต์ประเภทต่างๆ หลังจากพบว่าประชาชนมีการใช้พลังงานทดแทนจำนวนมาก
การให้ความรู้นี้จะมุ่งเน้นไปถึงรถยนต์ดีเซลที่ในขณะนี้ยอดขายลดลงจนถึงขั้นติดลบอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เป็นเพราะประชาชนนิยมใช้ก๊าซธรรมชาติโดยเฉพาะก๊าซหุงต้ม หรือแอลพีจี ในสัดส่วนมากขึ้น ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ต่อไปจะเกิดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และจะกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศไทย ที่ขณะนี้เป็นฐานผลิตรถยนต์ปิคอัพที่สำคัญของโลก และมีสัดส่วนการผลิตโดยรวมในประเทศกว่าร้อยละ 60 โดยหากประเทศไทยมียอดการใช้รถยนต์ดีเซลลดลง ก็จะกระทบต่อยอดการผลิต และการวางแผนจำหน่าย

“ขอเรียกร้องให้ภาครัฐกำหนดนโยบายให้มีความสมดุลในทุกภาคส่วน และขอให้กระทรวงต่างๆ ทั้งกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพลังงาน และกระทรวงการคลัง หารือและกำหนดนโยบายที่สมดุลทั้งการผลิตและการใช้ เพราะหากไม่เป็นในทางเดียวกันจะกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งในส่วนของแอลพีจี เห็นชัดเจนว่ามีการตรึงราคาที่ไม่เป็นธรรม โดยรัฐบาลน่าจะค่อยปรับราคาให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง” กก.ผจก.ใหญ่ โตโยต้า กล่าว

นายนินนาท ไชยธีรภิญโญ กรรมการ บริษัทโตโยต้า กล่าวว่า ขอสนับสนุนให้รัฐบาลจัดทำยุทธศาสตร์การใช้พลังงานหรือโรดแมพให้มีความชัดเจนว่าประเทศไทยจะเดินทางไปแนวทางไหนระหว่างแก๊สโซฮอล์, ไบโอดีเซล, ซีเอ็นจี และแอลพีจี เพื่อกระจายความเสี่ยงของการใช้พลังงาน เพราะหากมีการพึ่งพาส่วนใดส่วนหนึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อประเทศ

โดยเห็นว่ารัฐบาลควรจะมีการปรับขึ้นราคาแอลพีจีสะท้อนต้นทุนให้มากที่สุด ไม่เช่นนั้น โครงสร้างการใช้พลังงานจะมีความสับสนและส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค

นายนินนาทย้ำว่ารถยนต์เครื่องดีเซลนั้นเหมาะต่อการบรรทุกมากที่สุด อัตราส่วนการสิ้นเปลืองน้ำมันน้อยกว่า และมีประสิทธิภาพที่สูงกว่า เครื่องยนต์ดีเซลมีความทนทานในการบรรทุกสูงกว่า และมีความสิ้นเปลืองน้อยกว่าเบนซินถึงร้อยละ 34 ขณะที่เบนซินมีประสิทธิภาพดีกว่าแอลพีจี ร้อยละ 15 โดยในระยะยาวการใช้เครื่องยนต์ดีเซลจะคุ้มค่ากว่าในการบรรทุกสินค้าในต่างจังหวัด

ทั้งนี้ โตโยต้า ยังได้ปรับประมาณการยอดขายรถยนต์ในประเทศทั้งปีใหม่ หลังจากราคาน้ำมันแพง และมีผู้หันไปสนใจใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น โดยคาดว่าตลาดรวมรถยนต์ปีนี้จะมียอดขาย 650,000 คัน ขยายตัวร้อยละ 3 ซึ่งน้อยกว่าประมาณการเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 7 แบ่งเป็น รถยนต์นั่งมียอดขาย 220,000 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 29 แต่รถเครื่องดีเซลมียอดขายลดลงครั้งแรกตั้งแต่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ โดยจะมียอดขายรวม 385,000 คัน ลดลงร้อยละ 5

นายโซนาดะ ยังมั่นใจว่า ยอดขายรถกระบะในครึ่งหลังของปีน่าจะขยับตัวดีขึ้น หลังรัฐบาลมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจหลายด้าน โดยเฉพาะการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันกลุ่มดีเซล และแก๊สโซฮอล์

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้นและภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มไม่สดใสนัก ยังเป็นปัจจัยฉุดยอดขายรถยนต์ แต่ด้านการผลิตรถยนต์ไทยยังไปได้ดี เพราะยอดส่งออกยังคงขยายตัวต่อเนื่อง โดยในส่วนของโตโยต้าคาดว่าในปีนี้จะส่งออกมีมูลค่าสูงถึง 177,300 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 26 โดยแบ่งเป็นการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปกว่า 306,000 คัน และส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์มากกว่า 31,000 คอนเทนเนอร์

ขณะนี้โตโยต้าร่วมกับ ปตท.พัฒนาน้ำมันไบโอ-ไฮโดรจิเนสดีเซล หรือ บีเอชดี ซึ่งใช้เอทานอลเป็นเชื้อเพลิง เดิมจะมีการวิจัยเสร็จสิ้นภายใน 2 ปี แต่ขณะนี้ได้เร่งให้เสร็จภายใน 1 ปีครึ่ง หากคุ้มค่าเชิงลงทุน ก็จะผลิตรถยนต์ใช้เชื้อเพลิงประเภทนี้ต่อไป

ขณะเดียวกันบริษัทยังเตรียมออกรถยนต์นั่งซีเอ็นจี ภายในปลายปีนี้ และรถยนต์ดีเซลทุกรุ่นจะเป็นรถที่ใช้บี 5 โดยจะเตรียมขายตั้งแต่ไตรมาส 3 ปีนี้ ในอนาคตก็จะใช้ไทยเป็นฐานผลิตเครื่องยนต์ไฮบริด และวางแผนลงทุนรถอีโคคาร์แน่นอน

ส่วนรถยนต์อี 85 ทางโตโยต้าคาดว่าจะสามารถผลิตได้ในอีก 4 ปีข้างหน้า โดยทางบริษัทจะรอดูความชัดเจนเรื่องนโยบายภาครัฐ อย่างไรก็ตาม บริษัทไม่มีแผนนำเข้ารถยนต์อี 85 จากบราซิลที่บริษัทมีฐานผลิตอยู่ เนื่องจากมาตรฐานเครื่องยนต์ในบราซิลยังเป็นมาตรฐานสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานยุโรประดับที่ 2 เท่านั้น ในขณะที่ไทยเป็นระดับ 3 และจะเป็นระดับ 4 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2555

. . .



ยอดส่งออกเดือน มิ.ย.สูงสุดเป็นประวัติการณ์ เพิ่มขึ้น 21.4%


นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงสถิติการส่งออกของประเทศ ช่วงเดือนมิถุนายน 2551 ว่า การส่งออกของประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นมูลค่ากว่า 16,268 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเป็นตัวเลขที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ของการส่งออก

โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรมีมูลค่าถึง 2,824 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 51.7 เช่น ข้าว ยางพารา ผัก และผลไม้ ไก่แช่เย็นและแปรรูป

การนำเข้าขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.7 คิดเป็นมูลค่ากว่า 15,640 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าสินค้าทุน และวัตถุดิบรวมถึงเชื้อเพลิง ส่งผลทำให้ดุลการค้าของประเทศ ช่วงเดือนมิถุนายน เกินดุล 628 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯแม้จะเกินดุลแต่ถือเป็นการเกินดุลลดลงร้อยละ 21.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ส่วนการส่งออก 6 เดือนแรก (ม.ค.-มิ.ย.) มีมูลค่าทั้งสิ้น 87,213 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 23.1 ซึ่งกลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรสามารถส่งออกได้ถึง 14,614 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 39.9

ขณะที่การนำเข้า 6 เดือนแรก มีมูลค่าทั้งสิ้น 88,280 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นเมือเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 33.6 ทำให้ดุลการค้า 6 เดือนแรกไทยขาดดุลการค้า 1,067 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นายศิริพล กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ยังยืนยันเป้าหมายส่งออกของไทยปีนี้ขยายตัวร้อยละ 12.5 จากปีก่อนคิดเป็นมูลค่าส่งออก 170,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถทำได้ตามเป้าหมาย

สำหรับการส่งออก 6 เดือนหลังของปี ประเมินว่ากลุ่มสินค้าเกษตรยังมีโอกาสเติบโตต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม แต่ละกลุ่มสินค้ายังมีความผันผวนอาจทำให้ส่งออกแต่ละเดือนอาจจะเติบโตไม่มาก กระทรวงพาณิชย์จะเน้นหาตลาดใหม่ๆ เพิ่มขึ้น ให้มีสัดส่วนการส่งออกไปยังตลาดหลักเป็นร้อยละ 51.2 และตลาดใหม่ร้อยละ 48.8

. . .



ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) จัดงานประมูลทรัพย์ NPA ทั่วประเทศ 2 สิงหาคมนี้ เสนอเงื่อนไขผ่อนดาวน์ฟรีดอกเบี้ย นาน 1 ปี


ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) จัดประมูลขายทรัพย์ครั้งที่ 2 ประจำปี 2551 พร้อมกันทั่วประเทศ โดยคัดทรัพย์คุณภาพดีจำนวนกว่า 3,000 รายการ ราคาเริ่มต้นประมูลต่ำกว่าราคาปัจจุบันถึง 20% พร้อมจูงใจด้วยเงื่อนไขพิเศษสุดผ่อนดาวน์ 10% แรก ด้วยอัตราดอกเบี้ย 0% นาน 12 เดือน ส่วนที่เหลืออีก 90% สามารถขอสินเชื่อได้เต็มทั้งจำนวน

นายขรรค์ ประจวบเหมาะ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ธนาคารได้คัดทรัพย์สินรอการขาย (NPA) ของธนาคารในการประมูลขายทรัพย์ ครั้งที่ 2/2551 วันเสาร์ที่ 2 สิงหาคม 2551 ตั้งแต่เวลา 9.00 - 16.00 น. พร้อมกันทั่วประเทศ โดยมีจำนวนทรัพย์กว่า 3,000 รายการ มูลค่ารวมทั้งสิ้น 1,400 ล้านบาท เป็นทรัพย์ในเขตกรุงเทพและปริมณฑล รวม 148 รายการ มูลค่ารวม 178 ล้านบาท ซึ่งจะจัดประมูลที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ สำนักงานใหญ่ ถนนพระราม 9 ห้องประชุม 301 ชั้น 3 อาคาร 2

ส่วนทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในส่วนภูมิภาค จะจัดประมูล ณ ที่ทำการสาขาของธนาคารที่ทรัพย์นั้นตั้งอยู่ ทั้งนี้ธนาคารได้จัดทำคู่มือประมูลทรัพย์ ซึ่งรวบรวมรายละเอียดทรัพย์ที่จะทำการประมูลในเขต กทม. และปริมณฑล สำหรับผู้ที่สนใจสามารถขอรับได้ที่ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ สำนักงานใหญ่ และที่ทำการสาขา กทม. และปริมณฑล

สำหรับเงื่อนไขพิเศษในการประมูลทรัพย์ครั้งนี้ ธนาคารให้วงเงินกู้สูงสุดถึง 90% ของราคาที่ประมูลซื้อได้ โดยลูกค้าสามารถเลือกผ่อนดาวน์ 10% ได้นาน 12 เดือน โดยไม่เสียดอกเบี้ย ส่วนที่เหลืออีก 90% สามารถขอสินเชื่อกับธนาคารได้เต็มจำนวน ผ่อนชำระได้นานสูงสุดถึง 30 ปี

สำหรับผู้ที่ประมูลได้ เพียงวางเงินมัดจำ 20,000 บาท ในวันประมูล และชำระส่วนที่เหลือเป็นเงินสดหรือแคชเชียร์เช็คพร้อมนัดโอนกรรมสิทธิ์ภายในสัปดาห์ถัดไป หรือหากประสงค์จะขอสินเชื่อเพื่อซื้อทรัพย์ที่ประมูลได้ดังกล่าว ก็สามารถขอวงเงินสินเชื่อจากธนาคารได้ทันที

นอกจากนั้นหากต้องการเข้าอยู่อาศัยในทรัพย์ระหว่างการผ่อนชำระเงินดาวน์ ก็สามารถทำได้โดยวางเงินประกันการซื้อทรัพย์ร้อยละ1.5 ของราคาที่ซื้อ โดยไม่ต้องเสียค่าเช่า
นายขรรค์ กล่าวว่า ธนาคารได้จัดให้มีการประมูลทรัพย์มือสองของธนาคารเป็น

ประจำทุกปี ๆ ละ 3 ครั้ง สำหรับประชาชนที่สนใจสามารถติดต่อโดยตรงได้ที่ ฝ่ายบริหารทรัพย์สิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ สำนักงานใหญ่ โทร.0-2202-1822 หรือ 0-2202-1582 และทุกสาขาทั่วประเทศได้ในวันเวลาทำการของธนาคาร พร้อมกันนี้ธนาคารได้จัดเตรียมเจ้าหน้าที่ให้บริการเข้าชมทรัพย์ NPA อีกด้วย หรือสามารถดูรายละเอียดได้ที่ //www.ghbhomecenter.com

. . .



โดย: loykratong วันที่: 22 กรกฎาคม 2551 เวลา:18:58:42 น.  

 



นำโยคะมาฝากค่ะ ดีต่อสุขภาพและจิตใจค่ะ

เอ ... ฝากเงินกับแบงค์พาณิชย์ขนาดใหญ่ของรัฐบาล ก็น่าจะเป็นหลักประกันที่มั่นคงไม่จำเป็นต้องใช่บริการของสถาบันคุ้มครองเงินฝากไม่ใช่หรือคะ ?



โดย: ทิวาจรดราตรี วันที่: 22 กรกฎาคม 2551 เวลา:22:32:40 น.  

 

พี่ฮะพี่ฮะ ขิมสงสัยจังอ่ะฮะ แล้วต้องจ่ายค่าคุ้มครองมั้ยอ่ะฮะ แล้วถ้าไม่จ่ายต้องเดือนร้อนมั้ยอ่ะฮะ จะเหมือนกับที่ขิมขายพวงมาลัยกับเรียงเบอร์แถวสยามมั้ยฮะเพ่


โดย: ขิมทอง IP: 202.12.118.61 วันที่: 23 กรกฎาคม 2551 เวลา:12:11:35 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

loykratong
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]






ไม่มีอะไรขึ้นตลอด
ไม่มีอะไรลงตลอด
...ไม่มี the end of the world ...

Web Site Hit Counters

ราคาทองคำ
 

ราคาทองคำต่างประเทศ



Friends' blogs
[Add loykratong's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.