กรีนพีซดำรงอยู่เพราะโลกอันบอบบางใบนี้สมควรมีผู้ปกป้อง โลกต้องมีวิธีแก้ปัญหา ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ต้องมีการลงมือทำ
 
ทางแพร่งของกระบี่ กับทางเลือกอนาคตพลังงานของไทย

Blogpost โดย รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ -- สิงหาคม 22, 2557 ที่ 18:31

หลายเดือนที่ผ่านมาดูเหมือนว่ากระบี่กำลังเผชิญกับมรสุมครั้งใหญ่ หลายคนที่ได้รับรู้ว่ามีแผนการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่ผู้ที่รักทะเลกระบี่ก็ต่างเฝ้ามองหาดทรายขาว และน้ำทะเลสีมรกต แล้วตั้งคำถามว่า วันนี้ในปีหน้าหรือปีต่อๆ ไป กระบี่จะยังคงความสวยงามอุดมสมบูรณ์เช่นนี้อีกหรือไม่ หากมีโรงไฟฟ้าถ่านหินพร้อมกับท่าเรือขนส่งถ่านหินเข้ามา หลายเรื่องราวที่เกิดขึ้นทำให้เราต้องเริ่มตั้งคำถามและหาคำตอบอย่างจริงจังว่า อนาคตพลังงานของไทยจะไปในทิศทางใด ระหว่างยึดติดกับเชื้อเพลิงถ่านหินที่สกปรกหรือพัฒนาไปสู่ระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและปลอดภัย

เมื่อวานนี้  (21 สิงหาคม 2557) กรีนพีซได้จัดเวทีสาธารณะเรื่อง “กระบี่บนทางแพร่ง: : ถ่านหินสกปรกหรือระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด”  และร่วมหาคำตอบกับประชาชนว่าพลังงานประเภทใดคืออนาคตของพลังงานที่ประเทศไทยควรเลือกเดิน พร้อมทั้งถ่ายทอดสดทางอินเตอร์เน็ท และเปิดเผยรายงานที่อธิบายถึงแผนการของรัฐบาลและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเพื่อขยายโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จังหวัดกระบี่ แม้ว่ากระบวนการจัดทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพนั้นประสบความล้มเหลว ระบุถึงผลกระทบต่อการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจท้องถิ่น ผลกระทบที่เคยเกิดขึ้นในอดีตจากโรงไฟฟ้าถ่านหินเก่า ความล้มเหลวของการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และข้อเสนอเชิงนโยบายด้านทางออกระบบพลังงานหมุนเวียนแบบกระจายศูนย์และผสมผสานที่ประเทศไทยควรเลือกเดิน

ทางเลือกที่เลือกไม่ยาก แต่รัฐไม่อยากจะเลือก?

ขณะนี้โรงไฟฟ้าถ่านหินของไทยหลักๆ 2 โรง คือที่แม่เมาะ จังหวัดลำปาง (กำลังผลิต 2,180 เมกะวัตต์) และของบีแอลซีพี/เก๊คโควัน ที่จังหวัดระยอง (กำลังผลิต 2,007 เมกะวัตต์) นั้นใช้ถ่านหินนำเข้าจากประเทศอินโดนีเซีย และออสเตรเลีย “ในแผนพีดีพีใหม่ กำหนดเป้าไว้ว่าจะนำเข้าถ่านหินเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 8 ในฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 ไปเป็นร้อยละ 18-26 ในอนาคต ซึ่งนั่นหมายความว่า นอกจากโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่แล้ว จะมีโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งอื่นอีกอย่างน้อย 3 โรง สำหรับถ่านหินที่อ้างว่าสะอาดนั้นมีกระบวนการชะล้างถ่านหินเพื่อเอาปรอทออกไป แต่ปรอทก็ยังคงอยู่ในกระบวนการเผาผลาญถ่านหิน แม้จะมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพียงใด ปรอทจะสะสมในเถ้า และกระจายสู่สิ่งแวดล้อม ไม่ได้หายไปแต่อย่างไร” ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการรณรงค์กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าว

“การเปลี่ยนแปลงแผนเพิ่มโรงไฟฟ้าขนาดนั้น ที่ประเทศอื่นจะเปลี่ยนเนื่องจากอุบัติเหตุอย่าง ภัยพิบัติเชอร์โนบิล ซึ่งเกิดเป็นวิกฤตขาดแคลนไฟฟ้า ในการอ้างว่าพลังงานหมุนเวียนไม่แน่นอน บริหารยาก ความจริงคือ เราสามารถพยากรณ์ล่วงหน้าได้ ซึ่งในทางสถิติถือว่าค่อนข้างแม่นยำ หลักการพลังงานมีหลักการเดียวกับประชาธิปไตย คือ กระจายอำนาจ กระจายศูนย์ ประชาชนมีส่วนร่วม ไม่ใช่แค่โรงไฟฟ้า การที่พลังงานหมุนเวียนมีต้นทุนสูงเนื่องจากรัฐไม่ให้การสนับสนุน” ผศ. ประสาท มีแต้ม กล่าว “ภาวะโลกร้อนไม่ใช่นิยาย แต่เป็นเรื่องจริง ถึงจะมีน้ำมันเยอะเท่าน้ำทะเลเราก็ไม่ควรใช้ เพราะระบบนิเวศของโลกพังหมดแล้ว เราจะอยู่ไม่ได้แล้ว เราไม่ควรถกเถียงเรื่องพลังงานในแง่มิติของพลังงาน แต่ควรมองในมิติของระบบนิเวศโดยรวม”

สิ่งที่โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่เลือกที่จะไม่บอก

“พีพีทุกคนรับรู้ว่าเป็นเหมือนเกาะสวรรค์ ชาวลันตาฟังแล้วรู้สึกเจ็บปวดว่าเกาะลันตาเป็นเสมือนนรกหรือ” ธีรพจน์ กษิรวัฒน์  นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวเกาะลันตา กระบี่ กล่าว คำกล่าวในการโน้มน้าวชาวกระบี่เพื่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน และท่าเรือขนส่งถ่านหินนั้นยังเป็นข้อสงสัยอยู่ว่า หากเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดมีจริง เหตุใดจึงไม่สามารถสร้างจุดจอดพักเรือขนส่งถ่านหินที่เกาะพีพีได้ และทำไมตอนนี้ชาวพีพีจึงยังไม่รู้ถึงโครงการถ่านหินนี้  

เส้นทางเดินเรือขนส่งถ่านหินนั้นอยู่ใกล้กับเกาะศรีบอยา อันเป็นพื้นที่หญ้าทะเลขนาดใหญ่ และเป็นบ้านของฝูงปลาพะยูนประมาณ 15 ตัว ซึ่งในแผนที่ของรายงาน EIA กลับไม่มีการพูดถึงจุดท่องเที่ยวสำคัญอย่างเกาะพีพี กระบี่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจจากป่าชายเลนและเชิงสันทนาการ ในพื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่อย่างมหาศาล และไม่ได้ถูกพูดถึงในการจัดทำรายงาน EHIA และ EIA โดยโครงการโรงไฟฟ้ากระบี่นั้นมีการศึกษาผลกระทบแบ่งออกเป็น 2 ส่วน แยกกัน คือ ส่วนของโรงไฟฟ้าถ่านหินจะอยู่ในกระบวนการจัดทำรายงาน EHIA แค่ส่วนของท่าเรือและการขนส่งถ่านหินเป็นเพียงแค่EIA ที่ขาดการวิเคราะห์เรื่องผลกระทบด้านสุขภาพ ซึ่งการที่แยกโครงการออกมา คนจะมองไม่เห็นภาพรวมของผลกระทบที่เกิดขึ้น

“ในพื้นที่ของจังหวัดกระบี่เอง ใช้ไฟสูงสุดประมาณ 125  เมกะวัตต์ แต่กำลังผลิตประมาณ 400 เมกะวัตต์ ผลิตให้จังหวัดอื่นอีกประมาณ 300 เมกะวัตต์ การที่พูดว่าไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินแปลว่ากระบี่ไม่ใช้ไฟฟ้าหรือ และจะทำให้กระบี่จะขาดแคลนพลังงาน อันที่จริงแล้วการขาดแคลนพลังงานเป็นเพียงที่ข้อมูลที่รัฐบอก แต่ความเป็นจริงนั้นกระบี่เป็นจังหวัดเดียวที่ผลิตไฟฟ้าได้จากพลังงานหมุนเวียนโดยไม่ต้องพึ่งพาแก๊สและฟอลซิลได้ 100 เปอร์เซ็นต์ภายในสองปี เหตุใดต้องยัดเยียดถ่านหินให้กับกระบี่” นายธีรพจน์ กษิรวัฒน์ กล่าวเสริม

อีกเรื่องหนึ่งที่ชาวกระบี่ยังข้องใจ คือ เมื่อใกล้จบกระบวนการรับฟังความคิดเห็น หรือ ค.3 กลับมีข่าวว่าจะมีโรงไฟฟ้าที่กระบี่ 4 โรง ไม่ใช่เพียงแค่โรงเดียว “เราจึงมองผลกระทบที่ไม่ได้เกิดจากโรงไฟฟ้าเพียงหนึ่งโรง แต่ปัญหาอาจเกิดขึ้นเป็นนิคมอุตสาหกรรม อย่างเช่น ชลบุรี การผลิตไฟฟ้าขึ้นอืกหนึ่งหมื่นเมกะวัตต์นั้นจะนำไปใช้ทำอะไรนอกจากการผลิตเพื่อนิคมอุตสาหกรรม การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่นั้นเป็นเรื่องของการขาดแคลนพลังงานจริงหรือ ในเมื่อยังมีพลังงานอย่างอื่นให้เลือกอีก” นายธีรพจน์ กษิรวัฒน์ กล่าวเสริม

ทางเลือกของกระบี่: ถ่านหินสกปรก หรือระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด

บางคนบอกประเทศไทยลมเพลมพัด จริงๆ แล้วไม่ได้ขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีลม แต่เป็นนโยบายของรัฐ ดังที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประสาท มีแต้ม กล่าวไว้ว่า “อุปสรรคของกังหันลมไม่ได้อยู่ที่ต้นทุน และไม่ได้อยู่ที่เทคโนโลยีหรือแรงลม แต่อยู่ที่นโยบายรัฐ” โลกของเรามีศักยภาพทางพลังงานเหลือเฟือ ถ้าหากเราลองแหงนมองขึ้นฟ้า และรับแรงลม ในเวทีสาธารณะวันนี้ เราได้เรียนรู้ว่าพลังงานหมุนเวียนในไทยกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว เรามีพลังงานหมุนเวียนจากชีวมวล โซลาร์เซลล์ กังหันลม พลังน้ำ อยู่เกือบ 4,000 เมกกะวัตต์ จากเดิมที่สัดส่วนน้อยมาก มองดูแล้วไทยสามารถเป็นผู้นำในการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนที่ก้าวหน้า หากมีนโยบายที่สนับสนุน ขณะนี้ไทยมีพลังงานจากกังหันลมเป็นอันดับหนึ่งในอาเซียน ทั้งๆ ที่ฟิลิปปินส์มีกลไลนโยบายสนับสนุน แสดงว่าประเทศไทยสามารถทำได้ดีกว่านี้หากมีกลไกสนับสนุนที่ดี

“กระบี่มีความต้องการไฟฟ้าแค่ 125 เมกะวัตต์  ซึ่งหากประเมินกำลังผลิตตามศักยภาพแล้วกระบี่สามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้ถึง 470 เมกะวัตต์ในอนาคต การผลิตพลังงานหมุนเวียนของกระบี่ทำให้กระบี่สามารถอยู่ได้ด้วยตนเอง นอกจากเพียงพอกับการใช้ไฟฟ้าทุกกิจกรรมอย่างศักยภาพมีแล้ว ต้นทุนพลังงานหมุนเวียนก็กำลังลดลง และเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นจังหวัดต้นแบบนำร่อง Green City ขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบ Green Economy” ดร. จอมภพ แววศักดิ์ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง กล่าวถึงศักยภาพพลังงานหมุนเวียนของกระบี่

กระบี่เป็นเมืองท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อด้านสิ่งแวดล้อมพร้อมด้วยนโยบาย “Krabi goes green” ของกลุ่มภาคธุรกิจกระบี่ ว่าด้วยทางเลือกด้านพลังงานเพื่อมุ่งสู่วิสัยทัศน์กระบี่ 2020 – มุ่งสู่กระบี่สีเขียว แต่ถ่านหินคงไม่สามารถทำให้กระบี่ไปในทิศทางที่ต้องการได้ ทางสายพลังงานสีเขียวมีคำตอบที่ดีที่สุดอยู่แล้ว และคำตอบนั้นคงไม่ใช่พลังงานจากถ่านหิน เหลือแต่เพียงว่าผู้กำหนดนโยบายจะกำหนดอนาคตพลังงานของกระบี่และไทยไปในทิศทางใด เท่านั้นเอง

ร่วมลงชื่อ “ปกป้องกระบี่จากถ่านหิน” และเรียกร้องว่าเราต้องการโรงไฟฟ้าที่มาจากพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด คลิกเลยที่www.protectkrabi.org #ProtectKrabi

ที่มา : ทางแพร่งของกระบี่ กับทางเลือกอนาคตพลังงานของไทย




Create Date : 28 สิงหาคม 2557
Last Update : 28 สิงหาคม 2557 12:09:14 น. 0 comments
Counter : 1108 Pageviews.  
 
Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

greenpeacethailand
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




ในพ.ศ.2514 กลุ่มนักกิจกรรมกลุ่มเล็กๆ จากเมืองแวนคูเวอร์ แคนาดา ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากวิสัยทัศน์แห่งโลกสีเขียวและมีสันติสุข ได้แล่นเรือหาปลาเก่าๆ ออกจากแวนคูเวอร์ แคนาดา นักกิจกรรมเหล่านี้ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งกรีนพีซ เชื่อว่าบุคคลไม่กี่คนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

ภาระกิจของพวกเขาคือการ "เป็นประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุ" ของการทดลองนิวเคลียร์ใต้ดินที่เกาะอัมชิตกา ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ นอกชายฝั่งตะวันตกของรัฐอลาสก้า ซึ่งเป็นภูมิภาคที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

อัมชิตกาเป็นสถานหลบภัยของนากทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์ 3,000 ตัว และเป็นบ้านของนกอินทรีย์หัวล้าน เหยี่ยวต่างถิ่น และ สัตว์ป่าอื่นๆ มากมาย

ถึงแม้ว่าเรือเก่าๆ ของพวกเขา คือ ฟิลลิส คอร์แมก ถูกขัดขวางก่อนที่จะไปถึงอัมชิตกา แต่การเดินทางครั้งนี้จุดประกายเล็กน้อยให้แก่ความสนใจของสาธารณชน

สหรัฐอเมริกายังคงจุดระเบิดอย่างหนักหน่วง แต่เสียงเพรียกแห่งเหตุผลมีผู้ได้ยินแล้ว การทดลองนิวเคลียร์บนเกาะอัมชิตกาได้สิ้นสุดลงในปีเดียวกัน และเกาะแห่งนั้นได้ถูกประกาศให้เป็นสถานหลบภัยของนกทั้งหลาย

ปัจจุบัน กรีนพีซเป็นองค์กรนานาชาติที่ให้ความสำคัญแก่การรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก


คุณพร้อมที่จะร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือยัง?
มีหลายวิธีที่คุณสามารถทำได้ตอนนี้!


หลายคนอาจจะคิดว่าการดูแลรักษาโลกเป็นเรื่องยาก แค่ลำพังเราอาจทำอะไรได้ไม่มากนัก แต่ในความเป็นจริงแล้วแค่เพียงสองมือเล็กๆของเราก็สามารถทำเพื่อโลกได้มากมาย อ่านต่อ

ติดตามกรีนพีซเพ่ิมเติมได้ที่:

Facebook | Twitter | Instagram | YouTube
[Add greenpeacethailand's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com