Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2551
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
16 ตุลาคม 2551
 
All Blogs
 
ราคายางลดลงเร็วที่สุดเป็นประวัติการณ์ : สาเหตุ ผลกระทบ และทางออก

. . .

ราคายางลดลงเร็วที่สุดเป็นประวัติการณ์ : สาเหตุ ผลกระทบ และทางออก

ปัจจุบันราคายางพารามีแนวโน้มตกต่ำลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าเป็นการลดลงเร็วมากเป็นประวัติการณ์ โดยภายใน 2 สัปดาห์แรกของเดือนตุลาคมราคายางแผ่นดิบชั้น 3 ลดลงถึง 20 บาทต่อกิโลกรัม จาก 88 บาทต่อกิโลกรัม เหลือ 68 บาทต่อกิโลกรัม และยังมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยมีการคาดหมายว่าราคามีแนวโน้มต่ำถึงกิโลกรัมละ 40 บาท ในขณะที่ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ในตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้ายังทำนิวโลว์ลงไปเรื่อยๆ และมีโอกาสที่จะลดลงต่ำกว่าเมื่อตอนปลายปี 2549 ที่ราคาลงไปอยู่ในระดับ 58 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งในครั้งนั้นราคายางเคลื่อนไหวตามหลักอุปสงค์และอุปทาน แต่มาปี 2551 นี้ และช่วงนี้เป็นช่วงฤดูกาลผลิตที่ผลผลิตยางออกสู่ตลาดมาก ผนวกกับภาวะเศรษฐกิจโลกซบเซา ส่งผลต่อยอดจำหน่ายรถยนต์ ทำให้ความต้องการยางวงล้อและชิ้นส่วนยานยนต์ที่ทำจากยางลดลง ส่งผลต่อเนื่องถึงความต้องการยางไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตมีแนวโน้มลดลงด้วย ทำให้ราคายางน่าจะยังอยู่ในช่วงขาลงต่อไป

ยางราคาตก...หลากปัจจัยฉุดรั้ง ทั้งด้านการผลิตและการตลาด

ในเดือนกรกฎาคม 2551 ราคายางแผ่นดิบชั้น 3 พุ่งขึ้นไปแตะระดับสูงสุดที่กิโลกรัมละ 99.68 บาท หลังจากนั้นราคายางแผ่นดิบชั้น 3 มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง และในช่วงเดือนตุลาคมนี้ราคายางร่วงลงอย่างรวดเร็วจาก 88 บาทต่อกิโลกรัมในช่วงต้นเดือน เหลือ 68 บาทต่อกิโลกรัม และยังมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยมีการคาดหมายว่าราคามีแนวโน้มต่ำถึงกิโลกรัมละ 40 บาท ซึ่งถือเป็นราคาเกือบต่ำสุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา โดยใกล้เคียงกับราคาในช่วงเดือนมกราคม 2548 ปัจจัยที่มีผลกดดันให้ราคายางยังมีแนวโน้มตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง แยกออกเป็นดังนี้

ด้านการผลิต…ปัจจัยฉุดรั้งภายในประเทศ

Ø ปริมาณผลผลิตยาง ในปี 2551 ผลผลิตยางของประเทศผู้ผลิตยางหลักมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2550 เนื่องจากไม่ต้องเผชิญกับปัญหาภาวะฝนตกชุกในแหล่งผลิตในช่วงต้นปี นอกจากนี้ ต้นยางที่มีการขยายการปลูกในช่วงที่ยางราคาดีเริ่มเปิดกรีดได้มากขึ้น ส่งผลให้มีปริมาณยางออกสู่ตลาดมากขึ้นกว่าปีที่แล้ว

Ø ต้นทุนการผลิตยางมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ปัจจุบันต้นทุนการผลิตยางมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะต้นทุนในด้านปุ๋ยเคมีและเคมีภัณฑ์ทางการเกษตร โดยต้นทุนเฉลี่ยในการผลิตยางในไทยอยู่ที่กิโลกรัมละ 52 บาท ซึ่งนับว่าอยู่ในเกณฑ์ที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง โดยเฉพาะอินโดนีเซีย ซึ่งมีต้นทุนการผลิตยางโดยเฉลี่ยต่ำกว่าไทยกิโลกรัมละ 15-20 บาท ดังนั้น ราคาส่งออกยางของไทยจึงสูงกว่าอินโดนีเซีย โดยเฉพาะยางแท่ง ทำให้ประเทศคู่ค้าของไทยหันไปซื้อยางแท่งจากอินโดนีเซีย จะเห็นได้ว่าการส่งออกยางแท่งของไทยมีแนวโน้มลดลงตามลำดับ กล่าวคือ ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2551 มูลค่าการส่งออกยางแท่งลดลงเหลือ 731 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วลดลงร้อยละ 43.3
ด้านการตลาด...ปัจจัยฉุดรั้งจากตลาดโลก

Ø จีนเริ่มชะลอการซื้อยาง ในช่วงที่ผ่านมาจีนได้ซื้อยางไปเก็บสต็อกเป็นจำนวนมาก เพื่อนำไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตยางวงล้อและชิ้นส่วนยานยนต์ที่ทำจากยางรองรับกับอุตสาหกรรมรถยนต์ในจีนมีแนวโน้มขยายตัวอย่างมาก รวมทั้งรองรับกับการส่งออกยางวงล้อไปยังตลาดสหรัฐฯ เนื่องจากในปัจจุบันมีผู้ผลิตยางวงล้อชั้นนำของโลกใช้จีนเป็นฐานการผลิตยางวงล้อส่งออกด้วย โดยที่จีนเป็นตลาดส่งออกยางที่สำคัญเป็นอันดับหนึ่งของไทย มีสัดส่วนเกือบร้อยละ 30.0 ของมูลค่าการส่งออกยางทั้งหมด ความต้องการนำเข้ายางที่เพิ่มขึ้นของจีนนับเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันมูลค่าการส่งออกยางให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น กล่าวคือ มูลค่าการส่งออกยางของไทยในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2551 เพิ่มขึ้นเป็น 4,768.78 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 35.2 อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เดือนสิงหาคมยอดจำหน่ายรถยนต์ในจีนลดลง ซึ่งนับว่าเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบกว่า 3 ปี และยอดจำหน่ายรถยนต์ในจีนก็ยังมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งวงการอุตสาหกรรมรถยนต์คาดการณ์ว่าตลอดทั้งปี 2551 ยอดจำหน่ายรถยนต์ในจีนจะเพิ่มขึ้นไม่ถึงร้อยละ 10.0 จากที่เคยมีอัตราการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 21.8 ในปี 2550 นอกจากนี้ ยังคาดการณ์ว่าความต้องการนำเข้ายางวงล้อจากจีนของสหรัฐฯมีแนวโน้มลดลงด้วยเช่นกัน เนื่องจากยอดจำหน่ายรถยนต์ในสหรัฐฯก็มีแนวโน้มลดลง ปัจจุบันนี้มีรายงานข่าวว่าโรงงานผลิตยางรถยนต์ในจีนต้องทยอยลดกำลังการผลิต โดยโรงงานบางแห่งลดลงถึงร้อยละ 70 แล้ว เนื่องจากความต้องการนำเข้ายางรถยนต์ของสหรัฐฯลดลงอย่างต่อเนื่อง
ในช่วงที่เหลือของปี 2551 ต่อเนื่องถึงปี 2552 การส่งออกยางไปยังจีนผู้ส่งออกต้องระมัดระวังมากขึ้น และต้องติดตามสถานการณ์ด้านการตลาดอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะบริษัทโบรกเกอร์หรือบริษัทเล็กๆ ที่มีการซื้อขายสินค้าล่วงหน้าก็อาจจะประสบปัญหาบ้างที่ซื้อยางมาในราคาสูงเพื่อรอส่งมอบ แต่เมื่อราคายางลดลงมาก ทางผู้ซื้อขอเลิกสัญญาก็ต้องยกเลิกแล้วหันมาเจรจาซื้อขายกันใหม่ หรือบางรายปฏิเสธการรับสินค้า

Ø วิกฤติภาคการเงินสหรัฐฯที่ส่งให้เศรษฐกิจสหรัฐฯถดถอย สหรัฐฯเป็นตลาดส่งออกยางของไทยที่มีความสำคัญอันดับสี่ รองจากจีน มาเลเซีย และญี่ปุ่น โดยมีสัดส่วนการส่งออกไปสหรัฐฯร้อยละ 9.0 ของมูลค่าการส่งออกยางทั้งหมด ส่วนการส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง โดยเฉพาะยางสำหรับยานพาหนะนั้น สหรัฐฯ เป็นตลาดที่มีความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง โดยมีสัดส่วนการส่งออกถึงร้อยละ 28.2 ของมูลค่าการส่งออกยางยานพาหนะทั้งหมด วิกฤตสินเชื่อในสหรัฐฯ สร้างความเสียหายให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ในสหรัฐฯค่อนข้างสูง โดยในเดือนกันยายน 2551 ยอดขายรถยนต์ลดลงเป็นเดือนที่ 11 ติดต่อกัน และยอดขายรถยนต์แบรนด์ของภูมิภาคเอเชียในสหรัฐฯ ในเดือนกันยายน 2551 ลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่ทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา เพราะความเชื่อมั่นของผู้บริโภคถดถอยลง อีกทั้งยังเป็นการยากมากขึ้นที่ผู้ต้องการซื้อรถจะสามารถกู้เงินมาซื้อรถได้ เนื่องจากสถาบันการเงินเข้มงวดมาตรฐานการปล่อยกู้มากกว่าเดิม ในขณะเดียวกันผู้บริโภคก็ต้องการลดค่าใช้จ่ายลงด้วย

ผลกระทบจากภาวะวิกฤตทางการเงินส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมกับตลาดยางของไทย กล่าวคือ ความต้องการนำเข้าทั้งยางแผ่นและยางแท่งจากไทยมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากความต้องการยางเพื่อนำไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตยางรถยนต์ลดลง ส่วนผลกระทบทางอ้อมของวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐฯทำให้สหรัฐฯมีความต้องการนำเข้ายางรถยนต์ลดลง โดยเฉพาะการนำเข้าจากจีน ส่งผลให้ยอดการส่งออกยางสำหรับยานพาหนะจากจีนไปยังสหรัฐฯมีแนวโน้มลดลง ดังนั้น ความต้องการนำเข้ายางของจีนจากไทยเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตยางรถยนต์ก็มีแนวโน้มลดลงตามไปด้วย นอกจากนี้ การส่งออกยางสำหรับยานพาหนะจากไทยไปยังสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของไทยก็มีแนวโน้มลดลงด้วยเช่นกัน



Ø ราคาน้ำมันขาลง...ปัจจัยกดราคายางธรรมชาติในตลาดโลก ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีแนวโน้มลดลงอย่างรวดเร็ว และคาดว่ายังมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง จากระดับสูงสุดที่ 147.35 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล(14 ก.ค.2551)ลงมาที่ 78.15 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล(15 ต.ค. 2551) นับว่าเป็นปัจจัยกดดันให้ราคายางธรรมชาติปรับตัวลดลงด้วย โดยในช่วงที่ผ่านมาทิศทางของราคายางธรรมชาติจะปรับตัวไปในทิศทางเดียวกันกับราคาน้ำมัน เนื่องจากราคาน้ำมันที่ปรับลดลง ทำให้ราคายางสังเคราะห์ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการผลิตน้ำมันมีราคาลดลงตามไปด้วย เมื่อราคายางสังเคราะห์ถูกลงจะมีผลกดดันต่อราคายางธรรมชาติทันที เนื่องจากเป็นวัตถุดิบที่ใช้ทดแทนกันได้ นอกจากนี้ เมื่อราคายางอยู่ในทิศทางขาลง ประเทศผู้ซื้อจะชะลอซื้อ เพราะรอดูภาวะราคาว่าจะลงต่ำสุดเมื่อใด ซึ่งในช่วงนี้ประเทศผู้ซื้อส่วนใหญ่ยังมีสต็อกเหลือเพียงพอกับการชะลอการซื้อเพื่อรอดูราคา

Ø นักเก็งกำไรสินค้าโภคภัณฑ์เทขายยาง ในช่วงที่ผ่านมา การที่ราคายางปรับตัวสูงขึ้น ส่วนหนึ่งเนื่องจากการซื้อขายเก็งกำไรยางผ่านทางตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า แต่ในช่วงราคายางขาลง ตามภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา การเข้ามาเก็งกำไรมีแนวโน้มที่จะลดลง บรรดานักลงทุนหันไปสนใจตลาดหุ้น และโลหะมีค่า โดยเฉพาะทองคำแทน ทำให้ราคายางตกลงเร็วผิดปกติ


ผลกระทบ...เสี่ยงต่อการขาดทุน จากราคาที่ตกเร็วเป็นประวัติการณ์

การที่ราคายางตกลงอย่างรวดเร็วและรุนแรง ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อผู้ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและการค้ายาง ดังนี้

1.กระทบโดยตรงต่อสถาบันเกษตรกร และสหกรณ์ผู้ผลิตยาง รวมทั้งเกษตรกรผู้ปลูกยาง เนื่องจากระบบการจัดการของระบบสหกรณ์จะซื้อน้ำยางสด เพื่อผลิตยางแผ่นรมควัน ซึ่งใช้เวลาประมาณ 10 วัน ดังนั้น เมื่อราคายางตกต่ำลงอย่างรวดเร็วทำให้ต้องประสบกับภาวะขาดทุนในช่วงที่ซื้อยางมาเพื่อรอการผลิต เช่น เมื่อคำนวณรวมต้นทุนการผลิตต้นทุนอยู่ที่ 90 บาท/กก. โดยเป็นต้นทุนซื้อน้ำยางสดเฉลี่ย 70 บาท/กก. แต่ในภาวะปัจจุบันเมื่อนำยางแผ่นรมควันมาจำหน่ายราคาลดลงเหลือแค่ 57 บาท/กก. ซึ่งเท่ากับต้องเผชิญภาวะขาดทุนสูงถึง 33 บาท นับว่าเสี่ยงต่อการขาดทุนอย่างรุนแรง เช่นเดียวกับเกษตรกรรายย่อย

2.กระทบต่อความมั่นใจในระบบตลาด ผู้ส่งออกและเกษตรกรไม่มั่นใจกับสถานการณ์ราคายางในตลาดโลก ทำให้เอกชนเร่งเทขายยางออกเร็วที่สุด ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการขาดทุน หากราคายางลดลงต่ำกว่า 50 บาท/กก.ในช่วง 1-2 สัปดาห์ต่อไปนี้ตามการคาดการณ์ของผู้ที่อยู่ในวงการค้ายาง โดยที่ตลาดกลางยางพาราหาดใหญ่มีปริมาณการรับซื้อยางเพิ่มสูงถึง 400,000 กก./วัน จากเฉลี่ยวันละ 200,000 กก./วัน ซึ่งถือเป็นการเพิ่มขึ้นถึง 1 เท่าตัว ขณะที่จำนวนผู้เข้ามาประมูลซื้อยางลดลงจากเดิมเฉลี่ยวันละ 9-10 รายเหลือแค่ 1-2 รายเท่านั้น จึงคาดหมายได้ว่าผู้ประกอบการตื่นตระหนกต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ต้องเร่งเทขายยางที่อยู่ในการครอบครองในช่วงนี้ เพราะจุดรับซื้อทั่วไปหรือบรรดายี่ปั๊ว ไม่กล้าเปิดราคารับซื้อ-ขาย เพราะราคาลดลงเร็วและรุนแรงจนไม่สามารถกำหนดราคากลางได้ เนื่องจากเสี่ยงต่อการขาดทุนมากเกินไป ขณะที่ผู้ประมูลต้องระงับการส่งออกด้วยเหตุผลคือ ลูกค้าในต่างประเทศชะลอการซื้อเพื่อรอดูราคา โดยในระหว่างนี้ก็หันไปใช้สต็อกเดิมที่ซื้อไว้ก่อน


แนวทางการแก้ไขปัญหา…ระยะสั้น และระยะยาว

ผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการค้ายางมีความเห็นว่าขณะนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งหาทางออก เนื่องจากราคายางที่ตกต่ำอย่างรวดเร็วและรุนแรง ส่งผลกระทบอย่างมากต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยธุรกิจยางพาราเกี่ยวข้องกับเกษตรกรชาวสวนยางประมาณ 1 ล้านครอบครัวหรือ 6 ล้านคน อุตสาหกรรมยางภายในประเทศมีโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์ยางประมาณ 719 โรง ก่อให้เกิดการจ้างงานในโรงงานอุตสาหกรรมยางประมาณ 70,000 คน

ในระยะสั้นกระทรวงเกษตรฯมอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรประชุมกับเอกชนที่เกี่ยวข้องเพื่อประเมินและวิเคราะห์ถึงสถานการณ์เพื่อหามาตราการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน ในขณะที่คณะกรรมการบริหารกิจการขององค์การสวนยาง และคณะกรรมการสงเคราะห์การทำสวนยางนัดประชุมเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาด้วย โดยคาดว่าจะมีการกำหนดราคาขั้นต่ำ โดยอิงกับต้นทุนการผลิต ทั้งนี้เพื่อกำหนดระยะเวลาในการเข้าไปแทรกแซงรับซื้อยางเพื่อพยุงราคายางไม่ให้ตกต่ำไปกว่าราคาขั้นต่ำ

ส่วนในการประชุมนานาชาติด้านยางพารา กระทรวงเกษตรฯมอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรหารือกับบริษัทร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ จำกัด[1] ที่จะมีการประชุมในเดือนตุลาคมนี้ คาดว่าประเด็นหลักของการหารือคือ วิธีการจัดการสต็อกและบริหารปริมาณยางในตลาดโลกอย่างเหมาะสม ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ซึ่งประเด็นนี้เคยเป็นประเด็นหลักเมื่อเริ่มก่อตั้งบริษัทร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ โดยในขณะนั้นมีปัญหาราคายางตกต่ำ กล่าวคือ แนวคิดความร่วมมือยางสามฝ่าย (International Tripartite Rubber Organization - ITRO) ระหว่างไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตยางรายใหญ่ของโลก ทั้งสามประเทศตกลงให้แต่ละประเทศลดปริมาณการผลิตยางพาราร้อยละ 4 ต่อปี และลดปริมาณการส่งออกยางพาราร้อยละ 10 ต่อปี รวมทั้งได้มีแผนการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนยางพาราระหว่างทั้งสามประเทศ (International Rubber Consortium Company - IRCo) อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวยังไม่มีการดำเนินการ เนื่องจากราคายางในตลาดโลกเริ่มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีการขยายพื้นที่ปลูกยางกันอย่างมาก ทั้งในประเทศตนเอง และเข้าไปลงทุนปลูกยางในประเทศต่างๆ เช่น ลาว กัมพูชา เป็นต้น ดังนั้น ประเด็นที่จะต้องหารือ คือ การสำรวจพื้นที่ปลูกยางทั้งหมด เพื่อให้ทราบถึงปริมาณการผลิตยางของแต่ละประเทศ ซึ่งจะช่วยในการวางแผนในการเก็บสต็อกเพื่อปรับปริมาณการผลิตและการส่งออกยางให้เหมาะสมกับสถานการณ์ความต้องการในตลาดโลก ทั้งนี้เพื่อเป็นการรักษาเสถียรภาพของราคายางในตลาดโลก

สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหาราคายางผันผวนในระยะยาวนั้น เป็นเรื่องที่มีการกำหนดไว้แล้วในยุทธศาสตร์ยาง ดังนั้น เป็นเรื่องที่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต้องประสานความร่วมมือกันเพื่อให้ไปถึงเป้าหมายของยุทธศาสตร์ยางที่วางไว้ โดยเป้าหมายสำคัญของยุทธศาสตร์ยางคือ ไทยต้องคงความเป็นผู้นำยางพาราของโลกและมีศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลกสูง ไทยจำเป็นต้องปรับโครงสร้างยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางพาราให้เหมาะสมกับสถานการณ์ยางของประเทศและของโลกที่เปลี่ยนแปลง โดยเน้นการพัฒนาศักยภาพการผลิต การพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง และการพัฒนาตลาดยางไทยสู่สากล บนพื้นฐานของความร่วมมือกับประเทศผู้ผลิตยางในการรักษาเสถียรภาพราคายาง การส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ยางภายในประเทศ และการเร่งรัดการวิจัยและพัฒนายางแบบครบวงจร ซึ่งการดำเนินการปรับโครงสร้างให้บรรลุเป้าหมายข้างต้น ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกิจการยางไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกรต้องมีความร่วมมือและดำเนินการร่วมกันอย่างเป็นระบบภายใต้กลยุทธ์ กิจกรรมที่สอดคล้องและเอื้อประโยชน์ต่อกัน



บทสรุป

ในระยะที่ผ่านมา 2 สัปดาห์ของเดือนตุลาคม 2551 ราคายางในทุกตลาดลดลงอย่างรุนแรง นับเป็นการลดลงที่รวดเร็วและรุนแรงเป็นประวัติการณ์ รวมทั้งยังมีการคาดการณ์ว่าราคายางจะยังคงอยู่ในช่วงขาลงต่อไปอีก เนื่องจากปัจจัยทั้งทางด้านการผลิตและปัจจัยทางการตลาด กล่าวคือ ปริมาณการผลิตยางที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในขณะที่ความต้องการยางในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง โดยปัจจัยที่ส่งผลกระทบทำให้ความต้องการยางในตลาดโลกลดลงอย่างมาก คือ ผลกระทบจากวิกฤตการเงินของสหรัฐฯ ที่ส่งผลให้เศรษฐกิจของสหรัฐฯเผชิญภาวะถดถอย ส่วนเศรษฐกิจของจีน สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้มีแนวโน้มซบเซา ทำให้ยอดจำหน่ายรถยนต์มีแนวโน้มลดลง ความต้องการยางเพื่อนำไปผลิตยางวงล้อและชิ้นส่วนยานยนต์ที่ทำจากยางลดลงตามไปด้วย ส่งผลกระทบให้โรงงานผลิตรถยนต์ในประเทศต่างๆมีความต้องการนำเข้ายางลดลง

ผลกระทบของราคายางตกต่ำเป็นประวัติการณ์ในครั้งนี้ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อผู้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจยาง ตั้งแต่เกษตรกร ผู้ค้ายาง ไปจนถึงผู้ส่งออกยาง ดังนั้นทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจึงเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือ โดยคาดว่าในระยะสั้นน่าจะมีการกำหนดราคาขั้นต่ำที่จะเข้าไปแทรกแซง โดยอิงกับต้นทุนการผลิต นอกจากนี้ คงต้องประสานความร่วมมือกับประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซียผ่านทางบริษัท ร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ จำกัด ทั้งนี้เพื่อกำหนดปริมาณการส่งออกให้เหมาะสมกับสถานการณ์ โดยผ่านการบริหารจัดการเก็บสต็อก ส่วนในระยะยาวนั้นทั้งรัฐบาลและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องคงต้องหันมาปรับแผนยุทธ์ศาสตร์ยางใหม่ให้มีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ และดำเนินการตามแผนที่วางไว้อย่างจริงจัง รวมทั้งมีการติดตามประเมินผลความก้าวหน้า และเร่งรัดแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่ทำให้ไม่สามารถดำเนินการตามแผนให้บรรลุวัตถุประสงค์ได้ ทั้งนี้เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมยางของประเทศให้มีขีดความสามารถในการรับมือกับสถานการณ์ที่ผันผวนของตลาดยางโลกÐ

[1] บริษัทร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ จำกัด จัดตั้งขึ้นเมื่อ 31 ตุลาคม 2545 มีประเทศร่วมทุน 3 ประเทศได้แก่ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ส่วนประเทศเวียดนาม และศรีลังกา พยายามจะขอเข้าร่วมทุนด้วย ขณะนี้ อยู่ระหว่างการศึกษาในรายละเอียด ส่วนประเทศอินเดียนั้น ได้แจ้งความประสงค์เข้าร่วมทุนเช่นกัน แต่อินเดียยังมีผลผลิตยางพาราน้อยมาก

. . .


Create Date : 16 ตุลาคม 2551
Last Update : 16 ตุลาคม 2551 20:21:47 น. 8 comments
Counter : 1531 Pageviews.

 
ชิป....ลงเข้าไปเชี่ย...สงสัยแดกแกลบ...


โดย: ผู้รับผลกระทบอย่างแรง IP: 124.121.94.62 วันที่: 17 ตุลาคม 2551 เวลา:14:37:19 น.  

 
มีคนบอกว่าถ้าทักสินอยู่ราคายางจะไม่ตก


โดย: ติ๊ก IP: 61.90.174.226 วันที่: 17 ตุลาคม 2551 เวลา:17:31:34 น.  

 
กบเลือกนายไง


โดย: AuntieV วันที่: 18 ตุลาคม 2551 เวลา:22:21:12 น.  

 
. . .


เมี๊ยว เมี๊ยววว....

. . .


โดย: loykratong วันที่: 20 ตุลาคม 2551 เวลา:20:51:00 น.  

 
ไม่เห็นจะเกี๋ยวกับทักษิณเลย
ราคายางน่ะ มันเกี่ยวกับวิกฤตเศรษฐกิจโลก
ถ้าทักษิณยังอยู่อาจแย่กว่าเดิม


โดย: august IP: 202.12.73.18 วันที่: 2 มกราคม 2552 เวลา:16:10:24 น.  

 
อิสาน เหนือก็ปลูกยางกันเยอะเหมือนกัน มันจากการชะลอตัวจากเศรษฐกิจซบเซากันทั่วโลก ความต้องการของตลาดน้อยมาก เดี่ยวก็ราคาขึ้น เพราะจะมีการผลิตล้อรถใหม่เพราะของเก่ามันจมน้ำเสื่อมสภาพหมดแระ คนที่เดือดร้อนด้วยมีเยอะแยะทั้งคนที่ผลิตปุ่ย ยาปราบศรัตตรู แถมแรงงานจากภาคอื่นๆๆอีก


โดย: ทหารสอบผ่านรัฐบาลสอบตก IP: 49.229.164.34 วันที่: 10 พฤศจิกายน 2554 เวลา:10:32:48 น.  

 
ถึงราคายางตกแต่น้ำไม่ท่วมภาคใต้น่ะ


โดย: aa IP: 223.207.148.156 วันที่: 12 พฤศจิกายน 2554 เวลา:20:04:54 น.  

 
เราขายน้ำยางต้องให้ คนซื่อ ต้ั้ง ราคา
แต่ตอนมันขาย ของกับมามันกลับตั้งราคามาเอง


โดย: us IP: 113.53.9.209 วันที่: 19 มิถุนายน 2555 เวลา:11:19:37 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

loykratong
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]






ไม่มีอะไรขึ้นตลอด
ไม่มีอะไรลงตลอด
...ไม่มี the end of the world ...

Web Site Hit Counters

ราคาทองคำ
 

ราคาทองคำต่างประเทศ



Friends' blogs
[Add loykratong's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.