กรีนพีซดำรงอยู่เพราะโลกอันบอบบางใบนี้สมควรมีผู้ปกป้อง โลกต้องมีวิธีแก้ปัญหา ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ต้องมีการลงมือทำ
 
ขยะชิ้นนั้น... อาจเป็นของคุณ ก็เป็นได้!





เขียน โดย พรทิพย์ ธรรมวิชัยพันธ์

ขยะพลาสติกในท้องทะเล... ปัญหาที่หลายคนบอกว่าไกลตัว... แต่รู้หรือไม่ ว่ามันเกิดขึ้นจากการใช้ชีวิตประจำวันของตัวเราเอง... ขยะชิ้นนั้น... อาจเป็นของคุณ ก็เป็นได้!

ในวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เทศบาลเมืองแสนสุข จังหวัดชลบุรี และอาสาสมัครเยาวชนกรีนพีซกว่า 50 คน ได้ร่วมมือร่วมใจกันเก็บขยะบนชายหาดบางแสน ในกิจกรรม Greenpeace Youth Wavemakers  ตอน  Clean Up the Ocean เพื่อทำความสะอาดชายหาดบางแสน และเปิดโอกาสให้เยาวชนได้เรียนรู้ถึงปัญหาขยะและผลกระทบกับระบบนิเวศทางทะเล  

ข้อมูลจากเทศบาลแสนสุขพบว่า ขยะหาดบางแสน จะแบ่งออกเป็น 2 อย่าง ก็คือ ขยะที่อยู่บนหาดทรายซึ่งพัดขึ้นมาจากทะเล ประกอบกับขยะจากนักท่องเที่ยวที่ทิ้งไว้บนหาดเฉลี่ยวันละ 6 ตัน และขยะที่อยู่ในถังขยะบริเวณหาด ซึ่งในส่วนนี้มีมากถึงเฉลี่ยวันละ 14 ตัน

แล้วขยะพลาสติกในท้องทะเล เชื่อมโยงถึงตัวเราได้อย่างไร?...

ขยะพลาสติกมีทั้งแบบที่นำไปรีไซเคิลได้ และรีไซเคิลไม่ได้ โดยขยะถุงพลาสติกจำนวนมากที่เกิดขึ้นจากการใช้ในชีวิตประจำวันของเรานั้น จัดเป็นพลาสติกชนิดที่ย่อยสลายและรีไซเคิลไม่ได้ ดังนั้นเมื่อลอยอยู่ในท้องทะเลจะแตกตัวเป็นชิ้นเล็กๆ ทำให้มีลักษณะคล้ายกับแพลงตอน ส่งผลทำให้ปลาเข้าใจผิดคิดว่าเป็นอาหารและกินเข้าไป พอเรากินปลา เศษขยะพลาสติกเหล่านั้นจึงไม่ได้หายไหน มันยังคงอยู่ในตัวปลาที่เรากิน เป็นห่วงโซ่อาหารที่สุดท้ายเราก็ได้รับผลกระทบย้อนกลับมา

กิจกรรม Greenpeace Youth Wavemakers  ตอน  Clean Up the Ocean เมื่อวันที่ 20-21 สิงหาคม 2559 จึงเกิดขึ้นเพื่อรณรงค์สร้างความตระหนักให้แก่เยาวชนถึงปัญหาขยะในทะเล โดยเฉพาะปัญหาขยะพลาสติก รวมถึงปลูกฝังจิตสำนึกในการอนุรักษ์ท้องทะเลไทยและสร้างเครือข่ายเยาวชนที่สามารถขับเคลื่อนและสนับสนุนงานรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมต่อไป โดยขยะที่เก็บได้จากชายหาดบางแสนในครั้งนี้ จะถูกนำไปรวมกับกิจกรรมเก็บขยะที่เก็บได้จากชายหาดอื่นๆ อีกตลอดทั้งปี เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการบอกเล่าเรื่องราวของขยะสู่ท้องทะเล ผ่านงานศิลปะที่จะจัดขึ้นในช่วงปลายปีนี้

เสียงนาฬิกาปลุกดังขึ้นตอนตี 3 ครึ่ง ได้เวลาตื่นมาลุยเก็บขยะแล้วสิ น้อง ๆ อาสาสมัครเยาวชนกรีนพีซ และพี่ ๆ ประจำกลุ่ม ก็เริ่มตื่นเตรียมตัวและทยอยเดินออกมาตั้งแถว จากนั้นตี 4 ครึ่ง ก็เริ่มเคลื่อนขบวนไปที่ชายหาดเพื่อมุ่งหน้าทำภาระกิจสำคัญด้วยกัน ระหว่างทางที่เดินไปที่ชายหาดก็ได้เจอกับกลุ่มคนที่หลากหลาย ทั้งกลุ่มมอเตอร์ไซค์ที่มารวมตัวกัน ทั้งนักท่องเที่ยวที่ยังไม่หลับไม่นอน ยังคงเปิดเพลงจากเครื่องเสียงรถยนต์และดื่มกินกันอย่างสนุกสนานริมทางเลียบหาดบางแสน

พอทุกคนเดินมาถึงจุดหน้าหาด อุปกรณ์การเก็บขยะก็ถูกแจกจ่าย และก็ถึงเวลาลงมือเก็บขยะกันแล้ว เหล่าอาสาสมัครเยาวชนกรีนพีซก็กระจายตัวช่วยกันเก็บขยะบริเวณชายหาดบางแสน พร้อมกับเจ้าหน้าที่เทศบาลแสนสุข โดยขยะพลาสติกที่พบมีทั้งที่เป็นชิ้นใหญ่ และชิ้นเล็ก ถึงเล็กมาก นี่คือรอบแรกที่ออกลุยเก็บขยะกันตั้งแต่ตี 4 ครึ่ง จนถึง 7 โมงเช้า พอมาถึงการเก็บขยะรอบที่สองเริ่มกันที่ 10 โมงครึ่ง คราวนี้เราต้องใช้ตะแกรงในการร่อนเก็บขยะพลาสติกที่มีขนาดเล็กมาก น้องๆ เต็มที่กันสุดๆ ทั้งที่ต้องเจอกับแสงแดดที่ร้อนระอุ แต่ทุกคนก็มุ่งมั่นกันอย่างจริงจัง

หลังเสร็จสิ้นภาระกิจเก็บขยะทั้งสองรอบ ซึ่งใช้เวลารวมกันเพียง 3 ชั่วโมงครึ่งเท่านั้น อาสาสมัครเยาวชนของเราสามารถเก็บขยะได้มากถึง 22 ถุงดำ (ถุงขนาด 30x40 นิ้ว) โดยพบว่าขยะส่วนใหญ่ที่เก็บได้เป็น ยางวง ถุงพลาสติก ขวดน้ำพลาสติก เศษโฟม เชือกไนล่อน และก้นบุหรี่

แต่ถึงอย่างไรก็ตามการแยกขยะหรือเก็บขยะเช่นนี้ ก็เป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น ทางออกและสิ่งที่จะทำให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ควรเริ่มตั้งแต่ต้นทางที่ตัวเรา ซึ่งนั่นก็คือ ลดการสร้างขยะ เพราะสุดท้ายปัญหาขยะในทะเลก็จะไม่ทำร้ายแค่สัตว์ทะเลเท่านั้น แต่มันจะย้อนกลับมาถึงตัวเรา...ในที่สุด

ณศรัณย์ อมรฉันทนากร เยาวชนกรีนพีซ

“ปัญหาขยะ คือสิ่งรอบตัว มันไม่ใช่สิ่งไกลตัวเลย ขยะมันเกลื่อนไปหมด ง่ายที่สุดคือเริ่มที่ตัวเรา ไม่ต้องไปสั่งให้ใครเก็บ เราต้องเริ่มที่ตัวเราคือเก็บทิ้งขยะให้เป็นที่ และที่สำคัญคือลดการใช้ หัดปฏิเสธบ้าง ไปซื้อของร้านสะดวกซื้อ ก็ต้องปฏิเสธให้หนักแน่นไปเลยว่า…ไม่ใส่ถุงค่ะ” ณศรัณย์ อมรฉันทนากร หนึ่งในอาสาสมัครเยาวชนกรีนพีซที่เข้าร่วมกิจกรรมให้ความเห็น

ชินดนัย แก้วภูบาล เยาวชนกรีนพีซ

และอีกหนึ่งตัวอย่างของการพยายามลดขยะพลาสติก โดยมุ่งเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมของผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย “เวลาผมเข้าร้านสะดวกซื้อ พนักงานก็จะรู้ว่าผมจะไม่เอาถุง เพราะผมจะบอกเค้าประจำว่าไม่เอาถุง หรือหากซื้อของเยอะจริง ๆ ก็จะให้ใส่ของรวมกันได้เลยในหนึ่งถุงใหญ่ไม่ต้องแยกถุงตามประเภทของ ทำแบบนี้ประจำจนตอนนี้เขาจำได้แล้วครับ”  ชินดนัย แก้วภูบาล หนึ่งในอาสาสมัครเยาวชนกรีนพีซที่เข้าร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนวิธีที่เขาใช้เพื่อลดการสร้างขยะ

กิจกรรมนี้นอกจากน้องเยาวชนกรีนพีซจะได้รับความรู้จากเทศบาลแสนสุขเรื่องการจัดการขยะแล้ว ยังได้ความรู้และแรงบันดาลใจอย่างมหาศาลจากแนวคิดและวิธีการทำงานของกลุ่ม TRASH HERO THAILAND ซึ่งเป็นคณะทำงานที่จัดตั้งขึ้นโดยมีแนวคิดที่ว่า “คิดแล้ว ก็ลุยเลย” ไม่จำเป็นต้องรออะไร เพราะการลงมือทำงานอาสาฯ เพื่อสิ่งแวดล้อม ไม่จำเป็นต้องมีแบบแผนอะไรเลย ขอแค่ใจที่โตก็พอ

ศักดาเดช สุดแสวง TRASH HERO THAILAND

“พวกเราในฐานะผู้บริโภคควรหันมาตระหนักและใส่ใจกับผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมจากขยะในปัจจุบันให้มากขึ้น อาจเริ่มต้นจากการลด ละ เลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง เช่น หลอด หรือ ถุงพลาสติกใส่อาหาร นอกจากผู้บริโภคและประชาชนทั่วไปแล้ว ภาคเอกชน และภาครัฐ ควรออกนโยบายพื่อแก้ไขต่อเรื่องนี้อย่างจริงจัง” คุณศักดาเดช สุดแสวง หนึ่งในคณะทำงาน TRASH HERO THAILAND ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในกิจกรรมครั้งนี้กับเยาวชน

ถึงแม้ว่าตอนนี้การจัดการปัญหาขยะของภาครัฐ รวมไปถึงการปลูกฝั่งจิตสำนึกของประชาชนทั่วไปในเรื่องนี้จะยังมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอ แต่อย่างน้อยกิจกรรมนี้ ที่ได้พยายามมุ่งปลูกฝังความรู้และความตระหนักใส่ใจเรื่องปัญหาขยะ และขยะพลาสติกให้เด็ก ๆ และเยาวชน จะทำให้เกิดคลื่นและแรงกระเพื่อมไปในทิศทางที่ดีได้ในอนาคตไม่มากก็น้อย

อัญชลี พิพัฒนวัฒนากุล กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“การจัดการขยะของประเทศไทย ตอนนี้ยังไม่มีประสิทธิภาพที่เพียงพอ ยังคงขาดการส่งเสริมการให้ความรู้ และขาดแรงจูงใจ ตอนนี้เป็นเพียงการดำเนินการโดยใช้ความสมัครใจ ยังไม่มีกฏหมายที่เข้มแข็งที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง” คุณอัญชลี พิพัฒนวัฒนากุล ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทร กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ร่วมให้ข้อมูลปัญหาขยะ 

ดังนั้นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ปัญหาขยะพลาสติกลดน้อยลงหรือดีขึ้น ไม่ได้อยู่แค่ที่ใคร หรือแค่หน่วยงานใด ๆ หากแต่ว่า“ตัวคุณเอง” ก็มีส่วนที่จะเป็นผู้กำหนดทิศทางและกลไกของการเพิ่มและลดจำนวนขยะพลาสติกของโลกใบนี้ด้วย



ที่มา: Greenpeace Thailand



Create Date : 23 สิงหาคม 2559
Last Update : 23 สิงหาคม 2559 10:50:44 น. 0 comments
Counter : 1239 Pageviews.  
 
Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

greenpeacethailand
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




ในพ.ศ.2514 กลุ่มนักกิจกรรมกลุ่มเล็กๆ จากเมืองแวนคูเวอร์ แคนาดา ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากวิสัยทัศน์แห่งโลกสีเขียวและมีสันติสุข ได้แล่นเรือหาปลาเก่าๆ ออกจากแวนคูเวอร์ แคนาดา นักกิจกรรมเหล่านี้ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งกรีนพีซ เชื่อว่าบุคคลไม่กี่คนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

ภาระกิจของพวกเขาคือการ "เป็นประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุ" ของการทดลองนิวเคลียร์ใต้ดินที่เกาะอัมชิตกา ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ นอกชายฝั่งตะวันตกของรัฐอลาสก้า ซึ่งเป็นภูมิภาคที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

อัมชิตกาเป็นสถานหลบภัยของนากทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์ 3,000 ตัว และเป็นบ้านของนกอินทรีย์หัวล้าน เหยี่ยวต่างถิ่น และ สัตว์ป่าอื่นๆ มากมาย

ถึงแม้ว่าเรือเก่าๆ ของพวกเขา คือ ฟิลลิส คอร์แมก ถูกขัดขวางก่อนที่จะไปถึงอัมชิตกา แต่การเดินทางครั้งนี้จุดประกายเล็กน้อยให้แก่ความสนใจของสาธารณชน

สหรัฐอเมริกายังคงจุดระเบิดอย่างหนักหน่วง แต่เสียงเพรียกแห่งเหตุผลมีผู้ได้ยินแล้ว การทดลองนิวเคลียร์บนเกาะอัมชิตกาได้สิ้นสุดลงในปีเดียวกัน และเกาะแห่งนั้นได้ถูกประกาศให้เป็นสถานหลบภัยของนกทั้งหลาย

ปัจจุบัน กรีนพีซเป็นองค์กรนานาชาติที่ให้ความสำคัญแก่การรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก


คุณพร้อมที่จะร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือยัง?
มีหลายวิธีที่คุณสามารถทำได้ตอนนี้!


หลายคนอาจจะคิดว่าการดูแลรักษาโลกเป็นเรื่องยาก แค่ลำพังเราอาจทำอะไรได้ไม่มากนัก แต่ในความเป็นจริงแล้วแค่เพียงสองมือเล็กๆของเราก็สามารถทำเพื่อโลกได้มากมาย อ่านต่อ

ติดตามกรีนพีซเพ่ิมเติมได้ที่:

Facebook | Twitter | Instagram | YouTube
[Add greenpeacethailand's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com