Group Blog
 
All blogs
 

อีกสักครั้งกับ "ภูฎาน"




ไปภูฎานมาครบรอบ 2 ปีพอดิบพอดี ได้โอกาสบันทึกตอนจบซะที
หลังจากเขียนบล็อกไป 16 ตอนแล้ว


....บทสรุปจากภูฎานในความคิดของฉัน.....

สำหรับผู้ที่ชื่นชอบธรรมชาติและซาบซึ้งในความเป็นมาของวัฒนธรรม ไม่ผิดหวังแน่ ๆ หากได้มาเยี่ยมเยือนภูฎานสักครั้งหนึ่ง แต่หากถ้ายังชอบแสงสี สถานที่
ทันสมัย หรือนิยมเริงร่ายามราตรีอาจจะไม่ถูกใจนัก


ในมุมมองของฉัน หากภูฎานไม่มีคนส่วนใหญ่ของประเทศที่ยังแต่งกายชุดประจำชาติ อันเป็นเรื่องปกติของชีวิตประจำวัน หรือสถาปัตยกรรมที่มองที่ไปทางใดก็เป็นลักษณะไปในทางเดียวกัน ภูฎานก็คงไม่มีเอกลักษณ์ใด ๆ ที่มีบุคลิก
ของตนเองที่สร้างความประทับใจและแตกต่างจากเมืองอื่น




อีกเรื่องหนึ่งคือ ไม่จำเป็นต้องเป็นเมืองขึ้นของใคร แต่ถ้าวางระบบการศึกษาดี ก็สามารถทำให้ผู้คนเก่งภาษาอังกฤษได้ คนไทยชอบพูดว่าเพราะเราไม่เป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเหมือนเช่นประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง คนไทยจึงไม่เก่งภาษาอังกฤษ นี่ไงภูฎานเป็นตัวอย่างของประเทศที่เป็นอิสระ ไม่ได้เป็นเมืองขึ้นของใคร เหตุไฉนเด็ก ๆ ในภูฎานจึงทักทาย พูดคุย เข้าใจและสื่อสารภาษาอังกฤษได้เป็นอย่างดี


เด็กนักเรียนกำลังเดินไปโรงเรียนยามเช้า



การมีเอกลักษณ์ในตัวเอง ไม่ต้องตามอย่างใคร แค่รู้ว่าโลกเขาไปถึงไหน แต่ไม่จำเป็นต้องตามไปทุกอย่างจนขาดความเป็นตัวเอง ความเป็นธรรมชาติ
ที่ใสสะอาด โดยไม่ได้ปรุงแต่ง นี่ละคือความประทับใจของฉันที่มีต่อภูฎาน

กาทินชีลา (ขอบคุณภาษาภูฎาน) ขอบคุณที่ทำให้ฉันสัมผัสธรรมชาติที่ยัง
สวยสดงดงาม แม่น้ำที่ไหลผ่านขนานไปกับภูเขา สถาปัตยกรรมอันเป็นเอกลักษณ์รายล้อมด้วยหุบเขา อากาศที่ยังใสเป็นธรรมชาติ สัมผัสความศรัทธาของผู้คนที่มีต่อศาสนาพุทธจนกลายเป็นหนึ่งในวิถีชีวิต


วันข้างหน้าในอนาคต การเปิดประเทศ สื่อทางทีวีหรือทางอื่น ๆ คงเผยแพร่วัฒนธรรมจากภายนอกสู่ภายในมากขึ้น ฉันหวังว่าในภายภาคหน้าภูฎานจะยังคงหวงแหนและรักษาวัฒนธรรมประจำชาติ รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติซึ่งยังอุดมสมบูรณ์ ในขณะที่ทรัพยากรธรรมชาติของโลกในดินแดนอื่นมีแต่จะลดลงไปตามกาลเวลาของกระแสทุนนิยม



....Tip ประกอบในการมาภูฎาน....

1. เตรียมอาหารไทยไปด้วยเพื่อจะได้ enjoy eating เพราะภูฎานอนุญาตให้นำอาหารเข้าไปได้ยกเว้นไก่ (กลัวไข้หวัดนก)
2. อุปกรณ์ยาดม ยาหม่อง เผื่อใช้ (เพราะนั่งรถวิ่งบนเขา หรือใช้เป็นอุปกรณ์นวดสปายามเดินเยอะ)
3. ควรใช้รองเท้าคู่เก่ง ไม่ใช่รองเท้าคู่สวย
4. เสื้อกันหนาว + ผ้าพันคอ + ถุงมือ + ถุงเท้า อุปกรณ์กันความหนาวเย็น
ทั้งหลาย (แล้วแต่สภาพร่างกายแต่ละคน)
5. เตรียมกางเกงขายาวไป (ขาสั้นกับขาสามส่วน สี่ส่วน จะไม่สุภาพหรือไม่ได้รับอนุญาตเวลาเข้าวัดหรือวัง)



....ค่าใช้จ่ายในการมาภูฎาน....

ค่าเครื่องบินไปกลับ 783 ดอลลาร์สหรัฐ (มีสายการบินเดียว เป็นสายการบินประจำชาติภูฎานเท่านั้น)

ค่าทำวีซ่า 20 ดอลลาร์

Land cost 200 ดอลลาร์ต่อวัน (เงินจำนวนนี้จะเป็นของรัฐบาล 35% ที่เหลือไกด์จะจัดสรรเป็นค่าที่พักและค่าอาหาร)

ไกด์เล่าว่าไกด์จะได้รับเงินจากรัฐบาลหลังจากที่คณะเรากลับแล้ว
การโอนเงินจะเข้าบัญชี Bank of NewYork เป็นเบอร์บัญชีของ Bank of Bhutan (เข้าใจว่าน่าจะเป็นเรื่องความน่าเชื่อถือของผู้โอนต่อประเทศภูฎาน ซึ่งยังเป็นประเทศค่อนข้างปิด)



....ข้อมูลพื้นฐานประเทศภูฎาน...

** ภูฎานอยู่ที่ส่วนไหนของโลก???
อยู่ใต้ทิเบต ทางขวาของเนปาล ติดกับอินเดีย




** ธงชาติภูฎาน แบ่งออกเป็น 2 ส่วนโดยการทแยงมุม
ด้านบนเป็นสีเหลือง หมายถึงอำนาจของพระมหากษัตริย์ เป็นสีที่แสดงถึง
ความเจริญรุ่งเรืองทั้งทางโลกและทางธรรม

ด้านล่างเป็นสีส้ม หมายถึงการปฏิบัติธรรมและความเลื่อมใสศรัทธาต่อ
ศาสนาพุทธของชาวภูฎาน

มีมังกรสีขาวอยู่ตรงกลางผืนธง มังกรเป็นสัญลักษณ์ของดินแดนแห่งมังกรสายฟ้า

สีขาวของมังกร หมายถึงความจงรักภักดีของคนทุกเชื้อชาติทุกภาษา
ที่อยู่ในประเทศ

ท่ามังกรกำลังคำรามอ้าปาก แสดงถึงความมีอำนาจน่าเกรงขามของผู้เป็นเจ้าทั้งชายและหญิงที่ปกป้องภูฎาน




** สัตว์ประจำชาติ คือ “ทาคิน” เป็นสัตว์หายาก หน้าเหมือนแพะ ตัวเหมือนวัว กินไม้ไผ่เป็นอาหาร

** ต้นไม้ประจำชาติ คือ ต้นไซเปรส เป็นสนชนิดหนึ่ง
ดอกไม้ประจำชาติ คือ ดอกป๊อปปี้สีฟ้า

** ภาษาประจำชาติคือภาษาซองคา (Dzongkha)

** เมืองหลวงคือ ทิมพู (Thimphu)

** รายได้หลักของประเทศ มาจากการขายไฟฟ้าพลังน้ำให้ประเทศอินเดีย และส่งออกไม้ ผลิตผลทางการเกษตร งานหัตถกรรม และซีเมนต์

** สกุลเงิน นูลทรัม (Ngul trum)

** ประวัติศาสตร์ภูฎาน ราชวงศ์กษัตริย์ภูฎานเพิ่งครบรอบ 100 ปีนี่เอง คือเริ่มราชวงศ์วังชุกในปี พ.ศ. 2450 เมื่อพระเจ้าอูเกน วังชุก แห่งเมืองตงซา ทรงรวบรวมอาณาจักรน้อยใหญ่แถบเทือกเขาหิมาลัยขี้นเป็นประเทศได้สำเร็จ


....ตัวอย่างแสตมป์ที่ช็อปปิ้งมาจากภูฎาน.....













โปสการ์ดกษัตริย์ภูฎานองค์ปัจจุบัน




......รัชชี่.......


To : คุณ Holly รูปภาพโรงแรมแห่งหนึ่งที่ไปพักค่ะ











 

Create Date : 05 มิถุนายน 2553    
Last Update : 30 กันยายน 2553 9:42:10 น.
Counter : 2685 Pageviews.  

มาดูหน้าตาปั๊มน้ำมัน + อาหารการกินในภูฎาน



คำถามจากตอนที่แล้ว

“ตามมาอ่านเรื่องภูฏานบ่อยๆ ชักจะเห็นหนุ่มภูฏานน่ารักดีเหมือนกันนะคะ... แต่อยู่ในภูเขาอย่างนั้นคงไม่ไหว น้ำท่าขาดแคลน

….Devonshire....

ไม่น่าจะขาดแคลนหรอกค่ะ เพราะตลอดเส้นทางนั่งรถ จะพบว่าเราจะเจอลำธารน้ำอยู่ตลอดเวลาขนานไปกับขุนเขาค่ะ ย้อนกลับไปดูรูปถ่าย ไม่ค่อยได้ถ่ายรูปตามเส้นทางสักเท่าไหร่ ดังนั้นขอนำรูปลำน้ำริมซองมาให้ชมอีกครั้ง

อีกอย่าง..... รัชชี่ว่า ...... ยามหน้าหนาวมาเยือน คนภูฎานคงอาบน้ำน้อยลง







.......มาดูหน้าตาปั๊มในภูฏาน .......

ก่อนมาเที่ยว ฉันอ่านเจอในหนังสือว่าภูฎานมีปั๊มของบริษัทน้ำมันอยู่ 3 ยี่ห้อ คือ Bharat Petroleum, Indian Oil และ Royal Dutch Shell แต่ฉันเห็นอยู่ 2 ยี่ห้อแรก


แม้แต่รูปแบบสถาปัตยกรรมของปั๊มก็ยังเป็นลักษณะลวดลายแบบภูฎาน ไม่มีป้าย Highway Sign ใหญ่โตแบบของไทย


ช่วงเวลาที่อยู่ที่นี่ (เดือนพฤษภาคม 2551) ราคาเบนซินในภูฎานประมาณ
36 บาท ดีเซล 26 บาท (ราคาเบนซินพอ ๆ กับเบนซิน 91 บ้านเราในช่วงเวลาเดียวกัน ฉันไม่แน่ใจว่าเบนซินที่นี่มีค่าออกเทนเท่าไหร่
แต่ดีเซลเมืองไทยอยู่ที่ 32-33 บาท)



.....ปั๊มแบรนด์ Bharat Petroleum.....








ที่พัก 2 คืนสุดท้ายที่เมืองพาโรอยู่ไม่ไกลจากปั๊มน้ำมัน พวกเราเดินไปดูกัน แต่ปั๊มนี้ไม่สวยเท่าปั๊มแรกที่เห็น จะเก่า ๆ หน่อย มีรถคันหนึ่งเข้ามาเติมน้ำมัน คนเติมน้ำมันใส่ชุดประจำชาติ ดูแล้วแปลก ๆ ดี แต่ที่นี่ลูกค้าเติมน้ำมันแบบ Self service กันได้เลย








ไปแอบถ่ายน้ำมันหล่อลื่นของปั๊มเขาที่หน้าห้องกระจกอีก





......อาหารการกินในภูฎาน.......

ฉันเตรียมความพร้อมซื้อมาม่าคัพไป ตามด้วยหมูหยอง น้ำพริก ขนมปัง อยู่ในเสบียงกระเป๋าใบหนึ่งมาอย่างดี (คาดว่าคงจะพอรอดตายได้ ไม่ใช่อะไรหรอก อาหารน่ะเขาเตรียมพร้อมให้อยู่แล้ว แต่หวั่น ๆ กลัวว่าจะกินไม่ได้ )


เวลาผ่านไปในภูฎาน มาม่าคัพกลายเป็นสินค้าขายดี ส่วนใหญ่พวกเราก็จะแบ่งกันเป็นถ้วยเล็ก ๆ ไม่ใช่กินคนละถ้วยตามขนาดมาม่าคัพ


ข้าวกล้อง หมี่ผัด



น้ำซุปของภูฎาน



แต่ที่แน่ ๆ วันที่สามเปรียบเสมือนทุบหม้อข้าวแล้ว มาม่าหมด แต่พรรคพวกคนหนึ่งบอกว่าเขาเห็นมาม่าไทยวางขายในภูฎานด้วย เขาไปซื้อมาจากด้วยราคา
3 ถ้วย 100 บาท (ฉันซื้อจากเมืองไทยประมาณถ้วยละ 10 บาทนิด ๆ) ....

มากินมาม่า
แบรนด์ไทยถ้วยละ 30 กว่าบาทที่ภูฎาน


จากรูปนี้คือที่หิ้วไปเองจากเมืองไทย




ตามที่เล่าไปบล็อกต้น ๆ ฉันไม่ได้แตะเนื้อสัตว์ อาหารที่ฉันได้ทานที่เขาจัดไว้ เป็นข้าวกล้อง ข้าวโอ๊ต หมี่ผัด ผัดผัก (แต่เขาไม่ได้ผัดด้วยน้ำมันแบบบ้านเรา จะผัดกับเนยหรือชีส) พาสต้า ข้าวผัดแบบ (Vegetable rice) โมโม่ (ชื่อน่ารักดี
หน้าตาคล้าย ๆ เกี๊ยว แต่ฉันราดด้วยน้ำปลาพริกแบบไทย ๆ ที่พวกเราทำกันเอง มะนาวที่ตลาด 2 ลูก 5 บาท ส่วนพริกขอห้องครัวเอา)


.....สาวภูฎานที่ร้านอาหาร......






อาหารที่ฉันลองนิดหน่อยแล้วต้องถอยเพราะเลี่ยนคือ ชีสผัด ภูฎานเป็นประเทศที่มีอากาศเย็น ดังนั้นจึงใช้เนย ชีส เป็นส่วนประกอบหลักในการปรุงอาหาร เพื่อสร้างความอบอุ่นให้แก่ร่างกาย บางมื้อก็มีซุปอินเดีย ซุปผักโขม


เครื่องจิ้มก็จะมี 2 แบบให้เลือก คือ เป็นพริกภูฎาน อร่อย เผ็ดดีเหมือนกัน และซีอิ๊ว (แต่รสชาติก็ไม่เหมือนไทย)



ถึงจะใช้มาม่าช่วยชีวิตบ้างในแต่ละมื้อ แต่เมื่อผ่านไป 3 วันฉันก็เริ่มเบื่อเหมือนกัน พรรคพวกบอกว่ามีผักกาดกระป๋องด้วยนะ (เข้าใจมาบอกทีหลัง แอบซุกซ่อนนี่เอง ) จากนั้นผักกาดกระป๋องกลายสภาพเป็นเมนูจานเด็ดของฉันที่ภูฎานในเวลาต่อมา .....


จากข้อมูลเท่าที่ทราบ ชาวภูฎานจะไม่ฆ่าสัตว์เพื่อใช้เป็นอาหารเอง แต่จะเป็นชาวต่างชาติที่อาศัยที่นั่น เช่น ชาวอินเดีย ชาวเนปาล และโดยธรรมชาติ
ชาวภูฎานก็จะไม่จับปลาในแม่น้ำมาทาน

ฉันถึงว่าแล้วถ้าอยู่ที่นี่นาน ๆ ฉันต้องกลายเป็นมังสวิรัติเต็มตัว อีกอย่าง
เนื้อสัตว์ที่นี่จะไม่สดนัก (ปกติจะเป็นคนชอบทานของที่ยังสด ๆ ใหม่ ๆ พอมาเจอเนื้อสัตว์ที่นี่ก็เลยมีปัญหา นี่คือที่มาของมังสวิรัติชั่วคราวที่ภูฎาน)


......พ่อครัว + แม่ครัวเอก.......

โรงแรมสุดท้ายที่เราพักในเมืองพาโร ซึ่งพวกเราพักกัน 2 คืน ใจดีจังที่อนุญาตให้พวกเราใช้ห้องครัวได้ โดยมื้อแรกเข้าไปเจียวไข่ และไปขอพริกเพื่อใส่ใน
ผักกาดกระป๋อง พริกที่นี่เม็ดใหญ่เชียว เขาบอกว่าจะเปิดครัวให้ใช้บริการเต็มที่สำหรับมื้อเย็นอีกวัน

พ่อครัวและแม่ครัวเอกของเราไปจ่ายตลาด ซื้อผักในตลาดมาผัดแบบไทย ๆ
มียำปลากระป๋องเพิ่มเติม มื้อนั้นมีทั้งอาหารไทยรวมทั้งอาหารที่โรงแรมจัดเยอะแยะไปหมด แต่เป็นมื้อที่เจริญอาหารมากสำหรับฉันมาก ๆ


อ้อ! เรื่องอาหารการกิน อย่าเอาฉันเป็นมาตรฐานนะคะ เดี๋ยวชาวภูฎานทราบเรื่องแล้วน้อยใจแย่


....รัชชี่....


บันทึกการท่องเที่ยวปี 2551


emo




Brief in English ……..By Ratchee


There’re 3 brands of gas station in Bhutan : Bharat Petroleum, Indian Oil and Royal Dutch Shell. Here I shows is photo of Bharat Petroleum gas station , even gas station sill has style of Bhutan.

I know information about Bhutanese food, most of Bhutanese don’t kill animals for food but foreigners who live in Bhutan such as Indian, Nepalese do that job.






 

Create Date : 30 กันยายน 2552    
Last Update : 30 กันยายน 2552 17:30:48 น.
Counter : 2194 Pageviews.  

ดูกีฬายิงธนูที่ "ภูฎาน"



.....ดูกีฬายิงธนูที่ "ภูฎาน".....

ฉันเปรย ๆ เรียกร้องว่าอยากดูกีฬายิงธนู ถ้ามีโอกาส (ไม่มีในโปรแกรมทัวร์) เพราะเห็นรูปจากในหนังสือแล้วดูเท่มากกับการแต่งชุดประจำชาติยิงธนู (เหมือนดูหนังโบราณ) โชคดีที่ระหว่างทางเจอแข่งยิงธนู จึงได้มีโอกาสเดินลงไปดู
ฉันประหลาดใจมากกับระยะยิงธนู ไกลโพ้นจนสงสัยว่าเขามองเห็นหรือ
หรือเขากะระยะเอา




ฉันอ่านข้อมูลเจอว่าในงานโอลิมปิคปี ค.ศ. 2004 นักกีฬายิงธนูคนดังของภูฎานได้ถือธงชาตินำขบวนด้วย ภูฎานได้สนับสนุนกีฬาประเภทนี้เข้าสู่เวทีสากลโลก การยิงธนูแบบดั้งเดิมใช้ลูกธนูไม้ไผ่ ยิงเป้าไม้ที่ตั้งห่างออกไปประมาณ 140 เมตร ไกลกว่ามาตรฐานโอลิมปิค





ถ่ายรูปรถที่ภูฎานที่จอดบริเวณลานยิงธนูค่ะ ทะเบียนที่นั่นจะเป็นป้ายแดงค่ะ







.....คุยกับไกด์ภูฏาน......


มีมื้ออาหารเย็นอยู่วันหนึ่งที่ฉันนั่งติดกับไกด์ชื่อ โซนัม ซึ่งเจอเขาในวันแรกที่สนามบิน แต่วันอื่น Nidup เป็นไกด์ให้เราแทน
โซนัม มาต้อนรับเราอีกครั้งที่เมืองพาโร



ฉันออกจะเกรงใจที่เขาคงอยากนำเสนออาหารประจำชาติให้เรา โซนัมตักผัดชีส หมูทอด ปลาทอดให้ (แต่รสชาติแปลก ๆ ) ฉันแค่แตะ ๆ พอรู้รส
(อย่างที่เคยเล่าในบล็อกตอนต้น ๆ ว่าฉันกลายสภาพเป็นมังสวิรัติ
ชั่วคราวที่ภูฎาน) แต่พอโซนัมจะให้ลองซุปอินเดีย ฉันต้องขอบาย




ฉันให้เขาลองทานหมูหยองกับน้ำพริกของไทยด้วย ฉันถามเขาว่าเป็นอย่างไรบ้างที่ผ่านมา คนไทยเตรียมอาหารมาด้วยหรือเปล่า โซนัมบอกว่าเขาก็เข้าใจนะว่าคนไทยก็ชอบอาหารของตัวเองมากกว่า โซนัมเองด้วยความเป็น
ไกด์ก็ชอบลองอาหารชาติอื่นเหมือนกัน




ฉันสงสัยอยู่เรื่องสถาปัตยกรรมทั้งซอง ทั้งบ้านเรือนในภูฎาน หน้าตาจะ
คล้าย ๆ กัน (จนถูกแซวจากคนดูรูปว่าภูฎานมีที่เที่ยวอะไรนักเหรอ เห็นหน้าตาสถาปัตยกรรมมันออกมาเหมือน ๆ กัน)

โซนัมบอกว่าเป็นเรื่องของกฎหมาย เวลาสร้างบ้าน ภายนอกบ้านจะต้องเป็นศิลปะประจำชาติ แต่ภายในคุณอยากตกแต่งอย่างไรก็ได้





ไม่ว่าจะอยู่มุมไหนของถนน บ้านเรือนจะปิดหน้าต่างตลอดเวลา ขนาดช่วงเวลาที่เราไปก็ถือเป็นระดับอากาศที่อบอุ่นของประเทศนี้แล้ว เราคนไทยอาจจะชินกับความโปร่ง เปิดหน้าต่าง ไกด์บอกว่าจะเปิดหน้าต่างก็ได้
แต่บางทีจะมีฝุ่น ซึ่งทำให้ส่วนใหญ่จะไม่เปิดกัน


เรื่องการไปวัดของชาวภูฎาน โดยทั่วไปจะไปสัปดาห์ละ 1 วัน ฉันมาคิดเองว่าคงเหมือนคนไทยที่ใน 1 เดือนมีวันพระ 4 วัน สิ่งที่นำไปถวายพระก็จะเป็นธูป
Butter Lamp (เทียนของเขาจะทำจากไขจามรี)




โดยทั่วไปชาวภูฎานค่อนข้างเคร่งครัดเรื่องพุทธศาสนา การสวดมนต์ภาวนาพร้อมกับหมุนกงล้อภาวนาเป็นเรื่องธรรมดาที่พบเห็นทั่วไป (เวลานั่งรถ ฉันนั่งอยู่ด้านหลังคนขับ บางขณะฉันก็ได้ยินเสียงเขาพึมพำด้วย เข้าใจว่าคงสวดมนต์อยู่)


ฉันถามโซนัมว่าจริงหรือที่ข้อมูลที่เราทราบมาว่าภูฎานจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวต่อปี ไกด์ตอบว่าจริง ๆ แล้วไม่ใช่นะ ไม่ได้จำกัดถึงขนาดนั้น แต่อาจจะด้วยค่า Land cost ขั้นต่ำวันละ 200 ดอลลาร์กระมัง

พวกเราบอกว่ารู้มั้ยว่าทัวร์มาภูฎานถือว่าแพงมากนะสำหรับประเทศทางตะวันออก ราคาขนาดนี้ไปญี่ปุ่น หรือยุโรปได้เลย แล้วยกตัวอย่างราคาแพ็กเกจทัวร์ไปสิงคโปร์ ฮ่องกง ที่ถูกมาก ๆให้เขาฟัง


......เก็บตกกีฬาอีกประเภท....

เรียกอะไรก็ไม่รู้ ช่วงเดิน ๆ ออกมาจากกีฬายิงธนู ก็เห็นชาวภูฎานอีกกลุ่มค่ะ







.....รัชชี่.....

บันทึกการท่องเที่ยวปี 2551

......................................

In English .... by Ratchee


......Bhutanese Archery....

In fact there’s no seeing Archery in tour program but I really wanted to see because I read and saw in a book and feeling that it’ so cool .

Fortunately I found Bhutanese Archery while travelling so I asked for stopping to see that.

....Talking with Bhutanese guide.....

At the dinner in Bhutan , I sat beside Sonam , one Bhutanese guide, I found him at the first time visiting Bhutan and then Nidup was the guide of our trip. Sonam presented his local food but in fact I really don’t like, I presented Thai food also which group of us prepared from Thailand.


I asked Sonam that I wonder about Bhutanese architecture , all of places I visited look like the same architecture even any homes. He said that it’s law of Bhutan , to build a home , architecture of homes outside have to be the same : nation architecture but for inside home, any decorations they like.

I asked him about how often going to the temple of Bhutanese, he said most of Bhutanese going to the temple once a week , they’re usually serious for Buddhism , the picture of “praying and holding prayer wheel while walking” is the picture we can see in every places we visited

Is it true that Bhutan limited for number of tourists each year???, he said actually it’s not true but may be because “land cost 200 $/day” I told him that expense tour for Bhutan is really expensive, for this expense we can visit Europe or Japan.










 

Create Date : 09 กันยายน 2552    
Last Update : 10 กันยายน 2552 13:17:24 น.
Counter : 2077 Pageviews.  

พาโรซอง ... วัดคิชู และเก็บตกเรื่องราวในภูฎาน




มาภูฎานได้เข้าซองทั้งหมด 3 แห่งคือทิมพูซอง พูนาคาซอง และพาโรซอง

ซอง (Dzhong) ในความหมายของภูฎานคือป้อมปราการในอดีตที่เป็น
แหล่งบัญชาการป้องกันข้าศึกศัตรู ปัจจุบันเป็นเสมือนทั้งวัด และมุมของสถานที่ราชการ ซองจะมีอยู่ทุกเมือง

......พาโรซอง.....

ฉันชอบสถาปัตยกรรมซองที่มักจะสร้างอยู่ริมน้ำ แล้วเดินข้ามสะพานไป คงจะเหมือนกับการสร้างเมืองแต่ละที่ ในสมัยโบราณที่เลือกถิ่นที่ตั้งใกล้แม่น้ำ ซึ่งเป็นชัยภูมิที่ดี เพราะคนก็ต้องใช้สอยน้ำในชิวิตประจำวัน มาถึงที่นี่
พวกเราแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งนั่งชิลชิลริมฝั่งแม่น้ำ หย่อนขาลง อีกกลุ่มหนึ่งเดินข้ามสะพานมาถ่ายรูป ซึ่งระหว่างนั้นมีลามะเดินเข้าออกซองอยู่เป็นระยะ



ถ้าใครเคยดูภาพยนตร์เรื่อง "Little Buddha" บริเวณตรงนี้เป็นฉากหนึ่งในภาพยนตร์



ขอบคุณภาพจาก //www.pantip.com/cafe/chalermthai/topic/A8109371/A8109371.html

ฉันเคยชมเรื่องนี้เมื่อนานมาแล้วเมื่อครั้งฉายในโรงภาพยนตร์ แต่เพิ่งทราบว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ถ่ายทำในภูฎานด้วย (เดิมฉันเข้าใจว่าถ่ายทำในทิเบต)
ฉันจึงตั้งใจว่ากลับจากท่องเที่ยวครั้งนี้แล้วจะต้องซื้อแผ่นมาดูอีกครั้งให้ได้


พอดูแล้วฉันยังงง ๆ ตัวเองอยู่ สมัยดูหนังเรื่องนี้ในโรง ฉันไม่เห็นคุ้นกับคำว่า
“ภูฎาน” ในเรื่องนี้เลย พอกลับมาดูใหม่ในหนังมีการเอ่ยถึงชื่อประเทศนี้ด้วย






นั่งชิลชิลที่ริมน้ำข้าง ๆ พาโรซอง





บริเวณใกล้เคียงพาโรซอง



มองหันไปหันมา เจอบอร์ดเลือกตั้ง ภูฎานเพิ่งผ่านการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยมาไม่นาน






.....คนภูฎานกับสถาบันกษัตริย์.......


สถาบันกษัตริย์ยังอยู่ใกล้ชิดในใจชาวภูฎาน ด้วยรูปแบบวิถีชีวิตที่เรียบง่าย การแต่งกายชุดประจำชาติ แม้กษัตริย์องค์ปัจจุบันและองค์ก่อนจะผ่านการศึกษาจากประเทศทางตะวันตก แต่ก็มีวิถีชีวิตที่เหมาะกับประเทศตนเอง รักและหวงแหนทรัพยากรผืนป่า การจะตัดต้นไม้ 1 ต้นจะต้องปลูกต้นไม้ทดแทน ได้วางแผนให้ระบอบประชาธิปไตยเกิดขึ้นในประเทศ มีการเลือกตั้งเมื่อไม่นานมานี้เอง

ฉันถามไกด์ว่าเขาคิดอย่างไรกับการเลือกตั้ง เขาโอเคกับการเลือกตั้ง แต่ก็ยังรักกษัตริย์อยู่มาก โดยเฉพาะ Fourth King (หรือพ่อจิ๊กมี่) เป็นกษัตริย์ที่ชาวภูฎานรักมาก ไปเยี่ยมโรงเรียนมาทั่วประเทศ วางระบบการศึกษาแก่เยาวชน โดยเด็ก ๆ ในปัจจุบันจะเรียนทุกวิชาเป็นภาษาอังกฤษ และเรียนวิชาภาษาซองคา
ซึ่งเป็นภาษาท้องถิ่นของประเทศ




......วัดคิชู.........

เดิมพวกเราวางแผนจะไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ของภูฎาน แต่โชคไม่ดีเป็นวันหยุดราชการของพิพิธภัณฑ์เสียนี่ จากนั้นไกด์พาไปวัดคิชู ซึ่งมีประวัติว่าเป็นวัดที่สร้างขึ้นหลังจากมีมารหรือปีศาจมาผจญเมื่อครั้งกระโน้น
ทางแก้คือต้องสร้างวัด วัดคิชูเป็นวัดหนึ่งที่สร้างในยุคนั้น

วัดนี้เชื่อว่าสร้างประมาณ พ.ศ. 1200 โดยกษัตริย์ทิเบต กษัตริย์องค์นี้แต่งงานกับเจ้าหญิงของจีน มีผู้ถวายพระพุทธรูปซึ่งส่งมาจากอินเดีย แต่ระหว่างทาง
พระพุทธรูปองค์นี้หล่นลงในบ่อโคลน ไม่สามารถนำขึ้นมาได้ไม่ว่าจะด้วยวิธีใด ๆ ก็ตาม

เจ้าหญิงเชื่อว่าเป็นเพราะมีปีศาจ กษัตริย์จึงตัดสินใจสร้างวัดขึ้นมา 108 แห่งเพื่อสะกดปีศาจตนนี้ไว้ วัดส่วนใหญ่จะอยู่เขตทิเบต ส่วนวัดนี้ที่อยู่ภูฎาน
เชื่อว่าคือบริเวณเท้าซ้ายของปีศาจ






.....ต้นส้มแสนรัก In ภูฎาน....



.....เก็บตกเรื่องราวเล็ก ๆ มาเล่าให้ฟังค่ะ....



......ห้องน้ำ ( Go to the bush)......


เป็นประสบการณ์ครั้งแรกของฉันอีกเหมือนกัน เมื่อเจอระยะทางไกลและไม่มีจังหวะที่จะเจอห้องน้ำ ไกด์บอก “Go to the bush” ก็หา ๆ สถานที่เอาตามสุมทุมพุ่มไม้น่ะค่ะ ไม่เคยได้ใช้บริการในเมืองไทย มาใช้บริการที่ต่างแดนนี่เอง

ณ จุดหนึ่งของการเดินทางไกล พวกเราเจอป้าย “Toilet” Nidup บอกว่า สามารถเข้าห้องน้ำได้ที่นี่ ฉันถามเขาว่า “ Really toilet or the bush???”

เขาตอบว่า ห้องน้ำจริง ๆ พวกเราดีใจกันใหญ่ แต่พอเริ่มเดินใกล้ห้องน้ำจริง ๆ มีอยู่ห้องเดียว แต่กลิ่นสุดจะเหลือทน พวกเราจึงพร้อมใจกัน Go to the bush
ดีกว่า น่าจะสะอาดกว่ากันเยอะ


.....ทีวีในภูฎาน......

ส่วนใหญ่ช่องรายการทีวีที่ดูในโรงแรม จะมีทั้งช่องข่าวต่างประเทศภาษาอังกฤษ มีหลายช่องเป็นของอินเดีย มีช่องละครเกาหลีรวมถึงแนะนำ
แหล่งท่องเที่ยวในเกาหลี

ช่องนี้มีแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวในไทยด้วย คืนหนึ่งที่ฉันดูเป็นตลาดตอน
กลางคืน (ไม่แน่ใจว่าสถานที่ไหนในเมืองไทย) แนะนำพ่อค้าขายขนมไทย และมีการสัมภาษณ์คนไทยที่ไปทานขนมในตลาด (แต่พากษ์เสียงภาษาอังกฤษ)
ส่วนช่องภาษาภูฎานฉันเห็นมีอยู่ช่องเดียว



......รูปภาพส่วนหนึ่งของห้องพักที่ถ่ายรูปมา.......






ฮีทเตอร์







.....รัชชี่....

บันทึกการท่องเที่ยวปี 2551






Bhutan In English version......by Ratchee


ฟังวิทยุออนไลน์ ที่ izeemusic




….Paro Dzhong….


I like architecture of Dhzong which usually built near the river and we can walk on the bridge go through the Dzhong, looks like how to build city in the history mostly near the river because it’s good location as water is essential in daily life.

“Little Buddha” one of movie in the past , Paro Dzhong is the place in this movie also (in the past I understood that the place in the story is in Tibet but in fact it’s in Bhutan).

I saw “election advertisement board” as Bhutan just had an election for democracy.

.......Bhutanese and King Institution.......

In fact Bhutanese still believe and faith in King Institution. Even now new King in the present graduated from Western countries but he lives his life simple in the way of Bhutanese, love natural resource, and his father planned for his country to have democracy political system.

I asked the guide that "How does he think about an election"??? He agreed about election but still love and faith in King so much especially Fourth King , Fourth King managed education system for children , now children in Bhutan study every subjects in English and study local language too.


.....Kichoo temple......

This temple is believed that in Buddhist Era 1200 while one King of Tibet who married with Chinese Princess. India sent Buddha Image from India to Tibet as a gift for them. But there's an accident that this Buddha Image fallen into pond sludge and can't bring back.

The princess believed that there's a monster so the King made a decision to build 108 temples to destroy monster.

So Kichoo temple is one of these 108 temples.









 

Create Date : 20 สิงหาคม 2552    
Last Update : 20 สิงหาคม 2552 18:55:32 น.
Counter : 1052 Pageviews.  

ภูฎาน ตอน....ณ วัดทักซัง





ที่วัดทักซัง

บริเวณด้านในมีเสียงสวดภาวนา พระพรมน้ำมนต์ด้วยวิธีการที่แตกต่างจากบ้านเรา คือพระจะถือกาน้ำมนต์แล้วให้เรายกมือรอรับน้ำมนต์จากกาน้ำลงบนมือเรา ทัวร์ลีดเดอร์ของเราบอกว่า “ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ นะที่จะขึ้นมาได้ขนาดนี้



ดังนั้นควรอธิษฐานตั้งจิตอุทิศบุญกุศลของความยากลำบากในการเดินทางครั้งนี้
อุทิศให้เจ้ากรรมนายเวร หรือจะอธิษฐานขอให้สามารถนั่งสมาธิได้
ถ้าใครมีปัญหาในการปฎิบัติ”



พระที่นี่ศักดิ์สิทธิ์มาก เป็นพระชื่อ รินโปเช ซึ่งตามตำนานเล่าว่าเป็นพระองค์แรกที่มาปฏิบัติธรรม นั่งสมาธิที่วัดนี้ และเผยแพร่พุทธศาสนาที่ภูฎาน




ระยะที่เราใช้เวลาขึ้นมา อย่างน้อยก็ 2 ชั่วโมง ดังนั้นฉันจึงอยากอยู่ในนี้
นานหน่อย และอยากนั่งสมาธิที่จุดนี้




มีผู้เห็นด้วยกับฉันอยู่หลายคน เราจึงนั่งสมาธิกันสักครู่ แต่อยู่ได้ไม่นานหรอก
มีคนแตะตัวฉันบอกว่าเขาไม่ให้อยู่ด้านในนาน เพราะก็มีนักท่องเที่ยว
เข้ามาอยู่เรื่อย ๆ






ออกมาด้านนอก ไกด์พาไปอีกมุมหนึ่ง มีประตูปิดแต่ให้เราไปยืนดูได้ทีละคน ในห้องนั้นเป็นห้องปฎิบัติกรรมฐานของพระรินโปเช (Guru Rinpoche)

ท่านเป็นผู้มาเผยแพร่พุทธศาสนาในดินแดนแถบนี้ในศตวรรษที่ 8 ซึ่งไกด์บอกว่าบริเวณนี้จะมีความศักดิ์สิทธิ์ ความขลัง ของพลังบทสวด สมาธิ

ฉันสัมผัสได้ถึงความรู้สึกบางอย่างขณะที่ไปยืนดู รู้สึกขนลุก
เพราะฉันเชื่อในพลังจิตอยู่แล้ว




(ตามเคยนะคะ ที่บริเวณด้านในวัด ไม่ได้รับอนุญาตให้ถ่ายรูปค่ะ)






ขาลงจากเขา

ก่อนลงจากวัด ฉันเจอนักท่องเที่ยวกลุ่มหนึ่งเป็นอเมริกัน เธอเพิ่งขึ้นมาถึง เธอใช้เวลาเดินอย่างเดียวขึ้นมาประมาณ 3 ชม. ที่ฉันสังเกตพวกชาวตะวันตกส่วนใหญ่จะเดินขึ้นมามากกว่าจะขี่ม้า แต่ขาลงจากเขาก็ไม่ได้หมายความว่า
จะเดินลงอย่างเดียว มันมีทั้งจุดเดินขึ้นและเดินลง





ปกติฉันไม่ชอบใช้รองเท้าคู่ใหม่ ยิ่งเก่ายิ่งชอบเพราะใส่สบาย โดยเฉพาะเวลาเดินทาง แต่ก่อนเดินทางคราวนี้รองเท้าหนังคู่เก่งของฉันเดี้ยงเสียก่อน ฉันจึงต้องใช้รองเท้าผ้าใบคู่ใหม่ที่ตั้งใจซื้อไว้ออกกำลังกาย (รองเท้าผ้าใบคู่เก่าขาดเช่นกัน) แต่ยังไม่มีโอกาสได้ใช้ ดังนั้นฉันจึงได้ใช้บริการรองเท้าคู่นี้เป็นครั้งแรกที่ภูฎานนี่เอง

ตลอดระยะเวลาเดิน เมื่อเวลาผ่านไปนานเข้า รองเท้าฉันจึง
เริ่มทำพิษกับเท้าข้างขวา



ถ้าด้านล่างเขามีสปาให้บริการ ฉันคงเป็นคนแรกที่เข้าไปใช้บริการ ใครจะไปทำธุรกิจที่ภูฎาน ก่อนอื่นฉันแนะนำเลย สปาที่ด้านล่างวัดทักซัง










บริเวณขาลงจากเขา ..... ขาลงนี่เดินสถานเดียวค่ะ
....ชีวิตฉันมีแต่ขาพาไป...
ได้ชมความสวยงามของบริเวณรอบข้างก็ขาลงนี่ล่ะค่ะ เพราะขาขึ้นช่วงที่ขี่ม้านี่ไม่กล้ามองด้านข้างเลย (เพราะกลัวม้าตกเหว)


จากประสบการณ์ขี่ม้า กับเดินทรหด บวกความเป็นมาของผู้เผยแพร่ศาสนาพุทธในดินแดนแถบนี้ ความศรัทธาของผู้สร้างวัด จึงทำให้เส้นทางการเดินทางมายังวัดทักซังกลายเป็นสถานที่ที่ฉันประทับใจมากที่สุดในการมาเยือนภูฎาน


....รัชชี่....
บันทึกการท่องเที่ยวปี 2551







เชิญ click ฟังเพลง "ให้ฉันดูแลเธอ" จากละคร "ผู้ใหญ่ลีกับนางมา" ไปพลาง ๆ ค่ะ


ฟังวิทยุออนไลน์ ที่ izeemusic


At Wat Taksang....by Ratchee


Inside the temple I heard the sound of praying all the time. Leader of our tour said that it’s not easy to come here so we should pray to dedicate to “persons with previous deeds on each other” (เจ้ากรรมนายเวร) .

Guru Rinpoche , the monk who introduced Buddhism here in Buddhist era 8, he did a meditation here.



I spent minimum 2 hours to come here so I wanted to stay inside for a while and would like to meditate there so we meditated . After that all of us had to move out because we had to share for other tourists to stay.



I met some western tourists and talked with them, they’re American , just arrived, they walked all the way spending 3 hours, without riding a horse.








 

Create Date : 13 สิงหาคม 2552    
Last Update : 13 สิงหาคม 2552 20:59:16 น.
Counter : 3015 Pageviews.  

1  2  3  4  

รัชชี่
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 16 คน [?]




พี่มานิต ประภาษานนท์ เป็นผู้ชักชวนเข้าสู่วงการการเขียนบล็อก ด้วยประโยคว่า
“จ๊ะเขียนบล็อกซี"

เริ่มเขียนบล็อก : 24 ก.ย. 51




สงวนลิขสิทธิ์ตาม พรบ.ลิขสิทธิ์
พ.ศ.2539 ห้ามละเมิดไม่ว่าการลอกเลียน นำรูป ข้อความที่เขียนไว้หรือส่วนหนึ่งส่วนใดในบล็อกแห่งนี้ ไปเผยแพร่อ้างอิง โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของบล็อก






Setting program for counting visitors since 7 Nov. 2009
free counters
New Comments
Friends' blogs
[Add รัชชี่'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.