Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2552
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
11 กรกฏาคม 2552
 
All Blogs
 
... แนวโน้มธุรกิจครึ่งปีหลัง 2552 ... โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

...


แนวโน้มธุรกิจครึ่งปีหลัง ... ปัจจัยบวกเพิ่มขึ้น แต่ความไม่แน่นอนยังคงมีสูง

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย


ในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 ธุรกิจส่วนใหญ่ประสบกับภาวะชะลอตัว บางธุรกิจมีทิศทางถดถอยตามภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างหนักส่วนใหญ่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมที่พึ่งพาตลาดส่งออกในสัดส่วนที่สูง เช่น อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อัญมณีและเครื่องประดับ ยานยนต์และชิ้นส่วน สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม พลาสติกและเคมีภัณฑ์ ขณะที่กลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น เหล็ก ข้าว ยางพารา ก็ได้รับผลกระทบทั้งจากอุปสงค์ที่หดตัวและราคาที่ตกต่ำลงอย่างมาก ส่วนสินค้าที่ขึ้นอยู่กับกิจกรรมด้านการลงทุน เช่น วัสดุก่อสร้าง เครื่องจักรและอุปกรณ์ ต่างหดตัวลงตามภาวะการลงทุนของประเทศ สำหรับในภาคบริการ หลายธุรกิจประสบปัญหา โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรมและสายการบิน ที่เผชิญมรสุมหลายด้านทั้งวิกฤตเศรษฐกิจโลกถดถอย ปัญหาความไม่สงบทางการเมืองภายในประเทศ และการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 และจากปัญหาเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบรุนแรงในวงกว้างนี้ ได้ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปสู่ธุรกิจที่พึ่งพาตลาดผู้บริโภคในประเทศ อย่างเช่น ตลาดรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ตลอดจนธุรกิจค้าปลีกด้วยเช่นกัน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์สถานการณ์ของธุรกิจไทย และแนวโน้มในช่วงครึ่งปีหลัง โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้

จุดเริ่มของการฟื้นตัว … ภาพที่แตกต่างในแต่ละธุรกิจ
แม้ว่าภาพรวมของเศรษฐกิจไทยมีสัญญาณผ่านพ้นช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุดไปแล้วในไตรมาสที่ 1/2552 ที่จีดีพีของประเทศหดตัวลงถึงร้อยละ 7.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นความถดถอย (รายไตรมาส) ที่รุนแรงที่สุดในรอบ 10 ปี ขณะที่เครื่องชี้เศรษฐกิจโดยรวมแล้วบ่งชี้การปรับตัวดีขึ้นมาบ้างเล็กน้อย แม้จะยังเป็นภาวะที่เศรษฐกิจหดตัว แต่ก็มีอัตราลบที่ชะลอลง อย่างไรก็ตาม ภาพของแต่ละธุรกิจนั้นมีความแตกต่างกันไป บางธุรกิจเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว แต่บางธุรกิจก็ยังคงเผชิญปัญหาที่หนักหน่วง โดยภาพที่ปรากฏในปัจจุบัน มีทิศทางที่สำคัญ ได้แก่

 การกลับมาสะสมสินค้าคงคลัง (Restocking) ของผู้ผลิตในต่างประเทศ อุตสาหกรรมส่งออกบางประเภท เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า มีทิศทางดีขึ้นโดยหดตัวในอัตราที่ชะลอลงในไตรมาสที่ 2/2552 เนื่องจากมีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเข้ามามากขึ้น เพื่อปรับระดับสต็อกสินค้า หลังจากธุรกิจตัดลดการผลิตและลดการสต็อกสินค้าอย่างรุนแรงในช่วงไตรมาสแรก
 อานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน อุตสาหกรรมบางประเภท เช่น ผลิตภัณฑ์ยาง ได้รับประโยชน์จากผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 4 ล้านล้านหยวน (585 พันล้านดอลลาร์ฯ) ของรัฐบาลจีน ซึ่งนอกจากมีโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ แล้ว ยังมีมาตรการกระตุ้นการซื้อสินค้าคงทน เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าและรถยนต์ ทั้งนี้ แม้ว่าทางการจีนจะประกาศใช้มาตรการ Buy Chinese ที่ให้โครงการภายใต้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลใช้สินค้าภายในประเทศมาเป็นอันดับแรก แต่ก็ยังมีสินค้าหลายชนิดที่จีนผลิตได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทำให้ยังมีความต้องการสินค้าและวัตถุดิบจากประเทศไทยอยู่
 ผลบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลไทย การใช้จ่ายของรัฐภายใต้งบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 116.7 แสนล้านบาท ที่เข้ามาในรูปการลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ประชาชน (เช่น 5 มาตรการ 6 เดือน และโครงการเรียนฟรี 15 ปี) รวมทั้งการเพิ่มรายได้ให้แก่ประชาชนที่มีรายได้น้อย (เช่น การแจกเช็คช่วยชาติ 2,000 บาท โครงการหลักประกันรายได้ผู้สูงอายุ และการส่งเสริมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) ซึ่งเงินในกระเป๋าของประชาชน (รายได้สุทธิ) ที่เพิ่มขึ้นนี้ น่าจะช่วยให้มีเม็ดเงินส่วนหนึ่งไหลเวียนเข้าสู่ภาคธุรกิจผ่านการใช้จ่ายของผู้บริโภค ซึ่งธุรกิจที่คาดว่าจะได้ประโยชน์ ได้แก่ ธุรกิจค้าปลีก ร้านอาหาร ธุรกิจขายตรง สินค้าอุปโภคบริโภค เป็นต้น
 ไข้หวัดใหญ่ฯ ... ปัจจัยซ้ำเติมภาคบริการ โดยการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ฯ ภายในประเทศที่ลุกลามกว่าที่คาดได้สร้างแรงกดดันเพิ่มมากขึ้นให้แก่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ซึ่งไม่เพียงแต่ชาวต่างชาติเท่านั้น แต่คนไทยเองก็อาจชะลอการเดินทางท่องเที่ยวในระยะที่การแพร่ระบาดยังคงกระจายไปอย่างรวดเร็ว นอกจากธุรกิจท่องเที่ยวแล้ว ธุรกิจบริการหลายประเภทก็มีโอกาสถูกกระทบ เช่น ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ โรงภาพยนตร์ สถานบันเทิง รวมทั้งธุรกิจด้านสันทนาการและกิจกรรมอีเวนต์ต่างๆ ที่ต้องอยู่ในสถานที่ปิดและมีผู้คนจำนวนมาก อาจมีผู้มาใช้บริการน้อยลงกว่าปกติ ซึ่งผลส่วนใหญ่น่าจะมีการรับรู้ในช่วงไตรมาสที่ 3/2552 ซึ่งเป็นช่วงที่การแพร่ระบาดภายในประเทศมีความรุนแรงขึ้น อย่างไรก็ตาม ในสภาวะที่อาการของโรคโดยทั่วไปยังมีระดับความอันตรายไม่มากนี้ ผลกระทบต่อธุรกิจอาจยังไม่ถึงขั้นรุนแรงมากนัก


ตัวแปรหลักช่วงครึ่งปีหลัง ... การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก การเมือง และไข้หวัดใหญ่ฯ
แนวโน้มธุรกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 น่าจะมีปัจจัยบวกเพิ่มขึ้นกว่าในช่วงครึ่งแรก โดยความหวังที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนการฟื้นตัวของธุรกิจในช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่าจะมาจากการฟื้นตัวของภาคส่งออก และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ซึ่งเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักของไทยน่าจะค่อยๆ ฟื้นตัวดีขึ้น ขณะที่รัฐบาลน่าจะสามารถเริ่มเดินหน้าลงทุนภายใต้โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 ธุรกิจที่มีโอกาสฟื้นตัว ประกอบด้วย
 สินค้าเกษตรและอาหาร น่าจะกระเตื้องขึ้นในครึ่งปีหลัง จากอุปสงค์ในตลาดต่างประเทศที่น่าจะมีทิศทางดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ราคากลับมาดีขึ้นกว่าในช่วงครึ่งแรก ขณะที่ราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มสูงขึ้นน่าจะส่งผลดีต่อราคายางพาราและพืชพลังงาน
 สินค้าโภคภัณฑ์น่าจะมีราคาดีขึ้น ตามความต้องการในตลาดโลก การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ภายใต้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในประเทศต่างๆ เช่น จีน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ตะวันออกกลาง อาจทำให้ความต้องการสินค้าโลหะ เช่น เหล็ก ทองแดง อลูมิเนียม ที่เป็นวัตถุดิบที่ใช้ในงานก่อสร้างและวางระบบสาธารณูปโภค เพิ่มขึ้น
 ตลาดส่งออกสินค้าผู้บริโภคมีโอกาสฟื้นตัว แต่พฤติกรรมการใช้จ่ายยังระมัดระวัง การฟื้นตัวของเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักน่าจะส่งผลให้ผู้บริโภคมีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ทำให้สินค้าสำหรับผู้บริโภคน่าจะฟื้นตัวได้ก่อน โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าจำเป็น อย่างไรก็ตาม การแข่งขันด้านราคาน่าจะมีความรุนแรง ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายต่อผู้ประกอบการไทยในภาวะที่ต้นทุนการผลิตของไทยอาจสูงกว่าบางประเทศ ขณะที่รัฐบาลของบางประเทศอาจใช้นโยบายด้านภาษีหรืออัตราแลกเปลี่ยนช่วยเหลือผู้ส่งออกของประเทศตน สำหรับสินค้าทุนอาจมีโอกาสฟื้นตัวล่าช้า เนื่องจากธุรกิจยังมีกำลังการผลิตส่วนเกินเหลืออยู่มาก ขณะที่โครงการลงทุนภายใต้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในประเทศต่างๆ ส่วนใหญ่มักมุ่งเน้นการซื้อสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ การส่งออกสินค้าประเภททุนไปสู่โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยตรงจึงมีโอกาสไม่มากนัก แต่ผู้ประกอบการที่ผลิตชิ้นส่วนและวัตถุดิบอาจมีโอกาสป้อนสินค้าให้แก่ผู้ผลิตในประเทศเหล่านั้น
 ธุรกิจก่อสร้างและวัสดุก่อสร้างภายในประเทศน่าจะมีแนวโน้มดีขึ้น ถ้ารัฐบาลเริ่มเดินหน้าโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ ถนนไร้ฝุ่น โรงเรียน สถานีอนามัยและโรงพยาบาลในท้องถิ่น ซึ่งจะทำให้ผู้รับเหมารายย่อยและร้านวัสดุก่อสร้างที่กระจายในจังหวัดต่างๆ มียอดขายกระเตื้องขึ้น ขณะที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์อาจมีปัจจัยกระตุ้นจากมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งอาจจะส่งผลให้มีการเร่งซื้อและโอนกรรมสิทธิ์ให้ทันก่อนสิ้นปี ส่วนยอดขายสินค้าคงทนอื่นๆ เช่น รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์ไอที อาจมีโอกาสทำยอดขายได้เพิ่มขึ้นกว่าในช่วงครึ่งแรก
 ธุรกิจด้านสุขภาพและการรักษาพยาบาลน่าจะขยายตัวดีขึ้น แม้การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ฯ มีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบในทางลบต่อเศรษฐกิจโดยรวม แต่จำนวนผู้มีอาการป่วยที่เพิ่มจำนวนขึ้นน่าจะส่งผลบวกต่อธุรกิจโรงพยาบาลและบริการทางการแพทย์ ที่มีผู้มารับการตรวจรักษาเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน สินค้าที่เกี่ยวกับกับการป้องกันและรักษาโรค เช่น เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ชุดตรวจสอบการติดเชื้อ หน้ากากอนามัย น้ำยาฆ่าเชื้อโรค ผลิตภัณฑ์ดูแลรักษาความสะอาด และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ มีแนวโน้มยอดขายสูงขึ้นจากกระแสการเอาใจใส่ต่อสุขภาพอนามัย ขณะเดียวกัน การหลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในที่ชุมชนอาจส่งผลให้คนใช้เวลาอยู่กับบ้านมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นโอกาสสำหรับสินค้าและบริการบางประเภท เช่น บริการส่งอาหารตามบ้าน (Home Delivery) ผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมรับประทาน โฮมเอ็นเตอร์เทนเมนต์ ธุรกิจอินเทอร์เน็ต หรือ e-Commerce เป็นต้น

ท่ามกลางโอกาสที่อาจจะมีมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง แต่ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกยังอยู่ท่ามกลางความไม่แน่นอนหลายด้าน โดยตัวแปรสำคัญที่อาจกลายมาเป็นความเสี่ยงทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังมี 3 ประการหลัก คือ ประการแรก ความต่อเนื่องของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศชั้นนำยังคงอยู่ภายใต้ปัจจัยเสี่ยงด้านการว่างงาน และความแข็งแรงของสถาบันการเงิน ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญที่สนับสนุนให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างมั่นคงได้หากรัฐบาลของประเทศต่างๆ ค่อยๆ ถอนตัวออกจากบทบาทการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีการอัดฉีดเม็ดเงินลงไปเป็นมูลค่ามหาศาล ประการที่สอง ตัวแปรสำคัญภายในประเทศยังคงเป็นประเด็นทางการเมือง เสถียรภาพของรัฐบาลจะมีผลอย่างมากต่อการสร้างความเชื่อมั่นที่มีต่อประเทศไทยในสายตาของชาวต่างชาติ อีกทั้งยังมีผลต่อการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจให้มีความคืบหน้า ซึ่งประเด็นท้าทายสำหรับรัฐบาลคือการดูแลสถานการณ์ความขัดแย้งของขั้วการเมืองไม่ให้กลายเป็นเงื่อนไขที่จะนำไปสู่เหตุการณ์ความรุนแรงดังเช่นในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังอยู่ที่การประคับประคองเอกภาพของพรรคร่วมรัฐบาล รวมทั้งการรักษาฐานสนับสนุนจากประชาชน และประการสุดท้าย คือ ความเสี่ยงของการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ฯ ในระดับที่รุนแรงขึ้น ซึ่งหากมีการพัฒนาการของเชื้อจนมีระดับอาการที่เป็นอันตรายมากขึ้นกว่าปัจจุบันก็อาจก่อผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ซึ่งจะกลายเป็นปัจจัยฉุดรั้งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในระดับโลกได้ ขณะเดียวกัน หากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคนี้ยืดเยื้อยาวนานไปจนถึงปลายปี ก็จะกระทบช่วงไฮซีซันของการท่องเที่ยวในประเทศไทย ซึ่งจะทำให้ภาคการท่องเที่ยวและการบริการทรุดตัวลงมากกว่าที่คาด

ธุรกิจเอสเอ็มอี ... แม้ยังเผชิญความเสี่ยง แต่มีโอกาสปรับตัวดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ
สำหรับธุรกิจเอสเอ็มอี มีแนวโน้มที่จะหดตัวในทิศทางเดียวกับเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกในช่วงที่ผ่านมา ต่อธุรกิจเอสเอ็มอีอาจมีความรุนแรงน้อยกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ เนื่องจากภาคเศรษฐกิจที่ถดถอยรุนแรงส่วนใหญ่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นการส่งออก ขณะที่ธุรกิจเอสเอ็มอีโดยส่วนใหญ่แล้วอยู่ในภาคการบริการ และมีการพึ่งพาการส่งออกไม่สูงนัก ซึ่งถ้าพิจารณาจากตัวเลขจีดีพีในไตรมาสที่ 1/2552 จะเห็นได้ว่าภาคบริการหดตัวน้อยกว่าภาคอุตสาหกรรมที่ติดลบถึงร้อยละ 14.9 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยภาคโรงแรมและภัตตาคาร หดตัวร้อยละ 5.0 ส่วนภาคการค้าและซ่อมแซมสิ่งของ หดตัวร้อยละ 4.0 อย่างไรก็ตาม เนื่องจากธุรกิจเอสเอ็มอีมีความทานทนต่อแรงกดดันทางธุรกิจน้อยกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ จึงอาจเป็นสาเหตุให้ธุรกิจเอสเอ็มอีจำนวนไม่น้อยที่ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องและอยู่ในสภาวะยากลำบาก

ในช่วงครึ่งปีหลัง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าธุรกิจเอสเอ็มอีน่าจะได้รับปัจจัยหนุนเช่นเดียวกับธุรกิจโดยรวม โดยธุรกิจที่ขยายตัวได้ในช่วงที่ผ่านมา และน่าจะมีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์ดี เช่น อาหาร เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์น้ำตาล เคมีภัณฑ์ เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ดูแลผิวพรรณ สิ่งพิมพ์ บริการซ่อมแซมรถยนต์และอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ และธุรกิจด้านสื่อสารโทรคมนาคม เป็นต้น ธุรกิจมีปัญหาในช่วงที่ผ่านมา แต่อาจมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น เช่น วัสดุก่อสร้าง ผลิตภัณฑ์เหล็ก ร้านค้าวัสดุก่อสร้าง ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนยานยนต์ และธุรกิจขนส่ง ขณะที่ธุรกิจส่งออกที่น่าจะมีทิศทางดีขึ้นแต่อาจเผชิญการแข่งขันรุนแรง เช่น สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อัญมณีและเครื่องประดับ เฟอร์นิเจอร์ หนังและผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง ผลิตภัณฑ์พลาสติก สำหรับธุรกิจที่ยังมีความเสี่ยงค่อนข้างมาก ได้แก่ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและโรงแรม เป็นต้น ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของเอสเอ็มอีอาจอยู่ที่ความรุนแรงของการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ฯ ซึ่งธุรกิจที่อาจถูกกระทบมากคาดว่าจะอยู่ในภาคบริการ ซึ่งจะสร้างความเสี่ยงให้แก่ธุรกิจเอสเอ็มอีในกลุ่มนี้ด้วยเช่นกัน

โดยสรุป แม้จะมีการมองว่าเศรษฐกิจไทยได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดของวิกฤตเศรษฐกิจถดถอยที่รุนแรงที่สุดในรอบ 10 ปี ไปแล้วในไตรมาสแรก (ที่จีดีพีหดตัวลงถึงร้อยละ 7.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน) สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจโดยรวมที่ปรับตัวดีขึ้น โดยมีการหดตัวในอัตราที่ชะลอลง อย่างไรก็ตาม จุดเริ่มของการฟื้นตัวของแต่ละธุรกิจนั้นอาจมีความแตกต่างกันไป บางธุรกิจเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว แต่บางธุรกิจก็ยังคงเผชิญปัญหาที่หนักหน่วง

ปัจจัยที่สนับสนุนให้ธุรกิจบางสาขาเริ่มปรับตัวดีขึ้นในไตรมาสที่ 2/2552 ที่สำคัญเป็นผลมาจากการกลับมาสะสมสินค้าคงคลัง (Restocking) ของผู้ผลิตในต่างประเทศ อานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน และผลบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลไทย ซึ่งธุรกิจที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่ามีทิศทางดีขึ้นในไตรมาสที่ 2/2552 อาทิ อุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ยาง ธุรกิจค้าปลีก เป็นต้น ส่วนธุรกิจที่คาดว่ายังคงประสบปัญหาค่อนข้างหนัก ได้แก่ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว สายการบิน และธุรกิจขนส่ง ซึ่งการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ภายในประเทศที่ลุกลามกว่าที่คาดได้สร้างแรงกดดันให้แก่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว รวมถึงธุรกิจบริการหลายประเภท เช่น ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ ธุรกิจด้านบันเทิงและสันทนาการ

สำหรับแนวโน้มในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 ภาพรวมของปัจจัยทั้งภายนอกและภายในประเทศ น่าจะมีทิศทางเป็นบวกเพิ่มขึ้นกว่าในช่วงครึ่งแรก โดยความหวังที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนการฟื้นตัวของธุรกิจในช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่าจะมาจากการฟื้นตัวของภาคส่งออก ตามทิศทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักของไทย นอกจากนี้ ยังคาดหวังผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ที่น่าจะมีโครงการลงทุนขนาดเล็กภายใต้แผนกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 เริ่มดำเนินการได้บ้าง หลังรัฐบาลสามารถจัดหาแหล่งเงินทุนโดยการออกพันธบัตรภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 วงเงิน 400,000 ล้านบาท ที่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว ธุรกิจที่มีโอกาสฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่าจะประกอบด้วย สินค้าเกษตรและอาหาร สินค้าโภคภัณฑ์ประเภทโลหะพื้นฐาน ตลาดส่งออกสินค้าผู้บริโภค ธุรกิจก่อสร้างและวัสดุก่อสร้าง สินค้าและบริการด้านสุขภาพและการรักษาพยาบาล ธุรกิจ Home Delivery ธุรกิจ e-Commerce เป็นต้น ในด้านผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอี ก็น่าจะมีปัจจัยบวกมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ตามแนวโน้มเศรษฐกิจและการลงทุนของภาครัฐ ขณะที่ความพยายามของทางการในการเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการผ่านสถาบันการเงินของรัฐ และการปล่อยกู้ในอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนก็น่าจะช่วยบรรเทาปัญหาของผู้ประกอบการได้ในระดับหนึ่ง

สำหรับปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังมี 3 ประการหลัก คือ ความต่อเนื่องของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ประเด็นทางการเมืองในประเทศ ซึ่งจะมีผลต่อความเชื่อมั่นของชาวต่างชาติ อีกทั้งยังมีผลต่อการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจให้มีความคืบหน้า และสุดท้ายคือ ความกังวลต่อการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ฯ ในระดับที่รุนแรงขึ้น 
------------------------------------------



...


Create Date : 11 กรกฎาคม 2552
Last Update : 11 กรกฎาคม 2552 2:38:14 น. 2 comments
Counter : 767 Pageviews.

 
วันนี้ท่านพี่อั่พบลอค

อิอิอิ



โดย: be-oct4 วันที่: 11 กรกฎาคม 2552 เวลา:20:37:14 น.  

 
ค่าห้องพัก


โดย: ok na IP: 125.24.125.177 วันที่: 25 ธันวาคม 2552 เวลา:2:17:59 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

loykratong
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]






ไม่มีอะไรขึ้นตลอด
ไม่มีอะไรลงตลอด
...ไม่มี the end of the world ...

Web Site Hit Counters

ราคาทองคำ
 

ราคาทองคำต่างประเทศ



Friends' blogs
[Add loykratong's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.