“ถ่านหินสะอาด เป็นการโกหกอย่างสกปรก” ทุกวันนี้เราได้ยินสรรพคุณของเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดกล่าวอ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับโครงการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน และคราวนี้ฉันตกใจเป็นพิเศษเมื่อได้รับรู้ว่า วันนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กำลังเดินหน้าโครงการท่าเรือขนถ่ายถ่านหินกระบี่ และโรงไฟฟ้าถ่านหิน ฉันเป็นคนกรุงเทพฯที่หลงรักกระบี่ ดินแดนร้อยเกาะที่เต็มไปด้วยหาดทรายสีขาวนวลละเอียด น้ำทะเลสีครามใส อาหารทะเลเลิศรส และผู้คนที่เป็นกันเอง เรียกได้ว่ากระบี่เป็นเมืองในฝันของฉันที่อย่างน้อยขอให้ได้ไปเยือนสักปีละครั้งก็ยังดี

แต่ข่าวโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จังหวัดกระบี่กำลังผลิต 870 เมกะวัตต์  และยิ่งเมื่อได้รู้ว่าการขนส่งถ่านหินจากเรือเดินสมุทรขนาด 50,000 – 100,000 เดทเวทตัน จะผ่านบริเวณเกาะลันตาด้วยแล้ว ฉันรู้สึกห่อเหี่ยวและผิดหวังกับความคิดในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าโดยไม่คำนึงถึงมรกตอันล้ำค่าของไทยที่จะถูกทำลายไปอย่างไม่สามารถหวนคืน

จากการร่วมฟังการแถลงข่าว “ปกป้องกระบี่จากถ่านหิน” ของกรีนพีซ ประเทศไทยและเครือข่ายปกป้องกระบี่จากถ่านหิน  โดยกรีนพีซ นักวิชาการพลังงาน และสมาคมท่องเที่ยวเกาะลันตา ร่วมวิพากษ์แผนการศึกษาและจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้วและแผนการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่

สำหรับกระบี่แล้ว โรงไฟฟ้าไม่ใช่เรื่องใหม่ เดิมทีกระบี่มีโรงไฟฟ้าลิกไนต์ ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นโรงงานไฟฟ้าน้ำมันเตากำมะถันต่ำที่มาจากธรรมชาติ โรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ขนาด 800 เมกะวัตต์มีแผนจะตั้งในพื้นที่เดิม ที่น่ากังวลหนักกว่าเดิมคือ หากโรงไฟฟ้าถ่านหินนี้เกิดขึ้นได้จริง จะไม่ได้เป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินเพียงโรงเดียวของกระบี่ แต่จะเป็นอีกหลายโรงตามมา ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า 2010 (พีดีพี 2010)

เมื่อนึกถึงภาพฝันร้ายของโรงไฟฟ้าถ่านหิน ใครหลายคนคงนึกถึงภาพของโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ที่กลืนกินชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนและสิ่งแวดล้อมให้กลายเป็นมลพิษสีดำ แต่กระบี่เองก็มีบทเรียนที่เกิดขึ้นจากโรงไฟฟ้าถ่านหินลิกไนต์และเหมืองร้างเช่นกันถึงแม้จะยกเลิกการใช้งานไปแล้ว 31 ปี ณ คลองปะกาสัย พื้นที่ป่าชายเลน น้ำจากเหมืองยังคงไหลออกมาอยู่เรื่อยๆ ปัจจุบันชาวกระบี่ไม่ได้ใช้น้ำฝนและน้ำบาดาล เนื่องจากมีตะกอนดำ

หรือว่าทางกฟผ.จะลืมผลกระทบนี้ไปแล้ว หรือว่าการกลับมาเดินหน้าต่ออีกครั้งในคำอ้าง “ถ่านหินสะอาด” จะสร้างความชอบธรรมให้กับตนเองในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน

เส้นทางถ่านหิน เส้นทางแห่งหายนะทางระบบนิเวศของกระบี่

ประเด็นหลักที่กรีนพีซและเครือข่ายปกป้องกระบี่จากถ่านหินวิพากษ์ก็คือ กระบวนการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ทั้งโครงการโรงไฟฟ้าและท่าเรือขนถ่ายถ่านหิน และการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่ไร้ซึ่งธรรมาภิบาล และยังไม่ได้รับประกันว่าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งนี้ซึ่งอ้างว่าเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดจะปกป้องสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชนจากมลพิษร้ายแรงหลายชนิด เช่น ปรอท ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และฝุ่นละออง ปล่อยออกมา

โครงการท่าเทียบเรือคลองรั้วเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการขนถ่ายถ่านหิน  ซึ่งในเอกสารประกอบ ค.1 นั้นระบุว่า “ไม่เข้าข่ายประเภทโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง” ที่จริงแล้ว เส้นทางขนส่งถ่านหินระยะทาง 8.4 กม. อย่างน้อยปีละ 2.5 ล้านตัน นั้นจะผ่านเกาะลันตา เกาะปอ เกาะศรีบอยา และป่าชายเลนกระบี่ การที่จะไปถึงโรงไฟฟ้าจะต้องผ่านอุโมงลำเลียงถ่านหินลอดใต้คลอง หรือสะพานข้ามคลอง ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นเขตพื้นที่สงวน และที่ทำกินของชาวบ้าน การศึกษาผลกระทบที่ออกมานั้นเป็นการศึกษาแค่เพียง 5 กม.รอบนอก เป็นการประเมินผลกระทบที่ต่ำกว่าความเป็นจริง ตัวอย่างหนึ่งที่ EIA ไม่ได้บอก คือ เส้นทางขนส่งถ่านหินนั้นผ่านเส้นทางชีวิตของชาวประมงที่เป็นเสมือนครัวของประเทศ ผ่านเส้นทางของโลมา พยูน พื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่ (แรม  ซาร์ไซต์) ซึ่งการศึกษาผลกระทบเพียง 5 กม. นั้นไม่ครอบคลุมผลกระทบที่แท้จริงมากพอ อาทิ ตามเอกสารอ้างว่านกที่อยู่ในรัศมี 5 กม. มี 91 ชนิด แต่จริงๆ แล้วรอบนอกในพื้นที่ใกล้เคียงมีมากถึง 218 ชนิด หากเราปล่อยให้เป็นเช่นนี้เราจะพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีขนาดใหญ่ถึงอันดับ 4 ของประเทศ สูญเสียสุสานหอยอายุหลายสิบล้านปีที่มีเพียง 3 แห่งในโลก

หญ้าทะเล ปลาพะยูน ความสวยงามที่เป็นสวรรค์ของนักท่องเที่ยว

กระบี่ บริเวณศรีบอยา มีพื้นที่หญ้าทะเลที่ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศไทย การแล่นเรือขนส่งถ่านหินทำให้ตะกอนน้ำขุ่น เมื่อหญ้าทะเลอยู่ไม่ได้ พยูน ม้าน้ำ และหอยชักตีน ก็อยู่ไม่ได้เช่นกัน บริเวณศรีบอยาแห่งนี้เพิ่งให้กำเนิดพะยูนแฝดคู่แรก คุณธีรพจน์ กษิรวัฒน์ นายกสมาคมการท่องเที่ยวเกาะลันตา กล่าวว่า “ภาพของเกาะลันตาเป็นที่นิยมในนักท่องเที่ยวต่างชาติ ชาวสวีเดนยกให้เป็นบ้านหลังที่สอง จากแบบสอบถามถึงนักท่องเที่ยว ระบุว่าถ้าเป็นเส้นทางผ่านถ่านหิน ก็จะไม่มาท่องเที่ยว นั่นหมายถึงเราจะสูญเสียนักท่องเที่ยวเฉพาะชาวสวีเดนอย่างน้อย 40,000 กว่าคน และรายได้อย่างน้อ 4,800 ล้านต่อปีไป เป็นได้สูงว่ากลุ่มนักท่องเที่ยวที่รักเกาะลันตาเป็นที่ท่องเที่ยวจะหายไป แค่เพียงเรือขนส่งถ่านหินวิ่งผ่าน กระบี่ก็ต้องหานักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่แล้ว”

โซนหญ้าทะเลในบริเวณอ่าวลันตา และเกาะปอ เป็นเส้นเดินทางของปลาพะยูน และแหล่งอนุบาลของสัตว์ทะเล ซึ่งเอื้อต่อการประมงสัตว์ใหญ่เนื่องจากมากินสัตว์ทะเลขนาดเล็ก ผลกระทบจึงเป็นวงกว้าง ภาพอนาคตของกระบี่ในเงาโรงไฟฟ้าถ่านหินจะไม่มีแหล่งปะการังน้ำตื้นสำหรับดำน้ำ แต่จะเป็นเรือบรรทุกถ่านหินหนักแสนตัน ยาว 85 เมตร ในบริเวณเกาะพีพี หากมีพายุแรงจะทำให้เรือจมได้ ซึ่งเคยเกิดขึ้นแล้วในประเทศอื่น นี่เป็นเจตนาของกฟผ.ในการเลี่ยงพูดถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับ การประมง เกาะลันตา เกาะพีพี และจุดท่องเที่ยวโดยรอบ “สิ่งที่ชาวบ้านรับรู้คือจำเป็นจะต้องสร้าง และไม่มีอะไรต้องกังวล แต่ที่จริงมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดผลกระทบ สิ่งที่กฟผ.ควรทำคือศึกษาศักยภาพของพื้นที่กระบี่ โดยเฉพาะในจุดที่ทางถ่านหินผ่าน และเปรียบเทียบว่าคุ้มหรือไม่กับการใช้พลังงานจากถ่านหิน” คุณธีรพจน์ กล่าวย้ำ

พลังงานหมุนเวียน ทางออกพลังงานที่ไม่ทำร้ายกระบี่ไม่ทำร้ายคนไทย

คำถามที่คนไทยมักสงสัยคือ หากเราไม่ต้องการถ่านหินและนิวเคลียร์ เราจะใช้ไฟฟ้าจากอะไร แล้ววิกฤตไฟฟ้าดับไม่พอใช้ล่ะ? คำถามนี้ คุณศุภกิจ นันทะวรการ นักวิชาการอิสระ มูลนิธินโยบายสุขภาวะ ได้ให้คำตอบและทางออกไว้อย่างละเอียด

“ประเทศไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้าปัจจุบันและอนาคตยังสำรองเพียงพอการใช้ไฟฟ้าปี 2556 ต่ำกว่าที่กระทรวงพลังงานคาดการณ์ไว้ที่ 26,598 เมกะวัตต์ แต่คาดไว้ 27,443 เมกะวัตต์ ไฟฟ้าดับภาคใต้เมื่อปีที่แล้วคือปัญหาเทคนิคของสายส่งไฟฟ้าแรงสูง โดยไม่มีการเตรียมพร้อมของกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองที่มีอยู่แล้ว ได้แก่โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน และเครื่องผลิตของเอกชนอื่นๆ ไม่ใช่เป็นเพราะไฟไม่พอ ซึ่งในตอนที่ไฟจากพม่าไม่ส่งมาในเดือนเมษา สามารถรวบรวมไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้ทันในช่วงเวลาเพียงนิดเดียว หากไม่เตรียมพร้อมเหตุฉุกเฉินให้ดีขึ้น ถึงจะสร้างรฟฟใหม่สักกี่โรงก็ไม่ดีขึ้น ปัจจุบันกระบี่ผลิตพลังงานหมุนเวียนอยู่แล้ว 70 เมกะวัตต์ หรือร้อยละ 60 ถือว่าผลิตได้ต้นๆ ของประเทศ แต่กลับจะไปสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน และยังมีโครงการที่จะทำเพิ่มอีก ถึงร้อยละ 90 ในอนาคต“

ไม่ว่ามองมุมใด ทั้งด้านผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ต่อการท่องเที่ยว ด้านศักยภาพการผลิตไฟฟ้า และด้านศักยภาพทางพลังงานหมุนเวียนที่กระบี่มี ฉันยังมองไม่เห็นเหตุผลอะไรดีพอที่จะพรากสิ่งที่ล้ำค่าของคนไทยและของโลกอย่างกระบี่ไปด้วยการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ดังที่คุณจริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า “โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ไม่ใชแค่เรื่องของกระบี่ ของพื้นที่ประเมินผลกระทบ 5 กม. แต่เป็นเรื่องของทุกคนชาวไทยต้องร่วมตัดสินด้วยการร่วมปกป้องพื้นที่กระบี่อันล้ำค่าของเรา”


โพสครั้งแรกที่ //www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/48426/