Group Blog
 
All blogs
 

เที่ยวไป ทำบุญไป ไกลถึงปราสาทพระวิหาร (ตอน 1)

ปลายปี 50 ฉันไปทำบุญทอดกฐินถึงวัดมหาวนาราม (หรือวัดป่าใหญ่) จ. อุบล โดยมี Hilight แรงจูงใจของ Trip ที่พาไปเยี่ยมเยือนปราสาทพระวิหาร ซึ่งเป็นการไปชมเป็นครั้งที่ 3 ของฉัน แต่ไปครั้งใดก็ยังตื่นตาตื่นใจกับความยิ่งใหญ่ในอดีตอยู่ดี แม้บางมุมจะมีซากปรักหักพังอยู่บ้างก็ตาม (มีอีกแห่งที่ฉันอยากไปคือนครวัด นครธม ที่เขาบอกว่า “See Angkor Wat and die” ประโยคอมตะของนักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษที่ทำให้นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกต้องการไปเห็นนครวัดด้วยตาตนเอง)

ณ วันนี้ปราสาทพระวิหารกลายเป็นสถานที่ที่มีความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศอีกครั้ง นับจาก 46 ปีที่ผ่านมาที่ศาลโลกตัดสินให้ปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา



ณ วันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 องค์การยูเนสโกประกาศขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารให้เป็นมรดกโลกของกัมพูชา (เฉพาะแต่เพียงตัวปราสาท)

ปราสาทพระวิหารเคยเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนไทย เดิมอยู่ในเขตการปกครองของบ้านภูมิซรอล ต.เสาธงชัย อ.กันทรลักษณ์ จ.ศรีสะเกษ สมเด็จเจ้านโรดมสีหนุ ได้ยื่นฟ้องต่อศาลโลกเพื่อเรียกร้องปราสาทพระวิหาร เป็นคดีเรื้อรังระหว่างประเทศไทยและกัมพูชามานานหลายปี ศาลโลกตัดสินให้อธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชาด้วยคะแนน 9 ต่อ 3 เสียง เมื่อ 15 มิ.ย. 2505 นับเป็นการเสียดินแดนครั้งสุดท้ายของประเทศไทย โดยบริเวณดังกล่าวมีเนื้อที่ประมาณ 150 ไร่

คำตัดสินของศาลโลกในครั้งนั้น พิจารณาจากหลักฐานเส้นแสดงเขตแนวบนแผนที่อินโดจีนของฝรั่งเศส ที่พวกฝรั่งเศสได้ขีดเส้นพรมแดนตีวงครอบคลุมปราสาทพระวิหารเอาไว้ตั้งแต่ปี 2447 แล้ว ซึ่งทางราชสำนักสยามไม่เคยทำเรื่องทักท้วงไปก่อนหน้าเลย

ตอนนี้อยู่ต่างประเทศนะเนี่ย แม้ว่าจะขึ้นปราสาทพระวิหารทางฝั่งไทย ที่ จ. ศรีสะเกษ ฉันชอบเก็บ SMS ในโทรศัพท์มือถือเวลาไปต่างประเทศไว้ ช่วงที่เดิน ๆ อยู่เขาพระวิหาร มี SMS มาถึงใจความว่า “DTAC wishes you a pleasant stay in Cambodia. Today Exchange rate THB:KHR = 1:117.65”



ระยะทางเดินขึ้นเขาพระวิหารประมาณ 1 กม.เขาพระวิหารแบ่งออกเป็น 4 ชั้น เริ่มต้นที่เชิงเขา ขึ้นบันได สุดทางบันไดจะมีลานหินกว้างปูด้วยศิลาลาดขึ้นไปสู่โคปุระชั้นที่ 1 เป็นรูปพญานาค 7 เศียรอยู่ 2

ส่วนที่ 2 เป็นทางปูลาดต่อจากโคปุระชั้นที่ 1 กับโคปุระชั้นที่ 2 ขอบทาง 2 ข้างทางเดินมีเสาศิลาสี่เหลี่ยม วางตั้งเรียงรายเป็นระยะ ๆ ส่วนใหญ่เสาเหล่านี้พังทลายไปหมดแล้ว ทางซ้ายมือของทางขึ้นโคปุระชั้นที่ 2 นี้ เป็นที่ตั้งของสระสรง มีบันไดศิลาวางเป็นขั้น ๆ ลงไปถึงก้นสระ เชื่อว่าเป็นที่ชำระล้างร่างกายของกษัตริย์ที่จะขึ้นไปทำพิธีที่โคปุระที่ 4 ในชั้นที่ 2 นี้ภาพจำหลักที่ทัพหลังและหน้าบันต่าง ๆ บริเวณประตูซุ้มยังคงมีความสมบูรณ์ทุกภาพ



สระสรง



ส่วนที่ 3 จากโคปุระชั้นที่ 2 ไปยังโคปุระชั้นที่ 3 (ปราสาทหลังที่ 1) มีทางปูลาดด้วยศิลาและมีเสาศิลารูปดอกบัวตูมวางตั้งเรียงรายสองข้างทางเดิน โคปุระชั้นที่ 3 ถือเป็นโคปุระหลังที่สมบูรณ์ที่สุด บริเวณชั้นนี้ด้านข้างมีร่องรอยปืนใหญ่อันเป็นส่วนหนึ่งของซากสงครามในอดีต ปัจจุบันกลายเป็นแหล่งหนึ่งที่นักท่องเที่ยวใช้เป็นฉากหลังถ่ายรูป



โคปุระชั้นที่ 4 (ปราสาทหลังที่ 2) เป็นชั้นบนสุด สันนิษฐานว่าเป็นที่ประกอบพิธีกรรมบูชาเทพเจ้า ณ จุดนี้เป็นสถานที่ที่นักท่องเที่ยวนิยมถ่ายภาพวิว สามารถมองเห็นทัศนียภาพของของความเขียวขจีของกัมพูชา ลาว และไทย





ไหน ๆ มาเขียน Blog แล้วก็ขอนำความรู้มาฝากกันค่ะ ไปเช็คข้อมูลที่วิกิพีเดีย ปราสาทพระวิหารมีลักษณะแผนผังที่ใช้แกนเป็นหลัก โดยจัดวางผังหันไปทางทิศเหนือ ซึ่งแตกต่างจากปราสาทอื่น ๆ ซึ่งตามปกติมักจะหันหน้าไปทางทิศตะวันออก (ความรู้ใหม่ของรัชชี่ด้วยค่ะ)

มาครั้งที่ 3 รู้สึกเหนื่อยมากขึ้นเวลาเดินขึ้นแต่ละชั้น เข้าใจสัจจธรรม “สังขารไม่เที่ยง” (^_^)

งงจริง ๆ รูปภาพที่ตัวเองถ่ายที่ปราสาทพระวิหารทำไมมันน้อย สงสัยช่วงเดิน ๆ อยู่บนนั้นจะเหนื่อย พอเหนื่อยแล้วไม่มีอารมณ์ถ่ายรูป เป็นไปได้ เป็นไปได้ เชิญไปชมภาพถ่ายสวย ๆ ที่สมาคมภาพถ่ายแห่งประเทศไทยแทนนะคะที่ //www.rpst-digital.org/forum/showthread.php?t=19204







ทำไมไม่รักษาความสะอาดเลย โยนข้าวของทิ้งลงไปได้





อีกมุมหนึ่ง คิดถึงผามออีแดง เดี๋ยวนี้ขึ้นไม่ได้แล้วนะ กำลังมีเรื่องมีราวกัน



ดีใจจังค่ะ ที่มีโอกาสได้ไปเมื่อปลายปีที่แล้วอีกครั้ง เหตุการณ์ผ่านไป 1 ปี ได้เห็นความไม่เที่ยง ที่ตอนนี้นักท่องเที่ยวไทยยังขึ้นไม่ได้ คงต้องรอไปอีกสักพักล่ะค่ะ ถ้าความขัดแย้งระหว่างประเทศลดลง




 

Create Date : 01 พฤศจิกายน 2551    
Last Update : 1 พฤศจิกายน 2551 7:41:45 น.
Counter : 3768 Pageviews.  

ณ ที่เมืองเก่าของเราแต่ก่อน

คราวนี้พาเยือนเมืองอยุธยา งานนี้รัชชี่ไปกับชมรมถ่ายภาพของบริษัทเป็นครั้งแรกค่ะ
(ไม่ได้ถ่ายรูปเก่งนะคะ ไปเที่ยวมากกว่าถ่ายรูปค่ะ) คบกันมากับท่านประธานชมรม
มาตั้งนาน ยังไม่เคยไปกับทัวร์นี้เลย พอเห็นโปรแกรมทัวร์สถานที่ประวัติศาสตร์
ซึ่งเป็นของชอบของรัชชี่อยู่แล้ว น่าสนใจ (สงสัยต้องเคยเกิดมาก่อนในยุคประวัติ
ศาสตร์แหง เวลาไปเดินเมืองเก่า ชอบจินตนาการว่าสมัยก่อนเขาอยู่กันยังไง )

ทริปแรกไปวัดพระศรีสรรเพชญ์ค่ะ วัดนี้สมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง)
ใช้เป็นที่ประทับ แล้วต่อมาสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ใช้วัดนี้ประกอบพิธีสำคัญของ
บ้านเมืองด้วย

ก่อนทางเข้าวัด มีร้านค้าขายของ ตรงบริเวณนี้นี่เองที่เมื่อไม่นานมานี้ได้มีการร้องเรียน
กันถึงความเป็นเมืองมรดกโลกของอยุธยา ควรจะดูแลกันให้ดีมากกว่านี้ แต่ไม่ทราบว่า
ณ ขณะนี้เหตุการณ์เรื่องนี้เป็นอย่างไรบ้าง



พอเช็คข้อมูลเพิ่มเติม ทำให้รู้ว่าวัดมหาธาตุ สุโขทัย วัดพระศรีสรรเพชญ์ อยุธยา และวัดพระแก้ว
เป็นวัดที่มีมูลเหตุในการสร้างเหมือนกัน คือ “สร้างเพื่อเป็นวัดประจำพระราชวัง”



เพิ่งรู้ว่าวัดนี้เป็นวัดต้นแบบของวัดในพระบรมมหาราชวังในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ด้วย คือวัด
พระศรีรัตนศาสนาดาราม หรือวัดพระแก้วนี่เอง





เจดีย์ที่นี่เป็นเจดีย์แบบลังกาค่ะ เจดีย์เหล่านี้เป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิของกษัตริย์สมัยอยุธยาค่ะ
(พระบรมอัฐิของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ, พระบรมราชาธิราชที่ 3 และ พระรามาธิบดีที่ 2)

ที่วิหารหลวง ได้มีการสร้างพระพุทธรูปยืนหุ้มทองขนาดใหญ่ ประดิษฐานไว้ในวิหารหลวง
พระราชทานนามว่า “พระศรีสรรเพชญ์” เล่ากันว่าในสมัยกรุงศรีอยุธยาครั้งสุดท้าย ข้าศึกได้
สุมไฟพระศรีสรรเพชญ์เพื่อเอาทองไปด้วย ต่อมารัชกาลที่ 1 โปรด ฯ ให้นำองค์พระที่เหลือ
ไปประดิษฐานไว้ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือวัดโพธิ์นั่นเอง



นอกเรื่องค่ะ ไปเดินงานสัปดาห์หนังสือมา เห็นหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ “คำให้การชาวกรุงเก่า”
อยากซื้อมาอ่านเหมือนกัน แต่มันเป็นภาษาไทยโบราณน่ะค่ะ ท่าทางจะอ่านยาก เลยต้อง
วางหนังสือลง ยังคิดเลยว่านับถือท่านมุ้ยเลยกว่าจะสร้างหนังประวัติศาสตร์สักเรื่อง ต้อง
ศึกษาประวัติศาสตร์มากมาย แล้วข้อมูลก็มีหลายแหล่งเหลือเกิน

ข้างหลังภาพ






ต่อไปไปวัดใหญ่ชัยมงคลกันค่ะ เดิมชื่อว่า “วัดป่าแก้ว” เพราะในยุคแรกเป็นที่พำนักของพระภิกษุ
คณะป่าแก้ว ซึ่งมี “สมเด็จพระวันรัตน์” เป็นประธานสงฆ์

สันนิษฐานว่าเป็นที่กระทำการเสี่ยงเทียน สมัยพระเฑียรราชาจะทรงปราบดาภิเษกยึดอำนาจจาก
ขุนวรวงศาธิราช และท้าวศรีสุดาจันทร์

ตามประวัติวัดนี้ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นที่พำนักของสมเด็จพระวันรัตน์ ผู้เป็นพระเถระ
ที่พระองค์ทรงให้ความเคารพ ในคราวที่ทรงกระทำยุทธหัตถีชนะพระมหาอุปราชของหงสาวดี สมเด็จ
พระนเรศวรมหาราชทรงกริ้วต่อบรรดาแม่ทัพนายกองที่ตามทัพมาไม่ทัน ทรงดำริจะลงพระราชอาญา
ประหารชีวิต แต่สมเด็จพระวันรัตน์ได้ทูลขอพระราชทานชีวิตของแม่ทัพนายกองเหล่านั้นไว้

โดยยกเอาพุทธประวัติตอนที่เจ้าชายสิทธัตถะบำเพ็ญเพียรอยู่ใต้ต้นโพธิ์ ก่อนที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ต้องผจญมารอยู่โดยลำพัง เปรียบเสมือนพระนเรศวรที่ต้องทรงกระทำยุทธหัตถีโดยลำพัง ได้ทูลแนะนำให้ทรงสร้างเจดีย์ใหญ่ขึ้นแทนการประหารชีวิต สมเด็จพระนเรศวรทรงเห็นด้วยและทรงให้สร้างเจดีย์ใหญ่ขึ้น ชื่อว่า “พระเจดีย์ชัยมงคล”


เราไหว้พระนอนองค์ใหญ่ก่อนค่ะ






ไม่รู้เป็นอะไร ชอบมุมที่เห็นพระเรียง ๆ กันค่ะ ไม่ว่าจะเป็นวัดไหนก็ตาม





ถูกแอบถ่าย



ตรงนี้ชักลืม ๆ ว่าเราถ่ายตรงมุมไหน





มุมมองจากด้านบนเจดีย์ลงมาค่ะ






วัดต่อไปค่ะ วัดไชยวัฒนาราม สร้างสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่าวัดนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะเหนือกรุงละแวก (พนมเปญ) โดยจำลองแบบมาจากปราสาทนครวัด

วัดไชยวัฒนารามเป็นวัดหลวงที่บำเพ็ญพระราชกุศลของพระมหากษัตริย์สืบต่อมาหลังจากนั้นทุกพระองค์

ก่อนเสียกรุงครั้งที่ 2 วัดนี้ถูกดัดแปลงเป็นค่ายตั้งรับศึก และหลังเสียกรุง วัดนี้ถูกปล่อยให้รกร้าง มีผู้เข้าไปลักลอบขุดหาสมบัติ เศียรพระพุทธรุปถูกขโมย มีการรื้ออิฐที่พระอุโบสถและกำแพงวัดไปขาย ประมาณ 100 กว่าปีที่แล้ว (ปี 2530 กรมศิลปากรได้เข้ามาอนุรักษ์)



เก็บภาพรูปหมู่ค่ะ









น่าเสียดายที่เหลืออยู่เพียงเท่านี้







มุมนี้ใกล้แม่น้ำมากนะคะ ช่วงที่ผ่านมาเห็นทางการทำเขื่อนกั้นน้ำท่วม เราต้องอนุรักษ์โบราณสถานของไทยไว้ค่ะ



วัดสุดท้ายประจำ trip นี้ค่ะ วัดมหาธาตุ ที่ไปวัดนี้เพราะจุดเด่นคือ อยากจะไปดูพระเศียรที่ใต้ต้นไทร เพราะเคยเห็นตามโปสการ์ดค่ะ เนื่องจากเวลาที่ไปถึงเย็นมากแล้ว ดังนั้นจึงรีบ ๆ เดินตามหาพระเศียร





เจอพระเศียรแล้ว







มาย้อนคิด ถ้าประวัติศาสตร์ไทยไม่ได้เป็นอย่างที่ผ่านมา ถ้าโบราณสถานเหล่านี้ไม่ถูกเผาไฟวอดวายในครานั้น ณ วันนี้เราคงเห็นความงดงามของโบราณสถานอันเกิดจากฝีมือช่างไทยในอดีต

แต่เหนืออื่นใด เราไม่สามารถแก้ไขประวัติศาสตร์ได้ สิ่งที่เราสามารถทำได้คือปัจจุบัน ความสามัคคีของชาวไทยในวันนี้น่ะแหละคือสิ่งสำคัญที่จะทำให้วันในปัจจุบันสมบูรณ์เพียงใด และในอนาคตสิ่งต่าง ๆ ในวันนี้นี่แหละที่จะเป็นประวัติศาสตร์ที่ดีหรือไม่ของรุ่นลูกหลานในวันต่อไป

ท้ายนี้นอกเรื่องอีกแล้ว อย่าลืมชมภาพยนตร์ “ศรีสุริโยทัย” กับ “นเรศวรมหาราช” นะคะ สำหรับใครที่ยังไม่ได้ดู ไม่ได้โฆษณาให้ท่านมุ้ยนะ ไม่ได้ค่าโฆษณาสักกะบาท แต่เป็นพื้นฐานให้เรารู้จักประวัติศาสตร์ ความเป็นมาของบรรพบุรุษพวกเรากันเองค่ะ วิชาประวัติศาสตร์คือยาขมของหลายคน แต่สมัยนี้มีหลายวิธีที่สามารถสร้างความเพลิดเพลินได้ ภาพยนตร์ หรือสารคดีต่าง ๆ เป็นแนวทางหนึ่งของการแสวงหาความรู้ที่ไม่น่าเบื่อค่ะ








 

Create Date : 25 ตุลาคม 2551    
Last Update : 25 ตุลาคม 2551 8:41:41 น.
Counter : 3957 Pageviews.  

แม่อยากไปไหว้พระทองคำที่วัดไตรมิตร

Blog ของรัชชี่เริ่มจาก Group blog “Go out to see the world” คราวนี้กลับมาสู่ประเทศไทยค่ะ
เพราะอย่างไรก็ No place like home (Thailand) ว่ามั้ย

งานนี้ขอประเดิมด้วยเรื่อง “แม่อยากไปไหว้พระทองคำที่วัดไตรมิตร”

ก่อนหน้านั้นเพื่อนรัชชี่เคยเล่าให้ฟังว่ามีรายการทีวีช่องหนึ่งออกอากาศเรื่องประวัติของพระทองคำ
ที่วัดไตรมิตร พอฟังประวัติแล้วก็รู้สึกทึ่งและทำให้เชื่อเรื่อง “สิ่งศักดิ์สิทธิ์มีจริง” ขึ้นมาทันที

ความเป็นมาของพระทองคำองค์นี้ พระทองคำสร้างขึ้นในสมัยกรุงสุโขทัย มีหลักฐานอ้างอิงจาก
ข้อความศิลาจารึกหลักที่ 1 ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช บรรทัดที่ 23-27 ว่า “กลางเมืองสุโขทัย
มีพิหาร มีพระพุทธรูปทอง มีพระอัฎฐารส มีพระพุทธรูป มีพระพุทธรูปอันใหญ่ มีพระพุทธรูปอันงาม
มีพิหารใหญ่ มีพิหารอันราม”



พระทองคำ มีน้ำหนักถึง 45 กิโลกรัม (รัชชี่คิดเล่น ๆ ถ้าเป็นราคาทองบาทละ 13,000 ก็
มูลค่าประมาณ 39 ล้านบาท) ถือว่าเป็นพระพุทธรูปทองคำที่ใหญ่ที่สุด และได้รับการ
บันทึกใน “The Guinness Book of World Record 1991”กินเนสบุ้คออฟเรคคอร์ด” ด้วย
องค์พระสามารถถอดได้ 9 องค์เอามาประกบกัน



ประวัติที่น่าทึ่งของความมหัศจรรย์คือ นับจากกรุงสุโขทัย พระทองคำก็ยังอยู่เรื่อยมาจนถึงยุค
กรุงศรีอยุธยา ยังเป็นในรูปองค์ทองคำ แต่เมื่อถึงช่วงบ้านเมืองมีปัญหา และเกรงว่าเมื่อพม่า
เข้ามาตีกรุงศรีอยุธยาเรื่อย ๆ จะนำทองคำกลับไปยังพม่าด้วย ดังนั้นชาวอยุธยาจึงโบกปูน
ปิดองค์ ไม่ให้ทราบว่าเป็นทองคำ



เหตุการณ์ผ่านไปถึงยุคเสียกรุง แต่พระทองคำก็ยังอยู่รอดปลอดภัย เวลาผ่านไปก็ไม่มีใครรู้
จนมาถึงยุครัตนโกสินทร์ วันหนึ่งที่จะทำการเคลื่อนย้ายองค์พระ ปูนกะเทาะออก จึงทำให้
เห็นทองคำภายในเนื้อใน จากวันนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9) ทรงพระ
กรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานนามว่า “พระพุทธมหาสุวรรณปฎิมากร”

รูปถ่ายองค์พระเก่า ตอนค้นพบทองเนื้อในค่ะ




เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า “ทองเนื้อใน ถึงไม่มีใครเห็น แต่ก็ยังเป็นทอง” และการที่พม่าไม่เห็น
ทองคำด้านใน จึงทำให้พระทองคำอยู่คู่ไทยมาได้ถึงวันนี้ ดังนั้นรัชชี่จึงว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์มีจริงไงคะ



เราเจอชาวต่างชาติด้วยค่ะ เจอเป็นกรุ๊ปทัวร์ก็มีค่ะ

ถวายผ้าไตร





ออกจากวัดด้วยความชื่นมื่นค่ะ

ไหน ๆ ก็ไหน ๆ ออกจากบ้านมาแล้ว ถือโอกาสเที่ยววัดภูเขาทองซะเลย เป็นการเข้าภูเขาทอง
ของแม่และรัชชี่เป็นครั้งแรกค่ะ (ขนาดรัชชี่เป็นศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ ยังไม่เคยเข้าไปเลยค่ะ
นั่งรถผ่านและมองอย่างเดียว)

เดินขึ้นไปก็ไม่ถึงกับเหนื่อยนะคะ เพราะการทำบันไดขั้น ๆ จะค่อนข้างมีช่วงให้พักเป็นจุด ๆ

ยอมแพ้แม่ค่ะ ยังมีสมาธินับขั้นบันไดอีก สุดท้ายจำนวนขั้นบันได 344 ขั้นค่ะ



รู้ไหมว่าภูเขาทองสร้างโดยพระมหากษัตริย์ถึง 3 พระองค์ คือ รัชกาลที่ 3 , 4 และ 5 ใช้เวลาถึง 5 ทศวรรษเชียวค่ะ






มองลงมาจากมุมสูงค่ะ





ถึงทางเข้าค่ะ









ให้ชมภาพไปเรื่อย ๆ นะคะ






ด้านบน ไหว้พระบรมสารีริกธาตุด้วยค่ะ





แม่รัชชี่สวมเสื้อสีฟ้านี่แหละค่ะ



มุมมองจากหน้าต่าง



ขึ้นไปที่จุดสูงสุด เขาเขียนว่า “ทำบุญทางขึ้นสวรรค์” เป็นกำลังใจให้คนเดินขึ้นนะ อีกนิดนึง





ด้านบนสุดจริง ๆ สวยงามมากค่ะ









แวะเคาะระฆังตามรายทาง ตอนขาลง



อีกมุมหนึ่ง ได้เห็นความคิดของคนรุ่นก่อน จะมีมุมที่เป็นห้องน้ำให้เข้า โดยด้านหน้าเป็น
ร้านขายกาแฟ รัชชี่เข้าใจว่าถ้าเราอยากเข้าห้องน้ำ คงต้องอุดหนุนกาแฟค่ะ ถามแม่ว่า
จะเข้าห้องน้ำมั้ย แม่บอกว่าไงรู้มั้ยคะ แม่บอกว่าไม่เอาหรอก เพราะเหมือนกับมาเข้า
ห้องน้ำบนภูเขาทอง ดูไม่ดี ภูเขาทองเป็นของสูง (แต่รัชชี่เองคงไม่คิดถึงขนาดนี้หรอกค่ะ
ถ้าปวดจริง)





รูปจำลองภูเขาทองค่ะ



ออกจากภูเขาทอง อีกนิดนึงไปโลหะปราสาทค่ะ (ตามเคย ตอนเรียนธรรมศาสตร์ ก็ไม่เคย
เดินเข้าไป แต่เคยไปครั้งหนึ่งแล้วค่ะ ได้ขึ้นลิฟต์ ขึ้นไปที่ด้านบนด้วย)

แม่เก่งอีกตามเคยค่ะ เพราะรัชชี่ไม่ได้ขับรถไป เรานั่งแท็กซี่ไปจากบ้านค่ะ เพราะรัชชี่ขี้เกียจ
หาที่จอดรถค่ะ (อีกอย่างถนนแถวนั้น เวลาขับรถแล้วงงค่ะ) เราเดินจากภูเขาทองไปโลหะ
ปราสาทค่ะ

เรากำลังจะไปที่วัดราชนัดดานี่ล่ะค่ะ



แต่คราวนี้เสียดายนิดนึง เพราะไปถึงก็เย็นแล้ว ลิฟต์ปิด ขึ้นไม่ได้ค่ะ ก็เลยเดินชมความงดงาม
ภายนอกแทนค่ะ







โลหะปราสาท วัดราชนัดดาราม ตอนนี้เหลืออยู่เพียง 1 เดียวในโลกนะคะ (มี 3 แห่งในโลกคือ
ที่อินเดีย ศรีลังกา และไทย) โลหะปราสาทแห่งนี้สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3

มีความหมายของการสร้างนะคะ ประกอบด้วยอาคารขนาดใหญ่สูง 7 ชั้น หลังคาเป็นยอด
ปราสาทรวมกันเป็น 37 ยอด หมายถึง หลักธรรมตามพระพุทธศาสนา 37 ประการ อันเป็น
ปัจจัยให้ดำเนินไปสู่การหลุดพ้นเข้าสู่ดินแดนพระนิพพาน ที่เรียกว่า “โพธิปักขิยธรรม 37 ประการ”

งดงามมากนะคะ










สรุป เที่ยวเมืองไทยไม่ไปไม่รู้ ยังมีของดีในไทยอีกมากมายที่รอให้พบเจอค่ะ




 

Create Date : 23 ตุลาคม 2551    
Last Update : 23 ตุลาคม 2551 14:05:30 น.
Counter : 5581 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  

รัชชี่
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 16 คน [?]




พี่มานิต ประภาษานนท์ เป็นผู้ชักชวนเข้าสู่วงการการเขียนบล็อก ด้วยประโยคว่า
“จ๊ะเขียนบล็อกซี"

เริ่มเขียนบล็อก : 24 ก.ย. 51




สงวนลิขสิทธิ์ตาม พรบ.ลิขสิทธิ์
พ.ศ.2539 ห้ามละเมิดไม่ว่าการลอกเลียน นำรูป ข้อความที่เขียนไว้หรือส่วนหนึ่งส่วนใดในบล็อกแห่งนี้ ไปเผยแพร่อ้างอิง โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของบล็อก






Setting program for counting visitors since 7 Nov. 2009
free counters
New Comments
Friends' blogs
[Add รัชชี่'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.