กรีนพีซดำรงอยู่เพราะโลกอันบอบบางใบนี้สมควรมีผู้ปกป้อง โลกต้องมีวิธีแก้ปัญหา ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ต้องมีการลงมือทำ
 
ไม่จบ! บริษัทกระดาษกับแผนการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่คุกคามลุ่มน้ำบางปะกง

มันมาอีกแล้ว! ชุมชนเจ็บแต่บริษัทกระดาษดั๊บเบิ้ล เอ ไม่ยอมจบ กลับมาอีกครั้งกับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อนของบริษัทกระดาษดั๊บเบิ้ล เอ ครั้งที่ 3 หลังจากคชก.ไม่อนุมัติรายงานฉบับล่าสุดเมื่อปี 2556 

ต้องให้ชาวฉะเชิงเทราคัดค้านสักกี่ครั้ง ต้องให้คชก.ไม่เห็นชอบโครงการสักกี่หน บริษัทกระดาษดั๊บเบิ้ล เอ จึงจะยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อนเสียที… เพราะครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 แล้วที่โครงการนี้คืนชีพขึ้นมาใหม่ กับการยื่นโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินและรอฟังผลการพิจารณารายงาน EHIA จากคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ในวันพฤหัสบดีที่ 14 ม.ค.2559 นี้ เวลา 13.00 น.ที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)

โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน จังหวัดฉะเชิงเทรา ของบริษัทเนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทลงทุนโรงไฟฟ้าถ่านหินของบริษัทกระดาษดั๊บเบิ้ล เอ กำลังทำให้พื้นที่การเกษตรอันเป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหารของเราทั้งประเทศต้องตกอยู่ในความเสี่ยง ด้วยการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 600 เมกะวัตต์ พื้นที่แห่งนี้มีมรดกอันอุดมสมบูรณ์ขึ้นชื่ออย่างมะม่วงแปดริ้ว เห็ดฟาง ข้าว และผักอินทรีย์ อีกทั้งยังตั้งอยู่ใกล้เคียงกับลุ่มน้ำคลองท่าลาด อันเป็นลุ่มน้ำสาขาที่ใหญ่ที่สุดของแม่น้ำบางปะกง

รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน ดังกล่าวมีขึ้นครั้งแรกเมื่อเดือนกรกฎาคม 2555 และไม่ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) เนื่องจากชุมชนในพื้นที่ก็ได้จัดทำรายงาน CHIA ของชุมชน  (Community Health Impact Assessment) ขึ้นมาโต้แย้งเนื่องจากรายงานฉบับดังกล่าวไม่สามารถตอบหลายประเด็นได้ชัดเจน

ต่อมาการพิจารณารายงาน EHIA ครั้งที่สองคือเมื่อปี 2556 ที่พี่น้องฉะเชิงเทราได้รวมตัวกันเพื่อเรียกร้องให้คชก.ไม่พิจารณาอนุมัติเห็นชอบโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินนี้ และมีพลังเสียงจากชาวไทยที่ได้ร่วมลงชื่อใน Change.org ในครั้งนั้นภายในเวลาอันรวดเร็ว กว่า 9,000 คน และท้ายที่สุด คชก. มีมติไม่เห็นชอบโครงการดังกล่าว แต่วันนี้บริษัทกระดาษ ดั๊บเบิ้ล เอ ยังคงยืนยันที่จะเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เขาหินซ้อนโดยการยื่นรายงานการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ EHIA โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน จังหวัดฉะเชิงเทรา ให้ คชก. พิจารณาอีกครั้ง

อย่าให้หายนะที่ท่าตูมซ้ำรอยที่ลุ่มน้ำบางปะกง

ขณะนี้ในพื้นที่บริเวณโรงไฟฟ้าถ่านหินและโรงผลิตกระดาษและเยื่อกระดาษในตําบลท่าตูม อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินของบริษัทดั๊บเบิ้ล เอ  กำลังผลิตติดตั้ง 400 เมกะวัตต์ ใช้ถ่านหินกระบวนการผลิต 900,000 ตันต่อปี ตามระบุในรายงานวิจัยตรวจพบระดับสารปรอทที่สูงเกินค่าปริมาณอ้างอิงทั้งในปลาและเส้นผมของผู้ที่อาศัยอยู่รอบโรงงาน โดยพบการปนเปื้อนของสารปรอทอยู่ในระดับสูงเกินมาตรฐานหลายเท่า งานวิจัยระบุว่า ผลการศึกษาจากการเก็บตัวอย่างปลาช่อน จำนวน 20 ตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างปลาทั้งหมดมีสารปรอทปนเปื้อนสูงเกินมาตรฐานที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไม่เกิน 0.22 พีพีเอ็ม

และผลการตรวจเส้นผมของอาสาสมัครชาวบ้าน อายุระหว่าง 17-72 ปี ทั้ง 20 ราย พบปริมาณสารปรอทสูงเกินค่ามาตรฐานการอ้างอิงของ US EPA ที่กำหนดไว้ว่าต้องไม่เกิน 1 พีพีเอ็ม แต่ปรากฏว่า ตัวอย่างสารปรอทในเส้นผมที่พบสูงสุดตั้งแต่ 1.628-12.758 พีพีเอ็ม หรือสูงกว่าค่าปริมาณของ US EPA กว่า 4.5 เท่า ทั้งนี้ ที่พบสารปรอทสะสมในผมของชาวบ้านสูงมาก เพราะชาวบ้านต้องบริโภคปลาจากคลองชลองแวง ซึ่งพบว่ายิ่งมีการบริโภคปลามากก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการสะสมสารปรอทมากขึ้นตามอายุและจำนวนมื้อที่กินปลาเข้าไป โดยสาเหตุของการปนเปื้อนสารปรอทในปลา สันนิษฐานว่ามาจากเถ้าลอยของโรงไฟฟ้าถ่านหินท่าตูม

ปัญหาการปนเปื้อนสารปรอทนี้ยังคงไม่ได้รับการเยียวยาและแก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้น แต่ในวันนี้บริษัทกระดาษดั๊บเบิ้ล เอ กลับพยายามเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่อีกครั้ง และในผลกระทบครั้งใหม่นี้จะเกิดขึ้นกับลุ่มน้ำสำคัญของภาคตะวันตกอย่างลุ่มน้ำบางปะกง

พื้นที่ปนเปื้อนสารปรอทจากแหล่งโรงไฟฟ้าถ่านหินและโรงผลิตเยื่อกระดาษของบริษัทดั๊บเบิ้ลเอ ในต.ท่าตูม อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบ...

Posted by Greenpeace Thailand on Tuesday, January 12, 2016

ประเด็นสำคัญที่ชุมชนในพื้นที่กังวลคือ ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในประเด็นมลพิษที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ การแย่งใช้น้ำทั้งน้ำประปาและน้ำเพื่อการเกษตร พืชผลการเกษตรเสียหาย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ผลิตมะม่วงเพื่อการส่งออก กลุ่มผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์ และผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเป็นต้น ผลกระทบต่อพื้นที่โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และฟาร์มต้นแบบที่ตั้งอยู่ในชุมชนพื้นที่รอบโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน 

โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อนมีสัดส่วนการใช้น้ำประมาณร้อยละ 20 จากอ่างเก็บน้ำคลองระบม ซึ่งประชาชนในลุ่มน้ำคลองท่าลาดและลุ่มน้ำบางปะกงยังคงมีปัญหาการขาดแคลนน้ำดิบในการผลิตน้ำประปาและการเกษตร และมีความต้องการใช้น้ำเพิ่มสูงขึ้น และชุมชนจำเป็นต้องพึ่งพาแหล่งน้ำตลอดลุ่มน้ำคลองระบม-สียัด เชื่อมต่อลงสู่ลุ่มน้ำคลองท่าลาด และลุ่มน้ำบางปะกง หากลุ่มน้ำบางปะกงปนเปื้อนมลพิษจากถ่านหินจะสร้างความเสียหายทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมากมายเพียงไร หายนะที่ท่าตูม จังหวัดปราจีนบุรี อาจเกิดขึ้นซ้ำรอยอีกครั้งที่ลุ่มน้ำบางปะกง และระบบน้ำของภาคตะวันออก หากเกิดโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อนของบริษัทผลิตกระดาษชื่อดังอย่างดั๊บเบิ้ล เอ

ร่วมลงชื่อเรียกร้องให้บริษัท ดั๊บเบิ้ล เอ (1991) จำกัด ยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อนอย่างถาวร โดยเราจะนำรายชื่อของทุกคนไปยื่นที่หน้าสำนักงานใหญ่บริษัทดั๊บเบิ้ล เอ (1991) จำกัด (มหาชน) ที่บางปะกง ในวันที่ 14 มกราคม 2559 เวลา 09.00 น. และเราขอเชิญชวนทุกท่านร่วมหยุดโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อนด้วยกัน ในที่14 มกราคม 2559 เวลา 13.00 น. ที่หน้าสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)

ข้อมูลรายงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง


ที่มา: www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/55277




Create Date : 13 มกราคม 2559
Last Update : 13 มกราคม 2559 18:27:23 น. 0 comments
Counter : 1561 Pageviews.  
 
Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

greenpeacethailand
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




ในพ.ศ.2514 กลุ่มนักกิจกรรมกลุ่มเล็กๆ จากเมืองแวนคูเวอร์ แคนาดา ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากวิสัยทัศน์แห่งโลกสีเขียวและมีสันติสุข ได้แล่นเรือหาปลาเก่าๆ ออกจากแวนคูเวอร์ แคนาดา นักกิจกรรมเหล่านี้ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งกรีนพีซ เชื่อว่าบุคคลไม่กี่คนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

ภาระกิจของพวกเขาคือการ "เป็นประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุ" ของการทดลองนิวเคลียร์ใต้ดินที่เกาะอัมชิตกา ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ นอกชายฝั่งตะวันตกของรัฐอลาสก้า ซึ่งเป็นภูมิภาคที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

อัมชิตกาเป็นสถานหลบภัยของนากทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์ 3,000 ตัว และเป็นบ้านของนกอินทรีย์หัวล้าน เหยี่ยวต่างถิ่น และ สัตว์ป่าอื่นๆ มากมาย

ถึงแม้ว่าเรือเก่าๆ ของพวกเขา คือ ฟิลลิส คอร์แมก ถูกขัดขวางก่อนที่จะไปถึงอัมชิตกา แต่การเดินทางครั้งนี้จุดประกายเล็กน้อยให้แก่ความสนใจของสาธารณชน

สหรัฐอเมริกายังคงจุดระเบิดอย่างหนักหน่วง แต่เสียงเพรียกแห่งเหตุผลมีผู้ได้ยินแล้ว การทดลองนิวเคลียร์บนเกาะอัมชิตกาได้สิ้นสุดลงในปีเดียวกัน และเกาะแห่งนั้นได้ถูกประกาศให้เป็นสถานหลบภัยของนกทั้งหลาย

ปัจจุบัน กรีนพีซเป็นองค์กรนานาชาติที่ให้ความสำคัญแก่การรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก


คุณพร้อมที่จะร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือยัง?
มีหลายวิธีที่คุณสามารถทำได้ตอนนี้!


หลายคนอาจจะคิดว่าการดูแลรักษาโลกเป็นเรื่องยาก แค่ลำพังเราอาจทำอะไรได้ไม่มากนัก แต่ในความเป็นจริงแล้วแค่เพียงสองมือเล็กๆของเราก็สามารถทำเพื่อโลกได้มากมาย อ่านต่อ

ติดตามกรีนพีซเพ่ิมเติมได้ที่:

Facebook | Twitter | Instagram | YouTube
[Add greenpeacethailand's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com