กรีนพีซดำรงอยู่เพราะโลกอันบอบบางใบนี้สมควรมีผู้ปกป้อง โลกต้องมีวิธีแก้ปัญหา ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ต้องมีการลงมือทำ
 
คำขอร้องจากลูกปลากระตัก “ปลาข้าวสาร-ปลาสายไหม”

Blogpost โดย อัญชลี พิพัฒนวัฒนากุล -- สิงหาคม 24, 2558 ที่ 20:00

ลูกปลาหลายชนิดถูกเปลี่ยนชื่อและนำมาขายในท้องตลาด ที่จริงแล้วลูกปลาเหล่านั้นไม่ใช่สัตว์น้ำสายพันธุ์ขนาดเล็ก แต่เป็นลูกปลาเศรษฐกิจที่ยังมีขนาดเล็กถูกจับมาด้วยอวนตาถี่ ซึ่งคนรักอาหารทะเลอาจยังไม่รู้ว่าได้กินลูกปลาที่น่าสงสารเหล่านี้ และทำลายระบบสำคัญของห่วงโซ่อาหารโดยไม่รู้ตัว

ชื่อที่เรียกของปลากะตัก มีอะไรบ้าง

ปลากะตักมีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น ปลาข้าวสาร ปลาฉิ้งฉ้าง ปลาไส้ตัน ปลานิ่วเกี๊ยะ ปลาหัวอ่อน 1 ปลามะลิ  ปลาเก๋ย ปลากล้วย 2

ปลากะตัก ชนิดที่อยู่ในประเทศไทย คือพันธุ์อะไร
มีขนาดใหญ่แค่ไหน

ปลากะตักที่พบในอ่าวไทยที่พบมี 4 ชนิด ทั้งบริเวณอ่าวไทยและอันดามัน มีขนาดที่แตกต่างกันไปตามสายพันธ์และเพื่อเป็นการป้องกันการตัดวงจรชีวิตสัตว์น้ำ เราแนะนำให้บริโภคปลาที่มีขนาดโตเต็มวัยตามขนาดความยาวแรกเริ่มสืบพันธุ์ ซึ่งปลากระตัก 4 ชนิดที่พบในไทยมีขนาดดังนี้

1. Encrasicholina heteroloba (Rüppell, 1837)  
ขนาดความยาวแรกเริ่มสืบพันธุ์ 5 - 6.7 cm  ขนาดใหญ่สุดที่พบ 12.0 cm 3




2. Encrasicholina punctifer  (Fowler, 1938)
ขนาดความยาวแรกเริ่มสืบพันธุ์  7 cm  ขนาดใหญ่สุดที่พบ 13 cm  4




3. Encrasicholina devisi (Whitley, 1940)
ขนาดความยาวแรกเริ่มสืบพันธุ์ 4 cm  ขนาดใหญ่สุดที่พบ 8 cm 




4. Stolephorus indicus  (van Hasselt, 1823)
ขนาดความยาวแรกเริ่มสืบพันธุ์ 12 cm  ขนาดใหญ่สุดที่พบ 15.5 cm  6  ในประเทศไทยพบว่ามีขนาดยาวสุด 10 cm7  



ประโยชน์และบทบาททางระบบนิเวศของปลากะตัก

ปลากะตักถือว่าเป็น สัตว์น้ำที่อาศัยอยู่บริเวณผิวน้ำถึงกลางน้ำ8และเป็นสิ่งมีชีวิตที่เคลื่อนที่ได้อย่างเป็นอิสระด้วยตัวเอง ไม่ขึ้นกับการเคลื่อนที่ของมวลน้ำ(Nekton)  ได้แก่ปลา สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเล หมึก เป็นต้น โดยพวกที่เป็นสัตว์กินเนื้อ carnivorous จะว่ายน้ำเพื่อหาอาหาร และหลบภัยจากศัตรูโดยไม่จำเป็นต้องอยู่ใกล้แหล่งอาหารเสมอไป บางครั้งอาจมีการอพยพโยกย้ายถิ่นฐานได้เพื่อหาแหล่งอาหารใหม่ หรือเพื่อการผสมพันธุ์ 9

ปลากะตัก ซึ่งเป็นปลาในห่วงโซ่อาหารชั้นที่สามจากห้าชั้นของสัตว์ทะเล ปลากะตักกินแพลงก์ตอนเป็นอาหาร และเป็นอาหารของปลาหมึกและปลาเศรษฐกิจ เช่น ปลาอินทรี ปลาทรายแดง เป็นต้น ดังนั้นการเพิ่มหรือลดของปลากะตักจึงเป็นตัวชี้วัดความสมดุลของท้องทะเล หากจับปลากะตักมากเกินไป ปลาใหญ่ซึ่งกินปลากะตักเป็นอาหารย่อมลดปริมาณลง10

วิธีการจับปลากะตัก เครื่องมือประมงอะไร มีข้อเสียอย่างไร
อนุญาตให้ใช้เครื่องอะไรจับ

เครื่องมือประมงปลากะตักที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันที่ถูกกฏหมายมี 2 ชนิดด้วยกันคือ

  1. เครื่องมือประมงประเภทอวนครอบ ช้อน ยก ประกอบแสงไฟล่อ ทำการประมงในเวลากลางคืน ตามกฎหมายประมง พ.ศ. 2490  กำหนดขนาดตาอวนต้องไม่ต่ำกว่า 0.6 เซนติเมตร และต้องทำประมงห่างจากฝั่ง 3 ไมล์ทะเล  ต่อมาตามประกาศ กระทรวงเกษตรฯปี 2543 อนุญาตเฉพาะเพียงจำนวนเท่าที่ได้รับการจดทะเบียนเท่านั้น หรือ ห้ามมิให้มีการออกใบอนุญาตเพิ่ม  เรือประมงที่ใช้เครื่องมือประมงชนิดนี้มีทั้งเรือขนาดเล็กหรือเรือประมงพื้นบ้านที่มีความยาวต่ำกว่า 14 เมตร และเรือประมงพานิชซึ่งมีความยาว 14 เมตรขึ้นไป
  2. เครืองมือประมงอวนล้อมจับปลากะตักกลางวัน กฏหมายกำหนดให้ขนาดตาอวนไม่ต่ำกว่า 0.6 ซม. ห้ามใช้ประกอบแสงไฟล่อ และทำประมงได้ในระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตกเท่านั้น เรืออวนล้อมปลากะตักกลางวัน โดยทั่วไปกฏหมายอนุญาติให้ทำประมงได้ถึงบริเวณชายฝั่ง ยกเว้นในบางพื้นที่เท่านั้นที่มีการประกาศเป็นเขตห้ามทำอวนล้อมปลากะตักกลางวัน เช่น ในเขตอ่าวบางสะพาน ที่ประกาศจังหวัดห้ามทำประมงอวนล้อมปลากะตักกลางวันในเขต 3,000 เมตรจากชายฝั่ง  เป็นต้น ต่อมาตามประกาศ กระทรวงเกษตรฯปี 2543  อนุญาตเฉพาะเพียงจำนวนเท่าที่ได้รับการจดทะเบียนเท่านั้น หรือ ห้ามมิให้มีการออกใบอนุญาตเพิ่ม เรืออวนล้อมปลากะตักกลางวันเป็นเรือประมงกลางถึงใหญ่ ที่ใช้ลูกเรือไม่ต่ำกว่า 5 คน

อย่างไรก็ตามกฏหมายประมงในเรื่องการทำประมงปลากะตักมีช่องโหว่ที่ทำให้เกิดการจับลูกปลากะตัก หรือที่เรียกว่าข้าวสาร หรือปลาสายไหม และทำลายทรัพยากรประมงชนิดอื่น ๆ ด้วย 11คือ

ประการที่ 1  การใช้แสงไฟล่อ และใช้อวนตาถี่ขนาด 0.6 ซม นั้นทำให้เกิดการจับสัตว์น้ำวัยอ่อนชนิดอื่น ๆ ขึ้นมาด้วยอย่างมาก โดยเฉพาะลูกปลาเศรษฐกิจชนิดต่าง ๆ

ประการที่ 2  ขนาดตาอวน 0.6 ซม เป็นขนาดตาที่เล็กมากเกินไป ส่งผลให้ปลากะตักที่จับได้จะเป็นปลากะตักขนาดเล็กเสียเป็นส่วนใหญ่ (นอกจากนี้มีการใช้อวนตาเล็กกว่า .6 ซม กันอย่างแพร่หลาย แต่ก็ไม่มีการบังคับใช้กฏหมายอย่างจริงจัง) ปลากะตักขนาดเล็กมีราคาดีกว่าขนาดใหญ่ โดยเฉพาะขนาดปลาข้าวสาร หรือปลาสายไหมมีราคาดีกว่าปลากะตักทั่วไปไม่ต่ำกว่า 3 เท่า

ประการที่ 3 อวนล้อมปลากะตักกลางวันซึ่งเป็นเรื่อประมงขนาดใหญ่ขนาดใหญ่ มีลูกเรือประมงไม่ต่ำกว่า 6-7 คน แต่กฏหมายอนุญาตให้ตีอวนได้ถึงชายฝั่งได้นั้น ก่อให้เกิดความเดือดร้อนกับชาวประมงพื้นบ้านเป็นอย่างมาก เพราะเรืออวนล้อมเหล่านี้กวาดจับลูกปลาวัยอ่อน (ด้วยขนาดตาอวนที่เล็กมาก) ชนิดอื่น ๆ ไปด้วย และกวาดจับลูกปลากะตักที่เป็นอาหารของปลาชนิดอื่น ๆ ที่เป็นปลาเป้าหมายของชาวประมงพื้นบ้าน

ประการที่ 4 ในปัจจุบันมีเรือประมงเถื่อน (เพราะไม่สามารถขออาชญาบัตรของทั้ง 2 เครื่องมือได้) อยู่เป็นจำนวนมาก แต่ขาดการบังคับใช้กฏหมายในการจับกุม

ประการที่ 5 จากการรายงานของพี่น้องชาวประมงพื้นบ้าน เรืออวนล้อมปลากะตักกลางวัน ได้ออกทำการประมงเกินเวลาที่กฏหมายกำหนด (ก่อนพระอาทิตย์ตก) ด้วยการใช้ โซน่าวิ่งหาฝูงปลา หรือใช้แสงไฟล่อ ซึ่งเป็นการทำประมงที่ผิดกฏหมาย แต่ก็ไม่มีการบังคับใช้กฏหมายในการจับกุม

ผลพิสูจน์ “ปลาข้าวสาร-ปลาสายไหม” เป็นลูกปลากะตัก 

ยุติความเชื่อของชาวประมงมานานหลายทศวรรษ 12

นายสิทธิ บุณยรัตผลิน อธิบดีกรมประมง แถลงว่า สืบเนื่องจากประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้กำหนดให้ชาวประมงที่ใช้อวนช้อน อวนยก อวนครอบที่ใช้ประกอบกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าและอวนล้อมจับปลากะตักเวลากลางวัน ห้ามใช้อวนที่มีขนาดช่องตาอวนเล็กกว่า 0.6 เซนติเมตรจับปลากะตัก ทั้งนี้เพื่อให้ลูกปลากะตัก คือปลาข้าวสาร-ปลาสายไหมและลูกสัตว์น้ำอื่นๆ สามารถรอดตาอวนได้ แต่ชาวประมงซึ่งมีความเชื่อว่าปลาข้าวสาร-ปลาสายไหมเป็นปลาสายพันธุ์อื่นซึ่งโตเต็มวัยแล้วสมควรนำขึ้นมาใช้ประโยชน์จึงขอใช้ขนาดช่องตาอวนเล็กกว่า 0.6 เซนติเมตรจับปลากะตัก เพื่อยุติข้อสงสัยของชาวประมงจับปลากะตักในจังหวัดระยอง ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง

นายประกิต กันยาบาล ได้มีคำสั่งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2546 ให้แต่งตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งประกอบด้วยนักวิชาการประมงและชาวประมง เพื่อทำการพิสูจน์ปลาข้าวสาร-ปลาสายไหม

อธิบดีกรมประมง กล่าวต่อไปว่า การพิสูจน์ปลาข้าวสาร-ปลาสายไหมแบ่งการพิสูจน์เป็น 2 ชุด เริ่มปฏิบัติงานเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2546 และวันที่. 30 กันยายน 2546 โดยผู้แทนชาวประมงเป็นผู้ประสานให้นักวิชาการกรมประมงออกไปรวบรวมปลาข้าวสาร-ปลาสายไหมจากเรืออวนล้อมจับปลากะตักกลางวันของชาวประมงได้ปลาข้าวสาร-ปลาสายไหมมีชีวิตจำนวน 34 ตัว ขนาดความยาวเหยียด 2.3-3.7 เซนติเมตร ได้ทดลองเลี้ยงปลาข้าวสาร-ปลาสายไหมที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลอ่าวไทยฝั่งตะวันออก จังหวัดระยอง ในระหว่างการเลี้ยงได้บันทึกภาพนิ่งและภาพวิดีโอทุกขั้นตอนตั้งแต่การรวบรวมปลาจากเรือประมงจนถึงนำมาเลี้ยงที่ศูนย์วิจัยฯ โดยเลี้ยงในถังไฟเบอร์และได้บันทึกภาพการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของปลาทุกขั้นตอน โดยมีผู้แทนชาวประมงร่วมสังเกตการณ์อย่างใกล้ชิดตลอดเวลาที่ทำการทดลองเลี้ยงเพื่อพิสูจน์สายพันธุ์ปลา จนกระทั่งวันที่ 28 ตุลาคม 2546 หลังจากทดลองเลี้ยงได้ 39 วัน ปลาข้าวสาร-ปลาสายไหมมีพัฒนาการเปลี่ยนแปลงรูปร่างชัดเจนเป็นปลาโตเต็มวัยและมีลักษณะทางกายภาพเป็นปลากะตักทุกประการ ผลพิสูจน์บ่งบอกว่าเป็นปลากะตักตัวกลม สกุล Encrasicholina ที่พบในอ่าวไทยทั่วไป

อธิบดีกรมประมง กล่าวในตอนท้ายว่า ผู้แทนชาวประมงที่จังหวัดระยองได้แต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการพิสูจน์ปลาข้าวสาร-ปลาสายไหมได้เข้าร่วมประชุมรับทราบผลการพิสูจน์ปลาข้าวสาร-ปลาสายไหมเป็นลูกของปลากะตักแล้ว กรมประมงจึงขอประกาศให้ชาวประมงจับปลากะตักด้วยอวนช้อน อวนยก อวนครอบประกอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้าและอวนล้อมจับปลากะตักเวลากลางวัน ทั่วราชอาณาจักร ห้ามใช้ขนาดช่องตาอวนเล็กกว่า 0.6 เซ็นติเมตรจับปลากะตักโดยเด็ดขาดเพราะปลาข้าวสาร-ปลาสายไหมคือลูกของปลากะตัก 

ปลาข้าวสาร ปลาสายไหม และปลาฉิ้งฉ้าง  ชื่อที่หลากหลายเหล่านี้อันที่จริงแล้วเป็นลูกปลากะตักขนาดเล็กทั้งสิ้น จึงเป็นข้อถกเถียงเรื่องขนาด ซึ่งส่วนหนึ่งของรายงานวิจัย และบทวิเคราะห์ทั้งหมดนี้ได้รวบรวมมาไว้เพื่อตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับปลากะตัก เพื่อเลี่ยงการจับและการบริโภคในขนาดที่ยังไม่โตเต็มวัย ป้องกันการตัดวงจรชีวิตสัตว์น้ำ รวมถึงเป็นการปกป้องทรัพยากรทางทะเลของเราให้อยู่คู่ทะเลไทยไปอีกนานเท่านาน


แหล่งที่มา

[1] //kb.psu.ac.th/psukb/bitstream/2010/6087/1/322465.pdf
[2] //www.aquatoyou.com/index.php/2013-02-21-02-30-41/2013-02-21-02-34-17/213-anchovy
[3] //www.fishbase.de/Summary/SpeciesSummary.php?ID=556&genusname=Encrasicholina&speciesname=heteroloba&AT=Encrasicholina+heteroloba#
[4] //www.fishbase.de/Summary/SpeciesSummary.php?ID=558&genusname=Encrasicholina&speciesname=punctifer&AT=Encrasicholina+punctifer
[5] //www.fishbase.se/summary/Encrasicholina-devisi.html
[6] //www.fishbase.org/Summary/SpeciesSummary.php?id=569&lang=thai
[7] สมโภชน์ อัคคะทวีวัฒน์, เกษตรและสหกรณ์,กระทรวง กรมประมง . ภาพปลาและสัตว์น้ำของไทย . พิมพ์ครั้งที่2 . กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา , 2535.
[8] //www.globalchange.umich.edu/globalchange2/current/lectures/fisheries/fisheries.html
[9] //www.agri.kmitl.ac.th/elearning/courseware/aquatic/3_4.html
[10] "ทะเลไทย" โดย ภาคภูมิ วิธานติระวัฒน์ จากหนังสือ "ปลาหายไปไหน" และ รายงานการประมงในประเทศไทยโดย กรีนพีซ มิถุนายน พ.ศ.2555
[11] เครือข่ายประมงพื้นบ้าน-สัตว์น้ำอินทรีย์
[12] //www.fisheries.go.th/pr/kaewsarn.htm

ที่มา: //www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/-/blog/53887/



Create Date : 04 กันยายน 2558
Last Update : 4 กันยายน 2558 14:48:14 น. 0 comments
Counter : 1967 Pageviews.  
 
Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

greenpeacethailand
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




ในพ.ศ.2514 กลุ่มนักกิจกรรมกลุ่มเล็กๆ จากเมืองแวนคูเวอร์ แคนาดา ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากวิสัยทัศน์แห่งโลกสีเขียวและมีสันติสุข ได้แล่นเรือหาปลาเก่าๆ ออกจากแวนคูเวอร์ แคนาดา นักกิจกรรมเหล่านี้ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งกรีนพีซ เชื่อว่าบุคคลไม่กี่คนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

ภาระกิจของพวกเขาคือการ "เป็นประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุ" ของการทดลองนิวเคลียร์ใต้ดินที่เกาะอัมชิตกา ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ นอกชายฝั่งตะวันตกของรัฐอลาสก้า ซึ่งเป็นภูมิภาคที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

อัมชิตกาเป็นสถานหลบภัยของนากทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์ 3,000 ตัว และเป็นบ้านของนกอินทรีย์หัวล้าน เหยี่ยวต่างถิ่น และ สัตว์ป่าอื่นๆ มากมาย

ถึงแม้ว่าเรือเก่าๆ ของพวกเขา คือ ฟิลลิส คอร์แมก ถูกขัดขวางก่อนที่จะไปถึงอัมชิตกา แต่การเดินทางครั้งนี้จุดประกายเล็กน้อยให้แก่ความสนใจของสาธารณชน

สหรัฐอเมริกายังคงจุดระเบิดอย่างหนักหน่วง แต่เสียงเพรียกแห่งเหตุผลมีผู้ได้ยินแล้ว การทดลองนิวเคลียร์บนเกาะอัมชิตกาได้สิ้นสุดลงในปีเดียวกัน และเกาะแห่งนั้นได้ถูกประกาศให้เป็นสถานหลบภัยของนกทั้งหลาย

ปัจจุบัน กรีนพีซเป็นองค์กรนานาชาติที่ให้ความสำคัญแก่การรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก


คุณพร้อมที่จะร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือยัง?
มีหลายวิธีที่คุณสามารถทำได้ตอนนี้!


หลายคนอาจจะคิดว่าการดูแลรักษาโลกเป็นเรื่องยาก แค่ลำพังเราอาจทำอะไรได้ไม่มากนัก แต่ในความเป็นจริงแล้วแค่เพียงสองมือเล็กๆของเราก็สามารถทำเพื่อโลกได้มากมาย อ่านต่อ

ติดตามกรีนพีซเพ่ิมเติมได้ที่:

Facebook | Twitter | Instagram | YouTube
[Add greenpeacethailand's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com