ติดตาม twitter ได้ที่ @karnoi กด
ติดตามข้อมูลเว็บทาง FaceBook กด

cartoonthai
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 237 คน [?]




New Comments
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add cartoonthai's blog to your web]
Links
 

 

สัมผัสไทยทรงดำ ณ ศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำ หรือ ลาวโซ่ง



ศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำ หรือ ลาวโซ่ง คือแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งของจังหวัดเพชรบุรี โดยตั้งอยู่หมู่ 5 ตำบลเขาย้อย เดินทางตามทางหลวงหมายเลข 4 เลยจากแยกอำเภอเขาย้อย มาทางตัวเมืองเพชรบุรีประมาณ 1 กิโลเมตร

     ไทยทรงดำหรือลาวโซ่ง เป็นชนกลุ่มหนึ่งที่มีถิ่นฐานเดิมอยู่ที่เมืองเดียนเบียนฟู ในเวียดนามเหนือ มีความรู้ความชำนาญในการทอผ้าและจักสาน นิยมแต่งกายด้วยสีดำ มีภาษาพูดและภาษาเขียนเป็นของตนเอง ชาวลาวโซ่งส่วนใหญ่ยังคงอาศัยอยู่ในจังหวัดเพชรบุรี

     ศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำ เป็นที่เก็บรวบรวมภาพชีวิตความเป็นอยู่ในอดีตของชาวลาวโซ่งให้คนรุ่นหลังได้ ศึกษา ภายในศูนย์ฯ มีการจัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน บ้านจำลอง อักษรดั้งเดิม สาธิตการทอผ้า และขายสินค้าของที่ระลึก เช่น เสื้อผ้า กระเป๋า เครื่องประดับ เปิดให้เข้าชมทุกวัน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตั้งแต่เวลา 08.30-17.00 น. และในช่วงเดือนเมษายนของทุกปีจะมีงานประเพณีไทยทรงดำซึ่งถือเป็นงานรื่นเริง สังสรรค์ของชาวลาวโซ่ง โดยจะหมุนเวียนกันจัดไปตามหมู่บ้านต่างๆ

     การเดินทางโดยรถประจำทาง ใช้บริการรถ โดยสารเส้นทางกรุงเทพฯ-เพชรบุรี หรือกรุงเทพฯ-ประจวบคีรีขันธ์ ลงที่สี่แยกเขาย้อย จากนั้นต่อรถมอเตอร์ไซด์ไปอีกประมาณ 2 กิโลเมตร ค่าบริการมอเตอร์ไซค์ประมาณ 20 บาท

ข้อมูลภาพโดย : สถานีตำรวจภูธรเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี





 

Create Date : 19 กุมภาพันธ์ 2554    
Last Update : 19 กุมภาพันธ์ 2554 22:18:41 น.
Counter : 2218 Pageviews.  

อัศจรรย์ใจท่องเที่ยวไทย

ปูชักสะพานยก

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ททท.

ยัง มีสถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทยอีกมากมาย ที่เมื่อเดินทางไปสัมผัสเมื่อไหร่ก็ต้องตื่นตาตื่นใจทุกครั้ง ซึ่งวันนี้กระปุกดอทคอมจะพาเพื่อน ๆ ท่องเที่ยวไทยสไตล์อัศจรรย์ใจ ในแบบฉบับ Unseen Thailand แต่จะเป็นที่ไหนนั้น ตามเราไปเที่ยวกันดีกว่า

ปูชักสะพานยก

ไปชมวิถีชีวิตชาวประมงท้องถิ่นหนึ่งเดียวประเทศไทย บริเวณสะพานหิน อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เพราะเมื่อชาวบ้านจับปูได้จะนำมาใส่ถุงตาข่าย และแขวนห้อยไว้ที่สะพานให้ปูแช่น้ำทะเล เพื่อรักษาความสดใหม่ของเนื้อปูอยู่เสมอ และหากมีคนมาหาซื้อปู บรรดาแม่ค้าปู จะรีบวิ่งแข่งไปสาวเชือกชักปูในตาข่ายขึ้นมาเพื่อเสนอกับลูกค้า จึงเป็นที่มาของชื่อ "ปูชักสะพานยก" ซึ่ง ปูชัก ก็ไม่ใช่สายพันธ์ใหม่แต่อย่างใด มันก็คือ ปูม้า นั่นเอง

ทั้งนี้ ปูชัก มีให้กินทั้งปี แต่จะมีมากในเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ ทำให้เทศบาลเมืองชะอำ จัดงาน "เทศกาลชิมปูชัก @ ชะอำ" ขึ้นทุกปี ซึ่งในวันที่ 12 - 20 กุมภาพันธ์ 2554 ณ บริเวณจุดชมวิวชายหาดชะอำ

การเดินทาง : จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนพระราม 2 หรือถนนธนบุรี-ปากท่อ) ผ่านสมุทรสาคร สมุทรสงคราม อำเภอปากท่อ แล้วแยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 4 ผ่านจังหวัดเพชรบุรี อำเภอท่ายาง ถึงสี่แยกชะอำ หรือใช้ทางหลวงหมายเลข 4 (เพชรเกษม) ผ่านจังหวัดนครปฐม จังหวัดราชบุรี จังหวัดเพชรบุรี อำเภอท่ายาง ถึงสี่แยกชะอำ

หลวงพ่อปู่ พระพุทธรูปใส่แว่นตาดำ

พระพุทธรูปใส่แว่นตาดำ

วัดโกรกกราก ตั้งอยู่บนถนนธรรมคุณากร ตำบลโกรกกราก อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร เป็นที่ประดิษฐาน หลวงพ่อปู่ พระพุทธรูปใส่แว่นตาดำแห่งเดียวในประเทศไทย ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยเนื้อศิลาแลง ศิลปะสมัยสุโขทัยตอนปลาย ซึ่งมีมูลเหตุจากความเชื่อและศรัทธาของชาวบ้านต่างกันไป

ส่วนสาเหตุที่ หลวงพ่อปู่ ต้องใส่แว่นดำนั้น เนื่องจากครั้งหนึ่งได้เกิดโรคตาแดงระบาดทั่วบ้านโกรกกราก การแพทย์ยังไม่เจริญ และด้วยความเลื่อมใสศรัทธาองค์พระศิลาแลงกันมานาน จึงได้พากันมาบนบานศาลกล่าวว่าถ้าตาหายเจ็บหายแดง จะนำแผ่นทองมาปิดที่ดวงตาขององค์พระศิลาแลง ผลปรากฏว่าตาหายแดงกันทั้งหมู่บ้าน ชาวบ้านจึงได้นำแผ่นทองมาปิดที่ตาขององค์พระศิลาแลงเต็มไปหมด

ครั้น พระครูธรรมสาคร ญาณวฒโน หรือ หลวงปู่กรับ เจ้าอาวาสวัด มาพบเห็นได้หาอุบาย เพื่อที่จะไม่ให้ญาติโยมปิดทองที่ดวงตาองค์พระศิลาแลง จึงได้นำแว่นตามาใส่ให้กับองค์พระศิลาแลง แต่หลังจากองค์พระศิลาแลงใส่แว่นตา ชาวบ้านกลับนำแว่นตามาถวายแทนการปิดทองที่ดวงตา จนถือปฏิบัติเป็นประเพณีตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา พร้อม ๆ กับขนานนามท่านว่า "หลวงพ่อปู่"

ทั้งนี้ สำหรับโบสถ์ หลวงพ่อปู่ เปิดให้สักการะกราบไหว้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 06.00 – 19.00 น. อย่างไรก็ตาม แว่นตาที่สวมอยู่บนใบหน้าของหลวงพ่อปู่ คือตัวแทนของความเคารพศรัทธาของชาวบ้านนับแต่เมื่อครั้งอดีต หาใช่การกระทำที่ไม่เหมาะสมแต่อย่างใดนั่นเอง จะเห็นได้จากบรรดายวดยานพาหนะ ที่วิ่งผ่านวิหารของหลวงพ่อปู่ซึ่งตั้งอยู่ริมถนน ต่างบีบแตรสามครั้งเพื่อแสดงถึงความเคารพแทบทุกคัน

การเดินทาง : จาก ตัวเมืองใช้ทางหลวงหมายเลข 3242 ผ่านโรงพยาบาลสมุทรสาครมาประมาณ 500 เมตร เลี้ยวขวาตรงสามแยกเข้าถนนกิจมณี (ทางหลวงหมายเลข 3243) ตรงไปข้ามทางรถไฟ และสะพานข้ามคลองมหาชัย จากนั้นลงสะพานแล้วเลี้ยวขวา ผ่านโค้งวัดตึกมหาชยาราม ตรงไปอีกราว 2.5 กิโลเมตร ก็จะถึงวัดโกรกกราก

หาบน้ำแก้บน

หาบน้ำแก้บน

เป็นความเชื่อและศรัทธาเกี่ยวกับการบนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่จะต้องมาหาบน้ำเพื่อแก้บน ณ วัดโพธิ์เก้าต้น หรือ วัดไม้แดง หมู่ 8 ตำบลบางระจัน ตรงข้ามอนุสาวรีย์วีรชนค่ายบางระจัน อำเภอค่ายบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี ซึ่งแต่เดิมเคยเป็นสถานที่ที่วีรชนชาวบ้านบางระจัน ได้เคยใช้เป็นที่มั่นในการต่อต้านพม่า ที่ยกกองทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาเมื่อปี พ.ศ. 2308

โดยภายในวัดจะมีวิหาร พระอาจารย์ธรรมโชติ รังสี ประดิษฐาน รูปปฏิมากรรมอยู่ ซึ่ง พระอาจารย์ธรรมโชติ เป็นที่เคารพสักการะของชาวสิงห์บุรีมาตั้งแต่ช้านาน เนื่องจากท่านเป็นมิ่งขวัญและพลังใจแก่เหล่าวีระชนชาวบ้านบางระจัน ทำให้วีระชนเข้าต่อสู้ป้องกันข้าศึกและได้รับชัยชนะ รวมถึงมี สระน้ำศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งผู้คนมักเดินทางมาขอพรหรือบนขอสิ่งที่ต้องการ แต่ส่วนใหญ่เป็นเรื่องทหาร บ้างก็มาขอให้สอบติดเป็นนักเรียนนายสิบ นายร้อย หรือขอให้ไม่ติดทหารเกณฑ์ รวมถึงหายจากโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ เมื่อสำเร็จตามที่หวัง ก็จะมีการมาแก้บนด้วยการ "หาบน้ำ" มาใส่ใน "สระน้ำศักดิ์สิทธิ์"

ทั้งนี้ ชาวบ้านเชื่อว่าสระน้ำแห่งนี้เป็น "สระน้ำศักดิ์สิทธิ์" น้ำ ที่หาบมาใส่ว่ากันว่าเป็นน้ำมนต์ ใครก็ตามที่หาบน้ำมนต์มาเทใส่ สระน้ำศักดิ์สิทธิ์ ก็จะบังเกิดผล เป็นสิริมงคลกับตนเอง จนกลายเป็นประเพณีที่ทำกันมาอย่างจ่อเนื่อง จนกลายมาถึงทุกวันนี้

การเดินทาง : ห่างจากตัวเมืองประมาณ 15 กิโลเมตร เส้นทางหลวงหมายเลข 3032




 

Create Date : 18 กุมภาพันธ์ 2554    
Last Update : 18 กุมภาพันธ์ 2554 20:55:52 น.
Counter : 2128 Pageviews.  

วัดสีหยัง เสน่ห์แห่งสถาปัตยกรรมฝีมือช่างพื้นบ้านสงขลา

วัดสีหยัง อยู่ริมถนนทางหลวงสงขลา-นครศรีธรรมราช ตั้งอยู่เลขที่ 127 บ้านสีหยัง หมู่ที่ 3 ตำบลบ่อตรุ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีที่ดินตั้งวัด เนื้อที่ 33 ไร่ 3 งาน น่าจะสร้างในสมัยศรีวิชัยประมาณ พ.ศ.2310 เป็นวัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาแล้วประมาณ พ.ศ.2320 เดิมมีนามว่า "วัดสีกุยัง" หนังสือกัลปนาวัดหัว เมืองพัทลุงสมัยอยุธยาเรียกว่า "วัดศรีกูยัง" โดยอุโบสถและศาลาการเปรียญเป็นตัวอย่างสถาปัตยกรรมฝีมือช่างพื้นบ้านของ สงขลา เป็นวัดที่พระราชมุนีสามีราม (หลวงพ่อทวด) เมื่อครั้งเป็นสามเณรมาศึกษาธรรมบททศชาติก่อนไปบวชที่วัดดีหลวง





     โบราณสถานและโบราณวัตถุที่ควรค่าแก่การชม คือ

     ฐานเจดีย์ก่อด้วยอิฐดินเผาและปะการัง ใช้ยางไม้ชนิดหนึ่งแทนการสอปูน เรียงอิฐแบบไม่มีระบบ ซึ่งเป็นเทคนิคของช่างสมัยศรีวิชัย เดิมสันนิษฐานว่าองค์เจดีย์มีรูปทรงแบบ มณฑปพระบรมธาตุไชยา ต่อมาได้หักพังลงเหลือแต่ฐานเจดีย์ ศาสนาจารย์บวชเซอลิเยร์ นักปราชญ์ทางโบราณคดีชาวฝรั่งเศสได้ให้ความเห็นไว้ว่า เป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นในสมัย ศรีวิชัย (พุทธศตวรรษที่ 13 - 18)

     อุโบสถ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนฐานสูง มีประตูทางเข้าเพียงทางเดียวทางด้านหน้า รอบอุโบสถมีลานทักษิณาวัฎ มีหน้าต่างด้านละ 2 ช่อง ขอบประตูและหน้าต่าง ตกแต่งด้วย ลวดลายปูนปั้นเป็นรูปวงโค้งและเทวดาหน้าบัน ด้านหน้ามีลายปูนปั้นลายดอกพุดตานใบเทศ มีบุคคลเป็นส่วนประกอบ ตรงจั่วมีช่อฟ้าใบระกา มีปั้นลมรูปหัวนาคแทนหางหงส์ ภายในอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานพระประธานปูนปั้นปางมารวิชัย ฝีมือช่างท้องถิ่น สร้างขึ้นเมื่อประมาณ 90 ปี มาแล้ว


     เทวรูปสำริด เป็นเทวรูปสำริดถือรวงข้าว ชาวบ้านเล่าว่า พบขณะขุดหลุมสร้างโรงเรียนวัดสีหยัง บริเวณวัดสีหยังจะมีคูขุดล้อมรอบทั้ง 4 ด้าน เป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสมีความกว้างประมาณ 200 เมตร คูกว้าง 30 เมตร ปัจจุบันแนวคูได้ตื้นเขินไปมากแล้ว

     เมื่อปี พ.ศ.2522 หน่วยศิลปากรที่ 9 สงขลา กองโบราณคดี ได้สำรวจขุดแต่งบูรณะวัดสีหยัง พบว่ามีซากสถูปก่อด้วยอิฐ ตั้งอยู่ในเนินดินเป็นสถูปทรงสี่เหลี่ยมจตุรัส ส่วนบนหัก หายไป มีการใช้หินปะการัง ซึ่งมีอยู่ในท้องถิ่นมาทำเป็นรูปบัวของสถูปแทนอิฐ ส่วนต่อระหว่างฐานรากและองค์เจดีย์ที่ต่อขึ้นไปด้านหน้าฐานเจดีย์ มีฐานวิหารเหนือเป็นเนินดิน รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า อาจเป็นวิหารที่สร้างเพิ่มเติมในสมัยอยุธยาหรืออาจมีมาแต่เดิมก็ได้

     นอกจากนี้ยังพบเศษภาชนะดินเผาเนื้อดินธรรมดาและแบบเคลือบ และยังเคยพบ ประติมากรรมสำริดในบริเวณใกล้เคียง เป็นเทวรูปสำริดพระกรถือรวงข้าว (ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ ที่วัดสีหยัง) และบริเวณรอบ ๆ สถูปยังปรากฎคันคูดินโบราณที่บ่งบอกถึงความเป็นชุมชนโบราณอยู่ด้วย





     ภายในโบสถ์วัดสีหยัง มีรูปเหมือนหลวงพ่อทวดขนาดใหญ่ ประดิษฐานอยู่ ซึ่งเป็นหลวงพ่อทวดที่จัดสร้างโดยนักศึกษาคณะแพทยศาสตร์ ม.อ.ปี 5 เมื่อปี พ.ศ.2550 ด้วยแรง ศรัทธาอย่างแรงกล้า โดยใช้งบประมาณในการสร้าง 300,000 บาท

     หลวงพ่อทวด หรือ สมเด็จเจ้าพะโคะ มีนามเดิมว่า ปู เป็นบุตรนายหู นางจัน วันเดือนปีเกิดของเด็กชายปู บ้างว่าเป็นเดือน 4 ปีมะโรง ตรงกับ พ.ศ.2125 บ้างว่าปี พ.ศ.990 ฉลู สัมฤทธิศก บ้างว่า พ.ศ.2131 โดยอนุมาน เข้าใจว่าคงเป็นปลายสมัยมหาธรรมราชา อาจเป็นปี พ.ศ.2125 หรือ 2131 ตอนเด็กชายปูยังเป็นทารก มีเรื่องเล่าเป็นปาฎิหาริย์เอาไว้ ว่า หลังจากนางจันเลิกอยู่ไฟก็ออกเกี่ยวข้าวทันที

     วันหนึ่งนางไปเก็บข้าวก็ให้บุตรนอนเปลใต้ต้นหว้า งูบองสลาขึ้นมานอนบนเปลนั้น มารดาและบิดาเห็นงูก็ตกใจ งูก็เลื้อยหายไป แต่ได้คายแก้ววิเศษเอาไว้ให้ เมื่อเด็กชายปูอายุได้ 7 ขวบ บิดาได้นำไปฝากกับท่านสมภารจวง ซึ่งเป็นพี่ชายของนางจันผู้เป็นมารดา (หลวงลุง) วัดกุฎิหลวง (วัดดีหลวง) เพื่อให้เล่าเรียนหนังสือ เด็กชายปูมีความเฉลียวฉลาดมาก สามารถเรียนหนังสือขอมและไทยได้อย่างรวดเร็ว

     ครั้นอายุได้ 10 ขวบ ก็บวชเป็นสามเณร และบิดาได้มอบแก้ววิเศษให้เป็นของประจำตัว ต่อมาสามเณรปูได้ไปศึกษาต่อกับพระชินเสนที่วัดสีหยัง (สีคูยัง) ซึ่งเป็นพระอาจารย์ที่ เชี่ยวชาญและมีชื่อเสียงมากมาจากกรุงศรีอยุธยา เมื่อได้อายุ 20 ปีบริบูรณ์ ได้เดินทางไปศึกษาต่อที่นครศรีธรรมราช ณ สำนักพระมหาเถระปิยทัสสี ต่อมาได้เข้ารับการอุปสมบท มีฉายาว่า "ราโมธมฺมิโก" แต่คนทั่วไปเรียกว่า "เจ้าสามีราม"

ข้อมูลโดย เทศบาลตำบลบ่อตรุ
ตำบลบ่อตรุ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา 90140
โทรศัพท์ 074-589112 begin_of_the_skype_highlighting            074-589112      end_of_the_skype_highlighting, 074-589098 begin_of_the_skype_highlighting            074-589098      end_of_the_skype_highlighting E-mail: info@bortru.go.th






 

Create Date : 17 กุมภาพันธ์ 2554    
Last Update : 17 กุมภาพันธ์ 2554 22:58:11 น.
Counter : 2235 Pageviews.  

น้ำตกโป่งกระดังงา สุดยอดน้ำตกสวยของหมู่นักผจญภัย



เมื่อพูดถึงน้ำตกสวยๆ ก็คงต้องนึก "น้ำตกโป่งกระดังงา" เป็นน้ำตกกลางป่าดิบชื้น ที่เกิดขึ้นจากเขาหินปูน เป็นน้ำตกขนาดเล็กที่มีความสวยงาม สายน้ำตกจะไหลลดหลั่นลงมาเกิดเป็นชั้นต่างๆ อีก 4 ชั้น

     นอกจากนี้หมู่นักผจญภัยนิยมชื่นชอบเป็นอย่างมาก เพราะเส้นทางการเข้าไปนั้นจำเป็นต้องใช้รถออฟโรดที่มีสมรรถภาพสูง ทำให้น้ำตกแห่งนี้มีชื่อเสียงโดดเด่นในเรื่องพิชิตอุปสรรคระหว่างการเดินทาง เข้าไปให้ได้ ซึ่งน้ำตกโป่งกระดังงานี้มี

     การเดินทาง ที่ใช้กันอยู่บ่อยๆ 2 เส้นทาง คือ

     1) เข้าพุถ่อง วิ่งผ่านแยกเข้า หน่วยเขารวก (ด่านไม้กั้น) ตรงมาเรื่อยๆ ถึงแยกน้ำตก เลี้ยวซ้าย เข้าเส้นทาง 2) เข้าจากหอดูไฟ วิ่งตรงมาผ่านหน่วยไม้ยักษ์ พบแยกเข้าน้ำตก แล้วจึงเลี้ยวขวา

ข้อมูลโดย องค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี
336/1 ต.ปากแพรก อ.เมืองกาญจนบุรี
จ.กาญจนบุรี 71000
โทร. 0 3462 3041
อีเมล์ info@kanchanaburicity.com






 

Create Date : 17 กุมภาพันธ์ 2554    
Last Update : 17 กุมภาพันธ์ 2554 3:22:34 น.
Counter : 2342 Pageviews.  

วัดศรีสวาย วัดสวยศิลปะแบบเขมรโบราณ

วัดศรีสวาย เป็นวัดที่มีมาก่อนอาณาจักรสุโขทัย ศิลปะแบบเขมรโบราณ ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ของอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย ทางตอนใต้ของวัดมหาธาตุ


     โดยอยู่ห่างออกไปประมาณ 350 เมตร โบราณสถานที่สำคัญตั้งอยู่ในกำแพงแก้ว ประกอบด้วยปรางค์ 3 องค์ รูปแบบศิลปะลพบุรี ลักษณะของปรางค์ค่อนข้างเพรียว ตั้งอยู่บนฐานเตี้ย ๆ ลวดลายปูนปั้นบางส่วนเหมือนลายบนเครื่องถ้วยจีน สมัยราชวงศ์หยวน





     โดยต่อมาได้พบทับหลังสลักเป็นรูปนารายณ์บรรทมสินธุ์ ชิ้นส่วนของเทวรูป และศิวลึงค์ที่แสดงให้เห็นว่าเคยเป็นเทวสถานในศาสนาฮินดูมาก่อน แล้วแปลงเป็นพุทธสถานโดยต่อเติมวิหารขึ้นที่ด้านหน้า แล้วเป็นวัดในพุทธศาสนาภายหลัง

ข้อมูลโดย องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุโขทัย
ถ.นิกรเกษม อ.เมืองสุโขทัย จ.สุโขทัย 64000





 

Create Date : 15 กุมภาพันธ์ 2554    
Last Update : 15 กุมภาพันธ์ 2554 22:10:14 น.
Counter : 3009 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  80  81  82  83  84  85  86  87  88  89  90  91  92  93  94  95  96  97  98  
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.