กรีนพีซดำรงอยู่เพราะโลกอันบอบบางใบนี้สมควรมีผู้ปกป้อง โลกต้องมีวิธีแก้ปัญหา ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ต้องมีการลงมือทำ
 
คุณรู้ไหมว่าอะไรอยู่ใน “ทูน่ากระป๋อง” ?

เขียน โดย รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์


ทูน่ากระป๋อง น่าจะเป็นอาหารอันดับแรกๆ ที่คนกินอาหารทะเลสามารถหาซื้อได้ง่ายตามซูเปอร์มาร์เก็ต แต่คุณรู้ไหมก่อนที่ปลาทูน่าจะมาอยู่ในกระป๋องนั้นมีที่มาที่ไปและมีเบื้องหลังอย่างไรบ้าง หากอุตสาหกรรมปลาทูน่าและบริษัทจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ไม่มีนโยบายการตรวจสอบย้อนกลับที่สามารถระบุถึงที่มาของปลาทูน่าและการทำประมง  ผู้บริโภคไม่มีทางรู้ได้เลยว่าปลาทูน่าที่เรากินนั้นเชื่อมโยงกับวิกฤตทะเลไทยและมหาสมุทรโลกของเราอย่างไร ซึ่งผู้บริโภคเองก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างปัญหาเหล่านี้ให้กับท้องทะเลโดยไม่รู้ตัว แต่หากผู้บริโภครับทราบข้อเท็จจริง ก็จะสามารถเป็นพลังหนึ่งในการกอบกู้วิกฤตนี้ได้ เพราะในขณะนี้ปลาทูน่ากำลังเหลือปริมาณน้อยลงไปทุกที

ปลาทูน่าเป็นหนึ่งในพันธุ์ปลาซึ่งเป็นที่นิยม และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจมากที่สุดในโลก แต่ความต้องการบริโภคในระดับโลกเช่นนี้ทำให้มหาสมุทรของเราต้องเผชิญกับปัญหาการทำประมงเกินขนาด การประมงแบบทำลายล้าง และการประมงผิดกฎหมาย จนปัจจุบันนี้ในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกตอนกลางมีปลาทูน่าตาโตหลงเหลืออยู่เพียงร้อยละ 16 เท่านั้น ซึ่งนั่นเป็นเพียงหนึ่งในตัวเลขประชากรปลาทูน่าที่ลดลงอย่างน่าใจหาย จากการที่ปลาทูน่าไม่ได้ถูกจัดหามาจากแหล่งประมงที่มีความยั่งยืนและรับผิดชอบต่อสังคม

เทคนิคการจับปลาทูน่าที่เป็นสาเหตุการทำลายล้างมหาสมุทรของเรา

“ยังมีสัตว์ทะเลอีกหลายสายพันธุ์ที่ถูกฆ่าทิ้งพร้อมๆกับการจับทูน่าพันธุ์ท้องแถบเพื่อทำทูน่ากระป๋อง สัตว์ทะเลที่ถูกฆ่าเหล่านั้นมีจำนวนมากพอๆกับรายชื่อสัตว์ทั้งหมดในภาพยนต์ Finding Nemo” -- ชารล์ส โคลเวอร์ ผู้เขียนหนังสือ The End of the Line

การประมงพาณิชย์ที่จับปลาทูน่าจำนวนมากด้วยการประมงแบบทำลายล้างนั้นสร้างความเสียหายอย่างมากให้กับมหาสมุทรของเรา การประมงปลาทูน่าที่ไร้ความรับผิดชอบและทำลายล้างนั้นมีเครื่องมือหลักๆ คือ การประมงอวนล้อมร่วมกับเครื่องมือล่อปลา FADs และเบ็ดราว


อวนล้อมเป็นลักษณะเหมือนกำแพงตาข่ายล้อมวงเป็นถุงขนาดใหญ่และมีห่วงมัดด้านล่างเพื่อจับ ซึ่งบางครั้งก็มีปลาชนิดอื่นๆที่ไม่ใช่ปลาเป้าหมายรวมอยู่ด้วย หากอวนล้อมถูกใช้ร่วมกับเครื่องมือล่อปลา (Fish Aggregating Device; FADs) จะยิ่งทำให้เกิดการจับแบบทำลายล้างมากยิ่งขึ้น โดยประมาณร้อยละ 60 ของทูน่ากระป๋องในโลกนั้น ถูกจับโดยวิธีการใช้อวนล้อมจับร่วมกับเครื่องมือล่อปลา ซึ่งเป็นเสมือนแม่เหล็กดึงดูดให้ปลาและสัตว์น้ำอื่นๆ รวมถึงฉลามและเต่ามารวมกลุ่มกัน แล้วเครื่องโซน่าหรือเครื่องตรวจจับฝูงปลาจะส่งสัญญาณดาวเทียมไปยังเรือประมงเพื่อมาล้อมจับเอาฝูงปลาทั้งฝูง FADs เป็นอุปกรณ์เลี่ยงอัตราควบคุมจำนวนเรือ เมื่อถูกควบคุมจำนวนเรือ ก็หันไปติดตั้ง FADs แทนได้นับร้อยเพื่อล่อปลาทูน่า

การนำอวนมาล้อมจับใต้เครื่องมือล่อปลาทำให้สัตว์น้ำที่ไม่ใช่เป้าหมายจำนวน 2.7-6.7 เท่า ของจำนวนปลาทูน่าที่จับได้ต้องตกเป็นเหยื่อ โดยที่ปลาทูน่าที่จับได้ส่วนใหญ่ยังเป็นลูกปลา อีกทั้งเครื่องมือล่อปลายังเป็นขยะในท้องทะเล มักถูกพัดพาไปติดอยู่กับปะการังอีกด้วย


นอกจากนี้ยังมีการใช้เบ็ดราวเพื่อจับปลาที่มีขนาดใหญ่กว่า และมีมูลค่าสูงกว่า ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีจับปลาที่แย่ที่สุดในโลก เบ็ดราวทำงานโดยการวางสายเบ็ดจากเรือจับปลาทูน่าที่ยาวถึง 170 กิโลเมตร หรือ 105 ไมล์ ที่มีขอเบ็ดเกี่ยวอยู่ตลอดสาย ปัญหาคือปลาทะเลขนาดใหญ่ ฉลาม นกทะเล เต่าและสิ่งมีชีวิตในทะเลอื่นๆ ถูกจับติดกับสายเบ็ด ในหนึ่งปีมีเต่าทะเลถูกจับมากกว่า 300,000 ตัว และนกทะเลกว่า 160,000 ตัวต้องมาจบชีวิตลง 

ซ้ำร้ายกว่านั้นคือ การประมงปลาทูน่าอย่างไร้ความรับผิดชอบ ยังเป็นสาเหตุของการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการใช้แรงงานอย่างไม่เป็นธรรม กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริการายงานว่ามีการใช้แรงงานทาสบนเรือประมงใน 50 ประเทศ รวมถึงประเทศไทย การละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง มักเชื่อมโยงกับการทำประมงปลาทูน่าที่ผิดกฎหมาย แรงงานประมงปลาทูน่าต้องทำงานในสภาพแย่บนเรือประมงเบ็ดราว โดยปราศจากสุขอนามัย ถูกข่มขู่ ทำร้ายร่างกาย หรือรุนแรงถึงกับถูกฆ่า ซึ่งในบางกรณีถูกทิ้งไว้ในทะเลยาวนานบางทีถึงแรมปี และต้องทำงานยาวนานโดยแทบจะไม่ได้ค่าตอบแทนอะไร

ประมงเบ็ดราวส่วนมากจะขนถ่ายปลาที่จับได้กลางทะเล แทนที่จะกลับเข้าหาฝั่ง เป็นวิธีหลบเลี่ยงที่เรียกว่า การขนถ่ายกลางทะเล (Transshipment) ซึ่งเป็นวิธีที่จะทำให้ปลาที่ถูกจับอย่างผิดกฏหมายสามารถเล็ดลอดเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทาน และถ้าเรือประมงไม่กลับเข้าท่าเรือเป็นแรมปี แรงงานที่ถูกกระทำรุนแรงก็จะไม่อาจติดต่อสื่อสารถึงภายนอกได้

นโยบายการตรวจสอบย้อนกลับ คือทางออกของวิกฤตทูน่า

ปัญหาจากอุตสาหกรรมปลาทูน่านั้นมีหนทางแก้ไขได้ โดยการแก้ปัญหานั้นหมายถึง การประมงที่มีความเป็นธรรมและยั่งยืน นั่นหมายถึงบริษัททูน่ากระป๋องจะต้องมีนโยบายการตรวจสอบย้อนกลับตลอดการดำเนินการในห่วงโซ่อาหาร ที่สามารถระบุถึงตั้งแต่แหล่งที่มาของปลาทูน่าและการทำประมง ไปจนถึงการวางจำหน่ายในชั้นวางสินค้า ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริโภคสามารถมั่นใจได้ว่า ปลาทูน่าที่เราเลือกซื้อมาจากแหล่งที่มีประชากรปลาทูน่าจำนวนมากพอ เป็นชนิดที่ยังไม่ใกล้สูญพันธุ์ มาจากการทำประมงอย่างรับผิดชอบ ตลอดจนมีมาตรฐานที่เข้มแข็งทางด้านแรงงานและสิทธิมนุษยชน มีการรายงานการเข้าออกจากฝั่งของเรือ รวมถึงลดการขนถ่ายกลางทะเลที่เอื้อให้เกิดช่องโหว่ในการใช้แรงงานอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งอุตสาหกรรมปลาทูน่าควรใช้โอกาสนี้เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมกันแก้ไขปัญหา

อุตสาหกรรมปลาทูน่าที่ดีหมายถึงการสนับสนุนวิธีการทำประมงที่เหมาะสมและมีความยั่งยืนมากกว่า เช่น การใช้เบ็ดตวัด และปลอดจากการใช้อวนล้อมร่วมกับเครื่องมือล่อปลา โดยผู้บริโภคอย่างเราคือพลังสำคัญที่จะแก้ไขวิกฤตปลาทูน่านี้ ด้วยการผลักดันให้บริษัทจัดจำหน่ายทูน่ากระป๋องมีนโยบายตรวจสอบย้อนกลับ ไม่เลือกซื้อเลือกกินปลาทูน่าที่ไม่แน่ใจถึงแหล่งที่มาและวิธีการจับ ไม่บริโภคปลาทูน่าที่ใกล้สูญพันธุ์ คนกินปลาอย่างเราจะได้ไม่เป็นหนึ่งในสาเหตุการทำร้ายมหาสมุทร และหันมาเป็นพลังในการสร้างการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ เพื่ออนาคตของปลาทูน่าอาหารแสนอร่อยของคนทั่วโลก และอนาคตของมหาสมุทรของเรา


ที่มา: //www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/54225/




Create Date : 12 ตุลาคม 2558
Last Update : 15 ตุลาคม 2558 10:52:13 น. 0 comments
Counter : 6070 Pageviews.  
 
Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

greenpeacethailand
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




ในพ.ศ.2514 กลุ่มนักกิจกรรมกลุ่มเล็กๆ จากเมืองแวนคูเวอร์ แคนาดา ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากวิสัยทัศน์แห่งโลกสีเขียวและมีสันติสุข ได้แล่นเรือหาปลาเก่าๆ ออกจากแวนคูเวอร์ แคนาดา นักกิจกรรมเหล่านี้ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งกรีนพีซ เชื่อว่าบุคคลไม่กี่คนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

ภาระกิจของพวกเขาคือการ "เป็นประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุ" ของการทดลองนิวเคลียร์ใต้ดินที่เกาะอัมชิตกา ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ นอกชายฝั่งตะวันตกของรัฐอลาสก้า ซึ่งเป็นภูมิภาคที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

อัมชิตกาเป็นสถานหลบภัยของนากทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์ 3,000 ตัว และเป็นบ้านของนกอินทรีย์หัวล้าน เหยี่ยวต่างถิ่น และ สัตว์ป่าอื่นๆ มากมาย

ถึงแม้ว่าเรือเก่าๆ ของพวกเขา คือ ฟิลลิส คอร์แมก ถูกขัดขวางก่อนที่จะไปถึงอัมชิตกา แต่การเดินทางครั้งนี้จุดประกายเล็กน้อยให้แก่ความสนใจของสาธารณชน

สหรัฐอเมริกายังคงจุดระเบิดอย่างหนักหน่วง แต่เสียงเพรียกแห่งเหตุผลมีผู้ได้ยินแล้ว การทดลองนิวเคลียร์บนเกาะอัมชิตกาได้สิ้นสุดลงในปีเดียวกัน และเกาะแห่งนั้นได้ถูกประกาศให้เป็นสถานหลบภัยของนกทั้งหลาย

ปัจจุบัน กรีนพีซเป็นองค์กรนานาชาติที่ให้ความสำคัญแก่การรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก


คุณพร้อมที่จะร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือยัง?
มีหลายวิธีที่คุณสามารถทำได้ตอนนี้!


หลายคนอาจจะคิดว่าการดูแลรักษาโลกเป็นเรื่องยาก แค่ลำพังเราอาจทำอะไรได้ไม่มากนัก แต่ในความเป็นจริงแล้วแค่เพียงสองมือเล็กๆของเราก็สามารถทำเพื่อโลกได้มากมาย อ่านต่อ

ติดตามกรีนพีซเพ่ิมเติมได้ที่:

Facebook | Twitter | Instagram | YouTube
[Add greenpeacethailand's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com