จงกากบาท (x) หน้าข้อที่ตรงกับวัยเรียนของคุณ


............ ฉันเข้าเรียนเวลาหลังเคารพธงชาติถึงสี่โมงเย็นทุกวัน


............ โรงเรียนของฉันมีคอมพิวเตอร์ไว้บริการ มีพัดลมในห้อง และมีหนังสือเต็มห้องสมุด


............ โรงเรียนของฉันมีอาหารอร่อยๆ มากมาย


............ ฉันมีเพื่อนเล่นมากมาย สนุกสนาน


............ คุณพ่อคุณแม่มารับฉันกลับบ้านเป็นประจำ


............ ฉันต้องเรียนพิเศษหลังเลิกเรียน


............ ฉันไม่ต้องทำงานบ้าน เพราะพ่อแม่อยากให้ฉันทุ่มเทเวลาให้กับการเรียน


ลองนับคะแนนดูว่าคุณเป็นแบบไหน


คะแนน 0-1 แต้ม


ยินดีด้วย คุณได้เป็นสมาชิกสมาคม “ขาด” คะแนนของคุณบอกเราว่า คุณโตมาท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ไม่มีการแข่งขันและแรงกดดันทางการศึกษามากนัก แต่คุณขาดโอกาสการเรียนรู้เหมือนเด็กในเมืองกรุง เช่น ขาดหนังสือ และอุปกรณ์การเรียนต่างๆ คำว่า “รอ” ความช่วยเหลือ และ “หิว” ความรู้ ยังใช้ได้กับคนกลุ่มนี้


คะแนน 2-8 แต้มขึ้นไป


ขอต้อนรับคุณเข้าสู่โลก “เกิน” ที่เต็มไปด้วยความพร้อมของความรู้และโอกาสทางการศึกษา คุณมีหนังสือกองเป็นตั้งๆ รายล้อมในห้องสมุด มีหนังสือเรียนครบทุกวิชา มีสมุด ดินสอ และปากกาแฟชั่นเต็มไปหมด แถมยังต้องเรียนเสริมเตรียมพร้อมเพื่อสอบแข่งขันทางการศึกษา แถมคุณยังมีคุณครูคอยติวเข้มเพื่อสอบเข้าคณะดังๆ ดีๆ ในมหาวิทยาลัย


วัยเรียนของคุณล่ะเข้าข่าย  “ขาด” หรือ “เกิน” เอ่ย?


คุณพอจะเห็นความแตกต่างระหว่างสองกลุ่มนี้ไหม? อย่างไร?



เก็บคำตอบของคุณใส่เป้ แล้วร่วมเดินทางไปกับเรา กลุ่มเยาวชนยุคพลังงานสะอาด (Solar Generation) อาสาเป็นตัวแทนชาวกรีนพีซมาร่วมบริจาคส่วนเกิน ณ โรงเรียนบ้านแม่แมะ กับ “กลุ่มปั๋น” ซึ่งเป็นกลุ่มเยาวชนรักแบ่งปันของเมืองเชียงใหม่ที่พานักเรียนต่างชาติร่วมยี่สิบคนมาฝึกประสบการณ์ มาทำห้องสมุดพลังงานและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมเมืองเหนือ ในวันที่ 10-13 กรกฏาคม 2554


โรงเรียนแม่แมะถือได้ว่าเป็นบ้านหลังที่สองของเด็กชนเผ่ากว่าร้อยชีวิตที่อพยพมาจากดินแดนชายขอบแถบประเทศพม่าที่มีการปราบปรามยาเสพติด มีทั้งชาวไทใหญ่ ละหู่ และมูเซอ เราเดินทางผ่านถนนคอนกรีตและถนนดินแดงอันขรุขระมาร่วมสิบกิโลเมตรกว่าจะถึงโรงเรียน หนทางข้างล่างเป็นหุบเหวลึก ข้างบนเป็นผาสูงชัน ซึ่งไกลจากผู้คนและความเจริญต่างๆ จึงไม่น่าแปลกที่ห้องสมุดของโรงเรียนถูกทิ้งร้างมานานกว่า 2 ปี
ทำให้เด็กๆไม่มีหนังสืออ่าน อีกทั้งนักเรียนขาดครูดูแลอย่างทั่วถึงเพราะครูบางคนต้องสอนทุกวิชาแม้ไม่ได้จบมาตรงสายวิชานั้นๆก็ตาม  หลังกินข้าวเช้า 7 โมงและเคารพธงชาติ 8 โมง นักเรียนจะเริ่มเรียนตอน 10 โมง และเลิกเรียน 3 โมงเย็น... บางวิชาต้องเรียนกับครูจอสีสี่เหลี่ยม(โทรทัศน์) จากส่วนกลาง... ดังนั้นเด็กที่นี่ต้องแกร่งเพื่อช่วยเหลือตัวเองตั้งแต่ไก่โห่จนถึงเข้านอน
ทั้งซักผ้า ทำความสะอาดเรือนที่พัก แต่โชคดีที่พวกเขาได้เรียนวิชาชีวิต
เช่น การทำหมูหลุม เลี้ยงปลา ปลูกผัก เพื่อเป็นภัตตาคารบ้านทุ่งในแต่ละมื้อ


“ผมเป็นครูใหญ่ 3 โรงเรียน ทั้งแม่แมะ ปางมะโอ และป่าเกี้ยะ
งานของผมเยอะและยุ่งมาก แต่ผมก็พยายามหาเงินมาให้นักเรียนเพราะผมอยากเห็นเด็กแม่แมะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ตอนนี้ เด็กได้ค่าอาหารทั้งสามมื้อคนละ 30 บาทเอง ต้องกินข้าวที่ได้รับบริจาคมา กับแกงสักหนึ่งอย่างต่อมื้อ” ครูเสน่ห์ ใจอุตม์ ครูใหญ่ รร.แม่แมะ กล่าวพรางทอดสายตาไปยังเด็กๆ ที่กำลังกินข้าวในถาดหลุม


ครูใหญ่เสริม“ห้องสมุดที่นี่ก็ไม่ค่อยมีหนังสือเลย เด็กๆจึงไม่ค่อยรู้จักโลกภายนอกมากนัก ที่พวกเขามี ก็มีสนามเด็กเล่นอยู่ในน้ำตก มีร้านขนมอยู่ในป่า มีครัวอยู่ในสวนผักและบ่อปลา ผมจึงอยากเสริมความรู้รอบด้านให้พวกเขาก่อนจบจากที่นี่ เพราะนักเรียนส่วนใหญ่ไม่มีสัญชาติไทย ไม่รู้วันเดือนปีเกิด
ไม่รู้แม้กระทั่งชื่อพ่อ ชื่อแม่ พอพวกเขาจบ ป.6 ไปแล้วจะต้องไปเรียนต่อที่โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ แต่ไม่ว่าเขาจะไปอยู่ที่ไหน ก็เลี่ยงความเป็นจริงที่ถูกตีตราว่าพวกเขายังไม่ใช่คนไทยไม่ได้
โลกของเขาต้องฝ่าฟันเรื่องสิทธิอีกนาน ผมจึงอยากให้พวกเขามีความรู้เป็นภูมิคุ้มกันเพื่อต่อสู้กับชีวิตจริงในอนาคตได้


กลุ่มเยาวชนยุคพลังงานสะอาด (Solar Generation) และกลุ่มปั๋น จึงอาสาเข้าไปทำห้องสมุดที่รับบริจาคหนังสือมาจากผู้เข้าข่าย “เกิน” ทิ่ยินดีเติมสมองเด็กได้เรียนรู้จนอิ่ม
เราไปคัดแยกหนังสือ และจัดหมวดหมู่ ทั้งหนังสือเรียน หนังสือเสริม และหนังสืออ่านเล่นนอกห้องเรียนเช่น หนังสือสิ่งแวดล้อมต่างๆ นิทรรศการโลกร้อน และซีดีโลกร้อน รวมถึงปรับภูมิทัศน์ห้องสมุดให้เป็นห้องสมุดประหยัดพลังงาน เช่น เอาตู้ที่ขวางทางลมออก เปิดช่องให้ลมไหลเวียนเข้าออกเย็นสบายเอื้อต่อการอ่านหนังสือ และเปิดหน้าต่างรับแสงสว่างเพื่อลดการใช้ไฟในเวลากลางวัน
พร้อมนำต้นไม้มาประดับเพิ่มพื้นที่สีเขียว ซึ่งจะกลายเป็นศูนย์เรียนรู้ประจำชุมชนแม่ะแมะ และชุมชนใกล้เคียงในอนาคต นอกจากนี้นักเรียนต่างชาติยังช่วยสอนภาษาอังกฤษ ทาสีอาคารเรียน อีกทั้งเลี้ยงอาหารกลางวันและอาหารเย็นแก่น้องๆแม่แมะ


อย่างไรก็ตาม การแบ่ง “ส่วนเกิน” ให้ “ส่วนขาด”
ของกิจกรรมครั้งนี้ สามารถช่วยแบ่งเบาความเอียงของความเท่าเทียมด้านโอกาสและการเรียนรู้ไปได้ไม่มากก็น้อย ช่วยให้น้องๆ กินอิ่ม เรียนอิ่ม และเล่นอิ่ม น้องๆเข้ามาอ่านหนังสือในห้องสมุด เรียนรู้เรื่องสังคม สิ่งแวดล้อมวัฒนธรรม เทคโนโลยี ภาษา และอื่นๆ แต่การให้ครั้งเดียว ก็หมดภายในครั้งเดียวเช่นกัน ซึ่งไม่ใช่การพัฒนาหรือแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ฉากต่อมาที่เดาได้ไม่ยาก คือ เรายังเห็นคุณภาพชีวิตของเด็กๆที่ยัง “ขาด” โอกาสและความรู้ต่างๆเหมือนเดิม ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งของโรงเรียนที่จะไม่ “หิว” และ รอให้คนภายนอกมาทำให้ “อิ่ม”ได้อย่างไร  ตอนนี้ต้นทุนของโรงเรียนมีการเกษตรและปศุสัตว์แบบพอเพียงตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ อีกทั้งมีห้องสมุดประหยัดพลังงานเสริมทุน คำตอบอยู่ที่นี่ สองส่วนนี้จะเอาชนะภาวะ “ขาด” ได้อย่างไร นั่นคือความท้าทายที่เราจะคอยช่วยเสริมเติมโอกาสและความรู้ต่อไป


เป้ของเราเบาลงแล้ว เท้าของเรากำลังยืนให้กำลังใจเด็กๆ ตาของเรากำลังมองโลกอย่างสมดุล ใจของเรากำลังเต้นไปพร้อมศรัทธาแห่งโอกาสและการเรียนรู้ พร้อมพนมมือกล่าวคำ “ขอบคุณ” สำนักพิมพ์และนักอ่านใจดีที่บริจาคหนังสือให้เด็กๆ และ “ขอบคุณ” ผู้บริจาคเงินใจบุญทุกท่านที่บริจาคค่าของใช้และอาหารกลางวันให้เด็กๆ ได้อิ่มกายและใจ


รู้จักโรงเรียนแม่แมะมากขึ้น //www.banmamaeh.com/index.html