ปลาจากอ่าวทองคำ

“ออกทะเลจับปูได้กินปู ลงอวนปลาได้กินปลา เราภูมิใจที่คนท่าศาลาสามารถเลี้ยงชาวนครศรีธรรมราช และคนไทยได้ทั้งประเทศ รวมถึงยังมีการส่งออกกั้งอาหารทะเลโด่งดังไปทั่วโลก” สุพร โต๊ะเส็น นายกสมาคมประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวยืนยันความอุดมสมบูรณ์ของอ่าวทองคำ อำเภอท่าศาลาและสิชล ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ผลิตอาหารที่สำคัญของภูมิภาค ซึ่งไม่ใช่แค่ประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงมาเลเซีย อินโดนีเซีย จีน สิงคโปร์ สหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา ทรัพยากรอันเปรียบเสมือนปากท้องของไทยและครัวของโลกนี้ สมควรแล้วหรือที่จะล่มสลายไปเพราะอุตสาหกรรมพลังงานสกปรก

รวมพลคนกินปลาเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2555 ที่ผ่านมา ชาวนครศรีธรรมราชกว่า 5,000คน ได้รวมตัวกันจัดงาน “รวมพลคนกินปลา” ประกาศศักยภาพความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ชายฝั่งท่าศาลา ที่ชาวบ้านเรียกว่า “อ่าวทองคำ” เพื่อประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวเป็น “พื้นที่คุ้มครองแหล่งผลิตอาหาร” และจะร่วมกันรักษาพื้นที่ 30 กิโลเมตรจากชายฝั่งให้พ้นจากอุตสาหกรรมพลังงานสกปรก โดยมีกรีนพีซสนับสนุนและยืนอยู่ข้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับการเคลื่อนไหวของชุมชนเพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติที่พวกเขาได้พึ่งพาอาศัย ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ชุมชนท่าศาลาเท่านั้นที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินและอุตสาหกรรมพลังงาน แต่การเปลี่ยนความอุดมสมบูรณ์ของอ่าวทองคำเป็นพลังงานสกปรกนั้นเป็นเสมือนการทุบหม้อข้าวตนเองทำลายแหล่งอาหารสำคัญของโลก

อ่าวทองคำมีความพิเศษของระบบนิเวศเฉพาะที่สร้างสรรค์สัตว์น้ำนานาชนิด มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดแห่งหนึ่งของอ่าวไทย โดยวิชาญ เชาวลิต ประธานเครือข่ายรักษ์บ้านเกิดท่าศาลา กล่าวว่า ”อ่าวทองคำเป็นพื้นที่ติดกับเทือกเขาหลวง ซึ่งมีแร่ธาตุอุดมสมบูรณ์ แหล่งน้ำหลายสายพัดพาตะกอนแร่ธาตุสู่อ่าวทองคำ เกิดเป็นตะกอนปากแม่น้ำซึ่งเป็นอาหารทางธรรมชาติของสัตว์น้ำ อีกทั้งยังมีทิศทางลมแปดทิศ คือ เมื่อลมปะทะเทือกเขาหลวงจะพัดย้อนกลับ ทำให้กระแสน้ำมีการเปลี่ยนทิศทางจนสามารถทำการประมงได้ตลอดทั้งปี”

อ่าวทองคำ มีพื้นที่ติดชายทะเล 4 ตำบลซึ่งให้ผลผลิตทางการประมงมากที่สุดในประเทศ ชาวประมงในท้องถิ่นนั้นต่างจับปลาด้วยวิธีอนุรักษ์และมีจิตสำนึก มีการรวมกลุ่มกันเป็นสมาคมช่วยกันฟื้นฟูทรัพยากร และศึกษาวิจัยเพื่อการทำประมงอย่างยั่งยืน โดยประสิทธิ์ชัย หนูนวล นักวิจัยท้องถิ่นเครือข่ายปกป้องพื้นที่การผลิตอาหารนครศรีธรรมราช กล่าวว่า “ปลาคือชีวิตของคนในพื้นที่ นั่นคือเหตุผลว่าทำไมประชาชนต้องการรักษาพื้นที่แห่งความอุดมสมบูรณ์ตรงนี้ มากกว่าร้อยละ 60 ของประชาชนในพื้นอยู่ได้ด้วยการพึ่งพาการทำมาหากินจากท้องทะเล สามารถสร้างรายได้ให้กับจังหวัดถึง 300 ล้านบาทต่อปี และสามารถสร้างงานให้กับคนพื้นที่ได้ถึง 5,000 คน

รวมพลคนกินปลานี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ชาวบ้านในพื้นที่อำเภอท่าศาลาเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการอุตสาหกรรมพลังงานสกปรก เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 ประชาชนท้องถิ่นจำนวนนับหมื่นได้มีการเดินขบวนประท้วงเพื่อหยุดโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ส่วนหนึ่งของโครงการการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะ​เลภาค​ใต้ (Southern Seaboard) และส่งผลให้โครงการดังกล่าวหยุดชะงัก อย่างไรก็ตามรัฐบาลชุดปัจจุบันยังคงสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานสกปรกขนาดใหญ่อื่นๆในพื้นที่อีกครั้งด้วยการสนับสนุนกลุ่มพลังงานยักษ์ใหญ่ทั้งของรัฐและเอกชนเข้ามาเจาะความมั่นคงทางอาหารของคนในพื้นที่ทุกรูปแบบ ทำให้ชาวบ้านเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนในชุมชน และจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพสิ่งแวดล้อมอย่างใหญ่หลวง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการลดลงของสัตว์น้ำ การสูญเสียพื้นที่สาธารณะจากการกัดเซาะชายฝั่ง มลพิษทางน้ำที่เกิดจากการเดินเรือขนาดใหญ่ ทำให้ชาวบ้านได้รวมกันอีกครั้งเพื่อผลักดันให้เกิดการประกาศให้พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ “คุ้มครองแหล่งผลิตอาหาร” และค้านโครงการการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะ​เลภาค​ใต้ที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมพลังงงานสกปรกทุกรูปแบบ เพื่อรักษาความอุดมสมบูรณ์อันเป็นศูนย์กลางของพื้นที่ชายฝั่งทะเลอ่าวไทย

อุตสาหกรรมพลังงานสกปรกไม่ใช่คำตอบที่ชาวบ้านในพื้นที่อ่าวทองคำต้องการ รัฐบาลไทยควรยุติโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินและอุตสาหกรรมพลังงานสกปรกทุกรูปแบบและหันมาให้ความสำคัญกับพัฒนาศักยภาพพลังงานหมุนเวียนที่ชุมชนท้องถิ่นได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง เช่น การพัฒนาพลังงานลม โดยผลการศึกษาพบว่าบริเวณอ่าวทองคำมีศักยภาพในการผลิตพลังงานลมได้อย่างน้อย 1,150 เมกะวัตต์ ไม่มีสิ่งใดมีค่ามากพอจะทำลายแหล่งอาหารของประชาชนทั้งประเทศ และทะเลอันเป็นชีวิตของคนภาคใต้ ดังที่มนิตย์ หาญกล้า ชาวบ้านหน้าทับ อ.ท่าศาลา กล่าวไว้ว่า “ทะเลคือบ้าน เราต่อสู้กันมาอย่างนานเพื่อรักษาทะเลด้วยหัวใจ เพราะทะเลคือทุกสิ่งทุกอย่างของเรา ถ้าทะเลเกิดมลพิษก็หมายถึงพวกเราถูกฆ่าให้ตายนั่นเอง”