ติดตาม twitter ได้ที่ @karnoi กด
ติดตามข้อมูลเว็บทาง FaceBook กด

cartoonthai
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 237 คน [?]




New Comments
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add cartoonthai's blog to your web]
Links
 

 

ร้อนนี้เล่นน้ำ กินอาหารทะเลสด ๆ ที่ "อ่าวมะนาว"



สำหรับคนที่ชอบเที่ยวทะเล วันนี้เรามีสถานที่มาแนะนำค่ะ



อ่าวมะนาว กองบิน 53

อ่าวมะนาว จ.ประจวบคีรีขันธ์เป็นชายหาดที่สะอาดและ สวยงามอยู่ในพื้นที่ของกองทัพอากาศ ชาย หาดมีลักษณะโค้งเป็นวงกลมเหมือนลูกมะนาว จึงเป็นที่มาของคำว่า อ่าวมะนาว อ่าวมะนาวมีภูเขาสองลูกโอบล้อมคือ เขาล้อมหมวก และ เขาคลองวาฬ สามารถมองเห็นได้ชัดเจนจากชายหาด

ใน สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น อ่าวมะนาวเคยเป็นยุทธภูมิระหว่างกองทัพไทยและกองทัพญี่ปุ่น ในกองบิน 53 จะเห็น อนุสาวรีย์วีรชน รูปทหารในชุดนักบินยืนอยู่บนใบพัดเครื่องบินถือธงหันหน้าออกทะเล และยังมี อุทยานประวัติศาสตร์กองบิน 53 โดยจะเห็นแท่งหินขนาดใหญ่แกะสลักจำลองฉากการต่อสู้ระหว่างกองทัพไทยกับ ญี่ปุ่น บริเวณอ่าวมะนาว



ทุกปีมีการจัดงานวันรำลึกวีรกรรม 8 ธันวาคม 2484 นักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปพักผ่อนเล่นน้ำที่ชายหาด มีร้านอาหาร สโมสรและบริการบ้านพักหลายแบบ ทั้งแบบทาวเฮาส์ คอนโดมิเนียม สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กองบิน 53 โทร. 0 3266 1087-8, 0 3261 1017, 0 3266 1031 ต่อ 60464, 60465, 60484 (จองล่วงหน้า 1 เดือน) ในกรณีที่เข้าพักเป็นหมู่คณะควรทำหนังสือแจ้งล่วงหน้า




ราคาที่พักอาคารที่พักสวัสดิการกองทัพอากาศ (อ่าวมะนาว)

  • ห้อง Suit ไออุ่นครอบครัว 2 ห้องนอน พร้อมห้องนั่งเล่น พักได้ 4 คน ราคา 3,800 บาท*
  • ห้อง Deluxe แสนสบาย พักได้ 2 คน ราคา 1,600 บาท*
  • ห้อง Standard คลาสสิค พักได้ 2 คน ราคา 900 บาท*
  • ห้อง Town house พาสนุก พักได้ 6 คน ราคา 2,100 บาท*

*ราคาอาจเปลี่ยนแปลงได้โปรดตรวจสอบราคากับอาคารที่พักสวัสดิการ ฟ้าชมคลื่น อ่าวมะนาว


เว็บไซต์กองบิน 5
wing5.rtaf.mi.th/home


หมายเหตุ.
ในปัจจุบัน กองบิน 53 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น
กองบิน 5




อาหารการกินในอ่าวมะนาว เนื่องจากอยู่ในขตทหาร ร้านอาหารในนี้จะราคาไม่แพง จะเป็นแม่บ้านทหารมาเปิดร้านซะส่วนมาก มีให้เลือกกินหลายร้าน ตอนเช้าๆ มีกาแฟ ปาท่องโก๋ ข้าวต้ม American Breakfast หรือ อาหารตามสั่ง

กิจกรรม ผู้ที่ชอบตกหมึกสามารถเช่าเหมาเรือประมง ออกไปตกหมึกได้ เรือรับจ้างติดต่อได้ที่โรงอาหารในกองบิน 53

สถานที่ใกล้เคียง หาดคลองวาฬ มีลักษณะเป็นเหมือนหมู่บ้านชาวประมง มีรีสอร์ทอยู่ไม่มาก เนื่องจากมีการสร้างกำแพงกันคลื่นซัดทำให้น้ำทะเลเปลี่ยนเส้นทาง บริเวณหาดคลองวาฬจะเป็นดินเลน ไม่เหมาะกับการเล่นน้ำ แต่สามารถไปเล่นน้ำที่อ่าวมะนาวแทนได้ ที่พักแถวนี้จะราคาไม่แพง สามารถซื้อของทะเลแห้งจากที่นี่ได้

อ่าวประจวบคีรีขันธ์ มีลักษณะโค้งเป็นครึ่งวงกลม อยู่ในตัวเมืองประจวบคีรีขันธ์มีความยาว 8 กิโลเมตร ด้านซ้ายถูกล้อมด้วยเขาตาม่องล่าย ด้านขวาที่เห็นในรูปเป็นเขาล้อมหมวก ใกล้ๆกับเขาล้อมหมวกจะมีเกาะเล็กๆอยู่เป็นกลุ่ม ได้แก่เกาะแรด เกาะหลัก เกาะหลำ เกาะร่ม อ่าวนี้ไม่มีคนมาเล่นน้ำ

อุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ ในอดีตเป็นสถานที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่ รัชการที่ 4 ทรงคำนวนไว้ล่วงหน้าว่าจะเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงในวันที่ 18 สิงหาคม 2411 ซึ่งคำนวนไว้ล่วงหน้า 2 ปี ปัจจุบันได้ก่อสร้างเป็น อุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ เป็นศุนย์กลางเรียนรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีดาราศาสตร์ อวกาศและสิ่งแวดล้อม



การเดินทางไปอ่าวมะนาว

ทางรถยนต์ จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางสายธนบุรี-ปากท่อ (ทางหลวงหมายเลข 35) ผ่านสมุทรสงคราม เลี้ยงซ้ายเข้าเพชรเกษมผ่านเพชรบุรี (เส้นทางเดียวกันกับหัวหิน) เข้าจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จากเทศบางเมืองประจวบฯ ไปทางทิศใต้ตามถนนสละชีพถึงสามแยกเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 3167 ผ่านสนามบินกองบิน 53 ถึงอ่าวมะนาว ระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตร หรือ จากอ่าวประจวบใช้ถนนเลียบหาด จากกรุงเทพฯ ใช้ระยะทางรวมประมาณ 285 กม. จากหัวหินประมาณ 105 กม.


ทางรถโดยสารประจำทาง
จากสถานีขนส่งสายใต้ มีรถโดยสาร กรุงเทพฯ-ประจวบคีรีขันธ์, กรุงเทพฯ-หัวหิน, กรุงเทพฯ-ปราณบุรี สอบถามรายละเอียดได้ที่ 02-435-1199 (รถปรับอากาศ) และ 02-434-5557 (รถธรรมดา) แล้วต่อรถจักรยานยนต์รับจ้าง


ทางรถไฟ
ลงรถที่สถานีรถไฟประจวบคีรีขันธ์แล้วต่อรถจักรยานยนต์รับจ้าง








ขอบคุณข้อมูลจาก ไปเที่ยวไทย,dnp.go.th




 

Create Date : 11 มีนาคม 2554    
Last Update : 11 มีนาคม 2554 7:37:15 น.
Counter : 5610 Pageviews.  

ล่องคลองบางกอกน้อย ดูวิถีคนกรุงยุคใหม่

คลองบางกอกน้อย

ล่องคลองบางกอกน้อย ดูวิถีคนกรุงยุคใหม่ หัวใจสีเขียว (ไทยโพสต์)

สัปดาห์ นี้อยากเชิญชาวกรุงมาท่องเที่ยวง่าย ๆ แถมด้วยการอนุรักษ์วัฒนธรรม ชมวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของคนริมฝั่งคลอง สถานที่ที่เราจะไปคือ ล่องเรือเที่ยวคลองบางกอกน้อย แม่เจ้าพระยา ซึ่ง คลองดังกล่าวได้ผ่านการเปลี่ยนแปลงมาหลายชั่วอายุคน แต่ก็ยังคงอบอวลไปด้วยเสน่ห์ของชาวกรุงฟากฝั่งธนฯ ที่ผสานวิถีเก่ากับวิถีใหม่เข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน

การท่องเที่ยวของเราจะล่องผ่าน พิพิธภัณฑ์ฯ เรือพระราชพิธี อาทิ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ และเรือในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ที่รวมทั้งหมดแล้ว 8 ลำด้วยกัน จากสถานที่นี้ เราล่องเรือต่อและไปขึ้นฝั่ง ณ ท่าเรือบริเวณชุมชนบ้านบุ นี่คือแหล่งทำขันลงหินชั้นยอดหนึ่งเดียวในกรุงเทพฯ เป็นผลิตภัณฑ์โอท็อป 5 ดาว ที่มีชื่อเสียงลือชื่อในเรื่องความงดงาม ขันที่นี่ มีความทนทานและสวยงาม เมื่อลองเคาะดูจะมีเสียงที่ดังกังวาน นิยมทำเป็นเครื่องดนตรี บางบ้านใช้เป็นขันใส่น้ำดื่ม เนื่องจากขันลงหินจะช่วยให้น้ำเย็นกว่าปกติ หรือใช้เป็นขันใส่ข้าวตักบาตร เพราะจะทำให้ข้าวมีกลิ่นหอมก็ได้เช่นกัน

เที่ยวกรุงเทพ

เดิมชาวชุมชนบ้านบุเป็นชาวอยุธยา ที่หนีพม่ามาตั้งถิ่นฐานเมื่อครั้งเสียกรุงฯ ครั้งที่ 2 โดยได้มารวมกลุ่มตั้ง บ้านเรือนขึ้นบริเวณนี้ และได้ร่วมกันทำขันลงหินขาย ก่อนจะถ่ายทอดฝีมือจากรุ่นสู่รุ่นสืบต่อกันมากว่า 200 ปี แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป คนสนใจซื้อและสนใจทำขันลงหินน้อยลง ทำให้ปัจจุบันเหลือบ้านเพียงหลังเดียว ที่ยังคงประกอบอาชีพทำขันลงหินอยู่ แต่ก็เหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด เมื่อเร็วๆ นี้เกิดไฟไหม้ขึ้นที่ชุมชนบ้านบุ ทำให้ขันหินส่วนหนึ่งที่ทำมาด้วยความยากลำบากเสียหาย แต่กระนั้นทางบ้านที่ทำก็ยังยืนยันว่าจะทำอาชีพนี้ต่อไป อย่างไม่ท้อแท้ต่ออุปสรรคที่เกิดขึ้น

กลับมาที่การดำเนินชีวิตของชาวบ้านบริเวณริมคลองบางกอกน้อย อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างตามยุคตามสมัยและความเจริญที่เข้ามา แต่ยังคงดำรงอยู่ และมีวิถีชีวิตประจำวันเหมือนดังเช่นเมื่อหลายสิบปีที่ผ่านมา ยังคงคุณค่าทางวัฒนธรรมและเหลือร่องรอยของอดีตไว้ หลาย ๆ บ้านก็ยังคงใช้เรือเป็นพาหนะรองในการสัญจรไปไหนมาไหน ทำให้มีเรือลำเล็ก ๆ จอดเทียบท่าอยู่ทั่วไปตามบ้านเรือนริมคลองบางกอกน้อย เป็นหน้าที่ของคนรุ่นหลังต้องรักษาภาพดังกล่าวให้อยู่ยาวนาน เพื่อเป็นการแสดงถึงเอกลักษณ์ของชุมชนสืบต่อไป

บางช่วงจะมีเรือพายขายขนม เช่น ไอศกรีม ขายกุยช่าย หรือเรือขายของสารพัดอย่างประมาณร้านโชห่วยริมน้ำ แล่นผ่านไปมา ถือเป็นอีกหนึ่งวิถีของคนกรุงฯ ที่แตกต่างออกไป และนับวันยิ่งเหลือน้อยลงทุกที

วัดปากน้ำภาษีเจริญ

ทั้งนี้ หากใครมาเที่ยวและต้องการไหว้พระ สถานที่นี้ก็ถือว่าเหมาะสม เพราะมีกิจกรรมล่องเรือไหว้พระ 9 วัด ได้แก่...

1.ไหว้หลวงพ่อสด ณ วัดปากน้ำภาษีเจริญ
2.ไหว้พระชมเจดีย์กู้ชาติ ที่บรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ณ วัดอินทราราม
3.ไหว้พระพุทธรูปทองโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยา ณ วัดหงส์รัตนาราม
4. ไหว้หลวงปู่โต๊ะ ณ วัดประดู่ฉิมพลี
5.ไหว้พระประธาน ณ วัดสุวรรณาราม พร้อมชมจิตรกรรมฝาผนัง
6.ไหว้หลวงพ่อใหญ่ และสักการะรอยพระพุทธบาท ณ วัดบางอ้อยช้าง
7.ไหว้พระ ณ วัดชะลอ
8.ไหว้พระ วัดชัยพฤกษ์มาลาราชวรวิหาร วัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี
9.นมัสการรูปหล่อสมเด็จโต ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ณ วัดศรีสุดารามวรวิหาร

สำหรับ วัดสุวรรณาราม ถือเป็นวัดสำคัญและมีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจ มีประวัติโดยสังเขป ในสมัยพระเจ้าตากสินเคยใช้เป็นแดนประหารชีวิตเชลยศึกพม่านับพันคน ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โปรดให้สถาปนาวัดนี้ใหม่ และทรงพระราชทานนามว่า "วัดสุวรรณาราม"

ขณะที่วัดนี้มีความโดดเด่นคือ พระอุโบสถ ศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลาย ที่นิยมสร้างหลังคาโค้งแอ่นเหมือนท้องเรือสำเภา หน้าบันจำหลักลายรูปเทพนมและรูปนารายณ์ทรงครุฑปิดทอง ส่วนภายในโบสถ์ มีพระศาสดาเป็นพระประธาน ซึ่งเป็นพระพุทธรูปหล่อสำริดปางมารวิชัย ฝีมือช่างสมัยสุโขทัย ที่สง่างามด้วยทรวดทรงอันอ่อนช้อย และเหมาะเป็นสถานที่ขอพรและแก้บนเรื่องการงานและการค้า

มีเรื่องเล่าว่า พระศาสดาโปรดวิ่งม้ามาก (วิ่งม้าในสมัยนั้นคือให้เด็กขี่ม้าก้านกล้วยแล้ววิ่งรอบพระอุโบสถ) หลังจากที่อัญเชิญจากสุโขทัยมาประดิษฐานไว้ที่วัดสุวรรณารามแล้ว มีคนมาบนบานศาลกล่าว เมื่อสำเร็จผลก็ได้ฝันว่ามีพราหมณ์ท่านหนึ่ง มาบอกว่าให้แก้บนด้วยการวิ่งม้า ก็เลยเป็นที่มาของการวิ่งม้าแก้บนที่วัดแห่งนี้ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องเล่าอีกว่า มีคนมาวิ่งม้าแก้บน แต่แกล้งวิ่งหลอก ๆ ไม่ยอมวิ่งจริงๆ เขาทำได้แป๊บเดียวเท่านั้นเอง ก็มีมือขนาดยักษ์มาเขกหัว ทั้ง ๆ ที่บริเวณนั้นไม่มีใครเลย ซึ่งนับแต่นั้นมาทำให้หลาย ๆ คนไม่กล้าวิ่งม้าหลอก ๆ แก้บนที่วัดแห่งนี้

เที่ยวกรุงเทพ

สำหรับความเป็นมาของ คลองบางกอกน้อย ในปี 2065 สมเด็จพระไชยราชาธิราชแห่งกรุงศรีอยุธยา โปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองลัด บางกอกใหญ่ ตรงส่วนที่แคบที่สุด ซึ่งก็คือบริเวณปากคลองบางกอกน้อย ไปถึงปากคลองบางกอกใหญ่ ส่วนที่กลายเป็นลำน้ำเจ้าพระยาในปัจจุบันคือ หน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือหน้าสถานีรถไฟบางกอกน้อยถึงวัดอรุณฯ

ส่วนแม่น้ำเจ้าพระยาสายเดิมที่ผ่านย่านบางกอกได้กลายเป็น "คลองบางกอกน้อย" และ "คลองบางกอกใหญ่" เมื่อครั้งยังเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา "คลองบางกอกน้อย" เป็นเพียงเขตเกษตรกรรม ชุมชนริมคลอง จึงมีวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นภายหลังจากการขุดคลองลัดที่ย่านบางกอก ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยย่นระยะทางเท่านั้น แต่ยังทำให้ชุมชนขยายกลายเป็นเมืองอยู่บริเวณสองฟากฝั่งคลอง

ในปี 2515 มีการรวมกรุงเทพฯ กับธนบุรีขึ้นเป็นเมืองหลวง การตัดถนนหลายสายที่ฝั่งธนบุรี นำสาธารณูปโภคสาธารณูปการและความสะดวกสบาย มาพร้อมกับการเข้ามาอยู่ของผู้คน จากเดิมที่เป็นชุมชนย่อยก็ได้กลายเป็นชุมชนใหญ่ พื้นที่นาและสวนผลไม้เปลี่ยนเป็นบ้านจัดสรร โรงงาน และอาคารพาณิชย์

ก่อนจบทริปนี้เกือบลืมไป ทาง กทม. โดยสำนักงานเขตบางกอกน้อย ยังร่วมปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมคูคลอง และร่วมกันอนุรักษ์แม่น้ำสายประวัติศาสตร์ รวมถึงการเผยแพร่ความสำคัญของสายน้ำ ที่มีต่อวิถีชีวิตและวัฒนธรรมไทยให้แพร่ หลายสู่ชาวไทยและชาวต่างประเทศโดยทั่วกัน อันจะส่งผลให้เกิดความตระหนัก และเกิดความร่วมมือในการดูแลรักษาสภาพแวดล้อม ของสายน้ำให้สวยงาม และเกิดความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์อันยาวนานของคลอง บางกอกน้อย ซึ่งจะสามารถส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี ซึ่งตรงกับแนวคิด 7 Greens ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. ที่กำลังเร่งปลูกจิตสำนึกให้คนไทยยุคนี้มีหัวสีเขียว เที่ยวอย่างมีความสุขด้วยกัน




 

Create Date : 10 มีนาคม 2554    
Last Update : 10 มีนาคม 2554 8:39:55 น.
Counter : 2622 Pageviews.  

หาดม่วงงาม มุมสงบของคนรักธรรมชาติ

หาดม่วงงาม เป็นอีกหนึ่งจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวที่น่ามาเยือนของชาวตำบลม่วงงาม อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ปัจจุบันชายหาดแห่งนี้ได้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว รวมไปถึงสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของนักท่องเที่ยวและคนในท้องถิ่นเป็นอย่างดี





     ด้วยบรรยากาศของชายหาดที่ค่อนข้างเงียบสงบ และมีความยาวประมาณ 3 กิโลเมตร รวมไปถึงน้ำทะเลที่ค่อนข้างใส และผืนทรายขาวสะอาด เนื่องจากยังไม่มีความเจริญเข้ามาทำลายความเป็นธรรมชาติมากนัก





     นอกจากนี้แล้วตามสองข้างทางที่ทอดยาวไปตามชายหาดนั้น ยังร่มรื่นไปด้วยต้นไม้เขียวขจี ที่มีสายลมเย็นๆพัดมาเป็นะระยะๆ จึงไม่น่าแปลกใจนักที่หาดม่วงงามจะกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของคนรักสงบได้เป็นอย่างดี

ข้อมูลภาพโดย : องค์การบริหารส่วนตำบลม่วงงาม
หมู่ที่ 7 ตำบลม่วงงาม อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา 90330
โทรศัพท์ /โทรสาร 0-7448-4437
E-mail:info@mungngam-sk.go.th






 

Create Date : 09 มีนาคม 2554    
Last Update : 9 มีนาคม 2554 21:45:56 น.
Counter : 2303 Pageviews.  

ดอกทิวลิปบานบน...ดอยผาแดง



ดอยผาแดง คือ อีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวที่ตั้งอยู่ที่ บ้านผาแดง หมู่ 6 ตำบลหนองบัว อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ โดยตำบลหนองบัว เป็นตำบลเก่าแก่ตำบลหนึ่งของอำเภอไชยปราการ พื้นที่เป็นภูเขาสูง มีป่าไม้อุดมสมบูรณ์เป็นต้นกำเนิดของลำน้ำสายต่างๆ ถึง 11 สาย มีบ่อน้ำแร่ธรรมชาติ มีโบราณสภานที่สำคัญ ได้แก่วัดพระเจ้าพรหมหาราช

     ดอยผาแดง เป็นพื้นที่ที่มีความสวยงาม ในอดีตรัฐบาลไต้หวันได้มาเริ่มโครงการพัฒนาการเกษตร โดยส่งเสริมราษฎรในพื้นที่ปลูกพืชไม้เมืองหนาว และชาอู่หลงก้านยาว ดอยผาแดงเป็นพื้นที่ที่ทาง อ.ไชยปราการ และโครงการหลวงอ่างขางปลูกดอกทิวลิป และพืชสวนปลอดสารพิษ

     โดยในช่วงวันที่ 1 ถึง 31เดือนมกราคม ของทุกปี จะมีการจัดงานเทศกาลดอกทิวลิปบาน อำเภอไชยปราการ โดยดอกทิวลิปนี้ที่ว่าการ อำเภอ ไชยปราการ นำพันธุ์ดอกทิวลิปมาจาก ศูนย์ส่งเสริมเกษตรที่สูงดอยผาหม่น อ.เทิง จ.เชียงราย โดยมีทิวลิปหลากสีสันถึง 6 สี คือ สีแดง สีเหลือง สีขาว สีม่วง สีชมพู และสีส้ม

     ดอกทิวลิปบาน อำเภอไชยปราการนั้นที่มีการเพาะปลูกได้โดยธรรมชาติแห่งเดียวในประเทศไทย ท่านสามารถไป ชมได้ที่ สวนเกษตรไชยปราการ ต.หนองบัว ไปทางดอยอ่างขางขึ้นทางเชียงดาว หรือไชยปราการก็ได้ ทางรถสะดวก สบาย แต่ทางค่อนข้างไปลึก

ข้อมูลโดย : องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่
ถนนโชตนา ตำบลช้างเผือก อำเภอเมืองเชียงใหม่
จังหวัดเชียงใหม่ โทรศัพท์ 0 5389 1500-6
โทรสาร 0 5389 1500-6
//www.chiangmaipao.go.th
E-mail chiangmaipao@chiangmaipao.go.th






 

Create Date : 08 มีนาคม 2554    
Last Update : 8 มีนาคม 2554 20:19:07 น.
Counter : 2521 Pageviews.  

เที่ยว 7 ตลาดเก่า เมืองสุพรรณบุรี

สุพรรณบุรี

สุพรรณบุรี

สุพรรณบุรี

สุพรรณบุรี


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ททท. และ สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสุพรรณบุรี

ใครที่ยังชื่นชอบกลิ่นอายของวันวาน พร้อม ๆ กับอยากสัมผัสอดีตกาล วันนี้เราขอแนะนำให้ไปเที่ยว "จังหวัดสุพรรณบุรี" เพราะที่นั่นยังเก็บเกี่ยวเรื่องราวในอดีตไว้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ โดยบอกเล่าอดีตเมืองสุพรรณ ผ่านวิถีชีวิตของชุมชนเก่าแก่ใน 7 ตลาดเก่าเมืองสุพรรณ แต่จะมีที่ไหนบ้างนั้น ตามเราไปเที่ยวกันเลย...


ตลาดสามชุก

ตลาดสามชุก

ตลาดสามชุก หรือ ตลาดริมน้ำร้อยปี ตั้งอยู่ริมทางหลวงหมายเลข 340 แยกเข้าอำเภอสามชุก อยู่ริมแม่น้ำท่าจีนติดกับที่ว่าการอำเภอสามชุก เป็นชุมชนชาวจีนเก่าแก่ที่ยังคงสภาพบ้านเรือน และตลาดแบบดั้งเดิม

สิ่งที่น่าสนใจ ได้แก่ อาคารพิพิธภัณฑ์ เป็นอาคารไม้โบราณติดลูกไม้ขนาด 3 ชั้นของขุนจำนงค์ จีนารักษ์ นายภาษีเก่า ซึ่งท่านเจ้าของตลาด มอบให้เป็นแหล่งรวบรวมภาพถ่ายวิถีชีวิตของผู้คนในสมัยก่อน ร้านถ่ายรูปโบราณ ที่ยังมีกล้องถ่ายภาพเก่าแก่อายุกว่าร้อยปีให้บริการ ร้านขายยาสมุนไพร และเพลิดเพลินกับขนม อาหารพื้นเมือง และกาแฟโบราณที่ยังใช้เครื่องคั่วกาแฟแบบดั้งเดิมบริเวณริมน้ำ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทรศัพท์ 0 3550 4498


ตลาดเก้าห้อง

ตลาดเก้าห้อง

ตลาดเก้าห้อง เป็นตลาดเก่าแก่ซึ่งเป็นย่านการค้าที่รุ่งเรืองริมแม่น้ำสุพรรณบุรี หรือแม่น้ำท่าจีนเมื่อเกือบหนึ่งร้อยปีมาแล้ว ปัจจุบันเป็นตลาดเล็ก ๆ ในชุมชนเก่าแก่ ที่หลงเหลือร่องรอยของความอุดมสมบูรณ์เพียงแห่งเดียว ในลุ่มแม่น้ำท่าจีน ตั้งอยู่ในเขตหมู่ ที่ 2 เทศบาลตำบลบางปลาม้า อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีเส่นห์และหลงเหลือตำนานเล่าขาน สมควรที่จะอนุรักษ์ไว้เป็นมรดกทางประวัติศาสตร์ของเมืองสุพรรณบุรี

ส่วนคำว่า "เก้าห้อง" นำมาจากชื่อ "บ้านเก้าห้อง" ซึ่งสร้างขึ้นภายหลังจากที่มีชุมชนหนาแน่นแล้ว ก่อสร้างโดยคหบดีเชื้อสายจีน คือ นายบุญรอด เหลียงพานิช เดิมชื่อ ฮง บิดาเป็นคนจีนอพยพมาทำการค้าขายที่ริมแม่น้ำสุพรรณ ได้แต่งงานกับ นางแพ หลานสาวของ ขุนกำแหงฤทธิ์ (เป็นนายกองส่วย เก็บส่วยให้กับราชการและเป็นหัวหน้าหมู่บ้าน) เจ้าของบ้านเก้าห้อง แล้วจึงปลูกแพค้าขายหน้าบ้านขุนกำแหงฤทธิ์

ต่อมาโจรมาปล้นแพของนายบุญรอด ได้ทำร้ายนางแพจนตาย และได้ทรัพย์สินจำนวนหนึ่ง ต่อมาทางอำเภอได้จับโจรได้ จึงนำเงินมาคืนต่อ นายบุญรอด (ฮง) และได้แต่งงานใหม่กับ นางส้มจีน จึงคิดสร้างตลาดเพื่อค้าขายไว้บนบก ตรงข้ามฝั่งแม่น้ำตรงข้ามฝั่งบ้านเก้าห้อง และตั้งชื่อตลาดว่า "ตลาดเก้าห้อง" อีกทั้งยังสร้าง ป้อมดูโจร หรือ หอดูโจร ลักษณะ ของป้อมก่ออิฐถือปูนแบบที่สร้างเป็นสถาปัตยกรรมจีน ขนาดกว้าง 2.50 x 2.50 เมตร สูงราว 15 เมตร เพื่อใช้เป็นที่สำหรับเวรยามประจำอยู่ภายในป้อม จะเจาะช่องไว้สำหรับส่องดูโจรผู้ร้าย และให้ปืนสามารถส่องออกมาได้สำหรับยิงโจรผู้ร้ายที่จะมาปล้นได้

ตลาดเก้าห้อง

ตลาดเก้าห้อง แบ่งออกเป็นทั้งหมด 3 ตลาด คือ ตลาดบน มีอายุประมาณ 74 ปี ลักษณะเป็นห้องแถวไม้ 2 ชั้น คุมด้วยหลังคาสูง แบบสถาปัตยกรรมจีนปนไทย ประมาณ 20 ห้อง พระชาญสุวรรณเขต เป็นผู้สร้าง สิ่งที่น่าสนใจ คือ ฮู้ใหญ่โบราณ และ ม่านชักรอก (ม่านบังแสงภูมิปัญญาชาวบ้าน), ตลาดกลาง สภาพเดินเป็นโรงสีของ "นายทองดี" ต่อมาสร้างเพิ่มเติมอีก 10 ห้อง มีรูปแบบสถาปัตยกรรมจีนในอดีต มีท่าเรือที่สำคัญในการขนส่งซื้อขายสินค้าข้าวสาร อีกทั้งยังมีท่าเรือในการรับส่งชาวบ้านในตลาด รวมถึงหมู่บ้านใกล้เคียงที่ต้องการเดินทางไปยังตัวเมือง สิ่งที่น่าสนใจ คือ โรงสีเก่า, สถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์, มิวสิควีดีโอ, เครื่องพิมพ์โบราณ อายุ 80 ปี และบ้านสะสมเหล้าเก่า และ ตลาดล่าง มีอ่ายุประมาณ 104 ปี ลักษณะเป็นห้องแถวไม้ 2 ชั้น แบบสถาปัตยกรรมจีนโบราณ ที่นี่เคยเป็นศูนย์กลางการค้าขายที่เจริญรุ่งเรืองในอดีต สิ่งที่น่าสนใจ คือ หอดูโจร และ พิพิธภัณฑ์บ้านเก้าห้อง

ติดต่อสอบถามข้อมูลหรือศึกษาข้อมูล ได้ที่ เทศบาลตำบลบางปลาม้า โทรศัพท์ 035-5874227 , 035-586408 หรือที่ //www.Bangplama.org / E-mail : banplama99@hotmail.com

ตลาดบ้านสุด

ตลาดบ้านสุด เป็นตลาดสุดท้ายริมคลองบางยี่หน ซึ่งเป็นคลองขุดเชื่อมแม่น้ำท่าจีนกับแม่น้ำเจ้าพระยา ก่อนที่จะพ้นเขตจังหวัดสุพรรณบุรี ชาวตลาดบ้านสุดได้จัดให้มีพิธีการทำบุญก่อตั้งตลาด และได้นิมนต์หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค มาทำพิธีทำบุญตลาดและโปรยทรายเสกบริเวณรอบ ๆ ตลาดเพื่อเป็นสิริมงคล ลักษณะของตลาด เริ่มจากตลาดหลัก ซึ่งเป็นเหมือนรูปสี่เหลี่ยมซ้อนกันสองชั้น มีห้องแถวไม้แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ที่เรียกว่า ตลาดบน ตลาดน้ำ และตลาดนายห้าง ซึ่ง ตลาดบน และ ตลาดน้ำ เป็นตลาดของ เถ้าแก่แดง เป็นตลาดใหญ่และถือกันว่าเป็นตลาดเก่าของชาวบ้านสุด บางทีเรียกกันว่า "ตลาดเก่าบ้านสุด"

ขณะที่ ตลาดบน เป็นตลาดที่มีเนื้อที่กว้างใหญ่ที่สุดของ ตลาดบ้านสุด ประกอบด้วยห้องแถวไม้ชั้นเดียว ประมาณ 50 ห้อง มุมหนึ่งของ ตลาดบน เป็นที่ตั้งของศาลเจ้าประจำตลาดใกล้ ๆ กับศาลเจ้ามีบ้านไม้สองชั้นหลังใหญ่ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของเจ้าของตลาดและลูกหลานของท่าน ชาวตลาดบ้านสุดเรียกบ้านหลังนี้ว่า "บ้านใหญ่" หลังบ้านใหญ่เป็นตลาดที่ประกอบด้วยห้องแถวไม้ 2 ชั้น ประมาณ 15 ห้อง ที่เรียงกันเป็นรูปตัวแอล เรียกตลาดนี้ว่า ตลาดน้ำ แต่ เดิม ตลาดน้ำ มีลักษณะพิเศษ คือ ห้องชั้นล่างอยู่ติดดิน ปกติจะทำมาค้าขายกันในห้องชั้นล่าง พอถึงฤดูน้ำก็ยกข้าวของขึ้นไปขายกันบนชั้นสอง เพราะน้ำท่วมห้องชั้นล่าง แต่ระยะหลังร้านค้าในตลาดเลิกประเพณีดั้งเดิม คือ เวลาน้ำลดก็ไม่ยกของลงมาขายชั้นล่างอีก ค้าขายกันอยู่ที่ชั้นบนของตลาดทั้งปี เข้าใจว่าเริ่มเบื่อหน่ายถึงภาระ และค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ในการขนย้ายสินค้า

ส่วน ตลาดนายห้าง เป็น ตลาดที่สร้างขึ้นมาภายหลัง เรียกชื่อตลาดตามชื่อที่คนทั่วไปเรียกเจ้าของตลาดว่า "นายห้าง" ตลาดประกอบด้วยห้องแถวไม้ชั้นเดียว ประมาณ 20 ห้อง ยกพื้นสูงเพื่อหนีน้ำท่วมในฤดูน้ำ ท้ายตลาดติดคลอง มีท่าเรือใหญ่ที่เป็นศูนย์กลางของการคมนาคม ของชาวตลาดบ้านสุดในสมัยนั้น เพราะเรือเกือบทั้งหมดจะจอดรอรับผู้โดยสารท่าเรือแห่งนี้

ตลาดศรีประจันต์

ตลาดศรีประจันต์ บ้านเจ้าคุณฯ

ตลาดศรีประจันต์ เป็นตลาดค้าส่งในอดีตริมแม่น้ำท่าจีน อายุราว 100 ปี ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ประจำปี 2551 รางวัลดีเด่นประเภทแหล่งท่องเที่ยววัฒนธรรม อยู่ห่างจากตัวเมืองสุพรรณไปทางทิศเหนือ 20 กิโลเมตร อาคารส่วนใหญ่เป็นห้องแถวไม้ 2 ชั้น แม้ในปัจจุบันจะลดความคึกคักลงไปบ้าง แต่ในทุกวันเสาร์ อาทิตย์ชาวบ้านจะเปิดร้านจำหน่ายอาหารคาวหวานรสชาติดั้งเดิม อาทิ ก๋วยเตี๋ยวเป็ด ก๋วยเตี๋ยวราดหน้า หมี่กรอบ กาแฟโบราณ และขนมต่าง ๆ ทั้งแบบไทยและจีน

ใน ตลาดศรีประจันต์ มีสถานที่ท่องเที่ยวเชิงการศึกษา คือ บ้านเจ้าคุณ ป.อ.ปยุตโต ซึ่งได้รับการยกย่องเป็นคนดีศรีประจันต์ และเป็นพระสงฆ์ไทยซึ่งได้รับการยกย่องเป็นกวีทางศาสนาพุทธ และเป็นเพชรน้ำเอกของโลก มีผลงานในการเขียนหนังสือกว่า 300 เล่ม ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ บ้านของท่านซึ่งเคยเป็นร้านขายผ้าเมื่อในอดีต ได้รับการอนุรักษ์ให้คงอยู่สภาพเดิม รวมทั้งเก็บรักษาข้าวของเครื่องใช้เมื่อยุคเกือบ 100 ปีก่อนไว้อย่างดี

นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวที่มาเยือนตลาดศรีประจันต์ยังสามารถสักการะศาลเจ้า แม่กวนอิม หรือล่องเรือชมแม่น้ำท่าจีนได้ ส่วนการเดินทางโดยรถโดยสาร สามารถใช้บริการรถสองแถวสายสุพรรณ-ศรีประจันต์ มาลงที่ตลาดศรีประจันต์โดยตรง

ตลาดท่าช้าง

ตลาดท่าช้าง

ตลาดท่าช้าง เป็น ตลาดเก่าแก่อีกตลาดหนึ่ง ซึ่งมีประวัติยาวนานกว่า 100 ปี เช่น เดียวกันชุมชนตลาดเก่าหลาย ๆ แห่งของจังหวัดสุพรรณบุรี ตลาดท่าช้าง เป็นตลาดใหญ่เหนือสุดริมแม่น้ำท่าจีน ถือว่าเป็นแหล่งต้นทางของแม่น้ำท่าจีนที่พาดผ่านจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นแหล่งศูนย์รวมการค้าใหญ่อีกแหล่งหนึ่งของจังหวัดสุพรรณบุรี การค้าขายในอดีตที่เจริญรุ่งเรืองมาก

จน กระทั่งวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2501 ได้เกิดเพลิงไหม้เผาผลาญ ตลาดท่าช้าง วอดเกือบหมด เผาผลาญบ้านเรือนกว่า 600 หลัง ซึ่งเพลิงได้ทำลายความสวยสดงดงามของบ้านเรือนเก่าแก่ อันเป็นวิถีชีวิตในอดีตของชาวตลาดท่าช้างจนหมด แต่ชาว ตลาดท่าช้าง ก็ ยังคงสร้างตัวจนกลับมาเจริญได้อีกครั้ง ถึงแม้สภาพตลาดเก่าส่วนใหญ่จะเปลี่ยนแปลงไปหมด แต่บางส่วนที่คงเหลือก็ยังคงมีเสน่ห์ และที่สำคัญชาวตลาดท่าช้างยังคงรักษาวัฒนธรรมการกินได้เป็นอย่างดี มีอาหารทั้งเก่าและใหม่ที่อร่อยมากมายหลายชนิด หากมีโอกาสเข้ามาเยือน ตลาดท่าช้าง เชิญลองชิมอาหารในเขตตลาดท่าช้างได้

ตลาดทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

ตลาดทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

ตลาดทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ หรือ ตลาดเก่าเมืองสุพรรณบุรี 200 ปีที่ยืนยง ตั้งอยู่ที่ถนนพระพันวษา ตำบลท่าพี่เลี้ยง อำเภอเมือง ในอดีตชาวบ้านมักเรียกกันสั้น ๆ ว่า ตลาดทรัพย์สินฯ หรือ ตลาดเก่า เป็นตลาดริมน้ำ ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำท่าจีนมีอายุกว่า 100 ปี ก่อสร้างโดย ขุนเกษตร พิหารแดง ผู้ดูแลสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในสมัยนั้น แต่ถ้านับย้อนไปถึงวันที่คนรุ่นแรกมาตั้งถิ่นฐานที่นี่ ก็นับย้อนไปได้ถึง 200 ปี

ตลาดทรัพย์สินฯ ก็คล้ายกับตลาดริมน้ำโดยทั่วไป ที่เป็นชุมชนค้าขายของชาวจีนผู้ขยันขันแข็ง ตื่นแต่เช้าก่อนฟ้าสว่างเพื่อจัดเตรียมสินค้า รอเวลาที่ลูกค้าจะมาถึง ซึ่งมักจะมาทางเรือ ทั้งเรือแจว เรือพาย เรือยนต์ ตลอดจนเรือเมล์ที่วิ่งรับส่งสินค้าและผู้โดยสารประจำเส้นทาง ตลาดทรัพย์สินฯ จึงมีอีกชื่อหนึ่งที่ผู้คนก็ชอบเรียกว่า "ตลาดท่าเรือเมล์" บ่งบอกถึงความเจริญเติบโตของการค้า และความหนาแน่นของผู้คน

อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่เทคโนโลยีพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ ตลาดทรัพย์สินฯ จึงอยู่กับความเงียบเหงา ทิ้งความจอแจ ความอีกทึกไว้เบื้องหลัง ชาวบ้านร้านตลาดจำนวนหนึ่งตระหนักถึงความไม่เที่ยงนี้ จึงได้ร่วมมือกับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ดำเนินการปรับปรุงและพัฒนา ตลาดทรัพย์สินฯ ในเชิงอนุรักษ์ขึ้น หวังให้ "ตำนาน" ของชุมชนได้ถูกเล่าขานต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ยินดี และภาคภูมิใจไปกับการเล่าเรื่องราวของตนเองต่อนักเดินทางผู้มาเยือน

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โทรศัพท์ 035-511088, คณะกรรมการรวมใจพัฒนาตลาดทรัพย์สิน โทรศัพท์ 035-511314, 081-5872819

ตลาดโพธิ์พระยา

ตลาดโพธิ์พระยา

ตลาดโพธิ์พระยา ตั้ง อยู่ที่ตำบลโพธิ์พระยา ซึ่งเป็นตลาดดั้งเดิมที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำท่าจีน เริ่มก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2468 ภายหลังจากการสร้างเขื่อนประตูน้ำโพธิ์พระยา สภาพเดิมเป็นอาคารไม้ชั้นเดียว ชาวไทยเชื้อสายจีนได้รวมตัวกันประกอบอาชีพค้าขาย มีความเจริญรุ่งเรืองทางการค้ามาแต่อดีต เนื่องจากการติดต่อกับตังเมืองสุพรรณบุรี จะต้องใช้เส้นทางทางน้ำเป็นทางสัญจร ตลาดโพธิ์พระยา จึงเป็นจุดรวมของผู้คนที่ต้องการเดินทางสัญจรไปมาระหว่าง โพธิ์พระยา กับตัวเมืองสุพรรณบุรี

ใน ปี พ.ศ. 2540 ชาวตลาดโพธิ์พระยาต้องประสบอัคคีภัยเป็นครั้งแรก สร้างความเสียหายเป็นอย่างมาก ทางสุขาภิบาลโพธิ์พระยา จึงได้ดำเนินการก่อสร้าง ตลาดสดโพธิ์พระยา ขึ้นมา เพื่อรองรับการขยายตัวของชุมชน และในเวลาต่อมา ตลาดโพธิ์พระยา ก็ได้เกิดอัคคีภัยเป็นครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2547 ส่งผลให้ชาวตลาดโพธิ์พระยาได้รับความเดือดร้อนเสียหายอย่างแสนสาหัส อาคารโครงสร้างไม้เดิมได้ถูกเพลิงไหม้เสียหาย จำนวน 41 หลัง ทรัพย์สินมอดไหม้เป็นเถ้าถ่านในพริบตา ปัจจุบันบริเวณที่ดินเดิม ได้ดำเนินการพัฒนาก่อสร้างเป็นอาคารพาณิชย์สองชั้นครึ่ง จำนวน 81 ห้อง เพื่อให้ ตลาดโพธิ์พระยา กลับมามีชีวิตชีวาเฉกเช่นเคย

และนี่คือ 7 ตลาดเก่าคู่เมือง "สุพรรณบุรี" หากใครยังคิดถึงความทรงจำในวันวาน ก็อย่าลืมแวะเวียนไปท่องเที่ยวนะจ๊ะ



ขอขอบคุณข้อมูลจาก
และ สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสุพรรณบุรี




 

Create Date : 07 มีนาคม 2554    
Last Update : 7 มีนาคม 2554 8:14:56 น.
Counter : 2410 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  80  81  82  83  84  85  86  87  88  89  90  91  92  93  94  95  96  97  98  
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.