สัปดาห์ที่แล้ว เราได้เปิดตัวโครงการ “Eyes of the tiger”โดยมีนักกิจกรรมกรีนพีซ 5 คนเดินทางในสุมาตราเพื่อเป็นประจักษ์พยานในการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งเกิดจาก บริษัท Asia Pulp and Paper หรือ APP อย่างไรก็ตามเมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมา เราได้พบว่าพวกเราไม่ได้เป็นเพียงกลุ่มเดียวที่วางแผนการเดินทางในสุมาตรา


กลายเป็นว่าบริษัท APP เองก็ได้เชิญผู้สื่อข่าวต่างประเทศให้เข้ามาเยี่ยมชม “โครงการอนุรักษ์” ของบริษัทเอง เพื่อให้ทุกคนได้เห็นว่ากรีนพีซและองค์กรพัฒนาเอกชนอื่นๆได้ให้ข้อมูลที่ผิดพลาดในเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมของ APP และน่าแปลกที่ APP เชื่อสนิทว่าการลงทุนด้วยเงินไปกับการพีอาร์และสร้างภาพนั้น จะช่วยให้พวกเขาไม่ต้องตอบคำถามในเรื่องการเปลี่ยนพฤติกรรมการทำลายสิ่งแวดล้อมของตนเอง


แต่เป็นโชคร้ายของ APP ที่เรามีกำหนดการของ APP อยู่ในมือ แม้ว่าบริษัท Cohn and Wolfe ซึ่งเป็นบริษัทพีอาร์ที่ APP จ้างมาจะไม่ได้เรียนเชิญกรีนพีซอย่างเป็นทางการก็ตาม นักกิจกรรมของเราในชุด “เสือ” ได้เข้าพักในโรงแรมเดียวกับที่ APP ใช้ในการเดินทาง ข้อมูลและรายละเอียดที่ APP ไม่ได้เปิดเผยในโครงการของ APP จึงถูกส่งให้แก่ผู้สื่อข่าวที่มาเข้าร่วมกิจกรรมด้วย



นักกิจกรรมกรีนพีซในชุดเสือ เตรียมความพร้อมก่อนออกเดินทางในกิจกรรม “Eyes of the tiger” ภาพโดย Ulet Ifansasti/ กรีนพีซ

“โครงการอนุรักษ์” ของ APP เป็นโครงการอนุรักษ์ “โลกของสิ่งมีชีวิต”บริเวณ Giam Siak Kecil ซึ่งอยู่บนพื้นที่ป่าพรุแห่งหนึ่งในสุมาตรา บริเวณใจกลางเป็นพื้นที่ป่าสงวน ล้อมรอบด้วย “พื้นที่กันชน” ขนาดใหญ่ที่กลายเป็นแนวปลูกต้นไม้สำหรับทำเยื่อกระดาษ ซึ่งก่อนหน้านี้เคยเป็นป่าไม้ที่โอบล้อมใจกลางป่าพรุ แต่ถูกทำลายโดยบริษัทยักษ์ใหญ่ อย่าง APP


ความน่าสนใจอยู่ที่ APP และบริษัทจัดหาวัตถุดิบได้ถือสิทธิ์ในพื้นที่ที่มีป่าไม้คุณภาพดีเหล่านี้ ทั้งนี้ ในรายงานความยั่งยืนทางสังคมและสิ่งแวดล้อมปี 2550 ของ APP ชื่อ “ปลูกอนาคตที่ยั่งยืน” (pp141-3) ได้ระบุว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นเป็นแหล่งที่อยู่ของสัตว์และพืชใกล้สูญพันธุ์อย่างเช่น สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นก สัตว์เลื้อยคลาน และพันธุ์พืชต่างๆ


กฎหมายอินโดนีเซียได้ตั้งข้อจำกัดของการปลูกพืชเพื่อผลิตกระดาษไว้ว่า


  • เป็นพื้นที่ที่ป่าพรุที่มีความลึกมากกว่า 3 เมตรจะต้องได้รับการปกป้อง การดำเนินการใดๆที่เกี่ยวข้องกับการทำลายหรือสูบน้ำออกจากพื้นที่ป่าพรุนี้ถือเป็นการละเมิดกฎของกระทรวงป่าไม้และกฤษฎีกาประธานาธิบดี


  • กฎหมายป่าไม้ได้ระบุข้อกำหนดว่าการปลูกพืชที่ให้เยื่อกระดาษและการปลูกต้นไม้เพื่อทำซุงของภาคอุตสาหกรรมจะทำได้ในพื้นที่ “ไม่อุดมสมบูรณ์” เท่านั้น (นิยามจนถึงปี 2547 ที่ระบุไว้คือ พื้นที่ที่มีจำนวนต้นไม้ขนาดทำซุงน้อยกว่าปกติ ต่อพื้นที่หนึ่งเฮกเตอร์)


  • ในการสัมปทานพืชที่ให้เยื่อกระดาษ อย่างน้อยร้อยละ 30 ของพื้นที่สัมปทาน เป็นเขตที่ห้ามทำการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาพื้นที่เพาะปลูก


  • คุณทราบไหมว่า พื้นที่เพาะปลูกเหล่านี้แทบทั้งหมดอยู่บนป่าพรุที่ลึกกว่า 3 เมตร ในช่วงเวลาที่ ผู้ผลิตวัตถุดิบของ APP ได้รับพื้นที่นี้มานั้น พื้นที่ดังกล่าวยังอุดมไปด้วยป่าไม้และมีต้นไม้ขนาดทำซุงต่อเฮกเตอร์จำนวนมากกว่าที่ทางกฎหมายอนุญาตให้ตัดได้ จากการวิเคราะห์แผนที่และลงพื้นที่สำรวจพบว่าภายในพื้นที่สัมปทานนั้น มีป่าไม้ครอบคลุมอยู่ราวร้อยละ 30 ของพื้นที่


    ไม่เพียงเท่านี้ ผู้ถือสัมปทานหลายคนยังเกี่ยวข้องกับการทำไม้ที่ผิดกฎหมาย การคอร์รัปชั่น และการเลี่ยงภาษี (เราได้ให้ข้อมูลนี้แก่นักข่าวที่ได้เข้าร่วมเดินทางไปกับโครงการ “อันแสนวิเศษ”ของ APP ด้วย) และในพื้นที่ป่าสัมปทานแห่งเดียวกันนี้ การวิเคราะห์ผ่านแผนที่โดยกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนท้องถิ่นได้แสดงให้เห็นว่า APP ได้ทำลายป่าที่ถูกระบุอย่างชัดเจนว่ามีคุณค่าแก่การอนุรักษ์เป็นอย่างสูง


    ปัญหาคือเราไม่สามารถ “เห็น” สิ่งเหล่านี้จากมุมสูงได้เลยพื้นที่หลักที่ได้รับการอนุรักษ์ยังคงถูกปกคลุมด้วยป่าไม้ และบางส่วนของพื้นที่กันชนได้กลายเป็นพื้นที่สำหรับต้นแก่ของพืชที่ใช้ผลิตเยื่อกระดาษ ดังนั้น ทั้งหมดจึงเป็นสีเขียวชอุ่ม เราไม่สามารถเห็นการทำลายป่าที่เกิดขึ้นก่อนการปลูกต้นไม้เหล่านี้เลย “การเดินป่า” ที่ APP เชิญผู้สื่อข่าวมานั้นจึงเป็นในพื้นที่อนุรักษ์ป่า ไม่ใช่พื้นที่ทำลายป่าขนาดใหญ่ที่ถูกทำลายไปแล้วก่อนหน้านี้




    การรณรงค์ “Eyes of the Tiger” มีขึ้นเพื่อป็นประจักษ์พยานต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในผืนป่าอินโดนีเซีย กรีนพีซเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนพื้นที่สัมปทานที่มีอยู่และปกป้องป่าพรุ รวมทั้งเรียกร้องให้อุตสาหกรรมมีนโยบายยุติการทำลายป่า ภาพโดย Ulet Ifansasti/ กรีนพีซ

    แน่นอน APP จะให้การดูแลแก่เหล่าผู้สื่อข่าวเป็นอย่างดี เพื่อให้พวกเขาไม่ได้เห็นพื้นที่ป่าไม้ถูกทำลายขนาดใหญ่ที่อยู่รอบๆพื้นที่อนุรักษ์ หรือแม้แต่ในพื้นที่อื่นๆ ดังนั้นเราจึงได้ระบุพื้นที่ดังกล่าวในแผนที่และมอบให้ผู้สื่อข่าวระหว่างกิจกรรมของ APP ในอินโดนีเซีย


    เราหวังว่าข้อมูลที่เรามอบให้แก่ผู้สื่อข่าวทุกคนจะได้สะท้อนความจริงถึงบทบาทของ “โครงการอนุรักษ์” ของ APP และเมื่อนั้นเราจะได้เห็นแก่นแท้ของกลยุทธตบตาของ APP


    (แหล่งที่มาของข้อมูลโดย APP เป็นการสำรวจที่ไม่ได้ระบุวันที่ โดย the Indonesian government’s own CITES Scientific Authority.)