กรีนพีซดำรงอยู่เพราะโลกอันบอบบางใบนี้สมควรมีผู้ปกป้อง โลกต้องมีวิธีแก้ปัญหา ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ต้องมีการลงมือทำ
 
ประชาชนหรือผลประโยชน์ สิ่งที่ภาครัฐต้องเลือกบนชะตากรรมของพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมกระบี่

Blogpost โดย รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์

“ทำไมความถูกต้องชอบธรรมต้องแลกมาด้วยการต่อรอง เรียกร้อง ประท้วง ตลอดมา”

เชื่อว่านี่เป็นคำถามที่ก้องอยู่ในใจคนไทยมานาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อม ซึ่งมักจะเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของกลุ่มนายทุน กลุ่มอุตสาหกรรม ที่ดูมักมีอำนาจในการต่อรองเหนือเสียงของประชาชน และคำถามนี้ดังกระหึ่มขึ้นมาอีกครั้ง กับการออกมาเรียกร้องของเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินร่วมกับผู้คนที่ใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อทวงคืนพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมจังหวัดกระบี่ จากการละเลยการปฏิบัติหน้าที่ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เพิกเฉยไม่ต่ออายุพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมจังหวัดกระบี่เป็นเวลา 3 ปี และปล่อยให้กระทรวงพลังงาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แก้ไขในร่างประกาศพื้นที่คุ้มครองฯ ฉบับใหม่เพื่อเอื้อต่อโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน

หรือว่าประชาชนกำลังถูกมัดมือชก ให้ยินยอมรับการเปลี่ยนแปลงกฎหมายเพื่อเอื้อต่อการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน

เมื่อวานนี้ (26 มกราคม 2559) เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินได้เดินทางมายังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อขอคืนพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมกระบี่ โดยตัวแทนเครือข่ายฯ มุ่งมั่นรอจนกว่ารัฐมนตรีกระทรวงทรัพย์ฯ จะยืนยันดำเนินการตามข้อเรียกร้องในแถลงการณ์ไปปฏิบัติ โดยตั้งแต่ช่วงเช้าตัวแทนเครือข่ายฯ ได้ร่วมกันเรียกร้องในเชิงสัญลักษณ์ด้วยการมัดมือ เสมือนการถูกภาครัฐมัดมือชกให้ยินยอมรับการเปลี่ยนแปลงของกฎหมาย โดยที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น และขณะนี้กำลังรวบรวมรายชื่อเพื่อขอคืนพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม โดยมีการติดสติกเกอร์รูปฉลามวาฬแทนรายชื่อของทุกคน เพื่อเปล่งเสียงให้ดังถึงรัฐมนตรีกระทรวงทรัพย์ฯ

“เขตคุ้มครองสิ่งแวดล้อมจังหวัดกระบี่ประกาศเมื่อ 17 มีนาคม 2550 มีระยะเวลาการบังคับใช้ 5 ปีและสิ้นสุดลงเมื่อปี 2555 และปล่อยให้เวลาล่วงเลยมาถึง 5 ปี ช่วงเวลาดังกล่าวกฟผ. พยายามทำงานมวลชน และการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ EIA/EHIA เพื่อนำไปสู่การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินโดยไม่ต้องคำนึงถึงพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม เมื่อปรากฎร่างพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่กำลังจะประกาศใช้กลับปรากฎข้อความเปิดทางให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินได้ มีข้อสังเกตว่าทั้งช่วงเวลาที่ไม่ประกาศและเนื้อหาการประกาศใหม่กลับสอดคล้องต้องกันเพื่อเอื้อให้เกิดการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขึ้น คำถามคือ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกำลังคิดอะไรอยู่?” เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินกล่าวในแถลงการณ์

รมว.กระทรวงทรัพย์ฯให้คำมั่นจะให้คำตอบ"เร็วที่สุดเท่าที่มนุษย์จะทำได้"

ไม่นานนักตัวแทนจากทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหลายท่านได้ลงมาพูดคุยกับเครือข่ายและพี่น้องชาวอันดามัน โดยมี ดร.รวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนายเกษมสันต์ จิณณวาโส ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มารับเรื่อง พร้อมกับส่งเรื่องต่อไปยัง พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งต่อมาท่านรมว. กระทรวงทรัพย์ฯ ได้เชิญตัวแทนเครือข่ายไปประชุมพูดคุยซึ่งข้อสรุปของการหารือในครั้งนี้คือ ทางกระทรวงทรัพย์ฯ รับข้อเสนอของเครือข่ายฯ แม้ว่ายังไม่สามารถรับปากว่าจะให้คำตอบได้เมื่อใด แต่ให้คำสัญญาว่าจะให้คำตอบ "เร็วที่สุดเท่าที่มนุษย์จะทำได้"

“ที่กระบี่มีป้ายประกาศของกระทรวงทรัพย์ฯ ติดอยู่เต็ม โดยอ้างอิงถึงกระแสพระราชดำรัสของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เกี่ยวกับการรักษาป่าชายเลน ซึ่งแสดงถึงเจตนารมณ์ของกระทรวงทรัพย์ฯ อย่างชัดเจน เราหวังว่ากระทรวงทรัพย์จะดำเนินตามเจตนารมณ์นี้ โดยทางเครือข่ายให้เวลากับทางกระทรวง เนื่องจากมีกระบวนการทางกฎหมายที่ไม่อาจบรรลุได้ในเร็ววัน เราจะกลับมารับคำตอบอีกครั้งที่นี่ ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ นี้ เพื่อขอดูข้อความตามที่ท่านได้รับปากไว้ พวกเราไม่ได้คัดค้านโรงไฟฟ้า แต่คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เป็นอันตราย เพื่อประโยชน์ของชาวอันดามัน และของคนไทยโดยรวม” นายประสิทธิชัย หนูนวล ตัวแทนเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินกล่าว

รศ.ดร.เรณู เวชรัชต์พิมล ตัวแทนของเครือข่ายนักวิชาการ ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจเพิ่มเติมว่า “ขณะนี้ประเทศไทยมีพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมทั้งหมด 9  แห่ง มีจุดประสงค์เพื่อประโยชน์ในเชิงอนุรักษ์ แต่ปัจจุบันนี้ขาดอายุไปทั้งสิ้น 6  แห่ง ระหว่างนี้หมายความว่าแต่ละแห่งนั้นไม่มีกฎหมายอะไรคุ้มครองทั้งสิ้น และแห่งอื่นๆ ก็ไม่มีการเพิ่มเติมข้อความเข้ามาในเชิงที่เอื้อต่อการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแต่อย่างไร”

นายไกรศักดิ์ ชุณหวัณ นักกิจกรรมขับเคลื่อนด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม กล่าวเสริมว่า “โรงไฟฟ้าถ่านหินจะสร้างมลพิษมหาศาล  จึงทำให้พี่น้องรู้สึกเหมือนกับถูกมัดมือชก ต้องออกมาเรียกร้องเพราะสิ่งแวดล้อมคือ การทำมาหากิน วิถีชิวิต และการท่องเที่ยวที่หล่อเลี้ยงประเทศไทย แต่สิ่งเหล่านี้จะถูกทำลายโดยโรงไฟฟ้าถ่านหิน  รัฐบาลได้ประกาศเจตนารมณ์ที่การประชุมด้านสภาพภูมิอากาศที่กรุงปารีสเมื่อปลายปีที่แล้วว่า จะลดการปล่อยคาร์บอนลงร้อยละ 20 นั่นหมายถึงจะต้องไม่มีโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มเติม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ตรงกันข้ามกับแถลงการณ์และปฏิญญาของโลกโดยสิ้นเชิง”

แม้ว่าวันนี้ยังไม่มีคำตอบถึงการปรับเปลี่ยนกฎหมายที่เอื้อต่อโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม แต่เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินจะรอคำตอบอย่างมีความหวังในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ นี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนำประกาศพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมมาบังคับใช้โดยเร็วที่สุดและปราศจากข้อความที่เปิดโอกาสให้โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินและอุตสาหกรรมอันตรายดำเนินการได้ในพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นคำขอข้อเดียวเท่านั้น และเป็นสิ่งที่ภาคประชาชนมองเห็นว่าเหมาะสม ตามเจตนารณ์และภารกิจของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพึงกระทำเพื่อปกป้องรักษาสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย เพื่อประโยชน์ของประชาชนเหนือผลประโยชน์ของอุตสาหกรรม


ที่มา: www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/55408




Create Date : 27 มกราคม 2559
Last Update : 27 มกราคม 2559 15:21:11 น. 0 comments
Counter : 1065 Pageviews.  
 
Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

greenpeacethailand
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




ในพ.ศ.2514 กลุ่มนักกิจกรรมกลุ่มเล็กๆ จากเมืองแวนคูเวอร์ แคนาดา ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากวิสัยทัศน์แห่งโลกสีเขียวและมีสันติสุข ได้แล่นเรือหาปลาเก่าๆ ออกจากแวนคูเวอร์ แคนาดา นักกิจกรรมเหล่านี้ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งกรีนพีซ เชื่อว่าบุคคลไม่กี่คนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

ภาระกิจของพวกเขาคือการ "เป็นประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุ" ของการทดลองนิวเคลียร์ใต้ดินที่เกาะอัมชิตกา ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ นอกชายฝั่งตะวันตกของรัฐอลาสก้า ซึ่งเป็นภูมิภาคที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

อัมชิตกาเป็นสถานหลบภัยของนากทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์ 3,000 ตัว และเป็นบ้านของนกอินทรีย์หัวล้าน เหยี่ยวต่างถิ่น และ สัตว์ป่าอื่นๆ มากมาย

ถึงแม้ว่าเรือเก่าๆ ของพวกเขา คือ ฟิลลิส คอร์แมก ถูกขัดขวางก่อนที่จะไปถึงอัมชิตกา แต่การเดินทางครั้งนี้จุดประกายเล็กน้อยให้แก่ความสนใจของสาธารณชน

สหรัฐอเมริกายังคงจุดระเบิดอย่างหนักหน่วง แต่เสียงเพรียกแห่งเหตุผลมีผู้ได้ยินแล้ว การทดลองนิวเคลียร์บนเกาะอัมชิตกาได้สิ้นสุดลงในปีเดียวกัน และเกาะแห่งนั้นได้ถูกประกาศให้เป็นสถานหลบภัยของนกทั้งหลาย

ปัจจุบัน กรีนพีซเป็นองค์กรนานาชาติที่ให้ความสำคัญแก่การรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก


คุณพร้อมที่จะร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือยัง?
มีหลายวิธีที่คุณสามารถทำได้ตอนนี้!


หลายคนอาจจะคิดว่าการดูแลรักษาโลกเป็นเรื่องยาก แค่ลำพังเราอาจทำอะไรได้ไม่มากนัก แต่ในความเป็นจริงแล้วแค่เพียงสองมือเล็กๆของเราก็สามารถทำเพื่อโลกได้มากมาย อ่านต่อ

ติดตามกรีนพีซเพ่ิมเติมได้ที่:

Facebook | Twitter | Instagram | YouTube
[Add greenpeacethailand's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com