กรีนพีซดำรงอยู่เพราะโลกอันบอบบางใบนี้สมควรมีผู้ปกป้อง โลกต้องมีวิธีแก้ปัญหา ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ต้องมีการลงมือทำ
 
ดับฝันดั๊บเบิ้ล เอ รอบ 3 EHIA โรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน

“ถ้าอาหารมีสารปนเปื้อน ฉันคนนึงเลยนะที่ไม่กิน แล้วคุณจะกินไหม เราจะไม่สามารถควบคุณสารพิษที่มาจากโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เข้ามาปนเปื้อนในการผลิตระบบเกษตรอินทรีย์ได้” เกษตรกรชาวฉะเชิงเทรากล่าว


บ่อยครั้งที่โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินมักถูกตั้งคำถามถึงการคุกคามพื้นที่อาหาร แต่ไม่มีเลยสักครั้งที่โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินสามารถตอบโจทย์ หรือแก้ปัญหาเยียวยาได้จริง เนื่องจากหนึ่งในสารพิษจากกระบวนการเผาผลาญถ่านหินคือสารโลหะหนัก ซึ่งยังไม่มีเทคโนโลยีใดที่ช่วยขจัดได้ในประเทศไทย และในวันนี้บริษัทดั๊บเบิ้ล เอ พยายามผลักดันโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน จังหวัดฉะเชิงเทรา กำลังการผลิตขนาด 600 เมกะวัตต์ ทั้งที่ยังไม่สามารถแก้ไขเยียวยาปัญหากรณีการพบสารปนเปื้อนสารปรอทจากแหล่งโรงไฟฟ้าถ่านหินและโรงผลิตเยื่อกระดาษของบริษัทดั๊บเบิ้ลเอ ในตำบลท่าตูม อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี

ดับฝันดั๊บเบิ้ล เอ อีกครั้ง

ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 ที่รายงาน EHIA ไม่ผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) หลังจากที่เมื่อปี 2556 โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อนของบริษัทกระดาษดั๊บเบิ้ล เอ ถูกตีกลับมาแล้ว ในวันนี้ชาวฉะเชิงเทราได้ออกมาแสดงพลังคัดค้านโครงการนี้อีกครั้ง ร่วมกับพลังเสียงกว่า 10,000 คน จากชาวไทยผู้ต้องการปกป้องอู่ข้าวอู่น้ำแหล่งเกษตรกรรมของไทย และลุ่มน้ำบางปะกงจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน ในเช้าวันนี้ (14 มกราคม 2559) พี่น้องชาวฉะเชิงเทรา และเครือข่าย๓๐๔กินได้ ได้มารวมตัวกัน และเดินทางไปยังสำนักงานใหญ่บริษัทดั๊บเบิ้ล เอ (1991) จำกัด (มหาชน) ที่บางปะกง เพื่อยื่นกว่า 10,000 รายชื่อ พร้อมกับแถลงการณ์ร่วมกับอีก 45 เครือข่าย ขอให้ยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน และแสดงความกังวลว่าถ่านหินอาจทำลายแหล่งผลิตอาหารชั้นดี สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีนายนิติรัชน์ ตันจันตา ผู้จัดการฝ่ายอาคารสถานที่ ลงมารับรายชื่อเพื่อส่งมอบให้กับคณะผู้บริหารบริษัทดั๊บเบิ้ล เอ แต่ครั้งนี้เป็นครั้งที่สองแล้วที่ทางชุมชนยังไม่ได้รับคำตอบใดๆ จากทางบริษัท

แถลงการณ์เครือข่าย ๓๐๔ กินได้เรื่อง ขอให้ยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน 600 เมกะวัตต์ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเท...

Posted by 304 กินได้ on Wednesday, January 13, 2016

นี่เป็นอีกครั้งที่ชาวฉะเชิงเทราต้องเดินทางมาเบื้องหน้าสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อเรียกร้องให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) พิจารณาไม่อนุมัติโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อนและรอฟังผลการพิจารณารายงาน EHIA จาก คชก. และในครั้งนี้พลังประชาชนขยายตัวเข้มแข็งขึ้น เพราะพวกเขามาในฐานะที่เป็นตัวแทนของเครือข่าย 45 เครือข่าย พลังเสียงกว่า 10,000 เสียง เกษตรกรผู้ปลูกพืชผักเกษตรอินทรีย์ และคนไทยผู้ฝากปากท้องไว้กับความมั่นคงทางอาหารในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำบางปะกง

“แม้จะอ้างว่าถ่านหินสะอาด แต่สิ่งที่เราได้ศึกษามา เทคโนโลยีในการขจัดโลหะหนักยังไม่มีในประเทศไทย ปัจจุบันนี้ปัญหาเก่าก็ยังคงอยู่ เพราะฉะนั้นโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ที่จะเกิดขึ้นโดยผู้ประกอบการเดียวกันจะมีหลักประกันอะไรที่บอกว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจะได้รับการแก้ไขด้วย” ภ.ญ.ศิริพร จิตรประสิทธิศิริ ชาวฉะเชิงเทรากล่าวถึงความกังวลต่อผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน 

เหตุผลที่เขาหินซ้อนไม่ต้องการโรงไฟฟ้าถ่านหิน

1. เกษตรอินทรีย์เสี่ยงปนเปื้อนมลพิษจากถ่านหิน

หลักการสำคัญของการผลิตระบบอินทรีย์ คือการอนุรักษ์ระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม ไม่มีการใช้สารเคมี และการดัดแปลงพันธุกรรม (GMOs) ปลอดมลพิษทางน้ำ ดิน และอากาศ แต่หากมีโรงไฟฟ้าถ่านหินเกษตรกรผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์จะไม่สามารถจัดทำแนวกันชนป้องกันมลพิษที่มากับลม ฝน และน้ำค้าง เกิดการปนเปื้อนสะสม ยากต่อการตรวจสอบ อีกทั้งยังเสี่ยงต่อการสูญเสียมาตรฐานเกษตรอินทรีย์

2. การสำรวจความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างใน EHIA ของโครงการฯ ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่เหมาะสม และการได้รับข้อมูลอย่างทั่วถึงจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

จากการรวบรวมข้อมูลของค่ายห้วยน้ำใส - สวนพลังชีวิต ระบุว่า ยังขาดกลุ่มที่สำคัญอย่างกลุ่มชาวสวนมะม่วงผู้ได้รับผลกระทบ และในขอบเขตพื้นที่ได้รับผลกระทบรอบโครงการมีสัดส่วนที่ไม่สมดุลกันในระยะรัศมีที่แตกต่างกัน

3.  ความเสี่ยงจากสารปรอทในมลพิษจากถ่านหิน

ข้อมูลจากค่ายห้วยน้ำใส - สวนพลังชีวิต ระบุว่าเพิ่มเติมว่า การประเมินผลกระทบ EHIA จากปรอทของโครงการฯ นั้นไม่สมบูรณ์และไม่รอบด้าน เนื่องจากระบบตรวจวัดคุณภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง CEMs ได้ตัดพารามิเตอร์ที่ติดตามตรวจวัดสารปรอทออกจากรายงาน EHIA และรายงานมีการคำนวณประสิทธิภาพการบำบัดปรอทโดย ESP ที่ไม่ชัดเจน อาจนำไปสู่การจัดการที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เป็นที่กังวลต่อชุมชนว่าจะเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยกรณีผลกระทบจากการปนเปื้อนสารปรอท ในพื้นที่บริเวณโรงไฟฟ้าถ่านหินและโรงผลิตกระดาษและเยื่อกระดาษในตําบลท่าตูม อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินของบริษัทดั๊บเบิ้ล เอ กำลังผลิตติดตั้ง 400 เมกะวัตต์

4. ไม่มีโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน ภาคตะวันออกก็ยังมีไฟฟ้าล้น 5,100 เมกะวัตต์

ข้อมูลจากมูลนิธินโยบายสุขภาวะ เผยว่า ปัจจุบันโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ในภาคตะวันออก (กฟผ.และเอกชนผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่) มีกำลังผลิต 6,259  เมกะวัตต์ และมีโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) 2,421 เมกะวัตต์ รวมเป็นกำลังผลิต 8,680 เมกะวัตต์ แต่ความต้องการไฟฟ้าสูงสุด 8 จังหวัดภาคตะวันออก รวมกันประมาณ 3,500 เมกะวัตต์ นั่นหมายความว่า ภาคตะวันออกมีโรงไฟฟ้ามากกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าในภาคตะวันออกถึง 5,100 เมกะวัตต์ หรือสูงกว่า 2.5 เท่า

5. ศักยภาพพลังงานหมุนเวียนของภาคตะวันออกที่ไม่ต้องพึ่งพาโรงไฟฟ้าถ่านหิน

นอกจากนี้มูลนิธินโยบายสุขภาวะยังระบุว่า ปัจจุบัน มีผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) และผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) จากพลังงานหมุนเวียน รวมกำลังผลิต 391 เมกะวัตต์  และมีแนวโน้มจะเพิ่มเข้ามาภายในไม่กี่ปีนี้อีก 422 เมกะวัตต์

ผลการศึกษาศักยภาพพลังงานหมุนเวียนของจังหวัดระยอง โดยศูนย์วิจัยของรัฐบาลเยอรมนี Fraunhofer ISE, GIZ, JGSEE พบว่า จังหวัดระยองสามารถพัฒนาพลังงานหมุนเวียนควบคู่กับอนุรักษ์พลังงานให้ได้ร้อยละ 30 ของการใช้ไฟฟ้าของจังหวัดภายใน 10 ปี หรือปี 2568 ซึ่งประกอบด้วย ชีวมวลและก๊าซชีวภาพ 917 เมกะวัตต์ แสงอาทิตย์ 2,576 เมกะวัตต์ ลม 600 เมกะวัตต์ เป็นต้น ส่วนเป้าหมายในปี 2579 ระยองควรพัฒนาพลังงานหมุนเวียนให้ได้ร้อยละ 40 ของการใช้ไฟฟ้าของจังหวัด และหากเน้นการอนุรักษ์พลังงานอย่างจริงจัง จังหวัดระยองสามารถใช้พลังงานหมุนเวียนได้ถึงร้อยละ 90 ของการใช้ไฟฟ้าจังหวัดภายในปี 2579 

“โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อนตั้งอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำสาขาคลองท่าลาดซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของลุ่มน้ำบางปะกงที่หล่อเลี้ยงผู้คนนับล้าน โรงไฟฟ้าถ่านหินจะทำให้ปัญหาการแย่งชิงน้ำที่เป็นวิกฤตเรื้อรังของประชาชนในจังหวัดฉะเชิงเทรา และภาคตะวันออกทวีคูณมากยิ่งขึ้น ในฐานะที่พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ผลิตอาหารที่อุดมสมบูรณ์ เราเป็นแหล่งปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้เลิศรส แหล่งเพาะเห็ดฟางกองเตี้ยที่ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศ แหล่งผลิตข้าวและผักอินทรีย์ที่ได้รับรองมาตรฐานนานาชาติ อีกทั้งยังเป็นแหล่งเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ของคนไทยและชาวต่างประเทศ การมีโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่นั่นคือหายนะของสังคมไทยที่จะมาเยือน” เครือข่าย๓๐๔กินได้ กล่าว

หลังจากใช้เวลาพิจารณาอย่างยาวนาน เวลา 18.00 . คณะคชก.ได้พิจารณาไม่อนุมัติโครงการ โดยนายสุโข อุบลทิพย์ ผู้อำนวยการสำนักติดตามประเมินผลสิ่งแวดล้อม เผยของคณะคชก.ว่าผู้จัดทำโครงการยังคงต้องให้รายละเอียดเพิ่มอีกหลายประเด็น รวมถึงประเด็นเรื่องเกษตรอินทรีย์ เป็นอีกครั้งที่ชาวฉะเชิงเทรายินดีกับผลการพิจารณานี้ แต่ตราบใดที่บริษัทดั๊บเบิ้ล เอ ยังไม่ยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน การต่อสู้เพื่อปกป้องพื้นที่อันอุดมสมบูรณ์ก็ไม่มีวันจบสิ้น

“ภาคประชาชนยังคงเป็นการยืนหยัดเพื่อผลประโยชน์ที่ดีที่สุดร่วมกันของประชาชนและเกษตรกร เป้าหมายของเราไม่ใช่แค่หยุด EHIA ในครั้งนี้ แต่ต้องไม่มีโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เขาหินซ้อน และไปไกลกว่านั้น คือไม่มีโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ประเทศไทยเลย เพื่อนเครือข่ายเราอีก 45 เครือข่ายร่วมลงนามสนับสนุนการเคลื่อนของเรา วันนี้เป็นภารกิจของเราในการขับเคลื่อนสู่เป้าหมายไม่มีโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพื่อรักษาสิ่งดีๆ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่เราสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข” นันทวัน หาญดี ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก จังหวัดฉะเชิงเทรา ตัวแทนเครือข่าย๓๐๔กินได้ กล่าว

แม้ว่าผลการพิจารณ์ของคชก.ในวันนี้จะออกมาว่าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อนจะไม่ผ่านการอนุมัติ แต่พี่น้องชาวฉะเชิงเทรา และชาวไทย ผู้ที่กังวลกับการคุกคามจากมลพิษของโรงไฟฟ้าถ่านหิน มุ่งหวังที่จะให้บริษัทดั๊บเบิ้ล เอ รับฟังเสียงของชุมชนและผู้บริโภค ดังปรัชญาของบริษัทที่ว่า “การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ด้วยความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ” อย่างสิ้นเชิง และยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งนี้อย่างถาวร เพื่อความมั่นคงทางอาหาร และรักษามรดกทางแผ่นดินดีๆ ประจำจังหวัดอย่างมะม่วงแปดริ้ว เห็ดฟาง และผลผลิตเกษตรอินทรีย์ที่หล่อเลี้ยงชาวไทย


ที่มา: www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/3-ehia/blog/55291




Create Date : 15 มกราคม 2559
Last Update : 15 มกราคม 2559 9:54:34 น. 1 comments
Counter : 1824 Pageviews.  
 
 
 
 
กระแดะจังคนไทย
ทุกวันนี้เห็นกินส้มตำริมถนน โคตะระสกปรก ครกจานไม่เคยล้าง มีแต่เชื้อโรค เห็นกินกันได้ทุกวัน
ในกรุงเทพฯมีแต่ขยะมูลฝอย กับมลพิษจากรถยนต์ ก็ยังอยู่กันได้ไม่เห็นจะแหกปากแก้ไขกัน
หาบเร่แผงลอยแสนสกปรก เป็นแหล่งแพร่เชื้อแบคทีเรีย ก็ไม่เห็นจะใส่ใจกัน
หมาจรจัดขี้เยี่ยวกันเต็มบ้านเต็มเมือง สร้างเชื้อโรคแก่ชุมชน ก็ไม่เห็นหมาที่ไหนจะสนใจแก้ไข

แต่พอจะสร้างอะไรที ค้านกันสารพัด
ยกป้ายเสร็จ ก็กลับไปกินส้มตำปลาร้าที่มีแต่เชื้อโรคกันต่อ
ปัญหาของเมืองไทย คือการมีคนไทย
 
 

โดย: เซ็งกับการเป็นคนไทย IP: 171.96.183.151 วันที่: 15 มกราคม 2559 เวลา:23:13:37 น.  

Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

greenpeacethailand
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




ในพ.ศ.2514 กลุ่มนักกิจกรรมกลุ่มเล็กๆ จากเมืองแวนคูเวอร์ แคนาดา ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากวิสัยทัศน์แห่งโลกสีเขียวและมีสันติสุข ได้แล่นเรือหาปลาเก่าๆ ออกจากแวนคูเวอร์ แคนาดา นักกิจกรรมเหล่านี้ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งกรีนพีซ เชื่อว่าบุคคลไม่กี่คนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

ภาระกิจของพวกเขาคือการ "เป็นประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุ" ของการทดลองนิวเคลียร์ใต้ดินที่เกาะอัมชิตกา ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ นอกชายฝั่งตะวันตกของรัฐอลาสก้า ซึ่งเป็นภูมิภาคที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

อัมชิตกาเป็นสถานหลบภัยของนากทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์ 3,000 ตัว และเป็นบ้านของนกอินทรีย์หัวล้าน เหยี่ยวต่างถิ่น และ สัตว์ป่าอื่นๆ มากมาย

ถึงแม้ว่าเรือเก่าๆ ของพวกเขา คือ ฟิลลิส คอร์แมก ถูกขัดขวางก่อนที่จะไปถึงอัมชิตกา แต่การเดินทางครั้งนี้จุดประกายเล็กน้อยให้แก่ความสนใจของสาธารณชน

สหรัฐอเมริกายังคงจุดระเบิดอย่างหนักหน่วง แต่เสียงเพรียกแห่งเหตุผลมีผู้ได้ยินแล้ว การทดลองนิวเคลียร์บนเกาะอัมชิตกาได้สิ้นสุดลงในปีเดียวกัน และเกาะแห่งนั้นได้ถูกประกาศให้เป็นสถานหลบภัยของนกทั้งหลาย

ปัจจุบัน กรีนพีซเป็นองค์กรนานาชาติที่ให้ความสำคัญแก่การรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก


คุณพร้อมที่จะร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือยัง?
มีหลายวิธีที่คุณสามารถทำได้ตอนนี้!


หลายคนอาจจะคิดว่าการดูแลรักษาโลกเป็นเรื่องยาก แค่ลำพังเราอาจทำอะไรได้ไม่มากนัก แต่ในความเป็นจริงแล้วแค่เพียงสองมือเล็กๆของเราก็สามารถทำเพื่อโลกได้มากมาย อ่านต่อ

ติดตามกรีนพีซเพ่ิมเติมได้ที่:

Facebook | Twitter | Instagram | YouTube
[Add greenpeacethailand's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com