ฉันทราบข่าวการมาถึงของ “เรือแห่งความหวัง” เรือเอสเพอรันซาของกรีนพีซในน่านน้ำอ่าวไทย เมื่อวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา และการมาเยือนเพื่อปกป้องทะเลอันเป็นแหล่งอาหารและวิถีชีวิตของชาวประมงพื้นบ้านไปพร้อมกับพวกเขา ในฐานะที่เป็นผู้พิทักษ์รักษ์ทะเลคนหนึ่ง  และรักการกินปลาเป็นอย่างมาก ฉันรู้สึกสลดใจว่าวิกฤตทะเลไทยที่กำลังเผชิญอยู่นั้นกำลังทำให้ปลาหลายๆ ชนิดถูกจับไปจนใกล้หมดทะเล ฉันถือโอกาสนี้ถ่ายทอดเรื่องราวจากการที่ได้เดินทางไปกับเรือเอสเพอรันซา บอกเล่าเรื่องราวที่ฉันพบเจอระหว่างลอยล่อยไปตามอ่าวไทย

ในวันนี้ฉันติดตามกลุ่มนักกิจกรรมกรีนพีซและอาสาสมัคนั่งเรือยางออกไปสำรวจหาเรือประมงประเภทต่างๆ ในระยะ 5 ไมล์ทะเลจากชายฝั่งของเกาะพงัน จังหวัดสุราษฎ์ธานี โดยก่อนหน้าออกเดินทางนั้นเราาได้สำรวจตำแหน่งของเรือประมงจากเรดาร์ของเรือและพบว่ามีเรือเกือบร้อยลำที่กำลังปฏิบัติงานอยู่ในบริเวณนี้ เมื่อใช้เรือยางขับไปตามตำแหน่งต่างๆ เราก็พบว่าเรือส่วนใหญ่ที่เห็นนั้นเป็นเรืออวนลาก ไม่ว่าจะเป็นเรืออวนลากเดี่ยว หรืออวนลากคู่ กำลังลากจูงอวนขนาดตาถี่มากเคลื่อนไปข้างหน้าเรื่อยๆ ลากเอาปลาหน้าดิน ปลาผิวน้ำ และหมึก โกยขึ้นจากท้องทะเล  จนกระทั่งเราพบเรืออวนลากคู่กำลังยกอวนและนำปลาที่จับมาได้นั้นขึ้นเรือ ขณะที่อวนกำลังถูกยกนั้น ฝูงปลาต่างๆ ทั้งลูกปลาขนาดเล็กเพียงปลายเล็บมือของคนก็ยังไม่สามารถหลุดรอดออกไปได้ และขนาดของอวนนั้นก็ตั้งแต่พื้นทรายจนเกือบจรดพื้นผิวทะเล เหล่าปลาที่แหวกว่ายในบริเวณนั้นไม่สามารถหลบหนีได้ ไม่ว่าจะเป็นปลาชนิดใด หรือมีขนาดเล็กเท่าไรก็ตาม


ฉันเฝ้าดูฝูงปลาถูกจับขึ้นมานับแสน ซึ่งส่วนใหญ่มีแต่ลูกปลาที่เพิ่งเกิดได้ไม่กี่วัน หรือไม่กี่สัปดาห์ ฉันมองดูแล้วก็รู้สึกเศร้าใจ ไม่เพียงแค่ว่าปลาเหล่านี้ยังเป็นปลาวัยเด็กที่เพิ่งเกิดมามองโลกได้ไม่นาน แต่ยังรวมถึงเสียดายโอกาสที่พวกมันจะเติบโตเต็มวัย จนสามารถเป็นปลาเศรษฐกิจที่หล่อเลี้ยงผู้คนอีกหลายพันหลายหมื่นชีวิตทั่วไทยได้จากการถูกจับขึ้นมาในครั้งนี้ ฉันมองดูอวนค่อยๆ ถูกดึงขึ้นจากน้ำเรื่อยๆ ไม่ค่อยได้ปลาจำนวนมากนัก หากเทียบกับขนาดของอวน ปลาที่ถูกจับได้มีทั้งลูกปลาอินทรีย์ ปลาแชบ๊วย ปลากะลอน ปลากะตัก ปลาหลังเขียว หมึก ปลาแข้งไก่ กุ้งกุลา ปลาดาบเงิน ปลาปักเป้า ปลาทู ปลาจาระเม็ดดำ ปลาข้างเหลือง ปลาแดง และปลาแป้น แม้แต่ปลาดาวตัวน้อยเล็กกว่าเล็บของนิ้วก้อย หรือกระทั่งปลาตัวขนาดนิ้วชี้กำลังกินปลาเล็กค้างอยู่ในปาก และหนึ่งในนั้นมีปลากระเบนติดมาด้วย แน่นอนว่าเขาตกเป็นเหยื่อการประมงแบบทำลายล้างนี้ทั้งที่ไม่ได้เป็นปลาเศรษฐกิจแต่อย่างไร

บรรดาลูกปลาทั้งหลายที่พวกเขาจับมาได้นั้นก็ถูกชะล้างออกจากเรือด้วยการฉีดน้ำกลับลงไปในทะเล ซึ่งล้วนเป็นปลาที่ตายแล้ว ต้องกลายเป็นอาหารปลาอื่นต่อไป (หากยังมีปลาเหลือ) ไม่สามารถเติบโตได้อีก นอกจากนั้นสิ่งที่พวกเขาโยนกลับลงทะเลคือขยะต่างๆ และแมงกระพรุนที่ติดกับอวนมา คิดดูสิครับว่าตาข่ายมีขนาดเล็กเพียงใด ขนาดตอนที่บรรดาชาวประมงกำลังเก็บอวนขึ้นมานั้น น้ำที่ก้นอวนไม่สามารถไหลออกได้เพราะติดลูกปลาตัวเล็กๆ ที่ก้นอวน จนลูกเรือต้องช่วยกันเหยียบเพื่อให้น้ำไหลออก

ขณะที่กลุ่มกรีนพีซกำลังดูปลา ปลาหมึก และลูกปลาต่างๆ ที่ถูกจับมาได้ นั้น พี่ศิรสา กันตรัตนากุล ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทร กล่าวว่า “หากปล่อยให้ลูกปลาเหล่านี้เติบโตเป็นปลาตัวใหญ่จะมีมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล ไม่ใช่เป็นเพียงแค่อาหารสัตว์ ปลาหมึกเล็กที่ถูกจับมานี้ไม่มีขายตามตลาด ไม่มีมูลค่า ปลาหมึกขนาดกลางสามารถขายได้ 20 บาท ต่อ กิโลกรัม ปลาหมึกตัวโตเต็มวัยสามารถขายได้ถึง 220 บาท ต่อกิโลกรัม ซึ่งหมายถึงเราสามารถขายได้จำนวนกิโลมากขึ้น และมีราคาสูงขึ้น”

ปลาที่ถูกจับขึ้นมาด้วยเรืออวนลากนั้น ถึงแม้จะเป็นเพียงลูกปลาที่ดูไร้ราคา ไม่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจใดใด แต่พวกเขามีมูลค่าเหนือคณานับสำหรับระบบนิเวศ หากปล่อยให้ลูกปลาเหล่านี้เติบโตเป็นตัวเต็มวัยสามารถขยายพันธุ์สร้างปลาอันเป็นผลผลิตอีกจำนวนนับไม่ถ้วน ซึ่งแน่นอนว่าเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจสำหรับประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน

“จากการที่รัฐขาดการบังคับใช้กฏหมายอย่างเข้มข้นนี่เอง ท้ายที่สุดก็จะมีคนได้รับความเจ็บปวด และได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง นั่นก็คือชาวประมงพื้นบ้าน ซึ่งเป็นผู้ที่เลือกจับเฉพาะปลาที่ตัวเต็มวัยเพื่อความยั่งยืนของท้องทะเล ผู้ซึ่งเป็นนักอนุรักษ์ท้องทะเลอันเป็นชีวิตหล่อเลี้ยงพวกเรา” พี่ปิยะ เทศแย้ม นายกสมาคมประมงพื้นบ้านจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เสริมขึ้น

การประมงในประเทศไทยไม่ควรต้องแลกมาด้วยความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม นี่เป็นเพียงหนึ่งเหตุการณ์ที่สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลควรให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ ในการฟื้นฟูสภาพทะเลที่เสื่อมโทรมของไทยด้วยการมีกฏหมายรองรับการประมงอย่างยั่งยืนที่เข้มแข็ง  และร่วมยุติการประมงแบบทำลายล้างที่ส่งผลร้ายแรงต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของทรัพยากรประมงและสิ่งแวดล้อมทางทะเล รวมถึงวิถีชีวิตของชุมชนชาวประมงชายฝั่งซึ่งเป็นกลุ่มชาวประมงส่วนใหญ่ของประเทศ หากรัฐยังขาดกฏหมายและนโยบายจัดการการประมงอย่างยั่งยืน อีกไม่กี่สิบปีข้างหน้าเราจะตอบลูกหลานอย่างไรว่าทำไมอ่าวไทยจึงไม่มีปลา

ร่วมเป็นผู้พิทักษ์รักษ์ทะเลกับกรีนพีซ เพื่อปกป้องทะเลจากการประมงแบบทำลายล้าง