สถานการณ์น้ำท่วมยังไม่คลี่คลายและเหมือนว่ากำลังจะหนักขึ้นเมื่อมวลน้ำปริมาณมหาศาลกำลังจ่อไหลกลึนเมืองหลวงกรุงเทพมหานครในเร็วๆ นี้  ซึ่งมีประชากรและบ้านเรือนหนาแน่น ผลกระทบจึงยิ่งมหาศาลทวีคูณ และปัญหาที่คนในเมืองอาจหลีกหนีไม่พ้นคือ ปัญหา “มลพิษ” ขยะ สิ่งปฏิกูล และคุณภาพน้ำที่เสื่อมโทรมจากการชะล้างสิ่งต่างๆ และการขังของน้ำเป็นเวลานานนั้นเอง 


หลายวันผ่านไปหลังน้ำได้ทยอยท่วมบริเวณอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ตั้งขวางทางไหลของน้ำและไม่สามารถทานพลังมหาศาลของน้ำได้ โรงงานหลายแห่งล้วนต้องจมอยู่ใต้น้ำ ข่าวการรั่วไหลของสารเคมีและทำให้ผู้คนบาดเจ็บเริ่มเกิดขึ้นจริงในหลายพื้นที่อุตสาหกรรมที่มีน้ำท่วมได้เพิ่มความกังวลของผู้คนต่อประเด็นการรั่วไหลสารเคมี และน้ำเสียและกากตะกอนเคมีปริมาณมหาศาลที่อยู่ในบ่อบำบัดน้ำเสียของแต่ละโรงงานหรือนิคมอุตสาหกรรมย่อมกระจายออกมาปนเปื้อนเจือในน้ำที่กำลังไหลมาสู่กรุงเทพในเร็ววันนี้

ตอนนี้คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่ามีการรั่วไหลของสารเคมีลงสู่น้ำและอากาศ แน่นอนว่าบริเวณประกอบอุตสาหกรรมย่อมมีความอันตราย ไม่มีใครรู้ว่ามีสารเคมีอยู่ที่ใดบ้างและรั่วไหลจากที่ไหนบ้างปริมาณเท่าใด แต่ก็ยังโชคดีว่าตอนนี้ยังไม่เกิดใดๆ เหตุการณ์ที่รุนแรงกระทบเป็นวงกว้าง บริเวณบ่อฝังกลบขยะก็เป็นอีกหนึ่งจุดที่ต้องเฝ้าระวังและยังไม่มีหน่วยงานใดที่เข้าไปตรวจสอบว่ามีบ่อขยะใดถูกน้ำท่วมบ้าง ซึ่งน้ำที่ไหลหรือซึมออกมาจากบ่อขยะจะเป็นน้ำเสียที่อันตรายมาก มีทั้งเชื้อโรคและสารพิษที่สามารถก่อผลกระทบได้ในระดับรุนแรง
ขณะนี้หลายพื้นที่กำลังประสบปัญหาน้ำท่วมขังเน่าเหม็น และจะด้วยสาเหตุใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นน้ำเสียหรือมลพิษจากโรงงาน ขยะและสิ่งปฏิกูลที่แช่อยู่ในน้ำ และน้ำเน่าจากท่อน้ำและลำคลองก็ล้วนเป็นแหล่งสะสมและแพร่กระจายให้เกิดในวงกว้าง

ปัญหาที่กำลังเป็นที่สนใจของคนในเมืองคงหนีไม่พ้นเรื่องของน้ำประปา ซึ่งเกี่ยงข้องโดยตรงกับประชากรในเมืองทุกคนที่ปัจจุบันล้วนต้องอาศัยพึ่งพาน้ำประปาในการดำรงชีวิต น้ำได้ไหลท่วมเข้าไปปนเปื้อนแหล่งขนส่งน้ำดิบหรือคลองประปา และในขณะเดียวกันแหล่งน้ำดิบซึ่งคือแม่น้ำเจ้าพระยาก็กำลังประสบปัญหาคุณภาพเสื่อมโทรม เหตุเป็นเพราะน้ำจากคลองต่างๆ ที่พัดพาขยะ สิ่งเน่าเสียล้วนไหลลงสู่แม่น้ำ จึงเป็นเรื่องไม่เกินความคาดหมายที่การผลิตน้ำประปาย่อมเกิดปัญหา น้ำประปาในบางพื้นที่อาจมีกลิ่นเหม็น มีสีเขียว สีน้ำตาล หรืออื่นๆ ที่แตกต่างไป ซึ่งมีสาเหตุจากปัญหาคุณภาพน้ำดิบที่ และอาจมีความเป็นไปได้ว่าท่อส่งประปาอาจมีการรั่วไหลในบางจุดที่ทำให้น้ำท่วมอาจซึมเจือปนสู่น้ำประปา

สิ่งปนเปื้อนในน้ำอาจมีหลายชนิด ตั้งแต่พาโทเจนหรือเชื้อโรค (แบคทีเรีย ไวรัส โปรโตรซัว) และสารเคมีต่างๆ เช่น โลหะหนัก สารอินทรีย์อันตราย และสารระเหยอินทรีย์ ซึ่งล้วนสามารถส่งผลต่อมนุษย์จากการสัมผัสและกลืนเข้าสู่ร่างกายได้แบบเฉียบพลันและระยะยาว เชื้อโรคส่วนใหญ่สามารถส่งผลได้อย่างเฉียบพลัน ในขณะที่สารเคมีส่วนใหญ่อาจส่งผลในระยะยาวจากการสะสมในร่างการมนุษย์ สารเคมีเหล่านี้หลายชนิดไม่ย่อยสลายและสามารถสะสมได้ในสิ่งแวดล้อมและห่วงโซ่อาหาร สารเคมีอันตรายเหล่านี้อาจสามารถตกค้างอยู่ในพื้นที่ที่มีการท่วมขังหรือไหลปนเปื้อนลงสู่แม่น้ำและอ่าวไทยซึ่งเป็นแหล่งอาหารของคนไทย  

น้ำที่ไหลชะล้างแหล่งกำเนิดมลพิษเหล่านี้ย่อมทำให้มีการกระจายตัวในวงกว้าง แต่ด้วยปริมาณน้ำมหาศาลเหล่านี้ ย่อมเจือจางความเข้มข้น โดยเฉพาะสารเคมีอันตรายที่เจือจางและการไหลของน้ำอาจทำให้การตรวจสอบหรือตรวจวัดไม่สามารถชี้วัดได้ จึงไม่แปลกที่หน่วยงานภาครัฐจะรีบออกมาบอกว่าไม่พบสารพิษ ไม่พบการปนเปื้อนที่เป็นนัยสำคัญ นั้นก็เพราะมันไหลกระจายไปแล้ว แต่สิ่งที่ภาครัฐควรที่จะต้องบอกกับประชาชน คือแหล่งกำเนิดมลพิษเหล่านี้อยู่ที่ไดบ้าง มีการจัดการอย่างไร และยอมรับถึงมาตรการการจัดการสารเคมีของประเทศไทยที่หละหลวมและไม่สามารถสร้างความปลอดภัยอะไรให้กับประชาชนได้เลย

ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมในสภาวะการณ์น้ำท่วมเช่นนี้ อาจดูเหมือนไม่ใช่ประเด็นเร่งด่วนหรือปัญหาลำดับสำคัญมากกว่าการแก้ปัญหาน้ำท่วมและการช่วยเหลือผู้ประสบภัย แต่เราก็ไม่ควรลืมเรื่องสิ่งแวดล้อมไปเพราะมันมีความเชื่อมโยงโดยตรงกับมนุษย์นั้นเอง