ช่วงนี้ปตท. กำลังกระหน่ำโปรโมทกิจกรรมหลายอย่างเพื่อคืนความเชื่อมั่นสร้างกระแสการท่องเที่ยวให้กลับมายังเกาะเสม็ด จังหวัดระยองอีกครั้งหนึ่ง และหนึ่งในกิจกรรมล่าสุดขณะนี้ คือ “We Love PTT on Tour ตอน Let’s go to Samed” ซึ่งจัดขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา และมีรางวัลใหญ่ที่น่าสนใจคอยดึงดูดนักท่องเที่ยวอย่างแพ็คเกจที่พักรีสอร์ทสุดหรูบนอ่าวพร้าว ซึ่งเป็นอ่าวที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากคราบน้ำมันบนเกาะเสม็ด

PTT promotion ADแน่นอนว่าภาพของหาดทรายขาว น้ำใสกลับมาคืนเกาะเสม็ดแล้ว และปตท.ก็กำลังดำเนินการคืนภาพลักษณ์ของตนเองอยู่อย่างต่อเนื่อง แล้วการดำเนินการฟื้นฟูผลกระทบด้านอื่นล่ะ ปตท.มีการลงทุนเพื่อฟื้นฟูความเสียหายของระบบนิเวศ การปนเปื้อนในห่วงโซ่อาหาร ผลกระทบต่อการประมงพื้นบ้านชายฝั่ง และสุขภาพอนามัยของพี่น้องชาวระยองอย่างไรบ้าง? หรือแค่ทุ่มเทเพื่อสร้างภาพโฆษณามากกว่าการเข้าไปแก้ปัญหาและรับผิดชอบต่อความเสียหายอย่างแท้จริง

รายงานการสำรวจการปนเปื้นน้ำมันบริเวณแหล่งประมงพื้นบ้าน แนวหิน จังหวัดระยอง กรณีน้ำมันรั่วปตท. ปีพ.ศ.2556 โดยกลุ่มติดตามน้ำมันปตท.รั่วและกรีนพีซ การประเมินความเสี่ยงการปนเปื้อนและความเสียหายจากวิกฤตน้ำมันรั่วและการใช้สารเคมีกระจายคราบน้ำมัน ซิลิกอน เอ็น เอส เพื่อให้คราบน้ำมันแตกตัวและจมลงสู่ใต้ทะเล ซึ่งผลการวิเคราะห์ได้ตรวจพบสารโพลีไซคลิคอะโรมาติไฮโดรคาร์บอนในตะกอนดินที่สามารถสะสมตกค้างในตะกอนดินและเนื้อเยื่อสิ่งมีชีวิตยาวนาน ส่งผลให้เกิดปะการังฟอกขาว และการหายไปของสัตว์น้ำ ซึ่งบ่งบอกได้เป็นอย่างดีว่าผลกระทบจากการรั่วไหลของน้ำมันนั้นยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง และต้องการความเร่งด่วนในการแก้ไขฟื้นฟูความเสียหายของระบบนิเวศ  

ขณะที่เหตุการณ์น้ำมันรั่วของไทยยังคงเป็นปัญหาที่ถูกซุกซ่อนไว้ใต้พรม อีกด้านหนึ่งของซีกโลก ที่ประเทศรัสเซีย บริษัทน้ำมัน ลูกอยล์ ที่ก่อเหตุน้ำมันรั่วหลายต่อหลายครั้งในภูมิภาคโคมิ ทางตอนเหนือของรัสเซีย ได้รับคำสั่งจากศาลรัสเซียให้จ่ายค่าความเสียหายเป็นมูลค่า 615 ล้านรูเบิล  (หรือ 20 ล้านเหรียญสหรัฐ) เนื่องจากมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมที่ทางบริษัทก่อขึ้น ซึ่งเหตุการณ์น้ำมันรั่วในแต่ละครั้ง กรีนพีซรัสเซียและชุมชนในพื้นที่ต่างร่วมกันสำรวจและตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อต่อสู้กับบริษัทน้ำมัน ถึงแม้ค่าปรับจะยังไม่ได้ช่วยให้สภาพของภูมิภาคโคมิที่เต็มไปด้วยกลิ่นน้ำมันและสารเคมี น้ำแข็งและน้ำในแม่น้ำสีดำนั้นดีขึ้นแต่อย่างไร และสภาพที่เลวร้ายของโคมิเป็นเช่นนั้นอยู่ยาวนานถึง 30 ปี

ถึงชัยชนะของชาวโคมินั้นจะเป็นเพียงชัยชนะเล็กๆ ต่อบริษัทน้ำมัน แต่ก็เป็นสิ่งที่ช่วยย้ำเตือนชาวไทยได้ว่าการต่อสู้เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมสามารถทำได้สำเร็จ และเราจะไม่หยุดยั้งจนกว่าปตท.จะรับผิดชอบอย่างแท้จริงต่อการฟื้นฟูเยียวยาผลกระทบจากวิกฤตน้ำมันรั่วที่เกิดขึ้น เพราะผลกระทบที่ชาวประมงพื้นบ้าน และระบบนิเวศทางทะเลได้รับนั้นยังไม่เจือจางไปตามภาพโฆษณาอันสวยหรูที่เผยแพร่เพียงไม่นาน

อ่านรายงานการสำรวจการปนเปื้อนน้ำมันบริเวณแหล่งประมงพื้นบ้าน แนวหิน จังหวัดระยอง กรณีน้ำมันรั่วปตท. ปีพ.ศ.2556 โดยกลุ่มติดตามน้ำมันปตท.รั่วและกรีนพีซ

ที่มา //www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/exclusive/blog/48011/