กรีนพีซดำรงอยู่เพราะโลกอันบอบบางใบนี้สมควรมีผู้ปกป้อง โลกต้องมีวิธีแก้ปัญหา ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ต้องมีการลงมือทำ
 
จีเอ็มโอขาลง กับความเชื่อที่บิดเบือน



หลายวันก่อนดิฉันได้มีโอกาสอ่านรายงานของประจำปีของ ISAAA หรือ International Service for the Acquisition of Agri-Biotech Application ที่พูดถึงสถานการณ์ของการปลูกพืชจีเอ็มโอทั่วโลกของปีค.ศ.2010 ที่ผ่านมา ทำให้หวนคิดขึ้นมาว่า เป็นระยะเวลากว่า 15 ปีมาแล้วที่พืชจีเอ็มโอเข้ามาปะปนอยู่ในห่วงโซ่อาหารของเรา ถูกนำมาวางขายรวมกับอาหารปกติในซุปเปอร์มาร์เก็ตโดยที่เราไม่รู้ตัว นับตั้งแต่ปี ค.ศ.1996 ตลอด 15 ปีที่ผ่านมาพืชจีเอ็มโอยัดเยียดความเชื่อให้กับเราว่า “อาหารกำลังจะหมดโลก ผู้คนนับล้านต่างหิวโหย จีเอ็มโอเท่านั้นจะที่ลบล้างความยากจนและความหิวโหยเหล่านั้นให้หมดสิ้น”



ถ้าจีเอ็มโอทำได้อย่างที่อวดอ้างจริง ... ทำไมภาพความยากจนและผู้คนอดอยากถึงมีให้เห็นอยู่จนชินตาไม่เว้นแต่ละวันและมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ... ในเมื่อความอดอยากหิวโหยยังคงอยู่ ความยากจนกลายเป็นสมบัติที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น


ความอดอยากกับความยากจนมักเป็นของคู่กันเสมอๆ แต่การ “แก้ปัญหา” ด้วยจีเอ็มโอได้ปิดบังปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เป็นสาเหตุที่แท้จริงของความอดอยาก ดังนั้นการเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ที่ใช้ในการเพาะปลูกเพียงอย่างเดียวจึงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือขจัดความอดอยากและความยากจนที่เป็นปัญหามานานนับร้อยๆปีได้  


ย้อนกลับมาที่รายงานของ ISAAA ที่ดิฉันอุตส่าห์เกริ่นมาตั้งแต่ต้นนั้น เป็นที่มาที่ทำให้ดิฉันอยากลุกขึ้นมานำเสนอข้อเท็จจริงที่ถูกต้องแต่ถูกบิดเบือนในรายงานของ ISAAA ที่พยายามทำให้เราหลงไหลไปว่าพืชจีเอ็มโอได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคและเกษตรกร และการปลูกพืชจีเอ็มโอมีทิศทางการเติบโตที่สวยหรูซึ่งไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด 


ISAAA ระบุว่าทั่วโลกมีการปลูกพืชจีเอ็มโอทั้งหมด “1,000 ล้านเฮกเตอร์...” “โอ้โหตั้ง 1,000 ล้านเฮกเตอร์” ดิฉันเปรยกับตัวเองด้วยความรู้สึกกังขาในข้อมูลที่ ISAAA นำเสนออย่างมาก เพราะจากการเฝ้าติดตามสถานการณ์ของพืชจีเอ็มโอทั่วโลกมาอย่างต่อเนื่องหลายปี ทำให้สำหรับดิฉันตัวเลขดังกล่าวดูจะเกินจริงไปมาก เลยต้องทำสมาธิอ่านรายงานและเอาข้อมูลของ ISAAA ที่มีในรายงานมาแจกแจงใหม่จนจบ ทำให้เข้าใจว่า แหม... 1,000 ล้านเฮกเตอร์ที่ว่านี้จริงๆก็คือพื้นที่ปลูกพืชจีเอ็มโอที่เค้าเก็บรวบรวมทั้งหมดนับย้อนหลังไป 15 ปี เฮ้อ...นี่ถ้าใครเผลอๆอาจจะละเมอแล้วไขว้เขวกับตัวเลขของ ISAAA เอาได้ง่ายๆ


ดิฉันนำตัวเลขของ ISAAA มาคำนวณและแจกแจงใหม่ทำให้พบทิศทางของพืชจีเอ็มโอในมุมที่ต่างไป คือ มีเกษตรกรรายย่อยเพียง 0.6% ทั่วโลก (2,600 ล้านคน) เท่านั้นที่ปลูกพืชจีเอ็มโอ และ 90% เป็นเกษตรกรที่ปลูกพืชจีเอ็มโอใน 5 ประเทศเท่านั้น ได้แก่ สหรัฐอเมริกา, แคนาดา, บราซิล, อาร์เจนติน่า และอินเดีย ISAAA พยายามทำให้ตัวเลขนี้ดูน่าสนใจ แต่สำหรับดิฉันตัวเลขดังกล่าวไม่มีนัยสำคัญใดๆเลย เพราะการปลูกพืชจีเอ็มโอเพื่อการค้านั้นมีมากว่า 15 ปีแล้ว แต่จำนวนเกษตรกรที่ปลูกพืชจีเอ็มโอก็ยังคงจำกัดอยู่เพียง 0.6% เท่านั้นเอง



ถ้าจะพูดถึงจีเอ็มโอแล้วไม่เอ่ยถึงยุโรปก็คงไม่ได้ เพราะสหภาพยุโรปถือเป็นผู้นำเข้าสำคัญของโลกตลอดหนึ่งเช่นกัน ข้อมูลอย่างเป็นทางการจากสหภาพยุโรป หรือ EU แสดงให้เห็นว่าในปีค.ศ.2010 พื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดจีเอ็มโอ MON810 ในยุโรปลดลง 13% เมื่อเปรียบเทียบกับปีค.ศ.2009 และสหภาพยุโรปประกาศห้ามไม่ให้มีการปลูกข้าวโพดจีเอ็มโอดังกล่าวใน 7 ประเทศ เนื่องจากข้อกังวลเรื่องความปลอดภัยต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม โดยที่ประเทศโรมาเนียปลูกข้าวโพดจีเอ็มโอน้อยลงถึง 75% และพบว่าเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดจีเอ็มโอรายใหญ่ที่สุดของโรมาเนียได้ยกเลิกการปลูกพืชจีเอ็มโอดังกล่าวแล้วและกล่าวหามอนซานโต้บริษัทเจ้าของเมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอที่เขานำมาปลูกว่า “ไม่ให้ผลผลิตตามที่กล่าวอ้าง”


อีกข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจคือ ผลจากการทำโพลสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคในยุโรปโดย Eurobarometer พบว่าผู้บริโภคยุโรปกว่า 61% ต่อต้านพืชจีเอ็มโอ ซึ่งสวนทางกับทิศทางการขยายตัวของการปลูกพืชจีเอ็มโอซึ่งโดยรวมแล้วมีการปลูกพืชจีเอ็มโอลดลงทั่วโลก ก็เพราะข้อกังวลเรื่องความปลอดภัยในอาหารจีเอ็มโอซึ่งไม่เคยได้รับความกระจ่างว่าจะปลอดภัยกับผู้บริโภคอย่างเราๆ 100% ทำให้คนส่วนใหญ่ก็ไม่อยากเอาตัวเองเป็นหนูทดลองจีเอ็มโอ และเลือกหาอาหารที่แท้จริงที่ปลอดภัย นั่นคือ อาหารธรรมชาติ


อีกหนึ่งข้อสังเกตที่ละเลยไม่ได้นั่นคือ ทั่วโลกมีการปลูกพืชจีเอ็มโอเชิงพาณิชย์ใน ข้าวโพด เรปซีด และฝ้าย เท่านั้น ซึ่งพืชดังกล่าวไม่ได้ช่วยให้โลกพ้นจากความอดอยากหิวโหยเลยแม้แต่น้อย เพราะพืชเหล่านี้ไม่ใช่อาหารหลักและไม่เคยตกถึงมือผู้ที่หิวโหยหรือคนยากจนจริงๆ แต่กลับถูกป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมเชื้อเพลิง ใช้เป็นอาหารสัตว์ในบางประเทศเท่านั้น มีเพียงส่วนน้อยที่นำมาวางขายเป็นอาหารคน คำถามที่ยังเหลืออยู่ในใจดิฉัน คือ ตลอด 15 ปีของการผลักดันพืชจีเอ็มโอที่ผ่านมา ผลประโยชน์ตกอยู่ที่ใคร???








Create Date : 14 มีนาคม 2554
Last Update : 14 มีนาคม 2554 12:21:09 น. 0 comments
Counter : 1112 Pageviews.  
 
Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

greenpeacethailand
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




ในพ.ศ.2514 กลุ่มนักกิจกรรมกลุ่มเล็กๆ จากเมืองแวนคูเวอร์ แคนาดา ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากวิสัยทัศน์แห่งโลกสีเขียวและมีสันติสุข ได้แล่นเรือหาปลาเก่าๆ ออกจากแวนคูเวอร์ แคนาดา นักกิจกรรมเหล่านี้ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งกรีนพีซ เชื่อว่าบุคคลไม่กี่คนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

ภาระกิจของพวกเขาคือการ "เป็นประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุ" ของการทดลองนิวเคลียร์ใต้ดินที่เกาะอัมชิตกา ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ นอกชายฝั่งตะวันตกของรัฐอลาสก้า ซึ่งเป็นภูมิภาคที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

อัมชิตกาเป็นสถานหลบภัยของนากทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์ 3,000 ตัว และเป็นบ้านของนกอินทรีย์หัวล้าน เหยี่ยวต่างถิ่น และ สัตว์ป่าอื่นๆ มากมาย

ถึงแม้ว่าเรือเก่าๆ ของพวกเขา คือ ฟิลลิส คอร์แมก ถูกขัดขวางก่อนที่จะไปถึงอัมชิตกา แต่การเดินทางครั้งนี้จุดประกายเล็กน้อยให้แก่ความสนใจของสาธารณชน

สหรัฐอเมริกายังคงจุดระเบิดอย่างหนักหน่วง แต่เสียงเพรียกแห่งเหตุผลมีผู้ได้ยินแล้ว การทดลองนิวเคลียร์บนเกาะอัมชิตกาได้สิ้นสุดลงในปีเดียวกัน และเกาะแห่งนั้นได้ถูกประกาศให้เป็นสถานหลบภัยของนกทั้งหลาย

ปัจจุบัน กรีนพีซเป็นองค์กรนานาชาติที่ให้ความสำคัญแก่การรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก


คุณพร้อมที่จะร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือยัง?
มีหลายวิธีที่คุณสามารถทำได้ตอนนี้!


หลายคนอาจจะคิดว่าการดูแลรักษาโลกเป็นเรื่องยาก แค่ลำพังเราอาจทำอะไรได้ไม่มากนัก แต่ในความเป็นจริงแล้วแค่เพียงสองมือเล็กๆของเราก็สามารถทำเพื่อโลกได้มากมาย อ่านต่อ

ติดตามกรีนพีซเพ่ิมเติมได้ที่:

Facebook | Twitter | Instagram | YouTube
[Add greenpeacethailand's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com