Group Blog
 
<<
กันยายน 2551
 
30 กันยายน 2551
 
All Blogs
 
เศรษฐกิจเดือนส.ค.สะท้อนสัญญาณชะลอตัว

. . .

ตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดเดือนสิงหาคมของธนาคารแห่งประเทศไทย ... สะท้อนสัญญาณชะลอตัว
โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดเดือนสิงหาคม 2551 ที่รายงานโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สะท้อนการชะลอลงของการใช้จ่ายในประเทศ และภาคส่งออก

 ตัวเลขเศรษฐกิจเดือนสิงหาคม 2551
 สำหรับการใช้จ่ายของภาคเอกชน
การบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงมาที่ร้อยละ 7.2 (YoY) ในเดือนส.ค. จากที่ขยายตัวร้อยละ 9.3 ในเดือนก.ค. นำโดยการชะลอลงของภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ (ขยายตัวร้อยละ 9.4 ในเดือนส.ค. เทียบกับร้อยละ 16.4 ในเดือนก่อนหน้า) และการนำเข้าสินค้าเพื่อการบริโภค (ขยายตัวร้อยละ 23.2 ในเดือนส.ค. เทียบกับร้อยละ 28.1 ในเดือนก่อนหน้า) ในขณะที่ ปริมาณการจำหน่ายน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ ยังคงหดตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน แม้ว่าในเดือนส.ค.ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศจะปรับตัวลงก็ตาม

การลงทุนภาคเอกชน ยังคงขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง โดยการลงทุนขยายตัวเพียงร้อยละ 3.8 (YoY) ในเดือนส.ค. เทียบกับร้อยละ 4.4 ในเดือนก.ค. ทั้งนี้ แม้ว่าราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศจะปรับตัวลง แต่ยอดขายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ยังคงหดตัวลงร้อยละ 25.7 ในเดือนส.ค. (ต่อเนื่องจากที่หดตัวร้อยละ 29.3 ในเดือนก่อนหน้า) ในขณะที่ ยอดขายปูนซีเมนต์ และมูลค่าโครงการขอรับการส่งเสริมลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน มีอัตราการขยายตัวที่ติดลบเช่นกัน (หดตัวร้อยละ 17.1 และหดตัวร้อยละ 60.5 ตามลำดับ) นอกจากนี้ การนำเข้าสินค้าทุน สะท้อนภาพที่อ่อนแอในทำนองเดียวกัน โดยขยายตัวเพียงร้อยละ 12.7 ในเดือนส.ค. ชะลอลงจากร้อยละ 26.1 ในเดือนก.ค.

 สำหรับในด้านการผลิต
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง 2 เดือนติดต่อกัน โดยขยายตัวเพียงร้อยละ 7.9 (YoY) ในเดือนส.ค. จากร้อยละ 11.0 ในเดือนก.ค. โดยการผลิตสินค้าที่สัดส่วนการส่งออกมากกว่าร้อยละ 60 ของการผลิตรวม ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงตามภาคส่งออก โดยการผลิตในหมวดที่เน้นเพื่อส่งออกขยายตัวร้อยละ 16.4 ในเดือนส.ค. จากร้อยละ 18.6 ในเดือนก.ค. ในขณะที่ การผลิตสินค้าที่สัดส่วนการส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 30 ของการผลิตรวม ขยายตัวร้อยละ 5.1 ในเดือนส.ค. ชะลอลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 6.9 ในเดือนก.ค. สำหรับอัตราการใช้กำลังการผลิต (ปรับฤดูกาล) ขยับลงเล็กน้อยมาที่ร้อยละ 71.0 ในเดือนส.ค. จากร้อยละ 71.4 ในเดือนก.ค. ส่วนดัชนีผลผลิตการเกษตร (Farm Production) ขยายตัวร้อยละ 19.2 (YoY) ในเดือนส.ค. ชะลอลงจากที่ขยายตัว 21.9 ในเดือนก.ค. นำโดย ปาล์มน้ำมัน (ขยายตัวร้อยละ 33.2 เทียบกับร้อยละ 61.8) และยางพารา (ขยายตัวร้อยละ 5.0 เทียบกับร้อยละ 10.3)

 สำหรับภาคต่างประเทศ
การส่งออก ขยายตัวเพียงร้อยละ 15.5 (YoY) ในเดือนส.ค. หลังจากที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 43.9 ในเดือนก.ค. โดยเป็นผลมาจากการหดตัวของปริมาณสินค้าส่งออก (ปริมาณการส่งออกหดตัวลงร้อยละ 0.1 ในเดือนส.ค. เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 24.2 ในเดือนก.ค.) ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกชะลอลงอย่างชัดเจนในทุกหมวด โดยแม้ว่าการส่งออกในหมวดสินค้าเกษตร ยังคงขยายตัวได้ในระดับสูงร้อยละ 51.2 ในเดือนส.ค. แต่ก็ชะลอลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 95.1 ในเดือนก.ค. ในขณะที่ การส่งออกในหมวดที่ใช้แรงงานเป็นปัจจัยการผลิตหลัก และการส่งออกในหมวดสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีสูง ขยายตัวเพียงร้อยละ 7.8 และร้อยละ 11.1 ในเดือนส.ค. หลังจากที่ขยายตัวร้อยละ 71.9 และร้อยละ 35.7 ในเดือนก.ค. ตามลำดับ
การนำเข้า ขยายตัวเพียงร้อยละ 26.9 (YoY) ในเดือนส.ค. ชะลอลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 53.4 ในเดือนก.ค. โดยเป็นผลมาจากการชะลอลงของปริมาณการนำเข้าเป็นสำคัญ (ปริมาณการนำเข้าขยายตัวเพียงร้อยละ 8.9 ในเดือนส.ค. เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 28.8 ในเดือนก.ค.) ทั้งนี้ มูลค่าการนำเข้าในเดือนส.ค.ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงในทุกหมวด โดยในหมวดเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่น ขยายตัวเพียงร้อยละ 43.4 ในเดือนส.ค. (หลังจากขยายตัวร้อยละ 97.3 ในเดือนก่อนหน้า) ในขณะที่ การนำเข้าในหมวดสินค้าทุน และวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง ชะลอลงอย่างชัดเจน โดยขยายตัวร้อยละ 7.3 และร้อยละ 19.4 ในเดือนส.ค.เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 40.1 และร้อยละ 56.7 ในเดือนก.ค. ตามลำดับ

ทั้งนี้ การส่งออกที่ชะลอลงได้ส่งผลให้ ดุลการค้า ในเดือนส.ค.บันทึกยอดขาดดุลที่ 675 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อเนื่องจากที่ขาดดุล 762 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเดือนก.ค. และเมื่อรวมยอดขาดดุลการค้าเข้ากับ ดุลบริการฯ ซึ่งบันทึกยอดขาดดุลเพิ่มขึ้นในเดือนส.ค. ได้ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดยังคงบันทึกยอดขาดดุลต่อเนื่องอีก 853 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเดือนส.ค. เทียบกับยอดขาดดุลที่ระดับ 906 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเดือนก.ค.

 ภาพรวมของตัวเลขเศรษฐกิจเดือนก.ค.-ส.ค. 2551 (2 เดือนแรกของไตรมาส 3/2551)

ภาพรวมของตัวเลขเศรษฐกิจเดือนก.ค.-ส.ค. 2551 สะท้อนให้เห็นถึงสัญญาณการชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องของการลงทุนและการผลิตภาคอุตสาหกรรม โดยการลงทุนขยายตัวเพียงร้อยละ 4.1 ในช่วงเดือนก.ค.-ส.ค. 2551 ชะลอลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 4.7 ในไตรมาส 2/2551 และร้อยละ 5.9 ในไตรมาส 1/2551 ขณะที่ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 9.4 ในช่วงเดือนก.ค.-ส.ค. 2551 ชะลอลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 10.1 ในไตรมาส 2/2551 และร้อยละ 12.6 ในไตรมาส 1/2551 อย่างไรก็ตาม การบริโภคภาคเอกชนยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่องอีกร้อยละ 8.2 ในช่วงเดือนก.ค.-ส.ค. 2551 หลังจากที่ขยายตัวในอัตราเฉลี่ยประมาณร้อยละ 7.0 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 เช่นเดียวกับการส่งออกที่ขยายตัวร้อยละ 28.6 ในช่วงเดือนก.ค.-ส.ค. 2551 เร่งขึ้นจากที่ขยายตัวในอัตราเฉลี่ยประมาณร้อยละ 24.7 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2551

 แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือ...ยังคงมีความเสี่ยง
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 โดยอาจมีอัตราการขยายตัวอยู่ในกรอบประมาณร้อยละ 4.0-4.5 ชะลอลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 5.7 ในช่วงครึ่งแรกของปี ทั้งนี้ นอกเหนือไปจากปัจจัยทางการเมืองในประเทศแล้ว ปัจจัยลบจากภายนอกประเทศอาจส่งผลกดดันภาคส่งออกของไทยชัดเจนมากขึ้นในช่วงที่เหลือของปี โดยการปรับฐานของตลาดสินค้าโภคภัณฑ์อาจทำให้ราคาสินค้าส่งออกของไทยขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง ขณะที่ สัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจแกนหลักอย่าง สหรัฐฯ ยูโรโซน และญี่ปุ่น อาจทำให้ปริมาณการส่งออก ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงเช่นกัน อย่างไรก็ตาม อานิสงส์ของการขยายตัวในระดับสูงของการส่งออกในช่วงที่ผ่านมาของปีนี้ อาจช่วยให้อัตราการขยายตัวของการส่งออกตลอดทั้งปี 2551 นี้ ยังมีระดับใกล้เคียงร้อยละ 20 เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 17.3 ในปี 2550 ที่ผ่านมา

. . .



วิกฤตสถาบันการเงินสหรัฐฯ : ผู้ส่งออกรองเท้าไทยควรขยายตลาดใหม่ๆ


รองเท้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดส่งออกและตลาดในประเทศ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์รองเท้ากีฬาและรองเท้าหนังที่ผลิตเพื่อส่งออกเป็นส่วนใหญ่นั้น มีทั้งเป็นการรับจ้างผลิตตามคำสั่งของแบรนด์ดังจากต่างประเทศและผู้ประกอบการผลิตเพื่อส่งออกโดยตรง จึงทำให้ปัจจัยจากภายนอกประเทศส่งผลกระทบต่อธุรกิจรองเท้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งปัจจัยเสี่ยงทางการตลาด ปัจจัยเสี่ยงทางการเงินจากอัตราแลกเปลี่ยน และปัจจัยเสี่ยงด้านต้นทุนการผลิตที่จำเป็นต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ ในขณะที่ภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกกำลังประสบปัญหาการปรับขึ้นของราคาวัตถุดิบและราคาพลังงานอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตและผู้ซื้อทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออกอย่างชัดเจน และที่สำคัญการชะลอตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ของโลก ประกอบกับปัญหาเงินเฟ้อนั้นส่งผลกระทบต่อความต้องการสินค้านำเข้าของประเทศต่างๆ มีอัตราที่ชะลอตัวลง และจากการที่เงินสกุลบาทได้แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้ผู้ส่งออกรองเท้าไทยเสียเปรียบด้านศักยภาพการส่งออก จึงทำให้ธุรกิจรองเท้าเกิดการชะลอตัวลง
สำหรับในช่วงเวลาที่เหลือของปี 2551 สถานการณ์โลกก็ยังไม่เอื้ออำนวยต่อการส่งออกรองเท้าของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาทางการเงินโลกที่กำลังปะทุขึ้น ทั้งวิกฤตซับไพร์มและการล้มลงของสถาบันการเงินเก่าแก่ในสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปซึ่งเป็นตลาดส่งออกรองเท้าหลักของไทย ทำให้ผู้ประกอบการรองเท้าไทยจะต้องหาทางปรับตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นเพื่อความอยู่รอดในการดำเนินธุรกิจต่อไป

การล้มลงของสถาบันการเงินเก่าแก่ของสหรัฐฯ ล่าสุด ได้แก่ บริษัท เลห์แมน บราเธอร์ส โฮลดิงส์ อิงค์ และการที่เฟดได้ทุ่มเงิน 8.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ เข้าอุ้มสถาบันเอไอจี นั้นมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจการเงินของสหรัฐฯ อย่างรุนแรง และที่สำคัญสหรัฐฯ นั้นถือเป็นตลาดส่งออกหลักของผลิตภัณฑ์รองเท้าจากประเทศไทย และเหตุการณ์ทางการเงินที่เกิดขึ้นยังส่งผลกระทบไปยังประเทศอื่นๆ ทั่วโลกอีกด้วย และยังอาจนำไปสู่การชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก รวมไปถึงการลดลงของปริมาณการค้าโลกในที่สุด นอกจากนั้น วิกฤตการณ์ดังกล่าวยังอาจทำให้เกิดความผันผวนในตลาดเงินทั้งการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ย และอัตราแลกเปลี่ยน รวมทั้งราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกได้ ซึ่งความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เป็นปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกรองเท้าของไทยในหลายด้าน อันได้แก่ การหดตัวของปริมาณความต้องการในตลาดส่งออกหลักของไทย ผลกระทบต่อศักยภาพในการแข่งขันในเวทีการค้าโลก และผลกระทบต่อรายได้จากการส่งออก
แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจถดถอยรุนแรงขึ้นจากวิกฤตการณ์ดังกล่าว จึงน่าจะมีส่วนส่งผลกระทบต่อความต้องการนำเข้าผลิตภัณฑ์รองเท้าของสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากเหตุการณ์ดังกล่าวมีผลต่อการปล่อยสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อผู้บริโภคมีความเคร่งครัดขึ้น และปัญหาวิกฤตสถาบันการเงินสหรัฐฯ ยังส่งผลกระทบไปยังประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะสหภาพยุโรป ซึ่งถือเป็นตลาดส่งออกรองเท้าหลักของไทยอีกตลาดหนึ่ง

ในช่วงแปดเดือนแรกปี 2551 ที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกรองเท้าและส่วนประกอบ มีมูลค่า 665.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยได้ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.8 จากที่ในปีที่แล้วในช่วงเดียวกันนี้ยังขยายตัวได้ในระดับร้อยละ 7.1 โดยมีตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ สหภาพยุโรปมีสัดส่วนร้อยละ 38 สหรัฐฯ มีสัดส่วนร้อยละ 24 และประเทศอื่นๆ มีสัดส่วนร้อยละ 38 จะเห็นได้ว่าโครงสร้างการส่งออกรองเท้าของไทยนั้นกระจุกตัวอยู่ที่สหภาพยุโรปและตลาดสหรัฐฯในสัดส่วนสูง เนื่องจากมีความต้องการสูงในภูมิภาคนั้น ผู้ส่งออกรองเท้าไทยจึงมีความเสี่ยงทางการตลาด และโดยเหตุที่ตลาดส่งออกในสองกลุ่มประเทศนี้เกิดภาวะหดตัวอย่างชัดเจนตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ก็จะทำให้ยอดส่งออกรองเท้าของไทยลดลงตาม ดังจะเห็นได้จากสถิติมูลค่าการส่งออกรองเท้าโดยรวมล่าสุดในช่วงแปดเดือนแรกของปี 2551 การส่งออกไปสหรัฐมีมูลค่า 160.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึงร้อยละ 1.4 เป็นการหดตัวต่อเนื่องจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่ลดลงถึงร้อยละ 16.5 ในขณะที่การส่งออกไปสหภาพยุโรปในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2551 มีมูลค่า 255.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงถึงร้อยละ 5.4 รวมทั้งตลาดส่งออกญี่ปุ่นมีมูลค่า 18.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงถึงร้อยละ 29.6 จากที่ช่วงเดียวกันของปีก่อนก็หดตัวลงถึงร้อยละ 15.8 และเมื่อพิจารณารายผลิตภัณฑ์รองเท้าพบว่ารองเท้ากีฬาและรองเท้าหนังนั้นได้รับผลกระทบมาก เนื่องจากมีสัดส่วนการส่งออกรวมกันสูงถึงกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าส่งออกรวม และยังมีตลาดส่งออกหลักอยู่ที่สหภาพยุโรปและสหรัฐฯ ในสัดส่วนสูง ผู้ประกอบการจึงควรเตรียมรับมือกับสภาวะการหดตัวของตลาดส่งออกหลักโดยการกระจายความเสี่ยงไปยังตลาดในภูมิภาคอื่นๆ มากขึ้น นอกจากนั้น วิกฤตสถาบันการเงินสหรัฐฯ นั้นจะนำไปสู่การอ่อนค่าของค่าเงินเหรียญสหรัฐฯ และอาจส่งผลกระทบทำให้ค่าเงินบาทต่อเงินเหรียญสหรัฐฯ แข็งค่าขึ้น ซึ่งการแข็งค่าของเงินบาทนั้นก็จะส่งผลกระทบต่อศักยภาพในการส่งออกรองเท้าของไทยในด้านราคาส่งออก และยังจะส่งผลกระทบต่อผู้รับจ้างผลิตและผู้ส่งออกรองเท้าของไทยในระยะต่อไปตราบเท่าที่วิกฤตการณ์ดังกล่าวยังไม่จบสิ้นลง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่าการเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินในสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นตลาดเงินที่ใหญ่ที่สุดของโลกและขยายวงกว้างไปยังประเทศในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก ย่อมส่งผลกระทบต่อความต้องการสินค้าของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดส่งออกรองเท้าของไทย รวมทั้งประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ที่ผ่านมาการขยายตัวของการส่งออกรองเท้าไทยโดยรวมนั้นมีแนวโน้มชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เมื่อเกิดวิกฤตสถาบันการเงินในสหรัฐฯ จะยิ่งทำให้สภาวะการส่งออกรองเท้าของไทยชะลอตัวลงมากกว่าเดิม ดังนั้น ผู้ประกอบการรองเท้าไทยจึงควรหาทางปรับตัวด้วยการหาตลาดส่งออกใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศเศรษฐกิจใหม่ที่เศรษฐกิจมีการเติบโตและมีจำนวนประชากรมาก อาทิ จีน อินเดีย รัสเซีย แอฟริกา ยุโรปตะวันออก ตะวันออกกลาง และเอเชีย เป็นต้น เพื่อรองรับกับการชะลอตัวของตลาดส่งออกสหรัฐฯ และตลาดส่งออกในประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะสหภาพยุโรปที่เป็นตลาดส่งออกหลักอีกตลาดหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตทางการเงินสหรัฐฯ นอกจากนั้น ผู้ประกอบการรองเท้าไทยยังต้องรับมือกับความผันผวนทางด้านอัตราแลกเปลี่ยนและอัตราดอกเบี้ยที่จะเกิดขึ้นตามมา ทั้งแนวโน้มการอ่อนค่าของเงินเหรียญสหรัฐฯ ที่จะส่งผลกระทบทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น และแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในประเทศที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ดังนั้น ผู้ประกอบการในธุรกิจรองเท้าจึงควรเน้นการบริหารการเงินเพื่อทำให้ต้นทุนทางการเงินลดลงและบริหารความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนไปพร้อมๆ กันด้วย

. . .



รัฐออก 4 มาตรการเร่งด่วนรับมือวิกฤติการเงิน ทั้งมาตรการตลาดทุน, เสริมสภาพคล่อง, หนุนส่งออก และความร่วมมือกับกลุ่มประเทศเอเชีย


ดร.โอฬาร ไชยประวัติ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ นำคณะกรรมการติดตามแก้ไขสถานการณ์ในภาวะฉุกเฉิน แถลงผลการหารือเร่งด่วน เพื่อกำหนดมาตรการรับมือผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจของสหรัฐฯที่อาจลุกลามและส่งผลกระทบมาถึงไทย หลังจากสภาคองเกรสของสหรัฐปฏิเสธแผนอัดฉีดสภาพคล่อง 7 แสนล้านดอลลาร์ของฝ่ายบริหาร
สำหรับมาตรการที่ได้หารือกันมีทั้งระยะสั้น 3 เดือน และมาตรการระยะยาว โดยมาตรการระยะสั้นทั้ง 4 ด้าน ประกอบด้วย มาตรการตลาดทุน, สภาพคล่องและต้นทุนทางการเงิน, การส่งออก และ ความร่วมมือทางการเงินกับประเทศในภูมิภาคเอเชีย

"แนวทางของไทย คือการสร้างเกราะป้องกันไม่ให้เชื้อโรคลุกลามเข้ามาในประเทศ โดยแผนรับมือจะแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ การบริหารจัดการวิกฤติในช่วง 3 เดือน และใช้วิกฤติด้านการเงินของโลกพลิกเป็นโอกาสในการพัฒนาความร่วมมือทางการเงินกับประเทศในภูมิภาคเอเชียร่วมกัน"

สำหรับในด้านตลาดทุนนั้น ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จะชี้แจงไม่ให้นักลงทุนตื่นตระหนก และแนะนำให้ใช้จังหวะที่ค่าP/E (พีอี) ของตลาดหุ้นไทยต่ำมากเพื่อเข้าลงทุนในหุ้นที่มีพื้นฐานดี และผลประกอบการดี พร้อมทั้งผลักดันให้นักลงทุนสถาบันที่จัดตั้งโดยตลาดหลักทรัพย์ และกองทุนของรัฐบาลเป็นแกนนำที่จะเข้าซื้อหุ้นดี ราคาถูก เพื่อไม่ให้ตลาดหุ้นลดต่ำมากเกินไป

กระทรวงการคลัง จะพิจารณาขยายวงเงิน และสัดส่วนการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินออมที่ลงทุนในกองทุนระยะยาวเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และกองทุนระยะยาวเพื่อการลงทุนหุ้น (LTF) ในช่วงระยะเวลา 3 เดือน ก่อนสิ้นปี, ตลาดหลักทรัพย์ และบริษัทจัดการกองทุนรวม จะร่วมกันจัดงานตลาดนัดกองทุนรวม ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.เป็นต้นไป

ด้านสภาพคล่องและต้นทุนทางการเงิน หากมีการขายหุ้นของนักลงทุนต่างชาติ ไทยมีทุนสำรองกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์ จึงเชื่อว่าไม่มีปัญหา ในกรณีที่ต้องการสภาพคล่องเงินตราต่างประเทศเมื่อมีการลงทุนขนาดใหญ่ กระทรวงการคลังสามารถกู้เงินแบบรัฐต่อรัฐ( G to G )ได้ตลอดเวลา และธปท.จะดูแลสภาพคล่องอย่างใกล้ชิด และพร้อมใช้กลไกเสริมสภาพคล่องในระยะสั้นให้กับสถาบันการเงินทุกแห่งทันที

กระทรวงการคลังสามารถดูแลให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจปล่อยสินเชื่อให้ประชาชน และเอสเอ็มอี อย่างเพียงพอ โดยเฉพาะช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดตั้งแต่ ต.ค.เป็นต้นไป, เร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐ และงบประมาณพัฒนาท้องถิ่นสู่มือประชาชนโดยเร็ว และชะลอการระดมทุนของต่างประเทศในรูปของบาทบอนด์ จนกว่าปัญหาสภาพคล่องภายในจะคลี่คลาย

ด้านการส่งออก ต้องดูแลตลาดในเอเชียให้ดี และสร้าง Demand ในประเทศชดเชย และสุดท้าย การดำเนินการเชิงรุก ในระยะยาวจะจับมือกับประเทศในอาเซียนและพันธมิตรต่างๆ ป้องกันวิกฤติสถาบันการเงิน เช่น อาเซียน +3 และการดำเนินงานตามความร่วมมือทางการเงิน “ปฏิญญาเชียงใหม่” ที่ระบุว่าหากมีปัญหาก็กู้ยืมกันได้ในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุมคณะกรรมการฯ เชื่อว่าสถาบันการเงินของไทยจะไม่ประสบปัญหาวิกฤติ เนื่องจากไม่ได้ปล่อยสินเชื่อด้อยคุณภาพเหมือนเช่นสหรัฐฯ ขณะที่ผลกระทบจากการออกไปลงทุนในตราสารหนี้ เช่น ซับไพรมโลน อาจมีปัญหาอยู่บ้างแต่ไม่มากนัก และได้มีการตั้งสำรองรับความเสี่ยงทั้งหมดไปแล้ว

สำหรับความกังวลถึงผลกระทบต่อประเทศไทยในเรื่องระบบสถาบันการเงินและสภาพคล่องนั้น รัฐบาลจะดูแลอย่างใกล้ชิด โดยเตรียมมาตรการไว้รองรับเพื่อไม่ให้ปัญหาวิกฤติการณ์ทางการเงินโลกลุกลามเข้ามาในไทย

. . .



กระทรวงการคลังเตรียมอัดฉีดเงินผ่านกองทุน SML 1.9 หมื่นล้านบาท


นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า มีแนวคิดที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยมุ่งเน้นการเพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศเป็นอันดับแรก หลังภาคต่างประเทศมีความผันผวนสูง
โดยภายหลังจากรัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภาแล้ว กระทรวงการคลังจะดำเนินการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบ โดยผ่านกองทุนพัฒนาท้องถิ่นโครงการ SML จำนวน 19,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มกำลังซื้อในประเทศให้สูงขึ้น ทดแทนการชะลอตัวจากการลงทุนที่อาจได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์การเงินในประเทศสหรัฐอเมริกา

ส่วนการดูแลผลกระทบจากความผันผวนในต่างประเทศ ดร.สุชาติ กล่าวว่า จะนำเสนอแผนภายใต้กรอบความริเริ่มที่เชียงใหม่ในเรื่องการแสวงหาความร่วมมือทางการเงินระหว่างประเทศในกลุ่มเอเชีย

สำหรับแนวคิดการตั้งกองทุนไปซื้อสินทรัพย์ของสถาบันการเงินสหรัฐที่มีปัญหา นายสุชาติระบุว่าไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว เพราะสิ่งสำคัญในขณะนี้ คือ จะต้องป้องกันเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ จึงไม่เห็นด้วยที่ประเทศยากจนจะเข้าไปอุ้มประเทศร่ำรวย เนื่องจากเงินที่ประเทศยากจนหามาได้มีความยากลำบาก เพราะฉะนั้น เราต้องดูแลเรื่องของตัวเราเองก่อน โดยทางกระทรวงการคลังจะนัดหารือประเด็นเศรษฐกิจกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในวันที่ 3 ตุลาคมนี้

. . .



ธปท.ชี้แบงก์พาณิชย์ไทยแข็งแกร่งพร้อมรับมือวิกฤติการเงินโลก


นางธาริษา วัฒนเกษ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ความมั่นคงทางสถาบันการเงินของไทยเข้มแข็งมาก การดำรงเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงได้ตั้งมาตรฐานไว้ที่ 8.5% แต่ทั้งระบบมีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงสูงเกิน 15% จึงบ่งชี้ว่าสถาบันการเงินไทยมีความแข็งแกร่ง ในขณะที่สินเชื่อเดือนสิงหาคมขยายตัว 13% และมีแนวโน้มที่ดี ที่สถาบันการเงินมีโอกาสทำกำไร ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล)สุทธิอยู่ที่ 3% เท่านั้น

สำหรับสภาพคล่องของไทยทั้งระบบไม่มีปัญหา มีการออกมากู้เงินระหว่างกันเป็นปกติ แสดงว่าสภาพคล่องยังดี ซึ่งแม้เกิดปัญหาในต่างประเทศ และส่งผลต่อไทยบ้าง แต่เชื่อว่ามีไม่มากนัก โดยการออกไปทำธุรกรรมของธนาคารพาณิชย์ในต่างประเทศ มีการกู้เงินในต่างประเทศในสัดส่วนเพียง 1.3% ของสินเชื่อในระบบของไทย ถือว่าเป็นสัดส่วนไม่มาก

ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า การที่สถาบันการเงินประเทศแถบตะวันตกที่เข้ามาลงทุนในหุ้นสถาบันการเงิน และประกันภัยของไทย ทาง ธปท.มีการติดตามใกล้ชิด หากสถาบันการเงินต่างประเทศมีปัญหาก็คงไม่มีการถอนการลงทุนออกจากไทย แต่เป็นเพียงการเปลี่ยนผู้ถือหุ้นใหม่เท่านั้น และบริษัทลูกของต่างประเทศที่มาอยู่ในไทยก็มีการดำเนินการตามกฎหมายของไทย ทั้งการดำรงสินทรัพย์เสี่ยง การดูแลสภาพคล่อง การปฏิบัติตามกฎต่าง ๆ ทุกรายเข้มแข็งและเป็นตามข้อกำหนด

นางอัจนา ไวความดี รองผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สายเสถียรภาพการเงิน กล่าวว่า ธปท.ได้เตรียมแผนรับมือผลกระทบจากปัญหาวิกฤติสถาบันการเงินสหรัฐไม่ให้กระทบสภาพคล่องของสถาบันการเงินไทย โดยจะหารือในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 8 ตุลาคมนี้ ซึ่ง ธปท.พร้อมอัดฉีดสภาพคล่องเข้าไปในระบบ เพื่อให้เพียงพอต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างเต็มที่

นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ผลกระทบจากปัญหาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพ (ซับไพรม) กระทบต่อภาวะเศรษฐกิจโลก ตั้งแต่ไตรมาส 2 ปีนี้ ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐ ยุโรป และอีกหลายประเทศชะลอตัว ส่งผลกระทบทางอ้อมมายังเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะภาคการส่งออกในเดือนสิงหาคมที่ขยายตัวร้อยละ 15.5 ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 43.9
โดยตลาดส่งออกหลักอย่างสหรัฐฯ ขยายตัวลดลงจากร้อยละ 20 เหลือร้อยละ 6.3
ยุโรปจากร้อยละ 16 เหลือร้อยละ 6.2
รวมทั้งตลาดอาเซียนที่เป็นตลาดใหม่ของไทย จากร้อยละ 68 เหลือร้อยละ 14
จีน จากร้อยละ 37.2 เหลือร้อยละ 1.4
ไต้หวัน จากร้อยละ 5.5 เหลือติดลบร้อยละ 8

ซึ่งธปท.กำลังประเมินผลกระทบจากปัญหาวิกฤติสถาบันการเงินโดยมีการตั้งสมมติฐานผลกระทบที่เกิดขึ้นหลายระดับ ทั้งรุนแรงมากและน้อย ซึ่งธปท.จะติดตามอย่างใกล้ชิด

นอกจากนี้ ในเดือนตุลาคม ธปท.จะทบทวนอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของปี 2551-2552 ใหม่ เนื่องจากปัจจัยภายนอกเข้ามามีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้น แม้ว่าราคาน้ำมันและเงินเฟ้อจะปรับลดลงก็ตาม
นอกจากนี้ จากการสำรวจความเห็นของภาคธุรกิจพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในเดือนสิงหาคมขยายตัวในอัตราที่ลดลงเหลือ 40.7 จาก 41.5 โดยนักธุรกิจมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจไทยมากขึ้น รวมทั้งเกรงว่า ยอดการสั่งสินค้าจากต่างประเทศจะลดลง และกังวลต่อการแข่งขันทางการค้าของคู่แข่ง มีเพียงดัชนีหมวดราคาต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากราคาน้ำมันที่ลดลง

นายทิตนันทิ์ กล่าวถึงภาวะเศรษฐกิจในเดือนสิงหาคม ซึ่งชะลอตัวลงเป็นเดือนแรกในรอบปี ทั้งการอุปโภคบริโภค การลงทุนภาคเอกชน ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งภาคการท่องเที่ยว ที่อัตราการเพิ่มขึ้นชะลอลงเหลือร้อยละ 0.2 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการปิดสนามบินในหลายจังหวัด โดยเฉพาะที่ภูเก็ต จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงถึงร้อยละ 11.6 อย่างไรก็ตาม ยังโชคดีที่ราคาพืชผลเกษตรยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี

. . .



ภาคเอกชนเป็นห่วงปัญหาสภาพคล่องจากผลกระทบวิกฤติการเงินสหรัฐฯ


นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้ช่วยผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวถึงกรณีสภาสหรัฐฯไม่ผ่านแผนการใช้เงิน 700,000 แสนล้านดอลลาร์ เพื่อแก้ไขวิกฤติการเงินว่า เชื่อว่าที่สุดแล้วรัฐสภาสหรัฐน่าจะมีการทบทวนอีกครั้งและอาจมีเงื่อนไขรายละเอียดเพิ่มเติมออกมาให้ชัดเจนมากขึ้น เพราะปัญหาสภาพคล่องของสหรัฐฯนั้นต้องได้รับการแก้ไข เพราะตอนนี้ปัญหาเริ่มลามไปสู่ยุโรป และกำลังจะกระทบรัสเซีย หากยังไม่มีมาตรการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจนก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกจริงๆ ภาพที่เห็นตอนนี้ก็เริ่มชัดแล้วว่าตลาดหุ้นทั่วโลกได้รับผลกระทบโดยปรับลดลงจำนวนมาก

ส่วนกรณีของประเทศไทยนั้น ผลกระทบต่อสถาบันการเงินโดยตรงคงมีน้อยมาก แต่ที่จะเกิดผลกระทบ คือ ปัญหาสภาพคล่องซึ่งขณะนี้เริ่มตึงตัวแล้ว ถ้ามีการดึงเม็ดเงินออกไปอย่างต่อเนื่องก็ยิ่งทำให้สภาพคล่องตึงตัว ขณะนี้ในระบบธนาคารมีการปล่อยสินเชื่อในระดับร้อยละ 90 ของยอดเงินฝาก โดยเชื่อว่าระบบธนาคารพาณิชย์คงจะไม่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกแล้ว ไม่เช่นนั้นจะยิ่งส่งผลซ้ำเติมสถานการณ์

นายก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เอเชียพลัส กล่าวว่าโลกอาจเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ประกอบกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ได้ปรับตัวลดลง ขณะนี้นักลงทุนและผู้ประกอบการในไทยอาจจะประสบปัญหาสภาพคล่อง เนื่องจากไม่สามารถระดมทุนได้ง่าย แต่เชื่อว่าสถาบันการเงินไทยยังแข็งแรงอยู่
นายตีรณ พงศ์มฆพัฒน์ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าหากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และยุโรป ชะลอตัวลง จะทำให้กำลังซื้อทั่วโลกชะลอตัว ส่วนสินเชื่อที่ปล่อยไปก็จะมีคุณภาพลดลง อย่างไรก็ตาม สถาบันการเงินในไทยก็ไม่กล้าเสี่ยงที่จะปล่อยสินเชื่อเหมือนที่ผ่านมา ทำให้อัตราการขยายตัวของสินเชื่อชะลอตัวในที่สุด และมีผลกระทบกับเศรษฐกิจของไทยอย่างแน่นอน

. . .


สภาคองเกรส ไม่ผ่านแผนฟื้นฟูภาคการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์

สมาชิกสภานิติบัญญัติของสหรัฐฯไม่ผ่านแผนฟื้นฟูภาคการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์ ของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช
สภาคองเกรสสหรัฐฯมีมติไม่รับแผนฟื้นฟูภาคการเงิน 7 แสนล้านดอลลาร์ตามที่รัฐบาลสหรัฐเสนอ โดยภายหลังสมาชิกสภาคองเกรสพิจารณานานหลายชั่วโมง จึงได้ลงมติด้วยคะแนนเสียง 228 ต่อ 205 เสียง ไม่รับรองร่างกฎหมายแผนฟื้นฟูภาคการเงิน โดยเฉพาะสมาชิกสภาคองเกรสพรรครีพับลิกันที่ส่วนใหญ่ปฏิเสธไม่เห็นชอบต่อแผนการดังกล่าว

. . .



เปิดแผนฟื้นฟูการเงินสหรัฐฯ


Emergency Economic Stabilization Act 2008 หรือ EESA ร่างกฎหมายฉบับนี้หากได้นำมาใช้ จะถูกกำหนดวันสิ้นสุดการบังคับใช้ในวันที่ 31 ธ.ค. 2552 แต่สามารถขยายเวลาออกไปได้มากสุด 2 ปี หากรัฐบาลร้องขอ
ร่างกฎหมาย ซึ่งใช้ชื่อว่า "กฎหมายแผนสร้างเสถียรภาพเศรษฐกิจฉุกเฉิน 2551" ความยาว 106 หน้า ถูกโพสต์ไว้บนเว็บไซต์ของนางแนนซี เปโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎร และเว็บไซต์ของคณะกรรมการด้านการเงิน สภาผู้แทนราษฎร อันเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยหวังแสดงความโปร่งใสเพื่อให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้
แผนกู้วิกฤติครั้งนี้ จะให้อำนาจรัฐบาลอย่างกว้างขวางในการรับซื้อหนี้เสียจากสถาบันการเงิน และธนาคารที่ประสบปัญหา เพื่อป้องกันตลาดเงินขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง ซึ่งจะเป็นสาเหตุให้เศรษฐกิจของสหรัฐต้องล่มสลาย
เนื้อหาของแผนได้รับการปรับแก้เพื่อให้มีความรัดกุมและตรวจสอบได้ โดยจะอนุมัติเงินก้อนแรก 250,000 ล้านดอลลาร์ทันที และค่อยพิจารณาอนุมัติเงินส่วนที่เหลือในภายหลัง โดยผู้บริหารของบริษัทที่รับความช่วยเหลือจะต้องถูกเรียกเก็บภาษีสูงมากจากเงินเดือนที่ได้รับ
รัฐบาลจะต้องได้เข้าถือหุ้นในบริษัทเหล่านี้ ผู้เสียภาษีจะได้ส่วนแบ่งกำไรเมื่อสถาบันการเงินฟื้นตัว อีกทั้งรัฐบาลจะต้องเข้าช่วยเหลือผู้จำนองบ้านให้รอดพ้นจากการถูกยึดบ้าน และมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการดำเนินงานและความโปร่งใส
ต่อไปนี้เป็นสาระสำคัญของมาตรการความช่วยเหลือ ตามที่มีการชี้แจงจากสมาชิกสภานิติบัญญัติ และระบุในร่างกฎหมายขั้นต้น
- รัฐสภาจะแบ่งเบิกจ่ายงบประมาณในการซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพวงเงิน 700,000 ล้านดอลลาร์ เป็นงวดๆ โดยจะอนุมัติเงินงวดแรก 250,000 ล้านดอลลาร์เมื่อมีการบังคับใช้กฎหมาย และจะมีการเบิกงบงวดต่อไปอีก 100,000 ล้านดอลลาร์ หากประธานาธิบดีมองว่าเป็นสิ่งจำเป็น ส่วนงวดสุดท้าย 350,000 ล้านดอลลาร์ จะขึ้นอยู่กับการพิจารณาอนุมัติของรัฐสภา
- รัฐบาลจะเข้าถือหุ้นในบริษัทที่ขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลกลาง เพื่อที่ผู้เสียภาษีจะสามารถได้รับส่วนแบ่งกำไรถ้าบริษัทเหล่านี้ฟื้นตัวขึ้น โดยมีข้อยกเว้นสำหรับสถาบันการเงินที่มีสินทรัพย์น้อยกว่า 500 ล้านดอลลาร์ หรือถ้ารัฐบาลเข้าซื้อธุรกิจที่มีปัญหาในวงเงินต่ำกว่า 100 ล้านดอลลาร์
- หากบริษัทได้รับความช่วยเหลือแต่ล้มละลาย นักลงทุนจะเป็นผู้รับผลขาดทุนเป็นลำดับแรก ส่วนรัฐบาลจะเป็นหนึ่งในนักลงทุนรายสุดท้ายที่รับภาระขาดทุน
- คณะกรรมการรัฐสภาชุดใหม่จะมีอำนาจในการกำกับดูแลโครงการนี้ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะทำการรายงานเป็นประจำเพื่อยื่นต่อสมาชิกสภานิติบัญญัติ
- หากกระทรวงการคลังเข้าถือหุ้นในบริษัทใด ผู้บริหารระดับสูงสุด 5 คน ของบริษัทนั้น จะต้องถูกจำกัดการได้รับผลตอบแทน
- ผู้บริหารที่ถูกจ้างภายหลังจากบริษัทการเงินแห่งใดขายสินทรัพย์เป็นมูลค่ามากกว่า 300 ล้านดอลลาร์ให้รัฐบาล จะไม่มีสิทธิได้รับสิทธิประโยชน์ หรือค่าตอบแทนภายใต้ข้อตกลงที่เรียกว่า "โกลเดน พาราชูท" ซึ่งหมายถึงข้อตกลงที่จะจ่ายเงินก้อนใหญ่ให้แก่พนักงานอาวุโสของบริษัท
- มาตรการนี้จะอนุญาตให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เริ่มจ่ายดอกเบี้ยให้กับทุนสำรองของธนาคารพาณิชย์ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. ซึ่งจะเป็นเครื่องมือในการลดภาวะตึงตัวของตลาดสินเชื่อ
- ให้มีการดำเนินการศึกษาผลกระทบของมาตรฐานการบัญชีแบบ "มาร์ก-ทู-มาร์เก็ต" หรือ การคำนวณมูลค่าทรัพย์สินสุทธิโดยให้สะท้อนราคาตลาดที่เป็นธรรม ซึ่งนักวิจารณ์ระบุว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้มูลค่าสินทรัพย์ลดลงในงบดุลบัญชีของภาคธุรกิจ
- รัฐบาลกลางสหรัฐอาจระงับกระบวนการยึดทรัพย์จำนองสำหรับเงินกู้ซื้อบ้านที่รัฐบาลซื้อมาภายใต้แผนดังกล่าว
- ตามแผนการเข้าซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมด กระทรวงการคลังสหรัฐจะพิจารณาจัดทำโครงการประกัน ซึ่งจะค้ำประกันเงินกู้ที่มีปัญหา และจะได้รับการชำระจากบรรดาบริษัทที่เข้าร่วมโครงการ
- หากรัฐบาลประสบภาวะขาดทุนในช่วง 5 ปีของการเข้าร่วมโครงการ กระทรวงการคลังจะร่างแผนเพื่อเรียกเก็บภาษีจากบริษัทต่างๆ ที่เข้าร่วมโครงการเพื่อชดเชยการขาดทุนของผู้เสียภาษี

. . .



Create Date : 30 กันยายน 2551
Last Update : 30 กันยายน 2551 19:47:01 น. 1 comments
Counter : 966 Pageviews.

 
อ่านแล้วสลบไปเลยลูกพี่


โดย: be-oct4 วันที่: 30 กันยายน 2551 เวลา:21:09:55 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

loykratong
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]






ไม่มีอะไรขึ้นตลอด
ไม่มีอะไรลงตลอด
...ไม่มี the end of the world ...

Web Site Hit Counters

ราคาทองคำ
 

ราคาทองคำต่างประเทศ



Friends' blogs
[Add loykratong's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.