เต่ามะเฟืองขึ้นมาวางไข่ที่หาดท้ายเหมือง

ท้องมหาสมุทรสีครามที่ดูกว้างใหญ่ราวกับมีจุดสิ้นสุดคือเส้นขอบฟ้านั้นเป็นบ้านของสิ่งมีชีวิตจำนวนมหาศาล หรือเรียกได้ว่ามีความหลากหลายและซับซ้อนของระบบนิเวศมากเสียจนกระทั่งการทำลายธรรมชาติของน้ำมือมนุษย์นั้นส่งผลให้สิ่งมีชีวิตทั้งหลายยากที่จะดำรงชีวิตอยู่รอดจนบางสายพันธุ์ต้องสูญพันธุ์ไป แต่ท่ามกลางการต่อสู้เพื่อการอยู่รอด สัตว์สายพันธุ์หนึ่งซึ่งถือว่าเป็นสัตว์ดึกดำบรรพร้อยล้านปี คือ เต่ามะเฟือง เต่ายักษ์ขนาดใหญ่ที่สุดของโลกผู้เดินทางไปทั่วโลกที่เป็นเจ้าแห่งชายหาดมาตั้งแต่ยุคสมัยไทแรนโนซอรัสเร็กซ์ (ทีเร็กซ์) ทว่าปัจจุบันมนุษย์ครองโลกพื้นพิภพและสร้างการเปลี่ยนแปลงอันใหญ่หลวงให้กับโลกแห่งนี้ เต่ามะเฟืองที่จำเป็นต้องเลือกหาดทรายที่มืดและเงียบสงบ มีอุณหภูมิ ความชุ่มน้ำ และความละเอียดของเม็ดทรายที่เหมาะสมทำให้ประชากรของเต่ามะเฟืองลดลงจนนับวันยิ่งขยับใกล้การสูญพันธุ์เข้าไปทุกที

อุทยานแห่งชาติเขาลำปี หาดท้ายเหมือง จังหวัดพังงา เป็นสถานที่วางไข่แหล่งสุดท้ายในประเทศไทยสำหรับเต่ามะเฟือง และเป็นหนึ่งในสถานที่เพียงไม่กี่แห่งในประเทศไทยที่ยังคงมีระบบนิเวศที่สมบูรณ์อยู่ ทั้งทางทะเลและบนบก ชายหาดที่สวยงามของหาดท้ายเหมือง มีความยาว 13.6 กิโลเมตร ซึ่งมีความสมบูรณ์ ขาวสะอาด เงียบสงบ และมีพันธุ์ไม้ทะเลที่หลากหลายทางชีวภาพ เหมาะกับเป็นที่วางไข่ของเต่าทะเลทุกชนิด ทุกวันนี้ชายหาดที่สวยงามกลับกลายเป็นเป้าหมายใหม่ของธุรกิจการท่องเที่ยว แต่เต่าไม่สามารถขึ้นมาวางไข่ได้ ในอดีตมีแม่เต่ามะเฟืองเข้ามาวางไข่ที่บริเวณชาดหาดทุกคืน แต่ปัจจุบันเราคงเพียงได้แค่หวังว่าแม่เต่าจะกลับมาวางไข่ตามฤดูเป็นประจำทุกปีเท่านั้น

ฉันมาร่วมกิจกรรมทำดีเพื่อทะเลของกรีนพีซ ในระหว่างวันที่ 18-20 ธันวาคม 2555 ที่ผ่านมาเพื่อปลูกฝังจิตสำนึกการอนุรักษ์ทะเลโดยเริ่มจากสิ่งเล็กน้อยรอบตัว เช่น การเก็บขยะ การศึกษาระบบนิเวศ และสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศ ในวันแรกของการร่วมกิจกรรมฉันได้รับแจ้งข่าวดีว่ามีแม่เต่ามะเฟืองขึ้นมายังชายหาดเพื่อวางไข่เมื่อประมาณหนึ่งอาทิตย์ที่ผ่านมา และมีแนวโน้มว่าจะกลับมาวางไข่ครั้งที่สอง ในคืนนั้นเวลาตี 03.45 น. ฉันถูกปลุกขึ้นท่ามกลางห้องพักที่มืดมิดและเงียบสงัด คู่สนทนาปลายสายคือรองหัวหน้าอุทยาน “ไปดูแม่เต่ามะเฟืองวางไข่ไหม” แน่นอนว่าฉันไม่ปฏิเสธโอกาสอันแสนพิเศษนี้ ฉันออกจากห้องตรงพุ่งตรงไปยังที่นัดหมาย เราขึ้นรถกะบะแล่นไปตามความมืดสู่ส่วนลึกของหาดท้ายเหมือง ที่เป็นพื้นที่คุ้มครองและห้ามไม่ให้คนเข้า จากนั้นลงจากรถและเดินผ่านพุ่มไม้เพื่อลงไปยังชายหาด ลำแสงเล็กๆ จากไฟฉายส่องสว่างจากระยะไกล บ่งชี้ว่าแม่เต่าและไข่ของเธออยู่ในจุดนั้น มันเป็นแม่เต่ามะเฟืองขนาดประมาณ 200 กิโลกรัม หลังยาวประมาณ 2 เมตร ฉันคิดในใจว่ามันเป็นเต่าตัวใหญ่ที่สง่างามอะไรอย่างนี้ กระดองของมันเป็นหนังเรียบแต่มีขอบหยักราวกับมะเฟือง มีลายจุดสีจางๆ บนผิวหนังสีน้ำเงินเข้มเกือบจะดำรอบตัวและที่กระดอง เมื่อมองไปที่ใบหน้าของมันขณะวางไข่จะดูเหมือนว่ามันกำลังร้องไห้อยู่ มีเรื่องเล่าขานกันว่าที่แม่เต่าร้องไห้เพราะเธอต้องขึ้นมาวางไข่แต่จะไม่มีโอกาสได้พบเห็นลูกของเธออีกเลย เพราะเต่ามะเฟืองจะกลับเข้าฝั่งเฉพาะช่วงเวลาวางไข่เท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วเป็นวิธีขับเกลือออกจากร่างกายนั่นเอง แต่ลึกๆ ข้างในแล้วฉันกลับมองเห็นถึงความเหนื่อยล้าที่ต้องดำรงชีวิตอยู่ในระบบนิเวศที่ใกล้จะพังครืนทุกที

เต่ะมะเฟืองขึ้นมาวางไข่ที่หาดท้ายเหมือง

เราบอกลาแม่เต่าและอวยพรให้เธอโชคดี ความตื่นเต้นที่ได้พบกับเต่าผู้สง่างามสิ้นสุดลง ถึงเวลาที่ต้องนำไข่มาดูแลก่อนที่สัตว์อื่นๆ และมนุษย์จะนำไปขายหรือเป็นอาหารตามความเชื่อที่ผิดๆ พนักงานอุทยานขุดกองทรายอย่างระวังเพื่อไม่สร้างความเสียหายให้กับไข่ เขาค่อยๆ เกลี่ยทรายออกจนพบไข่สีขาว และได้เคลื่อนย้ายไปยังกล่องบรรจุขณะนับ ไข่ที่สมบูรณ์ที่จะมีรูปทรงกลมคล้ายกับลูกปิงปอง แต่บางส่วนคือไข่ลมซึ่งเป็นไข่ที่ไม่สมบูรณ์จะมีรูปร่างผิดแปลกเป็นวงรีบ้างวงกลมบ้าง มีขนาดเล็กกว่าปรกติ ไม่ว่าไข่จะถูกวางอยู่ในหลุมทิศทางไหน เราจะต้องหยิบขึ้นและวางกลับลงไปในทิศทางเดิมเพื่อที่ไข่จะได้เติบโตขึ้นอย่างสมบูรณ์ หากมีการพลิกคว่ำไข่นั้นจะฟักออกมาเป็นเต่าที่พิการได้ ไข่จะฟักตัวในระยะเวลา 2 เดือน เมื่อลูกเต่าออกจากไข่จะรีบรุดคลานลงสู่ท้องทะเลทันที โดยในอาทิตย์แรกจะได้รับสารอาหารจากไข่แดงที่ติดอยู่กับตัว ลูกเต่ามะเฟืองไม่สามารถฟักในสถานอนุบาลเต่าได้เนื่องจากมันจะว่ายน้ำไปชนกำแพงไปเรื่อยๆ เพื่อต้องการไปหาทะเลจนกระทั่งไข่แดงที่ตัวหมดไปและตายในที่สุด ทว่ามีเพียงหนึ่งในพันของลูกเต่าเท่านั้นที่จะรอดชีวิต และน้อยตัวนักที่จะโชคดีเจริญเติบโตเต็มวัยกลับมาวางไข่บนชายหาดเดิมที่ตนเกิด ภายใน 15 หรือ 20 ปีต่อจากนี้

การลดลงอย่างน่าใจหายของจำนวนเต่ามะเฟืองเหล่านี้ทำให้เราอดคิดไม่ได้ว่าในอนาคตเต่ายักษ์ผู้สง่างามแห่งท้องทะเลจะสูญสิ้นไป แต่ไม่เพียงแค่สัตว์เพียงหนึ่งสายพันธุ์จะหายไปเท่านั้น แต่การลดจำนวนลงของเต่าจะส่งผลกระทบถึงระบบนิเวศโดยรวมเป็นทอดๆ และระบบนิเวศของโลกทั้งหมดสามารถพังครืนลงได้ราวกับโดมิโน ขนาดเต่ายักษ์ล้านปีสายพันธุ์อึดยังเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ถึงเพียงนี้ แล้วสัตว์ทะเลชนิดอื่นจะได้รับผลกระทบขนาดไหน ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหนบนโลกใบนี้ ทั้งใกล้ชิดกับทะเลจนได้ยินเสียงคลื่น หรือห่างไกลจากชายหาดขึ้นไปยังภูเขาสูงเสียดฟ้า แต่ทุกสิ่งทุกอย่างที่มนุษย์กระทำจะกระทบถึงมหาสมุทรที่เป็นระบบนิเวศที่รองรับทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นบนบก การกระทำเล็กๆ อย่างการทิ้งขยะสามารถส่งผลกระทบอันใหญ่หลวงต่อระบบนิเวศทางทะเลได้ แต่หากคุณระมัดระวังสักนิดก่อนทำลายธรรมชาติ คำนึงถึงการ “ทำดีเพื่อทะเล” ด้วยการสร้างจิตสำนึกก่อนทำลายธรรมชาติที่เริ่มจากคุณเอง ไม่ใช่เพียงแค่จะช่วยเต่ามะเฟืองและเต่าทะเลชนิดอื่นๆ ได้ แต่ยังเป็นการสร้างการเปลี่ยนแปลงทางบวกที่จะส่งผลต่อระบบนิเวศทั้งโลกได้อีกด้วย