Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2551
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
13 กรกฏาคม 2551
 
All Blogs
 
. . . กรมสรรพากรเตือนประชาชนระวังถูกมิจฉาชีพหลอก เรื่องคืนภาษีและขอรับบริจาค . . .

. . .

กรมสรรพากรเตือนประชาชนระวังถูกมิจฉาชีพหลอกเรื่องคืนภาษีและขอรับบริจาค

ด้วยมีกลุ่มมิจฉาชีพแอบอ้างใช้ชื่อกรมสรรพากรหรือแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่กรม ฯ หลอกลวงผู้ประกอบการ ผู้เสียภาษีและประชาชนทั่วไปให้หลงเชื่อด้วยวิธีการต่าง ๆ ได้แก่

1. แอบอ้างเรื่องคืนภาษี โดยใช้โทรศัพท์หมายเลข 13 หลัก หรือโทรศัพท์ไม่แสดงเลขหมายเป็นระบบอัตโนมัติ รวมทั้งอ้างเป็นเจ้าหน้าที่กรมฯ แจ้งให้ไปรับเช็คคืนภาษี พร้อมขอข้อมูลส่วนบุคคลต่าง ๆ หรือหลอกให้เหยี่อไปที่ตู้ ATM และใช้อุบายหลอกให้โอนเงินเข้าบัญชีของมิจฉาชีพโดยไม่รู้ตัว หรือนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้เพื่อทำการทุจริตในทางอื่นต่อไป

2. แอบอ้างชื่อกรมสรรพากรเพื่อขอรับบริจาคเงินไถ่ชีวิตโค - กระบือ หรือบริจาคเพื่อช่วย สาธารณกุศลในรูปแบบต่าง ๆ มีการทำหนังสือและใบโฆษณาชวนเชื่อให้ไปร่วมพิธี เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้เหยื่อหลงเชื่อมอบเงินบริจาคให้โดยง่าย

กรมสรรพากร ขอเรียนว่า กรมฯไม่มีนโยบายให้เจ้าหน้าที่โทรศัพท์ไปสอบถามข้อมูลส่วนบุคคลของผู้เสียภาษีเพิ่มเติมอีก เนื่องจากกรมฯ มีข้อมูลของผู้เสียภาษีอยู่ในฐานข้อมูลอยู่แล้ว โดยเฉพาะการคืนภาษีนั้น กรมฯ จะคืนให้เป็นเช็คธนาคาร โดยระบุชื่อ-สกุลของผู้ขอคืน และส่งไปให้ทางไปรษณีย์ตามภูมิลำเนาที่ผู้ขอคืนแจ้งไว้เท่านั้น

สำหรับเรื่องการขอรับบริจาคเงินเพื่อการกุศลต่าง ๆ นั้น ขอเรียนว่า กรมฯ ไม่เคยมีหนังสือขอเรี่ยไรเงินบริจาคเผยแพร่กับสาธารณชนเพื่อการดังกล่าว ชื่อ – สกุล ตามที่ระบุไว้ในหนังสือที่แอบอ้างและในบัญชีธนาคารที่เปิดไว้ ก็ตรวจสอบแล้ว พบว่าไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของกรมฯ แต่อย่างใด จึงขอเตือนผู้ประกอบการ นักธุรกิจและประชาชน ผู้เสียภาษีโปรดระมัดระวังอย่าได้หลงเชื่อการแอบอ้างใดๆในลักษณะดังกล่าว หากพบเห็นการกระทำในลักษณะนี้หรือในทำนองเดียวกัน โปรดแจ้งได้ที่

1. ศูนย์บริการข้อมูลสรรพากร ( RD Call Center ) โทร. 0-2272-8000

2. สำนักงานสรรพากรพื้นที่ หรือพื้นที่สาขาใกล้บ้านท่าน

ทั้งนี้ หากท่านพบเห็นกลุ่มบุคคลดำเนินพฤติกรรมดังกล่าว โปรดแจ้งกรมสรรพากรโดยตรง หรือประสานความร่วมมือกับหน่วยงานสรรพากรในพื้นที่ เพื่อแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ดำเนินการตามกฎหมายได้ทันทีเช่นกัน

ในขณะนี้ กรมสรรพากรทราบกลุ่มบุคคลที่กระทำการดังกล่าวแล้วและกำลังรวบรวมหลักฐานเพื่อดำเนินคดีกับกลุ่มมิจฉาชีพที่แอบอ้างดังกล่าวร่วมกับสำนักงานตำรวจและกรมสืบสวนคดีพิเศษอย่างเต็มที่เพื่อขจัดภัยร้ายออกจากสังคมต่อไป

. . .



นายกรัฐมนตรีเตรียมนำเข้าน้ำมันดีเซลจากรัสเซีย เพราะราคาถูกกว่าในไทยถึงลิตรละ 8 บาท

นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “สนทนาประสาสมัคร” ว่า รัฐบาลกำลังเจรจาซื้อน้ำมันดีเซลจากประเทศรัสเซีย ซึ่งแม้จะมีสเปคต่ำว่าน้ำมันดีเซลในเมืองไทยเล็กน้อย โดยมีคุณภาพเดียวกับน้ำมันดีเซลที่ใช้ในประเทศไทยเมื่อ 5 ปีที่แล้ว แต่มีราคาถูกกว่าถึงลิตรละ 8 บาท (หรือประมาณลิตรละ 36 บาท จากราคาดีเซลปัจจุบันลิตรละ 44.24 บาท )

นายสมัครกล่าวว่า จะสามารถนำเข้าน้ำมันล็อตแรกได้ภายใน 60 วัน โดยจะมีการนำเข้าต่อเนื่อง เดือนละ 300,000 ตัน หรือร้อยละ 25 ของการใช้ในประเทศ ซึ่งผู้ที่จะใช้น้ำมันในส่วนนี้ต้องเป็นสมาชิกของสหกรณ์เท่านั้นซึ่งคาดว่า จะสามารถรองรับการใช้น้ำมันของผู้ประกอบการรถบรรทุกได้ พร้อมทั้งย้ำว่าการนำเข้าน้ำมันดังกล่าวจะไม่กระทบธุรกิจน้ำมันในภาพรวม

นายสมัคร กล่าวยืนยันว่า ตนเองไม่มีส่วนได้ส่วนเสียในการนำเข้าน้ำมันดีเซลในครั้งนี้ เพราะให้บริษัทเอกชนดำเนินการ โดยทำสัญญาแบบปีต่อปี

สำหรับการแก้ปัญหาน้ำมันเบนซินมีราคาแพง รัฐบาลได้แก้ปัญหาโดยการส่งเสริมการใช้ E 85 โดยดูต้นแบบจากบราซิล และจะนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันอังคารที่ 15 กรกฎาคมนี้

สำหรับรถยนต์ที่ใช้ E85 สามารถนำเข้าได้จากอเมริกา และยุโรป ส่วนญี่ปุ่น สามารถนำเข้าได้อีกประมาณ 1 ปีครึ่ง

นายสมัครกล่าวว่า ราคาน้ำมัน E 85 น่าจะอยู่ที่ 27- 28 บาทต่อลิตร โดยมั่นใจว่าจะมีเอทานอลเพียงพอในการผลิต E 85 เพราะมีบริษัทที่จะผลิตเอทานอลยื่นขออนุญาตมาแล้วกว่า 42 บริษัท และขณะนี้สามารถผลิตได้แล้ว 12 บริษัท

รัฐบาลจะเสนอเอทานอลเป็นวาระแห่งชาติ โดยจะสนับสนุนการปลูกอ้อย มันสำปะหลัง เพื่อใช้ในการผลิตเอทานอล ซึ่งขณะนี้เกษตรกรสามารถผลิตได้ 20 - 25 ตันต่อไร่

. . .



ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นจากสาเหตุความวิตกปัญหาอิหร่านทดลองขีปนาวุธนิวเคลียร์

ตลาดคาดราคาน้ำมันอาจแตะ 200-300 ดอลลาร์สหรัฐ หากปัญหาอิหร่านรุนแรง และทำให้สัปดาห์หน้าคนไทยไม่มีโอกาสเห็นราคาน้ำมันลดลง หลังจากราคาน้ำมันสิงคโปร์พุ่งแรงกว่า 6 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล

ปัญหาอิหร่านทดลองขีปนาวุธนิวเคลียร์ ทำให้ราคาน้ำมันดิบพุ่งขึ้นแรงโดยราคาน้ำมันดิบที่สหรัฐ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาขึ้นไปถึง 145.98 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล และปิดที่ 145.19 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปรับขึ้น 6.25 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ปิดที่ 139.05 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับขึ้น 6.55 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ปิดที่145.31 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล และ ดีเซลเพิ่มขึ้น 6.43 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ปิดที่ 176.36 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล

นายเทวินทร์ วงศ์วานิช รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายกลยุทธ์ และพัฒนาองค์กร ปตท. กล่าวว่า ทั่วโลกหวั่นเกรงว่าความตึงเครียดของสถานการณ์อิหร่าน หากรุนแรงขึ้น อาจทำให้การขนส่งน้ำมันจากตะวันออกกลางผ่านช่องแคบเฮอร์มุสลดลง 20-30% จนส่งผลให้ทั่วโลกขาดแคลนน้ำมัน และส่งผลให้ราคาน้ำมันตลาดโลกพุ่งขึ้น โดยอาจจะขึ้นไปสูงกว่า 200-300 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ซ้ำเติมปัญหาที่มีอยู่ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม จากภาวะราคาน้ำมันสูงในขณะนี้ หากไม่มีการเก็งกำไรราคาน้ำมันดิบน่าจะเคลื่อนไหวอยู่ที่ 70-80 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล

สำหรับโครงสร้างการใช้พลังงานของโลกในขณะนี้ ซึ่งมาจากแหล่งพลังงาน 3 ชนิด คือ น้ำมัน, ก๊าซธรรมชาติ, และถ่านหิน โดยในส่วนของน้ำมันพบว่า ความต้องการใช้น้ำมันของโลก เติบโตปีละ 3 % โดยประเทศจีนถือเป็นประเทศที่มีการขยายตัวของความต้องการใช้ในแต่ละปีสูงถึง 7%
ขณะที่ปริมาณน้ำมันสำรองทั่วโลก ปี 2550 อยู่ที่ 1.24 ล้านๆ บาร์เรล โดย 2 ใน 3 อยู่ในภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยปริมาณดังกล่าวจะคงเหลือใช้ได้อีก 41.6 ปี

ส่วนพลังงานจากก๊าซธรรมชาติ ความต้องการยังสูงขึ้นทุกปี โดยปัจจุบันปริมาณการใช้ก๊าซธรรมชาติทั่วโลกสูงขึ้นปีละ 2.3 % หรือเฉลี่ยวันละเกือบ 300,000 ล้านลูกบาศก์ฟุต ในขณะที่ปริมาณการสำรองก๊าซธรรมชาติทั่วโลกอยู่ที่ 6,263 ล้านๆ ลูกบาศก์ฟุต ยังคงเหลือใช้ไปได้อีก 60.3 ปี

. . .



กรมการขนส่งทางบกคุมเข้มรถติดตั้งก๊าซต้องตรวจสภาพ และแจ้งเปลี่ยนชนิดเชื้อเพลิงภายใน 15 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมนี้

กรมการขนส่งทางบก ออกกฎคุมเข้ม รถติดตั้งก๊าซต้องตรวจสภาพ และแจ้งเปลี่ยนชนิดเชื้อเพลิงภายใน 15 วัน มีผลวันที่ 1 ส.ค.51 นี้ เผยตัวเลขจดทะเบียนรถแอลพีจีมีเพียง 2.56 แสนคัน ทั้งที่ตัวเลขจริงสูงกว่า 1 ล้านคัน

นายชัยรัตน์ สงวนชื่อ รักษาการอธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีเจ้าของรถจำนวนมากที่นำรถไปติดตั้งอุปกรณ์เพื่อใช้ก๊าซซีเอ็นจี(หรือเอ็นจีวี) และก๊าซแอลพีจี แทนน้ำมัน โดยไม่ได้มาแจ้งเปลี่ยนชนิดเชื้อเพลิงกับกรมการขนส่งทางบก ทำให้ทางราชการไม่สามารถตรวจสอบความถูกต้อง และควบคุมดูแลความปลอดภัยได้อย่างทั่วถึง

ปัจจุบันความต้องการใช้ก๊าซในรถยนต์มีเพิ่มขึ้นมาก จึงอาจทำให้การติดตั้งก๊าซโดยเฉพาะอย่างยิ่งก๊าซแอลพีจีของศูนย์บริการบางแห่งไม่ได้มาตรฐาน กรมการขนส่งทางบกจึงออกประกาศนายทะเบียนให้เจ้าของรถที่เปลี่ยนมาใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงแทนน้ำมัน ต้องนำรถเข้ารับการตรวจสภาพ และแจ้งเปลี่ยนชนิดเชื้อเพลิงภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ผ่านการตรวจและทดสอบ โดยจะมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2551 นี้เป็นต้นไป

ภายหลังจากประกาศดังกล่าวมีผลบังคับใช้ เจ้าของรถจะต้องนำรถ สมุดคู่มือจดทะเบียนรถ สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน พร้อมเอกสารการติดตั้ง การตรวจและทดสอบจากผู้ตรวจและทดสอบที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบไปตรวจสภาพ และแจ้งเปลี่ยนชนิดเชื้อเพลิงยังสำนักงานขนส่งที่รถจดทะเบียนไว้ภายใน 15 วัน หลังจากวันตรวจและทดสอบ โดยมีค่าดำเนินการ 105 บาท หากฝ่าฝืนจะมีความผิดตาม พ.ร.บ. รถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 36 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท

หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการติดตั้ง การตรวจ และทดสอบอุปกรณ์ หรือต้องการทราบรายชื่อผู้ติดตั้งและผู้ตรวจและทดสอบที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ สามารถสอบถามข้อมูลได้ที่ศูนย์ส่งเสริมสนับสนุนการใช้เอ็นจีวีหมายเลขโทรศัพท์ 0 -2272 -5751 -2 หรือ //www.dlt.go.th หรือ Call Center 1584

นายชัยรัตน์ กล่าวว่า ปัจจุบันสถิติจำนวนรถที่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงทั่วประเทศ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2551 มีจำนวน 309,064 คัน เป็นรถที่ใช้ก๊าซแอลพีจีจำนวน 256,083 คัน และใช้ก๊าซซีเอ็นจี(หรือเอ็นจีวี)จำนวน 52,981 คัน

จากการตรวจสอบข้อมูลจากผู้ติดตั้ง และรายงานการตรวจและทดสอบอุปกรณ์ พบว่ามีปริมาณสูงกว่าจำนวนผู้มาแจ้งเปลี่ยนชนิดเชื้อเพลิง ซึ่งตามกระแสข่าวมีกว่า 1 ล้านคัน

นายเทวินทร์ วงศ์วานิช รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลยุทธ์และพัฒนาองค์กร บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงสถานการณ์การใช้เชื้อเพลิงในประเทศขณะนี้ ว่าท่ามกลางภาวะที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกยังพุ่งทะยานไม่หยุด คนส่วนใหญ่เปลี่ยนใช้พลังงานเชื้อเพลิง จากน้ำมันไปสู่ก๊าซธรรมชาติเป็นจำนวนมาก เช่น แอลพีจี มีมากกว่า 1 ล้านคัน และเอ็นจีวีก็เพิ่มขึ้น

แต่ปริมาณการใช้น้ำมันลดลงไม่มากนัก โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากความไม่พร้อมของพลังงานทางเลือก เช่น เอ็นจีวี ที่ไม่พร้อมในเรื่องของสถานีบริการ รวมทั้งความไม่พร้อมของระบบขนส่งมวลชนในประเทศ โดยหากมีการพัฒนาโครงการรถไฟฟ้า ตามนโยนบายของรัฐบาล ก็จะทำให้ประชาชนยอมลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว หันมาใช้ระบบขนส่งมวลชน

. . .



รมว.คลัง เป็นห่วงเกิดปัญหาเงินเฟ้อควบคู่กับเงินฝืด

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นห่วงเกิดปัญหาเงินเฟ้อควบคู่เงินฝืด ส่งสัญญาณ กนง.คิดรอบคอบก่อนตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า จากปัญหาอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปัญหาราคาน้ำมันแพง และราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น รัฐบาลไม่อยากเห็น ภาระเงินฝืดเกิดขึ้นควบคู่ไปกับภาวะเงินเฟ้อ เพราะจะทำให้มาตรการแก้ปัญหาเศรษฐกิจทำได้ยากยิ่งขึ้น

กรณีที่หลายฝ่ายเป็นห่วงว่าในช่วงครึ่งปีหลังนี้จะมีปัญหาสภาพคล่องการเงินในระบบตึงตัวนั้น หากรัฐบาลสามารถรับมือกับปัญหาเงินเฟ้อได้ เชื่อมั่นว่าสภาพคล่องจะดีขึ้น ธนาคารก็พยายามดูแลปัญหาสภาพคล่อง และมีเครื่องมือทางการเงินสำหรับระดมเงินฝากประเภทต่างๆ มากขึ้น จึงไม่น่ามีปัญหาต่อระบบมากเกินไป

ส่วนกรณีที่ตลาดคาดว่าการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 16 กรกฎาคมนี้ จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า ขณะนี้ก็มีความเห็นหลากหลาย ทั้งต้องการให้ปรับขึ้นดอกเบี้ยแก้ปัญหาอัตราเงินเฟ้อ อีกฝ่ายไม่ต้องการให้ปรับเพิ่มขึ้น ซึ่ง กนง.คงต้องรับฟังความคิดเห็นจากหลายฝ่ายเพื่อนำมาประกอบการตัดสินใจ

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กรณีที่มีความเป็นห่วงว่าในช่วงครึ่งปีหลังจะมีปัญหาสภาพคล่องเงินในระบบ จนนำไปสู่การลดระยะเวลาชำระหนี้การค้าในการซื้อสินค้า เช่น จาก 6 เดือน ลดเหลือ 1-3 เดือน หรืออาจต้องจ่ายเงินสด ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยอยู่ไม่ได้นั้น อาจเป็นเพียงปัญหาระยะสั้น หรือเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมบางรายเท่านั้น แต่คาดว่าคงไม่ถึงกับเป็นปัญหาทั้งระบบจนได้รับผลกระทบมากจนเกินไป เพราะขณะนี้ธนาคารพาณิชย์ได้พัฒนาด้านต่างๆ ทั้งระบบการกู้ การป้องกันความเสี่ยง การระดมเงินฝากประเภทต่างๆ จึงเป็นเรื่องที่ไม่น่าห่วง เพราะขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณในการดูดซับสภาพคล่องจากภาครัฐแต่อย่างใด

สำหรับการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินที่หวั่นเกรงว่าจะชะลอตัวในครึ่งปีหลัง อาจจะลดลงไปบ้างแต่ก็ยังเติบโตมากกว่าปีก่อน เพราะภาคเอกชนยังมีการขยายการลงทุน

. . .



กระทรวงการคลังเดินหน้าโครงการแจกคูปองช่วยค่าครองชีพ


น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงแนวทางการออกคูปองช่วยเหลือประชาชนว่า เป็นการออกคูปองเพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้ด้อยโอกาส และผู้สูงอายุ เบื้องต้นกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างพิจารณาว่า จะจัดสรรให้กับครอบครัวที่มีรายได้ต่ำกว่า 6,000 บาทต่อครัวเรือนๆ ละ 1 คูปอง เพื่อนำไปใช้บริการซื้อสินค้าที่จำเป็น เช่น สบู่ น้ำปลา อาหารที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน จากร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการกับรัฐบาล รวมไปถึงค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เพื่อเป็นการช่วยเยียวยาให้บรรเทาจากค่าครองชีพสูง จากปัญหาอัตราเงินเฟ้อ ราคาสินค้าแพง
ส่วนประชาชนที่รายได้สูงกว่า และไม่ได้รับการช่วยเหลือคงไม่ต้องน้อยใจ เพราะกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจหนักมากที่สุดจนไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้

กระทรวงการคลัง ยืนยันว่า โครงการการช่วยเหลือนี้ จะเป็นโครงการระยะสั้น เพราะไม่อยากให้เป็นภาระต่องบประมาณมากนัก สำหรับจำนวนผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือ ขณะนี้ได้รับข้อมูลจาก ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสิน เพื่อนำมาพิจารณาให้ความช่วยเหลือแล้ว

ส่วนกรณีที่ฝ่ายค้านระบุว่า เป็นการดำเนินการหวังผลคะแนนทางการเมืองนั้น แม้จะถูกมองไปในทางดังกล่าว ก็ต้องดำเนินการ เพราะการช่วยเหลือคนจนที่ได้รับผลกระทบหนักให้ผ่านพ้นในช่วงนี้ไปได้ ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาล ก็มีมาตรการในลักษณะดังกล่าวเหมือนกันหมด เพราะเมื่อประคองชีวิตผ่านพ้นช่วงนี้ไปได้ ก็จะหารายได้เสริม หรือมีอาชีพฟื้นตัวได้ในอนาคต

อนึ่ง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้กำหนดหลักเกณฑ์ และจำนวนคนยากจน สำหรับโครงการแจกคูปองคนจนเพื่อช่วยเหลือภาวะค่าครองชีพ โดยจะมีคนยากจนรวม 4 ล้านครัวเรือนที่เข้าข่ายได้รับความช่วยเหลือ โดยพิจารณาจากครอบครัวที่มีรายได้ต่อปีต่ำกว่า 6,000 บาท โดยครอบครัวที่อยู่ในต่างจังหวัดจะได้รับการช่วยเหลือเดือนละ 400 กว่าบาท ขณะที่ครอบครัวในกรุงเทพฯ จะได้รับความช่วยเหลือเดือนละ 300 กว่าบาท


. . .



Create Date : 13 กรกฎาคม 2551
Last Update : 13 กรกฎาคม 2551 18:52:46 น. 3 comments
Counter : 674 Pageviews.

 
. . .

คาด กนง. ปรับขึ้นดอกเบี้ยร้อยละ 0.25
แต่เงินเฟ้ออาจจะยังคงไม่ลดลงในเวลาอันใกล้


ในวันที่ 16 กรกฎาคม 2551 คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (กนง.) จะมีการประชุมรอบที่ห้าของปีนี้เพื่อตัดสินใจนโยบายการเงินหรือทิศทางอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน ที่ขณะนี้อยู่ที่ร้อยละ 3.25 โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีความคิดเห็นต่อการประชุม กนง.ในรอบนี้ สรุปได้ดังนี้:-

 ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทย (Headline CPI Inflation) อาจจะยืนเหนือระดับร้อยละ 9.0 ในเดือนกรกฎาคม และขึ้นไปแตะระดับร้อยละ 10.0 ในเดือนสิงหาคม ก่อนที่จะยืนระดับเหนือร้อยละ 9.00 ไปจนถึงเดือนตุลาคม 2551 ตามราคาน้ำมันตลาดโลกที่ยังมีระดับสูงต่อเนื่อง และสินค้าในประเทศอีกหลายรายการที่มีแนวโน้มจะขยับราคาขึ้น รวมทั้งผลของฐานการเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

ในทิศทางที่สอดคล้องกัน อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI Inflation) ซึ่งไม่รวมหมวดอาหารสดและพลังงาน อาจปรับตัวเข้าหาระดับร้อยละ 4.5-5.0 ในช่วงปลายปีนี้ หลังจากที่ล่าสุดในเดือนมิถุนายน อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานได้พุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบเกือบ 10 ปีที่ร้อยละ 8.9 และร้อยละ 3.6 ตามลำดับ อีกทั้งยังเป็นครั้งแรกที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานสูงเกินกรอบบนตามเป้าหมายเงินเฟ้อ (Inflation Targeting) ของ กนง.ในช่วงร้อยละ 0-3.5 ที่เริ่มใช้มาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2543 ด้วย

นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อที่วัดจากดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ในเดือนมิถุนายนยังมีระดับสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของดัชนีราคาผู้บริโภคเป็นเดือนที่ 10 ติดต่อกันแล้ว ซึ่งบ่งชี้ว่าแรงกดดันเงินเฟ้ออาจยังมีแนวโน้มจะถูกส่งผ่านจากผู้ผลิตมายังผู้บริโภคได้อีกในระยะถัดไป

 ความคิดเห็นที่แตกเป็นสองฝ่าย

ท่ามกลางสถานการณ์แวดล้อมในปัจจุบันที่ภาวะเศรษฐกิจกำลังเผชิญกับความเสี่ยงหลายประการ ทำให้เศรษฐกิจไทยอาจมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลงในระยะที่เหลือของปี หลังจากที่เติบโตร้อยละ 6.0 ในไตรมาสแรกของปีนี้

ทัศนะของนักวิเคราะห์ที่มีต่อการดำเนินนโยบายการเงินในการประชุม กนง.รอบวันที่ 16 กรกฎาคมนี้ จึงแตกออกเป็นสองฝ่าย ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างก็มีเหตุผลสนับสนุน

โดยฝ่ายแรกที่สนับสนุนให้ กนง.ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย มีข้อสนับสนุนคือ กนง.ควรให้ความสำคัญกับความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อที่มีน้ำหนักเพิ่มขึ้น เพื่อรักษาความน่าเชื่อถือและเป็นการดำเนินนโยบายการเงินตามกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ รวมทั้งเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว

ในขณะที่ อีกฝ่ายหนึ่งที่สนับสนุนให้ กนง.คงอัตราดอกเบี้ยไว้นั้น ก็มีข้อสนับสนุนที่เห็นว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาจจะยิ่งซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจซึ่งกำลังมีแนวโน้มชะลอตัวให้แย่ลงไปอีก และการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาจจะไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาเงินเฟ้อที่เป็นผลมาจากการทะยานขึ้นของราคาน้ำมันตลาดโลกเป็นสำคัญ

ทั้งนี้ อาจจะกล่าวได้ว่า ฝ่ายที่สนับสนุนการคงอัตราดอกเบี้ยนั้น มองประเด็นปัญหาในทางปฏิบัติเฉพาะหน้าในด้านต้นทุนราคาสินค้าเป็นสำคัญ ในขณะที่ ฝ่ายที่สนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย มองผลกระทบเชิงพลวัตรต่อความเชื่อมั่น และเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในกรอบเวลาที่ยาวนานกว่า

 กนง.เผชิญความท้าทายครั้งสำคัญ ...

ประเด็นหลักคือเรื่องความเชื่อมั่น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. คงจะไม่ทำให้ระดับราคาสินค้าในประเทศถูกลง แต่ กนง.คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องตัดสินใจดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยที่เข้มงวดมากขึ้น

ทั้งนี้เพื่อที่จะสร้างความมั่นใจให้กับตลาดการเงินว่า กนง.ยังคงมีจุดยืนที่จะดูแลรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันก็เป็นการสกัดกั้นไม่ให้ระดับราคาสินค้าถีบตัวสูงขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะหากประชาชนขาดความมั่นใจในการดำเนินนโยบายการเงินของทางการหรือการถือครองเงินไว้กับตัวแล้ว ก็จะยิ่งส่งผลซ้ำเติมภาวะเงินเฟ้อให้รุนแรงขึ้นไปอีก

กระนั้นก็ดี หาก กนง.เลือกที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมวันที่ 16 กรกฎาคมนี้ ไม่ว่าจะด้วยขนาดร้อยละ 0.25 หรือมากกว่านั้น ต้องยอมรับว่า แรงกดดันเงินเฟ้อคงจะไม่ปรับลดลงมาโดยทันทีหลังจากที่ กนง.ดำเนินการดังกล่าว เนื่องจากกว่าที่ผลของการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยที่เข้มงวดจะปรากฏ คงจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง

ดังนั้นแล้ว การตัดสินใจนโยบายอัตราดอกเบี้ยของ กนง.ในการประชุมรอบนี้ คงจะเผชิญกับความท้าทายอย่างมาก เพราะ กนง.อาจจะต้องดำเนินการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทั้งๆ ที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอาจจะไม่ปรับตัวลงมาจนกว่าจะผ่านพ้นปลายปีนี้ไปแล้ว

แต่ในทางตรงกันข้าม การไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย อาจจะส่งผลกระทบต่อความมั่นใจที่ตลาดการเงินมีต่อการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย และอาจมีผลในวงกว้างไม่เฉพาะต่ออัตราเงินเฟ้อที่อาจเร่งตัวขึ้นไปอีกเท่านั้น แต่อาจรวมถึงค่าเงินบาทที่อาจจะตกอยู่ภายใต้แรงกดดันด้วยจากการขาดความเชื่อมั่นดังกล่าว

โดยสรุปแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ (Inflation Targeting) คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (กนง.) คงมีทางเลือกที่จำกัด โดยเฉพาะในภาวะที่เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นอย่างในปัจจุบัน

โดยคาดว่า กนง.คงจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 จากร้อยละ 3.25 มาที่ร้อยละ 3.50 ในการประชุมรอบที่ห้าของปีในวันที่ 16 กรกฎาคม 2551 นี้

ซึ่งเหตุผลสนับสนุนการตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว น่าจะเป็นเรื่องของการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ตลาดเงินตลาดทุนว่า ทางการยังคงดำเนินนโยบายการเงินที่ดูแลเสถียรภาพของระดับราคาอยู่อย่างใกล้ชิด

อย่างไรก็ตาม กนง.คงจะต้องสื่อความให้แก่ตลาดการเงินและสาธารณชนเข้าใจว่า การดำเนินนโยบายการเงินดังกล่าว อาจต้องใช้เวลาระยะหนึ่งกว่าที่จะเห็นผล ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า ในท้ายที่สุดแล้ว การดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมและระมัดระวัง น่าที่จะค่อยๆ นำพาให้เศรษฐกิจไทยกลับสู่ภาวะที่มีเสถียรภาพได้ในระยะถัดๆ ไป

. . .




โดย: loykratong วันที่: 13 กรกฎาคม 2551 เวลา:19:02:19 น.  

 


วันพักผ่อนสบายๆ ผ่านไปเร็วจังค่ะ

พรุ่งนี้วันสีเเหลืองอีกแล้ว ...

บาทจะอ่อนค่าลงอีกมั้ยเนี่ย น่าจะๆ

ปัญหา 108 1000 ประการที่เกิดมาจากกิเลสตัวเดียวจริงๆ เลย









โดย: ทิวาจรดราตรี วันที่: 13 กรกฎาคม 2551 เวลา:21:32:51 น.  

 


วันพักผ่อนสบายๆ ผ่านไปเร็วจังค่ะ

พรุ่งนี้วันสีเเหลืองอีกแล้ว ...

บาทจะอ่อนค่าลงอีกมั้ยเนี่ย น่าจะๆ

ปัญหา 108 1000 ประการที่เกิดมาจากกิเลสตัวเดียวจริงๆ เลย









โดย: ทิวาจรดราตรี วันที่: 13 กรกฎาคม 2551 เวลา:21:32:51 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

loykratong
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]






ไม่มีอะไรขึ้นตลอด
ไม่มีอะไรลงตลอด
...ไม่มี the end of the world ...

Web Site Hit Counters

ราคาทองคำ
 

ราคาทองคำต่างประเทศ



Friends' blogs
[Add loykratong's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.