กรีนพีซดำรงอยู่เพราะโลกอันบอบบางใบนี้สมควรมีผู้ปกป้อง โลกต้องมีวิธีแก้ปัญหา ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ต้องมีการลงมือทำ
 
สืบสานประเพณีรับบัว สืบทอดสายใยแห่งสายน้ำ

ริมฝั่งคลองสำโรง อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ผู้คนนับหมื่นมารวมตัวกันด้วยสีหน้าที่ยิ้มแย้ม และสายตาที่จับจ้องแน่วแน่ไปตามลำน้ำด้วยแรงแห่งศรัทธา ฉันรู้สึกราวกับถูกสะกดให้อยู่ในภวังค์ สายสัมพันธ์แห่งสายน้ำก่อบ่มเป็นสายใยร้อยเรียงผู้คนที่นี่เกิดความรักและเคารพสายน้ำไม่ว่าจะผ่านกาลเวลามานานเท่าไร


หลังจากที่ได้สร้างความสัมพันธ์อันดีกับชุมชนริมคลองสำโรงตลอดช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ฉันและเพื่อนๆ ชาวกรีนพีซพร้อมด้วยอาสาสมัครได้มีโอกาสมาเยือนคลองสำโรงอีกครั้งในช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 29 ตุลาคม 2555 ที่ผ่านมา ในใจรู้สึกอิ่มเอิบยินดียิ่งนัก เพราะพวกเรากำลังจะได้เป็นส่วนหนึ่งในสักขีพยานของวัฒนธรรมอันยิ่งใหญ่และยาวนานของประเพณีรับบัว อันเป็นเอกลักษณ์หนึ่งเดียวในโลกที่หาชมได้เพียงที่นี่ที่เดียวเท่านั้น

ตลอดสองฝั่งคลองคราคร่ำไปด้วยผู้คนมากมายที่มาร่วมงานด้วยสีหน้าเปื้อนยิ้มเอ่ยคำทักทายกันอย่างเป็นกันเอง บ้างก็มาจับจองนั่งรออยู่ที่ริมคลองตั้งแต่ก่อนหกนาฬิกา บ้างก็ระงับภาระกิจส่วนตัวของตนในช่วงเช้าและมาในชุดนักศึกษาและชุดทำงาน ยิ่งฉันได้นั่งซึมซาบบรรยากาศก็ยิ่งทำให้จังหวะหัวใจเต้นถี่ขึ้นด้วยความตื้นตันว่า ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงปีละครั้ง และเป็นหนึ่งเดียวในโลกแห่งนี้คงไม่ได้เกิดขึ้นได้โดยบังเอิญ แต่เป็นความผูกพันอย่างลึกซึ้งระหว่างคนกับสายน้ำที่ดึงดูดผู้คนมาได้มากขนาดนี้

จวบจนเลยเวลาแปดนาฬิกา ผู้คนยังคงหลั่งไหลกันมาอย่างไม่ขาดสาย เช่นเดียวกับสายน้ำคลองสำโรงที่ยังคงไหลรินเป็นสายเลือดที่หล่อเลี้ยงผู้คนทางด้านวิถีชีวิตมาช้านาน จนก่อเกิดเป็นประเพณีวัฒนธรรมอันยิ่งใหญ่โด่งดังไปทั่วโลก ประเพณีรับบัวได้รับการสืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยโบราณของชาวบางพลี โดยจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 29 ตุลาคม 2555 นั่นเอง

ประเพณีรับบัวเป็นงานที่แสดงถึงความมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อคนต่างถิ่นที่แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของชาวอำเภอบางพลีที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับสายน้ำสืบเนื่องมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน  จากความเป็นมาเล่าขานกันว่าเป็นประเพณีที่ชาวบางพลีจัดขึ้นเพื่อต้อนรับคนมอญพระประแดงที่ทำนาอยู่ที่ตำบลบางแก้ว เมื่อถึงเวลาออกพรรษาคนมอญจะกลับไปทำบุญที่อำเภอพระประแดง จึงร่วมกันเก็บดอกบัวเพื่อให้คนมอญนำกลับไปถวายพระที่วัดเพื่อนำไปบูชาหลวงพ่อโต และนำน้ำมนต์ของหลวงพ่อกลับไปเพื่อเป็นสิริมงคล ส่วนดอกบัวที่เหลือชาวมอญก็นำกลับไปบูชาพระคาถาพันที่วัดของตน ระหว่างการเดินทางทางน้ำที่ยาวนานก็ต่างพากันร้องรำทำเพลงบนเรือ คนไทยได้เตรียมอาหารคาวหวานไปเลี้ยงรับรอง จึงเป็นที่มาของประเพณีรับบัวมาจนถึงทุกวันนี้

ในงานประเพณีวันนี้มีประชาชนทั้งในท้องที่บางพลีและอำเภอใกล้เคียงมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติว่าชาวบางพลีจะหาดอกบัวหลวงไว้มอบให้แก่ชาวต่างบ้านต่างเรือนที่มาเยือน รวมถึงจัดหาอาหารเพื่อเลี้ยงแขก ในวันนั้นเราจึงสัมผัสได้ถึงความอบอุ่นในวิถีชีวิตริมสายน้ำที่งดงาม อิ่มบุญ อิ่มใจ และอิ่มท้อง เพราะเมื่อเริ่มงานตั้งแต่เจ็ดนาฬิกา ชาวบ้านจะร่วมกันโยนข้าวเหนียว และข้าวต้มมัดที่ใช้เป็นอาหารทานระหว่างเดินทาง เพื่อแบ่งปันให้แขกเหรื่อได้รับประทานตลอดสองฝั่งคลองสำโรง ประสานคลอเคล้ากับเสียงเพลงที่สนุกสนาน ขณะที่ขบวนเรือแห่อัญเชิญหลวงพ่อโตจำลองจะเคลื่อนจากวัดบางพลีใหญ่ในไปจนถึงที่ว่าการอำเภอบางพลี ดอกบัวที่เต็มเปี่ยมไปด้วยศรัทธาของผู้คนลอยละล่องตกลงสู่บนเรือแห่ เพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ จนเมื่อใกล้ถึงที่ว่าการอำเภอบางพลีดอกบัวบนเรือก็พูนสูงในระดับอกขององค์พระ เป็นภาพที่น่าประทับใจตราตรึงอยู่ในดวงจิตของพุทธศาสนิกชน

หลังจากดอกบัวดอกสุดท้ายจากฝูงชนถูกโยนขึ้นไปบนเรือ ฉันเองอดนึกถึงภาพของงานประเพณีรับบัวนี้ไม่ได้ว่าในอดีตจะมีความวิจิตรงดงามเพียงใด เดิมทีคลองสำโรงแห่งนี้เคยเป็นคลองที่ใสสะอาดและมีดอกบัวหลวงทั้งตูมและบานสะพรั่งแต่งแต้มธาราไว้อย่างสง่างาม ยากที่จะหาลำคลองใดคล้ายคลึง ดอกบัวถือเป็นสิ่งล้ำค่าของคลองสำโรงที่อยู่เคียงคู่กับลำธารที่สะอาดจนกระทั่งสามารถลงไปดำผุดดำว่ายดื่มน้ำได้อย่างสดชื่น สามารถเก็บดอกบัวมาบูชาพระและแบ่งปันให้แขกผู้มาเยือนได้อย่างไม่มีหมดสิ้น ความโอบอ้อมอารีของชาวไทยที่มีต่อแขกต่างถิ่นนั้นเรียกได้ว่าเป็นผลพวงจากความอุดมสมบูรณ์ของลำน้ำที่โอบอุ้มสรรพสิ่งและวิถีชีวิตของคนไทยก็คงไม่ผิดอะไรนัก แต่ปัจจุบันเราไม่สามารถพบเห็นภาพดอกบัวเช่นนั้นได้อีก สิ่งที่เข้ามาแทนอย่างขมขื่น คือ การเป็นแหล่งรองรับความเจริญจากกรุงเทพฯ กับโรงงานอุตสาหกรรมที่ผุดขึ้นมาในอำเภอบางพลีกว่า 800 แห่ง ที่ทำให้สภาพของคลองสำโรงเปลี่ยนไปอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ หรือจากคลองสวรรค์เป็นท่อระบายน้ำ

ถึงแม้จะได้รับผลกระทบทางมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมที่เข้ามาพร้อมกับความเจริญ แต่กระนั้นยังไม่สามารถทำลายสายใยอันแน่นแฟ้นของคนและสายน้ำอันเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านที่มีคุณค่าและความหมาย ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่บรรพบุรุษชาวบางพลีได้มอบไว้ให้แก่คนรุ่นต่อไปผ่านทางประเพณีรับบัว ซึ่งสิ่งเหล่านี้คงเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากขาดซึ่งสายน้ำใสสะอาดที่คอยหล่อเลี้ยงสรรพชีวิตในลำคลอง และชีวิตผู้คนอีกนับหมื่นนับแสนริมสองฝั่งธารา

ถึงประเพณีรับบัวจะผ่านพ้นไป แต่กลิ่นอายความอบอุ่นในไมตรีจิตของชุมชนริมสายน้ำยังคงคุกรุ่นไม่คลาย ภาพของผู้คนนับหมื่นร่วมกันถือดอกบัวพนมมือพร้อมกับโยนดอกบัวหลวงสีขาวปนชมพูขึ้นไปยังเรือนั้นยังคงฝังอยู่ในภาพความประทับใจ จะเกิดอะไรขึ้นหากสายน้ำเน่าเสียไป ประเพณีรับบัวอันล้ำค่านี้จะเสื่อมสูญไปด้วยหรือไม่ หากแม้นสายน้ำทุกสายไร้ซึ่งดอกบัวและชีวิตชีวา วัฒนธรรม ความศรัทธา และวิถีชีวิตของผู้คนจะยังคงอยู่หรือไม่ ในปีนี้เรายังคงมีประเพณีรับบัวอันยิ่งใหญ่คู่กับลำน้ำคลองสำโรง แต่หากเราไม่ร่วมมือกันรักษ์ลำคลองเพื่อสืบสานสายใยแห่งสายน้ำเสียตั้งแต่ตอนนี้ ประเพณีรับบัวอาจเป็นเพียงแค่วัฒนธรรมในอดีตที่ไม่อาจหวนคืน




Create Date : 02 พฤศจิกายน 2555
Last Update : 2 พฤศจิกายน 2555 7:04:33 น. 0 comments
Counter : 3043 Pageviews.  
 
Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

greenpeacethailand
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




ในพ.ศ.2514 กลุ่มนักกิจกรรมกลุ่มเล็กๆ จากเมืองแวนคูเวอร์ แคนาดา ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากวิสัยทัศน์แห่งโลกสีเขียวและมีสันติสุข ได้แล่นเรือหาปลาเก่าๆ ออกจากแวนคูเวอร์ แคนาดา นักกิจกรรมเหล่านี้ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งกรีนพีซ เชื่อว่าบุคคลไม่กี่คนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

ภาระกิจของพวกเขาคือการ "เป็นประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุ" ของการทดลองนิวเคลียร์ใต้ดินที่เกาะอัมชิตกา ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ นอกชายฝั่งตะวันตกของรัฐอลาสก้า ซึ่งเป็นภูมิภาคที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

อัมชิตกาเป็นสถานหลบภัยของนากทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์ 3,000 ตัว และเป็นบ้านของนกอินทรีย์หัวล้าน เหยี่ยวต่างถิ่น และ สัตว์ป่าอื่นๆ มากมาย

ถึงแม้ว่าเรือเก่าๆ ของพวกเขา คือ ฟิลลิส คอร์แมก ถูกขัดขวางก่อนที่จะไปถึงอัมชิตกา แต่การเดินทางครั้งนี้จุดประกายเล็กน้อยให้แก่ความสนใจของสาธารณชน

สหรัฐอเมริกายังคงจุดระเบิดอย่างหนักหน่วง แต่เสียงเพรียกแห่งเหตุผลมีผู้ได้ยินแล้ว การทดลองนิวเคลียร์บนเกาะอัมชิตกาได้สิ้นสุดลงในปีเดียวกัน และเกาะแห่งนั้นได้ถูกประกาศให้เป็นสถานหลบภัยของนกทั้งหลาย

ปัจจุบัน กรีนพีซเป็นองค์กรนานาชาติที่ให้ความสำคัญแก่การรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก


คุณพร้อมที่จะร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือยัง?
มีหลายวิธีที่คุณสามารถทำได้ตอนนี้!


หลายคนอาจจะคิดว่าการดูแลรักษาโลกเป็นเรื่องยาก แค่ลำพังเราอาจทำอะไรได้ไม่มากนัก แต่ในความเป็นจริงแล้วแค่เพียงสองมือเล็กๆของเราก็สามารถทำเพื่อโลกได้มากมาย อ่านต่อ

ติดตามกรีนพีซเพ่ิมเติมได้ที่:

Facebook | Twitter | Instagram | YouTube
[Add greenpeacethailand's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com