Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2552
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
 
16 มิถุนายน 2552
 
All Blogs
 
กฎหมายกู้เงินฉุกเฉิน 4 แสนล้านบาท … เปิดทางกระตุ้นเศรษฐกิจ โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

....


.


กฎหมายกู้เงินฉุกเฉิน 4 แสนล้านบาท … เปิดทางกระตุ้นเศรษฐกิจ

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย



ในวันที่ 15-16 มิถุนายน 2552 นี้ รัฐบาลจะนำร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. … วงเงิน 4 แสนล้านบาท และร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ พ.ศ. … วงเงิน 4 แสนล้านบาท เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร (สภาฯ) สมัยวิสามัญ ซึ่งคงจะตามมาด้วยการนำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 วงเงิน 1.7 ล้านล้านบาท เข้าสู่สภาฯหลังจากนั้นในวันที่ 17-18 มิถุนายน

ที่มาของร่างกฎหมายให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน

ก่อนหน้านี้ แม้ว่ารัฐบาลจะได้ดำเนินนโยบายการคลังด้วยการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดแรก ผ่านการใช้ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณเพิ่มเติม พ.ศ. 2552 (งบกลางปี) วงเงิน 1.167 แสนล้านบาท และการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2552 อย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งทั้งนโยบายการเงินและการคลังที่ผ่อนคลายดังกล่าว ได้มีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจไทยเริ่มชะลอการหดตัวลง อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่เหลือของปีนี้ต่อเนื่องถึงปีข้างหน้า เศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงอีกหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความเปราะบางและไม่มีความชัดเจนว่าจะมั่นคงและต่อเนื่องเพียงใด อีกทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 (H1N1) ที่แม้อัตราการเสียชีวิตจะต่ำ แต่อัตราการระบาดยังคงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ตลอดจนความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อที่อาจเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คาดจากการปรับตัวสูงขึ้นของราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ตลาดโลก ยิ่งไปกว่านั้นยังมีประเด็นเสถียรภาพทางการเมืองในประเทศด้วย ดังนั้นแล้ว ความจำเป็นที่ทางการไทยจะต้องดำเนินนโยบายที่ผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง จึงยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะนโยบายการคลังของภาครัฐ (หลังจากที่นโยบายการเงินเหลือพื้นที่ให้ดำเนินการอีกไม่มากแล้ว รวมทั้งอาจมีข้อจำกัดด้านประสิทธิผลของการส่งผ่านนโยบายไปสู่ภาคเศรษฐกิจจริง) ซึ่งถูกฝากความหวังว่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้รอดพ้นจากการถลำลึกลงไปสู่ภาวะถดถอยที่รุนแรง
นี่จึงเป็นที่มาของแผนกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่สอง หรือแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 (SP2) วงเงิน 1.43 ล้านล้านบาท ซึ่งรัฐบาลจะมีการลงทุนในช่วงระหว่างปี 2552-2555 เพื่อช่วยสร้างงานและเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคเอกชนในระยะยาว ผ่านโครงการต่างๆ ใน 13 สาขาหลัก ได้แก่

แผนการลงทุนสำหรับโครงการ SP2

1. การบริหารจัดการน้ำ / น้ำเพื่อการเกษตร
2. การขนส่ง / Logistic
3. พลังงาน / พลังงานทดแทน
4. การสื่อสาร
5. โครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยว
6. โครงสร้างพื้นฐาน / พัฒนาบุคลากรด้านการศึกษา
7. โครงสร้างพื้นฐาน / พัฒนาบุคลากรด้านสาธารณสุข
8. โครงสร้างพื้นฐานเพื่อสวัสดิภาพของประชาชน
9. โครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
10. โครงสร้างพื้นฐานด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
11. การพัฒนาการท่องเที่ยว
12. เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์
13. การลงทุนในระดับชุมชน

อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดทางการคลังที่การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลทำได้ต่ำกว่าเป้าหมายมากกว่าที่เคยประเมินไว้ อันเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย (โดยประเมินว่าการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลอาจทำได้ต่ำกว่าประมาณการกว่า 2 แสนล้านบาทในปีงบประมาณ 2552 นี้) ผนวกกับข้อจำกัดด้านกฎหมาย ที่กำหนดว่าการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลในแต่ละปีจะต้องไม่เกินร้อยละ 20 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีกับอีกร้อยละ 80 ของงบประมาณรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ ซึ่งจากความจำเป็นที่จะต้องใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้รัฐบาลได้มีการก่อหนี้เพิ่มขึ้นจนเข้าหาเพดานตามกฎหมายที่จำนวน 4.41 แสนล้านบาทแล้วในปีงบประมาณ 2552

ดังนั้น แนวคิดการออก พ.ร.ก. และ พ.ร.บ. กู้เงินเพิ่มเติม เพื่อมาใช้จ่ายในโครงการ SP2 จึงเกิดขึ้น โดยตามแผนในเบื้องต้นนั้น ร่าง พ.ร.ก. กู้เงิน 4 แสนล้านบาท จะแบ่งเป็นวงเงินเพื่อรองรับฐานะเงินคงคลังประมาณ 2 แสนล้านบาท และวงเงินเพื่อใช้จ่ายในโครงการ SP2 ในปีงบประมาณ 2552-2553 อีกประมาณ 2 แสนล้านบาท ขณะที่ ร่าง พ.ร.บ. กู้เงิน 4 แสนล้านบาท จะเป็นวงเงินเพื่อใช้จ่ายในโครงการ SP2 สำหรับปีงบประมาณ 2554-2555

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีความเห็นต่อประเด็นการดำเนินการตามกฎหมายกู้เงินฉุกเฉินข้างต้น สรุปได้ดังนี้

 ประเด็นด้านความเชื่อมั่น แนวคิดการจัดหาแหล่งเงินทุนสำหรับแผนการลงทุนในโครงการ SP2 จากร่าง พ.ร.ก.และร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพิ่มเติม จำนวนประมาณ 6 แสนล้านบาทจากวงเงินรวม 8 แสนล้านบาท เพิ่มเติมจากแผนการใช้แหล่งเงินทุนจากส่วนอื่นๆ อาทิ การจัดสรรงบประมาณ รายได้ของรัฐวิสาหกิจ และความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership: PPP) สะท้อนว่า รัฐบาลมีรายละเอียดของแผนการลงทุนและแหล่งเงินทุนที่จะนำมาใช้ในโครงการ SP2 ที่ค่อนข้างแน่ชัดและเป็นรูปธรรมในระดับหนึ่ง ซึ่งหากกฎหมายกู้เงินฉุกเฉินดังกล่าวผ่านความเห็นชอบจากสภาฯ รวมถึงกระบวนการทางกฎหมายเป็นที่เรียบร้อยได้ ก็จะเป็นการยืนยันว่าแผนการลงทุนตามโครงการ SP2 คงจะสามารถเดินหน้าต่อไปจนสำเร็จลุล่วงได้ไม่ว่าอายุของรัฐบาลชุดนี้จะยาวนานเพียงใด (เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวให้อำนาจรัฐบาลในการกู้เงินสำหรับโครงการ SP2 ไปจนถึงปี 2555) โดยนอกจากผลกระตุ้นต่อเศรษฐกิจแล้ว การดำเนินการตามแผนการนี้ของรัฐบาลก็น่าที่จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน และนำมาสู่การขยายการลงทุนของภาคเอกชนในท้ายที่สุด

 ผลกระตุ้นต่อเศรษฐกิจ การพิจารณาขนาดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมจากภาครัฐในระหว่างปีงบประมาณ 2553-2555 คงจะต้องคำนึงถึงทั้งผลจากการใช้จ่ายผ่านเงินงบประมาณตามกรอบกฎหมายที่ตั้งไว้ และผลจากการใช้จ่ายเงินเพื่อการลงทุนในโครงการ SP2 จากวิธีการกู้เงินฉุกเฉินตาม พ.ร.ก. และ พ.ร.บ. ดังกล่าว ตัวอย่างเช่น ในปีงบประมาณ 2553 ที่แม้เดิมกรอบรายจ่ายตามร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2553 ได้ถูกปรับลดลงจาก 1.9 ล้านล้านบาท มาที่ 1.7 ล้านล้านบาทนั้น โดยลำพังแล้วอาจดูเหมือนว่ากรอบการใช้จ่ายของภาครัฐในปีงบประมาณ 2553 มีขนาดลดลงค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับกรอบงบประมาณรายจ่ายในปีงบประมาณ 2552 (รวมงบกลางปี) ที่มีจำนวน 1.95 ล้านล้านบาท แต่หากรวมเงินลงทุนที่วางแผนไว้ตามโครงการ SP2 ซึ่งจะมาจากการกู้เงินตามร่าง พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินจำนวนประมาณ 2 แสนล้านบาทแล้ว ก็จะส่งผลให้การใช้จ่ายรวมจากภาครัฐมีจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 1.9 ล้านล้านบาท ซึ่งจะลดลงไม่มากนักเมื่อเทียบกับกรอบงบประมาณรายจ่ายในปีงบประมาณ 2552 (การกู้เงินตามร่าง พ.ร.ก. อีกประมาณ 2 แสนล้านบาท ไม่นับรวมในปีงบประมาณ 2552 เพราะเป็นการใช้เงินเพื่อรักษาฐานะเงินคงคลัง) ด้วยเหตุนี้ จากกฎหมายกู้เงินรวม 8 แสนล้านบาท ส่วนที่คงต้องนำมาบวกเพิ่มเติม (On-Top) ต่อกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2553-2555 คงจะมีจำนวนรวมแล้วประมาณ 6 แสนล้านบาท (หากรัฐบาลใช้อย่างเต็มที่) หรือตกปีงบประมาณละ 2 แสนล้านบาท ทำให้การกู้เงินของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2553-2555 จะต้องคำนึงถึงการกู้ตามกรอบวงเงินงบประมาณหลัก บวกกับการกู้ตามร่าง พ.ร.ก. และร่าง พ.ร.บ. นี้ด้วย

 ผลต่อภาวะสภาพคล่อง การระดมเงินกู้เพิ่มเติมอีกเฉลี่ยไตรมาสละ 5 หมื่นล้านบาท หรือปีงบประมาณละ 2 แสนล้านบาทในช่วงปีงบประมาณ 2553-2555 คาดว่าจะมีส่วนช่วยให้สภาพคล่องในระบบการเงินทยอยถูกระบายออกไปในขาแรก แต่การที่รัฐบาลจะนำเงินไปใช้ลงทุนในโครงการ SP2 ซึ่งเป็นโครงการที่มีสัดส่วนการซื้อสินค้าและบริการจากในประเทศ รวมถึงการจ้างแรงงานในประเทศ กว่า 2 ใน 3 (หรือประมาณร้อยละ 76) ของวงเงินลงทุน ก็น่าที่จะส่งผลให้มีสภาพคล่องบางส่วนทยอยไหลกลับเข้าสู่ระบบในระยะถัดๆ ไป นอกจากนี้ ท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบันที่ความต้องการระดมเงินจากภาคเอกชนยังมีจำกัด และสภาพคล่องที่ธนาคารพาณิชย์ไทยยังคงมีอยู่สูงถึงกว่า 1 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนเมษายน 2552 การเตรียมวางแผนกู้เงินของรัฐบาลที่ไม่กระจุกตัวหรือหนาแน่นในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ก็น่าที่จะช่วยให้การระบายสภาพคล่องออกจากระบบดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่ออัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินมากเท่าที่กังวล

 ผลทางการคลัง การก่อหนี้ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หลังจากที่รัฐบาลสามารถใช้ช่องทางกฎหมายกู้เงินฉุกเฉินดังกล่าวเพิ่มเติมจากเพดานการก่อหนี้ตามกฎหมายปกติที่อนุญาตให้ดำเนินการได้ คงจะส่งผลทำให้หนี้สาธารณะของประเทศมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นจนเข้าหาระดับร้อยละ 60-61 ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในปี 2556 ตามที่รัฐบาลประเมินไว้ (ในกรณีที่รัฐบาลกู้จนเต็มวงเงิน) เทียบกับระดับหนี้สาธารณะที่อยู่ที่ร้อยละ 40.97 ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2552 ทั้งนี้ แม้ว่าหนี้สาธารณะอาจมีแนวโน้มอยู่เลยกรอบความยั่งยืนทางการคลังที่กำหนดไว้ไม่เกินร้อยละ 50 ของจีดีพีในช่วงปีข้างหน้า แต่หากเศรษฐกิจได้รับการเยียวยาให้สามารถฟื้นกลับมาขยายตัวในอัตราการเติบโตที่ระดับศักยภาพได้ตามที่คาดหวัง รัฐบาลก็น่าที่จะสามารถบริหารจัดการหนี้สาธารณะที่ระดับดังกล่าวให้ทยอยปรับลดลงและไม่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการคลังในระยะยาว

 ประเด็นข้อสังเกต แม้ว่าการใช้ช่องทางกฎหมายกู้เงินฉุกเฉินทั้งสองฉบับ จะเอื้อให้รัฐบาลสามารถที่จะเลี่ยงข้อจำกัดจากเพดานการก่อหนี้ตามกฎหมายปกติได้ แต่การดำเนินการผ่านช่องทางดังกล่าว อาจมีความแตกต่างไปจากการดำเนินการในอดีต เพราะรัฐบาลได้ขอกู้เงินตามร่าง พ.ร.ก. และร่าง พ.ร.บ. ก่อนที่ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณหลัก (สำหรับปีงบประมาณ 2553-2555) จะถูกนำเสนอต่อสภาฯ ซึ่งต่างจากแนวทางปกติที่รัฐบาลมักจะเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณหลักต่อสภาฯ ก่อนที่จะเสนอขอวงเงินกู้เพิ่มเติมใดๆ ซึ่งหมายความว่า สภาฯจะต้องพิจารณากรอบการกู้เงินสำหรับโครงการ SP2 ก่อนที่จะเห็นกรอบการใช้จ่ายรวมของภาครัฐ โดยเฉพาะปีงบประมาณ 2554-2555 (สำหรับปีงบประมาณ 2553 ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 จะถูกนำเสนอถัดไปในอีกไม่กี่วันหลังการเสนอร่าง พ.ร.ก. และร่าง พ.ร.บ.กู้เงินทั้งสองฉบับ) นอกจากนี้ คงต้องหวังว่าการกู้เงินตามกฎหมายฉุกเฉินทั้งสองฉบับนี้ จะไม่ถูกขยายขอบเขตการกู้เงินหรือมีการขอวงเงินเพิ่มเติมอีกในอนาคต มิฉะนั้นแล้ว โอกาสที่หนี้สาธารณะของประเทศจะขยับสูงเกินร้อยละ 60 ของจีดีพีจนกระทั่งส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการคลัง ก็คงจะมีเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

โดยสรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้ว่าร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) รายจ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 ของรัฐบาลจะได้ถูกปรับลดวงเงินลงจาก 1.9 ล้านล้านบาท มาที่ 1.7 ล้านล้านบาท แต่คงจะต้องคำนึงถึงวงเงินรายจ่ายเพิ่มเติมตามแผนการกู้เงินจากร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน อีกประมาณ 2 แสนล้านบาท (หากร่างกฎหมายดังกล่าวผ่านความเห็นชอบจากสภาฯ) ในการคำนวณเม็ดเงินการใช้จ่ายของภาครัฐเข้าไปด้วย ซึ่งโดยรวมแล้วจะได้เป็นจำนวนทั้งสิ้น 1.9 ล้านล้านบาทในปีงบประมาณ 2553 ใกล้เคียงกับขนาดวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2552 ที่มีจำนวน 1.95 ล้านล้านบาท ขณะที่ ขนาดการใช้จ่ายรวมของภาครัฐในปีงบประมาณ 2554-2555 (ในกรณีที่ร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 4 แสนล้านบาท สำหรับการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 (SP2) ผ่านกระบวนการทางกฎหมายเป็นที่เรียบร้อย) ก็จะมีส่วนเพิ่มจากกรอบรายจ่ายตามงบประมาณหลักตกปีงบประมาณละ 2 แสนล้านบาท
เหตุผลที่รัฐบาลต้องดำเนินการผ่านช่องทางกฎหมายกู้เงินฉุกเฉินทั้งสองฉบับ แยกออกจากกรอบงบประมาณหลัก คาดว่าน่าจะเป็นเพราะรัฐบาลต้องการความยืดหยุ่นในการบริหารการคลัง เพราะหากดำเนินการตามกรอบงบประมาณหลักตามปกติ อาจทำให้รัฐบาลติดข้อจำกัดเกี่ยวกับเพดานการก่อหนี้ตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 และ พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 ที่กำหนดให้การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลในแต่ละปีจะต้องไม่เกินร้อยละ 20 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีกับอีกร้อยละ 80 ของงบประมาณรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ นอกจากนี้ การดำเนินการผ่านช่องทางกฎหมายกู้เงินฉุกเฉินดังกล่าว เพื่อนำเงินมาใช้ในโครงการ SP2 ยังเป็นการยืนยันและสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนได้ในระดับหนึ่งว่า รัฐบาลมีแผนจะเดินหน้าโครงการลงทุนอย่างต่อเนื่องในอีก 3 ปีข้างหน้าอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตาม การเสนอกฎหมายกู้เงินฉุกเฉินทั้งสองฉบับนี้ เป็นการบ่งชี้ว่า รัฐบาลอาจจะมีการกู้เงินจำนวนค่อนข้างมากอย่างต่อเนื่องในช่วงปีข้างหน้าเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งคงจะส่งผลตามมาให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีของไทยมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นสู่ระดับประมาณร้อยละ 60 ในปี 2556 ตามที่รัฐบาลประเมินไว้ เทียบกับที่อยู่ที่ร้อยละ 40.97 ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2552 ทั้งนี้ แม้ว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีที่ร้อยละ 60 จะยังนับว่าเป็นระดับที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับสัดส่วนหนี้สาธารณะของสหรัฐฯที่มีแนวโน้มเคลื่อนเข้าสู่ร้อยละ 100 ในระยะข้างหน้า รวมถึงสัดส่วนหนี้สาธารณะของญี่ปุ่นและอิตาลีที่มีระดับสูงเกินร้อยละ 100 ไปแล้ว แต่การรักษากรอบวินัยทางการคลังผ่านการบริหารการใช้จ่ายและเงินกู้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการปฏิรูปโครงสร้างภาษีและการจัดเก็บรายได้อย่างเป็นระบบ ก็คงจะยังเป็นประเด็นที่มีความสำคัญต่อเสถียรภาพทางการคลังในระยะยาว
สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจนั้น คาดว่า กรอบการกู้เงินดังกล่าว น่าจะถือได้ว่าเป็นผลดีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศในระยะยาว อย่างไรก็ตาม การกู้เงินอย่างต่อเนื่องของรัฐบาล คงจะทยอยส่งผลกระทบตามมาต่อฐานะสภาพคล่องและภาวะเงินเฟ้อของไทยในระยะถัดไปด้วยเช่นกัน 

….



Create Date : 16 มิถุนายน 2552
Last Update : 16 มิถุนายน 2552 4:27:06 น. 3 comments
Counter : 685 Pageviews.

 
มันจะไม่ดีได้ไงเพราะที่จะกู้เนี่ยเขากู้กสิกรไงดอกผลก็ดีกับแบงสิแบบนี้คัยๆก็ชอบรู้งี้ให้หม่ำกับโก๊ะตี๋มาเป็นนายกกะรัฐมนตรีคลังดีกว่าอย่างน้อยยังมีประโยชน์คลายเครียดได้555555


โดย: toto IP: 124.122.130.244 วันที่: 16 มิถุนายน 2552 เวลา:15:04:46 น.  

 


โดย: ดราก้อนวี วันที่: 18 มิถุนายน 2552 เวลา:21:05:44 น.  

 
ได้ความรู้มาก ขอสรุปบางส่วนไปใช้งานนะคะ


โดย: ยุ้ย-บวร IP: 210.246.148.28 วันที่: 8 ตุลาคม 2552 เวลา:10:04:19 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

loykratong
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]






ไม่มีอะไรขึ้นตลอด
ไม่มีอะไรลงตลอด
...ไม่มี the end of the world ...

Web Site Hit Counters

ราคาทองคำ
 

ราคาทองคำต่างประเทศ



Friends' blogs
[Add loykratong's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.