กรีนพีซดำรงอยู่เพราะโลกอันบอบบางใบนี้สมควรมีผู้ปกป้อง โลกต้องมีวิธีแก้ปัญหา ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ต้องมีการลงมือทำ
 
แผนพลังงานติดบ่วง

โดย จริยา เสนพงศ์

“ผมขอโทษประชาชนว่าไม่สามารถทำได้ในทางปฎิบัติ เพราะมีอะไรเข้ามาอย่างรวดเร็ว มีคำสั่งมาตอนเย็นประชุมตอนเช้า ผมไม่เคยปิดข้อมูล เพียงแต่ว่ามอง 2 ระดับได้ไหม คือ หากลงพื้นที่ค่อยทำให้เกิดการยอมรับของประชาชน”

“ครม.เห็นชอบแผนอนุรักษ์พลังงาน ผมไม่ได้ปฏิเสธมติครม. ผมแค่เอามา 20 เปอร์เซ็น”

เหล่านี้คือคำขอโทษและคำชี้แจงจากหน่วยงานด้านการวางแผนพลังงานของประเทศไทยในเวทีสัมมนาระดมความคิดเห็นการปรับปรุงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (พีดีพี 2010 ปรับปรุงครั้งที่ 3) เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา และเร่งรัดให้ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) อนุมัติภายในวันศุกร์นี้ เพื่อให้แผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าของประเทศมีผลบังคับใช้ให้เร็วที่สุด

บ่วงที่ผูกมัดคนไทยให้แบกรับภาระจากความพิการของกระบวนการจัดทำแผนพลังงานที่ขาดการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเหมือนกันในทุกฉบับที่ผ่านมา จึงไม่แปลกที่ผลมักจะลงเอยกับผลประโยชน์ของกลุ่มธุรกิจทุนผูกขาดด้านพลังงาน ครั้งนี้ดูเหมือนจะเป็นการกลับชาติมาเกิดของแผนพีดีพีครั้งก่อน โดยมีการเร่งรีบรวบรัดเปิดเวทีรับความคิดเห็นจากประชาชนในการจัดทำแผนพีดีพี คือให้เวลาเพียง 5 วัน คือในวันอังคารที่ 5 มิถุนายนที่มีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน และเสนอให้ฯพณฯนายกรัฐมนตรีอนุมัติภายในวันศุกร์ที่ 8 มิถุนายน โดยการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนได้ถูกจัดขึ้นเฉพาะกรุงเทพฯ ส่วนคนไทยอีก76จังหวัดที่เหลือ หน่วยงานภาครัฐจะแจ้งให้ประชาชนทราบเมื่อจังหวัดเหล่านั้นเป็นพื้นที่ศึกษาและเป้าหมายในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม แต่ในเบื้องต้นให้ถือว่าประชาชนทั้งประเทศเห็นด้วยกับแผนพลังงานฉบับนี้แล้วอีกทั้งการพิจารณาอนุมัติแผนพีดีพีทั้งครั้งก่อนและครั้งนี้ถูกเร่งรัดพิจารณาระหว่างความขัดแย้งทางการเมืองเกิดขึ้นเช่นกัน เพียงแต่แค่เปลี่ยนผู้เล่นเท่านั้นเอง 


คำขอโทษของหน่วยงานที่สังกัดกระทรวงพลังงานในวันนั้น จึงกำลังรัดคอคนไทยทุกคนด้วยโซ่ที่เรียกว่า “ประชาชนยอมรับโดยปริยาย” ทั้งๆที่การจัดทำแผนพลังงานของประเทศครั้งนี้เป็นการไม่เคารพสิทธิในข้อมูลข่าวสารตามความในมาตรา 56-57 และแนวนโยบายด้านการมีความมีส่วนร่วมของประชาชนตามมาตรา 87 และการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตามมาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปีพ.ศ. 2550 และขัดแย้งกับมติคณะรัฐมนตรีของ ฯพณฯ นายกยิ่งลักษณ์เอง ที่ได้เห็นชอบแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ.2554 ซึ่งระบุถึงศักยภาพในการประหยัดพลังงานของประเทศได้ถึง 17,470 เมกะวัตต์ แต่กลับนำมาใช้ในแผนพีดีพีฉบับนี้เพียงแค่ร้อยละ 20 หรือเพียงแค่ 3,494 เมกะวัตต์ ทั้งๆที่หากนำส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 80 มาใช้ในแผนนั้น เราจะสามารถลดการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่จะต้องเพิ่มขึ้นได้ถึง 14 โรงจากแผนทั้งหมดทั่วประเทศ 55 โรง โดยจะสามารถทดแทนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจำนวน 4 โรง โรงไฟฟ้านิวเคลียร์จำนวน 2 โรงและโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติอีก 8 โรง ซึ่งแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปีก็เป็นที่ยอมรับกันทุกภาคส่วน แม้แต่รัฐบาลเองก็เป็นผู้เห็นชอบมาตั้งแต่ต้นเพราะเป็นต้นทุนที่ถูกที่สุดและไม่เป็นการเพิ่มภาระให้กับประชาชน


แต่หากในวันศุกร์นี้ ฯพณฯ นายกยิ่งลักษณ์ในฐานะประธานกพช.เห็นชอบกับกระบวนการจัดทำแผนพลังงานที่พิการดังกล่าว บ่วงพลังงานที่รอรัฐบาลที่มีวิสัยทัศน์มาแก้ปัญหาก็ยากที่จะปลด ประชาชนก็คงจะต้องแบกรับกรรมภาระจ่ายค่าไฟฟ้าสูงขึ้นจากการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลและก๊าซที่เป็นธุริกิจผูกขาด และผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่จะตามมาจากโครงการโรงไฟฟ้าสกปรกที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่สีเขียวหรือแหล่งอาหารของคนไทย

ที่มา : //www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/energy-is-a-snare/blog/40836/

edit @ 9 Jun 2012 17:03:32 by กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้




Create Date : 09 มิถุนายน 2555
Last Update : 9 มิถุนายน 2555 17:18:41 น. 0 comments
Counter : 1317 Pageviews.  
 
Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

greenpeacethailand
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




ในพ.ศ.2514 กลุ่มนักกิจกรรมกลุ่มเล็กๆ จากเมืองแวนคูเวอร์ แคนาดา ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากวิสัยทัศน์แห่งโลกสีเขียวและมีสันติสุข ได้แล่นเรือหาปลาเก่าๆ ออกจากแวนคูเวอร์ แคนาดา นักกิจกรรมเหล่านี้ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งกรีนพีซ เชื่อว่าบุคคลไม่กี่คนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

ภาระกิจของพวกเขาคือการ "เป็นประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุ" ของการทดลองนิวเคลียร์ใต้ดินที่เกาะอัมชิตกา ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ นอกชายฝั่งตะวันตกของรัฐอลาสก้า ซึ่งเป็นภูมิภาคที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

อัมชิตกาเป็นสถานหลบภัยของนากทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์ 3,000 ตัว และเป็นบ้านของนกอินทรีย์หัวล้าน เหยี่ยวต่างถิ่น และ สัตว์ป่าอื่นๆ มากมาย

ถึงแม้ว่าเรือเก่าๆ ของพวกเขา คือ ฟิลลิส คอร์แมก ถูกขัดขวางก่อนที่จะไปถึงอัมชิตกา แต่การเดินทางครั้งนี้จุดประกายเล็กน้อยให้แก่ความสนใจของสาธารณชน

สหรัฐอเมริกายังคงจุดระเบิดอย่างหนักหน่วง แต่เสียงเพรียกแห่งเหตุผลมีผู้ได้ยินแล้ว การทดลองนิวเคลียร์บนเกาะอัมชิตกาได้สิ้นสุดลงในปีเดียวกัน และเกาะแห่งนั้นได้ถูกประกาศให้เป็นสถานหลบภัยของนกทั้งหลาย

ปัจจุบัน กรีนพีซเป็นองค์กรนานาชาติที่ให้ความสำคัญแก่การรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก


คุณพร้อมที่จะร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือยัง?
มีหลายวิธีที่คุณสามารถทำได้ตอนนี้!


หลายคนอาจจะคิดว่าการดูแลรักษาโลกเป็นเรื่องยาก แค่ลำพังเราอาจทำอะไรได้ไม่มากนัก แต่ในความเป็นจริงแล้วแค่เพียงสองมือเล็กๆของเราก็สามารถทำเพื่อโลกได้มากมาย อ่านต่อ

ติดตามกรีนพีซเพ่ิมเติมได้ที่:

Facebook | Twitter | Instagram | YouTube
[Add greenpeacethailand's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com